Learn with Prin เรียนรู้ไปพร้อมกับน้องปริญญ์

จำหน่ายผลิตภัณฑ์ Legacy /Reborn Set ลด Fat ตัวช่วยลดไขมัน ลดน้ำหนัก แบบถูกวิธี 🔥 ติดต่อสอบถาม/สั่งซื้อ 📍 โทร ☎️ :: 084-110-5021 🌸 Line ID :: pla-prapasara 🌸 รับโปรโมชั่นสุดพิเศษเฉพาะทาง Line นะคะ 📍

วันจันทร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2563

การบริหารปอด

 การบริหารปอด



การบริหารปอด

ในบรรดาตำราวิทยายุทธทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นแบบฉบับของจีนในสำนักบู๊ตึงและสำนักเส้าหลิน หรือแบบอินเดียในวิธีฝึกโยคะ มักจะเริ่มต้นด้วยการฝึกลมปราณ การกำหนดลมหายใจ หรือการบริหารปอดโดยพยายามกำจัดอากาศเสียออกจากปอด และสูดเอาอากาศบริสุทธิ์เข้าไปในปอดให้ได้มากที่สุด โดยมีความเชื่อว่าเป็นการนำเอาอากาศซึ่งเป็นพลังชีวิตเข้าไปในทุกส่วนของร่างกาย เพื่อให้เกิดพละกำลังในการต่อสู้ป้องกันตัว และที่สำคัญคือ สามารถป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ ส่งเสริมสมรรถภาพของร่างกาย การบริหารปอดจึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถชะลอความแก่ได้


การหายใจเอาอากาศเข้าไปในปอดนั้น ต้องมีการแลกเปลี่ยนอากาศดีและอากาศเสียที่บริเวณถุงลมของปอดซึ่งมีหลอดเลือดฝอยห่อหุ้มอยู่ เกิดการฟอกเลือดดำให้เป็นเลือดแดง เลือดแดงจะจับอากาศดีหรือออกซิเจนไว้ แล้วไหลเวียนไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย และนำเอาอากาศเสียหรือแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ไปปล่อยที่ถุงลมปอด เพื่อกำจัดแก๊สเสียนี้ออกจากปอดไป การหายใจไม่ใช่เกิดขึ้นและสิ้นสุดที่ปอดเท่านั้น แต่เกิดขึ้นที่หน่วยเล็กที่สุดของส่วนต่างๆ ของร่างกายที่เรียกว่าเซลล์ เนื่องจากเซลล์ต้องการแก๊สออกซิเจนเพื่อการเผาผลาญอาหารให้เกิดพลังงาน


การหายใจเข้าสู่ปอดนั้นต้องอาศัยกล้ามเนื้อหลายมัด เริ่มตั้งแต่กล้ามเนื้อด้านหน้าของคอที่ช่วยยกทรวงอกให้สูงขึ้น เมื่อหายใจเข้า กล้ามเนื้อระหว่างซี่โครงจะยกซี่โครงขึ้นเพื่อขยายปอดทางด้านข้าง และกล้ามเนื้อที่สำคัญที่สุด คือ กล้ามเนื้อกะบังลมที่คั่นระหว่างช่องปอดและช่องท้อง ทำหน้าที่เป็นลูกสูบดึงเอาอากาศเข้าเมื่อมีการหดตัวเข้า และดันอากาศออกเมื่อกล้ามเนื้อนี้คลายตัว การหายใจด้วยกล้ามเนื้อกะบังลมนั้น สามารถดึงอากาศเข้าสู่ปอดได้มากถึงร้อยละ 70 วิธีการหายใจที่ดีที่สุดจึงเป็นการหายใจด้วยกล้ามเนื้อนี้


กล้ามเนื้อท้องเป็นกล้ามเนื้อที่ช่วยการหายใจออก ในเวลาไอหรือจาม การพูด การอ่าน การร้องเพลง ล้วนเป็นการหายใจออกทั้งสิ้น เนื่องจากต้องผ่านให้อากาศออกโดยการควบคุมของกล่องเสียง ถ้าสังเกตจะพบว่า เวลาที่เราพูดคุยกับผู้อื่นระหว่างการเดินเคียงบ่าไปด้วยกันนั้นจะไม่ค่อยเหนื่อย เพราะได้หายใจออกและเข้าอยู่อย่างสม่ำเสมอตลอดเวลาที่เดิน ต่างจากการเดินคนเดียว ซึ่งเราอาจรู้สึกเหนื่อยมากกว่า เพราะการทำงานของระบบหายใจในเวลาที่เดินอาจไม่สม่ำเสมอ และมีแนวโน้มของการกลั้นหายใจเกิดขึ้นด้วย


การหายใจที่ถูกสุขลักษณะควรจะหายใจเข้าออกทางจมูก โดยเฉพาะเวลาหายใจเข้า เพราะอากาศที่ผ่านจมูกจะอบอุ่น และขนจมูกจะกักกันฝุ่นละอองไว้ไม่ให้ตกเข้าไปในปอด


ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นการสูดเอาแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์และผงถ่านที่เกิดจากการเผาไหม้บุหรี่เข้าไปสู่ปอดโดยตรงทางปาก จึงหายใจรับเอาอากาศเสียเข้าไปโดยขาดการป้องกันฝุ่นละอองที่เข้าไปกับควันบุหรี่ เป็นสาเหตุให้เกิดโรคถุงลมปอดโป่งพอง และเป็นโรคมะเร็งได้ง่าย

การหายใจออกอาจเป่าออกโดยตรงทางปาก เพื่อให้อากาศเสียออกจากปอดได้สะดวกขึ้น และสิ่งสกปรกถูกกำจัดออกจากปอดได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่เกิดการจาม หรือไอ ซึ่งพ่นเอาเชื้อโรคสิ่งโสโครกออกจากปอด จึงต้องปิดปากด้วยผ้าเช็ดหน้า หรือกระดาษชำระทุกครั้งเมื่อไอหรือจาม เพื่อไม่ให้เชื้อโรคไปติดต่อผู้อื่น ในบางประเทศ เช่น จีนหรือญี่ปุ่น ผู้ที่เป็นหวัดต้องปิดปากและจมูกด้วยผ้าปิดปากเมื่อเดินบนท้องถนน หรือทำงานในสถานที่ชุมชน

การบริหารปอดเป็นการออกกำลังกายกล้ามเนื้อที่มีส่วนร่วมในการหายใจ ช่วยให้หายใจเอาอากาศบริสุทธิ์เข้าปอดให้มากที่สุด และหายใจเอาอากาศเสียออกได้เต็มที่ เสมือนหนึ่งต้องเทน้ำเสียออกจากขวดก่อนจึงใส่น้ำสะอาดเข้าไปในขวดได้

การบริหารปอดควรทำในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก อย่างเช่น ในสวนสาธารณะ บริเวณที่มีต้นไม้ใบหญ้า หรือห้องโถงที่ปราศจากมลภาวะ เช่น ควันบุหรี่ อากาศเสียที่เป่าออกจากเครื่องปรับอากาศหรือในที่ที่มีผู้คนแออัดบนถนนที่เต็มไปด้วยรถรายานยนต์ การหายใจในสภาวะที่ไม่เหมาะสมนั้น นอกจากจะไม่เกิดประโยชน์ต่อร่างกายแล้ว ยังบั่นทอนสุขภาพของร่างกาย และไม่สามารถชะลอความแก่ได้อีกด้วย

การบริหารปอดไม่ควรทำนานเกินไปเพราะอาจทำให้วิงเวียนศีรษะและหยุดหายใจได้ เพราะแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในปอดทำหน้าที่ช่วยกระตุ้นให้มีการหายใจเกิดขึ้น ถ้าปราศจากแก๊สนี้อาจเป็นเหตุให้หยุดหายใจได้ ต้องหยุดบริหารปอดทันทีเมื่อเกิดอาการดังกล่าว



ท่าบริหารปอด



ท่าที่ 1 ท่านั่งกำหนดลมหายใจ


นั่งบนเก้าอี้ เป่าลมออกทางปากช้าๆ นับ 1, 2, 3 หายใจเข้าทางจมูก นับในใจ 4, 5, 6 ขณะหายใจวางมือทั้ง 2 ที่ท้อง หายใจเข้าให้ท้องป่องออก หายใจออกให้ท้องแฟบกิ่วลง มือทั้งสองอาจช่วยดันท้องช่วยให้หายใจออกเต็มที่ ทำประมาณ 3-6 ครั้ง


ท่าที่ 2 ท่าหายใจออกด้านข้าง


หาเข็มขัดหนัง สายวัด หรือเส้นเชือกโอบบริเวณซี่โครงไขว้มาด้านหน้า มือทั้งสองดึงเข็มขัดไว้ เวลาหายใจออกดึงเข็มขัดเข้าพร้อมหุบซี่โครงทั้ง 2 ข้าง เวลาหายใจเข้าผ่อนเข็มขัดพร้อมให้ซี่โครงกางออกทางด้านข้าง ทำประมาณ 3-6 ครั้ง


ท่าที่ 3 ท่าแกว่งแขนขึ้นลง


ยืนกางขาเล็กน้อย ยกแขนทั้งสองขึ้นเหนือศีรษะพร้อมหายใจเข้า แกว่งแขนทั้งสองไปข้างหลังพร้อมหายใจออก ทำประมาณ 5-10 ครั้ง


ท่าที่ 4 ท่าไขว้แขนเข้า กางแขนออก


ยืนกางขาเล็กน้อย ไขว้แขนทั้งสองมาข้างหน้า คว่ำมือพร้อมกับหายใจออก กางแขนเฉียงออก หงายมือขึ้นพร้อมหายใจเข้า ทำประมาณ 5-10 ครั้ง


ท่าที่ 5 ท่าด้านซี่โครงเอียงลงด้านข้าง


ยืนกางขาเล็กน้อย มือซ้ายแตะซี่โครงด้านข้างไว้ มือขวายกขึ้นเหนือศีรษะ ดันซี่โครงด้วยมือซ้าย และเอียงตัวไปข้างซ้ายพร้อมกับหายใจออก-เข้า กลับเข้าท่าตรง พร้อมหายใจเข้า ทำซ้ำๆ ประมาณ 3-6 ครั้ง เปลี่ยนมือขวาแตะซี่โครง และเอียงตัวไปข้างขวา ทำประมาณ 3-5 ครั้ง


ท่าที่ 6 หมุนตัวซ้าย-ขวา


ยืนกางขาเล็กน้อย เอามือเท้าเอว หมุนตัวไปทางซ้ายพร้อมหายใจออก กลับเข้าสู่ท่าตรงพร้อมหายใจเข้า หมุนตัวไปทางขวาพร้อมหายใจออก กลับเข้าสู่ท่าตรงพร้อมหายใจเข้า ทำประมาณข้างละ 3-6 ครั้ง


ท่าที่ 7 ท่าเดินกำหนดลมหายใจ


เดินไปข้างหน้าช้าๆ หายใจออก นับ 1, 2, 3 หายใจเข้านับในใจ 4, 5, 6 เดินประมาณ 30-60 ก้าว


ท่าที่ 8 ท่าหายเหนื่อย


ท่านี้ทำเมื่อเกิดอาการเหนื่อยหลังจากออกกำลังกาย เช่น วิ่งหรือใช้แรงงานอื่นๆ เอามือเท้าโต๊ะหรือกำแพง เป่าลมออกทางปากช้าๆ หายใจเข้าทางจมูกให้เต็มปอด จนกระทั่งหายเหนื่อย



ที่มา  ::  https://www.doctor.or.th/article/detail/4892