ลูกเราเข้าใจคําพูดแค่ไหน?
ลูกเราเข้าใจคําพูดแค่ไหน? (Mother&Care)
ช่วงนี้ลูกวัยวัยเตาะแตะ สามารถบอกความต้องการ ด้วยท่าทางและคําพูดได้ ก็เพราะเรียนรู้ความหมายสิ่งต่าง ๆ รอบตัวผ่านการได้ยิน จนพัฒนาเป็นการสื่อสารและความเข้าใจ แต่ลูกวัยเตาะแตะ จะรับรู้ เข้าใจแค่ไหน มาฟังคําตอบจาก พญ. ศิรินทร์ญา เทพรักษ์ ค่ะ
ทักษะความเข้าใจ ตามช่วงวัย
1 ปี
สามารถเข้าใจคําพูด ประโยคหรือคําสั่งง่าย ๆ เช่น หยุดหรืออย่า ที่พ่อแม่พูด สามารถเชื่อมโยงเรื่องราว คําศัพท์ในชีวิตประจําวันต่าง ๆ ได้ เช่น รู้จักชื่อตัวเอง รู้ว่าใครคือพ่อ แม่ และพูดเป็นคําสั้น ๆ เช่น พ่อ แม่ แสดงออกด้วยท่าทาง เช่น พยักหน้า ส่ายหน้าได้
1 ปีครึ่ง
เข้าใจคําสั่งและทําตามคําสั่งโดยมีท่าทาง (เช่น คุณแม่บอกให้ไหว้คุณหมอ พร้อมทําท่าให้ลูกดู) จนค่อย ๆ ทําตามคําสั่งได้โดยไม่ต้องมีท่าทาง เช่น ทิ้งขยะได้เอง โดยที่คุณไม่ต้องใช้มือชี้ไปที่ถังขยะให้ลูกดู และยังรู้จักบอกอวัยวะของตัวเองได้ถึง 3 ส่วน เช่น ตา หู หรือจมูก พูดคําพยางค์เดียวได้ 10-20 คํา และเลียนเสียงรถหรือสัตว์ร้องได้ สามารถบอกความต้องการและรู้จักการปฏิเสธเป็น เช่น เอา ไม่เอา
2-3 ปี
อายุ 2 ปี สามารถทําตามคําสั่งได้ 2 ขั้นตอน โดยไม่ต้องมีท่าทาง เช่น ทิ้งขยะลงถัง แล้วหยิบผ้ามาให้แม่ รู้หน้าที่ของสิ่งของต่าง ๆ เช่น ช้อนมีไว้ตักข้าว แก้วน้ำมีไว้ดื่ม หรือรู้จักกิริยาของสัตว์ เช่น หมาร้องโฮ่ง ๆ แมวร้องเหมียว ๆ และเข้าใจคําถาม "นี่อะไร" ชี้ภาพได้ถูกต้องเมื่อถามได้ พูด 2-3 พยางค์ เช่น กิน ไปเที่ยว
เมื่ออายุ 3 ปี ความเข้าใจและการเชื่อมโยงคําศัพท์มีมากขึ้น เข้าใจคําสั่งที่ซับซ้อน เริ่มเข้าใจบุพบท, จํานวน, เพศของตัวเอง รู้จักสี รู้จักเปรียบเทียบ พูดเป็นประโยคสั้น ๆ บอกชื่อตัวเองได้ บอกความต้องการ เล่าเรื่องได้ ตอบคําถามที่ขึ้นต้น "อะไร ที่ไหน" สนใจคําถาม โดยเฉพาะการตั้งคําถามของเด็กวัยนี้ ก็เป็นสิ่งที่พ่อแม่สังเกตได้ เพราะลูกมีความสนใจอยากรู้สิ่งต่าง ๆ มากขึ้น
ปัญหาทางภาษา ที่อาจพบได้
พูดช้า
พบว่ามีถึง 10-15% ในช่วงวัยเตาะแตะ พบในเด็กผู้ชายได้มากกว่าเด็กผู้หญิง 2-3 เท่า ดังนั้น พ่อแม่จึงควรรู้ถึงสาเหตุของการพูดช้า ซึ่งอาจเกิดจากภาวะการได้ยินผิดกปติ ภาวะสติปัญญาบกพร่อง ออทิสติก พัฒนาการผิดปกติ หรือพัฒนาการทางภาษาล่าช้าที่เกิดจากการเลี้ยงดู เมื่อสงสัยว่าลูกพูดช้าควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุ แก้ไขได้ถูกต้องและเหมาะสม
แบบไหนเข้าข่ายพูดช้า
โดยทั่วไปเด็กวัยหนึ่งขวบจะเริ่มพูดได้แล้ว หากอายุขวบครึ่ง ยังไม่สามารถพูดเป็นคําที่มีความหมาย ก็ต้องสังเกตว่า สามารถทําตามคําสั่งโดยไม่มีท่าทางได้หรือเปล่า หากขวบครึ่งยังไม่เข้าใจหรือทําตามคําสั่งอย่างง่ายโดยไม่มีท่าทางไม่ได้ อายุ 2 ปี พูดคําที่มีความหมาย หรือเมื่อ อายุ 3 ปี ยังไม่พูดเป็นประโยค จะจัดอยู่ในกลุ่มพูดช้า ควรพาลูกไปปรึกษาคุณหมอ
พูดไม่ชัด
การพูดชัดของเด็กจะค่อย ๆ พัฒนาตามช่วงอายุ เด็กวัย 2 ปี จะสามารถพูดกับคนที่ไม่คุ้นเคยฟังได้ประมาณครึ่งหนึ่ง เมื่ออายุ 4 ปี จะสามารถพูดชัด ให้ผู้ฟังเข้าใจได้ทั้งหมด ในช่วงแรกที่ลูกเริ่มพูด การออกเสียงพยัญชนะอาจยังไม่ชัดได้ ซึ่งโดยทั่วไปเด็กวัย 2-2.6 ปี อย่างน้อยควรออกเสียงพยัญชนะตัว ม ย น ห ค อ ได้ชัดแล้ว อายุ 2.7-3 ปี จะพูดพยัญชนะตัว ก บ ป ว ได้ชัด อายุ 3.1-3.6 ปี จะพูดพยัญชนะตัว ท ต ล จ พ ชัด และเมื่ออายุ 5-6 ปี จะออกเสียงตัว ช ร ส ได้แล้ว
ดังนั้นควรสังเกตว่าลูกอยู่ในช่วงวัยใด ฟังการออกเสียงพูดของลูก หากลูกพูดไม่ชัดมากและยังไม่รู้เรื่อง ผู้ใหญ่ฟังไม่รู้เรื่องและพูดไม่ชัด หลายตัวอักษร งดการออกเสียงบางเสียง ออกเสียงอื่นแทน อาจทําให้เกิดปัญหาทางสังคมกับเพื่อน เรื่องการเรียน หรืออายุเกิน 8 ปียังออกเสียงไม่ชัด ก็ควรปรึกษาคุณหมอ เพื่อตรวจการได้ยินหรืออวัยวะการใช้ลิ้น ว่าผิดปกติหรือเปล่า
ไม่ยอมพูด
มีอยู่บ้างแต่ไม่มาก อาจเกิดจากความวิตกกังวลหรือการปรับตัวของเด็ก ทําให้เด็กพูดเฉพาะกับคนในบ้าน แต่ไม่พูดกับคนแปลกหน้าหรือคนที่ไม่คุ้นเคย คุณแม่ควรค่อย ๆ ให้เวลาลูกปรับตัว ไม่ว่ากล่าว แต่ให้ลูกมีกิจกรรมนอกบ้านกับเด็กคนอื่น ๆ บ้าง
แนวทางการส่งเสริมของพ่อแม่
พูดคุยกับลูกอย่างเป็นธรรมชาติ จากเรื่องใกล้ตัว ชีวิตประจําวัน เช่น คุณแม่ทําอะไรให้พูดไปด้วย เช่น กินข้าวก็บอกว่า "กินข้าวนะลูก" ทําท่าจะป้อนข้าว เพื่อช่วยให้ลูกเชื่อมโยงคําศัพท์สิ่งต่าง ๆ ได้ดี สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูก ๆ
ควรเป็นตัวอย่างที่ดีในการพูด เช่น ใช้คําพูดที่เหมาะสม ไพเราะ พูดให้ชัดเจน และไม่ล้อเลียนลูกในเรื่องการพูดไม่ชัด แต่ควรให้กําลังใจกับลูก
การอ่านนิทาน โดยใช้เสียงสูง ต่ำ มีรูปภาพประกอบ จะช่วยให้ลูกเรียนรู้เรื่องคําศัพท์ การเชื่อมโยงเรื่องราวได้เป็นอย่างดี
พูดคุย ตั้งคําถามกับลูกอย่างเหมาะสม ควรเป็นคําถามปลายเปิด เช่น
"นี่อะไรคะ"
ควรฟังลูกพูดและมีปฏิกิริยาตอบสนอง ด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวล ค่อยเป็นค่อยไป ถ้าลูกซักถามก็ต้องทําตัวเป็นคุณแม่ช่างตอบ ถ้ายังตอบคําถามไม่ได้ อาจใช้วิธีหาคําตอบในภายหลัง หรือชวนลูกค้นหาคําตอบด้วยกัน
การสอนลูกเรื่องภาษา ควรดูความพร้อมของลูกตามช่วงวัย เพื่อจะได้ส่งเสริมได้เหมาะสม ไม่มากเกินไป เพราะจะทําให้ลูกเบื่อหน่ายหรือไม่สนใจ
สื่อที่ลูกเรียนรู้ ควรเป็นสื่อที่สื่อสารสองทาง เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ เชื่อมโยงเรื่องราวได้ดี เช่น หากลูกจะดูวีซีดี พ่อแม่ควรเลือกสื่อที่เหมาะกับวัยและดูพร้อมกับลูก คอยแนะนํา สอนลูก อย่าให้ลูกใช้เวลากับการดูวีซีดีมากเกินไป การอ่านนิทาน เล่นกับลูก จะส่งเสริมพัฒนาการได้อย่างเต็มที่ค่ะ