มหัศจรรย์...สายสัมพันธ์ ในช่วงวัยขวบปีแรก
Let’s Start…Bonding มหัศจรรย์...สายสัมพันธ์ (modernmom)
ลูกจะเติบโตเป็นเด็กที่อารมณ์ดี เลี้ยงง่าย และมีความมั่นคงในจิตใจแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับว่า คุณพ่อคุณแม่ได้ช่วยกันถักทอสายสัมพันธ์ (Bonding) ในช่วงวัยขวบปีแรกของลูกน้อยด้วยเช่นกันค่ะ
แม้ว่าการสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูกจะเป็นไปโดยกลไกธรรมชาติ นับแต่คุณแม่คลอดเจ้าตัวน้อยออกมา ร่างกายของคุณแม่จะสร้างฮอร์โมนออกซิโตซิน หรือฮอร์โมนแห่งรักขึ้นมา เพื่อให้แม่รู้สึกรักและห่วงใยลูกมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่ลูกเพิ่งเปลี่ยนผ่านจากโลกภายในครรภ์ของแม่ มาสู่โลกภายนอกที่ทุกสิ่งอย่างล้วนสร้างความตื่นตระหนกภายในใจให้ลูกไม่น้อย แต่ด้วยการโอบกอดที่แสนอบอุ่นกลิ่นกาย และเสียงของแม่ที่คุ้นชินเหล่านี้สามารถทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่นปลอดภัยและพร้อมจะเติบโตบนโลกใบใหม่นี้ได้...นับแต่แรกคลอดทีเดียว
ถักร้อย...สายสัมพันธ์
การสร้างสายสัมพันธ์ ไม่ได้ถูกจำกัดด้วยเวลา 1 หรือ 2 สัปดาห์หลังคลอดเท่านั้น หากสามารถสร้างได้ตลอดชีวิต และไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะแม่กับลูกเท่านั้น คุณพ่อเองก็สามารถสร้างสายสัมพันธ์นี้กับลูกได้เช่นกัน
แรกเกิด-1 เดือน
ผู้เชี่ยวชาญหลาย ๆ ท่านเชื่อว่า เด็กที่เลี้ยงด้วยนมแม่และได้รับการสัมผัสตั้งแต่แรกเกิดจะฉลาด มีไอคิวสูงกว่าเด็กที่ได้รับนมแม่ หรือขาดการกระตุ้น ขาดการสัมผัสตั้งแต่แรกเกิด นั่นเพราะประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ลูกได้รับจากแม่ ล้วนส่งผลให้เกิดประจุไฟฟ้าเล็ก ๆ ขึ้นในเซลล์สมองของลูก และส่งผ่านข้อมูลไปตามเครือข่ายในสมอง และทำให้เซลล์สมองเกิดการเชื่อมโยงกันในที่สุด
ดังนั้นแม้ว่าในช่วง 1 เดือนแรกหลังคลอดลูกน้อย พัฒนาการด้านร่างกายของลูกน้อยจะค่อนข้างจำกัดไว้เพียงกิจกรรม 3-4 อย่าง คือ กิน นอน ร้อง ถ่าย และแม้ว่าดวงตาคู่น้อยจะยังมองเห็นได้ไม่ไกลเกิน 1 ฟุต แต่เชื่อเถอะค่ะว่า ถ้าคุณแม่ (หรือคุณพ่อ) ตอบสนองในสิ่งที่ลูกต้องการ ด้วยความใส่ใจ ไปพร้อมกับการโอบอุ้ม สัมผัส ยิ้ม พูดคุยสบตาลูกบ่อย ๆ พัฒนาการของลูกจะก้าวหน้าขึ้นอย่างน่ามหัศจรรย์เลยทีเดียว นั่นเพราะสัมผัสที่อ่อนโยน นอกจากจะเป็นการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกแล้ว ยังช่วยกระตุ้นให้สมองของลูกน้อยสร้างฮอร์โมนที่สำคัญและสร้างเส้นใยประสาทเพิ่มขึ้นอีกด้วย
1-3 เดือน
ลูกวัยนี้เริ่มเคลื่อนไหวร่างกายได้มากขึ้น เช่น ขยับแขนขา ไขว่คว้าอากาศ ส่งเสียงอ้อแอ้ และที่สำคัญ เริ่มมองได้ไกลขึ้น เริ่มปรับตัวกับโลกใบใหม่ได้ดีขึ้น มีช่วงเวลาตื่นนานขึ้น
ฉะนั้น นอกจากคุณพ่อคุณแม่จะต้องคอยตอบสนองต่อความต้องการพื้นฐานของลูกในวัยนี้อย่างใกล้ชิดแล้ว ก็ควรใช้ช่วงเวลาที่ลูกตื่นเพียงไม่กี่ชั่วโมงในแต่ละวัน อยู่ใกล้ ๆ ลูก สบตา ยิ้ม เขี่ยแก้ม เวลาให้ลูกกินนม พูดคุย ร้องเพลงกล่อม หรือพาลูกอุ้มเดินเปลี่ยนบรรยากาศ ชี้นกชมไม้ไปกับลูก จะช่วยให้ลูกมีพัฒนาการด้านอารมณ์จิตใจที่ดีได้ค่ะ
Tip...ไม่ควรปล่อยให้ลูกร้องไห้นาน ๆ เพราะนั่นคือ บ่อเกิดของความรู้สึกไม่มั่นใจ ไม่ไว้วางใจต่อโลกใบนี้ และอาจจะติดตัวลูกไปจนโต และทำให้ลูกกลายเป็นเด็กที่ไม่เชื่อมั่นในตัวเองและเจ้าอารมณ์ได้
4-7 เดือน
ลูกวัยนี้เริ่มรู้จักการพลิกคว่ำพลิกหงาย กระดึ๊บ ไปจนกระทั่ง คืบ นั่ง และคลานได้ ลองหาของเล่นที่เหมาะสมกับวัย เช่น กรุ๋งกริ๋ง ลูกบอลมีสีสัน ตุ๊กตา ฯลฯ เล่นด้วยกันกับลูก และแม้ว่าลูกจะเริ่มมีกิจกรรมและความสนใจที่เป็นของตัวเองมากขึ้น แต่เขาก็ยังโหยหา และต้องการให้มีพ่อหรือแม่อยู่ใกล้ ๆ ให้รู้สึกอบอุ่นใจ โดยเฉพาะเวลาที่ต้องเผชิญกับคนแปลกหน้า
ช่วงวัยนี้คุณแม่บางคนต้องกลับไปทำงาน ไม่สามารถอยู่กับลูกได้เต็มเวลาเหมือนเดิม สิ่งที่จะช่วยสานต่อความสัมพันธ์ คือ เวลาคุณภาพพี่เลี้ยงที่อยู่กับลูกก็ควรเป็นคนใกล้ชิด ที่ลูกคุ้นเคย ไม่เช่นนั้นจะสร้างความเครียดให้กับลูกได้
Tip...เมื่อลูกเริ่มรู้สึกคับข้องใจ กลัว ไม่พอใจ หรือทำอะไรผิดพลาด อ้อมกอดและคำปลอบโยนของพ่อกับแม่ จะช่วยให้ลูกผ่อนคลายจากสิ่งเหล่านั้นได้มากกว่าการดุด่าช้ำเติมลูก
8-12 เดือน
ลูกวัยนี้รู้ภาษามากขึ้น รู้ว่าถ้าเขาทำสิ่งนี้แล้วแม่จะชอบใจหรือไม่ชอบใจ โดยการสังเกตจากสีหน้า น้ำเสียง และกิริยาอาการต่าง ๆ ดังนั้น การใช้น้ำเสียงนิ่ง ๆ เพื่อเตือนให้ลูกระวัง และกล่าวชมเชยในสิ่งที่ลูกทำให้ได้ดี จะช่วยให้ลูกเรียนรู้โลกอย่างปลอดภัยขึ้น และปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดียิ่งขึ้น วัยนี้ลูกเริ่มเรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างท่าทางกับความหมาย เช่น สั่นศีรษะ แปลว่า ไม่ บ๊ายบาย ไปแล้วนะ ธุจ้า คือ การทักทาย เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยกระตุ้นให้ลูกได้โดยการพูดคุย เล่านิทาน หรือหาโอกาสพาลูกออกไปเรียนรู้ประสบการณ์นอกบ้าน ได้เล่นกับเด็กวัยเดียวกัน เพื่อสังเกตและเรียนรู้ได้มากขึ้นค่ะ
Tip...หากลูกได้รับสัมผัสที่อ่อนโยนจะช่วยให้ลูกเรียนรู้ที่จะปฏิบัติต่อคนอื่นอย่างอ่อนโยนเช่นกัน แต่หากเราเผลออารมณ์ และน้ำเสียงดุตะคอกใส่ลูก ลูกก็เรียนรู้ที่จะใช้วิธีเดียวกันนี้กับคนรอบข้างเช่นกัน
ไม่ว่าลูกจะเติบโตไปเพียงใด แต่ความรักและความผูกพันที่อบอุ่น แต่แรกวัย จะยังคงเป็นฐานที่มั่นทางใจ ให้ลูกรู้สึกมั่นคงและพร้อมที่จะปรับตัวต่อสิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามาในชีวิต