รัชกาลที่ 9 บนหน้าสื่อต่างประเทศ
- ลอนดอน ปารีส และหมู่บ้านเล็กๆ อย่างปุยดูในเมืองโลซานน์ คือสามเมืองหลักที่ THE STANDARD หยิบยกเรื่องราวของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชครั้งเสด็จฯ เยือนประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป เมื่อปี 1960 เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการทูตของไทยและบรรดาชาติตะวันตก
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ด้วยพระราชจริยวัตรที่งดงามและพระอัจฉริยภาพทางด้านต่างๆ ที่เป็นเลิศ โดยเฉพาะด้านการต่างประเทศ จึงทำให้พระองค์ได้รับสมญานามว่าเป็น ‘พระมหากษัตริย์นักการทูต’ อย่างแท้จริง
ตลอดรัชสมัยของพระองค์ได้เสด็จฯ เยือนประเทศต่างๆ กว่า 28 ประเทศ และ 1 นครรัฐ โดยไล่เรียงจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามใต้ อินโดนีเซีย และเมียนมา ในช่วงปลายปี 1959 คาบเกี่ยวต้นปี 1960 ก่อนที่พระองค์จะเสด็จฯ เยือนต่างประเทศครั้งใหญ่ โดยเฉพาะประเทศในทวีปอเมริกาและทวีปยุโรปรวม 14 ประเทศ และ 1 นครรัฐวาติกันในช่วงเดือนมิถุนายน-พฤศจิกายน ปี 1960 เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยกับนานาชาติให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น
ต่อจากนี้คือเรื่องราวบางส่วนของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ถูกถ่ายทอดบนหน้าสื่อต่างประเทศ ขณะเสด็จฯ เยือนต่างประเทศพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เมื่อกว่า 60 ปีก่อนที่ THE STANDARD ขอหยิบยกมาเล่าสู่กันฟัง
เกาะอังกฤษ: ความประทับใจมิลืมเลือนครั้งเสด็จฯ เยือนอย่างเป็นทางการ
หนังสือพิมพ์ The Times ของเกาะอังกฤษ ฉบับวันที่ 20 กรกฎาคม ปี 1960 ได้รายงานข่าวการเสด็จฯ เยือนของพระมหากษัตริย์และพระราชินีของไทยอย่างเป็นทางการ โดยมีสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระคอยเฝ้ารับเสด็จฯ อย่างสมพระเกียรติ ก่อนที่ทั้งสี่พระองค์จะทรงรถม้ามุ่งหน้าสู่พระราชวังบักกิงแฮม พลเมืองชาวอังกฤษและบรรดาผู้เข้าเฝ้ารับเสด็จต่างเปล่งเสียง ‘ไชโย’ สดุดีต่อการเสด็จฯ เยือนของทั้งสองพระองค์อย่างกึกก้องตลอดสองข้างทาง
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีรับสั่งกับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และบรรดาแขกผู้มีเกียรติกว่า 160 คนในงานเลี้ยงต้อนรับพระราชอาคันตุกะ ณ พระราชวังบักกิงแฮม ใจความว่า
“ในประเทศของหม่อมฉัน บุคลิกลักษณะของคนอังกฤษได้รับความเคารพชื่นชมเป็นอย่างมากทั้งในเรื่องของความยุติธรรม ความมีชีวิตชีวา และความอดทน คุณลักษณะต่างๆ เหล่านี้ช่างมีเสน่ห์และน่าดึงดูด
“ด้วยเหตุนี้ เสด็จปู่ของหม่อมฉัน (รัชกาลที่ 5) จึงตัดสินพระทัยเลือกอังกฤษเป็นประเทศแรกที่จะส่งกลุ่มนักเรียนไทยมาศึกษายังต่างแดน ซึ่งนักเรียนไทยกลุ่มนี้ได้เลือกศึกษาในสาขาวิชาที่แตกต่างกันตามแต่ที่พวกเขาสนใจ โดยพวกเขาได้อุทิศตนให้แก่ความสมัยใหม่ ความก้าวหน้า และความเจริญวัฒนาที่ยังประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติของพวกเขาทุกคน”
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ได้ตรัสขอบคุณและทรงรู้สึกเป็นเกียรติที่ในหลวงและพระราชินีของไทยเสด็จเยือนในครั้งนี้ “หม่อมฉันยินดีต้อนรับฝ่าพระบาท (และพระราชินี) ในฐานะประเทศพันธมิตรเก่าแก่ของเรา ซึ่งไทยและสหราชอาณาจักรมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมาอย่างยาวนานหลายยุคหลายสมัย
“สนธิสัญญาแรกที่ทั้งสองประเทศมีต่อกันได้รับการลงนามมานานกว่า 130 ปี โดยเริ่มจากพ่อค้าชาวอังกฤษที่เดินทางไปยังแผ่นดินสยามในศตวรรษที่ 17 ก่อนจะเริ่มทำการค้าระหว่างกันจนความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศในวันนี้ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ในเฉพาะด้านการค้าอีกต่อไป”
ก่อนที่จะเสร็จสิ้นการเสด็จฯ เยือนสหราชอาณาจักร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระราชหัตถเลขาต่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ความตอนหนึ่งว่า “พระราชินีและหม่อมฉันไม่สามารถที่จะจากประเทศอังกฤษไปโดยมิได้แสดงความรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณและความชื่นชมยินดีต่อฝ่าพระบาท ความเป็นมิตรที่ฝ่าพระบาทและดยุกแห่งเอดินบะระ ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์และพสกนิกรชาวอังกฤษได้ทรงแสดงต่อหม่อมฉันและพระราชินีนั้นเป็นที่ประทับใจยิ่ง และจะคงอยู่ในความทรงจำของหม่อมฉันและพระราชินีเสมอมิลืมเลือน”
การเสด็จฯ เยือนสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการในครั้งนั้น นับเป็นจุดเริ่มต้นและหมุดหมายสำคัญที่ราชวงศ์ของทั้งสองประเทศ ซึ่งในระยะเวลาต่อมาได้รับการยกย่องให้เป็นพระมหากษัตริย์และสมเด็จพระราชินีนาถที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลกได้กระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันจวบจนถึงปัจจุบัน
ปารีส: เมื่อรักแรกพบของฉันเกิดขึ้นที่นี่
หนึ่งในมหาอำนาจตะวันตกที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ เยือนอย่างเป็นทางการคือฝรั่งเศส สื่อสิ่งพิมพ์ท้องถิ่นอย่าง France-Soir และ L’Aurore ฉบับเดือนตุลาคม ปี 1960 ได้บันทึกการเสด็จฯ เยือนในครั้งนั้นไว้อย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นบรรดาประชาชนผู้รอรับเสด็จ เมนูอาหาร ฉลองพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชินี รวมถึงเครื่องแต่งกายของประธานาธิบดีชาร์ล เดอ โกล และภริยา ขณะร่วมในงานเลี้ยงต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองของฝรั่งเศสที่จัดขึ้นอย่างสมพระเกียรติ ณ โรงโอเปราใจกลางกรุงปารีส
การเสด็จฯ เยือนฝรั่งเศสในครั้งนี้ไม่ได้เป็นเพียงการกระชับความสัมพันธ์อันดีของทั้งสองประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นการเน้นย้ำจุดยืนของไทยที่เชื่อมั่นในเสรีภาพและความเป็นประชาธิปไตย โดยเฉพาะในช่วงที่แนวความคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์เริ่มแพร่กระจายไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก (ไทยและฝรั่งเศสเป็น 2 ประเทศจากสมาชิกทั้งหมด 8 ประเทศขององค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ SEATO ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อป้องกันภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามเย็น)
นอกจากนี้ กรุงปารีสเองยังเป็นสถานที่สำคัญที่ทำให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช (พระอิสริยยศขณะนั้น) เมื่อพระชนมายุเพียง 20 พรรษา ได้มีโอกาสพบกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร บุตรสาววัย 15 ปีของเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีสเป็นครั้งแรก และสายสัมพันธ์ของทั้งสองพระองค์เริ่มต้นที่นี่
เพื่อนในกลุ่มน้อยคนนักที่จะทราบว่าสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดชกำลังมีความรู้สึกพิเศษกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ พระองค์หมั่นเอาใจและแสดงความรู้สึกอันดีต่อหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ผ่านบทกวีและบทเพลงที่พระองค์ทรงนิพนธ์ขึ้นเพื่อเธอโดยเฉพาะ หนึ่งในนั้นคือบทเพลง ‘ฉันเฝ้าฝันถึงเธอ’ (I Dream of You) ที่ใช้สะท้อนความรู้สึกทั้งหมดที่พระองค์มีต่อหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์
หลังจากนั้น 1 ปี สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดชประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์พระที่นั่งจนได้รับบาดเจ็บสาหัสและต้องพักรักษาพระวรกายอยู่เป็นเวลานาน ทั้งนี้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เองก็ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าเยี่ยมพระอาการของพระองค์อยู่บ่อยครั้ง จึงทำให้สายสัมพันธ์ของทั้งสองพระองค์ยิ่งใกล้ชิดแนบแน่นนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
สื่อท้องถิ่นของกรุงปารีสรายงานว่า ภายหลังจากพิธีการต่างๆ เสร็จสิ้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมักจะหามุมที่สวยงามถ่ายภาพและบันทึกวิดีโอของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ในพระอิริยาบถต่างๆ เสมอ
การเสด็จฯ เยือนฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการในครั้งนี้นอกจากจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ด้านการต่างประเทศแล้ว ยังช่วยทำให้ทั้งสองพระองค์รำลึกถึงความรู้สึกแรกพบที่เคยเกิด ณ มหานครแห่งนี้อีกด้วย
ปุยดู: หมู่บ้านเล็กๆ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงตอบรับ
อีกหนึ่งประเทศที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ เยือนอย่างเป็นทางการคือสวิตเซอร์แลนด์ ประเทศที่พระองค์เคยใช้เวลาส่วนใหญ่ในการศึกษาหาความรู้ในศาสตร์ต่างๆ จากสถานศึกษาของประเทศแห่งนี้จนถึงระดับอุดมศึกษา
สื่อสิ่งพิมพ์ท้องถิ่นของสวิตเซอร์แลนด์อย่าง Feuille d’Avis de Lausanne Magazine ฉบับเดือนพฤศจิกายน ปี 1960 โดย Jean-Pierre Krauer ได้ถ่ายทอดเรื่องราวอันน่าประทับใจเมื่อครั้งทั้งสองพระองค์เสด็จฯ เยือนหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งในเมืองโลซานน์ ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของประชาชนและผู้นำท้องถิ่นในหมู่บ้านปุยดู (Puidoux) ซึ่งการเสด็จฯ เยือนในครั้งนี้อยู่นอกเหนือหมายกำหนดการที่พระองค์ทรงวางเอาไว้ และทำให้ประชาชนในหมู่บ้านที่ทราบข่าวต่างรู้สึกปลื้มปีติยินดีต่อการเสด็จฯ เยือนของในหลวงและพระราชินีของไทยเป็นอย่างมาก และเร่งจัดพิธีการต้อนรับทั้งสองพระองค์อย่างสมพระเกียรติที่สุดเท่าที่หมู่บ้านเล็กๆ ในเมืองโลซานน์จะทำได้
เมื่อเวลาสำคัญมาถึง ประชาชนที่อยู่ริมหน้าต่างเหนือจัตุรัสต่างร้องตะโกนส่งสัญญาณบอกให้ทุกคนเตรียมตัวให้พร้อมว่า “ในหลวงและพระราชินีเสด็จฯ แล้ว” ก่อนที่ดนตรีพื้นบ้านจะเริ่มบรรเลง ขนมปังลูกเกดและไวน์ชั้นเลิศถูกนำมาทูลเกล้าฯ ถวายให้แก่ทั้งสองพระองค์ คนในหมู่บ้านต่างทยอยมาเฝ้ารับเสด็จกันเป็นจำนวนมาก เด็กๆ ต่างแข่งกันเบียดตัวเข้าไปในฝูงชนเพื่อยลพระพักตร์ของทั้งสองพระองค์ หนึ่งในเด็กชายคนหนึ่งร้องตะโกนว่า “ซูเนียร์ เธอขยับไปหน่อย พวกเราจะได้มองเห็น” โดยครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงใช้เวลาประทับอยู่ที่หมู่บ้านแห่งนี้นานกว่า 1 ชั่วโมง 20 นาที ซึ่งมากกว่ากำหนดการเดิมที่วางไว้ถึง 45 นาที
การตอบรับคำกราบบังคมทูลเชิญของผู้นำหมู่บ้านเล็กๆ ในปุยดูสะท้อนถึงความใส่ใจที่ทั้งสองพระองค์มีต่อประชาชนในทุกระดับ ส่งเสริมภาพลักษณ์และการรับรู้ของผู้คนทั่วโลกเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น และระบอบการเมืองของไทยที่มีเสถียรภาพและความมั่นคง
27 ปีที่ว่างเว้นจากการเสด็จฯ เยือนต่างประเทศ และเหตุผลที่ไม่ทรงเสด็จฯ ไปเยือนต่างแดนอีกเลย
กลางปี 1967 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จฯ เยือนประเทศแคนาดาอย่างเป็นทางการ ก่อนที่จะว่างเว้นจากการเดินทางไกลไปเกือบ 27 ปี ซึ่งการเสด็จฯ เยือนต่างประเทศครั้งสุดท้ายของพระองค์มีขึ้นในปี 1994 เพื่อร่วมพิธีเปิดสะพานมิตรภาพไทย-ลาว สะพานแรกสุดที่เชื่อมพรมแดนของทั้งสองประเทศเข้าด้วยกัน พร้อมด้วยนายหนูฮัก พูมสะหวัน ประธานประเทศลาวขณะนั้น
เหตุผลสำคัญที่ทำให้พระองค์มิได้เสด็จฯ เยือนต่างประเทศบ่อยครั้งเหมือนช่วงก่อนหน้า อาจจะเป็นเพราะเสียงของราษฎรคนหนึ่งที่เคยตะโกนว่า “ในหลวง อย่าทิ้งประชาชน” ครั้งที่พระองค์จะเสด็จฯ กลับไปศึกษาต่อยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์ยังคงดังกึกก้องอยู่ในพระราชหฤทัยของพระองค์เสมอมา พร้อมทั้งปฏิบัติตามคำมั่นที่พระองค์ให้ไว้กับประชาชนว่า “ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนอย่างไรได้”
และถึงแม้ว่านับตั้งแต่ปี 1994 พระองค์จะมิเคยเสด็จฯ เยือนต่างประเทศอีกเลย แต่การเป็นพระมหากษัตริย์นักการทูตของพระองค์ยังไม่ได้สิ้นสุดลงตามไปด้วย โดยตลอดรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงต้อนรับพระราชอาคันตุกะจำนวนมากที่เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ พร้อมกันนี้ยังโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จฯ แทนพระองค์ในการเสด็จฯ เยือนต่างประเทศในวาระโอกาสที่สำคัญต่างๆ อีกด้วย
Photo: AFP
CR :: https://thestandard.co/kingrama9-in-international-media/