“ไทยแลนด์ 4.0” หรือ “ดิจิทัลไทยแลนด์” หรือ “ยุค 4.0”
เป็นวลีที่คนไทยได้ยินกันบ่อย ๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และเมื่อได้ยินวลีเหล่านี้ เชื่อว่า คุณอาจนึกถึงภาพของกลุ่มวัยรุ่น หรือวัยทำงานที่สามารถเข้าถึงสื่อโซเชียลได้ง่าย แต่ปัจจุบัน ยังมีประชากรอีกกลุ่ม คือ “กลุ่มผู้สูงอายุ” ที่หันมาให้ความสนใจ และใช้งานสื่อโซเชียลอย่าง Facebook หรือ Line มากขึ้น
และวันนี้ Tonkit360 ขอพาไปส่องกิจกรรมฮอตฮิตบนโลกออนไลน์ และเหตุผลที่ทำให้ผู้สูงอายุหันมาให้ความสนใจสื่อโซเชียลกัน
กิจกรรมสุดฮิตของผู้สูงอายุ บน Facebook หรือ Line
- การส่งข้อความหรือภาพ
- โทรหรือวิดีโอคอล
- การแชร์คอนเทนท์
- การอัพสเตตัส
- การอัพโหลดรูปและวีดีโอ
- ตอบแชท หรือตอบคอมเมนต์ ฯลฯ
เหตุผลที่ผู้สูงอายุ สนใจสื่อโซเชียลในยุค 4.0
(1) ลดช่องว่างระหว่างตนกับลูกหลาน ด้วยการใช้สื่อโซเชียลในการพูดคุย หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องราวหรือข่าวสารที่เกิดขึ้น และที่สำคัญ สามารถเปิดหน้ากล้องคุยแบบวีดีโอได้ ทำให้เหมือนได้อยู่ใกล้กับลูกหลานเลยทีเดียว
(2) ได้พบปะสื่อสารกับกลุ่มเพื่อน ๆ ในวัยเดียวกัน (ทั้งเพื่อนเก่าและใหม่) ที่ไม่ค่อยมีโอกาสได้เจอกัน
(3) เป็นเครื่องมือในการติดตามข่าวสาร ตลอดจนการส่งต่อข้อมูลหรือเรื่องราวที่น่าสนใจ
(4) เป็นช่องทางในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้ตลอดเวลาและง่ายดาย
(5) ช่วยคลายเหงา คลายความว้าเหว่จากการที่ต้องใช้ชีวิตอยู่บ้านหลังเกษียณ
ปัญหาจากการใช้งานสื่อโซเชียลของผู้สูงอายุ
เรื่องสุขภาพ
การใช้งานโซเชียลนาน ๆ ส่งผลเสียต่อ “สายตา” เนื่องจากใช้เวลาอยู่ที่หน้าจอโทรศัพท์มือถือ หรือหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน และยังอาจก่อให้มีอาการปวดหลัง เพราะต้องก้มเล่น หากปล่อยไว้ ก็อาจทำให้เกิดอาการเรื้อรังได้
ถูกหลอกลวง
ที่ผ่านมา “วัยผู้สูงอายุ” เติบโตมากับการรับสารทางเดียว อย่างหนังสือพิมพ์ หรือสำนักข่าว ผิดไปจากปัจจุบันที่ใครก็สามารถเขียนข่าวบนโลกออนไลน์ได้ เป็นผลให้ผู้สูงอายุที่เพิ่งเล่นใหม่ ๆ อาจไม่รู้ว่า ข่าวสารที่เห็นใน Facebook หรือ Line นั้น เป็นเรื่องหลอกลวง
กลายเป็นเครือข่ายแพร่ความเข้าใจผิด ๆ
เครือข่ายในโลกโซเชียลของผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นกลุ่มเพื่อนเก่าสมัยเรียนหรือในที่ทำงาน ซึ่งต่างพร้อมส่งข้อความ ข้อมูล หรือข่าวผิด ๆ มาให้โดยไม่รู้ตัว อาทิ การส่งต่อข่าวน้ำมะนาวและโซดา รักษาโรคมะเร็งใน Line แม้เรื่องดังกล่าวเป็นการทำด้วยความหวังดี แต่เมื่อถูกเผยแพร่ออกไปเป็นวงกว้าง ก็สามารถก่อความวุ่นวายในหมู่คนที่ได้รับข่าวสารผิด ๆ ได้เช่นกัน
เข้าใจผิด เพราะภาพตัดต่อ
ด้วยโปรแกรมโฟโต้ชอปหรือโปรแกรมแต่งภาพสมัยใหม่ที่ดีและเนียนกว่าในอดีต อาจทำให้ผู้สูงอายุหลงเชื่อไปว่า ภาพที่ตนได้รับนั้น เป็นภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง จนหลงเชื่อข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง
ไม่อยากเข้าสังคมในโลกแห่งความจริง
เพราะมีความสุขกับการพูดคุย เห็นหน้า รวมถึงรับรู้ความเคลื่อนไหวผ่าน Facebook หรือ Line จนทำให้บางครั้งอาจหลงลืมการใช้เวลาร่วมกัน การได้พูดคุย การมีปฏิสัมพันธ์ หรือทำกิจกรรมร่วมกันแบบต่อหน้า ทำให้กระทบต่อความสัมพันธ์ในโลกจริง
เกิดอาการงอน หรือน้อยใจได้ง่าย
เชื่อว่า มีผู้สูงอายุหลายคน เกิดอาการงอน หรือน้อยใจที่เพื่อน ญาติพี่น้อง หรือลูกหลาน ไม่สนใจตอบไลน์ ตอบช้า หรืออ่านแล้วไม่ตอบอยู่บ่อย ๆ จนทำให้เข้าใจผิดกัน ด้วยคิดว่า คุณอาจไม่สนใจหรือไม่เห็นคุณค่าข้อความที่ส่งมา ฉะนั้น เพื่อไม่ให้ผู้สูงอายุเกิดอาการเช่นที่ว่ามาในข้างต้น คุณควรจัดระเบียบให้กรุ๊ปคนใกล้ตัว เพื่อนสนิท ญาติพี่น้อง และครอบครัว อยู่ในหมวดที่ “ควรอ่าน” และ “ควรตอบ”
สุดท้ายนี้ ขอฝากผู้สูงอายุทุกท่านให้ใช้งานโซเชียลมีเดียอย่างพอเหมาะ พอควร ไม่เล่นจนติด เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความสัมพันธ์ในโลกของความจริงได้
ที่มา :: tonkit 360.com