พัฒนาการเด็กและการส่งเสริมทารกวัย 3 เดือน
พัฒนาการทางร่างกายและการส่งเสริม
ลูกวัย 3 เดือนจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นมาก สามารถยกศีรษะได้เป็นเวลานาน โดยเฉพาะมีสิ่งล่อตาให้มองหา เริ่มบังคับกล้ามเนื้อคอได้อย่างมั่นคง หากคุณพ่อคุณแม่จับลูกนั่งพิงลูกจะเริ่มหันซ้ายขวาและชะโงกหน้ามาดูสิ่งที่ลูกสนใจ และหากจับลูกยืนเขาจะทำท่าเหมือนกระโดดจั๊มขาคู่ อีกทั้งมือกับตาเริ่มประสานกันมากขึ้นโดยสังเกตจากลูกหยิบของเข้าปากได้แม่นยำขึ้น
ด้านสายตา ลูกจะหันมองแสง สี รูปร่าง และเสียงของวัตถุ เริ่มมองเพ่งไปที่โมบายที่แกว่งไปมา รวมทั้งจ้องใบหน้าคนอย่างมีจุดหมาย และในเดือนที่ 3 นี้ลูกสามารถมองรอบๆ ห้องได้อย่างเต็มตาแล้ว
พัฒนาการสำคัญที่เห็นชัดในทารกวัย 3 เดือนนี้ คือการใช้มือ กุมมือ จับมือ ตีมือ และจ้องมองมือตนเองมากขึ้น นั่นเป็นเพราะว่าประสาทตาทำงานได้ดีขึ้นมากแล้วนั่นเอง บางครั้งถึงกับยิ้มคิกคักเมื่อจับมือตนเองได้ แต่หากลูกหยิบสิ่งของที่อยู่ในมือและหล่นไป หากรอแล้วของสิ่งนั้นไม่กลับมาอยู่ในมือ ลูกก็จะละเลยความสนใจนั้นไป ลูกจะไม่ชอบมองสิ่งซ้ำๆ และมองหาสิ่งแปลกใหม่หรือสะดุดตาอยู่เสมอ
พัฒนาการทางร่างกายที่เด่นชัดของทารกวัย 3 เดือน ได้แก่
- ควบคุมการทำงานของร่างกายดีขึ้น
- มองตามและหันตามของที่เคลื่อนไหว
- หากมีเสียงดังขึ้น จะหยุดดูดนิ้วหรือดูดนมและหันหาที่มาของเสียง
- รู้ความแตกต่างของเสียงพูดและเสียงชนิดอื่นๆ
- นอนคว่ำชันคอนาน แต่ชันอกได้ไม่กี่นาที
- ยกแขนทั้งคู่หรือขาทั้งคู่ได้
- เมื่อจับยืนขาจะยันพื้นได้ครู่เดียว
- นั่งพิงได้ ศีรษะเอนเล็กน้อย
- ตี คว้า ดึง สิ่งของเข้าหาตัวเอง
- เชื่อมโยงการเห็นและการเคลื่อนไหวได้
- นอนกลางคืนได้นาน 30 ชั่วโมง ตื่นช่วงกลางวันมากขึ้น
พัฒนาการทางอารมณ์ จิตใจ และการส่งเสริม
ลูกจะเข้าใจความพึงพอใจ เช่น ถ้าลูกเอามือเข้าปากแล้วจะรู้สึกพอใจ หรือการเอื้อมมือเข้าไปจับโมบายเพราะความพึงพอใจที่อยากจะทำ สามารถรอคอยได้ดีขึ้น เมื่อถึงเวลากินนมลูกจะอารมณ์ดี เพราะลูกจะรู้ว่าถึงช่วงเวลาแห่งความสุขแล้ว
พัฒนาการทางอารมณ์ จิตใจที่เด่นชัดในทารกวัย 3 เดือน ได้แก่
- หยุดร้องไห้ทันทีเมื่อเห็นหน้าคน
- ตอบโต้สิ่งเร้าแทบทุกชนิด
- ยิ้มง่ายและยิ้มทันที
- มีเหตุผลมากยิ่งขึ้น และสามารถรอคอยได้บ้าง
พัฒนาการทางภาษาและการส่งเสริม
ลูกจะเข้าใจกิจวัตรประจำวันและเข้าใจพ่อแม่มากขึ้น ถึงแม้ว่าลูกยังอ้อแอ้อยู่ก็จะใช้ภาษากายเข้าช่วย เช่น เมื่อแม่เอานมมาก็จะโผเข้าหา อ้าปากรอเพื่อดูดนม และเริ่มเรียกอ้อแอ้ให้คุณสนใจ หรือเลือกวิธีร้องไห้ให้คุณพาไปเดินเล่นข้างนอกแทน
ลูกจะติดต่อกับพ่อแม่ด้วยวิธีจ้องตา ทำเสียงอืออา แม้ว่าสักพักลูกจะมองไปทางอื่น แต่ก็จะกลับมามองหน้าพ่อแม่อีกครั้งพร้อมส่งเสียงเหมือนทักทายด้วย
พัฒนาการทางภาษาที่เด่นชัดของทารกวัย 3 เดือน ได้แก่
- เงี่ยหูฟังเสียงอื่นๆ
- พูดแบบอือออ อ้อแอ้ หรือเสียงในลำคอตอบรับการได้ยิน
- โต้ตอบคำพูดหรือรอยยิ้มของแม่
- แยกออกระหว่างเสียงต่างๆ และเสียงของแม่
- ใช้การร้องไห้เพื่อบอกความต้องการเป็นหลัก
- หันไปหาเสียงพูดหรือเสียงเพลง
พัฒนาการทางสังคมและการส่งเสริม
ลูกจะชอบอยู่กับคนอื่นและไม่ชอบที่ถูกปล่อยทิ้งไว้ให้อยู่คนเดียวหรือเล่นคนเดียวนานๆ ชอบเล่นกับพ่อแม่พี่น้อง และหวังว่าคุณพ่อคุณแม่จะนำสิ่งใหม่ๆ มาให้ดู แต่เด็กบางคนมีบุคลิกเงียบเฉย เรียบร้อยก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะไม่ต้องการความสนใจ เด็กทุกคนล้วนต้องการการได้รับความสนใจและเป็นอันดับหนึ่งในใจพ่อแม่เสมอ
พัฒนาการทางสังคมที่เด่นชัดของทารกวัย 3 เดือน ได้แก่
- แสดงอารมณ์ด้วยสีหน้าถ้าเจอคนคุ้นเคยจะแสดงออกทั้งร่างกาย
- เรียกร้องความสนใจ
- ต่อต้านเมื่อต้องอยู่คนเดียว
พัฒนาการทางสมองและการส่งเสริม
คลื่นสมองของเด็กอายุ 3 เดือน มีลักษณะใกล้เคียงกับสมองผู้ใหญ่ จะเห็นได้ว่าลูกสามารถควบคุมร่างกายและการเคลื่อนไหวได้ดีขึ้นแล้ว
ลูกจะจดจำเสียงพ่อแม่ได้และสนใจเสียงต่างๆ พร้อมอยากรู้ที่มาของเสียงนั้นด้วย ลูกจะเรียนรู้ผ่านมือมากขึ้นโดยเรียนรู้จากการสัมผัส รูปร่าง ขนาดของสิ่งของ สมองจะแยกแยะความแตกต่างเก็บเป็นข้อมูลชีวิตในภายภาคหน้า ซึ่งจะตามมาด้วยหลักในการเรียนรู้เรื่องเหตุและผล ช่น เมื่อลูกร้องไห้และเมื่อได้ยินเสียงแม่เดินเข้ามาก็จะหยุดร้อง เพราะรู้ว่าสักพักก็จะได้กินนมแล้ว เป็นต้น
ช่วงเวลา 6 เดือนแรกนี้เป็นช่วงเวลาทองที่สภาพแวดล้อม พ่อ แม่ และคนใกล้ชิดมีอิทธิพลต่อลูกเป็นอย่างมาก ซึ่งคนใกล้ชิดควรช่วยดูแลลูกเติมเต็มความต้องการพื้นฐาน เช่น กินอื่ม นอนหลับ ขับถ่ายดี รวมทั้งการดูแลเรื่องการเรียนรู้ โดยสอนให้ลูกได้ลองสัมผัส ดมกลิ่น ชิมรส กับสิ่งต่างๆ รอบๆ ตัวบ้าง เพราะสิ่งใหม่ๆ จะทำให้ลูกมีความกระตือรือล้นในการเรียนรู้โลกใบนี้และพัฒนาสมองได้อย่างดีด้วย
พัฒนาการทางสมองที่เด่นชัดของทารกวัย 3 เดือน ได้แก่
- รู้ความแตกต่างของใกล้และไกล
- สนใจสิ่งหนึ่งๆ ได้นานถึง 45 นาที
- เบื่อเสียงหรือสิ่งซ้ำๆ
- เรียนรู้ผ่านมือและการมองเห็น
ที่มา :: http://www.momypedia.com/
พัฒนาการของเด็กอายุ 3-4 เดือน
ผ้าปูที่นอนของเล่นสุดโปรดของลูก
การเลี้ยงลูกสมัยใหม่จะนิยมให้ลูกนอนคว่ำตั้งแต่แรกเกิด ด้วยเหตุผลที่ว่าจะทำให้ศีรษะได้รูปสวย แต่คุณตาคุณยายจะไม่ยอมเพราะกลัวเด็กหายใจไม่ออก
ถ้าลองมาสังเกตให้ดีในขณะที่เด็กนอนคว่ำ ส่วนของกระดูกซี่โครงด้านหลังจะมีการเคลื่อนไหวพองและแฟบ ตามจังหวะการหายใจเข้าและออก เนื่องจากข้อต่อกระดูกซี่โครงของเด็กยังอ่อนอยู่ จึงทำให้มีการเคลื่อนไหวดังกล่าวได้ แต่ถ้าให้ผู้สูงอายุที่ไม่เคยนอนคว่ำนานๆมานอนคว่ำ จะพบว่ารู้สึกอึดอัด หายใจไม่ออก ซี่โครงส่วนหลังไม่มีการขยับเคลื่อนไหวเหมือนของเด็ก เพราะข้อต่อกระดูกซี่โครงมีการยึดแข็งแล้ว
การหายใจตามปกติจะใช้กะบังลมทำให้หน้าท้องพองและแฟบ เมื่อหน้าท้องถูกนอนคว่ำทับ ขยับไม่คล่อง จึงรู้สึกหายใจไม่ออก และอึดอัดมาก
ประโยชน์ของการนอนคว่ำ
ประการแรก คือ เด็กจะไม่เกิดการผวา ซึ่งมักพบได้บ่อยในขณะเด็กนอนหงาย
ประการที่สอง คือ กล้ามเนื้อคอจะแข็งแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว เด็กจะสามารถยกศีรษะได้ตั้งแต่ระยะแรกที่ให้นอนคว่ำ เพื่อไม้ให้จมูกกดกับที่นอนตามสัญชาตญาณการดำรงชีวิตของเด็กปกติ เมื่ออายุได้ 3 เดือน เด็กจะชันคอได้ดี
พัฒนาการขั้นต่อไปคือ เด็กจะพยายามยกอกขึ้นจากพื้น โดยการแอ่นหลังและยันน้ำหนักตัวไปที่แขนทั้ง 2 ข้าง
เมื่อศีรษะถูกยันให้ลอยสูงจากพื้น สิ่งที่สายตาประสบยังคงเป็นผ้าปูที่นอน เมื่อเอามือเคลื่อนไหวไปมาบนผ้าปูที่นอน จะเกิดเสียงแกรกกราก มันเป็นเสียงใหม่ที่น่าสนใจ ประกอบกับมือสามารถเคลื่อนไหวตามใจปรารถนาได้บ้างแล้ว ก็ยิ่งเคลื่อนมือทำให้เกิดเสียงมากขึ้น ผ้าปูที่นอนจะเริ่มย่นเล็กน้อย การเล่นดูเหมือนจะทำให้เพลิดเพลินยิ่งขึ้น ผ้าปูที่นอนจึงจัดเป็นของเล่นสุดโปรดของลูกในวัย 3-4 เดือนนี้
ประโยชน์ที่ได้จากการเล่นผ้าปูที่นอนคือ กล้ามเนื้อคอ หลัง และแขนจะแข็งแรงเพิ่มมากขึ้น
ของเล่นหรือจะสู้ผ้าปูที่นอนได้
ในระยะที่เด็กยังลงน้ำหนักที่แขนแต่ละข้างได้ไม่เต็มที่ การเอาของเล่นมาวางให้เล่นแทนผ้าปูที่นอน จึงไม่ปลอดภัยสำหรับเด็ก เพราะเมื่อแขนและคอของเด็กเกิดการเมื่อยล้า ศีรษะก็จะตกวางบนพื้น และอาจกระแทกกับของเล่นเป็นอันตรายได้ นอกจากนั้นในขณะเล่นถ้ามือปัดของเล่นออกไปไกลเกินกว่าที่มือจะตามไปปัดเล่นได้ เด็กจะเลิกสนใจของเล่น หันมาสนใจผ้าปูที่นอนแทน
ผ้าปูที่นอนที่จะให้ลูกเล่นจะต้องไม่ตึงเกินไป ควรให้หย่อนเล็กน้อยพอดีที่มือจะสามารถเคลื่อนไปได้โดยไม่สะดุด การปูผ้าปูที่นอนให้หย่อนมาก หรือวางผ้าอ้อม ผ้าห่ม หรือผ้าขนหนูให้เล่นจะเป็นอันตรายต่อเด็กเมื่อเด็กเกิดอาการเมื่อยล้าและนอนหลับโดยยังมีผ้าวางปิดอยู่ชิดจมูก ทำให้หายใจไม่สะดวก
การบริหารกล้ามเนื้อคอ หลัง และแขนด้วยวิธีการเล่นผ้าปูที่นอนจะทำให้กล้ามเนื้อดังกล่าวแข็งแรงขึ้น เมื่อจับลูกให้นั่งจะพบว่าสามารถตั้งคอได้ตรง หลังแข็งแรงขึ้น และเอื้อมมือยกแขนได้ไกลขึ้น
พลิกตัวเล่น
โลกของลูกกว้างขึ้น เมื่อลูกสามารถเงยหน้าพ้นจากผ้าปูที่นอนออกมาได้ ซึ่งจะอยู่ในช่วงอายุ 4 เดือน ประกอบกับการพัฒนาของสายตาดีขึ้น ทำให้สามารถมองได้ในมุมกว้าง ถึง 180 องศา สามารถหันศีรษะและตัวตามเสียงได้ สิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการขั้นต่อไปของลูก
คุณอาจจะแปลกใจว่า ก่อนที่คุณจะไปรับโทรศัพท์ที่ดังขึ้น คุณกำลังเขี่ยผ้าปูที่นอนเล่นกับลูกในขณะที่ลูกยังนอนคว่ำอยู่ แต่เมื่อคุณกลับมาหาลูก ลูกกำลังนอนหงายเล่นมือตัวเองอยู่อย่างเพลิดเพลิน
คุณตื่นเต้นยินดีเมื่อลูกสามารถพลิกตัวเองได้ ลูกทำอย่างไรจึงพลิกตัวได้ คุณอยากทราบ แต่ลูกคุณเองก็ยังไม่ทราบว่าเขาพลิกตัวเองมาได้อย่างไรในครั้งแรก
การพลิกตัวเองได้ของลูกเกิดจากการที่ลูกคุณสนใจเสียงโทรศัพท์ที่ดังขึ้น และตัวคุณแม่เองก็เดินไปในทิศทางของเสียงโทรศัพท์ ลูกจึงพยายามหันตามไป ทำให้ใบหน้าหมุนแหงนไปทางด้านข้างและหลัง หลังก็จะบิดและแอ่นตามจนกระทั่งตัวหล่นพลิกเป็นท่านอนหงาย
เมื่อคุณทราบหลักการเช่นนี้แล้ว คุณก็สามารถฝึกหัดลูกให้นอนหงายได้ เช่น เขย่าของเล่นกรุ้งกริ้งตามสายตาของลูก เพื่อให้ลูกหันตามและพลิกตัวนอนหงายตามวิธีการข้างต้น
ในขณะฝึกหัดลูกให้นอนหงาย คุณจะสังเกตพบว่าลูกจะพยายามเหยียดแขนข้างเดียวกับที่หน้าหันไป ขาข้างเดียวกันนี้ก็พยายามยันพื้นที่นอน เมื่อทำบ่อยๆ ในการพลิกทั้งข้างซ้ายและขวา ลูกของคุณจะมีร่างกายที่แข็งแรง สามารถพลิกตัวนอนหงายจากการนอนคว่ำได้ตามที่เขาอยากจะพลิก
กรุ้งกริ้งยังมีประโยชน์
การเปลี่ยนอิริยาบถ โดยการอุ้มให้ลูกนั่ง ยังให้ประโยชน์ในการฝึกกำลังของกล้ามเนื้อคอ แขน และลำตัว ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้คือ
⇒ อุ้มลูกนั่งบนตัก หันหลังเข้าหาคุณแม่ ให้หลังของลูกห่างจากอกคุณแม่ประมาณ 1 ฝ่ามือ
⇒ สั่นกรุ้งกริ้ง หรือทำเสียงจากปากของคุณแม่ เพื่อเรียกร้องความสนใจจากลูก ในตำแหน่งต่างๆกัน เช่น ด้านข้าง ด้านหน้า ด้านล่าง ด้านบนเหนือศีรษะ เพื่อฝึกให้ลูกหันหน้าไปในทิศทางต่างๆ เป็นการฝึกให้กล้ามเนื้อคอแข็งแรง ขณะเดียวกันก็เป็นการฝึกความสัมพันธ์ของการรับฟังเสียงด้วย
⇒ กรุ้งกริ้งที่ใช้สั่นนี้ ถ้าเอามาใกล้มือของลูก ลูกจะพยายามยกมือขึ้นมาแตะ แต่ยังไม่สามารถจับของเล่นได้ เมื่อมือของลูกแตะถูกของเล่น คุณค่อยๆเคลื่อนของเล่นให้ห่างออกไป ลูกก็จะโน้มตัวตามของเล่น การโน้มตัวนี้จะต้องใช้กล้ามเนื้อหลัง หรือลำตัวในการทำงาน จึงเป็นการฝึกหัดเพื่อให้เกิดความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลำตัวได้ ถ้าคุณเคลื่อนของเล่นไปในทิศทางต่างๆกัน การทรงตัวของลูกจะดีขึ้น
ดังกล่าวแล้วว่าลูกยังไม่สามารถจับของเล่นได้ แต่ถ้าเอาของเล่นใส่มือ ลูกจะสามารถเอาของเล่นเข้าปากได้ ของเล่นในระยะ 3-4 เดือนนี้ จึงต้องระวังเช่นเดียวกับระยะ 1-3 เดือน คือชิ้นไม่เล็กที่จะหลุดเข้าคอ ไม่มีคม และไม่เป็นอันตรายต่อการกิน
การเล่นของลูกในระยะนี้ คุณจะรู้สึกสนุกสนานไปด้วย เพราะลูกจะส่งเสียงดัง มีอาการตื่นเต้นเมื่อเห็นของที่ถูกใจ โดยเฉพาะเมื่อเห็นอาหาร และลูกจะยิ้มทักทายคุณแม่ทันทีที่มองเห็น รอยยิ้มของคุณแม่ย่อมเป็นสิ่งที่ลูกปรารถนา เพื่อความอบอุ่นแห่งจิตใจลูก
ที่มา :: http://www.doctor.or.th/article/detail/3538
พัฒนาการทารก อายุ 3เดือน
พัฒนาการทารก อายุ 3เดือน
พัฒนาการเด่น “ กำลังน่ารัก”
ตอนนี้คุณแม่คงพอจะมองออกแล้วว่า ลูกจะมีลักษณะนิสัยเป็นอย่างไร เด็กจะเริ่มแสดง “บุคลิก” ของเขาให้เห็น และการแสดงออก เพื่อตอบสนองต่อสิ่งต่างๆของเขานั้น ก็จะเริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้นจากเดิม ที่จะเป็นไปตามความต้องการพื้นฐานเบื้องต้นเท่านั้น การมีสิ่งเร้ามากระตุ้นเด็กที่เหมาะสม จะช่วยในการพัฒนาของลูก จากเดิมที่เมื่อลูกตื่น จะต้องการให้อุ้มและป้อนนม ก็จะเริ่มเป็นว่าเขาต้องการให้คุณคุยกับเขา เล่นกับเขา และจะเริ่มไม่ยอมเมื่อถูกทิ้งให้เล่นคนเดียว ลูกจะชอบมากที่มีคนมาพูดคุยด้วย ได้เห็นคุณทำท่าสั่นหัว ตบมือ หรือแม้แต่แลบลิ้น ทำหลอกเล่นกับเขา ลูกจะเริ่มเล่นเสียงต่างๆมากขึ้น
การได้ยินเสียงดนตรี หรือเสียงที่น่าสนใจ จะช่วยทำให้เขาหยุดร้องเมื่อยามที่กำลังงอแง และจะมีท่าทีตอบสนองโดยส่งเสียงอ้อแอ้ตอบบ้าง เมื่อใกล้ 4 เดือน ลูกจะชอบทำเสียงคุยอ้อแอ้ อืออา เมื่อมีคนมาคุยด้วยได้นานพอควร บางครั้งอาจนานถึง 20 นาที ถ้าเขามีอารมณ์ดี ช่วงนี้เด็กจะเริ่มหันหาเสียงที่ได้ยินดีขึ้น และเสียงคุยที่อ่อนโยนนุ่มนวลของคุณแม่ จะกระตุ้นให้เขาส่งเสียงโต้ตอบได้ดีกว่าเสียงที่ดังหวือหวา ลูกจะมองตามคุณแม่ที่เดินไปมาอยู่ต่อหน้าเขาได้ดีขึ้น ช่วงเดือนที่ 3 นี้ลูกจะยังชอบกำมือ และอมมืออย่างอร่อย แต่ในเวลาไม่นาน ลูกก็จะเริ่มรู้จักเปิดมือ และเริ่มคว้าจับ ลูกจะลองใช้นิ้วมือ ลองขยับนิ้วเล่น และยกมือขึ้นมามอง จะเริ่มจำสิ่งต่างๆได้มากขึ้น และแสดงท่าทีดีใจ เมื่อได้เห็นสิ่งที่เขาชอบ โดยเฉพาะเวลาที่เห็นคุณแม่ เวลาที่คุณอยู่กับลูก เช่น เวลาอาบน้ำ, ขณะเปลี่ยนผ้าอ้อม หรือป้อนนม ก็ควรพยายามพูดกับลูกเสมอๆ ด้วยเสียงอ่อนโยนนุ่มนวล ด้วยคำสั้นๆ โดยการเรียกชื่อของส่วนต่างๆของร่างกายของลูก เช่น “ ยกแขน” ขณะที่คุณกำลังจับแขนลูก ฯลฯ แม้ว่าลูกจะยังไม่เข้าใจสิ่งที่คุณพูดนัก แต่ก็จะเป็นการสอนให้ลูกรับรู้โทนเสียง รู้จังหวะของการสนทนา และความหมายกว้างๆของคำนั้นได้
เมื่อคุณประคองตัวลูกขึ้นมาอยู่ในท่านั่ง ลูกจะชันคอได้ดีขึ้น แต่ยังต้องคอยจับไว้ไม่ให้ล้ม เมื่อวางนอนคว่ำ เขาจะพยายามยกหัวและหน้าอกให้พ้นพื้นได้ช่วงสั้นๆ เวลานอนหงายอยู่เขาจะเริ่มใช้มือปัดป่ายไปมา และเอามือทั้ง 2 ข้างมาเล่นด้วยกันได้
จากนี้ไปคุณควรเตรียมที่จะจัดให้ห้องลูก และบริเวณที่จะให้เด็กอยู่เป็นส่วนใหญ่ ให้เป็นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก (Babyproofing area) พยายามให้ทำความสะอาดได้ง่าย ไม่มีของที่อาจเป็นอันตรายอยู่ใกล้ๆ เช่น กระติกน้ำร้อน, น้ำยาทำความสะอาดพื้น, เครื่องแก้วที่แตกง่าย หรือ ของที่มีขนาดเล็กๆ ที่เด็กอาจจะเอาเข้าปากได้ง่ายๆ เช่น ยาเม็ดของผู้ใหญ่, เม็ดกระดุม, ของเล่นที่อาจมีชิ้นส่วนเล็กๆ ที่อาจหลุดเข้าปาก ทำให้สำลักลงปอดได้ เพราะอีกไม่นาน ลูกจะสามารถพลิกตัวหรือคืบไปจนถึงสิ่งเหล่านี้ และอาจเกิดอันตรายได้
ในช่วงนี้ แม้ว่ากิจกรรมต่างๆของลูกดูเหมือนจะเริ่มเป็นเวลา ที่เหมือนจะแน่นอนขึ้น แต่ก็พบว่า บางครั้งอาจไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ ถ้าเขาง่วงมาก อาจหลับไปเลย หรืออาจจะงอแงกวนอยู่พักใหญ่ ทำอะไรให้ก็ไม่เอา แต่ก็ขอให้เข้าใจ และให้จัดเวลาทำกิจกรรมต่างๆ อย่างสม่ำเสมอเหมือนเดิมในแต่ละวัน ซึ่งจะช่วยให้เขาปรับตัวได้ดีกว่าการเปลี่ยนกิจกรรมไปมา จนลูกสับสนคาดเดาไม่ได้ว่าจะทำอะไรต่อไป อีกไม่นานเขาก็จะเข้าที่ดีกว่านี้
ในเวลากลางคืน ลูกจะเริ่มนอนได้นานขึ้น แต่ก็ยังจะมีการตื่นขึ้นมาทานนมบ้าง สักมื้อหนึ่ง หรืออาจจะตื่นมากวน พลิกตัวไปมา เหมือนครึ่งหลับครึ่งตื่น คุณไม่ต้องคอยกังวล และพยายามรีบเข้ามาอุ้มลูก ป้อนนม หรือกล่อมลูก เพื่อให้เขาได้หลับเหมือนเมื่อก่อน เพราะบางครั้งลูกจะดูเหมือนตื่น แต่ก็สามารถหลับต่อได้เองในเวลาต่อมา คุณสามารถช่วยฝึกลูก ให้เขาจัดระเบียบการนอน การตื่น ได้ดีขึ้น โดยในช่วงกลางวันเมื่อเขาตื่น ให้พยายามทำบรรยากาศให้สดใส น่าสนใจ ชวนลูกคุย เล่น หรือพาออกจากเตียงของเขาเพื่อให้เขาตื่นนานขึ้นในตอนกลางวัน และเมื่อถึงเวลานอนตอนกลางคืน ก็พยายามปรับสภาพแวดล้อม ให้อยู่ในความสงบ สร้างบรรยากาศในการนอน เช่น ให้ไฟในห้องไม่สว่างนัก ไม่มีเสียงดังจากทีวี หรือโทรศัพท์คอยกวน ไม่ชวนลูกคุยหรือเล่นในเวลากลางคืน เพื่อให้ลูกค่อยๆเรียนรู้ว่ากลางคืน มืด เงียบ ต้องนอน ปรับอุณหภูมิในห้องให้เย็นสบาย และอาจจะป้อนนมก่อนนอน พร้อมกับการเปลี่ยนผ้าอ้อมใหม่ให้ เพื่อให้เขาได้หลับอย่างสบาย และอาจรวมถึงการกล่อมลูกให้นอนอย่างที่คุณถนัดด้วย
มาถึงตอนนี้คุณแม่และลูกก็จะรู้ใจกันมากขึ้น คุณรู้ได้ว่าท่าทางและการร้องของเขานั้นหมายถึงอะไร และคุณควรจะทำอย่างไรให้เขาสบาย และอบอุ่นที่มีคุณอยู่ใกล้ๆคอยดูแลเขา เขาจะเริ่มมีความไว้วางใจในสิ่งรอบข้าง ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ดีต่อบุคลิกภาพ และอารมณ์ของเขาในอนาคต
ที่มา :: http://www.baby2talk.com
เมื่อลูกน้อยเข้าสู่เดือนที่ 3
ตอบลบเดือนที่ 3
ลักษณะของลูกน้อย
คุณแม่จะรู้สึกคุ้นเคยกับการกินการนอนของลูกวัย 3 เดือนมากขึ้นเพราะลูกปรับตัวได้ดี (กินนินเป็นเวลา บางคนเหลือมื้อนมกลางคืนเพียงครั้งเดียวและสามารถนอนได้ยาว 10 ชั่วโมง ) พร้อมกับคุณแม่ที่รู้ใจลูกน้อยมากขึ้นเช่นกันช่วงวัยนี้ลูกจะให้ความสนใจกับมือตนเองเป็นพิเศษ เช่น จ้องมือตัวเองบ่อยๆ เอามือเข้าปาก กุมมือตัวเอง เหมือนกับมือเป็นของเล่นชนิดใหม่ที่มีการเคลื่อนไหว มีความแปลกใหม่ เป็นเพราะประสาทตาของลูกน้อยเริ่มจับภาพได้ดียิ่งขึ้น ฉะนั้นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวและมองชัดเจนที่สุดก็คือมือตัวเอง
ถึงแม้ว่าลูกอายุเพียง 3 เดือน แต่การเรียนรู้ก็พัฒนาขึ้นมาก (ลูกน้อยเรียนรู้ตั้งแต่อยู่ในท้องคุณแม่) วัยนี้จะเรียนรู้การสัมผัส เช่น ลูกน้อยอาจจะกำลังคว้าหรือหยิบสิ่งที่อยู่ใกล้ๆมือ และทำเช่นนั้นซ้ำๆกัน นั่นแสดงว่าลูกกำลังจดจำสิ่งที่ได้เรียนรู้ สัมผัส บันทึกเป็นความทรงจำใบจิ๋วของลูกแล้ว
อาการที่อาจเกิดขึ้น
• ติดหวัด
ถ้าคนในบ้านมีอาการเป็นหวัด อาจจะแค่คัดจมูก จาม และอยู่ใกล้เด็กเล็กๆ โอกาสที่เด็กจะติดหวัดก็เป็นไปได้สูง ถ้าเป็นหวัดไข้จะไม่สุงมาก (37-37.6 องศาเซลเซียส) อาจมีน้ำมูกใสๆไหล แล้วค่อยๆข้นขึ้น จากนั้นก็หายเป็นปกติ หรือดื่มมากขึ้นเพื่อบรรเทาอาการ ถ้าลูกมีไข้ให้ใช้วิธีการเช็ดตัว เพื่อระบายความร้อน สำหรับเด็กที่คลอดก่อนกำหนดหรือร่างกายไม่แข็งแรงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
• มีขี้ตา
ตอนเช้าคุณแม่ตื่นขึ้นมาอาจจะเห็นขี้ตาบริเวณหางตาหรือหัวตา และมีน้ำตาคลอๆอยู่ให้สังเกตว่าขนตาล่างพับเข้าไปด้านในลูกตาหรือเปล่าเพราะเด็กบางคนกินเก่ง แก้มยุ้ยขึ้นเร็วในช่วงนี้ เนื้อแก้มอาจจะดันขนตาเข้าไปข้างใน คุณแม่อาจจะทำให้คุณหมอถอนขนตาออกให้ แต่ถ้ามีขี้ตาเยอะมาก บางคนถึงกับลืมตาไม่ขึ้น อาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย เยื่อตาอักเสบ คุณหมออาจให้ยามาป้ายหรือหยอด เพียงไม่กี่วันก็หายแล้ว
• ตาเข
คุณพ่อคุณแม่บางท่านช่างสังเกตลูกน้อย อาจสังเกตว่าทำไมลูกเราเวลามองตา ตาดำทั้ง 2 ข้างเหมือนไม่ไปทิศเดียวกัน ลูกจะตาเขหรือไม่ถ้าเป็นในวัยนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ เพราะการทำงานของกล้ามเนื้อสายตายังไม่ดี ลูกยังมองของสิ่งเดียวกันทั้ง 2 ข้าง ยังไม่ได้ ลูกจะมองดีขึ้นเมื่ออายุ 6 เดือนดังนั้นจึงยังไม่ต้องวิตดกังวลกับเรื่องนี้
พัฒนาการของหนู
• ด้านร่างกาย
o สามารถควบคุมการทำงานของร่างกายได้ดีขึ้นแต่ยังไม่ใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่มากนัก
o เมื่อนอนคว่ำจะชันคอได้นานขึ้น แต่ยังไม่สามารถยกตัวได้
o เมื่อนอนหงาย ยกแขนยกขาขึ้นพร้อมกันได้ เริ่มคว้าสิ่งของเข้าหาตัวได้
• สังคม
o แยกแยะเสียงพูดกับเสียงต่างๆได้ จำเสียงของแม่ได้ และเริ่มโต้ตอบกับเสียงของแม่ อาจจะเป็นการพยายามทำเสียงอ้อแอ้ เหมอนคุยกับแม่และทำเป็นยิ้ม
o ยังคงใช้วิธีร้องไห้เพื่อบอกความต้องการ มีการแสดงสีหน้าเก่งขึ้น และพยายามแสดงออกทางร่างกายด้วย
o หันหน้าไปตามเสียงที่ค้นเคย หรือมองตามวัตถุที่เคลื่อนที่ไหว
o มีการโต้ตอบต่อสิ่งเร้าต่างๆได้มากยิ่งขึ้น
มาเล่นกับหนูหน่อย
• มีการศึกษาพบว่า เด็กที่ได้รับการอุ้ม อย่างรักใคร่ มีการพูดคุย ยิ้มแย้ม ลูกน้อยจะมีการมองริมฝีปาก พัฒนาทักษะการฟัง มีสิ่งที่เคลื่อนไหวที่มองเห็นได้หลากหลาย เด็กจะเกิดการพัฒนาทางด้านการเรียนรู้พร้อมทั้งเกิดการพัฒนาการทางด้านเคลื่อนไหวได้ดียิ่งขึ้น และสิ่งที่มีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ของลูกน้อยมากที่สุด คือ "ตัวแม่"
• วัยนี้ไม่จำแป็นต้องอุ้มลุกอยู่ตลอดเวลา อต่คุณแม่ควรช่วยให้ลูกได้เรียนรู้ในหลายๆอย่าง เช่น เล่นของเล่นเขย่ากับลูก ให้ลูกได้ดูภาพหรือสิ่งของหลายอย่าง ร้องเพลงให้ลูกฟัง พร้อมทั้งทำท่ามือประกอบง่ายๆ
• การอุ้มลูกออกไปเดินนอกบ้าน ในที่อากาศดีๆจะช่วยให้หลอดลมของทารกแข็งแรงขึ้น และเหมือนลูกน้อยได้ออกกำลังกาย ช่วยให้นอนหลับได้ดีในช่วงกลางคืน
ที่มา :: http://women.sanook.com/
.
ตอบลบพัฒนาการของเด็กอายุ 3-6 เดือน
เด็กในวัย 3 ถึง 6 เดือน จะมีพัฒนาการอย่างรวดเร็ว และมีการเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งมากมาย เช่นเริ่มเข้าใจภาษามากขึ้น ซนมากขึ้น เริ่มรู้ความ ซึ่งเป็นวัยที่สำคัญอย่างมากเช่นเดียวกัน ดังนั้นเราจึงต้องให้ความสำคัญกับเด็กในวัยนี้เช่นเดียวกับวัย 0-3 เดือน โดยพัฒนาการของเด็กประกอบไปด้วย
1.การเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย ในช่วงนี้เด็กยังควรที่จะดื่มนมแม่ เพราะเป็นนมที่ดีที่สุดสำหรับลูกน้อย โดยคุณแม่ก็ต้องแข็งแรง และมีสุขภาพที่ดี หรือ นมผงสำหรับเด็กอายุ 0-6 เดือน เด็กทารกจะมีน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น โดยจะมีน้ำหนักขึ้นโดยเฉลี่ย 0.5 กิโลกรัม ต่อเดือน และความยาวของตัวเด็กทารกเพิ่มประมาณ 2 ซม. ต่อเดือน ในวัยนี้ควรที่จะเริ่มให้อาหารเสริมด้วยเช่นกัน
2.การเสริมพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว เด็กทารกในช่วงนี้จะมีพัฒนากล้ามเนื้อคอให้แข็งแรงขึ้น เช่น การชันคอ การหันซ้าย หันขวา ดังนั้นสิ่งที่คุณพ่อ คุณแม่จะเสริมพัฒนาการให้เด็กได้ คือ การอุ้มพาดบ่า ในท่าคว่ำหน้า เพื่อเพิ่มพัฒนาการของกล้ามเนื้อคอและหลัง ควรมีการส่งเสียงให้เด็กรับรู้ และส่งสัญญาณให้เด็กรับรู้ทางสายตามีการขยับซ้าย ขวา เช่นการแขวนโมบาย เพื่อให้ลูกน้อยได้สามารถมองตาม ขยับกล้ามเนื้อ เพื่อเพิ่มความแข็งแรง
3.การเสริมพัฒนาการด้านภาษา เด็กทารกในวัยนี้จะส่งเสียงได้ หัวเราะ เริ่มรับรู้กับเสียงคุณพ่อ และคุณแม่ ดังนั้นจึงควรเสริมพัฒนาการ โดยการเล่นบ่อยๆ พูดคุยบ่อยๆ โดยเริ่มจากภาษาง่ายๆ สั้นๆ และที่สำคัญควรที่จะมีโทนเสียงสูง เสียงต่ำ ด้วย เช่น หวัดดีค่า เน้นเสียงสูง เพราะต้องการให้เด็กทารกได้รับรู้ และตื่นตัว
4.การเสริมพัฒนาการด้านสังคม เด็กในวัยนี้จะมีพัฒนาการจากเดิมคือ เริ่มจำหน้าคน คุณพ่อ คุณแม่ เริ่มจำน้ำเสียงที่คุณพ่อ คุณแม่สื่อสาร เริ่มจำชื่อตัวเด็กเองได้ ดังนั้น คุณพ่อ คุณแม่ ควรที่จะ พูดคุย เล่น ร้องเพลง และเรียกชื่อลูกให้บ่อยขึ้น และที่สำคัญควรที่จะพาเด็กทารกในวัยนี้ได้พบปะผู้คน เพื่อให้รู้ถึงความต่างของบุคคล
http://www.mom2kiddy.com/
.
เคลื่อนไหวคล่องแคล่ว เพราะกล้ามเนื้อคอแข็งแรง
ตอบลบจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวร่างกายของทารกในช่วงขวบปีแรกนั้น มาจาก กล้ามเนื้อคอ นี่ละค่ะ ไม่ว่าจะคว่ำ คลาน นั่ง ยืนไปจนกระทั่งเดินได้ในที่สุด หากคุณพ่อคุณแม่อยากให้ลูกมีพัฒนาการด้านร่างกายที่ดี ก็ต้องใส่ใจพัฒนากล้ามเนื้อคอของลูกแต่เนิ่นๆ เพราะกล้ามเนื้อคอที่แข็งแรง นำมาสู่พัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวที่ดีของลูก
แรกเกิด : เจ้าหนู?คออ่อน
แม้ว่าลูกน้อยจะสามารถมองเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น และรับรสสัมผัสได้แต่ก็มีข้อจำกัดที่การเคลื่อนไหว ซึ่งมีเหตุมาจากล้ามเนื้อคอที่ยังไม่ค่อยแข็งแรงดีนัก เพราะเมื่ออยู่ในท้องของคุณแม่มีพื้นที่แคบแถมยังมีน้ำคร่ำคอยโอบอุ้มคอไว้อยู่ ในช่วงนี้ลูกจึงเคลื่อนไหวด้วยปฏิกิริยาสะท้อนกลับเสียมากกว่า
คุณแม่ต้องคอยระมัดระวังคอน้อยๆ นี้เป็นพิเศษ โดยการอุ้มโอบประคองที่ต้นคอของลูกไว้ให้ดีๆ จนเมื่อเวลาผ่านไปลูกจะค่อยๆ พัฒนากล้ามเนื้อคอให้แข็งแรงขึ้นตามลำดับ จากหันศีรษะได้เล็กน้อยไปสู่การยกศีรษะได้ชั่วขณะ
คุณแม่ช่วยได้
- เขี่ยที่ข้างแก้มเพื่อให้ลูกหันหา ซ้ายที ขวาที
- อุ้มพาดบ่าบ่อยๆ เพื่อลูกจะได้หัดชันคอ
- พูดคุยกับลูกเพื่อให้ลูกคุ้นเคยกับเสียงของคุณเร็วๆ และคอยหันหาเสียงนั้นยามที่เขานอนเพลินๆ
- หาโอกาสให้ลูกได้นอนคว่ำเพื่อฝึกชันคอบ้าง
1-2 เดือน : ยกศีรษะได้แล้ว
กล้ามเนื้อคอของลูกจะเริ่มแข็งแรงขึ้นจนคุณแม่สังเกตได้ว่า เมื่อจับลูกนอนคว่ำสักพัก ลูกจะสามารถชันคอขึ้นได้ประมาณ 45 องศา และเริ่มบังคับศีรษะได้บ้าง การเคลื่อนไหวไม่กระตุก
เหมือนช่วงก่อน คุณแม่ควรเปิดโอกาสให้ลูกนอนคว่ำบ้าง เพื่อจะได้ฝึกหัดชันคอ โดยที่นอนไม่ควรนุ่มเกินไป และไม่จำเป็นต้องมีหมอน เพราะเดี๋ยวลูกจะหายใจไม่ออกเวลาที่ฟุบหน้าลงไป ขณะที่ลูกนอนคว่ำ คุณแม่อาจหาของเล่นมาหลอกล่อในระดับที่สูงจากพื้นนิดหนึ่ง เพื่อล่อให้เจ้าหนูยกศีรษะขึ้นมอง
คุณแม่ช่วยได้
- ออกกำลังกล้ามเนื้อคอ โดยให้ลูกนอนหงาย แล้วจับมือทั้งสองดึงขึ้นช้าๆ สู่ท่านั่ง ลูกจะพยายามเกร็งคอและศีรษะให้ตั้งตรง จะช่วยบริหารกล้ามเนื้อคอ แขน และลำตัวของลูกได้ค่ะ
- หมั่นส่งเสียงเรียกเพื่อดึงความสนใจให้ลูกหันหาเสียง
- ยื่นหน้าไปใกล้ๆ ลูกราว 1 ฟุต ขณะลูกนอนคว่ำ พร้อมส่งเสียงพูดคุย ขยับหน้าไปมา ขยับขึ้นบนลงข้างล่างบ้างเพื่อให้ลูกน้อยมองตาม
3-4 เดือน : คอแข็งแล้วจ้า
เด็กในวัย 3 เดือนคอเริ่มแข็งแรงดีแล้วค่ะ ทั้งยังสามารถยกศีรษะได้ 90 องศา และชันคอได้นานขึ้นกว่าเดิม แล้วพอเข้า 4 เดือนก็สามารถยันตัวขึ้นด้วยแขนส่วนปลาย และเด็กบางคนก็เริ่มพลิกตัวได้แล้วในเดือนนี้
โดยทั่วไปเด็กจะมีพัฒนาการพลิกคว่ำพลิกหงายในราวเดือนที่ 4 ซึ่งมักเริ่มจากการพลิกคว่ำก่อน เพราะกล้ามเนื้อคอ ไหล่ หลังและสะโพกแข็งแรงมากขึ้น
อ้อ…แต่ถ้าลูกของคุณแม่ยังไม่มีทีท่าจะพลิกก็อย่าเพิ่งกังวลไป เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของร่างกายและสรีระของเด็กแต่ละคนด้วยค่ะ อดใจรอดูบางทีเดือนหน้าหรือเดือนถัดไป ลูกอาจจะทำได้ก็ได้
คุณแม่ช่วยได้
- อุ้มลูกนั่งตัก ให้หลังลูกห่างจากลำตัวคุณแม่เล็กน้อย การอุ้มนั่งจะช่วยกล้ามเนื้อคอและหลังลูกให้แข็งแรงขึ้นได้ เช่นเดียวกับท่าอุ้มแบบหิ้วมือเดียว โดยใช้มือข้างหนึ่งของคุณแม่หิ้วประคองตรงช่วงหน้าอกลูกไว้
- ลองจับลูกนอนคว่ำคร่อมขาที่เหยียดตรงของคุณแม่ เพื่อฝึกชันคอ
- อาจใช้ของเล่นสีสันสดใสมีเสียง อย่าง กรุ๋งกริ่ง มาเล่นกับลูกให้ลูกหันหาและมองตามก็ได้ แล้วเปลี่ยนทิศทางสลับไปมา เพื่อให้ลูกได้ใช้กล้ามเนื้อคอบ่อยๆ ค่ะ
- โมบายล์แบบคร่อมตัวลูก จะดึงดูดให้ลูกอยากจับสัมผัส โดยเอื้อมมือ ซึ่งต้องใช้กล้ามเนื้อคอ หลังและแขนควบคู่กันไป
...
...
ตอบลบ5-6 เดือน : พลิกไป…พลิกมา
เด็กวัย 5 เดือนจะสามารถใช้มือยันตัวขึ้นข้อศอกเหยียดตรงขณะนอนคว่ำได้ และเมื่อจับนั่งศีรษะจะไม่ห้อยไปด้านหลังอีกแล้วค่ะ และพอย่างเข้าเดือนที่ 6 เด็กหลายคนจะเริ่มพลิกหงายจากท่านอนคว่ำได้แล้ว และบางคนก็สามารถนั่งในลักษณะโน้มตัวไปข้างหน้าโดยใช้มือยันพื้นได้ และก็มีเด็กบางคนเหมือนกัน ที่สามารถนั่งได้โดยไม่ล้ม ในเดือนที่ 6 นี้เอง นั่นแสดงว่ากล้ามเนื้อคอ ไหล่ หลัง ของเขาแข็งแรงมากๆ การทำงานของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อทำงานประสานกันได้ดี
เด็กวัยนี้จะสนอกสนใจเท้าตัวเองมาก และนั่นเป็นเรื่องดีค่ะ เพื่อเขาจะพยายามยกศีรษะมองปลายเท้าและพยายามคว้าจับมันขึ้นมาให้ได้ ซึ่งนับเป็นความสนใจตามธรรมชาติที่ช่วยกระตุ้นพัฒนาการการเคลื่อนไหวได้ดีทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ลูกหัดพลิกคว่ำพลิกหงายอยู่นี้คุณแม่สามารถช่วยจับดันให้ลูกพลิกตัวได้บ้าง แต่แค่ครั้งสองครั้งก็พอค่ะ เพื่อให้ลูกฝึกช่วยเหลือตัวเองให้มากๆ
คุณแม่ช่วยได้
- ให้ลูกนอนบนพื้นเรียบๆ เพื่อหัดพลิกตัวไปมาอย่างอิสระ และควรเลี่ยงเปลผ้าที่ห่อหุ้มเจ้าตัวน้อยจนไม่มีโอกาสพลิกตัวด้วยค่ะ
- ลองหาของเล่นปี๊บๆ แบบบีบแล้วมีเสียงกระตุ้นให้ลูกหันหาหรือพลิกตัวมาหาของเล่นเพื่อฝึกกล้ามเนื้อ คอ แขน และสะโพก
ด้วยความใส่ใจ และการฝึกฝนที่ถูกวิธีในบรรยากาศที่ไม่เคร่งเครียด คุณแม่จะพบว่า ดอกผลของการกระตุ้นกล้ามเนื้อคอจะช่วยให้ลูกน้อยมีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวได้ดีขึ้นจริงๆ
ลูกเราพัฒนาการล่าช้าหรือไม่
โดยปกติแล้วทารกจะสามารถพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ไปตามขั้นตอน ดังนี้ค่ะ
1 เดือน – สามารถนอนคว่ำ ยกศีรษะได้ชั่วขณะ
2 เดือน – สามารถนอนคว่ำ ยกศีรษะได้ 45 องศา
3 เดือน – สามารถนอนคว่ำ ยกศีรษะได้ 90 องศา
4 เดือน – สามารถนอนคว่ำ และยันน้ำหนักตัวด้วยท่อนเเขนส่วนปลาย
5 เดือน – นอนคว่ำใช้มือยันข้อศอกเหยียดตรง จับนั่งโดยศีรษะไม่ห้อยไปข้างหลัง
6 เดือน ? นั่งได้โดยการโน้มตัวไปข้างหน้าเเละใช้มือยัน
สิ่งที่บ่งชี้ว่าลูกคุณอาจมีพัฒนาการล่าช้า
?3 เดือน ยังไม่สามารถชันคอได้
…4 เดือน จับนอนคว่ำ ไม่ยอมยกศีรษะหรือชันคอขึ้น
…4 เดือนแล้ว ดึงลูกขึ้นมานั่งจากท่านอนหงายแล้วลูกไม่สามารถควบคุมศีรษะได้
หากลูกยังไม่สามารถทำได้ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางแก้ไขได้ทันท่วงทีค่ะ
จาก:modernmom เดือนตุลาคม 2553
.