Learn with Prin เรียนรู้ไปพร้อมกับน้องปริญญ์

จำหน่ายผลิตภัณฑ์ Legacy /Reborn Set ลด Fat ตัวช่วยลดไขมัน ลดน้ำหนัก แบบถูกวิธี 🔥 ติดต่อสอบถาม/สั่งซื้อ 📍 โทร ☎️ :: 084-110-5021 🌸 Line ID :: pla-prapasara 🌸 รับโปรโมชั่นสุดพิเศษเฉพาะทาง Line นะคะ 📍

วันเสาร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2556

การใช้จุกหลอก

การใช้จุกหลอก
 

 
 
แม้ว่าคุณพ่อคุณแม่หลายคนจะใช้จุกหลอกเพื่อช่วยไม่ให้น้องร้องงอแง แต่บางคนก็ไม่ชอบใจเอาซะเลยที่ต้องใช้เจ้าอุปกรณ์ชิ้นนี้ ส่วนบางคนเคยคิดตอนก่อนมีน้องว่าจะไม่ใช้มันแน่ๆ แต่ในที่สุดก็ต้องเปลี่ยนใจเพราะเจอกับปัญหาเจ้าตัวเล็กร้องไห้กระจองอแงค่ะ
 
 
 

ถ้าคุณตัดสินใจใช้จุกหลอก


 
 

• ให้เลือกใช้จุกหลอกที่เป็นทำเป็นหัวนมยาง (Orthodontic dummy)

• รักษาความสะอาดของจุกหลอกให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ คอยนำไปฆ่าเชื้อบ่อยครั้งเหมือนกับจุกนมยางที่ใช้กับขวดนม

• เปลี่ยนจุกหลอกและจุกนมยางที่ใช้กับขวดนมบ่อยๆ คอยดูว่ามีรอยแตก รอยฉีก หรือมีรูรั่วหรือไม่ เพราะรอยเหล่านี้อาจเป็นที่สะสมเชื้อโรคได้ ถ้าพบให้รีบเปลี่ยนอันใหม่ทันทีค่ะ

• ห้ามนำจุกหลอกไปจุ่มอาหารรสหวานๆ เช่น น้ำผึ้งหรือน้ำส้มเพื่อให้ช่วยให้น้องหยุดร้องไห้ การทำแบบนี้จะทำให้น้องฟันผุเร็วนะคะ

• พยายามจำกัดการใช้จุกหลอกเฉพาะเวลาจำเป็น เช่น ระหว่างน้องร้องไห้ไม่หยุด หรือเพื่อช่วยให้น้องนอน การใช้จุกหลอกเป็นเวลานานสัมพันธ์กับอาการติดเชื้อที่หูชั้นกลางและปัญหาอื่นๆ (ดูข้อเสียได้ที่ด้านบนค่ะ)

• รอให้น้องอยากได้จุกนมก่อนแล้วค่อยให้ ดีกว่าให้น้องไปโดยที่เขาไม่ได้ขอ

• พยายามให้น้อง "เลิก" ดูดจุกหลอกก่อนเขาครบหนึ่งขวบ (ซึ่งจะทำได้ง่ายกว่ามากค่ะ ดีกว่าไปให้น้องเขาเลิกตอนโตได้ 2-3 ขวบแล้ว) และแน่นอนว่า ต้องก่อนฟันแท้ของเขาขึ้นด้วยนะคะ (โดยปกติจะเป็นตอน 6 ขวบ)

• อย่าให้น้องดูดจุกหลอกจนติดเป็นนิสัย

 
 
 
การให้น้องเลิกดูดจุกหลอก...
 

 

ถ้าเจ้าตัวเล็กดูดจุกหลอกตลอดเวลาหรือไม่ยอมเลิกตามที่คุณต้องการ ลองทำตามวิธีต่อไปนี้ดูนะคะ

• ค่อยๆ ลดเวลาที่ให้น้องดูดจุกหลอก

• จำกัดการใช้จุกหลอกเฉพาะช่วงที่จำเป็นในแต่ละวัน เช่น เวลาเข้านอน หรือเวลาที่น้องไม่สบาย คุณต้องหนักแน่นหน่อยนะคะ

• ให้รางวัลเจ้าตัวเล็กด้วยการเล่นกิจกรรมสนุกๆ หรือให้รางวัลโดยใช้แผ่นสะสมดาวหรือสติกเกอร์ อย่าให้น้องกินขนมแทนการใช้จุกหลอกค่ะ

• ชี้ให้น้องดูพี่ๆ ที่โตกว่าว่าเขาไม่ดูดจุกนมกันแล้วนะ เด็กๆ ก่อนวัยเรียนอยากจะโตเหมือนผู้ใหญ่ค่ะ

• เชียร์ให้น้องยกจุกหลอกทั้งหมดให้กับคนสำคัญของเขา เช่น คุณปู่หรือพี่เลี้ยงที่โรงเรียนอนุบาล

โปรดจำไว้นะคะว่าในที่สุดแล้ว เจ้าตัวน้อยของคุณจะโตเกินกว่าที่จะใช้จุกหลอกค่ะ

 
 
 

ข้อดีของการใช้จุกหลอก
 

 

การใช้จุกหลอกมีข้อดีสำหรับคุณพ่อคุณแม่และผู้ดูแล คือ ช่วยให้น้องไม่งอแง หรือช่วยให้น้องหลับได้ง่าย การดูดจุกหลอกช่วยบรรเทาความเจ็บปวดได้ค่ะ จึงเป็นเหตุผลที่คุณพ่อคุณแม่มักให้น้องดูดจุกหลอกเวลาที่ร้องไห้นานๆ (เช่น เมื่อร้องไห้ไม่หยุดหรือที่เรียกว่ามีอาการโคลิก) หรือเมื่อไม่สบายตัว

การดูดจุกหลอกมีประโยชน์มากสำหรับทารกที่คลอดก่อนกำหนด ผลการวิจัยหลายฉบับพบว่า ทารกที่คลอดก่อนกำหนดสามารถเปลี่ยนจากการรับอาหารทางสายยางเป็นการดูดนมจากขวดนมแทนได้รวดเร็วกว่า และทารกจะดูดนมจากขวดได้ดีกว่าถ้าให้เขาดูดจุกหลอกก่อนป้อนนม นอกจากนี้ ถ้าทารกที่คลอดก่อนกำหนดได้ดูดจุกหลอก เขาจะออกจากโรงพยาบาลได้เร็วขึ้นด้วยค่ะ
 
 
 

ข้อเสียของการใช้จุกหลอก
 

 

• เพิ่มโอกาสติดเชื้อในช่องหู -- มีหลักฐานที่เป็นที่ยอมรับว่าการใช้จุกหลอกเป็นเวลานานสัมพันธ์กับอาการติดเชื้อในช่องหูชั้นกลาง ซึ่งแม้ว่าอาจมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากสภาพแวดล้อมอื่นๆ ในการดำเนินชีวิตที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น สภาพภายในบ้านไม่เหมาะสม หรือครอบครัวที่มีรายได้น้อย ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การใช้จุกหลอกก็ยังเป็นเหตุที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อในช่องหูด้วยเหตุผลข้อหนึ่ง คือ เป็นที่เชื่อกันว่าการดูดจุกหลอกจะเพิ่มโอกาสติดเชื้อจากปากไปยังช่องคอส่วนบนเข้าสู่ช่องหูชั้นกลางผ่าน Eustachian tube (ช่องอากาศที่เชื่อมระหว่างหูชั้นกลางกับด้านหลังของลำคอ) ได้ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหานี้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรใช้จุกหลอกเพื่อช่วยให้น้องไม่งอแงเท่านั้นนะคะ

• ความสัมพันธ์กับการติดเชื้อในช่องท้องและการติดเชื้อบริเวณอื่น -- การใช้จุกหลอกสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการเกิดอาการต่างๆ เหล่านี้มากขึ้น เช่น อาเจียน มีไข้ ท้องเสีย และอาการโคลิก รวมทั้งอาจทำให้ต้องเชิญคุณหมอไปที่บ้านบ่อยครั้ง หรือต้องไปพาน้องโรงพยาบาลบ่อยกว่าเดิมค่ะ

• การใช้จุกหลอกนานๆ อาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับฟันได้ -- สมาคมสุขภาพช่องปากของอังกฤษ (British Dental Health Foundation) แนะนำว่า ไม่ควรใช้จุกหลอกหรือให้น้องดูดนิ้ว เพราะทั้งสองอย่างนี้จะสร้างปัญหากับฟันที่งอกขึ้นมา โดยเฉพาะถ้าเด็กยังคงดูดจุกหลอกหรือดูดนิ้วเมื่อฟันแท้เริ่มงอกแล้ว ซึ่งในการแก้ปัญหานี้ เด็กอาจจำเป็นต้องดัดฟันนานเป็นปีหรือสองปีเมื่อโตขึ้น
 

• เกิดปัญหาในการพูด -- การใช้จุกหลอกทำให้น้องไม่ส่งเสียงอ้อแอ้ ซึ่งเป็นก้าวสำคัญสำหรับเขาในการเรียนรู้การพูด และทำให้น้องที่ก้าวเข้าสู่วัยหัดเดินไม่กล้าพูดออกมา ซึ่งเป็นวัยที่ควรเริ่มพัฒนาทักษะการพูดแล้ว

• การใช้จุกนมหลอกทุกวันเป็นอุปสรรคต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ -- มีหลักฐานชัดเจนว่า คุณแม่ที่ใช้จุกนมหลอกมีแนวโน้มที่จะทำให้น้องหย่านมเร็วกว่าคุณแม่ที่ให้ลูกดื่มนมแม่จากอกและไม่ใช้จุกนมหลอกทุกวัน งานวิจัยชิ้นหนึ่งยังพบด้วยว่า คุณแม่ที่ใช้จุกนมหลอกมีแนวโน้มจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วงเวลาที่สั้นกว่า หรือพบว่าคุณแม่มีน้ำนมไม่พอเมื่อน้องมีอายุอย่างน้อยหนึ่งเดือน

การใช้จุกหลอกเกี่ยวข้องกับการที่คุณแม่ให้น้องหย่านมเร็วหรือไม่นั้นยังคงเป็นที่ถกเถียงกัน บางคนแย้งว่า การที่คุณแม่ใช้จุกหลอกเป็นเพราะคุณแม่มีปัญหาในการเลี้ยงลูกด้วยนมของตนเองตั้งแต่แรกหรือเป็นเพราะไม่อยากเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ บางคนคิดว่า ทารกติดจุกหลอกหรือจุกนมยางจนไม่ยอมกลับไปกินนมแม่เพราะเกิดความสับสน ซึ่งเราอาจเรียกว่า ปัญหาติดจุก (Nipple Confusion) บางคนก็โต้แย้งว่า การใช้จุกนมยางแทนการกินนมแม่ทำให้ไม่มีการกระตุ้นทรวงอกให้ผลิตน้ำนมออกมา จึงทำให้มีน้ำนมไม่เพียงพอ คุณแม่ที่ให้น้องหย่านมในช่วงหกเดือนแรกมักให้เหตุผลว่า ที่ต้องให้น้องหย่านมก็เพราะเธอ "มีน้ำนมไม่เพียงพอ" นั่นเอง

ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม การใช้จุกนมหลอกทุกวันนั้นสัมพันธ์กับการหย่านมแม่ก่อนที่ทารกน้อยจะมีอายุครบสามเดือน องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำว่า ทารกทุกคนควรได้รับนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วงหกเดือนแรก เพราะการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นมีประโยชน์มากมาย ดังนั้น ทั้งองค์การอนามัยโลกและกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (United Nations Children's Fund) จึงไม่สนับสนุนการใช้จุกหลอกหรือจุกนมยางเป็นอย่างยิ่งค่ะ และเพื่อสนับสนุนเรื่องนี้ ขั้นตอนที่ 9 ใน "คำแนะนำสิบขั้นตอนเพื่อความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่" จากโครงการดูแลทารกในประเทศอังกฤษขององค์การยูนิเซฟ (UNICEF UK Baby Friendly Initiative) จึงบอกไว้ว่า อย่าให้ลูกที่กินนมแม่ไปดูดจุกนมยางหรือจุกหลอกค่ะ
 
 
 
จุกหลอกกับภาวะการตายเฉียบพลันในทารก (SIDS)

 
 

มีหลักฐานเพิ่มขึ้นที่บ่งชี้ว่า การใช้จุกหลอกมีส่วนช่วยป้องกันไม่ให้ทารกเกิดภาวะการตายเฉียบพลัน ในอดีตนั้น เคยมีการวิจัยขนาดใหญ่แบบผลไปหาเหตุ (Case-control Study) ของภาวะการตายเฉียบพลัน ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุขของประเทศอังกฤษ รายงานในปี 2542 ว่า การใช้จุกหลอกเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะการตายเฉียบพลัน โดยความเสี่ยงนี้จะเกิดกับทารกที่ใช้จุกหลอกเป็นประจำแต่ไม่ได้ใช้จุกหลอกเมื่อเข้านอนก่อนเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่ระบุนี้ไม่ได้มีนัยสำคัญอีกต่อไปเมื่อพิจารณาถึงปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่สำคัญกว่า

เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการตีพิมพ์เผยแพร่รายงานในวารสารการแพทย์ของอังกฤษ (British Medical Journal) ในเดือนธันวาคมปี 2548 ว่า แท้ที่จริงนั้น การใช้จุกหลอกกลับช่วยป้องกันภาวะการตายเฉียบพลัน (SIDS) ได้ การวิจัยซึ่งดำเนินการในรัฐแคลิฟอร์เนียนี้ ได้ศึกษาการใช้จุกหลอกในทารก 185 คนที่มีเสียชีวิตจากอาการ SIDS และทารกในกลุ่มควบคุมอีก 312 คน พบว่าการใช้จุกหลอกสัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงต่อภาวะ SIDS โดยเฉพาะเมื่อเราทราบถึงปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น การนอนคว่ำหรือนอนตะแคง การนอนบนที่นอนนิ่มๆ หรือนอนกับคุณแม่ที่สูบบุหรี่ นอกจากนี้ การวิจัยยังพบว่า การดูดนิ้วน่าจะช่วยป้องกันภาวะการตายเฉียบพลันได้ด้วยค่ะ

ผลจากการวิจัยนี้ไม่ได้หมายความว่าทารกทุกคนควรใช้จุกนมหลอกเป็นประจำนะคะ ผู้ดำเนินการวิจัยนี้กล่าวว่าการค้นพบของพวกเขายืนยันได้ว่า จุกนมหลอกมีผลช่วยป้องกันภาวะการตายเฉียบพลันได้ แต่ก็ยังไม่มี "หลักฐานชัดเจน" ที่พิสูจน์ถึงเหตุและผลของความสัมพันธ์นี้ ผู้ดำเนินการวิจัยยังกล่าวย้ำด้วยว่า "การค้นพบในเบื้องต้นเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการยืนยัน"

ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าทำไมการใช้จุกนมหลอกจึงช่วยป้องกันภาวะ SIDS ได้  แต่ผู้ดำเนินการวิจัยเสนอแนะเหตุผลที่เป็นไปได้ไว้สองข้อ คือ

1) ส่วนที่เป็นมือจับชิ้นใหญ่ภายนอกของจุกนมหลอกอาจช่วยป้องกันไม่ให้จมูกกับปากของทารกถูกปิดกั้นหรือถูกที่นอนนิ่มๆ ปิดไว้

2) การดูดจุกนมอาจช่วยให้ทารกควบคุมระบบทางเดินหายใจส่วนต้นได้ดียิ่งขึ้น
 

แต่อย่าลืมปัจจัยอื่นๆ ด้วยนะคะ เช่น การให้น้องนอนหงาย และคุณพ่อคุณแม่ห้ามสูบบุหรี่ เพราะปัจจัยเหล่านี้สำคัญยิ่งกว่าสำหรับการป้องกันอาการ SIDS นอกจากนี้ อย่ารีบตัดสินใจโดยไม่คำนึงถึงข้อดีและข้อเสียอื่นๆ ของจุกนมหลอก (ดูข้อดีและข้อเสียได้ที่ด้านบนค่ะ) การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีความสำคัญมากต่อการสร้างเสริมสุขภาพของลูกน้อย และเป็นที่แน่นอนว่า จุกนมหลอกทำให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลดลง




 

 
 
 
 
 
 
ที่มา       ::         BabyCenter