ป้องกันเจ้าตัวเล็ก พ้นภัยอุบัติเหตุสมอง
ป้องกันเจ้าตัวเล็ก พ้นภัยอุบัติเหตุสมอง
เด็กเป็นวัยที่ซุกซน ไม่อยู่นิ่ง เนื่องจากเป็นวัยแห่งการเล่นและการเรียนรู้ พร้อมทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นพัฒนาการในการเจริญเติบโตของพวกเขา และบางครั้งนำมาซึ่งความสุ่มเสี่ยงจากการเกิดอุบัติเหตุที่จะตามมา ดังนั้นหนทางที่เราจะป้องกันให้สิ่งเหล่านั้นลดน้อยลงหรือไม่เกิดขึ้นเลย เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล จะต้องตระหนักพร้อมหาวิธีจัดการ เพราะบางครั้งอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นอาจรุนแรงและกระทบต่อวิถีชีวิตของพวกเขาตลอดไปหากเกิดขึ้นกับอวัยวะสำคัญ เช่น "สมอง"
เมื่อเร็ว ๆ นี้มีงานเสวนาที่น่าสนใจที่นำเสนอแนวทางที่จะลดความเสี่ยงข้างต้น ภายใต้ชื่องาน จัดการความปลอดภัยสำหรับเด็กปฐมวัย : ความเหลื่อมล้ำและช่องว่างของระบบ "อภิวัฒน์การเรียนรู้ สู่จุดเปลี่ยนประเทศไทย" จัดโดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นางงามตา รอดสนใจ จากศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า จากการศึกษาการบาดเจ็บและเสียชีวิตของเด็กปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) พบว่า สาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุของเด็กคือ ขาดวิธีจัดการความปลอดภัยตามมาตรฐานความปลอดภัยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กใน 6 เรื่อง จากอาคาร ผลิตภัณฑ์ การเดินทาง ระบบป้องกันภัยจากบุคคล กิจกรรมการเรียนรู้ และระบบฉุกเฉิน ที่ล้วนแล้วเกี่ยวพันกับอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับสมองของเด็ก
ดังนั้น ศูนย์วิจัยฯ จึงผลิตสื่อขยายผลในวงกว้าง เน้นให้ความสำคัญกับสมองของเด็ก และชูเรื่องการปกป้องสมองเป็นประเด็นนำ เพื่อนำไปสู่การรับรู้ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่มีความเสี่ยง เนื่องจากสมองมีหน้าที่สำคัญต่อร่างกาย การเคลื่อนไหว ความคิด ความจำ การสื่อสาร อารมณ์ ความรู้สึก และประสาทสัมผัสทั้งห้า
"แต่ถ้าสมองถูกทำลาย ไม่ใช่เพียงแค่พิการ แต่อวัยวะภายในและประสาทสัมผัสทั้งห้าจะถูกทำลาย ไม่สามารถสื่อสาร จดจำ คิดอ่าน แก้ไขปัญหาในชีวิตได้ อารมณ์และพฤติกรรมก็จะแปรปรวน สิ่งเหล่านี้ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจะต้องตระหนักและให้ความสำคัญ เนื่องจากทุกคนรู้ว่าสมองสำคัญ แต่การปฏิบัติที่เป็นอยู่ในวิถีชีวิตไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควร หรือไม่ละเอียดพอในการใส่ใจต่อทุกสิ่งที่อยู่รอบตัวเด็ก และที่สำคัญไม่รู้ว่าสิ่งของอะไรบ้างที่เป็นภัยอันตรายคุกคามสมองของเด็กได้"
นางงามตา กล่าว และว่า แนวทางแก้ไขคือ จะต้องมีระบบเฝ้าระวังและค้นหาปัญหาปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดการบาดเจ็บในเด็ก ด้วยการเฝ้าระวังการบาดเจ็บโดยการใช้แบบบันทึกการบาดเจ็บ และแบบบันทึกจุดเสี่ยง เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุการบาดเจ็บของเด็ก เพื่อนำมาสู่การแก้ไขโดยสาเหตุ 4 ประการที่ทำลายสมอง ประการแรกคือ สมองบาดเจ็บ (จากแรงกระแทกเกินกว่า 300 G) จากการโดยสารรถจักรยานยนต์โดยไม่สวมหมวกนิรภัย สมองบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา เครื่องเล่นล้มทับ มวยเด็ก สเกตบอร์ด รองเท้าสเกต
ต่อมาคือ สมองขาดออกซิเจน จากการจมน้ำ สิ่งอุดตันทางเดินหายใจ และสิ่งของรัดคอ ประการต่อมาคือ สารพิษทำลายสมอง (สมองเป็นพิษ) จากการได้รับสารตะกั่วจากโรงงาน สี ของเล่น และของใช้อื่น ๆ ควันบุหรี่ และประการสุดท้ายคือ สมองถูกทำลายเชื่อมโยงเซลล์ประสาท จากการใช้โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต สื่อเทคโนโลยี ติดต่อกันเป็นเวลานาน
สื่อชุด "สิ่งของกับสมองเด็ก" เป็นนวัตกรรมที่เน้นให้ความสำคัญกับสมองของเด็ก และชูเรื่องการปกป้องสมองเด็กเป็นประเด็นนำ เพื่อนำไปสู่การรับรู้ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่มีความเสี่ยง โดยจัดทำเป็นแผนการจัดประสบการณ์ 4 เรื่อง คือ สมองกระทบกระเทือน, สมองกับออกซิเจนเป็นเพื่อนกัน, เมื่อสมองติดเกม, และสุดท้ายคือ สมองเป็นพิษ
สื่อดังกล่าวนี้เป็นลักษณะเรื่องเล่าคล้ายนิทาน ซึ่งบอกตั้งแต่วัตถุประสงค์ เนื้อหา วิธีการสอน การเตรียมการ อุปกรณ์ การสรุป และการประเมินผล โดยคาดหวังให้ครูพี่เลี้ยงในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กนำไปจัดการเรียนการสอนเพื่อให้เด็กเรียนรู้ ซึ่งขณะนี้ ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ได้ส่งชุดสื่อ 4 เรื่อง และคู่มือการสอน "สิ่งของกับสมองเด็ก" ให้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่เข้าร่วมโครงการแล้ว นางงามตา กล่าว
นอกจากคู่มือผ่านสื่อการเรียนรู้ดังกล่าวแล้ว สิ่งของรอบตัวเด็ก ๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญที่มักจะทำให้เกิดอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ดูแลจะต้องพึงระวังไม่แพ้กัน พื้นบ้าน บันไดบ้านจะต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัย นอกจากจะไม่ปล่อยให้พื้นเปียกน้ำเฉอะแฉะ หรือเป็นคราบมันที่อาจทำให้เด็กลื่นหกล้มแล้ว บรรดาของเล่น เครื่องเรือนต่าง ๆ ก็ไม่ควรทิ้งระเกะระกะตามพื้น เพราะนั่นล้วนอาจทำให้พวกเขาเดินสะดุด หรือลื่นล้ม แขน ขา ปาก หรือหัวกระแทกพื้นได้
ห้องครัวบางครั้งขณะผู้ปกครองกำลังเพลินอยู่กับการทำอาหาร ไม่ทันได้ระวัง ปล่อยให้ลูก ๆ วิ่งเล่น วิ่งไล่กันอยู่ในบริเวณที่ผู้ดูแลเด็กกำลังถือมีด ถือตะหลิว หรือเปิดเตาทำอาหาร ลูกอาจโดนน้ำมันร้อน ๆ กระเด็นเข้าใส่ หรือลูกอาจคว้ามีดทำครัวที่เผลอวางไว้มาเล่นกัน นำมาซึ่งเหตุไม่คาดฝัน
โต๊ะอาหารที่เป็นกระจกหรือมีเหลี่ยมมีมุมดูสวยงาม ไม่เหมาะอย่างมากถ้าบ้านมีเด็ก ยิ่งในวัยซนก็อาจวิ่งหรือเดินเข้ามาชนเปรี้ยงเข้าให้ จึงควรเลือกซื้อโต๊ะทรงกลมหรือทรงรีที่มีความมั่นคงแข็งแรงแทน
ตุ่มน้ำ โอ่งน้ำ และถังน้ำแทบไม่น่าเชื่อว่าในปี ๆ หนึ่งจะมีเด็กไม่น้อยเลยที่ตกตุ่มน้ำ โอ่งน้ำ หรือศีรษะจมลงไปในถังน้ำจนเสียชีวิต ดังนั้นจะต้องปิดฝาให้มิดชิดทุกครั้งหลังการใช้งาน ส่วนถังน้ำก็ต้องหมั่นตรวจเทน้ำออกให้หมด และวางคว่ำลงทุกครั้งหลังใช้งานเสร็จ
ห้องนอน เตียงนอนหากเด็กอายุยังไม่เกินกว่า 6 ขวบ ก็อย่าให้นอนเตียงชั้นบน (กรณีใช้เตียงแบบ 2 ชั้น) เพราะเสี่ยงต่อการตกเตียง เตียงเด็กควรจัดให้เข้ามุมหรือติดกับผนังห้อง จะได้ช่วยป้องกันไม่ให้ตกเตียง การเลือกเตียงไม่ว่าจะเป็นแบบชั้นเดียวหรือ 2 ชั้น จะต้องเลือกไม้ที่เรียบลื่น ไม่มีเศษเสี้ยนแหลมคมใด ๆ นอตแต่ละตัวของเตียงจะต้องยึดจับไว้อย่างแน่นหนา ไม้ที่ประกอบกันต้องเรียงอย่างถูกต้อง เข้าที่กันเป็นอย่างดี
ยาฉีดยุง น้ำยาซักผ้า ครีมทารองเท้า กระทั่งน้ำมันเครื่อง น้ำมันเบรก หรือวัตถุมีพิษทุกประเภทจะต้องเก็บซ่อนไว้ในตู้ที่ปิดล็อกสนิท หรือไว้บนที่สูงเกินกว่าเด็กจะเอื้อมหยิบถึง เพราะอาจหยิบไปเล่นหรือรับประทานได้
รูปลั๊กไฟ เด็ก ๆ ที่อยู่ในวัยซนและอยากรู้อยากเห็นว่านี่นั่นคืออะไร ก็มักจะชอบเอานิ้วน้อย ๆ หรือเอาของแหลม ๆ ไปแทง ไปแหย่เล่น แล้วก็เกิดไฟชอร์ต ไฟดูด จนถึงแก่ชีวิต ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรติดตั้งปลั๊กไฟให้อยู่สูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร หรือถ้ายังไม่ปรับเปลี่ยนไปไว้ในที่สูง ก็จะต้องหาฝาครอบหรือแผ่นเสียบรูปลั๊กไฟมาปิดให้เรียบร้อย
นอกจากป้องกันตามแนวทางข้างต้นแล้ว ก็ต้องดูแลและเอาใจใส่พวกเขาตลอดเวลา อย่าให้คาดสายตา เพราะบางครั้งอุบัติเหตุก็อยู่เหนือความคาดหมาย ที่จะเข้ามาโดยไม่รู้ตัว สิ่งสำคัญสุดคือห้ามประมาท
ที่มา :: (ไทยโพสต์)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น