ผมร่วง ผมบาง
ปัญหาผมร่วงผมบางคงเป็นปัญหาใหญ่ ๆ ของใครหลาย ๆ คน ซึ่งผลที่เกิดแม้จะไม่กระทบต่อร่างกายโดยตรง แต่กลับมีผลกระทบอย่างแรงต่อสภาพจิตใจ บุคลิกภาพ รวมถึงการเข้าสังคม ทำให้ขาดความมั่นใจเวลาแต่งทรงผม แต่งทรงอะไรก็ไม่เข้าท่าสักอย่าง ผมร่วงเป็นกระจุกทุกครั้งเมื่อสระผม ฯลฯ ซึ่งพฤติกรรมบางอย่างก็อาจเป็นสาเหตุทำให้ผมหลุดร่วงได้ บางทีการเริ่มจากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ทำร้ายผมของเรา ก็สามารถช่วยหยุดปัญหาผมหลุดร่วงให้ลดน้อยลงได้ ถ้าไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นผลเสียต่อเส้นผมก็อาจทำให้ในอนาคตข้างหน้าคุณกลายเป็นคนผมบางได้ หรือถ้าหนักมากเข้าก็อาจจะหัวล้านไปเลยก็ได้
โดยรวมแล้วเส้นผมทั้งศีรษะจะมีอยู่ประมาณ 1 แสนเส้น ซึ่งเส้นผมจะร่วงเป็นปกติวันละ 50-100 เส้น ตามธรรมชาติรากผมจะมีอายุได้ประมาณ 3 ปี โดยจะผลิตเคราตินเพื่อทับเส้นเก่าให้ยาวขึ้นเดือนละ 1 เซนติเมตร และมีบางส่วนทยอยหยุดการเติบโตพร้อมกับเกิดเส้นใหม่งอกขึ้นมา ดันรากเดิมจนร่วงออกไปเองภายในระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งจะเป็นวงจรแบบนี้ไปเรื่อย ๆ
แล้วแบบไหนที่เรียกว่าผมร่วง? ก็อย่างเช่น เส้นผมของคุณร่วงมากกว่าวันละ 100 เส้น ในวันที่ไม่ได้สระผม และหลุดร่วงมากกว่าวันละ 200 เส้น ในวันที่สระผม ผมที่ร่วงแล้วไม่งอกขึ้นมาใหม่ หรืองอกขึ้นมาแต่เส้นเล็กลงกว่าเดิม และผมจะร่วงเฉพาะบริเวณ เช่น ร่วงกลางศีรษะ, ร่วงเป็นรูปตัวเอ็ม (m) บริเวณหน้าผาก, ร่วงเป็นหย่อม ๆ รูปตัวโอ (o) เป็นต้น ซึ่งผู้ชายและผู้หญิงจะมีลักษณะของโรคผมบางที่ต่างกัน ในผู้ชายจะมีลักษณะหัวเถิกหรือผมบางกลางกระหม่อม แต่ของผู้หญิงไม่รุนแรงขนาดนั้น แต่จะมีเพียงผมบางกลางศีรษะ ไม่ค่อยพบเห็นในลักษณะหัวเถิกเหมือนผู้ชาย
สาเหตุของผมร่วง
สาเหตุผมร่วงในผู้หญิงนั้นมีมากมาย การวินิจฉัยแยกโรคเพื่อหาสาเหตุจึงจำเป็นต้องอาศัยการซักประวัติและตรวจสอบร่างกายอย่างละเอียด ซึ่งในบางกรณีอาจมีความจำเป็นต้องเจาะเลือดตรวจ ทำการตรวจอัลตราซาวนด์ หรือตัดชิ้นเนื้อเล็ก ๆ จากบริเวณที่ผมร่วง แล้วส่งไปตรวจหาสาเหตุ ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้รู้ต้นตอของปัญหาและจะได้หาทางรักษาที่ถูกต้องต่อไป โดยสาเหตุของผมร่วง ผมบาง และศีรษะล้าน จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ แบบไม่มีแผลเป็น (Nonscarring Alopecia) กับแบบมีแผลเป็น (scarring Alopecia) ซึ่งแบบไม่มีแผลเป็นจะพบได้บ่อยมากที่สุด และจะมาจาก 2 สาเหตุหลัก ๆ ด้วยกัน คือ
- กรรมพันธุ์ พบได้มากที่สุดประมาณ 90% ของผู้หญิงศีรษะล้านผมบาง อาการแสดงที่พบได้บ่อย คือ ผมบางหรือศีรษะล้าน ซึ่งมักจะพบบริเวณกลางศีรษะ ส่วนแนวผมด้านหน้าจะไม่ถอยร่นเข้าไปเหมือนในผู้ชาย ซึ่งสามารถแบ่งความรุนแรงออกได้เป็น 3 ระดับ คือ
- ระดับที่ 1 เริ่มมีผมบางแต่ไม่มากนัก จะเห็นได้ชัดตามรอยแสกผม เส้นผมจะเริ่มบางและเส้นเล็กลง สามารถรักษาด้วยการใช้ยาดูก่อน ไม่มีความจำเป็นถึงต้องปลูกผม
- ระดับที่ 2 ผมบางมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเริ่มเห็นหนังศีรษะ กลางศีรษะล้าน เริ่มขยายมากขึ้นกว่าเดิม สามารถรักษาด้วยวิธีการปลูกผม แล้วควรใช้ยาเพื่อชะลอหรือป้องกันไม่ให้ผมเดิมหลุดร่วงมากขึ้น มิฉะนั้นผมเดิมจะบางลงอีก จนอาจต้องกลับมาปลูกผมซ้ำอีก
- ระดับที่ 3 ผมจะบางมาก จนเห็นหนังศีรษะได้อย่างชัดเจน พื้นที่ของศีรษะล้านจะขยายอาณาบริเวณออกไปด้านข้างโดยรอบ สามารถรักษาด้วยการใช้ยาร่วมกับการปลูกผม แต่ผลที่ได้ไม่ค่อยดี เนื่องจากมีการสูญเสียเส้นผมไปเป็นจำนวนมากแล้ว ส่วนการใส่วิกก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง
- สาเหตุอื่น ๆ ซึ่งจะพบได้ประมาณ 10% มีมากมายหลายสาเหตุ แต่สาเหตุที่พบได้บ่อย ๆ คือ โรคผมร่วงชนิดเป็นหย่อม (Alopecia Areata), โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ, โรคผิวหนังบางชนิด (เช่น โรคเรื้อน, เชื้อราบนหนังศีรษะ, สะเก็ดเงิน), โรคโลหิตจาง, โรคไตเรื้อรัง, โรคซิฟิลิส, โรคไฮโปไทรอยด์, โรค SLE, โรค PCOS, โรคจิตที่ชอบถอนผมตัวเอง (Trichotillomania), ภาวะต่าง ๆ (เช่น ภาวะหลังการคลอดบุตร, ภาวะหลังหมดประจำเดือน, ภาวะหลังการผ่าตัด, ภาวะหลังการลดน้ำหนักมาก ๆ), เนื้องอกของรังไข่ที่ผลิตฮอร์โมนเพศชาย, ยาบางชนิด (เช่น ยาคุมกำเนิดบางชนิด, ยาลดความดัน, ยาลดไขมันในเลือด, ยาเคมีบำบัด, ยากันชัก, ยารักษาภาวะซึมเศร้า, ยาเบต้าบล็อก, ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด), ความเครียด, สุขภาพอ่อนแอ, การรวบผมที่แน่นมากจนเกินไปอยู่ตลอดเวลา (traction alopecia) ก็อาจเป็นสาเหตุทำให้ผมร่วงได้เช่นกัน ฯลฯ
วิธีป้องกันผมร่วง
- ดูแลสุขภาพตัวเอง ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดให้ทั่วร่างกาย หลีกเลี่ยงความเครียด นั่งสมาธิ ทำจิตใจให้สบาย ไม่ปล่อยตัวเองให้จมอยู่กับความเครียดก็จะสามารถช่วยลดปัญหาได้เหมือนกัน นอกจากนี้ยังช่วยปรับฮอร์โมนในร่างกายให้สมดุลเป็นปกติอีกด้วย
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างเหมาะสม โดยรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และถูกสุขลักษณะ (เพิ่มวิตามินหรือเกลือแร่เสริมในกรณีที่รับประทานอาหารไม่ครบหมู่) เน้นรับประทานอาหารที่มีโปรตีน โดยเฉพาะโปรตีนจากถั่วเหลือง ดื่มน้ำให้เพียงพอหรือดื่มไม่น้อยกว่าวันละ 2 ลิตร งดอาหารที่ใส่ผงชูรส งดดื่มเหล้าและสูบบุหรี่
- เลิกไดเอตแบบผิดวิธี โปรตีนเป็นสารอาหารที่สำคัญต่อเส้นผมมาก ในแต่ละวันเราควรได้รับโปรตีนประมาณ 46 กรัม หรือประมาณ 20-30% ต่อสารอาหารที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน ถ้าคุณกำลังลดน้ำหนักด้วยวิธีการไดเอตแบบผิด ๆ ด้วยการอดอาหารบ่อย ๆ ก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมเส้นผมถึงเปราะบางและหลุดร่วงง่ายขนาดนี้
- สระผมอย่างถูกวิธี คุณไม่ควรสระผมเกินวันละ 1 ครั้ง ก่อนการสระผมด้วยแชมพู ควรล้างผมด้วยน้ำเปล่าก่อนเป็นเวลา 15 วินาที ก่อนที่จะลงแชมพูทุกครั้ง ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยชะล้างสิ่งสกปรกที่ติดอยู่บนเรือนผมออกไปก่อน แล้วจึงใช้แชมพูสระผมทำความสะอาดอย่างล้ำลึกต่อไป และในขณะสระผมก็ไม่ควรขยี้ผมหรือเกาหนังศีรษะแรง ๆ เพราะจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดการติดเชื้อของหนังศีรษะ แต่ให้เปลี่ยนมาสระผมโดยใช้วิธีนวดหนังศีรษะแทน โดยใช้ปลายนิ้วนวดเป็นวงกลมเบา ๆ ในขณะสระผม ซึ่งนอกจากจะช่วยถนอมเส้นผมและหนังศีรษะแล้ว ยังช่วยทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตดีขึ้นอีกด้วย
- เลิกสระผมด้วยน้ำอุ่น หลายคนอาจจะรู้สึกฟินเวลาที่สระผมด้วยน้ำอุ่น แถมยังคิดไปว่าการสระผมด้วยน้ำอุ่นจะช่วยชะล้างความสกปรกที่เกาะติดเส้นผมได้มากกว่าน้ำอุณหภูมิปกติ แต่ความจริงแล้วน้ำอุ่นนี่แหละที่เป็นผู้ร้ายตัวจริงในการทำร้ายเส้นผมของเรา ทั้งทำให้ผมแห้งแตกปลาย หนังศีรษะแห้ง จนในที่สุดเส้นผมก็มีสภาพอ่อนแอและหลุดร่วงจากหนังศีรษะได้อย่างง่ายดาย ดังนั้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วหันมาใช้น้ำอุณหภูมิปกติในการสระผม ก็จะช่วยลดปัญหาผมร่วงที่เกิดขึ้นได้
- เลือกใช้แชมพูและครีมนวดผมให้เหมาะกับสภาพเส้นผม เลือกใช้แชมพูอ่อน ๆ ที่มีส่วนประกอบแบบ organic และไม่เป็นด่างมากเกินไป แชมพูและครีมนวดให้เลือกที่เหมาะกับสภาพเส้นผมของตัวเอง และเต็มไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อเส้นผม ไม่ว่าจะเป็นโปรตีน แคลเซียม และแร่ธาตุอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับเส้นผม
- อย่าทำรุนแรงกับผมในขณะผมเปียกชื้น ลำพังแค่การหวีผมแรง ๆ ก็เป็นตัวทำร้ายเส้นผมให้อ่อนแอได้มากอยู่แล้ว ยิ่งถ้าคุณยังทำรุนแรงกับเส้นผมขณะที่ยังเปียกอยู่ด้วยแล้ว ก็คงยากที่เส้นผมจะแข็งแรง เพราะเส้นผมที่เปียกชื้นจะบอบบางกว่าปกติหลายเท่า ดังนั้นการหวีผมหรือใช้ผ้าขนหนูเช็ดผมแรง ๆ การผูกผมในขณะที่ผมยังเปียกอยู่ ก็สามารถทำให้สารเคลือบผมและโปรตีนในเส้นผมถูกทำลายไปได้
- หลีกเลี่ยงการจัดแต่งทรงผมด้วยความร้อน การไดร์ผมหรือหนีบผมด้วยความร้อนเป็นประจำ จะเป็นการทำร้ายเส้นผมอย่างรุนแรงมาก ๆ เพราะความร้อนจากการจัดแต่งทรงผมจะไปทำลายเคลือบผมและโปรตีนที่หล่อเลี้ยงเส้นผม ส่งผลให้ผมแห้งเสีย แตกปลาย เปราะบางและหลุดร่วงได้ง่าย ดังนั้นการเปลี่ยนมาใช้พัดลมเป่าผมแทน หรือเลือกปรับโหมดไดร์เป่าผมให้เป็นแบบลมเย็นธรรมดา หรือถ้าจำเป็นต้องไดร์ร้อนก็ให้ถือไดร์ให้ห่างจากเส้นผมประมาณ 1 ฟุต หรือเคลือบเส้นผมด้วยเซรั่มป้องกันความร้อนก่อนการจัดแต่งทรงผม ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้เส้นผมของคุณหลุดร่วงได้
- ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผมผิดประเภท ผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผมส่วนมากจะมีเนื้อหนาและหนักเพื่อช่วยล็อกทรงผมให้อยู่ทรงได้ตลอดทั้งวัน และมักมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์อยู่มาก ซึ่งเจ้าแอลกอฮอล์นี่แหละที่เป็นตัวการทำให้ผมแห้งเสียแตกปลายได้ ดังนั้นการหันมาเลือกใช้ผลิตภัณฑ์จัดแต่งผมที่มีเนื้อบางเบา หรือแบบสเปรย์ที่ไม่ได้เกาะติดอยู่บนผมจนทำให้ผมเหนียวเหนอะหนะ ก็จะช่วยลดปัญหาผมแห้งเสียซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ผมร่วงได้
- หลีกเลี่ยงสารเคมีที่ใช้กับผม เช่น การย้อมสีผม การยืดผม เป็นต้น
- ควรทำความสะอาดหวีหรือแปรงอย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง เนื่องจากสิ่งสกปรกและน้ำมันที่ตกค้างอยู่ตามซอกหวีหรือแปรง อาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของเชื้อโรคที่กลับเข้าสู่หนังศีรษะและเส้นผมของเรา ทำให้เกิดการหมักหมมจนกลายเป็นเชื้อราที่นำไปสู่ปัญหาผมร่วงที่ไม่พึงปรารถนา
- ไม่มัดผมแน่นเกินไป การมัดผม รวบผม หรือการถักเปียที่แน่นมากจนเกินไปก็อาจเป็นการทำร้ายเส้นผมของคุณได้ เพราะนอกจากจะทำให้โครงสร้างของเส้นผมเกิดการหักงอหรือผิดรูปแล้ว ยังอาจไปทำร้ายเคลือบผมทางอ้อมได้อีกด้วย ดังนั้นอย่าพยายามมัดผมหรือถักเปียบ่อย ๆ ควรปล่อยผมให้ทิ้งตัวสบาย ๆ บ้าง หรือเลือกทรงผมที่ไม่ดึงรั้งผมมากจนเกินไป หลีกเลี่ยงการสวมหมวก ก็จะเป็นการช่วยทำให้เส้นผมของคุณมีสุขภาพดีขึ้นมาได้บ้าง อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงจากปัญหาผมเปราะบางหลุดร่วงได้อีกทางหนึ่งด้วย
- ไม่เข้านอนและมัดผมในขณะผมยังเปียกชื้นอยู่ เนื่องจากเชื้อราที่เกิดจากความเปียกชื้นจะก่อตัวจับกลุ่มกันที่บริเวณหนังศีรษะ หากปล่อยทิ้งไว้นาน ๆ ความชื้นจะแพร่กระจายไปยังหมอนและกลายเป็นเชื้อราที่มารังควานศีรษะเรา ทำให้หนังศีรษะมีกลิ่นเหม็นอับ เกิดอาการคัน และเป็นรังแค ทำให้รากผมไม่แข็งแรง สุดท้ายผมก็จะเปราะบางและหลุดร่วงไปในที่สุด
- ไม่ใช้แชมพูแห้งบ่อย ๆ สำหรับสาว ๆ ที่ชอบใช้แชมพูแห้งบ่อย ๆ เพราะต้องการความสะดวกสบาย ไม่ต้องเสียเวลาสระผมและเป่าแห้ง ก็อาจเป็นสาเหตุทำให้ผมหลุดร่วงได้เช่นกัน เนื่องจากการใช้แชมพูแห้งสระผมจะทำให้มีสารตกค้างอยู่บนเส้นผม ทำให้เกิดการอุดตันหนังศีรษะและเส้นผม จนผมไม่สามารถรับสารบำรุงใด ๆ ได้ ก่อให้เกิดอาการเปราะบาง และผมก็หลุดร่วงได้ง่าย ๆ ดังนั้นหากคุณไม่เร่งรีบมากจนเกินไปก็ควรจะเลือกทำความสะอาดเส้นผมด้วยการสระผมจะดีกว่า
- ไม่ตากแดดนาน ๆ โดยเฉพาะในช่วงเวลาตั้งแต่ 10 โมงเช้าถึงบ่าย 2 โมง เพาะรังสียูวีเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เส้นผมสูญเสียความชุ่มชื้นและทำลายสารเคลือบเส้นผม จนทำให้ผมเปราะขาดหลุดร่วงได้ง่าย ดังนั้นการชโลมเซรั่มบำรุงเส้นผมที่มีส่วนผสมของสารกันแดดก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถปกป้องสุขภาพเส้นผมของคุณได้
- หลังการว่ายน้ำคุณควรล้างผมด้วยน้ำสะอาดในทันที
- รักษารังแค ปัญหารังแคเป็นต้นเหตุทำให้เกิดอาการคันหนังศีรษะ ประเด็นอยู่ตรงที่ยิ่งเกาก็ยิ่งเป็นการทำร้ายหนังศีรษะและเส้นผมมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งก็เป็นสาเหตุทางอ้อมที่ทำให้ผมหลุดร่วงแบบไม่รู้ตัวนั่นเอง ฉะนั้นคงจะดีกว่าถ้าคุณแก้ปัญหารังแคได้ เพราะจะทำให้อาการคันหนังศีรษะหมดไป ซึ่งคุณอาจจะเลือกใช้แชมพูที่มีส่วนผสมของซีลีเนียม ซิงค์ และทีทรีออยล์ก็ได้ หรือปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาทางรักษาต่อไป
- เลือกใช้ยาคุมกำเนิดสักนิด โดยปกติแล้วสาว ๆ ส่วนใหญ่จะมีปัญหาผมหลุดร่วงได้ง่ายเมื่อมีประจำเดือน ซึ่งเป็นช่วงที่ฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าผ่านพ้นช่วงการมีประจำเดือนไปแล้ว แต่ผมของคุณยังหลุดร่วงอยู่ นั่นอาจเป็นผลข้างเคียงของยาคุมกำเนิดที่คุณกำลังรับประทานอยู่ก็ได้ เนื่องจากยาคุมกำเนิดส่วนมากนี้จะมีฮอร์โมนเพศชายผสมอยู่มาก แต่คุณสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้โดยการเปลี่ยนมารับประทานยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเพศชายในปริมาณน้อย ๆ (ฮอร์โมนแอนโดรเจน) ก็จะช่วยลดปัญหาผมบางจากพันธุกรรมได้พอสมควร
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด สำหรับผู้ที่จำเป็นต้องรับประทานยาบางชนิดเป็นประจำ เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาคลายเครียด หรือยาที่มีส่วนผสมของกลุ่มฮอร์โมน คุณอาจต้องเจอกับปัญหาผมร่วงมากกว่าเนื่องมาจากผลข้างเคียงจากยาได้ ซึ่งกรณีนี้คุณควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางรักษาต่อไป
- นวดศีรษะด้วยมือเป็นประจำ วันละไม่กี่นาที เพื่อช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดบริเวณหนังศีรษะ นอกจากนี้ คุณอาจจะนวดศีรษะด้วยวิตามินอี น้ำมันดอกวาเดอร์ นวดด้วยน้ำมันเมล็ดอัลมอนด์ น้ำมันงา หรือน้ำมันมะพร้าว เป็นต้น หรือนอนให้ศีรษะต่ำกว่าส่วนอื่น ๆ ของร่างกายเป็นบางช่วง เพื่อช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดให้ไปที่บริเวณศีรษะ โดยให้ทำครั้งละ 15 นาทีต่อวัน
- หมักผมด้วยสารจากธรรมชาติบางชนิด เช่น น้ำผึ้งผสมไข่แดง, น้ำแอปเปิ้ลหมัก 1/2 ชั่วโมง แล้วล้างออกก่อนสระผม ก็จะช่วยบำรุงเส้นผมและลดผมร่วงได้
- สมุนไพรป้องกันผมร่วง เช่น ใช้ใบสดซองแมว (Gmelina villosa Roxb) นำมาตำพอกศีรษะ, ดอกแค (Sesbania grandiflora Poiret ), วุ้นว่านหางจระเข้, ชาเขียว นอกจากจะเป็นเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพแล้ว สารต้านอนุมูลอิสระที่อยู่ในชาเขียวยังช่วยป้องกันผมร่วงรวมถึงการเร่งให้เส้นผมเจริญเติบโตได้ดีขึ้นอีกด้วย โดยการต้มน้ำชาเขียวสัก 2 ถุงต่อน้ำ 1 ถ้วย จากนั้นทิ้งไว้ให้อุ่นพอประมาณ แล้วนำมาใช้ชโลมให้ทั่วหนังศีรษะทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง ก่อนจะล้างออก เป็นต้น
- หากมีปัญหาผมร่วงผมบาง คุณควรรีบไปพบแพทย์เพื่อหาทางรักษาโดยด่วน อย่าปล่อยไว้เนิ่นนานจนเกินไป เพราะอาจจะทำให้เกิดภาวะศีรษะล้านจนยากจะแก้ไขได้
วิธีแก้ผมร่วง
- วิกผม เลือกใช้วิกผมเพื่อปกปิดได้ทั่วศีรษะ โดยจะมีอยู่ 2 ประเภทด้วยกัน ได้แก่ วิกผมเทียม (ทำจากโมโนไฟเบอร์เลียนแบบธรรมชาติ) หาซื้อได้ที่ร้านเสริมสวยทั่วไป มีราคาเริ่มต้นประมาณ 1,000 บาท และวิกผมแท้ที่สามารถสระ ไดร์ หรือทำสีผมได้เหมือนกับผมธรรมชาติ ซึ่งจะมีราคาประมาณ 10,000 บาทขึ้นไป
- ทอผมเทียม คล้าย ๆ กับวิกผม แต่เราสามารถเลือกปิดผมในเฉพาะบริเวณที่มีปัญหาได้ สามารถทำได้ทั้งชายและหญิง และออกแบบทรงผมได้ตามความต้องการ โดยจะสั่งตัดจากช่างเสริมสวยที่มีความชำนาญ ซึ่งจะราคาประมาณ 10,000 บาทขึ้นไป
- ผงไฟเบอร์ปิดผมบาง (Hair Building Fiber) เป็นวิธีในการพรางตาให้เหมือนมีเส้นผมมากขึ้นที่ได้ผลดี โดยเป็นการใช้ไฟเบอร์เคราตินที่ทำมาจากเคราตินบริสุทธิ์ประเภทเดียวกับเส้นผมของมนุษย์และอัดด้วยประจุไฟฟ้าสถิตเพื่อให้สามารถยึดเกาะกับเส้นผมได้ ซึ่งไฟเบอร์จะไปเกาะที่เส้นผมทำให้ผมของคุณดูหนาขึ้นมาได้ชั่วคราว จึงช่วยปกปิดผมในบริเวณที่บางได้ วิธีใช้ก็ง่ายมากแค่เขย่าหรือโรยลงไปบริเวณที่ต้องการ และคุณอาจใช้สเปรย์ฉีดเพื่อเพิ่มความอยู่ตัวมากขึ้นด้วยก็ได้ โดยผงไฟเบอร์ปิดผมก็มีอยู่ด้วยกันหลายยี่ห้อ แต่ให้พยายามเลือกใช้ยี่ห้อที่ปกปิดผมได้อย่างแนบเนียน ยึดเกาะได้ดี และต้านทานความชื้น อย่างเช่นยี่ห้อ Toppik, Beaver, Hairpro, Caboki, Samson ฯลฯ
- ปลูกผมแบบใหม่โดยไม่ต้องผ่าตัด (Dermal Lens) เป็นวิธีการสร้างเส้นผมทดแทนขึ้นมาใหม่ โดยเส้นผมที่ได้จะมาจากการเก็บตัวอย่างเส้นผมของคุณแล้วส่งไปยัง Lab ที่อเมริกาเพื่อทำการจำลองแบบพันธุกรรมให้เหมือนกับเส้นผมธรรมชาติของคุณ แล้วนำมาวางบน Lens หนังศีรษะเทียมแบบเส้นต่อเส้น เพื่อให้ดูเหมือนว่ามีการเจริญเติบโตแบบธรรมชาติ ซึ่ง Lens ที่ใช้จะเป็นรูพรุนทำให้ระบายอากาศได้ดี เมื่อแปะด้วยน้ำยาพิเศษเข้าไปแล้วจะทำให้ไม่เห็นขอบ Lens และไม่รู้สึกเลยว่ามี Lens นี้ติดอยู่บนหนังศีรษะ (เขาโฆษณาว่างั้นนะ)
- หวีเลเซอร์ เป็นหวีที่โฆษณาว่าทำงานโดยการกระตุ้นวงจรการเจริญเติบโตของเส้นผมด้วยพลังเลเซอร์ โดยเลเซอร์จะตรงเข้าไปกระตุ้นรากผมที่อ่อนแอ ช่วยให้ผมขึ้นใหม่และหนาขึ้น และลดปัญหาผมร่วงได้ ราคาของเครื่องก็มีหลายเกรดหลายระดับตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักหมื่น แต่ผมเห็นคนไปรีวิวรุ่นหนึ่ง (เครื่องละเป็นหมื่น) ก็ไม่เห็นว่ามันจะช่วยอะไรนะ ส่วนตัวคิดว่ามันอาจจะแค่ช่วยได้บ้างเท่านั้นนะครับ เพราะจากที่ดูรีวิวในอเมซอนคนบ่นกันเยอะพอสมควรว่ามันไม่ได้ผล -_-"
- อาหารเสริมบำรุงผม ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์อาหารเสริมบำรุงผมและลดปัญหาผมร่วงออกมาจำหน่ายพอสมควร อย่างเช่นยี่ห้อ Forcapil, GNC WOMEN'S Hair, Skin & Nail Formula ฯลฯ หรือคุณอาจจะเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์หรืออาหารเสริมอื่น ๆ ที่มีส่วนผสมของไบโอติน แคลเซียม ซิงค์ ซีลีเนียม ซิลิกา ทองแดง โคเอนไซม์คิวเทน วิตามินบีรวม วิตามินซี วิตามินอี และ Brewer yeast ก็ได้ ซึ่งก็พอจะช่วยแก้ปัญหาผมร่วงได้บ้าง ซึ่งวิตามินเหล่านี้อาจจะไม่ได้มีผลโดยตรงต่อเส้นผม แต่ก็เป็นตัวช่วยเสริมที่ช่วยทำให้สุขภาพผมดีขึ้นได้ในรายที่มีอาการขาดแร่ธาตุหรือวิตามินบำรุงผม
7. ยาสระผมแก้ผมร่วง แชมพูยี่ห้อที่เป็นที่นิยมใช้แก้ปัญหาผมร่วงก็มีหลายยี่ห้อด้วยกัน เช่น แชมพู Bawang, Shisedo, Kerastase, Myth, Schwarzkopf รุ่น bc hair growth, ดอกบัวคู่, หรือใช้เป็นแชมพูเด็กเลย อย่างเช่นโคโดโมะ สูตรเจนเทิล เป็นต้น หรือยาสระผมที่มีสาร Ketoconazole อย่าง Nizoral 2% shampoo (ketoconazole) ก็สามารถช่วยรักษาผมจากแบบพันธุกรรมได้เช่นกัน
- ใช้แฮร์โทนิคหลังสระผม (Hair Tonic) โดยนำมาทาลงบนหนังศีรษะพร้อมกับนวดเบา ๆ ให้ทั่วศีรษะโดยไม่ต้องล้างออก มีหลายยี่ห้อให้เลือกใช้ เช่น DIPSO, Bio Woman, Sprout และ Luxcell Perfect Hair Tonic ฯลฯ
9.สมุนไพรแก้ผมร่วง ได้แก่ เหง้าขิงสดนำมาผิงไฟให้อุ่น แล้วตำให้แหลก ใช้เป็นยาพอกวันละ 2 ครั้ง (Zingiber officinale Roscoe.), ใช้กระเทียมหรือหัวหอมอย่างใดอย่างหนึ่งนำมาปั่นให้ละเอียดแล้วนำมานวดหนังศีรษะ, เกลือรักษาผมร่วง (ใช้เกลือผสมน้ำอุ่นแล้วนำมารดศีรษะทิ้งไว้ประมาณ 3 นาที), มะกรูดสระผม (Citrus x hystrix L.), ใช้ใบสดซ้องแมว (Gmelina philippensis Cham.) นำมาตำพอกศีรษะ., กระชาย (Boesenbergia rotunda Mansf.), ฟ้าทะลายโจรแคปซูล (Andrographis paniculata Wall ex Ness.), เปลือกผลส้มเขียวหวาน (Citrus reticulata Blanco.), รากฟักข้าว (Momordica cochinchinensis Spreng.), เจียวกู่หลาน (Gynostemma pentaphyllum Makino), หญ้าปักกิ่ง (Murdannia loriformis (Hassk.) Rolla Rao et Kammathy), น้ำมันจากเมล็ดตะคร้อ (Schleichera oleosa Merr.), น้ำคั้นจากใบบัวบกชโลมศีรษะ (Centella asiatica Urban.), น้ำใส ๆ ที่อยู่ในโพรงหัวของกล้วยนวล (Musa glauca Roxb.), น้ำมันเมล็ดกระเบา (Hydnocarpus anthelminthicus Pierre), อัลฟัลฟ่า (Medicago sativa L.), ต้นทองพันชั่ง (Rhinacanthus nasutus Kurz), ใช้วุ้นจากว่านหางจระเข้ (Aloe vera (L.) Burm.f.) ร่วมกับเนื้อในของเมล็ดสะบ้า (Entada phaseoloides Merr.), ยาพอกที่ได้จากใบทับทิม (Punica granatum L.), รับประทานผงบอระเพ็ดวันละ 600 mg. (Tinospora crispa (L.) Miers ex Hook.f. Thomson), น้ำมันมะรุม (Moringa oleifera Lam.), หอมแดง (Allium cepa L.), ดอกอัญชัน (Clitoria ternatea L.), เก๊กฮวย (Dendranthema indicum L.) เป็นต้น
10. บำรุงผมด้วยทรีตเมนต์ ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์บำรุงผมที่สกัดจากธรรมชาติผลิตมาออกให้เลือกใช้มากมาย เช่น บำรุงผมด้วยน้ำมันมะกอก น้ำมันมะพร้าว น้ำมันคาโนลา ฯลฯ โดยให้คุณเลือกน้ำมันสูตรใดสูตรหนึ่งนำมาอุ่นให้ร้อนแบบพอดี ๆ แล้วนำมาชโลมใส่ฝ่ามือเล็กน้อยก่อนใช้มือค่อย ๆ นวดศีรษะ จนรู้สึกได้ว่าน้ำมันแทรกซึมเข้าไปถึงหนังศีรษะแล้ว จากนั้นให้นำหมวกอาบน้ำมาใส่คลุมทิ้งไว้ราว 1 ชั่วโมง แล้วล้างออก และสระผมด้วยแชมพูสระตามปกติ
11. โคลนหมักผม ชาว pantip แนะนำให้ใช้โคลนหมักผมน้ำมันงาดำ+สาหร่ายเกลียวทอง+วิตามิน E ยี่ห้อ พบธรรมสมุนไพร กระปุกละประมาณ 100 บาท เห็นว่าใช้แล้วได้ผลหลายคน ยังไงก็ลองไปหาซื้อมาใช้ดูคะ
12. ยากินรักษาผมร่วง สำหรับผู้มีปัญหาผมร่วงจากกรรมพันธุ์ ในการรักษาโดยการใช้ยา Finasteride (ไฟนาสเตอไรด์) อย่างยี่ห้อ Proscar และ Propecia ซึ่งเป็นยาต้านกรรมพันธุ์ที่ช่วยขัดขวางเอนไซม์ที่มีผลทำให้ผมร่วง แต่มีรายงานว่าการใช้ยานี้มีผลข้างเคียงคือทำให้นกเขาไม่ขัน สมรรถภาพทางเพศลดลงได้ แต่พบได้ไม่มากหรือประมาณ 1.8% ของผู้ที่ได้รับยาทั้งหมด และถ้าหยุดยาอาการดังกล่าวก็จะหายไป สบายใจได้ โดยให้รับประทานควบคู่กับยาเม็ดกระตุ้นเส้นผม Minoxidil ซึ่งมีผลให้เส้นผมงอกตัวเร็วและหนาขึ้น
13. ยาปลูกผม หรือ Minoxidil แบบทา ใช้ได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง โดยใช้ทาวันละ 2 ครั้ง ซึ่งจะใช้ได้ผลดีในผู้ที่มีผมร่วงตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ในรูปแบบของยาทาจะมี Minoxidil 2% (สำหรับผู้หญิงทั่วไป) และ 5% (สำหรับผู้ชายและผู้หญิงที่ผมบางจากพันธุกรรม) มีทั้งแบบโฟมและสูตรน้ำ หรือเซรั่มปลูกผม ใช้ทาโดยตรงบริเวณศีรษะเพื่อกระตุ้นการทำงานของเซลล์รากผม ช่วยชะลออาการผมร่วง และช่วยปลูกเส้นผมใหม่ให้มีอัตราการงอกที่เพิ่มขึ้นได้ โดยยาปลูกผมยี่ห้อที่นิยมใช้กันมากและได้ผลดีคือยี่ห้อ เรสทีฟ (RESTIV) เนื้อมูสขวดละประมาณพันกว่าบาท (ขนาด 75 ml.) 1 ขวดใช้ได้ประมาณ 2 เดือน ใช้มูสชโลมทาหลังสระผมทั้งตอนเช้าและก่อนนอนโดยไม่ต้องล้างออก เพราะแห้งไว อันนี้เป็นรีวิวจาก pantip นะครับ ซึ่งได้คะแนน 9 เต็ม 10 โดยทำการเปรียบเทียบกับยี่ห้อ NUHAIRS (คะแนน 5 เต็ม 10), ยี่ห้อ Rogaine (คะแนน 7.5 เต็ม 10) และยี่ห้อเบอกาม็อท (คะแนน 6 เต็ม 10) ส่วนยี่ห้ออื่น ๆ ก็เช่น Reten five ฯลฯ ซึ่งจะเริ่มเห็นผลหลังใช้เพียง 2-3 อาทิตย์ แถมยังบอกว่าได้ผลการรักษาที่ดีกว่า Minoxidil ทั่วไปที่นิยมใช้กันอีกซะด้วย อันนี้ชาวพันทิปคอนเฟิร์ม !
14. การฉีดยาเพื่อหยุดผมร่วง เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาผมร่วงอย่างรุนแรงอย่างฉับพลันเท่านั้น เช่น สตรีหลังตั้งครรภ์ ผู้ที่มีการผ่าตัดแล้วผมร่วงเป็นกำมือ การรักษานี้จะใช้เครื่องอัดน้ำยาเข้าไปที่หนังศีรษะ โดยน้ำยาที่ใช้จะมีอยู่ 2 ประเภท คือ Hair Loss Control ที่ช่วยลดการหลุดร่วงของผม หรือในบางคนจะใช้ Platelet Rich Plasma Therapy (PRP) ซึ่งเป็นสารสกัดจากเกล็ดเลือด หรือใช้สารสกัดจากพวกสเต็มเซลล์มาช่วยด้วย
15. ใช้เลเซอร์กระตุ้นผม (Laser diode) กลุ่มนี้จะเน้นไปที่การกระตุ้นผมให้มีการเจริญเติบโตเร็วขึ้น ช่วยเสริมการเผาผลาญของเซลล์และช่วยเร่งการไหลเวียนของโลหิตทำให้ออกซิเจนและสารอาหารที่บำรุงผิวหนังศีรษะนั้นสามารถลงลึกเข้าไปในรูขุมขนได้ และยังช่วยยับยั้งการทำงานของฮอร์โมน DTH ที่เป็นตัวการสำคัญของปัญหาผมร่วง โดยจะยิงเลเซอร์ทีละจุดบนหนังศีรษะเฉพาะส่วนที่ผมบาง ทำสัปดาห์ละ 1 ครั้ง การรักษาจะเห็นผลชัดเจนเมื่อทำเลเซอร์ติดต่อกันประมาณ 5-12 ครั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพของหนังศีรษะและรากผมของแต่ละบุคคลด้วย แต่วิธีนี้จะเหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาผมร่วง ผมบาง โดยที่รากผมบนหนังศีรษะยังไม่ตายเท่านั้น
16. การฝังเส้นผมที่ทำโดยใช้ใยสังเคราะห์ (Synthetic hair) เหมาะกับคนไข้ที่มีแผลผ่าตัดหรือมีปัญหาหนังศีรษะแล้วร่วงเป็นหย่อม ๆ แล้วไม่อยากปลูกผม ซึ่งวิธีนี้จะใช้ผมเทียมปักลงไปบนหนังศีรษะ เส้นผมจะมีหลายสี หลายขนาดให้เลือก เพื่อให้เหมือนกับผมจริงที่มีอยู่เดิมให้มากที่สุด การทำจะฉีดยาชาเพื่อลดความเจ็บปวดขณะปักผมเทียม โดยยึดที่หนังศีรษะด้านล่าง หลังทำสามารถอยู่ได้นานประมาณ 1 ปี และซ่อมแซมได้หลังหลุดร่วง แต่จะเหมาะกับคนที่ต้องการแก้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น และผมเทียมที่ใส่เข้าไปจะมีความยาวเท่าเดิม
17. ปลูกถ่ายผม เป็นการผ่าตัดของแพทย์ โดยการนำรากผมจากท้ายทอยของตัวเองมาปลูกไว้ในบริเวณที่มีผมบาง เพราะผมที่ท้ายทอยสามารถปิดแผลได้เรียบ การผ่าตัดแบบเก่าจะมีอยู่ด้วยกัน 2 วิธี คือ การผ่าตัดหนังศีรษะบริเวณท้ายทอยออกมาเป็นแผ่นแล้วนำมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ชิ้นละ 1 กอ และอีกวิธีคือการเจาะเส้นผมออกจากบริเวณท้ายทอยทีละ 1 กอ เพื่อหลีกเลี่ยงแผลเป็นหลังการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดแบบเก่าอาจต้องใช้เวลานาน 6-8 ชั่วโมง ซึ่งค่อนข้างนานและยุ่งยาก ในปัจจุบันจึงได้มีการพัฒนาทำเป็นเครื่องมือปลูกผมแบบอัตโนมัติ (Bioscor automated hair transplantation with S.A.F.E.R.) ซึ่งจะทำหน้าที่ดึงผมบริเวณท้ายทอยโดยครอบเข้าไปที่เส้นผมและดึงออกมาทีละเส้น หลังจากนั้นแพทย์จะเจาะผิวหนังเพื่อเตรียมหนังศีรษะบริเวณที่ต้องการจะปักผม แล้วนำผมมาปักในบริเวณที่ต้องการ ซึ่งข้อดีก็คือจะเร็วกว่าการผ่าตัดปลูกผมแบบเก่า รากผมไม่ขาด และไม่มีรอยแผลเป็น แต่จะมีราคาทำค่อนข้างสูง
ที่มา :: เว็บไซต์เมดไทย (Medthai)