คู่มือการดำรงชีพในสหรัฐอเมริกา
ความรู้เกี่ยวกับหนังสือเดินทาง วีซ่า และ I-20/DS-2019
ทันทีที่ทราบว่าจะต้องเดินทางมาศึกษา ณ สหรัฐอเมริกา เราคงจะตื่นเต้น ดีใจ หลังจากนั้นคงจะเริ่มวิตกกังวลว่า จะต้องทำอะไร และต้องเตรียมอะไรบ้าง แต่เราอย่าเพิ่งตกอกตกใจ ขอให้มาเริ่มต้นศึกษากัน ว่าต้องเตรียมอะไร และควรจะเรียนรู้เรื่องอะไรกันบ้าง
เอกสารหลักที่ต้องใช้ในการเดินทางเข้า/ออก และอยู่ในสหรัฐฯ อย่างถูกต้องตามกฎหมาย มี 3 ฉบับ ด้วยกัน คือ หนังสือเดินทาง (Passport) วีซ่าสหรัฐฯ (US Visa) และ หนังสือ I-20/DS-2019.
- หนังสือเดินทาง (Passport) คือ เอกสารที่ออกโดยรัฐบาลไทย ที่เราต้องใช้ทุกครั้งในการเดินทางเข้าหรือออกนอกประเทศ และหนังสือเดินทางจะต้องมีอายุเหลือไม่น้อยกว่า 6 เดือนนับจากวันที่เดินทาง
- วีซ่าสหรัฐฯ (US Visa) คือ ตราประทับในหนังสือเดินทาง ออกโดยสถานทูต/กงสุลสหรัฐฯ ซึ่งระบุช่วงเวลาที่อนุญาตให้เราผ่านเข้าสหรัฐฯ วีซ่ามีหลายประเภท เช่น ประเภทนักท่องเที่ยว นักเรียน ฯลฯ
สำหรับวีซ่านักเรียน (Student Visa) มี 3 ประเภทหลัก ๆ คือ- F-1 โดยทั่วไป เป็นวีซ่าที่ออกให้นักเรียนทุนส่วนตัว หรือนักเรียนที่ไม่มีข้อผูกพันที่ต้องเดินทางกลับประเทศบ้านเกิดหลังสำเร็จการศึกษาหรือฝึกอบรม
- J-1 คือ วีซ่าสำหรับผู้ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ซึ่งเมื่อสำเร็จการศึกษา/ฝึกอบรมตามที่ระบุใน DS-2019 แล้ว มีภาระผูกพันที่จะต้องเดินทางกลับประเทศบ้านเกิด
- M-1 คือวีซ่าสำหรับนักเรียนสายวิชาชีพ
- I-20/DS-2019 คือ หนังสือที่ออกโดยสถานศึกษาที่ตอบรับให้นักเรียนเข้าศึกษา เป็นหนังสือแสดงการได้รับอนุญาตให้อยู่ในสหรัฐฯ ตลอดระยะเวลาที่ศึกษาตามหลักสูตร หนังสือนี้ต้องมีอายุตลอดระยะเวลาที่ศึกษา (หลังจากเดินทางเข้าสหรัฐฯ แล้ว นักเรียนจะต้องเก็บสำเนาไว้)
หมายเหตุ
- เฉพาะผู้ถือวีซ่านักเรียน F-1/J-1 เท่านั้น ที่ระยะเวลาการอยู่ในสหรัฐฯ อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ขึ้นอยู่กับ I20/DS-2019 ดังนั้น แม้วีซ่า F-1/J-1 จะขาดอายุ ก็ไม่เป็นผลให้นักเรียนอยู่อย่างผิดกฏหมายตราบใดที่นักเรียนยังลงทะเบียนเรียนเต็มเวลา อย่างไรก็ตาม มีข้อพึงปฏิบัติสำหรับนักเรียนผู้ถือวีซ่าขาดอายุ ซึ่งเดินทางออกนอกสหรัฐฯ ดังนี้
- หากประสงค์จะเดินทางกลับเข้าสหรัฐฯ อีกครั้ง จะต้องต่ออายุวีซ่าที่ประเทศบ้านเกิด (ประเทศไทย) ให้เรียบร้อยก่อน
- หากประสงค์จะไปทัศนศึกษาประเทศอื่นระหว่างการเดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านที่ประเทศไทย ให้ต่ออายุวีซ่าสหรัฐฯ ที่ประเทศไทยก่อน แล้วค่อยแวะไปทัศนศึกษาระหว่างทางขากลับเข้าสหรัฐฯ อย่าไประหว่างทางขากลับไปประเทศไทย เพราะนักเรียนจะไม่ได้รับอนุญาตเข้าประเทศที่จะไปทัศนศึกษา เนื่องจากวีซ่าสหรัฐฯ ขาดอายุ
- นักเรียนทุนรัฐบาลที่ต้องเปลี่ยนสถานภาพของวีซ่า จาก F-1 เป็น J-1 จะต้องไปยื่นคำขอวีซ่า J-1 ตามหนังสือ DS-2019 ที่สถานกงสุลสหรัฐฯ ในประเทศไทย หากตราประทับวีซ่านักเรียนเป็นประเภทที่ไม่ตรงตามหนังสือ DS-2019 ที่สถานศึกษาออกให้ นักเรียนอาจไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าสหรัฐฯ
- สำหรับนักเรียนทุน ก.พ.และทุนส่วนราชการ ที่มาศึกษาระดับอุดมศึกษา ให้แจ้งสถานศึกษาที่ตอบรับให้ออก DS-2019 ให้ ส่วนนักเรียนทุนรัฐบาลที่มาศึกษาระดับมัธยมศึกษา ให้แจ้งสถานศึกษาออก I-20 ให้ เนื่องจากสถานศึกษาระดับมัธยมศึกษาไม่มี J-1 Program (ไม่ออก DS-2019)
- ให้เก็บสำเนาเอกสารหนังสือเดินทาง วีซ่า I-20/DS-2019 ไว้ในโทรศัพท์มือถือ หรือส่งอีเมลให้ตนเองเผื่อกรณีเอกสารตัวจริงสูญหาย
- จดวันที่หนังสือเดินทาง วีซ่า หรือ I-20/DS-2019 จะหมดอายุไว้ และจดวันที่จะต้องยื่นขอต่ออายุ ซึ่งควรเป็นก่อนวันที่หมดอายุอย่างน้อย 3-6 เดือน และให้ยื่นคำขอตามวันที่จดบันทึกไว้
- สำหรับผู้ถือวีซ่านักเรียน ต้องลงทะเบียนเรียนแบบ Full-Time (ยกเว้นภาคการศึกษาสุดท้ายก่อนสำเร็จการศึกษา และภาคฤดูร้อน) เพื่อรักษาสถานภาพของวีซ่า
การเตรียมเอกสารสำคัญ
- หนังสือเดินทาง ให้ไปขอทำหนังสือเดินทาง ณ กระทรวงการต่างประเทศให้เรียบร้อย สำหรับนักเรียนทุนรัฐบาล (นทร.) นั้น สำนักงาน ก.พ.จะมีหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศ ขอความอนุเคราะห์การออกหนังสือเดินทางชนิดยกเว้นค่าธรรมเนียม (แบบฟอร์ม ขั้นตอนการขอทำหนังสือเดินทาง และเอกสารประกอบคำขอ ให้ศึกษาได้จากเวปไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศ www.mfa.go.th)
- วีซ่า เมื่อได้หนังสือเดินทางแล้ว ให้ศึกษาขั้นตอนการขอวีซ่าจากสถานกงสุลสหรัฐฯ ได้ที่ http://bangkok.usembassy.gov/niv_howtoapply.html
- เอกสารสำคัญอื่น ที่ควรจะนำติดตัวมาสหรัฐฯ ด้วย เช่น ใบปริญญาบัตร หรือ transcriptการศึกษา ใบเกิด ใบแสดงการปลูกฝี ฉีดยา และหากเดินทางพร้อมคู่สมรส ควรนำหลักฐานทะเบียนสมรสติดตัวมาด้วย โดยเอกสารที่นำติดตัวมานี้ ให้นำไปแปลเป็นภาษาอังกฤษยังสถาบันที่ได้ผ่านการรับรองอย่างถูกต้องตามกฎหมายให้เรียบร้อย เพราะเมื่อเดินทางผ่านด่านตรวจทางเจ้าหน้าที่อาจสงสัยและขอเอกสารเพื่อจะตรวจสอบ จึงควรจะเตรียมเอกสารต้นฉบันและฉบับแปลภาษาอังกฤษมาให้พร้อมเพื่อง่ายต่อความเข้าใจและการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่
หมายเหตุ
ให้เก็บรักษาหนังสือเดินทางและวีซ่าอย่างดี และเพื่อความรอบคอบ ให้ถ่ายเอกสารหน้าที่มีรูปตัวเราติดอยู่และหน้าที่ได้ประทับตราอนุญาตให้เดินทางเข้าออกสหรัฐฯ เก็บไว้แยกจากตัวหนังสือเดินทาง
การเตรียมความพร้อม
เมื่อเราจะต้องเดินทางมาศึกษา และดำรงชีวิตอยู่ในสหรัฐอเมริกา เราต้องเตรียมความพร้อมอย่างน้อย 5 ด้าน คือ
- ด้านภาษา โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ต้องอ่านออก เขียนได้ พูดคล่อง ฟังได้เข้าใจ และขอให้นำพจนานุกรมภาษาอังกฤษ-ไทย และไทย-อังกฤษ ติดมาด้วย หรือหาแหล่ง download โปรแกรมดิกชั่นนารีอังกฤษ-ไทย หรือหาเวปไซต์ที่ให้บริการหาคำศัพท์ทางพจนานุกรมมาด้วย พจนานุกรมควรมี 2 ประเภท คือ พจนานุกรมศัพท์ทั่วไป และพจนานุกรมศัพท์เฉพาะในสาขาหรือแวดวงวิชาการที่จะมาศึกษาต่อที่สหรัฐฯ
- ด้านพื้นฐานการศึกษาในสาขาที่จะมาศึกษาต่อ ต้องเตรียมให้แน่น อ่านศึกษาค้นคว้ามาก่อนได้ยิ่งดี เพราะเราต้องแข่งกับคนอเมริกันซึ่งมีความพร้อมทั้งด้านเนื้อหาและภาษา
- ด้านค่าใช้จ่าย ในกรณีของนักเรียนทุนรัฐบาล รัฐจะรับภาระในเรื่องนี้ให้ ในขณะที่นักเรียนทุนส่วนตัว ต้องเตรียมกันเงินไว้พอสมควร เพราะค่าใช้จ่ายในการศึกษาในสหรัฐฯ ตกประมาณ 1-2 ล้านบาท/ปี
- ด้านสภาพร่างกาย หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ กินอาหารที่เป็นประโยชน์ และควรตรวจสภาพร่างกาย ตรวจสุขภาพฟัน และถ้าพบว่ามีปัญหา ก็ให้รักษาให้เรียบร้อยก่อนเดินทาง โดยเฉพาะฟัน ให้ทำหรือรักษาจากเมืองไทยให้เรียบร้อยก่อน เพราะค่าใช้จ่ายในการทำหรือรักษาฟันในสหรัฐฯ แพงมาก
- ด้านสภาพจิตใจ การห่างไกลจากครอบครัว คนรัก คนที่ห่วงใย เป็นปัญหาสำคัญที่บั่นทอนความสามารถในการศึกษามาก จึงควรเตรียมสภาพจิตใจให้พร้อม ปัจจุบันการติดต่อกันข้ามทวีปทำได้ง่าย สะดวก และถูกกว่าในอดีตมาก มีปัญหาหนักใจอย่างไร ควรติดต่อกับพ่อแม่ ญาติพี่น้องหรือคนรัก อย่าเก็บอัดอั้นตันใจไว้คนเดียว และขอแนะนำให้ติดต่อกับทางบ้านที่เมืองไทยผ่านบริการ Social Network เพราะถูกกว่าการติดต่อผ่านโทรศัพท์มาก หลายแห่งให้บริการฟรี สามารถคุยและเห็นหน้ากันผ่าน web cam แก้เหงา บรรเทาความคิดถึงได้
หมายเหตุ
ในบรรดาความพร้อมทั้ง 5 ประการข้างต้น ด้านสภาพจิตใจและร่างกายสำคัญที่สุด ขอให้เตรียมความพร้อมมาให้ดี หากมีปัญหา ให้ปรึกษาอาจารย์ที่ปรึกษา เจ้าหน้าที่ซึ่งรับผิดชอบดูแลนักเรียนต่างชาติ พ่อแม่ เพื่อนสนิทใกล้ชิด ตลอดจนเจ้าหน้าที่ สนร.
การเตรียมปรับตัว
ให้ศึกษาสถานที่ตั้งของสถานศึกษา ภูมิประเทศและสภาพดินฟ้าอากาศของเมืองที่สถานศึกษาตั้งอยู่ คาบเวลาของเมือง/รัฐที่อยู่ (สหรัฐฯ แบ่งเป็น 6 คาบเวลาหรือ time zone) ภาวะการครองชีพและค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อปีการศึกษา ระบบการเรียนการสอนของสถานศึกษา (ระบบการเรียนการสอนของสหรัฐฯ ต่างจากของไทยมาก เป็นระบบที่ต้องพึ่งตัวเองสูง การมีส่วนร่วมในชั้นเรียนมีความสำคัญต่อผลการศึกษาเป็นอย่างมาก) คณาจารย์ผู้สอน โดยเฉพาะในกรณีที่มาศึกษาต่อระดับปริญญาเอก
การศึกษาอาจทำผ่านทางเวปไซต์ของสถานศึกษา เวปไซต์เมือง/รัฐที่สถานศึกษาตั้ง สอบถามจากผู้รู้ หรือจากนักเรียนไทยผู้ซึ่งกำลังศึกษาอยู่หรือสำเร็จการศึกษาไปแล้ว
หมายเหตุ
- วันแรกที่มาถึง คนไทยส่วนใหญ่จะมีปัญหาการปรับตัวกับเวลาที่ต่างกัน (Jet Lag) อยู่บนเครื่องบิน อย่าทานของมึนเมา เมื่อมาถึง ขอให้ฝืนตนเอง พยายามนอนให้ตรงกับเวลาของท้องถิ่น อย่านอนตรงกับเวลาของประเทศไทย บางท่านอาจใช้เวลาปรับตัวเพียงวันสองวัน บางท่านอาจเป็นสัปดาห์
- สภาพอากาศในหลายรัฐค่อนข้างทารุณมาก หนาว หนาวจัด ร้อน ร้อนจัด จึงต้องเตรียมสภาพร่างกายให้แข็งแรง ในกรณีที่เดินทางมาถึงในหน้าหนาว ให้เตรียมเสื้อผ้ากันหนาวให้พร้อมอย่างน้อยหนึ่งชุด ใส่ไว้ในกระเป๋าที่ถือติดตัว (Carry-On Bag) เพื่อจะได้หยิบมาสวมใส่ได้ทันทีเมื่อเครื่องบินลง อย่าใส่ในกระเป๋าที่ต้องถ่ายเข้าท้องเครื่องบิน (Luggages)
ควรสอบถาม สนร.หรือเจ้าหน้าที่ดูแลนักเรียนต่างชาติ (International Office Advisor) ของสถานศึกษาก่อนว่า มีนักเรียนไทยผู้กำลังศึกษาอยู่ในสถานศึกษาเดียวกับท่านหรือไม่ มีชมรมนักเรียนไทยในสถานศึกษาของไทยหรือไม่ และขอช่องทางติดต่อนักเรียนไทยผู้กำลังศึกษาอยู่ได้อย่างไร
การเตรียมเงินใช้จ่าย
ควรพกเงินสดติดตัว $200-$500 เพื่อใช้จ่ายระหว่างเดินทางและใช้จ่ายสองสามวันแรกที่เดินทางถึง ธนบัตรที่พกติดตัวควรเป็นธนบัตรย่อย ใบละเหรียญ ห้าเหรียญ สิบเหรียญ ไม่ควรเป็นอย่างยิ่งที่จะพกเงินสดติดตัวมาก เงินค่าใช้จ่ายรายการสำคัญ ๆ เช่น เงินค่าเล่าเรียน ค่ามัดจำที่พัก ควรจะซื้อเป็น draft หรือ traveler check หากสูญหาย จะได้สามารถสั่งอายัติได้
หมายเหตุ
- อย่าพกเงินสดไทยจำนวนมากเพื่อมาแลกเงินดอลล่าร์ในสหรัฐฯ เพราะหาที่แลกยาก หากหาได้ ก็เสียเปรียบอัตราแลกเปลี่ยนมาก ให้พกเงินไทยเท่าที่จำเป็น เช่น กันไว้สำหรับค่าแท็กซี่ระหว่างสนามบินกับบ้านในยามกลับไปเยี่ยมบ้าน
- หากเป็นไปได้ ขอให้ทำบัตร ATM จากธนาคารในเมืองไทย ประเภทที่สามารถเบิกเงินดอลล่าร์จากบัญชีเงินฝากในประเทศไทยผ่านตู้ ATM ในสหรัฐฯ ได้ เผื่อผู้ปกครองนำเงินเข้าบัญชีฯ ให้ท่านเบิกเมื่อถึงคราวจำเป็น
การเลือกวันเดินทางและเส้นทางการเดินทาง
- ควรเดินทางถึงสถานศึกษาก่อนวันเปิดภาคเรียนเล็กน้อย (โดยเฉพาะนักเรียนต่างชาติ)เพื่อให้ทันการลงทะเบียน (Registration) และเข้าร่วมฟังการบรรยาย (Campus Orientation) ที่ทางสถานศึกษาจัดไว้สำหรับนักศึกษาใหม่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการปรับตัวและสร้างความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมที่แปลกใหม่ และใช้เวลาช่วงนี้ทำความรู้จักกับเพื่อนชาวต่างชาติได้ (ตามระเบียบที่ใช้ในปัจจุบัน นักเรียนต่างชาติซึ่งเป็นนักเรียนใหม่ จะเดินทางเข้าประเทศสหรัฐฯ ก่อนสถานศึกษาเปิดภาคการศึกษาได้ไม่เกิน 30 วัน)
- ให้ติดต่อและขอคำแนะนำจากสถานศึกษาหรือเจ้าหน้าที่ดูแลนักเรียนต่างชาติของสถานศึกษา (International Student Advisor) เกี่ยวกับข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น ชื่อสนามบินที่ใกล้สถานศึกษาที่สุด (กรณีเดินทางโดยรถไฟหรือรถประจำทาง หรือต้องต่อรถไฟหรือรถประจำทางหลังจากลงสนามบินแล้ว ก็ให้สอบถามสถานีรถไฟหรือสถานีรถประจำทางที่อยู่ใกล้ที่สุด) ช่วงวันและเวลาที่เหมาะสมในการเดินทาง ฯลฯ
- ให้แจ้งกำหนดวันเวลาเดินทาง ชื่อสายการบิน หมายเลขเที่ยวบิน ให้ผู้ที่จะเดินทางมารับท่านทราบ ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ดูแลนักเรียนต่างชาติ (ISA) ของสถาบันศึกษา เป็นผู้รับท่านที่สนามบิน ก็ให้แจ้ง ISA ทราบ และเมื่อใกล้ถึงวันเดินทาง ควรแจ้งยืนยันอีกครั้งเพื่อกันความคลาดเคลื่อนที่อาจเกิดขึ้นได้
หมายเหตุ
- ถ้าเป็นไปได้ให้หลีกเลี่ยงการเดินทางในช่วงวันหยุด โดยเฉพาะช่วงวันหยุดต่อเนื่อง เพราะอาจเกิดความไม่สะดวก เกิดปัญหาติดขัดได้ และอาจเกิดความยากลำบากในการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของสถานศึกษาหรือเจ้าหน้าที่ของทางการไทย ในกรณีที่ท่านประสบปัญหาที่คาดไม่ถึง (ข้อมูลวันหยุดราชการของสหรัฐฯ หาได้จาก https://www.opm.gov/policy-data-oversight/pay-leave/federal-holidays/ ส่วนวันหยุดของสถานทูตไทยในสหรัฐฯ ศึกษาได้จาก www.thaiembdc.org)
- เลือกเวลาที่บินถึงจุดหมายปลายทาง อย่าให้ดึกมาก ไม่ควรเกิน 18.00 น. เพราะต้องเผื่อเวลาสำหรับการเดินทางจากสนามบินไปยังสถานศึกษาหรือที่พักด้วย
- ให้เผื่อเวลาสำหรับการเปลี่ยนจากเที่ยวบินระหว่างประเทศ เป็นเที่ยวบินภายในประเทศอย่างน้อย 3 ชั่วโมง เพราะกระบวนการตรวจสอบกระเป๋าเดินทาง วีซ่า อาวุธ และอื่น ๆ ใช้เวลานาน ประกอบจำนวนคนที่เดินทางเข้าประเทศสหรัฐฯ ในแต่ละวันมีมาก
- หากนักเรียนนัดให้เจ้าหน้าที่ของสถานศึกษา หรือผู้อื่นมารอรับที่สนามบิน ขอให้แจ้ง วันและเวลาที่จะเดินทางถึง, ชื่อและหมายเลขสายการบิน และเมืองสุดท้ายที่เครื่องบินแวะจอด ถ้าคนรับเป็นคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ให้ขอรูปถ่ายหรือขอทราบรูปพรรณสัณฐาน หรือเสื้อผ้าที่ใส่ในวันมาถึง เพื่อจะไม่ได้คลาดกัน และอย่าลืมขอหมายเลขโทรศัพท์มือถือของผู้มารับด้วย เผื่อคลาดกัน จะได้ติดต่อกันได้
การซื้อตั๋วโดยสารเครื่องบิน
- มีหลายวิธี อาจซื้อกับสายการบินโดยตรง หรืออาจติดต่อซื้อผ่านตัวแทนจำหน่าย โดยปกติแล้ว วิธีที่สะดวกและประหยัดสุด คือ ซื้อผ่านตัวแทนจำหน่าย เนื่องจากตัวแทนจำหน่ายสามารถช่วยเปรียบเทียบราคา เส้นทางการบิน หรือข้อจำกัดอื่นๆของแต่ละสายการบิน นอกจากนี้ ตัวแทนจำหน่ายส่วนใหญ่จะมีความเชี่ยวชาญในการให้คำแนะนำเกี่ยวกับวันและเวลาเดินทางที่เหมาะสม อีกทั้งยังอาจช่วยอำนวยความสะดวกแก่เราบางอย่าง เช่น การเลือกที่นั่ง การส่งสัมภาระเพิ่มเติม เป็นต้น ขอให้ติดต่อกับตัวแทนจำหน่ายหลายแห่งและเปรียบเทียบ และเลือกซื้อจากผู้ที่ให้ประโยชน์เราสูงสุด
- สำหรับนักเรียนทุนรัฐบาล เมื่อนักเรียนกำหนดวันเดินทางและกรอกรายละเอียดในแบบฟอร์มที่กำหนดแล้ว สำนักงาน ก.พ. จะเป็นผู้ซื้อตั๋วโดยสารเครื่องบินให้
จำนวนและขนาดกระเป๋าเดินทาง
- แต่ละสายการบินจะมีนโยบายเรื่องจำนวนและขนาดกระเป๋าที่แตกต่างกันตามประเภทของชั้นผู้โดยสาร โดยปกติ ผู้โดยสารชั้นหนึ่ง (First Class) จะได้สิทธินำกระเป๋าขึ้นเครื่องโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มมากกว่ากับผู้โดยสารชั้นธุรกิจ (Business Class) ในทำนองเดียวกัน ผู้โดยสารชั้นธุรกิจก็ได้สิทธิมากกว่าผู้โดยสารชั้นประหยัด (Economy Class)
- โดยทั่วไป ผู้โดยสารชั้นประหยัดเที่ยวบินระหว่างสหรัฐฯ และไทย มีสิทธินำกระเป๋าขึ้นเครื่องโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ดังนี้
- กระเป๋าใบใหญ่ (Luggages) ที่เก็บไว้ในท้องเครื่องบิน ไม่เกิน 2 ใบต่อคน แต่ละใบต้องมีน้ำหนักไม่เกิน 20 กิโลกรัม (44 ปอนด์)
- กระเป๋าถือ (Carry-On Bag) 1 ใบ ขนาดกว้าง ยาว หนารวมกันไม่เกิน 45 นิ้ว (ขนาดมาตรฐานทั่วไป คือ 22 x 14 x 9)
- ของกระจุกกระจิกส่วนตัว ที่อนุญาตให้ถือขึ้นเครื่อง ได้แก่ กระเป๋าเอกสาร (Briefcase) กล้องถ่ายรูป กล้องวีดิโอ กระเป๋าถือสุภาพสตรี กระเป๋าคอมพิวเตอร์ หนังสือหรือเอกสารสิ่งพิมพ์ เป็นต้น
หมายเหตุ
- ขอให้ตรวจสอบกับสายการบิน ก่อนจัดเตรียมกระเป๋าเดินทาง เพราะจำนวน ขนาด และน้ำหนักของกระเป๋าข้างต้นอาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ขึ้นกับสายการบิน เที่ยวบิน และชั้นผู้โดยสาร
- ให้คำนึงถึงขีดความสามารถในการลากเข็นหรือยกกระเป๋าของตนเอง โดยเฉพาะถ้าไม่มีผู้มารับท่านที่สนามบิน ท่านผู้มีร่างกายผอมบาง เล็กกะทัดรัด กรุณาอย่านำของมาเต็มพิกัด เพราะท่านจะประสบปัญหาอย่างมากในการลากเข็นหรือยกกระเป๋าในระหว่างที่ต่อเครื่องบินจากระหว่างประเทศเป็นภายในประเทศ หรือระหว่างเครื่องบินในประเทศเป็นรถไฟหรือรถประจำทาง เพื่อเดินทางไปสถานศึกษา ยิ้มหวาน ๆ ไม่อาจดลใจให้คนมาช่วยท่านขนกระเป๋า ยกเว้นทิปหนัก ๆ เท่านั้น
การจัดเตรียมกระเป๋าเดินทาง
ก่อนจัดเตรียมกระเป๋าเดินทาง มีกฎระเบียบที่ต้องรู้และถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ดังนี้
- กระเป๋าเดินทางและสัมภาระ ควรศึกษาหรือสอบถามเจ้าหน้าที่ของสายการบิน ตัวแทนจำหน่าย หรือเวปไซต์ของสายการบิน ว่าอนุญาตให้นำกระเป๋าเดินทางมากี่ใบ แต่ละใบมีบรรจุแล้วหนักได้ไม่เกินเท่าใด ถ้าน้ำหนักเกิน ต้องเสียค่าปรับในอัตราใด
- สิ่งของใดต้องห้ามนำขึ้นเครื่องบิน สิ่งของใดที่สามารถนำขึ้นเครื่องบินได้ สิ่งของใดที่นำขึ้นเครื่องบินได้แต่ห้ามนำถือขึ้นเครื่องบิน (ต้องไว้ในกระเป๋าที่ถ่ายเก็บไว้ใต้ท้องเครื่องบิน) ขอให้ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกฎระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับสิ่งของต้องห้ามนำเข้าสหรัฐฯ จาก www.faa.gov
- สิ่งที่ควรนำมาจากเมืองไทย ได้แก่ หนังสือตำราเฉพาะทางที่หายาก สติกเกอร์แป้นพิมพ์อังกฤษ/ไทย (สำหรับผู้จะมาหาซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ที่สหรัฐฯ) รูปถ่ายครอบครัวหรือญาติสนิท ของชำรวยหรือของฝากประจำชาติ ยารักษาโรคประจำตัว เสื้อผ้าที่เพียงพอใส่ได้ระยะหนึ่ง สิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัวเล็ก ๆ น้อย ๆ อาทิ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน ฯลฯ
- สิ่งที่ไม่ควรนำติดตัว ได้แก่ เครื่องประดับราคาแพง หม้อหุงข้าว เครื่องใช้ไฟฟ้า (ระบบไฟที่นี่ใช้ 110 โวลท์ ส่วนที่บ้านเราใช้ 220 โวลท์)
- สิ่งที่ต้องห้ามนำเข้าสหรัฐฯ ได้แก่ วัตถุระเบิด ปืน มีด สิ่งมีคม ยาเสพติด อาหารหรือวัตถุดิบปรุงอาหาร อาทิ หมูแผ่น หมูหยอง ผลไม้สดทุกชนิด สัตว์เลี้ยง ยารักษาโรคที่ไม่มีใบสั่งจากแพทย์
หมายเหตุ
- ในกรณีที่มีโรคประจำตัว และมีความจำเป็นต้องพกยาติดตัว ขอให้พกยาที่มีสลากยาเป็นภาษาอังกฤษเพื่อสะดวกแก่การตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งควรมีหนังสือจากนายแพทย์ที่ทำการรักษาเป็นภาษาอังกฤษติดตัวมาด้วย
- การเก็บของเล็ก ๆ กระจุกกระจิก ใส่ในถุงพลาสติกใสที่สามารถมองผ่านเห็นได้ เพราะหากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองต้องการตรวจสอบ จะทำได้รวดเร็วขึ้น และสิ่งของจะได้ไม่กระจาย
- สิ่งของเครื่องใช้ระหว่างเดินทาง ควรใส่ในกระเป๋าถือขึ้นเครื่อง เช่น ปากกา ยาแก้เมาเครื่องบิน ยาดม ยาแก้ปวดหัว ถุงเท้า เสื้อกันหนาว หมอนหนุนคอ เป็นต้น นอกจากนี้ เสื้อผ้าที่สวมใส่ระหว่างเดินทางควรเป็นชุดหลวมตัว ไม่รัดตัวเกินไป รองเท้าที่ถอดเข้าออกง่าย ๆ
- เสื้อผ้าที่นำติดตัวมาจากไทยควรเป็นเนื้อผ้าที่มีใยฝ้ายผสม เนื้อผ้าไม่เปื่อยหรือขาดง่าย หาเสื้อผ้าที่ทนต่อการซักด้วยเครื่อง ซักแล้วใส่ ไม่ต้องรีด ไม่ยับมาก สำหรับเสื้อผ้าหน้าหนาว ควรหาซื้อที่สหรัฐฯ ยกเว้นผู้ซึ่งเดินทางมาหน้าหนาว ควรหาซื้อติดตัวอย่างน้อย 1 ชุด ส่วนที่เหลือให้มาซื้อเพิ่มเติมที่สหรัฐฯ
- ระวังอย่าพลั้งเผลอนำสิ่งของมีคมซึ่งอาจใช้เป็นอาวุธได้ เช่น กรรไกรตัดผม หรือมีดโกนหนวด ที่ตัดเล็บแบบมีตะไบ ใส่ในกระเป๋าถือติดตัว (Carry-On Bag) ถ้าจำเป็นต้องนำมาใช้ในสหรัฐฯ ให้ใส่ไว้ในกระเป๋าที่ถ่ายเข้าท้องเครื่องบิน
- ควรติดป้ายชื่อของท่านเป็นภาษาอังกฤษ ที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ของ International Students Office ของสถานศึกษาที่ท่านจะไปศึกษา หรือที่พักปลายทาง ไว้กับกระเป๋าเดินทางทุกใบ โดยให้ติดป้ายชื่อทั้งภายในและภายนอกกระเป๋า เผื่อกระเป๋าผลัดหลงแล้ว อาจได้คืนในภายหลัง นอกจากนี้ ควรหาโบว์หรือริปบิ้นสีสดใส สังเกตง่าย ผูกติดกับกระเป๋าเดินทาง เพื่อง่ายต่อการสังเกต
- ห้ามใส่กุญแจกระเป๋าเดินทางที่ต้องถ่ายขึ้นเครื่องโดยเด็ดขาด หากท่านมีของมีค่าใส่ในกระเป๋าเดินทาง และต้องการจะใส่กุญแจ ท่านจะต้องใช้กุญแจเฉพาะที่ได้รับรองจากองค์กรการบินระหว่างประเทศเท่านั้น (กุญแจนี้ จะเปิดได้เฉพาะเจ้าของกับ Security ของสนามบินเท่านั้น)
- ระหว่างรอขึ้นเครื่องที่สนามบิน ไม่ควรละสายตาจากกระเป๋าเดินทาง เพราะอาจถูกขโมย หรืออาจมีผู้นำวัตถุผิดกฎหมายหรือสิ่งของต้องห้ามมาใส่ไว้ในกระเป๋าของท่าน ซึ่งจะทำให้ท่านได้รับความเดือดร้อนในภายหลัง อนึ่ง สนามบินบางแห่งมีบริการให้เช่าตู้สำหรับเก็บกระเป๋าเดินทางชั่วคราวแบบไม่ข้ามวัน ตู้เช่ามีขนาดไม่ใหญ่มาก ดังนั้น หากนักเรียนต้องหยุดพักรอเครื่องบินเป็นเวลานาน ก็อาจใช้บริการตู้เช่า เพื่อมิต้องคอยระวังกระเป๋าตลอดเวลาได้
การส่งสิ่งของมาประเทศสหรัฐอเมริกา
- วิธีที่นิยมใช้มี 2 วิธี คือ การส่งทางเครื่องบิน และการส่งทางเรือ การเลือกใช้วิธีใดขึ้นกับความเร่งด่วน ลักษณะของที่จะส่งซึ่งประกอบด้วย ขนาด น้ำหนัก และประเภทของสิ่งของนั้นๆ
- โดยทั่วไปแล้ว การส่งสิ่งของทางเครื่องบินจะเสียค่าใช้จ่ายสูงกว่า แต่เร็วกว่า ส่วนการส่งสิ่งของทางเรือ นิยมใช้กับสิ่งของที่มีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมาก หรือใช้ส่งสิ่งของคราวละมากๆ แต่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน เนื่องจากจะเสียค่าใช้จ่ายถูกกว่า ปกติ การส่งสิ่งของทางเรือระหว่างประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา ใช้เวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์
เวลาท้องถิ่นในสหรัฐอเมริกา
สหรัฐฯ มีเวลาท้องถิ่น ที่เหลื่อมกันตามพื้นที่ (Time Zone) ดังนี้
พื้นที่ | GMT | *เทียบกับเวลาในประเทศไทย |
---|---|---|
Eastern Standard Time | -5 | ช้ากว่าไทย 12 ช.ม.** |
Central Standard Time | -6 | ช้ากว่าไทย 13 ช.ม.** |
Mountain Standard Time | -7 | ช้ากว่าไทย 14 ช.ม.** |
Pacific Standard Time | -8 | ช้ากว่าไทย 15 ช.ม.** |
Alaska Standard Time | -9 | ช้ากว่าไทย 16 ช.ม.** |
Hawaii Standard Time | -11 | ช้ากว่าไทย 18 ช.ม.** |
* Greenwich Mean Time คือ เวลา ณ เมือง Greenwich ในประเทศอังกฤษ ซึ่งตั้งอยู่ที่Prime Meridian (zero longitude)
** ระหว่างวันอาทิตย์แรกของเดือนเมษายนจนถึงวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนตุลาคม เวลาจะต่างจากเมืองไทยน้อยลง 1 ช.ม. คือ จากเดิมช้ากว่ากัน 12 ชม. ก็จะเป็น 11 ช.ม.เป็นต้น
หมายเหตุ
เมื่อเดินทางมาถึง อย่าลืมปรับเวลานาฬิกา ให้ตรงกับเวลาในท้องถิ่น เพราะเคยมี นทร.พลาดเปลี่ยนต่อโดยสารเครื่องบิน
ด่านตรวจคนเข้าเมือง
เอกสารสำคัญที่ต้องเตรียมให้เจ้าหน้าที่ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองตรวจสอบ ได้แก่
- หนังสือเดินทาง (Passport)
- วีซ่า (VISA) ที่ประทับในหนังสือเดินทาง
- I-20 หรือ DS-2019
- หนังสือรับรองการเงิน (Financial Resource Statement)
- หนังสือตอบรับเข้าศึกษา (Letter of Acceptance)
- จดหมายปิดผนึกที่ได้รับจากสถานกงสุลสหรัฐฯ ในประเทศไทย เมื่อตอนได้รับอนุมัติวีซ่าเข้าประเทศ อย่าเปิดจดหมายดังกล่าวเองโดยเด็ดขาด
- แบบแสดงรายการที่ต้องเสียภาษีศุลกากร (Customs Declaration Form) เป็นแบบฟอร์มที่ได้รับแจกจากเจ้าหน้าที่สายการบินขณะอยู่บนเครื่องบิน ขอให้ท่านกรอกข้อความตามจริง หากมีคำถามให้สอบถามเจ้าหน้าที่ของสายการบินทันที (หากท่านไม่ได้รับแจก อาจเนื่องจากหลับอยู่ขณะที่มีการแจก ให้ขอจากเจ้าหน้าที่สายการบิน)
เอกสารสำคัญอื่นๆ ที่อาจเตรียมติดตัวไว้ ได้แก่
- ใบตรวจสุขภาพ (Immunization Certificate)
- ใบขับขี่ต่างชาติ (International Driver’s License)
- ทะเบียนสมรส
- ใบแจ้งเกิด
เมื่อถึงด่านตรวจคนเข้าเมือง (Port of Entry) ขอให้เตรียมเอกสารสำคัญดังกล่าวข้างต้นให้พร้อม และเข้าแถวรอเรียกจากเจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง (Immigration Officer)
ระหว่างที่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารสำคัญ เจ้าหน้าที่จะสอบถามวัตถุประสงค์ของการเดินทางเข้าสหรัฐฯ อเมริกา สำหรับนักเรียนผู้มาศึกษาต่อ ขอให้ตอบ “To attend [name of school] in [name of city, state]” และอาจมีคำถามอื่นเพิ่มเติม
หมายเหตุ
เอกสารสำคัญข้างต้น ให้พกติดตัวหรือใส่ไว้ในกระเป๋าถือ (Carry-On Bag) อย่าใส่ไว้ในกระเป๋าเดินทาง (Luggages) โดยเด็ดขาด เพราะเอกสารนี้จะต้องใช้ยื่นกับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ก่อนที่ท่านจะมีสิทธิออกไปเอากระเป๋าเดินทาง
ด่านศุลกากร
หลังจากผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองแล้ว ให้ไปรอรับกระเป๋าเดินทาง หลังได้กระเป๋าเดินทาง ให้เดินไปผ่านด่านศุลกากร และยื่น Customs Declaration Form ต่อเจ้าหน้าที่ด่านศุลกากร
หมายเหตุ
- ของฝากของที่ระลึก มูลค่าไม่เกิน $100 ไม่ต้องเสียภาษีศุลกากร
- การนำเงินสดเข้าหรือออกจากสหรัฐอเมริกามูลค่าเกินกว่า $10,000 ต้องรายงานเจ้าหน้าที่ศุลกากร
- อย่าเอาของต้องห้ามเข้าสหรัฐฯ เพราะท่านอาจถูกจำคุก ส่งตัวกลับ หรือถูกปรับ แล้วแต่กรณี เคยมีนักเรียนนำอาหารต้องห้ามนำเข้า และถูกปรับ แต่ไม่มีเงินจ่าย ต้องถูกกักตัว ทำให้พลาดเปลี่ยนต่อโดยสารเครื่องบิน
การเดินทางต่อไปยังสถานศึกษา
เมื่อผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองและด่านศุลกากรเรียบร้อยแล้ว ท่านอาจต้องเดินทางต่อไปยังเมืองและรัฐที่สถานศึกษาตั้งอยู่ ซึ่งทำได้หลายวิธี เช่น เครื่องบิน (Connecting Flights), รถไฟ (Trains), รถประจำทาง (Buses) หรือ รถเช่า (Rental Cars)
หากท่านจำเป็นต้องพักค้างคืน ระหว่างรอเดินทางต่อไปสถานศึกษา ขอให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ดูแลนักเรียนต่างชาติ (International Student Advisor) ประจำสถานศึกษา ล่วงหน้า เพื่อขอให้ช่วยจองที่พักราคาถูกให้ เช่น International Houses, University residences, YMCA or YWCA เป็นต้น เพราะการเข้าพักโรงแรม ค่าใช้จ่ายจะสูงมาก
การรักษาสถานภาพ J-1/F-1
หลังเหตุการณ์อาคาร World Trade ถล่ม (9/11) กฎหมายคนเข้าเมืองได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมบ่อยครั้ง และรัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายมาก ดังนั้น ขอให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัดเพื่อรักษาสถานภาพของนักเรียน J-1/F-1 โดยทั่วไป มีข้อปฎิบัติหลักๆ ดังนี้
- ให้รักษาสภาพการเป็นนักเรียนเต็มเวลา (Full Time Student) หลังจากเดินทางเข้าสหรัฐฯ แล้วนักเรียนจะต้องเข้าศึกษาเต็มเวลา ณ สถานศึกษา ที่ออก I-20/DS-2019 มิฉะนั้นจะกลายเป็นคนอยู่อย่างผิดกฎหมาย
- ให้ประกันสุขภาพและรักษาอายุประกันตลอดเวลา ผู้ถือ J-1 วีซ่า รวมทั้งผู้ติดตามที่ถือ J-2 วีซ่า จะต้องมีประกันสุขภาพตลอดเวลาที่ศึกษาอยู่
- หากจะทำงานในสหรัฐฯ ให้ทำอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ผู้ถือ J-1 วีซ่าสามารถขออนุญาตทำงานแบบไม่เต็มเวลา ณ สถานศึกษา ( Part-time on Campus) ได้ สำหรับผู้ติดตามซึ่งถือวีซ่า J-2 ก็สามารถขออนุญาตทำงานเต็มเวลา (Full-time) ได้ ทั้งนี้ ขอให้ปรึกษากับฝ่ายนักเรียนต่างประเทศ (International Office) ทุกครั้ง ก่อนที่จะตกลงทำงานหรือ เปลี่ยนแปลงงานใด ๆ ก็ตาม
- ให้แจ้งที่อยู่และการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ทุกครั้ง กฎหมายคนเข้าเมืองกำหนดให้ต้องรายงานการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ทุกครั้ง ภายใน 10 วัน โดยให้ใช้แบบ AR-11 จากลิงค์นี้ หากไม่รายงาน อาจถูกปรับ จำคุก หรือ ส่งตัวกลับประเทศ
หมายเหตุ
- หากผู้ใดอยู่อย่างผิดกฎหมายในสหรัฐฯ ผู้นั้นจะได้รับการลงโทษ ดังนี้
- อยู่อย่างผิดกฎหมายติดต่อกันเกินกว่า 180 วัน จะถูกห้ามเข้าสหรัฐฯ 3 ปี
- อยู่อย่างผิดกฎหมายติดต่อกันติดต่อกันเกินกว่า 1 ปี จะถูกห้ามเข้าสหรัฐฯ 10 ปี
- หากมีข้อสังสัยหรือปัญหาประการใด ให้สอบถามเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบดูแลนักเรียนต่างชาติของสถานศึกษาทันที ตัวอย่าง เช่น ถ้านักเรียนไม่สามารถลงทะเบียนเรียนตามที่กำหนดขั้นต่ำสำหรับการรักษาสถานภาพ Full-Time Studentได้ เนื่องจากความไม่พร้อมด้านภาษา หรือด้วยเหตุผลอื่น ก็ให้สอบถามเจ้าหน้าที่ฯ ว่าจะต้องทำอย่างไร จึงไม่ขัดกับกฎหมายคนเข้าเมือง
การต่ออายุ I-20/DS-2019
นักเรียนจะต้องส่งคำขอต่ออายุ I-20 หรือ DS-2019 ล่วงหน้าอย่างน้อย 60 วันก่อนถึงวันหมดอายุ โดยสถานศึกษาของนักเรียนเป็นผู้ดำเนินการต่ออายุให้ โดยทั่วไป หลักฐานเพิ่มเติมที่สถานศึกษาต้องการประกอบการพิจารณา คือ เอกสารรับรองทางการเงิน (สำหรับนักเรียนทุนรัฐบาล ให้ส่งคำขอใบรับรองทางเงินไปที่ สนร. โดย download แบบคำขอจาก www.oeadc.org)
ทั้งนี้นักเรียนไม่ควรลืมยื่นคำขอล่วงหน้าโดยเด็ดขาด แม้ว่าในบางกรณี เมื่อลืม อาจได้รับการผ่อนผัน เช่น กรณีที่ลืมต่ออายุ และอายุของ I-20/DS-2019 ขาดไม่เกินกว่า 6 เดือน และนักเรียนลงทะเบียนเรียนเต็มเวลาอยู่ นักเรียนอาจขอให้สถานศึกษายื่นเรื่องขอ Reinstate สถานภาพนักเรียน อย่างไรก็ตามการ Reinstate มีขั้นตอนที่ยุ่งยากและอาจจะไม่ได้รับอนุญาตจากอิมมิเกรชั่นก็ได้
การเปลี่ยนประเภทวีซ่าขณะนักเรียนกำลังศึกษาอยู่ในสหรัฐฯ
โดยที่ ก.พ. กำหนดให้นักเรียนทุนรัฐบาลฯ ทุกรายถือวีซ่า J-1 หากมีนักเรียนทุนรัฐบาลฯ รายใดที่ถือวีซ่าประเภทอื่น (F-1) โดยไม่ทราบระเบียบข้างต้น นักเรียนจะต้องดำเนินการดังนี้
- หากยังศึกษาอยู่ ณ สถานศึกษาเดิม ให้นักเรียนขอหนังสือรับรองทางการเงินจาก สนร.เพื่อนำไปประกอบการขอเปลี่ยนวีซ่า และให้แจ้งสถานศึกษาว่า ผู้ให้ทุนมีความประสงค์ให้นักเรียนถือวีซ่า J-1 หลังจากนั้น สถานศึกษาจะดำเนินเรื่องให้ท่านไปยังอิมมิเกรชั่น ซึ่งจะใช้เวลาในการเปลี่ยนสถานะของวีซ่าประมาณ 3-6 เดือน และในระหว่างที่ยังไม่ได้รับหนังสือตอบยืนยันการเปลี่ยนสถานะจากอิมมิเกรชั่น นักเรียนจะเดินทางออกนอกประเทศไม่ได้ ในกรณีฉุกเฉินที่ต้องเดินทางกลับประเทศก่อนได้รับตอบยืนยันการเปลี่ยนสถานะวีซ่า นักเรียนต้องแจ้งให้สถานศึกษาทราบเพื่อขอทราบรายละเอียดเกี่ยวกับการขั้นตอนการเดินทางกลับ และเมื่อเดินทางถึงประเทศไทยแล้ว นักเรียนต้องไปยื่นเรื่องขอวีซ่า J-1 ณ สถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลสหรัฐฯ ในประเทศไทย ก่อนเดินทางกลับเข้าสหรัฐฯ เพื่อศึกษาต่อ
- หากย้ายไปศึกษา ณ สถานศึกษาใหม่ ให้นักเรียนแจ้งสถานศึกษาใหม่ว่า ผู้ให้ทุนประสงค์ให้นักเรียนถือวีซ่า J-1 เพื่อสถานศึกษาใหม่จะได้ออกหนังสือ DS-2019 ให้ และเมื่อเดินทางกลับถึงประเทศไทยแล้ว ต้องไปดำเนินเรื่องขอวีซ่า J-1 ก่อนเดินทางกลับเข้าศึกษาต่อในสหรัฐฯ
การลงทะเบียนเรียนของนักเรียนต่างชาติ
ระบบการศึกษาในประเทศสหรัฐฯ มี 3 ระบบ คือ Semester, Trimester, และ Quarter ซึ่งแต่ละสถานศึกษามีสิทธิเลือกใช้ระบบใดก็ได้ สถานศึกษาที่ใช้ระบบเดียวกัน อาจเปิดเรียนไม่ตรงกันก็ได้ แต่ละระบบจะแบ่งภาคการศึกษา ดังนี้
- ระบบ Semester แบ่งเป็น 2 ภาค คือ ภาค Fall เริ่มประมาณเดือนกันยายน ส่วนภาค Spring เริ่มประมาณเดือนมกราคม บางสถานศึกษา อาจมีภาคฤดูร้อนด้วย
- ระบบ Trimester แบ่งเป็น 3 ภาค ภาค Fall เริ่มประมาณเดือนกันยายน ภาค Winter เริ่มประมาณเดือนธันวาคม และภาค Spring เริ่มประมาณเดือนมีนาคม
- ระบบ Quarter แบ่งเป็น 4 ภาค ภาค Fall เริ่มประมาณเดือนสิงหาคม ภาค Winter เริ่มประมาณเดือนพฤศจิกายน ภาค Spring เริ่มประมาณเดือนกุมภาพันธ์ และภาค Summer เริ่มประมาณเดือนพฤษภาคม
ทั้งนี้ นักเรียนต่างชาติทุกคนต้องลงทะเบียนเรียนเต็มเวลา (Full Time) เพื่อรักษาสถานภาพวีซ่านักเรียนตามกฎหมายและระเบียบคนเข้าเมืองสหรัฐฯ โดยการลงทะเบียนเรียนเต็มเวลาสำหรับภาคการศึกษาปกติ หมายถึง การลงทะเบียนเรียนไม่น้อยกว่า 12 หน่วยกิต/ภาค สำหรับนักเรียนที่ศึกษาในระดับปริญญาตรี และไม่น้อยกว่า 9 หน่วยกิตสำหรับนักเรียนที่ศึกษาในระดับปริญญาโทหรือปริญญาเอก ยกเว้นภาคการศึกษาสุดท้ายของนักเรียนซึ่งใกล้สำเร็จการศึกษา นักเรียนฯ อาจลงทะเบียนเรียนน้อยกว่าที่กำหนดได้ สำหรับนักเรียนที่ศึกษาอยู่ในระดับปริญญาเอก ซึ่งศึกษาวิชาครบตามหลักสูตรแล้ว แต่อยู่ระหว่างการเขียนวิทยานิพนธ์เพื่อสำเร็จการศึกษา นักเรียนจะต้องลงทะเบียนเพื่อรักษาสถานะภาพการเป็นนักศึกษาตามระเบียบที่สถานศึกษากำหนดจนกว่าจะสำเร็จการศึกษา
หมายเหตุ
- หากนักเรียนไม่สามารถลงทะเบียนเรียนเต็มเวลา ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม เช่น กรณีเจ็บป่วยหนักและแพทย์ลงความเห็นให้หยุดพักเพื่อรักษาตัว (ในประเทศสหรัฐฯ หรือประเทศไทย) หรือต้องหยุดพักการศึกษาและเดินทางกลับประเทศเพราะสาเหตุทางครอบครัว เป็นต้น นักเรียนต้องแจ้งให้สถานศึกษาทราบ เพื่อสถานศึกษาจะได้ดำเนินเรื่องการหยุดพักการศึกษาชั่วคราวตามระเบียบของ Immigration
- หากนักเรียนผู้ใดเข้าศึกษา ณ สถานศึกษาแรกที่รับเข้าศึกษาแล้ว ต่อมาเกิดเปลี่ยนใจจะย้ายไปศึกษา ณ สถานศึกษาอื่น นักเรียนผู้นั้นต้องศึกษาในสถานศึกษาแห่งแรกจนสิ้นภาคการศึกษานั้นก่อน จะหยุดเรียนหรือไม่เข้าเรียนเองไม่ได้ โดยสถานศึกษาใหม่จะต้องออกหนังสือสำคัญ DS-2019 (J visa) หรือ I-20 (F visa) ฉบับใหม่ ยืนยันการยินดีรับนักเรียนผู้นั้นเข้าศึกษาในภาคการศึกษาถัดไป ทั้งนี้ เป็นหน้าที่ของนักเรียนผู้นั้นที่ต้องแจ้งให้สถานศึกษาแห่งแรกทราบว่าจะย้ายไปศึกษา ณ สถานศึกษาแห่งใหม่ เพื่อสถานศึกษาเดิมจะได้แจ้ง Immigration Office ทราบ
การเลือกสถานศึกษา
การเลือกสถานศึกษา มีขั้นตอนที่ต้องดำเนินการ ดังนี้
- การเลือกสถานศึกษาจะสมัครเรียน ก่อนเลือกสมัครสถานศึกษา ให้ประเมินตนเองก่อนว่า จะไปศึกษาด้านไหน ขีดความสามารถทางวิชาการ ภาษา ประวัติผลการศึกษา ตลอดจนคะแนนสอบ TOEFL, GRE, GMAT เป็นอย่างไร หลังจากนั้น ให้ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับสถานศึกษาว่า เปิดสอนในสาขาด้านที่จะไปศึกษาหรือไม่ มีชื่อเสียงในด้านนั้น ๆ มากน้อยเพียงใด ต้องการนักเรียนที่มีคุณสมบัติเงื่อนไขอย่างไร
- การสมัครสถานศึกษาควรเลือกสมัครหลายแห่ง โดยเลือกคละกัน คือ เลือกสถานศึกษาที่ต้องการนักเรียนซึ่งมีคุณสมบัติสูงกว่าระดับที่เรามี (ประเมินตัวเราเอง) ระดับเดียวกับที่เรามี และระดับที่ต่ำกว่าที่เรามีเล็กน้อย
- การเลือกสถานศึกษาที่เหมาะกับตัวเรา และเป็นสถานศึกษาที่เราชอบและพอใจ มีผลต่อความสำเร็จทางการศึกษาของเรามาก หากเลือกผิด ก็อาจส่งผลให้นักเรียนไม่สำเร็จการศึกษา หรือต้องใช้เวลาศึกษามากกว่าที่ควร
การเลือกตอบรับเข้าศึกษา หลังจากสมัครสถานศึกษาแล้ว นักเรียนอาจได้รับหนังสือตอบรับจากสถานศึกษาหลายแห่ง ตอนนี้เป็นเวลาที่เราจะเป็นผู้เลือกบ้าง ขอให้นักเรียนศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกสถานศึกษาที่เหมาะสมที่สุด การหาข้อมูลเพิ่มเติมอาจทำได้ โดย
- นัดหมายขอเยี่ยมสถานศึกษา (Campus Visit) – นักเรียนจะได้สัมผัสกับสภาพแวดล้อมในสถานศึกษา นอกจากเยี่ยมชมแล้ว ขอให้นัดพบเพื่อพูดคุยกับผู้เกี่ยวข้อง เช่น อาจารย์ที่ปรึกษา หัวหน้าภาควิชา และหรือนักเรียนใน Student Union ของสถานศึกษา เพื่อพูดคุยกับนักเรียนที่ศึกษาอยู่ในปัจจุบัน ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้นักเรียนตัดสินใจเลือกสถานศึกษาที่จะไปเข้าศึกษาได้ดียิ่งขึ้น
- ในกรณีที่ไม่สามารถแวะเยี่ยมสถานศึกษาได้ด้วยตนเอง (ไม่มีเวลา หรือไม่ได้อยู่ในสหรัฐฯ ในขณะนั้น) ขอให้ศึกษาผ่านทางเวปไซต์ของสถานศึกษา
- นอกจากการเยี่ยมสถานศึกษา แล้ว นักเรียนอาจสอบถามข้อมูลหรือขอความเห็นเพิ่มเติม โดยอาจ Email ถามสถานศึกษาโดยตรง หรือ email ถามสมาคมนักเรียน สมาคมผู้ปกครอง ฯลฯ
- นอกจากชื่อเสียงทางด้านวิชาการแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นที่จะต้องใช้พิจารณา ประกอบด้วย เช่น
- ขนาดของสถานศึกษา หมายถึง จำนวนนักเรียนที่ศึกษาในสถานศึกษา หากสถานศึกษามีขนาดใหญ่ การแข่งขันและการขอความช่วยเหลือจากเพื่อนนักเรียน หรือจากอาจารย์ที่ปรึกษา ก็อาจเป็นไปได้ลำบากขึ้น เมื่อเทียบกับสถานศึกษาที่มีขนาดเล็ก นอกจากนั้นลักษณะ และอุปนิสัยของนักเรียนก็มีส่วนสำคัญในความสำเร็จทางการศึกษา หากนักเรียนเป็นคนเงียบ และเข้าคนลำบาก การไปศึกษาในสถานศึกษาที่มีขนาดใหญ่อาจส่งผลกระทบต่อสภาพทางจิตใจ และการหา/คบเพื่อน ทำให้อาจมีผลสำเร็จทางการศึกษาได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากการศึกษาในสหรัฐฯ ไม่ว่าจะอยู่ในระดับใดก็ตาม เป็นการศึกษาที่เป็นได้ทั้งแบบคนเดียว และศึกษาร่วมแบบเป็นกลุ่ม ดังนั้นการเลือกไปศึกษาจึงควรเลือกสถานศึกษาที่ใกล้เคียงกับลักษณะนิสัยของนักเรียนเป็นหลักด้วย
- สภาพภูมิศาสตร์ สภาพอากาศ และสภาพแวดล้อมสถานศึกษา เช่น สถานที่ตั้งของเมือง/รัฐที่สถานศึกษาตั้งอยู่ ลักษณะเมือง (เมืองเล็กหรือเมืองใหญ่ เมืองสงบหรือเมืองแสงสี จำนวนประชากร ลักษณะทางสังคมของประชากรในเมือง/รัฐ ระบบสาธารณูปโภค การเดินทางระหว่างสถานศึกษากับที่พัก ระดับค่าครองชีพ ฯลฯ
- หอพักของสถานศึกษา จะช่วยแบ่งภาระและความเครียดในการเสาะหาที่พักเมื่อแรกศึกษา จนกระทั่งนักเรียนคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมของเมืองที่สถานศึกษาตั้งอยู่ จากนั้นจึงค่อยหาทางขยับขยายในอนาคต
- ทุนการศึกษา สถานศึกษาในสหรัฐฯ เป็นจำนวนมากที่ให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนในระดับปริญญาโท-เอก ในรูปของ Teaching Assistantship หรือ Research Assistantship (TA/RA) การเลือกสมัครสถานศึกษาที่ให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนจึงควรนำไปพิจารณาในการเลือกสถานศึกษา เพื่อจะได้แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย
- ESL การมีหลักสูตรภาษาอังกฤษสำหรับนักเรียนต่างชาติก็เป็นปัจจัยที่ต้องนำมาประกอบการพิจารณาเช่นกัน โดยเฉพาะผู้ซึ่งมีทักษะทางด้านภาษาอังกฤษยังไม่ดีพอ
การหาข้อมูลเกี่ยวกับระบบการศึกษา สถานศึกษา และสาขาวิชาที่เปิดสอน
นักเรียนอาจหาข้อมูลเกี่ยวกับสถานศึกษาจากแหล่งข้อมูลได้หลายวิธี
- สำนักงาน ก.พ. ทาง Internet ที่ www.ocsc.go.th หรือไปแวะเยี่ยมที่สำนักงาน ก.พ. หรือซุ้มให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการไปศึกษาในต่างประเทศที่ศูนย์การค้าสยาม
- สมาคม AUA
- http://educationusa.state.gov
- Perterson’s ที่ www.petersons.com
- US News & World Report ที่ http://www.usnews.com/usnews/edu/college/rankings/rankindex_brief.php
- Princeton Review ที่ www.princetonreview.com
- College Board ที่ www.collegeboard.com
- Boarding Schools(ระดับประถมศึกษา – มัธยมศึกษา) ที่ www.schools.com
- www.boardingschoolreview.com
ที่พักของสถานศึกษา (On Campus Housing)
On Campus คือ ที่พักซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัย ปกติจะให้สิทธิ์นักศึกษาปริญญาตรีปีหนึ่งก่อน ผู้ที่จะอยู่แบบ On Campus ต้องติดต่อขอจองที่พักกับ Housing Office ของสถานศึกษาก่อนล่วงหน้า เนื่องด้วยจำนวนที่พักมักจะมีน้อยกว่าจำนวนผู้ต้องการเข้าพัก นักศึกษาควรเริ่มติดต่อและสำรองหอพักเสียแต่เนิ่น ๆ โดยการเขียนจดหมายขอรายละเอียดไปยัง Housing Office ของสถานศึกษา
On Campus Housing แบ่งได้เป็น
- Dormitory หรือ Residence Hall คือหอพักสำหรับนักศึกษาโสด หรือไม่ได้นำครอบครัวไปด้วย หอพักนี้อาจเป็นหอพักชาย หอพักหญิง หรือหอพักรวม (ชายหญิงอยู่รวมในหอพักเดียวกัน แต่ต่างชั้นต่างห้อง) ห้องที่พักอาจเป็นห้องเดี่ยวหรือห้องคู่ (พักสองคนในห้องเดียวกัน) ปกติ หอพักของสถานศึกษาจะมีเครื่องอุปกรณ์ ที่จำเป็น เช่น ไฟฟ้า เครื่องทำความอบอุ่น โต๊ะเขียนหนังสือ ตู้เสื้อผ้า เตียง ฟูก (สำหรับผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม และของใช้ส่วนตัวเอง ต้องจัดหาเอง)
- Married Student Housing เป็นที่พักสำหรับนักศึกษาซึ่งแต่งงานแล้วโดยถูกต้องตามกฎหมาย มักจะสร้างอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ในมหาวิทยาลัยมีทั้งแบบ Studio ห้องนอนเดี่ยว สองห้องนอน มีเฟอร์นิเจอร์และไม่มีเฟอร์นิเจอร์
นอกจาก On Campus แล้วนักเรียนยังสามารถเลือกพักอาศัยตาม Apartment ได้ โดยสถานศึกษาบางแห่งจัด Apartment ให้นักศึกษาโดยเฉพาะเป็นเหมือน Apartment ของเอกชนแต่เสียเงินค่าเช่าเป็นรายเทอมและอัตราค่าเช่าจะแพงกว่า Dormitory การอยู่ Apartment นี้นักศึกษาจะมีอิสระเต็มที่ในการเข้าออกไม่มีการกำหนดเวลาที่จะต้องเข้า Apartment แต่อย่างใด นักเรียนที่อยู่ Apartment สามารถทำอาหารรับประทานเองได้ ทั้งนี้ต้องรับผิดชอบค่าน้ำค่าไฟเอง
ที่พักอื่นนอกสถานศึกษา (Off Campus Housing)
ที่พักอื่นนอกสถานศึกษาเป็นที่พักของเอกชน หรือบ้านเช่าต่าง ๆ ซึ่งอยู่นอกบริเวณมหาวิทยาลัยสถานที่พักเหล่านี้รับบุคคลทั่วไปเข้าพักไม่จำเป็นจะต้องเป็นนักศึกษาเสมอไป การติดต่อและการทำสัญญาเข้าพัก นักเรียนจะต้องเป็นผู้สืบหาเองว่ามีที่ใดว่าง และสามารถจะเช่าอยู่เพื่อพักอาศัยได้ ที่พักประเภทนี้ราคาและสภาพของที่พักจะแตกต่างกันไปแล้วแต่เจ้าของที่พัก หรือบริษัทจัดหาที่พักจะเป็นผู้กำหนด ผู้เข้าพักสามารถที่จะไปขอดูสภาพและที่ตั้งก่อนตัดสินใจเข้าพักได้ โดยแบ่งได้เป็น
- Apartment มีหลายราคาหลายระดับ ราคาขึ้นอยู่กับสภาพ ลักษณะการตกแต่ง ทำเลที่ตั้ง การเข้าพักต้องทำสัญญาเช่ากับเจ้าของหรือบริษัทจัดหาที่พัก จึงต้องมีข้อตกลงและเงื่อนไขเป็นลายลักษณ์อักษร ดังนั้น ผู้เช่าควรจะศึกษาสัญญาให้เข้าใจเรียบร้อยก่อนเข้าพัก และต้องปฏิบัติตามสัญญานั้น ๆ อย่างเคร่งครัด หากผิดสัญญาอาจถูกฟ้องร้องได้ ส่วนใหญ่สัญญาเช่าเป็นรายปี ผู้เช่าที่ย้ายออกก่อนเวลาที่ตกลงในสัญญา ต้องจ่ายค่าปรับ หรือต้องหาผู้มาเช่าช่วงต่อ ในกรณีนี้ต้องระมัดระวัง เพราะหากผู้เช่าช่วง ไม่จ่ายค่าเช่า ผู้เช่าเดิมต้องรับผิดชอบ
- Rooming House เป็นห้องเช่าซึ่งนักศึกษาอาจจะพักอยู่ในห้อง ๆ หนึ่ง โดยเจ้าของบ้านก็ร่วมอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกันด้วย เจ้าของบ้านอาจอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ใช้อุปกรณ์ในครัวเรือนร่วมกับเจ้าของบ้าน อุปกรณ์ครัวเรือน เช่น เครื่องครัว ตู้เย็น ฯลฯ Rooming House บางประเภทจะมีแต่นักศึกษาพักอยู่โดยไม่มีเจ้าของบ้านอยู่รวมด้วยก็ได้ โดยนักศึกษาแต่ละคนมีห้องพักเป็นสัดส่วนของตนเองคล้ายกับ Dormitory ผู้พักอาศัยใน Rooming House จะต้องใช้อุปกรณ์บางอย่างร่วมกับผู้พักอื่น ๆ เช่น ใช้ครัวร่วมกันหรือห้องน้ำร่วมกันเป็นต้น และเมื่อมีเพื่อนมาค้างด้วยจะต้องเสียเงินพิเศษให้กับเจ้าของบ้านด้วย
- Family การจะเข้าพักกับ Family เป็นที่นิยมในบางประเทศ แต่ในสหรัฐฯ มักเป็นการเข้าพักระยะสั้น เช่น ช่วงเรียนภาษา แต่อย่างไรก็ดี ครอบครัวอเมริกันบางครอบครัวอาจรับนักเรียนเข้าพักอยู่ด้วยได้แบบระยะยาว การพักกับ Family นี้ ผู้เข้าพักจะเข้าไปอยู่คล้ายกับเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวนั้น ๆ และอาจต้องช่วยเหลือเจ้าของบ้านทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ช่วยล้างจาน ทำความสะอาดบ้านบ้างในบางกรณี เพราะครอบครัวอเมริกันทั่ว ๆ ไป จะไม่มีคนใช้ทุกคนต้องช่วยกันทำเรื่องเหล่านี้ นักเรียนที่พักอยู่กับ Family จะต้องเสียเงินค่าเช่าตามที่ตกลงกันแต่ละ Family
- Fraternities Seniorities หรือ Clubs เป็นที่พักของสมาคมหรือสโมสรของนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ซึ่งอาจจะอยู่ภายในตัวมหาวิทยาลัยหรือนอกมหาวิทยาลัยก็ได้ ผู้จะเข้าพักได้จะต้องเป็นสมาชิกของสมาคมนั้นๆ สถานที่พักชนิดนี้จะคล้ายกับ Dormitory มีแม่บ้านควบคุมดูแล และอยู่ร่วมกันเป็นระบบครอบครัว ซึ่งอาจจะมีการสังคม เช่น มีงานเต้นรำ มี Party ตอนสุดสัปดาห์ หรือมีการรับน้องใหม่บ้าง เป็นต้น
ที่พักชั่วคราว สำหรับนักเรียนต่างชาติ ซึ่งเดินทางถึงสหรัฐอเมริกาใหม่ ๆ อาจจำเป็นต้องหาที่พักชั่วคราว โดยเฉพาะนักเรียนซึ่งยังไม่ได้จองหอพักไว้หรือมาถึงในช่วงที่หอพักยังไม่เปิดให้พักอาศัย โดยสถานที่พักอาจเป็นโรงแรม หรือ Motel ก็ได้ สถานที่พักประเภทนี้ ราคาอาจจะสูง นอกจากโรงแรมดังกล่าวแล้ว ที่พักชั่วคราวที่น่าสนใจ คือ
- Temporary Housing ของมหาวิทยาลัยจะเป็นรูปของโรงแรม หรือหอก็ได้
- หอพักของ YMCA หรือ YWCA ซึ่งผู้พักจะต้องเป็นสมาชิก และมีบัตรสมาชิกไปแสดงเวลาขอเข้าพัก
- Tourist House เป็นสถานที่พักคล้ายกับ Rooming House แต่จะเสียค่าเช่าเป็นรายวัน หรือรายอาทิตย์ และราคาไม่แพงนัก แต่ที่พักประเภทนี้อาจจะไม่มีห้องเป็นส่วนตัว บางครั้งจะเป็นห้องโถงใหญ่ ๆ มีเตียงหลายเตียงและพักรวมกัน
- Airbnb คือที่พักแบบ Home-sharing ที่จองผ่านบริษัท Airbnb ได้แก่ ห้องเดี่ยวเล็ก ๆ หรือบ้านทั้งหลัง มีราคาไม่แพงเท่ากับโรงแรม แล้วยังได้เปิดประสบการณ์ใหม่ พูดคุย ทำความรู้จักกับเจ้าของที่พักได้
สนร. กับ การเช่าที่พักของนักเรียนทุนฯ
เจ้าของบ้านเช่าส่วนใหญ่ต้องการหลักประกันการเช่าอย่างต่อเนื่อง เช่น ค่ามัดจำล่วงหน้า หลักฐานที่แสดงฐานะทางการเงิน หรือหนังสือรับรองรายได้ ฯลฯ ในกรณีของนักเรียนทุนรัฐบาล ให้นักเรียนส่งคำขอหนังสือรับรองทางการเงิน เพื่อประกอบการเช่าบ้าน มาที่ สนร. โดยขอให้ระบุด้วยว่า ต้องการให้เรียนหนังสือถึงใคร (ชื่อสกุลเจ้าของบ้าน เป็นต้น) ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมอะไร เช่น ต้องการให้ระบุจำนวนเงินค่าใช้จ่ายประจำเดือนด้วยหรือไม่ เป็นต้น
หมายเหตุ
- นอกจากปัจจัยเรื่องค่าเช่าแล้ว ให้คำนึงถึงความสะดวกในการเดินทางระหว่างสถานศึกษากับที่พัก ความปลอดภัยรอบบริเวณที่พักด้วย โดยให้หาข้อมูลจากเพื่อนนักเรียนด้วยกันหรือจากเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลนักเรียนต่างชาติของสถานศึกษา
- ในกรณีที่ต้องพักกับครอบครัวอเมริกัน ให้พักกับครอบครัวที่สถานศึกษาจัดหาให้ และมีประวัติการรับนักเรียนต่างชาติเข้าพักอาศัยที่ยาวนานต่อเนื่อง และถ้าเกิดปัญหาขึ้นมา ให้รีบรายงานเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลนักเรียนต่างชาติทันที โดยเฉพาะถ้าเป็นปัญหาการคุกคามหรือล่วงละเมิดทางเพศ อย่าเก็บปัญหาไว้คนเดียว ให้ปรึกษากับเจ้าหน้าที่ สนร.ทันที จะโดยทางโทรศัพท์หรืออีเมล์ก็ได้
- ในสัปดาห์แรกที่เข้าพัก ให้ตรวจสอบสภาพห้องและอุปกรณ์เครื่องใช้ที่มี หากชำรุด ให้รวบรวมรายการที่มีปัญหา แล้วแจ้งเจ้าของบ้านเพื่อซ่อมแซมทันที และควรถ่ายรูปสภาพห้องและสภาพอุปกรณ์ทุกอย่างเก็บไว้ด้วย เผื่อเมื่อต้องย้ายออก จะได้ใช้เป็นหลักฐานป้องกันเจ้าของบ้านเช่าอ้างเหตุชำรุดเพื่อยึดค่ามัดจำห้องบางส่วนหรือทั้งหมด
เงินสกุลดอลล่าร์สหรัฐฯ
- เงินหนึ่งดอลล่าร์เท่ากับ 100 เซ็นต์
- ธนบัตรสหรัฐฯ มี 7 ชนิด ฉบับชนิดละ 1, 2, 5, 10, 20, 50,และ 100 ดอลล่าร์ ธนบัตรทุกชนิดจะมีขนาดและสีเดียวกันหมด ต่างกันตรงรูปประธานาธิบดี และมูลค่า ปัจจุบัน ธนบัตรชนิด 2 ดอลล่าร์ไม่ค่อยได้พบว่าหมุนเวียนในตลาดเท่าที่ควร
- เงินเหรียญมีหลายชนิด ได้แก่ เหรียญ 2 ดอลล่าร์ 1 ดอลล่าร์ 50 เซ็นต์ (Half Dollar) 25 เซ็นต์ (Quarter) 10 เซ็นต์ (Dime) 5 เซ็นต์ (Nickel) และ 1 เซ็นต์ (Penny)
- สามารถตรวจสอบอัตราและเปลี่ยนระหว่างเงินไทยและเงินดอลล่าร์ได้ที่เว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ลิงค์นี้
การเปิดบัญชีเงินฝากธนาคาร
ในสหรัฐอเมริกา คนส่วนใหญ่นิยมซื้อขายโดยจ่ายผ่านบัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือเช็ค มากกว่าการซื้อขายโดยใช้เงินสด การมีบัญชีเงินฝากกับธนาคารจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อจะให้ได้มาซึ่งบัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือเช็ค ดังนั้น หลังจากที่เดินทางถึงสหรัฐฯ นักเรียนทุกคนจึงต้องรีบเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารในโอกาสแรกที่สามารถทำได้ นอกจากเพื่อความสะดวกในการรับจ่ายเงินแล้ว ยังเพิ่มความปลอดภัยกับเงินที่นำติดตัวมาจากเมืองไทยด้วย
โดยทั่วไป บัญชีเงินฝากธนาคารมี 2 ชนิดคือ
- Checking Account คือ บัญชีเงินฝากที่รองรับการจ่ายเช็คเงินสดหรือการรูดบัตรเดบิต ธนาคารส่วนใหญ่นอกจากจะไม่ให้ดอกเบี้ยเงินฝากในบัญชีนี้แล้ว ยังจะคิดค่าธรรมเนียมการใช้เช็คทุกเดือน เว้นแต่ผู้เปิดบัญชีมีเงินคงเหลือในบัญชีในรอบเดือนนั้น ๆ ไม่น้อยกว่าจำนวนที่กำหนด ซึ่งแต่ละธนาคารจะกำหนดไว้ไม่เท่ากัน จึงขอให้สอบถามกับธนาคารให้ชัดเจนก่อน
ในระหว่างเปิดบัญชี Checking Account เจ้าหน้าที่ของธนาคารจะถามว่าต้องการ Bank Card (Debit Card หรือ Check Card) หรือไม่ ให้ตอบว่าต้องการ Bank Card นี้จะทำหน้าที่เหมือนกับบัตร ATM บวกกับ Debit Card ของบ้านเรา คือ ใช้เบิกเงินสดจากตู้ ATM และใช้แทนเช็คเงินสด โดยทุกครั้งที่รูดบัตรเป็นจำนวนเงินเท่าใด ธนาคารจะหักเงินออกจากบัญชีโดยตรงเป็นจำนวนเงินเท่านั้น - Saving Account คือ บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ สำหรับนักเรียนฯ ซึ่งนำเงินติดตัวมาจำนวนมาก และเป็นเงินเย็นที่ไม่ต้องนำมาหมุนใช้จ่ายรายเดือน ขอแนะนำให้เปิดบัญชี Saving Account เพิ่มอีกบัญชี และนำเงินเย็นมามาฝากในบัญชีนี้ เพราะจะได้ดอกเบี้ย
หมายเหตุ
- ระวังอย่ารูดบัตร Bank Card/Debit Card หรือเขียนเช็คโดยมีเงินในบัญชี Checking Account ไม่พอสำหรับการจ่ายโดยเด็ดขาด เพราะนอกจากจะต้องเสียค่าปรับประมาณ $30 ต่อครั้งแล้ว ประวัติความน่าเชื่อถือทางการเงินของท่านจะด่างพร้อย และจะส่งผลกระทบต่อการจ่ายเงินผ่านบัตรหรือเช็คในอนาคต
- ให้จดรายการเงินเข้าเงินออกทุกครั้งที่นำเงินเข้าหรือใช้เงินออกจากบัญชี Checking Account เพื่อให้มั่นใจว่า ในบัญชี Checking Account มีเงินเหลือเพียงพอสำหรับจ่ายเงินทุกครั้ง
การใช้เช็ค
เช็คที่นิยมใช้ในสหรัฐฯ มีหลายประเภท ดังนี้
- Personal Check คือ เช็คส่วนตัว หรือเช็คที่สั่งจ่ายโดยมีบัญชี Checking Account รองรับ ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น
- Cashier's Check คือ เช็คเงินสดของธนาคารที่ออกให้กับลูกค้าที่มาขอซื้อ โดยผู้ซื้อต้องนำเงินสดไปซื้อหรือยอมให้ธนาคารหักเงินออกบัญชีในจำนวนตามที่ระบุในหน้าเช็ค เช็คชนิดนี้จึงน่าเชื่อถือมากกว่าเช็คส่วนตัว
- Certified Check คือ เช็คส่วนตัวที่นำไปให้ธนาคารรับรองว่ามีเงินในบัญชีกับธนาคาร โดยธนาคารจะกันเงินในบัญชีของลูกค้าไว้เพื่อรองรับการจ่ายเงินตามเช็ค
- Money Order คือ หนังสือสั่งจ่ายเงิน ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามที่ทำการไปรษณีย์หรือธนาคารทั่วไป ค่าธรรมเนียมจะถูกกว่า Cashier's Check
การใช้ Check Card หรือ Debit Card
ข้อปฏิบัติในการใช้ Check Card หรือ Debit Card
- ให้ตั้งรหัส (Pin Number) ที่สามารถจำได้ง่าย และกดรหัสให้ถูกต้อง เพราะถ้ากดรหัส ผิดเกิน 2 ครั้งในคราวเดียวกัน เครื่อง ATM จะยึดบัตรโดยอัตโนมัติ ทำให้ต้องเสียเวลาติดต่อ BANK เพื่อขอบัตรคืน ซึ่งอาจใช้เวลาเป็นสัปดาห์หรือกว่านั้น
- ปฏิบัติตามคำสั่งในเครื่องเป็นระยะ ๆ
- เมื่อได้รับเงินแล้ว ให้ตรวจนับทันที และอย่าลืมเก็บบัตรคืนจากเครื่องทุกครั้ง
หมายเหตุ
- ควรใช้เครื่อง ATM ในสถานที่ชุมชนพลุกพล่าน เพื่อความปลอดภัย และให้ตื่นตัวอยู่เสมอ
- ควรใช้เครื่อง ATM ของธนาคารเดียวกับที่ออกบัตร Check Card ให้ เพื่อหลีกเลี่ยงค่าค่าบริการระหว่างธนาคาร
- ในกรณีที่ต้องจดรหัส Pin Number ไว้กันลืม อย่าเก็บกระดาษที่จด Pin Number ไว้ในที่เดียวกับบัตรเดบิต/บัตร ATM โดยเด็ดขาด หากนักเรียนมีความรู้หลายภาษา อาจจดรหัสเป็นเลขไทยปนกับเลขจีน หรือเลขภาษาอื่น หรือแปลงรหัสเลขที่จดเป็นลำดับตัวอักษร เพื่อป้องกันมิให้ผู้ได้บัตรและเลขรหัสไปพร้อมกัน ใช้เบิกเงินโดยสะดวก
- ให้จดเบอร์โทรศัพท์ที่รับแจ้งบัตรหายไว้ติดตัว และให้โทรแจ้งทันทีที่ทราบว่าบัตรหาย
การให้ทิป
- การให้ทิปในอเมริกาเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ ส่วนใหญ่จะจ่ายเป็นอัตราร้อยละของค่าบริการ มีบ้างที่จ่ายตามจำนวนชิ้นหรือครั้ง ดังนี้
- ค่าทิปสำหรับบริการในร้านอาหารหรือภัตตาคาร (ยกเว้นในร้านอาหาร Fast Food หรือร้าน Self-Service) ให้ร้อยละ 15-20 ของค่าอาหาร
- ค่าทิปสำหรับพนักงานขับรถแท๊กซี่ ให้ร้อยละ 10-15 ของค่าโดยสาร (ไม่จำเป็นต้องให้ทิปสำหรับพนักงานขับรถเมล์)
- ค่าทิปสำหรับบริการตัดผมหรือเสริมสวย ให้ร้อยละ 10-15 ของค่าบริการ
- ค่าทิปสำหรับบริการหิ้วประเป๋าที่สนามบินหรือโรงแรม ให้ $1.00 ต่อกระเป๋า 1 ใบ
- ค่าทิปสำหรับบริการจอดรถ ให้ $1-$2
- การให้ทิป ถ้าเป็นร้านอาหาร ให้วางเงินค่าทิปไว้บนโต๊ะ ถ้าเป็นพนักงานขับรถแท๊กซี่ หรือพนักงานบริการหิ้วกระเป๋า ให้จ่ายเป็นเงินสดกับผู้ให้บริการโดยตรง นอกจากนี้ ในกรณีที่จ่ายค่าบริการผ่านบัตรเครดิต ท่านสามารถบวกเงินค่าทิปในใบเสร็จที่จ่ายผ่านบัตรเครดิตได้โดยตรง
หมายเหตุ
- ถ้าท่านเลือกจ่ายค่าทิปเป็นเงินสด แทนการจ่ายผ่านบัตรเครดิต อย่าลืมขีดคาดช่องบรรทัดที่เว้นไว้สำหรับเติมเงินค่าทิปในใบเสร็จที่ท่านต้องลงนาม ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้ผู้อื่นเติมเงินค่าทิปโดยที่ท่านไม่รับทราบ
- ก่อนจ่ายค่าทิป ให้ตรวจสอบว่าร้านค้าได้บวกค่าบริการไว้ในใบเสร็จแล้วหรือไม่ เพราะในกรณีที่ท่านไปทานอาหารเป็นกลุ่มใหญ่ (ประมาณ 5 คนขึ้นไป) ร้านค้ามีสิทธิบวกค่าบริการในใบเสร็จได้โดยไม่ต้องแจ้งท่านก่อน ในกรณีนี้ ท่านไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าทิปอีก เพราะได้ถูกรวมอยู่ในค่าบริการแล้ว
- ห้ามจ่ายค่าทิป หรือค่าน้ำร้อนน้ำชา ให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเด็ดขาด เพราะเป็นเรื่องผิดกฎหมายอย่างร้ายแรง
การดูแลสุขภาพ
ข้อควรปฏิบัติในการดูแลรักษาสุขภาพ
- ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใส ทำตัวสบาย ๆ พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมาก ๆ ทานอาหารให้เป็นเวลา และเป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย หมั่นออกกำลังสม่ำเสมอ ถ้าเป็นหน้าหนาว ให้ทำตัวให้อบอุ่นอยู่ตลอดเวลา ถ้าต้องออกไปกลางแดด ร้อนจัด ให้สวมหมวกกันแดด ใส่แว่นกันแดด ฯลฯ
- หากเจ็บป่วย ให้ใช้บริการของ Student Health Center ของสถานศึกษา โดยทั่วไป นักเรียนไม่ต้องเสียค่าบริการ (บางสถานศึกษาอาจคิดค่าบริการในราคาถูก) เพราะรวมอยู่ในค่าธรรมเนียมหรือค่าเล่าเรียนแล้ว SHC จะให้บริการรักษาพยาบาลกรณีโรคทั่ว ๆ ไป เช่น ปวดหัว ตัวร้อน เป็นไข้ ท้องเสีย สำหรับกรณีเจ็บป่วยสาหัส หรือฉุกเฉิน แพทย์ประจำ SHC จะส่งตัวนักเรียนไปคลีนิคหรือโรงพยาบาลที่มีข้อตกลงกับบริษัทประกันสุขภาพ
- หากนักเรียนมีโรคประจำตัว ให้ขอเอกสารทางการแพทย์ ซึ่งครอบคลุมรายละเอียดของโรค ประวัติการรักษาพยาบาล และข้อมูลที่เกี่ยวข้อง จากแพทย์เจ้าของไข้หรือสถานพยาบาลไทยที่นักเรียนใช้บริการประจำ เพื่อแพทย์ในสหรัฐฯ จะได้ดูแลรักษาได้อย่างถูกต้องและต่อเนื่อง
- นักเรียนทุกคนต้องทำประกันสุขภาพตลอดระยะเวลาที่ศึกษา สำหรับนักเรียนทุนส่วนตัว ให้สอบถามกับสถานศึกษา โดยปกติสถานศึกษาจะจัดหาบริษัทฯ ประกันให้ บางแห่งมีรายชื่อบริษัทฯ และกรมธรรม์หลายลักษณะให้เลือก ให้ศึกษาและเลือกบริษัทฯ และกรมธรรม์ที่เหมาะสม ส่วนนักเรียนทุนรัฐบาล สนร.จะมีหนังสือแนวปฏิบัติให้ทราบเป็นปี ๆ ไป
- สำหรับผู้ซึ่งมีครอบครัวมาด้วย จำเป็นต้องทำประกันสุขภาพให้กับสมาชิกในครอบครัวด้วย เพราะค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่นี่แพงมาก
ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
สหรัฐอเมริกาก็เหมือนทุกประเทศในโลก มีบางแห่ง บางเวลาที่อาจมีความเสี่ยงในชีวิตและทรัพย์สิน นักเรียนจึงควรทำการศึกษาและทำความคุ้นเคยกับทำเล สถานที่ ที่ควรหลีกเลี่ยง หรือช่วงเวลาที่ควรหลีกเลี่ยง ปกติ ทุกมหาวิทยาลัยจะมีหลักสูตรปฐมนิเทศนักเรียนใหม่ และในหลักสูตรจะมีการบรรยายและแนะนำเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัย ให้เข้าร่วมฟังและถือปฏิบัติตามคำแนะนำด้วย
วิธีการป้องกันตัวขั้นพื้นฐาน
- หากเลือกพักอาศัยนอกสถานศึกษา ให้ศึกษาทำเลที่ตั้งและสภาพชุมชมรอบบริเวณที่จะเลือกพัก และให้เลือกพักอาศัยในทำเลที่ปลอดภัยไว้ก่อน
- อย่าเดินคนเดียวยามค่ำคืน หากจำเป็น ควรหาคนเดินเป็นเพื่อน เลือกคนที่ไว้ใจได้ บางสถานศึกษามีบริการจัดหาเพื่อนร่วมเดิน (Accompaniment Services) หลังเลิกเรียนหรือหลังห้องสมุดปิดในตอนเย็นหรือค่ำ บางสถานศึกษามีตำรวจประจำสถานศึกษาซึ่งคอยให้บริการเดินเป็นเพื่อนกลับหอพัก
- ให้ใส่กลอนประตูหน้าต่างทุกบานให้เรียบร้อยก่อนออกจากห้องพัก อพาร์ทเม้นท์ หรือรถ และอย่าทิ้งสิ่งของมีค่าไว้ในที่พักหรือรถเป็นอันขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินสดและเครดิตการ์ด
- อย่าพกเงินสดติดตัวเป็นจำนวนมาก และอย่าสวมใส่เครื่องประดับราคาแพง
- อย่าขึ้นรถไปกับคนแปลกหน้า ห้ามโบกรถ และห้ามรับคนโบกรถขึ้นรถเด็ดขาด
- ระมัดระวังกระเป๋าถือหรือกระเป๋าสตางค์ โดยเฉพาะในบริเวณที่มีคนหนาแน่น เพราะจะมีพวกมิจฉาชีพอยู่เยอะ หากพกกล้องถ่ายรูป เครื่องแลปท๊อป ฯลฯ ก็ให้ถือหรือสะพายติดตัวด้วยความระมัดระวัง อย่าวางบนโต๊ะเก้าอีโดยไม่มีใครเฝ้าดูแลโดยเด็ดขาด
- อย่าเปิดประตูบ้านให้คนแปลกหน้า ถ้ามีผู้อ้างตนเป็นตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้ขอดูบัตรประจำตัว โดยอาจขอให้สอดบัตรผ่านใต้ประตู และให้โทรตรวจสอบกับสถานีตำรวจว่ามีคนชื่อดังกล่าว และได้รับมอบหมายให้มาตรวจสอบที่บ้านหรือไม่ (เคยมีกรณีตัวอย่างของนักเรียนเปิดประตูให้กับคนร้ายซึ่งอ้างตนเป็นตำรวจแล้ว)
- ถ้าประจัญหน้ากับผู้ร้าย ไม่ว่าจะเป็นที่บ้านหรือตามถนน อย่าขัดขืน ขัดขวาง หรือต่อสู้กับคนร้าย จำไว้เสมอ “เสียทรัยพ์สินดีกว่าเสียชีวิต” ให้ทำใจเย็น ๆ และสังเกตรูปพรรณสัณฐานของคนร้ายให้มากที่สุด เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการสอบสวนและสืบหาตัวคนร้ายต่อไป
การนำครอบครัวมาพักอาศัยด้วย
ให้นักเรียนปรึกษาและขอคำแนะนำจาก International Student Advisor ของสถานศึกษาก่อนที่จะนำสมาชิกในครอบครัวมาพำนักอาศัยที่สหรัฐฯ
ข้อควรรู้ สำหรับผู้นำบุตรมาพักอาศัยด้วย
- กฎหมายห้ามผู้ปกครองปล่อยให้เด็กซึ่งอายุ 11 ขวบหรือน้อยกว่า อยู่ตามลำพัง ดังนั้น ในกรณีที่ผู้ปกครองต้องออกไปทำธุระนอกบ้าน จะต้องนำเด็กไปฝากที่สถานรับเลี้ยงเด็กหรือหาคนช่วยเลี้ยงเด็ก (Nanny) ในระหว่างนั้น
- กฏหมายกำหนดให้เด็กต้องเข้าเรียนตั้งแต่อายุ 6-16 ขวบ หรือจนกว่าจะจบ High School หากเด็กไม่ได้รับการศึกษาตามที่กำหนด ผู้ปกครองจะถูกลงโทษ
- เด็กทุกคนที่พักอาศัยในสหรัฐฯ (ไม่จำเป็นต้องเป็นคนอเมริกัน) มีสิทธิได้รับการศึกษาจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (Grade 12) ในสถานศึกษาระดับของรัฐบาล โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ เด็กจะต้องถือวีซ่า F-2 หรือ J-2 หรือ A2 ขึ้นอยู่กับวีซ่าผู้ปกครอง (F-1 หรือ J-1 หรือ A-1)
- สถานรับเลี้ยงเด็ก (Home Day Care) มีทั้งประเภท Part Time และ Full Time รับบริการดูแลตั้งแต่เด็กอ่อนจนถึงเด็กก่อนวัยเรียน มีบริการรายรูปแบบ บางแห่งมีบริการส่งผู้ดูแล (Baby-Sitter หรือ Nanny) มาดูแลที่บ้านพัก แต่ส่วนใหญ่จะให้ผู้ปกครองนำเด็กไปส่งที่สถานรับเลี้ยงเด็ก บางแห่งรับดูแลเด็กช่วงก่อนและช่วงหลังโรงเรียนเลิก โดยจะดูแลจนกระทั่งผู้ปกครองมารับกลับในตอนเย็นหลังเลิกงาน สำหรับค่าบริการแตกต่างกันตามพื้นที่
- Nursery School/Preschool จะรับเด็กอายุ 3-5 ขวบ จะเรียนประมาณสัปดาห์ 2-5 วัน โดยอาจจะเปิดเรียนในช่วงเช้าหรือช่วงบ่าย เน้นการเตรียมความพร้อมของเด็ก โดยผ่านกิจกรรมสนุกสนาน
หมายเหตุ
ให้นำใบรับรองผลการศึกษา (Transcript) ฉบับตัวจริง และฉบับแปลของบุตร ติดตัวมาด้วย เพราะต้องใช้ในการสมัครเข้าศึกษา ฉบับแปลจะต้องออกโดยกระทรวงการต่างประเทศของไทย หรือสถานทูตหรือสถานกงสุลไทย
การปฏิบัติตัวเมื่อถูกจับกุม
หากนักเรียนผู้ใดมีเหตุที่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง หรือมีส่วนรู้เห็น หรือถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดกฎหมาย และถูกควบคุมตัวโดยเจ้าพนักงานของสหรัฐฯ หรือของมลรัฐ ขออย่าตื่นตกใจ ให้คุมสติมั่น และอย่าเพิ่งให้การใด ๆ กับเจ้าพนักงานจนกว่าจะได้ดำเนินการดังต่อไปนี้
- ขออนุญาตเจ้าพนักงานโทรศัพท์ติดต่อกับสถานทูต/กงสุลไทยในสหรัฐฯ หรือ สนร. (สนร.มีฐานะเป็นผู้ปกครองตามกฎหมายของนักเรียนทุนฯ) โดยในกรณีฉุกเฉินหรือต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน สามารถติดต่อ สนร.ได้ที่เบอร์ของหน่วยนักเรียนที่รับผิดชอบทุนของท่าน
- ให้ขอใช้สิทธิตาม Miranda Warning อย่าเพิ่งให้การใด ๆ กับเจ้าพนักงาน ให้รอจนกว่าจะมีทนายและได้หารือกับทนาย รวมทั้งแจ้ง สนร.ก่อน การให้การใด ๆ เพราะในขณะนั้น พวกเราอาจตกใจ ขาดสติ ไม่สามารถควบคุมตนเองได้
ขอให้นักเรียนทุกคนปฏิบัติตนตามกฎหมายสหรัฐฯ อย่าทำอะไรที่ผิดกฎหมาย หมั่นเตือนตัวเองเสมอว่า ก่อนจะทำสิ่งใด ให้คิดให้รอบคอบ คำนึงถึงผลที่จะตามมา อย่าทำโดยอารมณ์ชั่ววูบ เพราะผู้ได้รับผลกระทบจากกระทำของพวกเรา นอกจากตัวเราเองแล้ว ยังมีครอบครัว ได้แก่ พ่อ แม่ พี่ น้อง ญาติ และคนรักของเรา ดังนั้น ก่อนจะตัดสินใจทำอะไร ให้คิดไตร่ตรองให้รอบคอบ ชั่งน้ำหนักผลดีผลเสียก่อนทุกครั้ง หากมีปัญหาคับข้องใจหรือต้องการระบายอะไร หรือต้องการคำแนะนำใด ๆ ขอให้พูดคุยหารือกับคนใกล้ชิด หรือเจ้าหน้าที่ สนร. เจ้าหน้าที่ของ สนร.พร้อมรับฟังเสมอ ขอให้ระลึกเสมอว่า สนร.เป็นบ้านที่สองของพวกเราทุกคน
หมายเหตุ
Miranda Warning มีเนื้อหาสาระ ดังนี้
“You have the right to remain silent and refuse to answer questions. Do you understand?
Anything you do say may be used against you in a court of law. Do you understand?
You have the right to consult an attorney before speaking to the police and to have an attorney present during questioning now or in the future. Do you understand?
If you cannot afford an attorney, one will be appointed for you before any questioning if you wish. Do you understand?
If you decide to answer questions now without an attorney present you will still have the right to stop answering at any time until you talk to an attorney. Do you understand?
Knowing and understanding your rights as I have explained them to you, are you willing to answer my questions without an attorney present?”
การคมนาคมขนส่งทางรถยนต์ในสหรัฐอเมริกา
บทนำ
บ่อยครั้งที่ท่านอาจต้องขับรถหรือนำทางไปยังสถานที่ต่างๆ บางครั้งต่างเมือง บางครั้งต่างรัฐ ทั้งระยะใกล้และระยะไกล ซึ่งท่านต้องใช้บริการระบบโครงข่ายถนนของสหรัฐอเมริกาเป็นส่วนใหญ่ ความรู้เกี่ยวกับประเภทถนนและการตั้งชื่อถนนมีความสำคัญที่จะช่วยป้องกันการหลงทางในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคยได้
ถนนหลักๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกา มี 3 ประเภท ได้แก่
- Interstate Highway
- United States Highway
- State Route
1. Interstate Highway
Interstate Highway เป็นโครงข่ายถนนระหว่างรัฐ ตามมาตรฐานประกอบด้วยถนนอย่างน้อย 4 ช่องทางจราจรแบ่งทิศไปกลับ ไม่มีสัญญาณไฟจราจรระหว่างทาง มีทางออกและทางเข้าชัดเจนเพื่อป้องกันการจราจรติดขัด นับได้ว่าเป็นถนนที่มีคุณภาพมากที่สุด เนื่องจากส่วนใหญ่มีระบบป้องกันอุบัติภัย เช่น แถบสีสะท้อนแสงและไหล่ทางป้องกันการตกถนน (คล้ายกับสีที่ทาขวางกลางช่องจราจรบนถนนในประเทศไทยเพื่อทำให้เกิดเสียงเตือนก่อนเข้าเขตใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ) สภาพทางที่ไม่ชันและไม่โค้งเกินไป เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีขีดจำกัดอัตราเร็ว (Speed Limit) สูงที่สุด คือประมาณ 65-75 ไมล์ต่อชั่วโมง ขึ้นกับรัฐ
การกำหนดหมายเลข Interstate Highway มีดังนี้
- ถนนสายหลักมีเลขไม่เกิน 2 หลัก โดยเลข "คี่" เป็นสายที่วิ่งเหนือ-ใต้ ส่วนเลข "คู่" เป็นสายที่วิ่งตะวันออก-ตะวันตก การนับเลขคี่จะนับจากฝั่งตะวันตก (Pacific) ไปยังฝั่งตะวันออก (Atlantic) ส่วนเลขคู่จะนับจากด้านใต้ไปยังด้านเหนือ ถนนหลักของถนนเหล่านี้ (Primary routes) ลงท้ายด้วย 5 หรือ 0 เช่น I-5 เป็นถนนที่วิ่งเหนือ-ใต้ฝั่งแคลิฟอร์เนีย (แปซิฟิก) ส่วน I-95 เป็นถนนที่วิ่งเหนือ-ใต้ฝั่งแอตแลนติกจากรัฐเมน (Maine) ไปยังรัฐฟลอริดา (Florida) I-10 เป็นถนนที่วิ่งตะวันตก-ตะวันออกด้านใต้ของสหรัฐฯ (California-Texas-Florida) ส่วน I-90 เป็นถนนที่วิ่งตะวันตก-ตะวันออกด้านเหนือของสหรัฐฯ (Washington-Illinois-Massachusetts)
- ถนนสายอื่นๆ ที่มีเลขไม่เกิน 2 หลักจัดเป็น Main routes เช่น I-76 I-93 เป็นต้น
- ถนนที่มีเลข 3 หลักเป็นถนนสายรองของ Interstate Highway โดยมีการกำหนดเลขแตกต่างออกไป คือ กลุ่มเลขที่ได้จากการตัดเลขหลักแรกออกคือหมายเลขถนนสายแม่ ส่วนเลขหลักแรกเป็นตัวบ่งชนิดของถนน กล่าวคือ เลขคี่เป็นถนนซึ่งมีปลายทาง ณ ทางแยกที่ไม่ใช่ Interstate (Interstate ends) เลขคู่เป็นถนนที่มีต้นทางและปลายทางที่ถนนสายแม่ เช่น I-495 มีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดอยู่ที่ I-95 ส่วน I-393 มีจุดเริ่มต้นอยู่ที่ I-93 แต่จุดสิ้นสุดบรรจบกับถนนสายอื่นที่ไม่ใช่ Interstate Highway เป็นต้น
การกำหนดหมายเลขไมล์และหมายเลขทางออกของ Interstate Highway มีหลักการโดยทั่วไปดังนี้
- การนับเลขไมล์และทางออกจะเริ่มนับจากด้านใต้หรือด้านตะวันตกของรัฐ เช่น I-95 ในรัฐ New Hampshire จะนับเลขไมล์และทางออกจากด้านใต้ของรัฐ (Mile 0 และ Exit 1 ตามลำดับ) I-76 ในรัฐ Pennsylvania จะนับเลขไมล์และทางออกจากด้านตะวันตกของรัฐ เป็นต้น ในบางครั้งการนับหมายเลขทางออกจะนับแบบเรียงลำดับ (Exit 1, Exit 2, Exit 3, …) แต่ในบางครั้งการนับก็จะอ้างอิงเลขไมล์เป็นหลักแทน กล่าวคือ เลขทางออกจะเป็นเลขไมล์ของตำแหน่งทางออก หากบางทางออกอยู่ใกล้กัน หรืออยู่ในไมล์เดียวกัน ก็จะใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษเป็นตัวแบ่งย่อย เช่น Exit 8A, Exit 8B, Exit 8C เป็นต้น
หมายเหตุ เงื่อนไขที่กล่าวมาทั้งหมดมีข้อยกเว้น แต่เป็นส่วนน้อย
2. United States Highway
United States Highway เป็นโครงข่ายถนนระหว่างรัฐเช่นเดียวกับ Interstate Highway แต่อาจมีสัญญาณไฟจราจร และไม่จำเป็นต้องมี 4 ช่องจราจร โดยทั่วไป Speed Limit จะต่ำกว่า Interstate Highway
การกำหนดหมายเลข United States Highway มีดังนี้
- ถนนสายหลักมีเลขตั้งแต่ 1-101 โดยเลขคี่เป็นสายที่วิ่งเหนือ-ใต้ ส่วนเลขคู่เป็นสายที่วิ่งตะวันออก-ตะวันตก การนับเลขคี่จะนับจากฝั่งตะวันออก (Atlantic) ไปยังฝั่งตะวันตก (Pacific) ส่วนเลขคู่จะนับจากด้านเหนือไปยังด้านใต้ ถนนหลักของถนนเหล่านี้ (Primary routes) ลงท้ายด้วย 0 หรือ 1 เช่น US-1 เป็นถนนที่วิ่งเหนือ-ใต้ฝั่งแอตแลนติกจากรัฐเมน (Maine) ไปยังรัฐฟลอริดา (Florida) US-101 เป็นถนนที่วิ่งเหนือ-ใต้ฝั่งแคลิฟอร์เนีย (แปซิฟิก) US-2 เป็นถนนที่วิ่งตะวันออก-ตะวันตกด้านเหนือของสหรัฐฯ (Maine-New York และ Michigan-Washington) US-90 เป็นถนนที่วิ่งตะวันออก-ตะวันตกด้านใต้ของสหรัฐฯ (Florida-Mississippi-Texas) เป็นต้น US Highway บางสายไม่ต่อเนื่องกันเนื่องจากต่อมามีการก่อสร้าง Interstate Highway ในกรณีนี้ United States Highway ได้รับการยกฐานะเป็น Interstate แทน
- ถนนสายอื่นๆ ที่มีเลขไม่เกิน 2 หลักจัดเป็น Main routes เช่น US-4 เป็นต้น
- ถนนที่มีเลข 3 หลัก (ยกเว้น US-101) เป็นถนนสายรองของ United States Highway โดยเลขที่ไม่ใช่หลักแรกคือหมายเลขถนนสายแม่ เช่น US-202 เป็นถนนสายรองของ US-2 US-322 เป็นถนนสายรองของ US-22 เป็นต้น แต่บ่อยครั้งที่การกำหนดหมายเลขเหล่านี้ไม่ตรงไปตามหลักเกณฑ์
3. State Route
State Route เป็นถนนของแต่ละรัฐระดับพื้นฐาน เชื่อมต่อเมืองต่างๆ เข้าด้วยกัน แต่ละรัฐจะใช้สัญลักษณ์แตกต่างกันไป จัดได้ว่าเป็นถนนที่มีคุณภาพต่ำกว่า Interstate Highway และ U.S. Highway
บางครั้งถนนที่เราวิ่งอาจมีการเก็บเงินค่าธรรมเนียมการใช้ถนน ส่วนใหญ่เรียกว่า Turnpike โดยส่วนมากถนนเหล่านี้จะเป็น Interstate Highway เช่น Pennsylvania Turnpike คือ I-76 ในรัฐ Pennsylvania, Everett Turnpike คือส่วนของ I-93 ในรัฐ New Hampshire เป็นต้น ในบางครั้งก็เป็น State Route เช่น Spaulding Turnpike คือส่วนของ NH-16 ในรัฐ New Hampshire เป็นต้น แต่ในบางครั้งอาจเป็นถนนพิเศษ เช่น Parkway และถนนที่ตัดขึ้นเพื่อใช้เป็น Turnpike โดยเฉพาะ ตัวอย่างของถนนประเภทเหล่านี้คือ Palisade Interstate Parkway ในรัฐ New York และ New Jersey Turnpike ในรัฐ New Jersey เป็นต้น นอกจากนี้ การจ่ายค่าผ่านทางในรัฐแถบตะวันออกเฉียงเหนือ (ME, NH, MA, NY, NJ, PA, DE, MD, VA, WV, และ IL) อาจใช้บัตรจ่ายค่าผ่านทางพิเศษ หรือที่รู้จักกันในชื่อ E-ZPass ได้ ซึ่งจะทำให้การจ่ายค่าผ่านทางเป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น
ด้วยเกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ เมื่อใดที่ท่านขับรถอยู่บน Interstate กลางภูเขาหรือในเมือง ท่านก็จะมั่นใจได้ว่าขณะนี้กำลังขับรถไปในทิศทางใด อยู่ส่วนใดของรัฐ หรือกำลังหลงทางหรือไม่ แต่ที่สำคัญ แผนที่ทางหลวงคือเพื่อนร่วมทางของท่านเสมอ ดังนั้น เมื่อท่านขับรถหรือเป็นผู้นำทางไปในที่ที่ไม่คุ้นเคย ก็อย่าลืมพกแผนที่ติดตัวไปด้วยนะครับ
เรียบเรียงโดย ชินวัตร อิศราดิสัยกุล
นักเรียนทุนรัฐบาลไทยรุ่นปี 2547 (TS47)
31 ตุลาคม 2548
การขนส่งมวลชนทางบกในสหรัฐอเมริกา
แม้ว่าการเดินทางด้วยตนเองในสหรัฐอเมริกาจะเป็นสิ่งที่สะดวก แต่ในบางครั้ง การใช้บริการขนส่งมวลชนก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้ท่านประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เช่น ค่าน้ำมัน ค่าบำรุงดูแลรักษารถ ค่าธรรมเนียมผ่านทาง เป็นต้น บทความนี้แนะนำบริการขนส่งมวลชนทางบกต่างๆ ที่สำคัญในสหรัฐอเมริกา
รถยนต์โดยสาร (Bus)
รถยนต์โดยสารเป็นทางเลือกของการเดินทางที่สะดวก เพราะในปัจจุบัน ทุกรัฐ ทุกเมือง มีถนนหนทางเข้าถึง ดังนั้น การเดินทางโดยรถยนต์โดยสารจึงเป็นทางเลือกอันดับแรกๆ ของนักเดินทาง เนื่องจากราคาถูก และหาซื้อตั๋วโดยสารได้ง่าย การเดินรถยนต์โดยสารระหว่างเมืองในประเทศสหรัฐอเมริกาดำเนินการโดยบริษัท Greyhound Lines, Inc. ให้บริการทั้ง 48 รัฐในแผ่นดินใหญ่สหรัฐ ท่านสามารถจองตั๋วโดยสารออนไลน์ได้ที่ http://www.greyhound.com/ ทั้งนี้ โปรดสังเกตการสะกดคำของ Greyhound ว่าเป็นตัว e ไม่ใช่ตัว a อย่างไรก็ดี Greyhound ไม่ใช่บริษัทเดินรถโดยสารระหว่างเมืองบริษัทเดียวของสหรัฐฯ
ข้อแนะนำในการใช้บริการรถโดยสาร Greyhound
- ท่านไม่จำเป็นต้องจองตั๋วโดยสารล่วงหน้า ดังนั้น ท่านสามารถวางแผนการเดินทางได้ในระยะเวลาที่กระชั้นชิดและซื้อตั๋วได้ในวันโดยสารที่สถานี
- เมื่อจองตั๋วออนไลน์ Greyhound สามารถขายตั๋วเกินจำนวนที่นั่งได้ ดังนั้น ในวันเดินทาง หากรถโดยสารเต็ม แม้ว่าท่านจะมีตั๋วโดยสาร ท่านจะไม่ได้รับอนุญาตให้โดยสารรถ
- หากท่านมีบัตรส่วนลด Student Advantage ท่านสามารถใช้ส่วนลดค่าโดยสาร 15% เมื่อซื้อตั๋วโดยสาร
- เมื่อซื้อตั๋วโดยสารออนไลน์ ท่านสามารถเลือกให้ Greyhound ส่งตั๋วมาที่บ้าน หรือเลือกที่จะรับตั๋วที่สถานีรถโดยสาร (Will Call Tickets) ก็ได้
- เมื่อจองตั๋วออนไลน์แล้ว ท่านจะได้รับ Reference Number ให้ท่านเก็บเลขนี้ไว้เพื่อรับตั๋วโดยสารที่สถานี
- เมื่อซื้อตั๋วแล้ว ท่านสามารถโดยสารรถใดก็ได้ที่ตามต้นทางและปลายทางที่ระบุไว้ในตั๋ว โดยไม่จำเป็นต้องเป็นหมายเลขรถที่ระบุไว้ในวันที่ระบุไว้ในตั๋วโดยสาร ท่านไม่สามารถคืนตั๋วโดยสารได้แม้ว่าท่านจะไม่ได้ใช้ตั๋วโดยสารก็ตาม
ข้อปฏิบัติในการโดยสารรถโดยสาร Greyhound
- มาถึงสถานีอย่างน้อย 1 ชั่วโมงก่อนรถโดยสารออกจากสถานีตามเวลาที่ระบุในตั๋วโดยสารหรือในอีเมลที่ได้รับเมื่อจองตั๋วโดยสาร
- หากซื้อตั๋วออนไลน์แล้วแต่ยังไม่มีตั๋วโดยสาร เมื่อมาถึงสถานีแล้วต้องขอรับตั๋วโดยสารจากเจ้าหน้าที่ที่ช่องขายตั๋ว โดยต้องแสดง Photo Identification ต่อเจ้าหน้าที่ หรือใช้บริการเครื่องพิมพ์ตั๋วอัตโนมัติในสถานี ทั้งนี้ท่านต้องใช้บัตรเครดิต/เดบิตที่ใช้ซื้อตั๋วโดยสาร และต้องกรอก Reference Number ที่ได้รับเมื่อจองตั๋วออนไลน์จึงจะรับตั๋วได้
- ตามสถานีใหญ่ๆ การโดยสารรถยนต์โดยสารจะมีการต่อแถวเพื่อออกไปขึ้นรถ ดังนั้น ให้ติดตามว่า ขบวนรถที่ท่านจะโดยสารนั้นจะใช้ประตู (Gate) ใดเพื่อการโดยสาร และไปต่อแถวก่อนเวลารถออก เนื่องจากในบางครั้ง รถโดยสารอาจเต็มได้
ข้อดีของ Greyhound
- ราคาถูก สะดวกในการหาสถานีและขึ้นรถ เพราะมีสถานีรถโดยสารกระจายอยู่ตามที่ต่างๆ ของประเทศ
- ให้บริการทั่วถึงทุกส่วนของประเทศ
- หากท่านพลาดการโดยสาร ท่านสามารถใช้ตั๋วเดิมเพื่อรอการโดยสารรถเที่ยวต่อไปได้
ข้อเสียของ Greyhound
- ไม่มีการรับรองความปลอดภัยและความตรงต่อเวลา ดังนั้น เมื่อท่านวางแผนใช้บริการ Greyhound โปรดสำรองเวลาในกรณีที่รถโดยสารล่าช้าด้วย เนื่องจาก Greyhound จะไม่รับผิดชอบต่อการล่าช้าของรถโดยสารไม่ว่ากรณีใดๆ
- ไม่รับรองที่นั่งบนรถ แม้ว่าท่านจะมีตั๋วโดยสารที่ระบุหมายเลขรถนั้น ในวันที่โดยสารนั้นก็ตาม ดังนั้น หากท่านไปถึงสถานีก่อนเวลา แต่รถโดยสารเต็มแล้ว ท่านต้องรอรถเที่ยวต่อไป ซึ่งในบางครั้งอาจห่างกันถึง 6 ชั่วโมง
รถไฟ (Train)
รถไฟเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการเดินทาง เนื่องจากสะดวกและปลอดภัย การบริการรถไฟโดยสารระหว่างเมือง (intercity) ในประเทศสหรัฐอเมริกาดำเนินการโดยบริษัท National Railroad Passenger Corporation ที่รู้จักกันในชื่อ Amtrak ให้บริการ 46 รัฐในแผ่นดินใหญ่สหรัฐ (ยกเว้น South Dakota และ Wyoming) รถไฟสายต่างๆ มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามภูมิภาคที่รถไฟวิ่งผ่าน เช่น Capitol Limited วิ่งระหว่างนครชิคาโกกับกรุงวอชิงตัน ดีซี Sunset Limited วิ่งระหว่างเมือง Orlando, FL กับนครลอสแอนเจลิส Keystone วิ่งระหว่างนครนิวยอร์กกับเมือง Harrisburg, PA Carolinian วิ่งระหว่างนครนิวยอร์กกับเมือง Charlotte, NC เป็นต้น การกำหนดเลขขบวนรถของ Amtrak นั้นจะกำหนดเลขคี่เป็นขบวนรถที่วิ่งไปทางใต้หรือตะวันตก ส่วนเลขคู่คือขบวนรถที่วิ่งไปทางเหนือหรือตะวันออก เช่น Regional 196 วิ่งจากกรุง Washington, DC ไปยังนคร New York, NY (ไปทางเหนือ) ส่วน Capitol Limited 29 วิ่งจากกรุง Washington, DC ไปยังนคร Chicago, IL (ไปทางตะวันตก) ทั้งนี้ยกเว้นสาย Pacific Surfliner (เส้นทาง Santa Barbara-Los Angeles-San Diego) เนื่องจากการกำหนดเลขได้รับผลจากสายใกล้เคียง
ชนิดของที่นั่งบนรถไฟแตกต่างกันไปคล้ายกับรถไฟในประเทศไทย กล่าวคือ มีรถนอนประเภทต่างๆ รถนั่งประเภทต่างๆ รถขายอาหาร รถชมวิว (Lounge Car) รถบรรทุกรถยนต์ (AutoTrain) เป็นต้น ท่านสามารถจองตั๋วรถไฟออนไลน์ได้ที่ http://www.amtrak.com/ ทั้งนี้รถที่วิ่งระยะทางไกล (มากกว่า 12 ชม.) อาจมีการล่าช้า ดังนั้นเมื่อท่านเดินทางโดยรถไฟในระยะไกลควรวางแผนสำรองเวลาในกรณีที่ขบวนรถล่าช้า ซึ่งในบางครั้งอาจถึง 12 ชั่วโมง
ชุมทางรถไฟ Amtrak ที่สำคัญในสหรัฐอเมริกา ได้แก่สถานี Pennsylvania Station, New York, NY, Union Station, Washington, DC, Union Station, Chicago, IL, และ Union Station, Los Angeles, CA สถานีอื่นๆ ที่มีการใช้บริการเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ เช่น Philadelphia 30th Street Station, PA, Newark, NJ, Trenton, NJ, Boston South Station, MA, Princeton Junction, NJ, Baltimore Penn Station, MD เป็นต้น
รถไฟสายที่สำคัญที่สุดในสหรัฐอเมริกาคือสาย Northeast Corridor ซึ่งขบวนรถส่วนใหญ่วิ่งผ่าน New York, NY, Newark, NJ, Trenton, NJ, Philadelphia, PA, Wilmington, DE, Baltimore, MD, BWI Airport, MD, และ Washington, DC รถไฟสายนี้มี 2 บริการ ได้แก่ Regional และ Acela Express โดยประเภทแรกเป็นขบวนรถพื้นฐาน ให้บริการกับประชาชนทั่วไป มีราคาถูกกว่า Acela Express ซึ่งให้บริการเฉพาะ Business Class และ First Class เท่านั้น จึงมีราคาแพงกว่ามาก
ข้อแนะนำในการใช้บริการรถไฟ Amtrak
- ตั๋วโดยสารส่วนใหญ่ต้องมีการจองล่วงหน้า ดังนั้น ในการวางแผนการเดินทาง โดยเฉพาะช่วงเทศกาล ควรวางแผนล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน รถไฟบางประเภทไม่จำเป็นต้องมีการจองตั๋วล่วงหน้า โดยท่านจะพบคำว่า Unreserved Coach Seat เมื่อจองตั๋วออนไลน์ Amtrak สามารถขายตั๋วเกินจำนวนที่นั่งในขบวนรถประเภทนี้ ดังนั้น ท่านอาจจะไม่มีที่นั่งเมื่อโดยสารขบวนรถ ทั้งนี้ ขบวนรถที่เป็น Unreserved จะเป็นขบวนรถระยะสั้น
- หากท่านมีบัตรส่วนลดต่างๆ เช่น Student Advantage หรือ International Student Identity Card (ISIC) ท่านสามารถใช้ส่วนลดค่าโดยสาร 15% เมื่อจองตั๋วล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วันก่อนวันเดินทาง
- เมื่อซื้อตั๋วโดยสารออนไลน์ ท่านสามารถเลือกให้ Amtrak ส่งตั๋วมาที่บ้าน หรือเลือกที่จะรับตั๋วที่สถานี หากท่านต้องการรับตั๋วที่สถานี ให้ตรวจสอบว่าสถานีที่ท่านจะโดยสารนั้นมีช่องจำหน่ายตั๋วหรือเครื่องออกตั๋วหรือไม่ หากไม่มีให้เลือกใช้บริการส่งตั๋วถึงบ้าน
- เมื่อจองตั๋วออนไลน์แล้ว ท่านจะได้รับ Confirmation Number 6 หลัก ทางอีเมล ให้ท่านเก็บเลขนี้ไว้เพื่อรับตั๋วโดยสารที่สถานี
- เมื่อซื้อตั๋วแล้ว ท่านต้องโดยสารขบวนรถที่ระบุไว้ในวันที่ระบุไว้ หรือโดยสารขบวนรถที่เป็น Unreserved เหมือนกัน หากท่านไม่สามารถโดยสารขบวนรถดังกล่าวได้ ท่านสามารถคืนตั๋วโดยสารออนไลน์หรือที่สถานี โดยทั่วไปจะไม่มีการหักค่าธรรมเนียมในการคืนตั๋วหากท่านยังไม่ได้รับตั๋วโดยสาร
ข้อปฏิบัติในการโดยสารรถไฟ Amtrak
- มาถึงสถานีอย่างน้อย 30 นาทีก่อนขบวนรถออกจากสถานีตามเวลาที่ระบุในตั๋วโดยสารหรือในอีเมลที่ได้รับเมื่อจองตั๋วโดยสาร
- หากซื้อตั๋วออนไลน์แล้วแต่ยังไม่มีตั๋วโดยสาร เมื่อมาถึงสถานีแล้วต้องขอรับตั๋วโดยสารจากเจ้าหน้าที่ที่ช่องขายตั๋ว หรือใช้บริการ QuikTrak Machine ซึ่งเป็นเครื่องพิมพ์ตั๋วอัตโนมัติในสถานี ทั้งนี้ท่านต้องใช้บัตรเครดิต/เดบิตที่ใช้ซื้อตั๋วโดยสาร และต้องกรอก Confirmation Number ที่ได้รับเมื่อจองตั๋วออนไลน์จึงจะรับตั๋วได้ ท่านจะไม่ได้รับอนุญาตให้โดยสารรถไฟหากท่านไม่มีตั๋วโดยสารที่ถูกต้อง
- ในสถานีใหญ่ๆ การโดยสารรถไฟจะมีการต่อแถวเพื่อลงไปยังชานชาลา ดังนั้น ให้ติดตามว่า ขบวนรถที่ท่านจะโดยสารนั้นจะใช้บันได (Stairway) ใดเพื่อรอการโดยสาร ท่านต้องแสดงตั๋วโดยสารแก่เจ้าหน้าที่ก่อนลงไปชานชาลา หากไม่มีตั๋วโดยสาร ท่านจะไม่ได้รับอนุญาตให้ลงไปชานชาลา
- ท่านต้องมี Valid Photo Identification ติดตัวไว้เสมอในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของ Amtrak ขอตรวจสอบ
- บนขบวนรถ อย่าทิ้งสัมภาระไว้โดยลำพัง ท่านอาจทิ้งสัมภาระได้ในกรณีที่ใช้สุขา แต่ทั้งนี้ให้นำของมีค่าติดตัวไปด้วย สำหรับคอมพิวเตอร์พกพา (Laptop) สามารถทิ้งไว้ที่ที่นั่งของท่านได้ มักจะไม่หาย
- หากสิ่งของหายให้แจ้งเจ้าหน้าที่ประจำรถ พึงระลึกไว้ว่า สิ่งของของท่านจะอยู่บนขบวนรถเสมอหากขบวนรถไม่ได้หยุดรับส่งผู้โดยสารที่สถานี
ข้อดีของ Amtrak
- สะดวก ปลอดภัย ตรงต่อเวลาหากเป็นขบวนรถระยะสั้น เช่น Northeast Corridor
- ที่นั่งสบาย เหมาะสำหรับการพูดคุย พักผ่อน หรือทำงาน
- มีแหล่งจ่ายไฟ 110V ไว้สำหรับคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์เคลื่อนที่ และอุปกรณ์อื่นๆ
- หากเป็นขบวนรถที่ Reserved ท่านจะมีที่นั่งเสมอเมื่อโดยสารขบวนรถ
- ในขบวนรถบางขบวนจะมี Quiet Car ซึ่งไม่อนุญาตให้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ และการสนทนาจะอยู่ในระดับต่ำ สำหรับท่านที่ต้องการใช้สมาธิเพื่อทำงาน หรือต้องการความเงียบเพื่อพักผ่อน สามารถโดยสาร Quiet Car ได้
ข้อเสียของ Amtrak
- ราคาแพงกว่า Greyhound ในขบวนรถระยะไกลบางขบวน หากท่านใช้บริการรถนอน อาจมีราคาแพงกว่าเครื่องบิน
- ให้บริการไม่ครบทุกส่วนของประเทศ
- หากท่านวางแผนการเดินทางผิด ทำให้พลาดการโดยสาร ท่านต้องซื้อตั๋วโดยสารใหม่ ทั้งนี้ หากท่านต้องต่อขบวนรถอื่นๆ ของ Amtrak แต่ขบวนรถแรกที่ท่านโดยสารล่าช้า ทำให้พลาดการโดยสาร ท่านสามารถติดต่อช่องจำหน่ายตั๋วได้เพื่อขอคำแนะนำหรือขอค่าโดยสารคืน
ผู้เขียนเชื่อว่า เพื่อนนักเรียนทุนทุกคนที่ศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกาจะมีโอกาสได้ใช้บริการเหล่านี้อย่างน้อยหนึ่งครั้งตลอดระยะเวลาที่ศึกษาที่นี่ หากเพื่อนๆ ต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ไม่มีแผนการเดินทางที่รีบเร่ง ก็ควรใช้บริการ Greyhound แต่ถ้าเพื่อนๆ ต้องการใช้บริการที่ตรงต่อเวลา สะดวก สบาย รวดเร็ว และไว้วางใจได้ ก็ควรใช้บริการ Amtrak ครับ
ชินวัตร อิศราดิสัยกุล
นักเรียนทุนรัฐบาลไทยรุ่นปี 2547 (TS47)
20 มกราคม 2549
การปฏิบัติตนของนักเรียนไทย กรณีเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน
ตามที่ได้มีการเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน/ก่อการร้ายขึ้นหลายแห่ง ในหลายประเทศ อันส่งผลเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน รวมทั้งการดำเนินชีวิตของผู้คนจำนวนมาก ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา
ในฐานะประเทศมหาอำนาจ สหรัฐอเมริกาและแคนาดาเองก็ตื่นตัวต่อการแจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมพร้อมรับมือเหตุการณ์ฉุกเฉิน/ก่อการร้าย เช่นเดียวกันกับประเทศอื่น ๆ
ในการนี้ สนร. จึงขอแจ้งเตือนให้นักเรียนทุนและข้าราชการลาศึกษา/ฝึกอบรมทุกราย ให้โปรดระมัดระวังตัว โดยหากไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนอย่างแท้จริง ขอให้งด หรือชะลอการเดินทางไปยังย่านชุมชนที่มีผู้คนหนาแน่น อันอาจเป็นเป้าหมายการก่อการร้ายได้
ทั้งนี้ ขอให้ทุกท่านติดตามข้อมูลความคืบหน้าสถานการณ์ต่างๆ แหล่งข้อมูลต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งขอแจ้งให้ทุกท่านทราบข้อมูลติดต่อหน่วยงานราชการไทยในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาโดยทั่วกันอีกครั้ง ดังนี้
การติดต่อหน่วยงานราชการไทย ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา
กรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้น นอกเหนือจากแจ้งข้อมูลข่าวคราวความเป็นไปของท่านให้ สนร. ทราบโดยด่วน แล้ว ท่านยังควรแจ้งให้หน่วยงานราชการไทยในสหรัฐอเมริกา (หรือแคนาดา แล้วแต่กรณี) ทราบด้วย ดังนี้
1. สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน
website | www.thaiembassydc.org |
phone | (202) 944 3600 |
email | information@thaiembdc.org |
2. สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส
website | www.thaiconsulatela.org |
phone | (323) 962 9574 |
email | thai-la@mindspring.com thailax@thaiembdc.net |
3. สถานกงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์ก
website | www.thaiconsulnewyork.com |
phone | (212) 754 1770, 754 2536 |
email | thainyc@thaiembdc.net info@thaiconsulnewyork.com |
4. สถานกงสุลใหญ่ ณ นครชิคาโก
website | www.thaichicago.net |
phone | (312) 664-3129, 664-3110, 664-3124 |
email | thaichi@thaiembdc.net consulatethai@gmail.com |
5. สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออตตาวา
website | www.thaiembassy.ca |
phone | (613) 722 4444 |
email | contact@thaiembassy.ca |
6. สถานกงสุลใหญ่ ณ แวนคูเวอร์
website | www.thaicongenvancouver.org |
phone | (604) 687-1143 |
email | info@thaicongenvancouver.org |
ข้อแนะนำในการเตรียมความพร้อมและปฏิบัติตน
สำหรับนักเรียนไทยและข้าราชการลาศึกษา/ฝึกอบรม ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา
การเตรียมความพร้อมในสภาวะปกติ
- เตรียมหนังสือเดินทางไว้ให้พร้อมต่อการหยิบฉวยไปใช้งาน และเตรียมพร้อมเดินทางออกจาก ที่พัก กรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินได้ทันที
- วางแผนเส้นทางการเดินทางหนีภัยกรณีฉุกเฉินไว้หลายเส้นทาง เช่น หากรถเมล์ไม่วิ่ง จะหนีทางไหน หรือหากมีการปิดถนน จะหนีอย่างไร
- แจ้งที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ และอีเมล์แอดเดรส ที่ติดต่อได้ ของตน ให้ สนร. สถานเอกอัครราชทูต สถานศึกษา และเพื่อนคนไทย ทราบไว้
- เตรียมข้อมูลติดต่อ (อาทิ หมายเลขโทรศัพท์ และอีเมล์แอดเดรส) หน่วยงานราชการไทย ในประเทศที่ท่านพำนักอยู่ (หรือในท้องถิ่นใกล้เคียง) ให้พร้อมใช้งานอย่างทันท่วงที
- ติดตามข่าวสารจากผู้คนรอบข้าง โทรทัศน์ วิทยุ อินเตอร์เน็ต และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การสมัครเป็นสมาชิกรับแจ้งข่าวฉุกเฉินจากหน่วยงานผู้ให้บริการข่าวสาร (เช่น US www.dhs.gov, www.ready.gov/alerts, www.weather.gov) สำนักข่าว เครือข่ายบริการข่าวสารต่าง ๆ (เช่น ABC, Aljazeera, BBC, CBS, CNN, Fox News, และ NBC) ทางโมบายล์แอพพลิเคชั่น เพื่อความรวดเร็วในการรับทราบข้อมูลข่าวสารเหตุการณ์ฉุกเฉิน
- ไม่ขาดการติดต่อกับเพื่อนคนไทย
การปฏิบัติตนในสภาวะอันตราย/เหตุการณ์ฉุกเฉิน
การเตรียมความพร้อมในสภาวะปกติดังกล่าวข้างต้น จะช่วยให้การหนีภัยฉุกเฉินเป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย อันหมายถึง ท่านจะมีโอกาสเอาตัวรอดได้มากขึ้น
ทั้งนี้ หากสภาวะอันตราย/เหตุการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้นจริง ขอให้ปฏิบัติตนดังนี้
- ควบคุมสติให้มั่นคง
- จัดเตรียมกระเป๋าสัมภาระบรรจุสิ่งของสำคัญ (อาทิ หนังสือเดินทาง เงินสด อาหาร เครื่องดื่ม ยาประจำตัว โทรศัพท์มือถือพร้อมสายชาร์จ ข้อมูลติดต่อหน่วยงานราชการไทยในประเทศที่ท่านพำนักอยู่) ให้พร้อมเดินทางได้ทันที หากจำเป็น
- ติดต่อสถานเอกอัครราชทูต หรือหน่วยงานราชการไทยในประเทศที่ท่านพำนักอยู่ (หรือในท้องถิ่นใกล้เคียง) เพื่อขอคำแนะนำในการปฏิบัติตน
- ติดตามข่าวสารทางโทรทัศน์ วิทยุ อินเตอร์เน็ต และจากกลุ่มบุคคลที่รู้จัก ตลอดเวลา
- แจ้งเพื่อนคนไทยในประเทศที่ท่านพำนักอยู่ทราบว่า ขณะนี้ท่านอยู่ที่ใด และ/หรือ กำลังจะเดินทางไปที่ใด
- ประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับตนเองและคนรอบข้าง และหากจำเป็น ให้ตัดสินใจเดินทางออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยโดยเร็วที่สุด ตามเส้นทางการเดินทางหนีภัยที่เตรียมการไว้ล่วงหน้าแล้ว
- เมื่อเดินทางถึงสถานที่ปลอดภัยแล้ว ให้หาวิธีแจ้งสถานเอกอัครราชทูต หน่วยงานราชการไทย หรือบุคคลที่ท่านรู้จักที่ติดต่อได้ ให้ทราบที่อยู่ของท่านในโอกาสแรกที่กระทำได้
การปฏิบัติตนตามกฎหมายของสหรัฐอเมริกาโดยเคร่งครัด
เนื่องจากท้องถิ่นต่าง ๆ ของสหรัฐอเมริกา มีกฎหมายที่แตกต่างไปจากกฎหมายของประเทศไทยที่คนไทยเราคุ้นเคย ดังนั้น จึงขอให้นักเรีนได้โปรดศึกษากฎหมายของสหรัฐอเมริกา กฎหมายของรัฐที่สถานศึกษาของนักเรียนตั้งอยู่ ข้อบังคับของสถานศึกษาแต่ละแห่ง ตลอดจนระเบียบกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวัน และขอให้ปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด ทั้งนี้ ตัวอย่างกฎหมาย ระเบียบ กฎเกณฑ์ ของสหรัฐอเมริกาที่คนไทยจำนวนหนึ่งไม่คุ้นเคย ได้แก่ การนำผลงานการเขียนของผู้อื่นมาใช้โดยมิได้รับอนุญาต การให้เพื่อนร่วมชั้นเรียนลอกการบ้าน การใช้คอมพิวเตอร์เข้าถึงเว็บไซต์และข้อมูลต้องห้ามต่าง ๆ (เช่น ภาพอนาจารเด็ก) การอนุญาตให้บุคคลทั่วไปพกปืนอย่างเปิดเผยได้ในที่สาธารณะ ทั้งนี้ หากนักเรียนละเมิดกฎหมาย ระเบียบ กฎเกณฑ์ ต่าง ๆ แม้จะเป็นด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ก็ยังอาจส่งผลให้ต้องรับโทษตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นถูกจำคุก หรือมากกว่านั้น (นักเรียนอาจศึกษากฎหมายของสหรัฐอเมริกาได้ที่ www.usa.gov/laws)
การหลีกเลี่ยงการตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพที่หลอกลวงล้วงข้อมูลส่วนบุคคล
ขอให้นักเรียนระมัดระวังการติดต่อจากบุคคลที่ไม่รู้จักคุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็นทางอีเมล โทรศัพท์ หรือการสื่อสารด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อล้วงข้อมูลส่วนบุคคล (โดยเฉพาะข้อมูลทางการเงิน) ของนักเรียน
การพิจารณาแจ้งข้อมูลส่วนบุคคลแก่ผู้ร้องขอในทุกกรณี ขอให้นักเรียนตรวจสอบจนมั่นใจว่าเป็นบุคคลที่รู้จักคุ้นเคย หรือเป็นผู้แทนอย่างเป็นทางการของหน่วยงานที่ต้องติดต่อกิจธุระ (นักเรียนอาจศึกษาวิธีการปฏิบัติตนให้รอดพ้นจากการเป็นเหยื่อการหลอกลวงล้วงข้อมูลส่วนบุคคลได้ที่ www.usa.gov/common-scams-frauds)
การหลีกเลี่ยงการตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพที่หลอกลวงให้ส่งหรือโอนเงิน
ขอให้นักเรียนระมัดระวังการกระทำธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ เช่น การซื้อขายสินค้าทางอินเทอร์เน็ต หรือการได้รับการติดต่อขอความช่วยเหลือจากผู้ที่แอบอ้างว่าเป็นคนรู้จักและกำลังเดือดร้อน (นักเรียนอาจศึกษาวิธีการปฏิบัติตนเพื่อให้รอดพ้นจากการเป็นเหยื่อการหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ตได้ที่ www.usa.gov/online-safety)
ขอบคุณที่มา :: https://oeadc.org/th/content/survival-guide-in-usa ,