ท้องร่วงในทารกและเด็กเล็ก
อาการอย่างไร จึงจะเรียกว่าท้องร่วง
ท้องร่วงในความหมายของแพทย์ หมายถึง อาการผิดปกติทางการย่อยและการดูดซึมของกระเพาะลำไส้ทำให้ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ จำนวนครั้งเพิ่มขึ้น เช่น ถ่าย 3 ครั้งภายใน 12 ชั่วโมง หรือถ้าถ่ายเป็นมูกเลือดเพียงครั้งเดียวก็ถือว่าเป็นโรคท้องร่วง ยกเว้นในทารกเกิดใหม่หรือเด็กที่กินนมแม่ อาจมีอุจจาระบ่อยครั้งและเหลวกว่าธรรมดา ก็ถือว่าเป็นปกติ
ผลตามมาของอาการท้องร่วง ก็คือ ทำให้เกิดการเสียน้ำเสียเกลือและสารอาหารต่างๆ ไปทางอุจจาระ ถ้าเป็นมากก็อาจทำให้คนไข้มีอาการกระหายน้ำ อ่อนเพลีย ปากแห้งลิ้นแห้ง ปัสสาวะออกน้อย ดังที่เรียกว่า อาการขาดน้ำ บางทีเป็นมากๆ ถึงกับทำให้ตัวเย็นเป็นลม ความดันโลหิตต่ำ ชีพจรเบาเร็ว หรือที่เรียกว่า ช๊อค ซึ่งทำให้เด็กเสียชีวิตได้ ถ้าเด็กไม่เสียชีวิตจากอาการช๊อค ก็อาจเสียชีวิตจากการขาดอาหาร แล้วมีโรคติดเชื้อแทรกซ้อนในภายหลังได้
สาเหตุที่ทำให้ท้องร่วงมีอะไรครับ
สาเหตุที่พบบ่อยในบ้านเรา ได้แก่
1. โรคติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร เช่น เชื้อบิดซิเกลล่า (บิดไม่มีตัว) อหิวาต์ ซัมโมเนลล่า ฯลฯ
2. อาหารเป็นพิษ เนื่องจากอาหารที่ปรุงไม่ถูกสุขลักษณะ ทำให้มีสารพิษซึ่งอาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรียจากพืชหรือสารอื่นๆ ปะปนมาในอาหาร
3. โรคติดเชื้อในระบบหายใจ เช่น ไข้หวัด หลอดลมอักเสบ ปอดบวม
4. การขาดน้ำย่อย
5. โรคพยาธิต่างๆ หรือโปรโตซัว เช่น เชื้อบิด อะมีบ้า (หรือบิดมีตัว)
6. ความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร หรือนอกระบบทางเดินอาหาร เช่น ต่อมธัยรอยด์ทำงานมากกว่าปกติ (คอพอกเป็นพิษ) ต่อมหมวกไตทำงานน้อยลง ฯลฯ พวกนี้มักมีอาการท้องร่วงไม่รุนแรง แต่ว่าเป็นเรื้อรัง
7. สาเหตุอื่นๆ เช่น กินยาระบายหรือยาถ่าย
การติดเชื้อ (สาเหตุ 3 ข้อแรก) ดูเหมือนจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคท้องร่วงในทารกและเด็ก
ในกรณีที่มีเชื้อโรคเข้าไปในกระเพาะลำไส้หรือที่เรียกว่า การติดเชื้อของระบบทางเดินอาหารนั้น ทำไมจึงทำให้เกิดมีอาการท้องร่วงได้ล่ะครับ
เมื่อมีเชื้อโรคเข้าไปทำให้มีการอักเสบของเยื่อบุกระเพาะลำไส้ จะทำให้ลำไส้มีความผิดปกติเกิดขึ้นดังนี้ คือ
1. มีการดูดซึมน้ำ และอาหารที่กินเข้าไปน้อยลง
2. มีการหลั่งของเหลวจากผนังลำไส้เข้ามาในโพรงลำไส้มากขึ้น
3. มีการบีบตัวของลำไส้เพิ่มขึ้น พาเอาน้ำในโพรงลำไส้ออกมา ผลสุดท้ายก็จะได้อุจจาระซึ่งเหลวเป็นน้ำออกมาทางทวารหนัก
นอกจากนี้ ยังมีเชื้อแบคทีเรียบางชนิด ที่สามารถสร้างพิษออกมากระตุ้นทำให้เกิดอาการท้องร่วงได้ เชื้อตัวที่พบบ่อยมากที่สุดได้แก่ เชื้อสแต๊ฟฟัยโลคอดคัส ซึ่งติดมากับมือของผู้ประกอบอาหารเชื้อนี้ชอบอยู่ในอาหารพวกโปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ เนื้อปู เมื่อมีความชื้นพอสมควร มันก็จะแบ่งตัวรวดเร็ว และปล่อยพิษออกมาในอาหาร เมื่อคนกินอาหารที่มีสารพิษของเชื้อนี้เข้าไป ก็จะเกิดอาการท้องร่วงได้ ข้อสำคัญคือ สารพิษของเชื้อตัวนี้ทนต่อความร้อน แม้ว่าจะนำอาหารไปหุงต้มจนเดือดแล้วก็ตาม มันก็ยังออกฤทธิ์ได้
ที่ว่าอาหารเป็นพิษ จะมีอาการอย่างไรบ้างครับ
อาหารเป็นพิษ หมายถึง อาการท้องร่วงจากการกินอาหารที่มีสารพิษเข้าไป อาจเป็นสารพิษจากเชื้อโรคจากพืช หรืออื่นๆ ก็ได้ แต่สาเหตุที่พบบ่อยก็คือสารพิษจากเชื้อ สแต๊ฟฟัยโลคอดคัส ดังกล่าว ซึ่งจะทำให้มีอาการอาเจียน และปวดท้องบิดอย่างรุนแรง แล้วต่อมาจะมีอาการท้องร่วง ในตอนแรกๆ อาจถ่ายเป็นน้ำสีเขียวต่อไปอาจมีมูกปนได้ มันจะเกิดอาการภายใน 8-12 ชั่วโมง หลังกินสารพิษเข้าไป แต่ในเด็กทารก อาจเกิดอาการภายใน 2-4 ชั่วโมง อาการท้องร่วงชนิดนี้ ชาวบ้านรู้จักกันดี ที่เรียกว่า “โรคลมป่วง” นั่นแหละ
อาการท้องร่วงจากเชื้อตัวอื่นๆ จะมีลักษณะเหมือนกับอาหารเป็นพิษหรือเปล่าครับ
อาการท้องร่วงจากเชื้อโรคแต่ละชนิด จะมีลักษณะบางอย่างแตกต่างกันไป เช่น ถ้าเกิดจากเชื้อบิดชิเกลล่า หรือบิดไม่มีตัว เด็กจะมีไข้สูงและซึม บางคนอาจมีอาการชักจากไข้สูงได้ อุจจาระในระยะแรกอาจถ่ายเป็นน้ำ ต่อมามีมูกหรือเลือดปน
ถ้าเกิดจากเชื้อ ซัลโมเนลล่า (เชื้อในกลุ่มเดียวกับตัวที่ทำให้เกิดไข้รากสาดน้อย หรือไข้ทัยฟอยด์แต่เป็นคนละตัวกัน) จะเกิดอาการภายใน 4-8 ชั่วโมง โดยมีอาการอาเจียนและท้องร่วง อาจมีไข้ต่ำๆ ไม่สูงนัก หรือไม่มีไข้ก็ได้ และแม้ว่าไข้จะลดในวันหรือสองวัน แต่อาการท้องร่วงจะเป็นมากขึ้นและเป็นอยู่หลายวัน การให้ยาฆ่าเชื้อในคนไข้พวกนี้ ก็มักจะไม่ทำให้ดีขึ้น อาการท้องร่วงจะค่อยๆ หายไปตามธรรมชาติของโรคเอง แต่อย่างไรก็ตาม อาการท้องร่วงจากเชื้อแต่ละชนิด บางครั้งก็แยกออกจากกันได้ยาก หมอมักจะต้องเอาอุจจาระไปตรวจ จึงจะรู้
เมื่อพบว่าทารกหรือเด็กเล็กมีอาการท้องร่วง จะมีวิธีการดูแลรักษาอย่างไรบ้างครับ
หมอถือว่า เป็นหน้าที่ของชาวบ้านทุกคนที่จะต้องดูแลรักษาตนเอง เมื่อเริ่มมีอาการท้องร่วงเกิดขึ้น ดังกล่าวตั้งแต่ต้นแล้วว่า ท้องร่วงเกิดจากการย่อยและการดูดซึมน้ำและอาหารผิดปกติไป นอกจากนั้นยังมีการหลั่งเกลือและน้ำเข้าไปในโพรงลำไส้ ดังนั้นวิธีจะทำให้อาการถ่ายท้องหยุดได้ ก็คือ ไม่ต้องกินอาหารอะไรที่กระเพาะลำไส้จะต้องย่อยต่ออีกในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แล้วหาอาหารที่ร่างกายนำไปใช้ได้เลยไม่ต้องย่อยก่อน เช่น หาน้ำต้มสุกขนาดขวดน้ำปลา (ขวดใหญ่) หรือขวดแม่โขงชนิดกลมซึ่งต้มเกลือแกงประมาณครึ่งช้อนชา (1-2 หยิบมือ) น้ำตาลทรายสะอาดประมาณ 2 ช้อนโต๊ะ (1-2 กำมือ) ใส่ขวดเขย่าให้เกลือและน้ำตาลทรายละลายเข้ากันดี แบ่งมาดื่มทีละน้อย จนกว่าอาการกระหายน้ำจะหายไป ถ้าเกลือแกงหรือน้ำตาลทรายไม่ค่อยสะอาด ก็ให้นำไปต้มและกรองด้วยผ้าสะอาดเสียก่อน หรือไม่เราก็อาจใช้น้ำอัดลมยี่ห้อไหนก็ได้ เติมเกลือลงไปสักเล็กน้อย (โดยใช้หลอดจุ่มลงในเกลือป่น แล้วจึงใส่ลงในขวด) ก็จะได้ผลเช่นเดียวกัน หลังจากปฏิบัติอย่างนี้แล้วอาการท้องร่วง คลื่นไส้ อาเจียนจะลดลง อาการขาดน้ำก็จะไม่เกิดขึ้นแต่บางรายที่เป็นรุนแรง ก็อาจจะเกิดอาการขาดน้ำได้ ถ้าได้ลองทำเช่นนี้ประมาณ 12-24 ชั่วโมง แล้วยังรู้สึกว่าอ่อนเพลียมาก เกิดอาการไข้ตัวร้อนหรือมีอาการขาดน้ำ ซึ่งจะพบว่ามีปากแห้ง ตาลึก ถ้าเป็นเด็กเล็กก็จะเห็นว่ากระหม่อมด้านหน้าบุ๋มลงไป ถ่ายปัสสาวะน้อยลงหรือไม่ถ่ายเลย ลุกนั่งเป็นลม ซึมมาก ความดันโลหิตต่ำชีพจรเบาและเร็ว ก็ควรรีบไปหาหมอเพื่อให้น้ำเกลือต่อไป
สำหรับชาวบ้านที่อยู่ห่างไกลหรือไม่สะดวกที่จะมาหาหมอ ควรจะแนะนำให้ใช้ยาอะไรดีครับ
ยาที่รักษาท้องร่วงในเด็กเล็กนั้น เป็นที่น่าสนใจว่า ส่วนใหญ่จะช่วยไมได้มากนัก เพราะว่าเชื้อหลายอย่างที่เราไม่ได้ให้ยา ก็สามารถหายเองได้ ถ้าเผื่อเราสามารถให้การดูแลดังกล่าวให้ผ่านพ้น ระยะที่เป็นอันตรายที่เกิดจากอาการขาดน้ำไปได้ ไข้ก็จะลดลงเอง และอาการอักเสบต่างๆ ก็จะค่อยๆ หายไป อาจใช้เวลา 3-5 วัน
สำหรับยาต้านจุลชีพที่จะใช้ฆ่าเชื้อโรคนั้น องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า มีความจำเป็นที่จะต้องใช้อยู่เพียง 2 โรคเท่านั้น คือ โรคท้องร่วงที่เกิดจากเชื้อบิดชิเกลล่า (หรือบิดไม่มีตัว) ถ้าให้ยา แอมฟิซิลลิน หรือ ฟูราติน ชนิดน้ำเชื่อม 1/2-2 ช้อนทุก 6 ชั่วโมง ก็จะทำให้หายเร็วขึ้นได้ อีกโรคหนึ่งคือ อหิวาต์ ถ้าให้ยาเตตร้าซัยคลีน 1-2 เม็ดทุกทุก 6 ชั่วโมง จะทำให้เชื้อหมดไปจากตัวคนไข้เร็วและจะหายป่วยเร็วด้วย ส่วนเชื้อนอกนี้มักจะใช้ยาไม่ค่อยได้ผล
สรุปแล้วคุณหมอหมายความว่า การรักษาอาการท้องร่วงในทารกและเด็กเล็ก ที่สำคัญคือ ให้งดอาหาร แต่ชาวบ้านเรามักจะกลัวว่าเด็กจะหิว โดยเฉพาะทารกหรือเด็กที่ต้องกินนมอยู่ ควรจะทำอย่างไรครับ
อาหารที่เราพูดกันนี้ ชาวบ้านเราส่วนมากจะคิดกันไปว่า ควรเป็นนมหรือข้าว แต่ความจริงแล้วน้ำตาลกับเกลือที่หมอแนะนำให้เด็กดื่มกินดังกล่าว ก็เป็นอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายที่จะต้องได้รับขณะเจ็บป่วยอย่างมากทีเดียว สามารถที่จะไปทดแทนอาหารและเกลือที่เสียไปกับอุจจาระ ป้องกันมิให้เด็กอ่อนเพลีย แต่เท่าที่ประสบมาพ่อแม่มักจะกังวลเพราะกลัวลูกจะหิว ในกรณีอย่างนี้ก็อาจให้กินน้ำตาลใส่เกลือจนอิ่ม แล้วให้กินนมอีกสักเล็กน้อย เมื่ออาการค่อยดีขึ้น ก็ให้น้ำตาลใส่เกลือน้อยลง และเพิ่มน้ำนมแม่มากขึ้นตามลำดับ สำหรับเด็กที่กินนมผงกระป๋อง ก็อาจจะให้กินนมที่ผสมให้จางลง โดยลดนมผงลงครึ่งหนึ่ง แต่ใช้น้ำเท่าเดิม ให้ดื่มสลับไปกับน้ำตาลใส่เกลือ
การดูแลรักษาแบบนี้ พ่อแม่เด็กจึงควรต้องใจแข็ง และใจเย็น ประคับประคองลูกมิให้เกิดอาการขาดน้ำไปได้สัก 3-5 วัน โรคท้องร่วงก็จะค่อยๆ หายไปเอง
ถ้าลูกหลานมีอาการท้องร่วง วิธีรักษาง่ายๆ คือ
-ให้อดนมและข้าว สัก 12-24 ชั่วโมง
- ผสมน้ำสักหนึ่งขวดแม่โขงกับเกลือ 1-2 หยิบมือและน้ำตาลทราย 1-2 กำมือ กินแทนอาหาร
ที่มา :: http://www.doctor.or.th/article/detail/5071