เรื่องน่ารู้ มดลูกกับคุณแม่ตั้งครรภ์
เรื่องน่ารู้ “มดลูก” คุณแม่ (Mother&Care)
ความผิดปกติบางอย่างที่เกี่ยวกับมดลูก อาจส่งผลต่อสุขภาพและการตั้งครรภ์ของคุณแม่ได้ แต่ภาวะความผิดปกติของมดลูกที่เกิดขึ้น ไม่ใช่อาการที่เลวร้ายเสมอไป เพราะทางออกที่ดีก็คือ การรู้ทันปัญหารู้จักดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม เรื่องสุขภาพที่คุณแม่กังวลก็หมดห่วงค่ะ
ตั้งครรภ์นอกมดลูก
โดยธรรมชาติของการตั้งครรภ์ หลังการปฏิสนธิตัวอ่อนจะฝังตัวและเจริญเติบโตในโพรงมดลูก การท้องนอกมดลูก เป็นภาวะผิดปกติการฝังตัวของไข่ภายนอกมดลูก เช่น ที่รังไข่ ที่ปากมดลูกและในช่องท้อง ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นที่ท่อนำไข่ สาเหตุของปัญหานั้น มีด้วยกันหลายปัจจัย เช่น
เคยมีประวัติท้องนอกมดลูก หรือมีการติดเชื้อที่ท่อนำไข่และอุ้งเชิงกราน ก็มีโอกาสทำให้ท่อนำไข่อุดตัน
มีแผลเป็นหรือพังผืดดึงรั้งในช่องท้องกับรังไข่และท่อนำไข่ จากการเป็นโรคเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญนอกโพรงมดลูก
ปฏิกิริยาจากแผลเป็นในการผ่าตัด หรือการอักเสบในอุ้งเชิงกราน ทำให้การเคลื่อนตัวของตัวอ่อนไม่สะดวก
การใช้ยาบางชนิด เช่น ยากระตุ้นการตกไข่ หรือยาคุมกำเนิดแบบฉุกเฉิน
อาการผิดปกติ
มีประวัติขาดประจำเดือน มีอาการปวดท้อง มีเลือดออกทางช่องคลอด จะปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อมีการจับบริเวณนั้น ๆ เช่น การไอหรือขับถ่าย บางรายอาจมีมูกปนเลือดสีน้ำตาลออกทางช่องคลอด ตามด้วยอาการปวดท้องติดต่อกันหลายวันหรือหลายสัปดาห์ หรือมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ ปวดไหล่ ปวดก้น เป็นต้น
การดูแลตัวเอง
โดยเบื้องต้น ก็คือการสังเกตร่างกายอาการผิดปกติต่าง ๆ ของคุณแม่ หากไม่มั่นใจกับอาการสิ่งที่เกิดขึ้น ควรปรึกษาคุณหมอ
รกเกาะต่ำ
ภาวะรกต่ำ คือการเกาะของรกที่เกาะต่ำลงจากปกติ เช่น เกาะต่ำลงมาถึงปากช่องคลอด ทำให้เกิดปัญหาเลือดออกที่ปากช่องคลอด และหากรกต่ำมากอาจทำให้เกิดอาการตกเลือดได้ สำหรับปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะรกต่ำ มีหลายเหตุผลต่อไปนี้ค่ะ
การคลอดบุตรหลายครั้ง
เคยขูดมดลูก เคยผ่าตัดที่มดลูก หรือมดลูกอักเสบ
คุณแม่อายุมาก (คุณภาพมดลูกอาจไม่ดีเท่ากับช่วงวัยสืบพันธุ์) และคุณแม่ตั้งครรภ์แฝด
อาการผิดปกติ
มีเลือดออกทางช่องคลอด (ช่วงใกล้คลอด) เนื่องจากมดลูกมีขนาดใหญ่ขึ้นมาก ปากมดลูกและส่วนล่างของมดลูกเริ่มมีการยืดขยายมากขึ้น รกที่เคยเกาะแน่นมีรอยปริเกิดขึ้นจากการยืดขยาย ทำให้เลือดออกบริเวณที่รกเกาะ แล้วไหลผ่านปากมดลูกลงมาในช่องคลอดโดยไม่มีอาการเจ็บท้องร่วมด้วย
การดูแลตัวเอง
เนื่องจากภาวะรกต่ำ คุณแม่จะรู้ได้โดยการอัลตราซาวด์ ดังนั้น หากตรวจพบแล้ว คุณแม่ควรระวังตัวเอง ไม่ทำกิจกรรมใด ๆ ที่จะกระทบกระเทือนต่อรกในครรภ์ เช่น การเคลื่อนไหวร่างกายอย่างรวดเร็ว ออกกำลังกายแบบหักโหมหรือมีเพศสัมพันธ์ เพราะอาจกระทบกระเทือนทำให้มดลูกบีบรัดตัวมากขึ้นมีโอกาสที่คุณแม่จะคลอดก่อนกำหนดได้ง่ายนั่นเองค่ะ
มดลูกอักเสบ
เกิดจากการติดเชื้อ โดยมีสาเหตุหลัก ๆ คือติดต่อทางเพศสัมพันธ์, การติดเชื้อช่วงหลังคลอด ที่เป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีอยู่ในช่องคลอด หรือระหว่างการคลอด คุณแม่มีภาวะบางอย่างเช่น โลหิตจาง, ภาวะถุงน้ำแตกรั่วอยู่นาน, คลอดยาก, การบาดเจ็บ, ภาวะตกเลือดหลังคลอด, เศษรกค้าง, ภาวะครรภ์เป็นพิษ ก็มีส่วนกระตุ้นให้เชื้อเหล่านี้เจริญเติบโต กลายเป็นเชื้อร้าย รวมถึงการทำแท้ง ก็เป็นต้นเหตุที่ทำให้มดลูกอักเสบ
อาการผิดปกติ
มักมีไข้ หนาวสั่น ปวดบริเวณท้องน้อย หรือมีอาการก่อนและหลังที่เป็นประจำเดือน โดยเฉพาะคุณแม่หลังคลอดจะพบว่า น้ำคาวปลามีลักษณะสีและกลิ่นที่ผิดปกติ
การดูแลตัวเอง
ถ้าสังเกตว่า คุณแม่มีอาการเหล่านี้หรือไม่แน่ใจกับอาการที่เป็น ควรขอคำแนะนำหรือรีบพบคุณหมอ เพื่อตรวจภายใน ดูแลและรักษาอาการ
เพราะมดลูกเป็นอวัยวะภายใน เราไม่อาจรู้ได้ถึงความปกติ แต่ถ้าใส่ใจและสังเกตสิ่งผิดปกติได้ทัน ก็ช่วยให้คุณแม่มีทางออกดี ๆ เรื่องสุขภาพเสมอค่ะ