เมื่อกล้ามเนื้อหัวใจลูกอักเสบ !
เมื่อกล้ามเนื้อหัวใจลูกอักเสบ ! (รักลูก)
จากการสัมภาษณ์ : นพ.ปรีชา เลาหคุณากร กุมารแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
อย่าเพิ่งมองข้ามอาการหวัด จามฮัดเช้ย ๆ ของลูกนะคะ เพราะนั่นอาจหมายถึงอาการเบื้องต้นที่นำไปสู่โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ที่หากอาการถึงขั้นรุนแรง ลูกของเราอาจเสียชีวิตได้...แต่โรคนี้ก็ไม่ได้พบบ่อยนัก และมีทางรักษาให้หายได้ค่ะ
สาเหตุ...กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบมีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกวัยค่ะ ตั้งแต่วัยแรกเกิดไปจนถึงผู้ใหญ่ แต่จะเกิดขึ้นกับเด็กได้มากกว่า เพราะเป็นวัยที่ร่างกายยังไม่มีภูมิต้านทานมากนัก
สาเหตุหลัก ๆ พบได้บ่อยที่สุดก็คือการติดเชื้อไวรัส โดยโรคนี้จะพบบ่อยในช่วงที่มีการระบาดของไวรัส เช่น ช่วงฤดูฝน หรือสภาพแวดล้อมที่ชื้น อากาศ ถ่ายเทไม่สะดวก รวมถึงสถานที่ที่ไม่ถูกสุขอนามัย เด็กจึงเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ใหญ่ เพราะภูมิต้านทานไม่แข็งแรง แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่ติดเชื้อไวรัสแล้วจะพัฒนาไปเป็นกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบค่ะ
เชื้อไวรัสที่พบมากที่สุดมีอยู่ 2 กลุ่มด้วยกัน คือ
Coxsackievirus B3 และ B4 ซึ่งเป็นไวรัสที่ติดต่อเข้าสู่ทางเดินอาหาร
Adenobirus ไวรัสกลุ่มนี้จะติดต่อเข้าสู่ทางเดินหายใจ ปัจจุบันพบว่าเชื้อไวรัสตับอักเสบ C เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ เชื้อ HIV ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้เช่นกัน บางรายก็หายเป็นปกติ แต่บางรายก็จะกลายเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง (dilated cardiomyopathy) ไปจนถึงในรายที่มีอาการของหัวใจวาย และช็อก กระทั่งเสียชีวิต ถือเป็นขั้นที่รุนแรงที่สุดค่ะ
สัญญาณเตือน...บอกโรค
วิธีสังเกตอาการก่อนถึงขั้นรุนแรงดังนี้ค่ะ
เหมือนไข้หวัดธรรมดา มักเริ่มด้วยอาการติดเชื้อไวรัส เช่น เป็นไข้ ไอ มีน้ำมูกไหล อาเจียน ท้องเสีย และอ่อนเพลีย ซึ่งอาการเหล่านี้ขึ้นอยู่กับชนิดของไวรัส และเป็นอาการทั่วไป ไม่สามารถจำแนกชนิด หรือความรุนแรงจากอาการเหล่านี้ได้ในระยะ 3-4 วันแรกค่ะ
เหมือนไข้หวัดใหญ่ อาการคือ มีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อาเจียน และท้องเสีย ร่วมกับอ่อนเพลียมาก จนไม่มีแรง หรือมีอาการเจ็บหน้าอก หัวใจเต้นผิดจังหวะ มีอาการหายใจลำบาก ความดันเลือดต่ำ และ ช็อก
ผู้ป่วยที่มีอาการหนักมากอาจจะนำไปสู่ภาวการณ์เสียชีวิตเฉียบพลันได้ ในระยะยาวก็อาจมีภาวะแทรกซ้อนต่อการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ จนเป็นภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรังได้เช่นกันค่ะ
เมื่อหนู... "กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ"
กรณีของกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากเชื้อไวรัส เชื้อไวรัสชนิดนั้น จะต้องเข้าไปแบ่งตัวในเซลล์ของกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้กล้ามเนื้อ หัวใจตาย ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจลดลงค่ะ
อาการของโรคมีความแตกต่างกันได้มากในแต่ละคนค่ะ ตั้งแต่เหมือนไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ จนถึงการมีภาวะน้ำท่วมปอดที่รุนแรง ซึ่งอาการเหล่านี้ก็มักมีทั้งที่เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปหรือทรุดลงอย่างรวดเร็ว
รักษากล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
ในระยะแรกที่เชื้อไวรัสกำลังแบ่งตัว ถ้าทราบชนิดของเชื้อและมียาต้านไวรัสสำหรับเชื้อนั้น การให้ยาต้านไวรัสก็มักจะได้ผล แต่ในทางปฏิบัติแพทย์มักไม่ทราบชนิดของเชื้อที่แน่นอน และชนิดของยาต้านเชื้อไวรัสมีจำกัดมาก การให้ยาต้านไวรัสจึงไม่ค่อยมีโอกาสใช้ แต่แพทย์จะให้ยาที่เรียกว่า immunoglobulin ซึ่งเป็นสารสกัดมาจากเลือดคน อุดมไปด้วยสาร antibody ที่มีรายงานว่า immunoglobulin ช่วยยับยั้งการกระจายตัวของไวรัสได้ค่ะ
นอกจากนี้แพทย์มักให้ยาที่ช่วยประคับประคองการทำงานของหัวใจจนกว่าจะพ้นระยะวิกฤต ในกรณีที่หัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจต้องมีการใช้สายไฟพิเศษสวนเข้าไปในหัวใจเพื่อทำการควบคุมการเต้นของหัวใจ
ถ้าการให้ยาต่าง ๆ อย่างเต็มที่แล้วก็ยังไม่สามารถช่วยให้หัวใจทำงานได้ อาจต้องใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียมที่เรียกว่า ECMO (EXTRACORPOREAL MEMBRANE OXYGENATOR) เครื่องนี้จะทำหน้าที่แทนหัวใจในการสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงร่างกายและแทนปอดในการแลกเปลี่ยนก๊าซ oxygen และ carbon dioxide
ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะผ่านพ้นช่วงวิกฤตนี้ได้ จำนวนหนึ่งจะหายขาด หัวใจกลับมาทำงานเหมือนปกติ ผู้ป่วยอีกจำนวนหนึ่งจะมีอาการไม่ค่อยรุนแรงแต่จะเป็นเรื้อรัง ในระยะยาวหัวใจจะค่อย ๆ อ่อนกำลังลง ผู้ป่วยเหล่านี้ต้องใช้ยาเพื่อช่วยการทำงานของหัวใจไปตลอด ในที่สุดเมื่อหัวใจทำงานไม่ไหวอีกต่อไป ทางเดียวที่จะให้มีชีวิตรอด คือการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจนั่นเองค่ะ
ปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ สามารถทำให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้รวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น ฉะนั้นหากเราใส่ใจดูแลสุขภาพของลูกอย่างสม่ำเสมอ และไปพบแพทย์ทุกครั้งเมื่อลูกป่วยไข้ ก็จะได้รับการรักษาตรงโรค และปลอดภัยกับชีวิตน้อย ๆ ของเจ้าตัวเล็กมากที่สุดค่ะ