โรคลิ้นหัวใจรั่วในเด็ก
โรคลิ้นหัวใจรั่วในเด็ก (รักลูก)
โดย : นพ.พีระพัฒน์ มกรพงศ์
ลิ้นหัวใจรั่ว เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้เหมือนโรคอื่น ๆ และเด็กที่เป็นโรคนี้ก็สามารถใช้ชีวิตได้ปกติเหมือนกับเด็กคนอื่น ๆ หากได้รับการดูแลที่ดี ซึ่ง นพ.พีระพัฒน์ มกรพงศ์ ศัลยแพทย์หัวใจและหลอดเลือด สถาบันโรคหัวใจโรงพยาบาลราชวิถี มีคำแนะนำดังนี้...
รู้จัก...ลิ้นหัวใจ
ลิ้นหัวใจของคนเราจะทำหน้าที่เป็นเหมือนวาล์วเปิด-ปิดก๊อกน้ำ ซึ่งเปิดเมื่อเลือดไหลผ่านและจะปิดเพื่อไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับ เด็กที่เป็นโรคลิ้นหัวใจรั่ว วาล์วเปิด-ปิดจะทำงานไม่ปกติ เลือดจึงไหลย้อนกลับทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น และเหนื่อยง่ายขึ้น
สาเหตุที่ทำให้ลิ้นหัวใจรั่ว
โรคลิ้นหัวใจรั่วในเด็กพบได้ตั้งแต่แรกเกิด หากเฉลี่ยจากเด็กเกิดใหม่ทั่วโลกประมาณ 1,000 คน จะมีเด็กที่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด 8 คน และใน 8 คนนี้จะเป็นโรคลิ้นหัวใจพิการแต่กำเนิดประมาณ 5% ซึ่งพบได้จาก 2 สาเหตุ คือ
1. เกิดจากความพิการของลิ้นหัวใจแต่กำเนิด ซึ่งมีความพิการได้หลายอย่าง เช่น ลิ้นหัวใจตีบที่เกิดจากกล้ามเนื้อที่ดึงลิ้นหัวใจไม่ปกติ ลิ้นหัวใจรั่วซึ่งอาจเกิดจากมีพยาธิสภาพของลิ้นหัวใจนั้น ๆ หรือรูปร่างของลิ้นหัวใจผิดปกติ
2. เกิดจากโรคหัวใจรูมาติก จากการติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส (Streptococcus) เริ่มโดยมีอาการคออักเสบ หรือต่อมทอนซิลอักเสบ และหากรักษาด้วยยาแก้อักเสบไม่ต่อเนื่อง เมื่อติดเชื้อเป็นระยะเวลานาน ๆ หรือบ่อย ๆ จะส่งผลให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานขึ้นมาต่อต้านเนื้อเยื่อของลิ้นหัวใจตัวเอง ทำให้เกิดการอักเสบที่ลิ้นหัวใจและเกิดโรคหัวใจรั่วหรือตีบตามมา
โรคหัวใจรูมาติกนี้ เมื่อก่อนจะพบมากในวัยผู้ใหญ่ แต่ปัจจุบันพบในเด็กอายุน้อยลง ซึ่งที่ผ่านมาเคยพบในเด็กที่เข้ามารับการผ่าตัด มีอายุประมาณ 9-10 ขวบ และในอนาคตก็มีแนวโน้มที่อายุเด็กจะลดลงเรื่อย ๆ เนื่องจากเด็กเป็นหวัดและติดเชื้อในคอมากขึ้น ประกอบกับการกินยาไม่ครบตามที่แพทย์สั่ง ส่งผลให้เชื้อดื้อยา
อาการที่พบ
เด็กที่เป็นโรคลิ้นหัวใจรั่วจะมาด้วยอาการเหนื่อย ๆ เลี้ยงไม่โต น้ำหนักตัวน้อย ปอดแฉะ ติดเชื้อบ่อย
การตรวจรักษา
รู้ได้ด้วยการพาไปพบกุมารแพทย์โรคหัวใจ เพื่อตรวจดูความผิดปกติและฟังเสียงหัวใจ ถ้ามีเสียง "เมอเมอ (Murmur)" หรือ "ฟู่" แสดงว่าหัวใจผิดปกติ เป็นเสียงที่เกิดขึ้นจากลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของลิ้นหัวใจด้วย
หลังจากนั้นแพทย์จะทำการตรวจเพื่อยืนยันอย่างละเอียด ด้วยการทำเอคโค่ (Echocardiogram) ซึ่งเป็นการตรวจที่สามารถบอกลักษณะความรุนแรงของลิ้นหัวใจได้ดีที่สุด
หลังจากแพทย์ตรวจเรียบร้อยแล้วก็จะวางแผนการรักษาต่อไปตามความเหมาะสม ถ้ารักษาด้วยยาได้ก็ใช้ยา เพราะการซ่อมลิ้นหัวใจในเด็กทำได้ยาก แต่ถ้าเป็นมากก็จำเป็นต้องทำการผ่าตัดเพื่อซ่อมลิ้นหัวใจ
การผ่าตัดลิ้นหัวใจเพื่อซ่อมลิ้นหัวใจสามารถทำได้ แต่หากลิ้นหัวใจมีพยาธิจนไม่สามารถซ่อมได้ ก็มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนลิ้นหัวใจต่อไป
การป้องกัน
ถ้าเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่วที่เกิดจากความพิการแต่กำเนิดจะไม่สามารถป้องกันได้ แต่ถ้าเกิดจากการติดเชื้อรูมาติก สามารถป้องกันได้ โดยการรักษาโรคติดเชื้อในลำคอให้หายเป็นปกติ ด้วยการทานยาให้ครบตามที่แพทย์สั่ง
พ่อแม่ต้องระวัง!
1. เนื่องจากเด็ก ๆ ส่วนใหญ่จะชอบทานขนมกรุบกรอบที่มีเกลือแอบแฝงอยู่ ความเค็มจากขนมเหล่านี้จะส่งผลให้หัวใจทำงานหนักขึ้น บวมน้ำ และลิ้นหัวใจรั่วมากขึ้น ดังนั้น พ่อแม่จะต้องระมัดระวังไม่ปล่อยให้เด็ก ๆ กินขนมกรุบกรอบ
2. ปัจจุบันพบเด็กเป็นโรคหัวใจรูมาติกเพิ่มมากขึ้น เพราะฉะนั้นการที่เด็กมีอาการเป็นหวัด เจ็บคอ พ่อแม่จะต้องหมั่นดูแลเป็นอย่างดี ต้องทานยาให้ครบตามที่แพทย์สั่ง เพราะถ้าเชื้อไม่หมด จะทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำ และส่งผลให้เป็นโรคหัวใจรูมาติกได้