กรนอันตราย
กรนอันตราย (รักลูก)
หากเจ้าตัวเล็กนอนกรนคร่อกฟี้แล้วหลับสงบยังไม่ถือว่าอันตรายค่ะ แต่ถ้ากรนพร้อมกับอาการกระสับการส่าย นอนอ้าปากหายใจ พลิกตัวบ่อย ปัสสาวะรดที่นอน หรือมีท่านอนแปลก ฯลฯ แบบนี้นิ่งนอนใจไม่ได้แล้ว
นอนกรน มีสาเหตุมาจากอะไร
อาการนอนกรนเกิดได้หลายสาเหตุค่ะ เช่น ต่อมทอนซิล หรือต่อมอะดีนอยด์โต ภูมิแพ้ โรคอ้วน ซึ่งสาเหตุจะแตกต่างไปตามอายุค่ะ
ซึ่งการนอนกรนในเด็กทารกอาจจะมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของโครงกะโหลกศีรษะและกระดูกหน้าแคบ โดยจะมีอาการตั้งแต่แรกเกิด
ถ้าพบในเด็ก 2-6 ปี มักเกิดจากสาเหตุต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์โต และเกิดจากโรคภูมิแพ้
ถ้าพบในเด็กอายุมากกว่านี้มักเกิดจากโรคอ้วนค่ะ
นอนกรน สัญญาเตือนผิดปกติ
ถ้าเด็กมีอาการกรน แต่นอนหลับสนิทไม่ถือว่าเป็นอันตราย
แต่ถ้าพบว่ามีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น อาการนอนกระสับกระส่าย นอนอ้าปากหายใจ พลิกตัวบ่อย ปัสสาวะรดที่นอน หรือมีท่านอนแปลก ๆ เช่น นอนแหงนศีรษะไปด้านหลัง กรนแล้วเสียงหายไป หน้าอกไม่ขยับเหมือนจะหยุดหายใจหรือหน้าอกยุบ แต่ท้องป่อง กรนร่วมกับอาการปากเขียวถือว่าผิดปกติค่ะ
ซึ่งในเด็กกับผู้ใหญ่ลักษณะจะเหมือนกันค่ะ แต่อาการที่ต่างกันคือในเด็กจะมีพฤติกรรมก้าวร้าว สมาธิสั้น ผลการเรียนตกต่ำและซนมากกว่าปกติ โดยที่พ่อแม่ไม่ได้สังเกตว่าตอนกลางคืนลูกมีอาการนอนกรนหรือไม่
นอนกรน ส่งผลเสียอะไรบ้าง
ระบบทางเดินหายใจ ถ้าสาเหตุการนอนกรนเกิดจากต่อมอะดีนอยด์โตจะทำให้มีการติดเชื้อได้บ่อยขึ้น เพราะต่อมอะดีนอยด์ที่ใหญ่ขึ้นนั้น ส่งผลให้การระบายของสารคัดหลั่งอย่างน้ำมูกเป็นไปได้ไม่ดี เกิดการติดเชื้อทางเดินหายใจได้บ่อยๆ เช่น ไซนัสอักเสบ หูชั้นในอักเสบ หลอดลมอักเสบ หรือหากมีการอุดกั้นทางเดินหายใจมากๆ จนมีอาการขาดออกซิเจนเรื้อรัง จะมีความดันปอดสูงขึ้น ทำให้ระบบทางเดินหายใจล้มเหลวหรือเสียชีวิตได้ค่ะ
ระบบประสาทหรือพฤติกรรม เช่น พัฒนาการช้า หรือมีปัญหาด้านการเรียน สมาธิสั้น มีอารมณ์หงุดหงิด พฤติกรรมก้าวร้าว ล้วนมาจากการขาดออกซิเจน ซึ่งมีเซลล์ประสาทบางส่วนถูกทำลาย ซึ่งจะส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็กค่ะ
ด้านการเจริญเติบโต เด็กที่นอนกรน และมีปัญหาขาดออกซิเจนเรื้อรัง จะทำให้เจริญเติบโตช้ากว่าปกติ เพราะเด็กต้องออกแรงหายใจมากกว่าปกติ จนทำให้เด็กตัวเล็กและน้ำหนักน้อยค่ะ
ด้านการเผาผลาญพลังงาน โดยเฉพาะหากมีภาวะอ้วนร่วมด้วย จะมีโอกาสเกิดเบาหวานและไขมันในเลือดสูง
4 ระดับนอนกรน
ระดับที่ 1
เกิดจากต่อมอะดีนอยด์หรือต่อมทอนซิลโต ทำให้เกิดแรงด้านทานทางเดนิหายใจเยอะขึ้น โดยที่เด็กจะมีเสียงกรนอย่างเดียว ระบบต่างๆ ในร่างไม่ผิดปกติ ไม่ตื่นบ่อยๆ ไม่นอนกระสับกระส่ายตอนกลางคืน
ระดับที่ 2
มีการอุดกั้นทางเดินหายใจมากขึ้น เด็กจึงมีการนอนกระสับกระส่ายร่วมด้วย
ระดับที่ 3
มีแรงต้านในทางเดินหายใจมาก ร่วมกับการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบนแค่บางส่วนเด็กกลุ่มนี้อาจจะมีอาการคั่งของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ร่วมกับก๊าซออกซิเจนในเลือดและมีอาการตื่นผวาหรือน้ำหนักไม่ขึ้น
ระดับที่ 4
มีการเพิ่มขึ้นของแรงต้านทานทางเดินหายใจ ร่วมกับการอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนบนทั้งหมด จะเกิดขึ้นเป็นช่วงๆ ขณะนอนหลับ ทำให้เกิดการลดลงของออกซิเจนและเพิ่มขึ้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในกรแสเลือด ถือเป็นระดับที่รุนแรงมากที่สุดค่ะ
วินิจฉัยอาการนอนกรน
1. เอกซเรย์ดูต่อมอะดีนอยด์และต่อมทอนซิลว่ามีขนาดปกติหรือไม่
2. การตรวจการนอน เด็กต้องมานอนที่โรงพยาบาล 1 คืน คุณหมอจะติดเครื่องวัดคลื่นสมอง ติดเครื่องวัดการเคลื่อนไหวของดวงตา เครื่องวัดลมที่ออกจากจมูกกับปาก เครื่องวัดการขยับของทรวงอก เครื่องวัดการขยับของทรวงอก เครื่องวัดคลื่นหัวใจ เครื่องวัดระดับออกซิเจน ซึ่งวิธีวินิจฉัยอาการลักษณะนี้ จะมีค่าใช้จ่ายสูง สำหรับในโรงพยาบาลของรัฐบาลจะอยู่ที่ประมาณ 4,000-5,000 บาท
3. การตรวจวัดออกซิเจน เด็กต้องมานอนโรงพยาบาล 1 คืน เพื่อวัดค่าออกซิเจน เด็กที่มีอาการรุนแรงจะมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูง ก๊าซออกซิเจนต่ำ
4. การถ่ายวิดีโอ ซึ่งวิธีนี้พ่อแม่สามารถทำได้เองที่บ้าน และถ่ายวิดีโอตอนลูกนอนกรนว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร
โดยถ่ายระยะใกล้บริเวณหน้าอก และสังเกตการขึ้นลงของหน้าอก บริเวณหน้าและริมฝีปาก (ดูว่าปากเขียวหรือไม่) และนำวิดีโอนี้ไปให้คุณหมอดูเพื่อประกอบการวินิจฉัยค่ะ
นอนกรน รักษาได้อย่างไร
ในรายที่อาการไม่รุนแรงสามารถรักษาด้วยยาโดย...
ให้ยาปฏิชีวนะเพื่อลดการติดเชื้อ ทำให้ต่อมอะดีนอยด์มีขนาดลดลง เพราะถ้าโตมากจะติดเชื้อได้ง่าย
ให้ยาพ่นจมูก เพื่อลดขนาดของต่อมอะดีนอยด์ และรักษาภาวะภูมิแพ้ทางจมูก
ให้ยาลดอาการบวมในจมูก จะใช้ในคนไข้ที่เป็นภูมิแพ้ทางจมูกเช่นกัน ส่วนในคนไข้ที่มีอาการรุนแรง หรือมีความผิดปกติของใบหน้าสามารถรักษาด้วยการผ่าตัด
ผ่าตัดต่อมทอนซิลกับต่อมอะดีนอยด์ เพื่อให้ทางเดินหายใจโล่งสะดวก วิธีนี้นิยมใช้ในเด็ก
ผ่าตัดเปลี่ยนกระดูกโครงหน้า จะทำในคนไข้ที่มีความผิดปกติของโครงกะโหลกศีรษะและกระดูกหน้าแคบ เพื่อขยายขนาดของกะโหลก ให้หายใจโล่งขึ้น
การเจาะคอ จะทำในรายที่มีอาการรุนแรง เพราะการเจาะคอจะทำเพื่อเบี่ยงให้อากาศที่หายใจ เข้าทางคอ ซึ่งวิธีนี้จะทำเมื่อรักษาด้วยวิธีอื่นแล้วยังไม่ได้ผลค่ะ การรักษาด้วยวิธีอื่นๆ
การใช้เครื่องช่วยหายใจ และหน้ากากขณะนอนหลับ จะใช้วิธีนี้ในช่วงระหว่างรอการผ่าตัดหรือหลังผ่าตัดใหม่ๆ เพราะยังมีการบวมของทางเดินหายใจส่วนบนอยู่
การลดน้ำหนัก ใช้สำหรับกรณีเด็กอ้วน หลังการรักษาอาการนอนกรนแล้วจะสามารถกลับมาเป็นอีกได้ค่ะ แม้กระทั่งคนไข้ที่ตัดต่อมอะดีนอยด์และทอนซิลไปแล้วก็ตาม (โดยเฉพาะในเด็กเล็ก) ซึ่งมักจะพบหลังผ่าตัดแล้ว 2-5 ปี เด็กอาจจะเป็นซ้ำอีกได้ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องคอยสังเกตลูกว่ามีอาการนอนกรนอีกหรือไม่
ดังนั้นหลังจากการผ่าตัดใหม่ๆ จึงต้องตรวจเช็กอยู่เสมอ
ขณะที่เด็กนอนกรน ควรจัดให้นอนตะแคง จะทำให้สิ้นไม่ไปอุดกั้นทางเดินหายใจ หรือคุณแม่อาจใช้วิธีนำลูกเทนนิสใส่ถุงเย็บติดกับชุดนอน จะทำให้นอนหงายไม่สะดวกจนต้องเปลี่ยนท่านอนเองค่ะ
นอนกรน ป้องกันได้หรือไม่
ป้องกันได้ในบางสาเหตุ เช่น ในเด็กที่มีต่อมอะดีนอยด์หรือต่อมทอนซิลโตผิดปกติ โดยพ่อแม่ควรให้ลูกหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่อสารก่อภูมิแพ้ ได้แก่ ควันบุหรี่ ฝุ่นละออง ซากแมงสาบ สัตว์เลี้ยง ควรหมั่นดูแลทำความสะอาดที่นอน ปลอกหมอนและผ้าห่มบ่อยๆ ค่ะ
เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นที่กักเก็บฝุ่นละอองและไรฝุ่น เพื่อป้องกันลูกมีอาการภูมิแพ้หรือในเด็กที่มีปัญหาเรื่องความอ้วนก็ป้องกันด้วยการควบคุมน้ำหนัก ไม่ให้ทานอาหารที่ให้พลังงานมากเกินไป และควรพาลูกไปออกกำลังกายด้วยค่ะ
ส่วนในสาเหตุที่ป้องกันไม่ได้คือ เด็กที่มีโครงกะโหลกศีรษะและกระดูกหน้าแคบผิดปกติ
คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรละเลยต่ออาการกรนของลูกนะคะ ควรหมั่นสังเกตการนอนหรือพฤติกรรมของลูก หากลูกมีอาการนอนกรนที่ผิดปกติ ก็ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อทำการรักษาโดยด่วนค่ะ
ที่มา :: ข้อมูลจากรักลูก