ราชวงศ์อังกฤษ : สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กับรายรับของควีน
24 มิ.ย. ราชวงศ์อังกฤษ เปิดเผยบัญชีรายจ่ายของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษในปีที่แล้ว
สมเด็จพระราชินีนาถทรงได้รับเงินมากแค่ไหนและรายได้ของพระองค์มาจากไหนบ้าง
รัฐบาล
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษ ทรงได้รับการถวายเงินรายได้ปีละครั้งจากรัฐบาล ซึ่งเรียกว่า เงินปีส่วนพระมหากษัตริย์ (Sovereign Grant)
ปีที่แล้ว เงินปีส่วนพระมหากษัตริย์อยู่ที่ 85.9 ล้านปอนด์ (ประมาณ 3,823 ล้านบาท) เทียบเท่ากับ 1.29 ปอนด์ (57.42) ต่อพลเมือง 1 คน ในสหราชอาณาจักร
เงินปีส่วนพระมหากษัตริย์ถูกใช้ไปด้านใดบ้าง
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และสมาชิกราชวงศ์อังกฤษ ทรงใช้เงินปีส่วนพระมหากษัตริย์สำหรับการปฏิบัติพระกรณียกิจทางการต่าง ๆ
นอกจากนี้ เงินนี้ยังครอบคลุมถึงค่าบำรุงรักษาพระราชวังต่าง ๆ ที่เป็นที่ประทับของสมาชิกราชวงศ์ ได้แก่
- พระราชวังบักกิงแฮม
- พระราชวังเซนต์เจมส์
- พระราชวังเคนซิงตัน
- โรงรถพระที่นั่งและคอกม้าที่พระราชวังแฮมป์ตันคอร์ต
- พระราชวังวินด์เซอร์
ปีที่แล้ว ค่าใช้จ่ายด้านพระกรณียกิจทางการ ค่าบำรุงรักษาพระราชวัง รวมถึงค่าจ้างพนักงานและค่าเดินทาง อยู่ที่ 51.5 ล้านปอนด์ (ประมาณ 2,292 ล้านบาท) ที่เหลืออีก 34.4 ล้านปอนด์ (ประมาณ 1,531 ล้านบาท) ถูกใช้ในการบูรณะพระราชวังบักกิงแฮมที่กำลังดำเนินการอยู่
เงินปีส่วนพระมหากษัตริย์มาจากไหน
การถวายเงินปีขึ้นอยู่กับผลกำไรของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (Crown Estate) ซึ่งเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่พระมหากษัตริย์อังกฤษทรงเป็นเจ้าของ แต่มีคณะผู้บริหารที่แยกเป็นอิสระ
ในจำนวนทรัพย์สินที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ถืออยู่รวมถึง ถนนรีเจนต์ (Regent Street) ใจกลางกรุงลอนดอน และสนามม้าแอสคอตในมณฑลเบิร์กเชียร์
สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อยู่ใต้การควบคุมของ คณะกรรมการบริหารชุดหนึ่งซึ่งมีหน้าที่หลักคือ รักษาและเพิ่มมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ทั้งหลาย "เพื่อประโยชน์ทางการเงินของชาติ"
ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไม่ใช่พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แต่เป็นของพระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์ขณะนั้น นั่นหมายความว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงไม่สามารถขายทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ออกไปเพื่อนำเงินไปเก็บไว้เป็นของส่วนพระองค์ได้
ประวัติของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
เดิมทีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์คือชื่อเรียกที่ดินที่พระมหากษัตริย์อังกฤษทรงเป็นเจ้าของ ย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยที่ชาวนอร์มันบุกอังกฤษเมื่อศตวรรษที่ 11
ในปี 1760 พระเจ้าจอร์จที่ 3 ทรงบรรลุข้อตกลงกับรัฐบาลในการยอมมอบรายได้ของพระองค์ที่มาจากสำนักงานทรัยพ์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้กับรัฐบาล เพื่อแลกกับการที่รัฐบาลถวายเงินรายปีในจำนวนคงที่แด่พระมหากษัตริย์ (และองค์รัชทายาทที่ครองบัลลังก์ต่อ) ซึ่งในสมัยก่อนเงินปีส่วนพระมหากษัตริย์รู้จักกันในภาษาอังกฤษว่า Civil List จากนั้นในปี 2010 จึงเปลี่ยนมาเรียกว่า Sovereign Grant
วิธีคำนวณเงินปีส่วนพระมหากษัตริย์
ตามปกติแล้ว สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง ทรงได้รับการถวายเงินจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในสัดส่วน 15% ของผลกำไรที่ได้มาในช่วง 2 ปีก่อนหน้า โดยรัฐบาลจะได้รับส่วนที่เหลือทั้งหมด
ในปีงบประมาณที่สิ้นสุดเมื่อปลาย มี.ค. 2020 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มีกำไร 345 ล้านปอนด์
ต่อมามีข้อตกลงว่า ตั้งแต่ปี 2017 พระองค์จะทรงได้รับเงินเพิ่มเป็น 25% เป็นเวลา 10 ปี เพื่อช่วยในการจ่ายค่าบูรณะพระราชวังบักกิงแฮมที่ต้องใช้ถึง 369 ล้านปอนด์
ถ้าในปีใดเงินปีส่วนพระมหากษัตริย์เหลือ เงินส่วนนี้จะถูกเก็บไว้ในกองทุนสำรอง โดยปีที่แล้ว มีการใช้เงินจากกองทุนสำรองนี้ 2.3 ล้านปอนด์ (ประมาณ 102 ล้านบาท) สำหรับการบูรณะพระราชวังบักกิงแฮม
จะเกิดอะไรขึ้นถ้าผลกำไรของสำนักงานทรัพย์สินฯลดลง
ถ้าสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีผลกำไรลดลง สมเด็จพระราชินีนาถจะยังทรงได้รับเงินจำนวนเท่าเดิมกับปีก่อนหน้า
นั่นหมายความว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง จะทรงได้รับเงินเกินกว่าสัดส่วน 25% ของผลกำไรของสำนักงานส่วนพระมหากษัตริย์ ที่ตกลงไว้
กฎนี้สร้างขึ้นตามกฎหมายที่เรียกว่า พระราชบัญญัติเงินปีส่วนพระมหากษัตริย์ 2011 (Sovereign Grant Act 2011)
ราชวงศ์ได้เงินจากทางไหนอีก
นอกจากเงินปีส่วนพระมหากษัตริย์แล้ว สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองยังคงมีรายได้ส่วนพระองค์จากพระคลังข้างที่ (Privy Purse) ของพระองค์ซึ่งจะมีการส่งต่อให้แก่พระมหากษัตริย์องค์ต่อไป
เงินส่วนนี้มาจากทรัพย์สินส่วนพระองค์อีกอย่างหนึ่งที่รู้จักกันในชื่อว่า สำนักงานจัดการลงทุนทรัพย์สินส่วนพระองค์แห่งแลงคาสเตอร์ (Duchy of Lancaster) ซึ่งครอบครองที่ดินกว่า 18,000 เฮกเตอร์ หรือ 112,500 ไร่ รวมถึงพื้นที่อย่างมณฑลแลงคาสเชียร์ และยอร์กเชียร์ และอสังหาริมทรัพย์ใจกลางกรุงลอนดอน
ในปีงบประมาณที่สิ้นสุดเมื่อเดือน มี.ค. 2020 สำนักงานจัดการลงทุนทรัพย์สินส่วนพระองค์แห่งแลงคาสเตอร์ ทำกำไรได้เพียง 23 ล้านปอนด์เศษ (ประมาณ 1,019 ล้านบาท)
นอกจากนี้สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองยังคงมีรายได้จากทรัพย์สินอื่น ๆ เช่น พระตำหนักซานดริงแฮม และพระตำหนักบัลมอรัล ซึ่งพระองค์ทรงถือครองเป็นการส่วนพระองค์
รัฐบาลระบุว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองทรงอาสาจ่ายภาษีจากรายได้ส่วนพระองค์และรายได้จากสำนักงานจัดการลงทุนทรัพย์สินส่วนพระองค์แห่งแลงคาสเตอร์
แล้วใครจ่ายค่า รปภ.
บางคนอาจจะโต้แย้งว่า ค่าใช้จ่ายที่แท้จริงของราชวงศ์สูงกว่านี้มาก เพราะว่าเงินปีส่วนพระมหากษัตริย์ไม่ได้ถูกใช้ในการรักษาความปลอดภัย ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มาจากสำนักงานตำรวจนครบาล (Metropolitan Police)
รีพับลิก (Republic) ซึ่งเป็นองค์กรที่รณรงค์ให้มีการเลือกตั้งประมุขแห่งรัฐ ประเมินว่า ค่าใช้จ่ายรายปีของสถาบันกษัตริย์อังกฤษ เมื่อคิดรวมค่าใช้จ่ายด้านการรักษาความปลอดภัยแล้วสูงกว่าเงินปีส่วนพระมหากษัตริย์ที่หลายเท่าตัว
อย่างไรก็ตาม องค์กรอีกหลายแห่ง อย่าง แบรนด์ ไฟแนนซ์ (Brand Finance) บริษัทที่ปรึกษา ระบุว่า ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาความปลอดภัยและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ถือว่ามีส่วนน้อยกว่าสิ่งที่สถาบันกษัตริย์ได้มีส่วนสร้างให้แก่เศรษฐกิจในแต่ละปี อย่าง การส่งเสริมการท่องเที่ยว
ที่มา :: https://www.bbc.com/thai/