มากระตุ้นสมองลูกให้ฉลาด (อย่างถูกวิธี) กันเถอะ
บอกเล่าได้จาก พญ.จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ นายกสมาคมนักวิจัยไทยเพื่อการพัฒนาเด็ก และครอบครัว หนึ่งในกลุ่มผู้บุกเบิกงานวิจัยเรื่องสมองเด็กไทย ที่มองว่า คุณพ่อคุณแม่จำนวนไม่น้อยเลี้ยงลูกผิดวิธี ส่งผลให้เด็กยิ่งเติบโตพัฒนาการด้านต่าง ๆ ยิ่งลดต่ำลง "ตอนนี้เราฝึกเด็กแบบไม่ประณีต ชุ่ย ๆ แบบสำเร็จรูป บางคนเลี้ยงลูกด้วยโทรทัศน์ แต่หารู้ไม่ว่า โทรทัศน์ไปทำลายสมองส่วนหน้า ทำให้เด็กเป็นคนไม่ชอบอ่านหนังสือ ไม่ชอบคิด และกลายเป็นเด็กสมาธิสั้น" พญ.จันทร์เพ็ญกล่าวไว้ในงานอบรม อ่านสมอง ช่องทางสร้างเด็กฉลาด Smart Kids จัดโดยมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก และบริษัทแปลน ฟอร์ คิดส์ จำกัด สอดรับกับงานวิจัยหลาย ๆ ชิ้นที่เปรียบเทียบระดับไอคิวของเด็กที่ดูโทรทัศน์วันละ 1 ชั่วโมงกับเด็กที่ไม่ดูโทรทัศน์เลย พบว่า เมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี ระดับพัฒนาการของเด็กที่ดูโทรทัศน์จะต่ำกว่าเด็กที่ไม่ดูอย่างชัดเจน ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจพัฒนาการของลูก ด้วยการพูด และอ่านหนังสือกับลูกบ่อย ๆ รวมทั้งเด็กก่อน 6 ขวบควรได้สัมผัสของจริงมากกว่าการดูจากโทรทัศน์ เพราะจะเป็นพื้นฐานต่อยอดให้เด็กเข้าใจความหมายที่เป็นนามธรรมได้ดีขึ้น ที่สำคัญความอ่อนโยน ละเมียดละไมจากสัมผัส และน้ำเสียงของพ่อแม่จะเป็นแรงกระตุ้นวงจรในสมองเด็ก ทำให้ลูกเติบโตอย่างสวยงาม และมีความฉลาดทางอารมณ์ | ||||||||||
อย่างไรก็ดี พญ.จันทร์เพ็ญ มีข้อแนะนำในทางปฏิบัติให้คุณพ่อคุณแม่นำไปช่วยลูกปฐมวัย หรือก่อน 6ขวบเพื่อกระตุ้นสมอง และพัฒนาการทางภาษาอย่างถูกวิธี ตามแนวทางดังต่อไปนี้ - คุยกับลูกอย่างสนุกสนาน ลูกต้องคุ้นเคย และได้ยินเสียงคุณพ่อคุณแม่บ่อยที่สุดเท่าที่จะบ่อยได้ บอกเขาว่า คุณคือใคร คุณกับลูกอยู่ที่ไหน กำลังทำอะไรอยู่ และอธิบายถึงสิ่งรอบตัวที่ลูกเห็น ได้ยินเสียง และสัมผัสได้ เริ่มจาก สิ่งเล็ก ๆ ใกล้ตัว ไปสู่สิ่งที่ใหญ่ขึ้น และไกลตัวออกไป รวมถึงการทักทายเด็กตั้งแต่ตื่นนอนเป็นประจำทุกวัน พร้อมกับโอบกอด หอมแก้ม หรือหยอกล้อไปด้วยจะยิ่งกระตุ้นสมองมากขึ้น | ||||||||||
- รับฟังลูกอย่างอดทน และตั้งใจ แม้ในช่วงแรก ๆ จะยังไม่เข้าใจภาษา หรือคำพูดที่ลูกใช้ แต่เมื่อลูกรับรู้ว่ามีคนตั้งใจฟังเขา จะเป็นแรงกระตุ้นให้เขาอยากฝึกออกเสียง หรือเปล่งคำพูดใหม่ ๆ มากขึ้น และอย่าเบื่อที่จะตอบคำถามลูก เพราะการขยันตอบคำถามลูกวัยเด็กเล็กก็เพื่อกระตุ้นสมองให้เด็กเป็นคนกล้าคิด ทำให้เกิดวงจรเรียนรู้แบบถาวร - ให้เวลาลูกตอบสนองหรือตอบคำถาม เพราะต้องไม่ลืมว่าเด็กเล็ก ๆ ต้องการเวลาทำความเข้าใจ เพื่อเรียบเรียงความคิดก่อนที่จะสามารถสื่อสารกับคุณได้ ดังนั้นอย่าใจร้อน เร่งรัด หรือพูดแทน หรือพยายามเติมคำในช่องว่างเวลาที่ลูกพูดกับเรา ควรให้เขาได้พยายามคิด และพูดออกมาด้วยตัวเอง - พูดคำง่าย ๆ สั้น ๆ และช้า ๆ เพราะในสมองลูกยังมีคำจำกัด อายุเขาต่างจากเรามาก ความเข้าใจในถ้อยคำต่าง ๆ จึงยังมีไม่มาก หากต้องอธิบายอะไรให้ลูกเข้าใจ ต้องปรับประโยคให้ง่าย สั้น ชัดเจน พูดทีละเรื่อง แล้วลูกจะเรียนรู้คำต่าง ๆ ได้รวดเร็ว - ตอบสนอง และชื่นชมกับความพยายามของลูกที่จะสื่อสารกับเรา ไม่จำเป็นต้องคอยแก้ไขคำพูดที่ลูกพูดผิด แต่สิ่งที่ควรทำคือ ทบทวนคำ หรือประโยคที่ลูกพูดให้ถูกต้อง เช่น ลูกพูดว่า "แม่ไปหลาด" แทนที่จะตำหนิว่า "ไม่ใช่ ๆ ลูกพูดผิด" ควรทวนโยคของลูกด้วยประโยคที่ถูกต้อง คือ "จ้ะ แม่ไปตลาด" - เล่าให้นิทานให้ลูกฟัง ลองคิดเรื่องขึ้นเอง เด็กเล็กชอบฟังเรื่องที่มีตัวเขาเป็นผู้แสดง หรือเกี่ยวกับเรื่องที่เขาคุ้นเคยในกิจวัตรประจำวัน อ่านหนังสือกับลูกทุกวัน พูดคุยกับเขา อธิบายรูปภาพ สี รูปทรง จำนวน และคำต่าง ๆ ที่ปรากฎอยู่ในหน้าหนังสือ เชื่อมโยงภาพเข้ากับคำ ทั้งนี้ยังสามารถใช้งานศิลปะง่าย ๆ เช่น ปั้นแป้งโด ใช้สีเทียนแท่งโต ๆ วาดภาพขณะที่อ่านหนังสือ และคุยกับลูกไปพร้อม ๆ กันก็ได้ ดังนั้น ถ้าอยากให้ลูกฉลาด ทำได้ไม่ยาก คุณพ่อคุณแม่ต้องขยันตั้งใจจริง ที่สำคัญต้องมีความรักเป็นองค์ประกอบเสมอ |
ที่มา :: http://www.manager.co.th