Learn with Prin เรียนรู้ไปพร้อมกับน้องปริญญ์

จำหน่ายผลิตภัณฑ์ Legacy /Reborn Set ลด Fat ตัวช่วยลดไขมัน ลดน้ำหนัก แบบถูกวิธี 🔥 ติดต่อสอบถาม/สั่งซื้อ 📍 โทร ☎️ :: 084-110-5021 🌸 Line ID :: pla-prapasara 🌸 รับโปรโมชั่นสุดพิเศษเฉพาะทาง Line นะคะ 📍

วันศุกร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2564

พระประวัติเจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินบะระ พระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง แห่งสหราชอาณาจักร

 

พระประวัติเจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินบะระ พระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง แห่งสหราชอาณาจักร

Duke of Edinburgh

ที่มาของภาพ,TERRY O'NEILL

เจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินบะระ ทรงเป็นที่เคารพนับถืออย่างกว้างขวางในหมู่พสกนิกรและนานาประเทศ เนื่องมาจากการที่ทรงยืนหยัดเคียงข้างและร่วมทุกข์ร่วมสุขกับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง องค์พระประมุขแห่งสหราชอาณาจักรมาเป็นเวลายาวนาน แม้ฐานันดรศักดิ์ "พระราชสวามี" ที่ทรงได้รับนั้น จะไม่มีบทบาทตามรัฐธรรมนูญ แต่ไม่มีผู้ใดที่จะใกล้ชิดและมีความสำคัญต่อสมเด็จพระราชินีนาถยิ่งไปกว่าพระองค์อีกแล้ว

ทรงเผชิญความลำบากในวัยเยาว์

เจ้าชายฟิลิปแห่งกรีซประสูติเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 1921 ที่เกาะคอร์ฟู พระบิดาคือเจ้าชายแอนดรูว์แห่งกรีซ พระโอรสในกษัตริย์จอร์จที่หนึ่งแห่งกรีซ ส่วนพระมารดาคือเจ้าหญิงอลิซแห่งแบตเทนเบิร์ก พี่สาวของลอร์ด หลุยส์ เมาท์แบตเทน เอิร์ลเมาท์แบตเทนที่หนึ่งแห่งพม่า

หลังเกิดเหตุปฏิวัติในกรีซเมื่อปี 1922 พระบิดาของเจ้าชายฟิลิปทรงถูกเนรเทศและจำต้องเสด็จลี้ภัยไปประทับยังฝรั่งเศส เล่ากันว่าพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักรซึ่งเป็นพระญาติ ได้ส่งเรือรบอังกฤษมารับพระราชวงศ์กรีซเพื่อนำเสด็จออกนอกประเทศ โดยในครั้งนั้นเจ้าชายฟิลิปซึ่งยังทรงเป็นทารกต้องบรรทมมาในกล่องที่ใช้บรรจุส้มตลอดเส้นทาง

His mother Princess Alice was a great-granddaughter of Queen Victoria

ที่มาของภาพ,ROYAL COLLECTION

คำบรรยายภาพ,

เจ้าชายฟิลิป เป็นพระโอรสในเจ้าหญิงอลิซแห่งแบตเทนเบิร์ก พระราชปนัดดา (เหลน) ในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร

เจ้าชายฟิลิปทรงเริ่มเข้ารับการศึกษาในวัยเยาว์ที่ฝรั่งเศส แต่เมื่อพระชนมายุได้ 7 ชันษา ทรงย้ายมาประทับที่สหราชอาณาจักรภายใต้การดูแลของพระญาติฝ่ายพระมารดาที่หันมาใช้นามสกุลเป็นแบบอังกฤษว่า "เมาท์แบตเทน" ต่อมาทรงเข้าศึกษาที่โรงเรียนประจำกอร์ดอนสตูนในสกอตแลนด์ ซึ่งขึ้นชื่อว่ามีความเข้มงวดและเน้นการฝึกฝนให้นักเรียนมีนิสัยเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ นับว่าเหมาะกับเจ้าชายฟิลิปซึ่งในขณะนั้นทรงต้องแยกจากพระบิดาและพระมารดา ทั้งต้องทรงอยู่อย่างโดดเดี่ยวด้วยพระองค์เองเป็นส่วนใหญ่

พระประวัติเจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินบะระ

สู่เส้นทางอาชีพนายทหารเรือ

ขณะที่สงครามโลกครั้งที่สองกำลังจะปะทุขึ้น เจ้าชายฟิลิปได้ตัดสินพระทัยที่จะดำเนินรอยตามพระญาติทางฝ่ายพระมารดาหลายพระองค์ในเส้นทางอาชีพทหารเรือ โดยทรงเข้าศึกษาที่วิทยาลัยราชนาวีบริแทนเนียในเมืองดาร์ตมัธ ซึ่งที่แห่งนี้เองได้ทำให้พระองค์ทรงมีโอกาสเฝ้ารับเสด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 รวมทั้งพระราชธิดาพระองค์โตคือเจ้าหญิงเอลิซาเบธในวัย 13 พรรษา โดยเจ้าชายฟิลิปทรงเป็นผู้นำเสด็จเจ้าหญิงเอลิซาเบธทอดพระเนตรทั่วบริเวณวิทยาลัย ซึ่งได้สร้างความประทับใจแก่เจ้าหญิงผู้ทรงเป็นรัชทายาทอย่างยิ่ง

Philip (seated) thrived at Gordonstoun where he enjoyed amateur dramatics

ที่มาของภาพ,GETTY IMAGES

คำบรรยายภาพ,

เจ้าชายฟิลิป (นั่ง) ขณะศึกษาที่โรงเรียนประจำกอร์ดอนสตูนในสกอตแลนด์

เจ้าชายฟิลิปทรงสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยราชนาวีด้วยผลการเรียนดีเยี่ยมเป็นอันดับหนึ่งของรุ่นในปี 1940 จากนั้นได้เข้าประจำการในกองทัพเรืออังกฤษ โดยร่วมออกปฏิบัติการทางทหารครั้งแรกในมหาสมุทรอินเดีย ต่อจากนั้นทรงย้ายไปประจำการในเรือรบ HMS Valiant สังกัดกองเรือเมดิเตอร์เรเนียน และได้เข้าร่วมรบในสมรภูมิแหลมมาตาปาซ (Cape Matapan) ทางตอนใต้ของกรีซเมื่อปี 1941 ด้วย ในปีต่อมาเจ้าชายฟิลิปทรงได้เลื่อนตำแหน่งเป็นรองผู้บังคับการเรือรบที่มีอายุน้อยที่สุดคนหนึ่งแห่งราชนาวีอังกฤษ โดยประจำการในเรือพิฆาต HMS Wallace

The Duke of Edinburgh inspecting Canadian Sailors at Pirbright, 1953

ที่มาของภาพ,GETTY IMAGES

คำบรรยายภาพ,

เจ้าชายฟิลิปทรงมีอาชีพในกองทัพเรือที่โดดเด่น

อภิเษกสมรส

ในระหว่างที่เจ้าชายฟิลิปทรงประจำการในกองทัพเรือนั้น พระองค์และเจ้าหญิงเอลิซาเบธได้มีพระหัตถเลขาถึงกันอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองพระองค์คืบหน้าไปจนถึงขั้นที่เจ้าชายฟิลิปทรงได้รับเชิญให้เสด็จประทับร่วมกับพระบรมวงศานุวงศ์ในหลายโอกาส แม้จะมีข้าราชสำนักบางคนแสดงความไม่พอใจ เนื่องจากเห็นว่าเจ้าชายฟิลิปนั้นมีพระอุปนิสัยโผงผางและทรงไม่สงบเสงี่ยมเรียบร้อยนัก

Princess Elizabeth marries Philip Mountbatten

ที่มาของภาพ,PA

อย่างไรก็ตาม เจ้าชายฟิลิปได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระเจ้าจอร์จที่ 6 เพื่ออภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงเอลิซาเบธได้ในที่สุด โดยก่อนที่ทั้งสองพระองค์จะได้เข้าพิธีอภิเษกสมรสที่วิหารเวสต์มินสเตอร์ ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 1947 นั้น เจ้าชายฟิลิปต้องทรงสละสัญชาติกรีซและพระฐานันดรในราชวงศ์กรีซเสียก่อน เพื่อทรงเข้าเป็นพลเมืองอังกฤษ โดยในตอนแรกทรงใช้นามสกุล "เมาท์แบตเทน" ตามพระญาติฝ่ายพระมารดา แต่ก่อนวันอภิเษกสมรสหนึ่งวัน พระเจ้าจอร์จที่ 6 ได้พระราชทานพระยศ His Royal Highness แก่เจ้าชายฟิลิป และทรงแต่งตั้งให้เป็นดยุคแห่งเอดินบะระ เอิร์ลแห่งเมอเรียนเนธและบารอนกรีนิช ในวันต่อมา

The Duke of Edinburgh pays homage to his wife, the newly crowned Queen Elizabeth II, during her coronation ceremony, 1953

ที่มาของภาพ,GETTY IMAGES

วินสตัน เชอร์ชิล รัฐบุรุษคนสำคัญของอังกฤษกล่าวว่า การอภิเษกสมรสของทั้งสองพระองค์ ถือได้ว่าเป็น "ชั่วขณะแห่งสีสัน" ท่ามกลางบรรยากาศหดหู่หม่นหมองหลังสงครามของอังกฤษ พระโอรสองค์แรกของทั้งสองพระองค์คือเจ้าชายชาร์ลส์ (พระยศในขณะนั้น) ประสูติที่พระราชวังบักกิงแฮมในปีถัดมา

Prince Charles arrives at Gordonstoun

ที่มาของภาพ,GETTY IMAGES

คำบรรยายภาพ,

การที่สมเด็จพระราชินีนาถโปรดให้พระราชโอรสและพระราชธิดาทุกพระองค์ใช้ชื่อราชสกุล "วินด์เซอร์" ทำให้ดยุคแห่งเอดินบะระเสียพระทัยอย่างมาก เพราะเป็นผู้ชายคนเดียวในประเทศที่ไม่อาจให้ลูกใช้นามสกุลของตนได้

อำลาชีวิตทหารเรือ เพื่อเคียงข้างสมเด็จพระราชินีนาถ

แม้ในปี 1950 ดยุคแห่งเอดินบะระจะทรงประสบความสำเร็จในเป้าหมายที่ทหารเรือทุกคนใฝ่ฝัน โดยได้ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการเรือสลุป HMS Magpie ก็ตาม แต่ในปีต่อมา พระองค์กลับต้องทรงอำลาจากเส้นทางชีวิตทหารเรือที่ทรงรักมากไปตลอดกาล เมื่อพระพลานามัยของพระเจ้าจอร์จที่ 6 เริ่มเสื่อมถอยลงอย่างรวดเร็ว จนเจ้าหญิงเอลิซาเบธต้องทรงเป็นผู้รับภาระในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่าง ๆ แทนพระองค์ ซึ่งในการนี้ พระสวามีจำเป็นต้องประทับอยู่เคียงข้างองค์เจ้าหญิงรัชทายาทมากกว่าช่วงเวลาใด ๆ

Philip sits atop an elephant while visiting the Kanha Game Reserve today during his ten day tour of India with the Queen

ที่มาของภาพ,PA

คำบรรยายภาพ,

ดยุคแห่งเอดินบะระ ทรงสนับสนุนงานด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่าและธรรมชาติ ทรงอยู่เบื้องหลังความพยายามก่อตั้งกองทุนสัตว์ป่าโลก

ในปี 1952 เจ้าหญิงเอลิซาเบธและดยุคแห่งเอดินบะระทรงออกปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ในการเสด็จเยือนประเทศต่าง ๆ ในเครือจักรภพอังกฤษ โดยระหว่างที่ประทับอยู่ในประเทศเคนยา ข่าวร้ายเรื่องการเสด็จสวรรคตอย่างกะทันหันของพระเจ้าจอร์จที่ 6 ก็มาถึง ทำให้ดยุคแห่งเอดินบะระต้องทรงเป็นผู้แจ้งข่าวที่น่าโทมนัสอย่างยิ่งนี้แก่เจ้าหญิงเอลิซาเบธด้วยพระองค์เอง รวมทั้งต้องแจ้งข่าวสำคัญอีกเรื่องแก่พระชายาด้วยว่า บัดนี้ทรงเป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่ของสหราชอาณาจักรแล้ว

เมื่อพระชายาเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง ดยุคแห่งเอดินบะระทรงมีพระดำริใหม่ ๆ หลายเรื่องในอันที่จะทำให้สถาบันกษัตริย์อังกฤษมีความทันสมัยสอดคล้องกับสังคมยุคใหม่ แต่ก็ต้องพบกับการคัดค้านต่อต้านจากข้าราชสำนักเก่าแก่ที่ทรงอิทธิพล

พระองค์ยังไม่สามารถชักจูงให้สมเด็จพระราชินีนาถเปลี่ยนพระทัยให้พระราชโอรสธิดาใช้ชื่อสกุล "เมาท์แบตเทน" ของพระองค์ได้ โดยสมเด็จพระราชินีนาถโปรดให้พระราชโอรสและพระราชธิดาทุกพระองค์ใช้ชื่อราชสกุล "วินด์เซอร์" ซึ่งกรณีนี้ทำให้ดยุคแห่งเอดินบะระเสียพระทัยอย่างมาก จนถึงกับตรัสประชดว่าพระองค์เป็นเหมือนกับแค่อะมีบาตัวหนึ่ง เพราะเป็นผู้ชายคนเดียวในประเทศที่ไม่อาจให้ลูกใช้นามสกุลของตนได้

The Queen & Prince Philip in 1953

พระกรณียกิจเพื่อการกุศล

ดยุคแห่งเอดินบะระทรงมีความสนพระทัยในกิจการเพื่อเยาวชนมายาวนาน โดยในปี 1956 มีการก่อตั้งรางวัลดยุคแห่งเอดินบะระ (Duke of Edinburgh's Award - DofE ) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาตนเองของเยาวชนในสหราชอาณาจักรและในอีก 144 ประเทศทั่วโลก โดยจะมีการมอบรางวัลนี้ให้แก่เยาวชนทั่วไปและเยาวชนผู้พิการอายุ 15-25 ปี ที่เข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาตนเอง ทั้งในด้านการทำงานจิตอาสา ฝึกฝนเล่นกีฬาและทำกิจกรรมกลางแจ้ง รวมทั้งการฝึกทักษะอื่น ๆได้ครบตามกำหนด

ดยุคแห่งเอดินบะระตรัสกับบีบีซีว่า "ถ้าคุณสามารถทำให้คนหนุ่มสาวได้มีโอกาสประสบความสำเร็จในกิจกรรมด้านใดด้านหนึ่งแล้วละก็...ความรู้สึกที่สัมผัสได้ถึงความสำเร็จนั้นจะแผ่ขยายออกไปยังเยาวชนคนอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมากด้วย"

พระองค์ยังทรงสนับสนุนงานด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า รวมทั้งการพิทักษ์รักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยทรงอยู่เบื้องหลังความพยายามก่อตั้งกองทุนสัตว์ป่าโลก (World Wildlife Fund -WWF ) ซึ่งในปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wide Fund for Nature ) โดยทรงรับเป็นประธานกองทุนคนแรก

Queen Elizabeth and Prince Philip walk at Broadlands in Romsey, 2007

ที่มาของภาพ,PA

คำบรรยายภาพ,

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองมีพระราชดำรัสถึงพระราชสวามีซึ่งคอยสนับสนุนพระองค์ตลอดมาว่า "ท่านเป็นขุมพลังแข็งแกร่งที่ช่วยให้ข้าพเจ้ายืนหยัดอยู่ได้ในทุกวันนี้"

ผู้นำที่ยอมรับความเป็น "หมายเลขสอง" อย่างเข้มแข็ง

พระอุปนิสัยโผงผางตรงไปตรงมาของดยุคแห่งเอดินบะระ ทำให้หลายครั้งทรงถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงถ้อยคำไม่เหมาะสมที่ได้ตรัสออกมาในหลายโอกาส แต่ก็มีบางคนมองว่า พระอุปนิสัยดังกล่าวแสดงถึงความเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งจะไม่ยอมอ่อนข้อให้กับสิ่งใด แม้แต่กรอบการแสดงความเห็นที่ถือกันว่าถูกต้องทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม ดยุคแห่งเอดินบะระทรงลดพระอุปนิสัยแข็งกร้าวลงไปอย่างมากเมื่อมีพระชนมายุมากขึ้น ซึ่งอาจเนื่องมาจากปัญหาชีวิตสมรสที่ไม่ยั่งยืนของเหล่าพระโอรสธิดา และกระแสความไม่พอใจของสาธารณชนที่มีต่อราชวงศ์อังกฤษในช่วงหนึ่ง ซึ่งเกิดจากการสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงไดอานาแห่งเวลส์ ปัญหาเหล่านี้ทำให้ดยุคแห่งเอดินบะระต้องทรงเป็นผู้ปลอบโยนแสดงความเข้าใจต่อความทุกข์ของบรรดาพระราชวงศ์ รวมทั้งทรงทำหน้าที่ช่วยผลักดันให้สถาบันกษัตริย์แสดงบทบาทที่สอดคล้องลงตัวกับทัศนะของสังคมที่เปลี่ยนไป ตลอดช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา

ดยุคแห่งเอดินบะระตรัสว่า พระภารกิจหลักที่สำคัญใหญ่หลวงต่อพระองค์ที่สุดก็คือ "การทำให้สมเด็จพระราชินีนาถทรงครองราชย์ตราบยิ่งยืนนาน" แม้จะต้องทรงยอมรับบทบาทอย่างเป็นทางการที่ต้องตกเป็นรองพระชายาในทุกครั้งก็ตาม

ในวโรกาสทรงเฉลิมฉลองการอภิเษกสมรสครบรอบ 50 ปี สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองมีพระราชดำรัสถึงพระราชสวามีซึ่งคอยสนับสนุนพระองค์ตลอดมาว่า

"ท่านเป็นผู้ที่ไม่ยอมรับคำชมง่าย ๆ แต่ที่จริงแล้วท่านเป็นขุมพลังแข็งแกร่งที่ช่วยให้ข้าพเจ้ายืนหยัดอยู่ได้ในทุกวันนี้ ข้าพเจ้าและสมาชิกครอบครัวของท่านทั้งหมด รวมทั้งประเทศนี้และประเทศอื่น ๆ ต่างเป็นหนี้ต่อท่านมากยิ่งกว่าที่จะกล่าวอ้างหรือล่วงรู้ได้"

พระประวัติเจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินบะระ


CR  ::   https://www.bbc.com/thai/international-40530764