Learn with Prin เรียนรู้ไปพร้อมกับน้องปริญญ์

จำหน่ายผลิตภัณฑ์ Legacy /Reborn Set ลด Fat ตัวช่วยลดไขมัน ลดน้ำหนัก แบบถูกวิธี 🔥 ติดต่อสอบถาม/สั่งซื้อ 📍 โทร ☎️ :: 084-110-5021 🌸 Line ID :: pla-prapasara 🌸 รับโปรโมชั่นสุดพิเศษเฉพาะทาง Line นะคะ 📍

วันพุธที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2556

ทำอย่างไรดี เมื่อลูกขาโก่ง

ทำอย่างไรดี เมื่อลูกขาโก่ง

วิดีโอ YouTube







ทำอย่างไรดี เมื่อลูกขาโก่ง (Mother & Care)         


ทำไมเบบี๋จึงขาโก่ง?         

โดยทั่วไปแล้วเมื่อเบบี๋คลอดออกมา คุณแม่หลายท่านอาจสังเกตเห็นว่าขาและเข่าของลูกโก่งหรือโค้งงอเล็กน้อยทั้งสองข้างหรือข้างเดียว หรือปลายเท้าบิดเข้าด้านใน ซึ่งอาการนี้มักพบได้บ่อยในทารกแรกเกิด          

สาเหตุที่ทำให้ลูกขาโก่งอาจเกิดขึ้นเพราะตอนที่อยู่ในท้องแม่ในระยะสุดท้ายก่อนคลอด ตัวเด็กใหญ่ขึ้นจึงต้องเบียดตัวเองให้อยู่ในมดลูกที่มีเนื้อที่จำกัด ทารกส่วนใหญ่จึงมักจะอยู่ในท่าขัดสมาธิและงอสะโพกให้มากที่สุด         

นช่วงแรกเกิดถึงขวบปีแรก เบบี๋จะมีอาการขาโก่ง ซึ่งอาการนี้จะค่อยๆ คลายออกตามธรรมชาติและการเจริญเติบโต เมื่อลูกเริ่มใช้เข่าหัดคลานหรือหัดเดิน ก็จะทำให้ข้อสะโพกแข็งแรงขึ้นและกระดูกจะค่อยๆ ปรับตัวเองให้ตรงขึ้น ทำให้อาการขาโก่งหรือเข่าโค้งปรับเข้าสู่ปกติได้เองเมื่อลูกอายุ 18-24 เดือน ดังนั้น ถ้าลูกขาโก่งในช่วงทารกถือว่าเป็นภาวะปกติทางสรีระร่างกายค่ะ         



สังเกตขาของเบบี๋..ขาโก่งแบบนี้ปกติไหม?         

อาการขาโก่งของเบบี๋ คุณแม่สามารถสังเกตได้ง่ายๆ ค่ะ โดยถ้าเป็นอาการขาโก่งปกติมักจะเป็นตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งขาและเข่าจะโก่งหรือโค้งงอเท่าๆ กัน ทั้งขาซ้ายและขาขวา หากคุณแม่คอยสังเกตไปเรื่อยๆ จะเห็นว่าขาของลูกจะตรงขึ้นอย่างช้าๆ เมื่อเริ่มโตขึ้นค่ะ

ทั้งนี้ ถ้าเป็นอาการขาโก่งตั้งแต่แรกเกิดในลักษณะนี้คุณแม่ไม่จำเป็นต้องดัดขาเพื่อให้ขาของลูกตรง เพราะขาของลูกจะตรงเป็นปกติได้ตามวัยอยู่แล้ว
         

อีกสาเหตุหนึ่งของอาการขาโก่งของเบบี๋เกิดจากความผิดปกติหรือผิดรูปของกระดูก โดยคุณแม่สามารถสังเกตขาของลูกได้ ดังนี้          


- ขาทั้ง 2 ข้าง มีความโก่งไม่เท่ากัน          

- ขาโก่งหรือบิดมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ตรงขึ้นตามอายุ

- ขาโก่งมากในบางตำแหน่ง โดยมุมที่โก่งหักเป็นมุมแหลม

- ขาโก่งร่วมกับตัวเตี้ย (ต้องวัดส่วนสูงและเทียบกับเส้นค่าเฉลี่ยตามวัย)
นอกจากนี้ โรคกระดูกบางโรคอาจมีสาเหตุจากพันธุกรรม และถ้าลูกตัวอ้วนมากก็ทำให้มีโอกาสป่วยเป็นโรคกระดูกงอหรือขาโก่งได้ง่าย ซึ่งคุณแม่ต้องสังเกตสัดส่วนอื่นๆ ของร่างกายลูกประกอบด้วย

ดังนั้น หากลูกมีอาการขาโก่งไม่หายตามวัยและคุณแม่ไม่ทราบสาเหตุ ก็ควรพาลูกไปพบคุณหมอเพื่อตรวจดูให้แน่ใจ เพื่อจะได้รักษาอาการได้ง่าย เพราะหากพบว่าลูกมีอาการผิดปกติของกระดูกเมื่อลูกโตแล้ว การรักษาจะยากยิ่งขึ้นเพราะกระดูกของลูกเริ่มแข็งขึ้นแล้วค่ะ
         



ป้องกันไม่ให้เบบี๋ขาโก่งได้อย่างไร?         

หากลูกขาโก่งไปตามพัฒนาการของขา คุณแม่ก็ไม่ต้องเป็นกังวลและปล่อยไปตามธรรมชาติดีที่สุด แต่คุณแม่สามารถป้องกันไม่ให้ลูกน้อยขาโก่งมากขึ้นหรือกระดูกขาผิดรูปได้ ดังนี้

1. ให้ลูกได้รับวิตามินดีอย่างเพียงพอ
เพื่อให้ร่างกายสามารถรักษาภาวะสมดุลของระดับแคลเซียมในเลือดและในกระดูก ถ้าขาดวิตามินดีจะทำให้เกิดโรคกระดูกอ่อน ขาจะโก่งหรือถ่างเนื่องจากไม่สามารถรับน้ำหนักตัวได้ โดยวิตามินดีจะมีอยู่ในอาหาร เช่น นม ตับสัตว์ ไข่แดง เป็นต้น และคุณแม่ควรพาลูกน้อยไปเดินเล่นนอกบ้านเพื่อรับวิตามินดีจากแสงแดดยามเช้าบ้าง ก็จะช่วยเสริมสร้างกระดูกของลูกน้อยให้แข็งแรง

2. การดัดหรือยืดขาทารกเบาๆ หลังอาบน้ำ อาจไม่เกี่ยวกับการโก่งหรือไม่โก่งของขา แต่การดัดหรือยืดขาของลูกเบาๆ จะช่วยให้ลูกได้ยืดเส้นยืดสาย ทั้งนี้ คุณแม่อาจใช้วิธีการนวดคลึงเบาๆ บริเวณขาของลูก ก็จะช่วยให้ขาของลูกแข็งแรงและลูกก็จะสบายตัวยิ่งขึ้นค่ะ

3. นอกจากการนวดหรือดัดขาของลูกแล้ว คุณแม่ต้องคอยจัดท่านั่งและท่านอนของเบบี๋ ให้อยู่ในท่าที่ถูกต้อง เพื่อจะไม่ทำให้เกิดการโค้งงอหรือการผิดรูปของกระดูก
         


Tips : การยืดและนวดขาให้ลูกน้อย คุณแม่สามารถทำได้ง่ายๆ ดังนี้         


- นวดขาลูกทีละข้าง โดยจับขายกขึ้นแล้วใช้มืออีกข้างจับรอบขานวดคลึงเป็นวงกลม เริ่มจากต้นขาค่อยๆ ไล่ไปปลายเท้า แล้วใช้หัวแม่มือกดฝ่าเท้าลูกเบาๆ จากนั้นใช้ฝ่ามือทั้งสองข้างคลึงขาลูกไปมาเบาๆโดยให้สองมือของคุณแม่สวนทางกัน เริ่มจากหัวเข่าไล่ไปจนถึงข้อเท้า คลึงไปมา 5-10 ครั้ง

- หากเบบี๋อยู่ในวัยที่สามารถคลานหรือเริ่มหัดเดินแล้ว คุณแม่สามารถทำท่าแยกขาให้ลูกได้ โดยคุณแม่นั่งด้านหลังลูก แล้วจับขาลูกทั้งสองข้างค่อยๆ แยกออกด้านข้าง จากนั้นให้ลูกโน้มตัวไปด้านหน้า โดยที่คุณแม่ยังจับขาไว้ ซึ่งท่านี้จะช่วยให้เด็กได้ยืดตัวมากขึ้นและช่วยดัดขาให้ตรงขึ้นด้วย

- ในขณะที่นวดหรือยืดขาของลูก หากลูกร้องหรือขาแดง แสดงว่าคุณแม่ออกแรงมากเกินไปจนทำให้ลูกเจ็บ ให้หยุดนวดหรือนวดให้เบาลงค่ะ










ที่มา   ::      (Mother & Care)
  


8 ความคิดเห็น:

  1. เขาทักว่า ลูกดิฉันขาโก่ง




    "เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่ลูกอ่อนหลายๆ คู่ คงเคยได้ยินคำแนะนำจากญาติผู้ใหญ่ว่า ให้ดัดขาลูกตั้งแต่ยังเป็นทารก โตขึ้นขาลูกจะได้ไม่โก่ง ถึงแม้ไม่แน่ใจ แต่พอมีคนทักว่าลูกขาโก่ง ก็มักทำให้คุณพ่อคุณแม่เกิดความกังวลใจไม่น้อย"


    ภาวะขาโก่งในเด็ก มีหลายรูปแบบ ทั้งโก่งออกด้านนอก โก่งเข้าด้านใน โก่งมาด้านหน้า หรือด้านหลัง แต่โดยส่วนใหญ่วัยหัดเดิน หรือมากกว่า 95% จะเป็นขาโก่งออกด้านนอก คือโก่งแบบเดินขาถ่างๆ เข่าห่างจากกัน เท้าอาจจะบิดหมุนเข้าด้านใน แต่ถ้าไม่ใช่ขาโก่งแบบออกด้านนอกถึอว่าผิดธรรมชาติ


    ดูขาอย่างไรว่าโก่งหรือไม่โก่ง

    ขาโก่งที่เห็น อาจเป็นขาโก่งจริง หรือขาไม่ได้โก่งจริงแต่ท่ายืนไม่ตรง จึงทำให้ดูภายนอกเหมือนขาโก่ง ลองสังเกตดู เมื่อเรายืนปลายเท้าชี้ออกด้านนอก งอเข่าเล็กน้อย จะดูเหมือนขาโก่งโค้งออกด้านนอก ถ้ายืนหันปลายเท้าเข้าด้านใน งอเข่าเล็กน้อยจะเหมือนขาโก่งเข้าด้านใน เพราะเด็กช่วงวัย 1-2 ปี เป็นช่วงหัดเดิน การทรงตัวยังไม่มั่นคง เด็กจะเดินขาถ่างบ้าง เข่างอเล็กน้อย และกางแขนเป็นบางครั้งเพื่อช่วยในการทรงตัว ซึ่งเป็นท่าเดินมาตรฐานในเด็กวัยนี้ ดังนั้น เวลาดูว่ากระดูกขาโก่งหรือไม่แบบง่ายๆ ต้องเหยียดเข่าให้ตรงสุด หันลูกสะบ้าตรงมาด้านหน้า นำข้อเท้ามาชิดกัน โดยช่องว่างระหว่างขอบด้านในของเข่าไม่ควรห่างเกิน 2 นิ้วของคุณพ่อคุณแม่ หรืออย่างช้าควรตรงก่อนอายุ 3 ปี หรือถ้านำข้อเท้ามาชิดกันแล้ว แต่เข่าลูกซ้อนกันหรือเกยกัน ก็ควรพาลูกมาตรวจกับแพทย์ด้วยเช่นกัน


    ...

    ตอบลบ


  2. ขาโก่งแบบธรรมชาติหายเองได้ เป็นอย่างไร แล้วจะหายเมื่อไหร่



    กลไกการเจริญเติบโตตามธรรมชาติของกระดูกขาคนเรา แนวกระดูกขาจะมีการเปลี่ยนแปลงปรับสมดุลตามช่วงเวลา เพื่อให้ขามาอยู่ในแนวที่รับน้ำหนักตัวได้ดีที่สุด โดยขาคนเราประกอบด้วยสามส่วน คือส่วนต้นขาเหนือเข่า ส่วนขาใต้เข่า และเท้า ถ้ามองด้วยสายตาจะเห็นส่วนต้นขาอยู่ในแนวเส้นเดียวกันกับกระดูกใต้เข่า แต่ในความเป็นจริงกระดูกต้นขากับกระดูกส่วนใต้เข่าไม่ได้อยู่ในเส้นแนวเดียวกัน แต่จะทำมุมกันประมาณ 6-7 องศา


    การเจริญเติบโตของแนวขาเกิดขึ้นทั้งแนวด้านข้าง ด้านหน้า-หลัง และแนวหมุน คือเปลี่ยนแปลงทั้งสามมิติ ในบทความนี้จะกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงแนวขาด้านข้าง ซึ่งทำให้ขาดูโก่งออกด้านนอกหรือโก่งเข้าด้านใน

    จากภาพข้างบนจะเห็นว่า เมื่อแรกเกิดแนวกระดูกจะโก่งออกด้านนอกดังรูป A บางคนมากบางคนน้อย เชื่อว่าเกิดจากมดลูกที่มีรูปร่างเป็นถุงโค้ง และเด็กต้องขดตัวอยู่แน่นในครรภ์ เมื่อเกิดมาจะเห็นขาใต้เข่ามีลักษณะโค้งชัดเจน เมื่อเด็กเริ่มเดิน เด็กบางคนจะเดินขาถ่างมากบางคนถ่างน้อย แนวกระดูกจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นขาตรงเมื่ออายุประมาณ 18 เดือนตามรูป B ส่วนในรูป C เป็นแนวขาระยะ 3 ปีครึ่ง ขาจะโก่งเข้าด้านในเหมือนขาเป็ด เด็กบางคนเป็นมากบางคนเป็นน้อย ถ้าดูด้วยสายตาเทียบขาบนกับขาใต้เข่า มุมไม่น่าเกิน 10 - 15 องศา ถ้ามากกว่านี้ควรพาลูกไปพบแพทย์ เมื่อเด็กอายุมากขึ้น แนวขาจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นแบบรูป D แนวขาเหมือนผู้ใหญ่ คือโก่งเข้าด้านในเล็กน้อยประมาณ 7 องศา ที่อายุประมาณ 7 ปี


    รูปด้านบนนี้ เป็นหลักที่ใช้ดูการเจริญเติบโตของแนวขาเทียบกับอายุที่ดี ถ้าสังเกตว่าลูกของเราแนวขาไม่เป็นไปตามนี้ ควรพาลูกมาตรวจกับแพทย์ คือถ้าเป็นแบบโก่งออกด้านนอกแบบธรรมชาติ ความโก่งจะค่อยๆ ตรงเมื่ออายุ 2 ปี อย่างช้าไม่เกิน 3 ปี แต่ถ้าเป็นแบบขาโก่งเป็นโรค แนวขาจะโก่งออกมากยิ่งขึ้น นอกจากเด็กจะเดินไม่เป็นปกติแล้ว คือตัวจะโยกเยกไปตามขาข้างที่เดิน ข้อเข่าจะเสียเร็ว เนื่องจากการกระจายน้ำหนักของข้อไม่ดีเหมือนคนปกติ ข้อเข่าจะปวดตั้งแต่อายุน้อย อักเสบ เดินไม่ได้ไกลเนื่องจากความเจ็บปวด


    ...

    ตอบลบ
  3. ขาโก่งออกด้านนอก ไม่ยอมหายเองตามธรรมชาติ


    เป็นสถานการณ์ที่ต้องตรวจละเอียด ว่ามีสาเหตุอะไรทำให้กระดูกไม่ปรับแนวตามที่ควรจะเป็น หากจะแบ่งกว้างๆ ให้เข้าใจง่ายคือ เป็นกลุ่มที่มีสาเหตุชัดเจน ซึ่งไปรบกวนการเจริญเติบโตของเยื่อเจริญขา กับกลุ่มที่ไม่มีสาเหตุชัดเจน ถือว่าเป็นโรคที่เยื่อเจริญทำงานไม่สมดุลเอง ซึ่งมักเกิดกับเยื่อเจริญกระดูกใต้เข่า

    กลุ่มแรก คือมีโรคไปรบกวนเยื่อเจริญขาทำให้โตไม่ปกติ มีหลายโรคที่ทำแบบนี้ได้ เช่น เนื้องอกกระดูกขาไปเกิดใกล้กับเยื่อเจริญทำให้การเจริญไม่สมดุล การติดเชื้อกระดูกขาทำให้การเจริญผิดปกติ หรือโรคพันธุกรรมหลากหลายชนิด

    กลุ่มที่สอง เป็นโรคขาโก่งจากเยื่อเจริญกระดูกใต้เข่าเจริญไม่สมดุล ทั้งที่ไม่พบว่ามีสิ่งใดทำลายเยื่อเจริญกระดูก โดยเยื่อเจริญด้านในของกระดูกมีการเจริญช้ากว่าเยื่อเจริญด้านนอก ทำให้ยิ่งโตขายิ่งโก่งออกด้านนอก โรคนี้ส่วนใหญ่พบในเด็กช่วงวัยหัดเดิน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโก่งออกด้านนอกแบบธรรมชาติหายเองได้ ดังนั้น จึงเกิดความสับสนระหว่างขาโก่งออกด้านนอกแบบเยื่อเจริญกระดูกใต้เข่าเจริญไม่สมดุล ซึ่งไม่สามารถหายเองได้ กับ ขาโก่งออกด้านนอกแบบธรรมชาติหายเองได้

    โรคขาโก่งออกด้านนอกแบบเยื่อเจริญกระดูกใต้เข่าเจริญไม่สมดุลนั้น สาเหตุยังไม่ชัดเจน แต่มักพบได้บ่อยในเด็กที่อ้วน และเดินเร็ว อย่างไรก็ตาม เด็กผอมก็เป็นโรคนี้ได้ แต่เด็กอ้วนพบบ่อยกว่า และเด็กอ้วนที่เป็นโรคนี้ ก็มักรักษาได้ยากกว่าเด็กผอม


    “ความเชื่อที่ว่า การอุ้มเด็กแบบเหน็บข้างตัวอ้าขาออกเป็นสาเหตุของโรค ไม่เป็นความจริง และการดัดขาให้ทารกหลังอาบน้ำสามารถป้องกันโรคนี้ได้ ก็ไม่เป็นความจริงเช่นกัน การดัดขาโดยใช้มือทำเป็นครั้งๆ ไม่สามารถสร้างแรงกดกับกระดูกขาได้เลย แรงจะไปบิดที่เอ็นยึดข้อ จึงไม่ได้ช่วย หรือป้องกันโรคนี้ได้แต่อย่างใด”



    ...

    ตอบลบ
  4. ...

    วิธีแยกระหว่างขาโก่งออกด้านนอกแบบธรรมชาติ กับ ขาโก่งออกด้านนอกที่เป็นโรคเยื่อเจริญขาไม่สมดุล มีวิธีที่ใช้แยกง่ายๆ คือ
    •สังเกตแนวขาตามช่วงเวลาที่ได้กล่าวในรูปข้างต้น หากเลย 3 ปีแล้วขายังโก่งออกด้านนอก ควรพาเด็กไปพบแพทย์


    •ปริมาณความโก่ง โดยจับลูกนั่งหันหน้าเข้าหาเรา เหยียดเข่าให้สุด จับข้อเท้ามาชนกัน ให้เข่าหันมาด้านหน้า โดยหันเท้าชี้ไปด้านหน้า มองดูที่เข่า ถ้าเข่าชนกันถือว่าผ่าน ระยะระหว่างเข่าถ้ามากเกินสองนิ้วของคุณพ่อคุณแม่ ถือว่าแนวกระดูกโก่งออกด้านนอก ถ้าโก่งจนระยะห่างเกินกว่าสี่นิ้วแสดงว่าโก่งมาก และมีโอกาสเป็นโรคสูงมาก


    •ความโก่งที่ไม่เท่ากัน ในท่าเดียวกับข้อ 2 ลองดูแนวขาส่วนเหนือเข่าเปรียบเทียบกับขาใต้เข่า จะเห็นแนวโก่ง ถ้าแนวโก่งสองข้างเป็นพอๆ กัน มีโอกาสเป็นแบบธรรมชาติสูง แต่ถ้าขาสองข้างแนวโก่งไม่เท่ากันอย่างชัดเจน ลองพาเด็กมาตรวจดู ส่วนเท้าบิดหมุนเข้าด้านในมาก ก็พบได้ทั้งขาโก่งธรรมชาติ และแบบเป็นโรค แต่เท้าจะบิดหมุนมากชัดเจนกว่าในรายที่โก่งออกด้านนอกแบบเป็นโรค


    ...

    ตอบลบ

  5. รักษาอย่างไร


    การดัดดาม โดยใช้อุปกรณ์ดัดขา จะใช้หลักการดัดคล้ายกับใช้มือดัด แต่มีอุปกรณ์ช่วยดามคงแรงดัดและแนวการดัดไว้ อุปกรณ์ที่ดามจะต้องยาวจากต้นขาลงมาถึงเท้า และต้องใส่นานหลายชั่วโมงต่อวัน จึงทำให้เด็กเดินลำบาก และไม่เป็นที่นิยมใช้กัน ผลการรักษาจึงไม่แน่นอน


    การรักษาด้วยการผ่าตัด โดยตัดแต่งกระดูกให้ตรง ใส่เฝือกขารอกระดูกติด เป็นวิธีที่สะดวก คาดหวังผลได้ชัดเจน และในเด็กเล็กกระดูกจะติดเร็วมาก โดยทั่วไปใส่เฝือกประมาณ 1-2 เดือน หลังจากนั้น สามารถปล่อยให้เด็ก ยืน เดิน ออกกำลังกายเบาๆ ให้กล้ามเนื้อฟื้นความแข็งแรง


    โรคขาโก่งออกด้านนอกในเด็กเล็ก ถ้าได้รับการรักษาที่เร็ว ผลการรักษาได้ผลดี โอกาสโก่งซ้ำน้อย อย่างไรก็ตาม บางรายที่ปล่อยขาเด็กให้โก่งไว้นาน หรือโรคเป็นมาก เยื่อเจริญด้านในกระดูกขาเสียหายมาก ทำให้มีโอกาสเกิดขาโก่งซ้ำภายหลังผ่าตัดได้ การผ่าตัดจะทำยากขึ้น และต้องทำหลายครั้ง ดังนั้น ทางที่ดี ลองสังเกตขาลูกตามคำแนะนำเบื้องต้น หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับคุณพ่อคุณแม่ และญาติๆ ได้ ปัจจุบันภาวะขาโก่งโดยส่วนใหญ่รักษาได้ผลดี อย่ารอจนเป็นมากๆ อายุมากแล้วค่อยพามาพบแพทย์



    ที่มา :: http://www.vejthani.com/web-thailand/bow-legged.php


    .

    ตอบลบ
  6. ขาโก่ง...โก่งไม่ปกติ


    เด็กแรกเกิดจะขาโก่งกันแทบทุกคน และมักหายเป็นปกติเมื่อเติบโตขึ้น แต่ภายใน 3 ขวบ ถ้าขาลูกยังไม่มีแววจะหายโก่ง อย่างนี้ต้องปรึกษาแพทย์แล้วค่ะ

    ขาโก่งที่ควรกังวล

    เด็กเล็กอายุไม่เกิน 3 ขวบ จะมีลักษณะของขาโก่งทั้งชนิดปกติและไม่ปกติ โดยสังเกตได้จาก...

    ถ้าลูกเล็กขาโก่งแบบเข่าติดกันแต่ปลายเท้าแยกออก เข่าแยกแต่ปลายเท้าชิด สามารถเช็กได้ โดยดูว่าส่วนที่โก่งนั้น ใส่ลูกตะกร้อระหว่างขาได้ไหม ถ้าใส่ได้แสดงว่าผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์ เพื่อทำการรักษา

    แต่ถ้าขาโก่งไม่กว้างพอให้ลูกตะกร้อใส่เข้าไปได้ แสดงว่าขาโก่งตามวัย ซึ่งเกิดจากพัฒนาการของกล้ามเนื้อและกระดูกของลูกยังไม่สมบูรณ์ เพราะเมื่ออยู่ในท้องแม่ ต้องอยู่ในพื้นที่จำกัด ลูกจึงต้องงอขาและสะโพกไว้ เมื่อแรกคลอดจึงเห็นว่าลูกมีขาโก่ง แต่เมื่อลูกเริ่มโตขึ้น ได้เคลื่อนไหวได้คลาน เดิน และใช้กล้ามเนื้อขามากขึ้น ขาของลูกก็จะกลับมาตรงแบบปกติ


    6 สาเหตุขาโก่ง

    1. ขาโก่งตามวัย มีลักษณะโก่งมากตั้งแต่เกิด เมื่อจับให้ข้อเท้าชิดกัน จะมีระยะห่างระหว่างเข่าทั้ง 2 ข้าง แต่เมื่ออายุ 2 ขวบ จะตรงกันข้าม คือเข่าจะชิดกันแต่ปลายเท้าแยกออก ลักษณะแบบนี้ถือว่าปกติ โดยจะหายไปเองหลัง 7 ขวบ แต่ถ้าเด็กที่มีขาโก่งมากๆ หรือหลัง 7 ขวบไปแล้ว ไม่หายแสดงว่าอาจเป็นเพราะโรค

    2. ติดเชื้อที่กระดูก ปกติกระดูก 1 แท่งจะมีด้านในและด้านนอก เมื่อเกิดการติดเชื้อจะทำให้เซลล์กระดูกเจริญเติบโตไม่สมดุล ด้านหนึ่งเจริญเติบโตดี อีกด้านจะเจริญเติบโตไม่ดี และเกิดอาการงอของกระดูกขึ้น

    3. อุบัติเหตุ เกิดการหักในส่วนกระดูกอ่อนที่แบ่งตัว ทำให้กระดูกด้านในและด้านนอกเจริญเติบโตไม่สมดุล ส่งผลให้เกิดการโก่งงอขึ้น

    4. เนื้องอก ถ้าเกิดเนื้องอกที่กระดูก ก็เป็นสาเหตุให้กระดูกเจริญเติบโตผิดปกติ

    5. ความอ้วน น้ำหนักตัวที่มากเกินไปจะไปกดทับการเจริญเติบโตของกระดูก ทำให้กระดูกเจริญเติบโตผิดปกติ

    6. กรรมพันธุ์ เด็กกลุ่มนี้จะมีขาโก่งมากกว่าเด็กคนอื่น แต่เมื่อโตขึ้นก็จะหายไปเอง


    ขาโก่งจากโรคต้องรีบรักษา วิธีรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรคที่เป็น ดังนี้

    • สาเหตุจากอุบัติเหตุจนกระดูกหัก ต้องรีบเอกซเรย์ตรวจให้ละเอียด คุณหมอไม่แนะนำให้ไปบำบัดด้วยแพทย์ทางเลือก แต่ควรตรวจให้แน่ชัดว่ามีกระดูกส่วนไหนที่หัก เพื่อรักษาได้ถูกต้อง

    • ถ้าติดเชื้อที่ขา มีอาการขาบวมและไข้ขึ้นสูง รีบพาไปพบแพทย์ก่อนที่เชื้อโรคลุกลามไปที่กระดูก

    • รักษาด้วยวิธีผ่าตัด จะใช้ในกรณีที่ขาโก่งจากการเป็นเนื้องอก ซึ่งต้องผ่าตัดเอาเนื้องอกออกก่อน

    • ถ้าสาเหตุจากความอ้วน คุณหมอจะแนะนำให้ลดน้ำหนักลงมาให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

    คุณแม่หลายคนมักจะนวดขาและดัดขาให้ลูกน้อย เพื่อให้ขาตรง แต่ในความเป็นจริงการนวดหรือดัดขาไม่มีผลต่อรูปกระดูกหรือการช่วยให้ขาไม่โก่ง

    อาการขาโก่งที่ผิดปกติ ถ้าปล่อยไว้จนโตโดยไม่รีบรักษา แน่นอนว่าเมื่อโตขึ้นลูกจะมีบุคลิกภาพที่ไม่ดี และจะมีอาการปวดเข่าได้




    ที่มา :: รักลูก ปีที่ 28 ฉบับที่ 326 มีนาคม 2553


    .

    ตอบลบ
  7. ภาวะขาโก่ง


    ภาวะขาโก่ง เป็นหนึ่งในภาวะที่ผู้ปกครองนำบุตรหลานมาพบแพทย์ มากที่สุด โดยคุณพ่อหรือ คุณแม่สามารถสังเกตุลูกของท่านได้เอง โดยจะเห็นขาและเข่าของลูกโก่งหรือโค้งงอเล็กน้อยทั้งสองข้างหรือข้างเดียว และอาจพบเท้าบิดเข้าด้านในร่วมด้วย

    สาเหตุ เชื่อกันว่าขณะที่ทารกอยู่ในครรภ์มารดาในระยะ 1-2 เดือนสุดท้ายก่อนคลอด ตัวเด็กใหญ่ขึ้นจึงต้องเบียดตัวเองให้อยู่ในมดลูกที่ มีเนื้อที่จํากัด ทารกส่วนใหญ่จึงมักจะอยู่ในท่างอข้อศอก งอสะโพก งอขา งอเท้า ในท่าดังกล่าว จนอาจส่งผลมาถึงตอนทารกคลอดในระยะแรก โดยจะพบว่าภาวะขาโก่งจะพบมากที่สุดในช่วงแรกเกิด

    ลักษณะทางคลินิก
    โดยทั่วไปจะพบว่าภาวะขาโก่งจะพบมากที่สุดในช่วงแรกเกิด โดยทั่วไปพบสองข้าง แต่อาจพบข้างใดข้างหนึ่งอาจโก่งกว่าอีกข้างหนึ่ง ภาวะนี้เราอาจเรียกว่า ขาโก่งตามสรีระ ภาษาอังกฤษเรียกว่า “physiologic bow legs” และเมื่อลูกน้อย เริ่มเจริญเติบโตขึ้น ธรรมชาติจะช่วยปรับแต่งให้ขาตรงขึ้น ตรงขึ้น จนประมาณ 2 ขวบ จะตรงมาก หลังจากนั้น เด็กก็จะเริ่ม ยืน หรือเดินแบบเข่าชิดหรือชนกัน ที่เราเรียกว่า ขาเป็ด หรือ ขาฉิ่ง ภาษาอังกฤษเรียกว่า “physiologic knock knee” โดยจะเป็นมากเมื่ออายุประมาณ 3 ขวบ หลังจากนั้นขาและเข่าของลูกน้อยก็จะเริ่มกลับมาตรงขึ้น ๆ ตามปกติเมื่ออายุประมาณ 7-8 ขวบ จะเห็นว่าสิ่งที่เห็นเหล่านี้ เป็นการพัฒนาการ การเจริญเติบโต ของกระดูกขา ซึ่งจะโก่ง จะงอ แต่แรกเกิด และท้ายที่สุดก็จะกลับตรงเหมือนปรกติ ซึ่งการที่จะขาโก่ง หรือตรงแค่ไหนขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยส่วนใหญ่ขึ้นกับทางพันธุกรรมเป็นสำคัญ

    อย่างไรก็ดีมีอีกหลายปัจจัยซึ่งเป็นปัจจัยเสริมทำให้เด็กขาโก่งมากขึ้น จนเป็นโรคขาโก่งจริง ๆ (Blount’s disease) เช่น เด็กยืน หรือ เดินเร็ว ก่อนวัย เด็กน้ำหนักมาก อาจพบโรคความผิดปรกติทางเมตาบอริซึมร่วมเช่น โรคขาดวิตามินดี

    การรักษา
    ถ้าเป็นขาโก่งตามสรีระ ให้สังเกตุแนวของขา ว่าสอดคล้องตามอายุหรือไม่ กลุ่มนี้จะใช้การเฝ้าติดตามเป็นระยะ ๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะกลับมาเป็นปกติเมื่อถึงอายุอันควรดังกล่าว ส่วนการดัดขา หรือการตัดรองเท้า ยังไม่มีการวิจัยรองรับว่าได้ผล ในกรณีที่ขาผู้ป่วยเด็กโก่งมากจนเป็นโรคขาโก่งจริง จำเป็นต้องผ่าตัดทำให้กระดูกตรง โดยมักจะทำการผ่าตัดในช่วงอายุ 3-4 ปี และหลังผ่าตัดขาจะอยู่ในเฝือกประมาณ 6-8 สัปดาห์



    ที่มา :: ผศ.นพ. จตุพร โชติกวณิชย์ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกระดูกและข้อ โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์


    .

    ตอบลบ
  8. ทำอย่างไร? เมื่อลูกขาโก่ง



    " ลูกของผมขาโก่ง ต่อไปจะเดินได้หรือครับ "
    " ลูกของฉันขาผิดปกติไหม "
    " เสียดายที่ตอนเล็ก ๆไม่ได้ดัดขาให้ ตอนนี้ขาถึงได้โก่งแบบนี้ "
    " มีคนแนะนำให้มาตัดรองเท้า จะช่วยแก้ขาที่โก่งได้ไหม "

    คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่มีเสมอ ๆจากคุณพ่อคุณแม่ ไม่แต่เฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น ในต่างประเทศก็พบได้พอ ๆกัน
    ปัญหาขาโก่งและปัญหาของเด็กที่เท้าบิดเข้าในยังเป็นปัญหาที่แพทย์ได้รับการปรึกษาบ่อยที่สุดสำหรับโรคกระดูกในเด็ก

    ความจริงแล้วเด็กเกิดใหม่ทุกคนขาโก่งทั้งนั้นแต่จะมากจะน้อยต่างกัน เนื่องจากขณะที่เด็กอยู่ในครรภ์มารดา
    ในระยะสุดท้ายของการคลอด ตัวเด็กที่ใหญ่ขึ้นจะต้องเบียดตัวเองให้อยู่ในมดลูกที่มีเนื้อที่จำกัด เพื่อให้ประหยัดเนื้อที่
    ทารกส่วนใหญ่มักจะอยู่ในท่าขัดสมาธิและงอสะโพกให้มากที่สุด

    เมื่อคลอดออกมาสู่โลกภายนอกที่แสนสบาย "ท่า" เหล่านี้จะยังคงเหลือให้เห็นอยู่บ้างในระยะแรก ๆ ซึ่งถ้าสังเกตให้ดี
    จะเห็นว่าทารกหลังคลอดจะอยู่ในท่าแขนขางอ และลำตัวโค้งเล็กน้อย โดยเฉพาะส่วนขาที่บริเวณหัวเข่า จะไม่อยู่ในแนวกลางลำตัว
    แต่จะแบะออกจนเห็นกล้ามเนื้อขาด้านในที่อยู่ชิดกันได้ง่าย ทำให้เห็นว่าขาเด็กโก่งออกมากยิ่งขึ้น ทั้ง ๆที่สิ่งเหล่านี้เป็นปกติ
    ตามธรรมชาติ และเมื่อเขาโตขึ้นแขน ขา ก็จะค่อย ๆเหยียดตรงออกมา

    คุณจะสามารถเห็นว่า เด็กเริ่มมีขาตรงตอนอายุประมาณขวบครึ่ง โดยไม่จำเป็นต้องไปนวดหรือดัดขาแต่อย่างใด
    ทั้งนี้เพราะการที่เด็กได้หัดเดินและใช้กล้ามเนื้อทำงาน จะเป็นการแต่งปั้นการเจริญเติบโตของกล้ามเนื้อขาและกระดูก
    ให้ตรงตามธรรมชาติอยู่แล้ว จนกระทั่งเมื่อพ้นวัยนี้เข้าสู่อายุ 2 ขวบจะเห็นว่าขาของเด็กกลับกลายมาเดินคล้ายเป็ด
    คือ เข่าอยู่ชิดกัน ส่วนปลายเท้าแยกออกจากกัน ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่า " Knock Knee " คือเดินแล้วเข่ามาชนกันนั่นเอง
    จนอายุ 3 ขวบขาจึงจะค่อย ๆกลับมาตรงตามปกติเมื่ออายุประมาณ 6 - 7 ขวบ

    สิ่งที่กล่าวมาเป็นเรื่องตามธรรมชาติที่พบได้ในเด็กทั่ว ๆไป แต่ก็มีบางรายที่ขาโก่งหรือเข่าชิดมากเกินกว่า
    ค่าเฉลี่ยของเด็กทั่วไป แต่ทุกรายก็จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงจากขาโก่งมาเป็นขาตรง แล้วโตมาเป็นเข่าชนกัน
    จนกลับมาตรงใหม่ทุกราย

    การเปลี่ยนแปลงในรูปร่างของกระดูกนี้จะมีอยู่จนอายุ 8 ปี คือถ้าเลยจากอายุนี้ไปแล้วก็จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นอีก

    ดังที่พบว่าในสังคมเรามีบางคนที่เดินเข่าชนกัน หรือเดินขาโก่งจนส่งเข้าประกวดนางงามไม่ได้
    แต่ปัจจัยทางกรรมพันธุ์ก็มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย เช่น พ่อแม่ที่ขาโก่งกว่าคนปกติ ลูกก็อาจมีขาโก่งกว่าปกติด้วย
    แต่ทางการแพทย์จะไม่ถือว่าผิดปกติ เพราะว่าลักษณะของกระดูกที่โก่งงอแบบนี้จะไม่มีผลในการใช้งานหรือการเล่นกีฬา
    อย่างไรก็ตามถึงแม้จะทราบว่าเด็กส่วนใหญ่ที่ขาโก่งมักจะอยู่ในภาวะปกติ แต่คุณก็ควรจะพาไปพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจดูว่า
    ขาที่โก่งนั้นเหมาะสมกับวัยหรือไม่ หรือมีภาวะผิดปกติอื่นรวมอยู่ด้วยหรือเปล่า หลายต่อหลายครั้งที่ตรวจพบว่า
    เด็กมีลักษณะของขาที่ผิดปกติอันเนื่องมาจากความผิดปกติของสมอง ดังนั้นประวัติพัฒนาการของเด็กจึงเป็นสิ่งสำคัญ

    โดยทั่วไปเด็กจะคว่ำได้เมื่ออายุประมาณ 4 เดือน นั่งได้เมื่ออายุ 6 เดือน เกาะยืนประมาณ 8-9 เดือน
    ยืนได้ตอน 1 ขวบ เดินได้เมื่อ 1 ขวบ 3 เดือน และวิ่งได้คล่องอายุ 1 ขวบครึ่ง ในรายที่มีความผิดปกติของสมองเด็กจะมี
    พัฒนาการที่ช้ากว่าวัย เด็กบางรายที่น้ำหนักตัวมาก แถมมีพัฒนาการเร็ว คือ ยืนได้เร็ว อาจจะทำให้ขาโก่งได้มากกว่าปกติ
    หรือกว่าที่ขาจะหายโก่งก็ช้ากว่าเด็กปกติเป็นต้น
    แพทย์จึงจำเป็นต้องตรวจระบบประสาทโดยละเอียด และวัดความสูงว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่ โดยเฉพาะความยาว
    ของลำตัวและแขนขา เนื่องจากมีภาวะผิดปกติที่เกิดจากการขาดฮอร์โมนและวิตามินหลายตัว เช่น วิตามินดี ไทรอยด์ฮอร์โมน
    และฮอร์โมนในการเจริญเติบโต เป็นต้น ที่จะทำให้เด็กตัวเตี้ยและมีรูปขาที่ผิดปกติได้

    การรักษาจึงขึ้นอยู่กับสาเหตุว่าเป็นจากสาเหตุใดก็รักษาไปตามนั้น แต่ก็มีเด็กกลุ่มใหญ่ที่พบว่า
    มีปัญหาขาโก่งมากกว่าเด็กปกติก็จริง แต่ก็ยังไม่ถือว่าเป็นเด็กผิดปกติ กลุ่มนี้จะใช้การเฝ้าติดตามเป็นระยะ ๆ
    ซึ่งส่วนใหญ่จะกลับมาเป็นปกติเมื่อถึงอายุอันควร การดัดขาหรือไม่ดัดขาไม่มีผลต่อรูปกระดูก
    มีบางครั้งที่แพทย์บางคนแนะนำให้ตัดรองเท้าพิเศษสำหรับเด็ก แต่จากการศึกษาวิจัยพบว่าเด็กมักไม่ค่อยยอมใส่รองเท้า
    และยังไม่เคยมีหลักฐานทางการแพทย์สนับสนุนเลยว่า รองเท้าพิเศษนี้จะช่วยให้เด็กขาโก่งดีขึ้น
    ดังนั้นในปัจจุบันความนิยมให้เด็กใส่รองเท้าพิเศษจึงน้อยลงมาก

    โดย นพ.ปิยชาติ สุทธินาค ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์


    .

    ตอบลบ