ลิซ ทรัสส์ ลาออก หลังอยู่ในตำแหน่งอังกฤษนายกฯ ไม่ถึงสองเดือน
นางลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรประกาศลาออกจากตำแหน่ง หลังอยู่ในตำแหน่ง เพียง 45 วัน กลายเป็นผู้นำสหราชอาณาจักรที่มีวาระดำรงตำแหน่งสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ
นางทรัสส์แถลงการลาออกที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ต่อหน้าผู้สื่อข่าวหลายสิบชีวิตว่า เธอมารับตำแหน่งในภาวะที่ประเทศ "เผชิญกับความไร้เสถียรภาพครั้งใหญ่ทางเศรษฐกิจและการต่างประเทศ" และ เธอได้รับเลือกจากพรรคให้เข้ามา "เปลี่ยนแปลงเรื่องนี้"
เธอบอกว่ารัฐบาลของเธอได้แก้ปัญหาราคาพลังงานและลดเงินนำส่งประกันสังคม และมีแผนการที่จะสร้าง "อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงด้วยการเก็บภาษีต่ำ" แต่ด้วยสถานการณ์ในปัจจุบัน "ดิฉันไม่สามารถทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายได้"
"ดังนั้น ดิฉันจึงได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เพื่อถวายรายงานว่าดิฉันขอลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟ"
การแถลงข่าวใช้เวลาเพียง 90 วินาที โดยไม่มีการเปิดให้ซักถาม
ขั้นตอนต่อไป
การลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟที่ชนะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ ธ.ค. 2019 แปลว่า นางทรัสส์ ต้องลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นพรรคจะจัดการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคใหม่ในสัปดาห์หน้า ผู้ชนะการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค จะได้เป็นนายกฯ ของประเทศ คนต่อไป
นางทรัสส์แถลงด้วยว่า เธอจะดำรงตำแหน่งนายกฯ คนต่อไป จนกว่าจะได้ผู้นำพรรคคนใหม่
ด้านพรรคเลเบอร์ พรรคฝ่ายค้าน เรียกร้องให้ยุบสภา เพื่อจัดการเลือกตั้งทั่วไป ครั้งใหม่
"พรรคคอนเซอร์เวทีฟได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า หมดอำนาจในการปกครองประเทศ" เซอร์เคียร์ สตาร์เมอร์ หัวหน้าพรรคเลเบอร์ แถลง
"หลังจากทนให้พรรคคอนเซอร์เวทีฟบริหารประเทศมา 12 ปี ประชาชนคนอังกฤษสมควรได้รับสิ่งที่มากกว่าความวุ่นวายครั้งแล้วครั้งเล่า... ถึงเวลาเริ่มต้นใหม่"
แรงกดดันก่อนหน้า
ตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว นางทรัสส์เผชิญกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์อยู่แล้วหลังจากนายเจเรมี ฮันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ประกาศต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่าจะยกเลิกแผนการตัดลดภาษีแทบทั้งหมดของนางทรัสส์ ที่บรรจุอยู่ในแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่เรียกว่า "งบประมาณแผ่นดินฉบับย่อ" (mini-budget) มูลค่า 4.5 หมื่นล้านปอนด์
การที่รัฐบาลประกาศงบประมาณแผ่นดินฉบับย่อเมื่อ 23 ก.ย. โดยที่ไม่มีรายละเอียดว่า จะนำเงินจากไหนมาใช้สำหรับแผนนี้ ส่งผลให้ค่าเงินปอนด์ผันผวนร่วงต่ำเป็นประวัติการณ์ก่อนดีดตัวขึ้น อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านพุ่งพรวด ราคาพันธบัตรรัฐบาลทรุดหนัก จนธนาคารกลางต้องเข้ามาแทรกแซง
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้นายกวาซี กวาร์เทง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น ซึ่งเป็นคนสนิทของนางทรัสส์ถูกปลดจากตำแหน่ง หลังอยู่ในตำแหน่งเพียง 38 วัน
การตัดสินใจของนายฮันต์สร้างความยินดีให้แก่บรรดานักลงทุน แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการฉีกแผนดำเนินงานทางเศรษฐกิจของนางทรัสส์จนไม่เหลือชิ้นดี และมีกระแสเรียกร้องให้เธอลาออกจากตำแหน่งหลังจากเข้าบริหารประเทศเพียงไม่กี่สัปดาห์
ในการให้สัมภาษณ์กับบีบีซีเมื่อต้นสัปดาห์ นางทรัสส์ยอมรับผิดชอบที่ "ไปไกลและเร็วเกินไป" และต้องการ "กล่าวขออภัยต่อความผิดพลาดที่ได้กระทำลงไป"
CR :: https://www.bbc.com/thai/63330492