Angina Pectoris
ภาวะเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด (Angina)
Angina Pectoris เป็นอาการเจ็บแน่นหน้าอกที่เกิดขึ้นเมื่อหลอดเลือดแดงที่ลำเลียงเลือดไปเลี้ยงหัวใจตีบแคบลง ทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจได้น้อยลง เมื่อหัวใจขาดเลือดจึงส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บแน่นหน้าอกเหมือนถูกบีบหรือเหมือนมีน้ำหนักมากดทับบริเวณหน้าอก โดยอาการอาจเกิดขึ้นได้ระหว่างออกแรงหรืออาจเกิดในขณะหยุดพักหากโรคมีความรุนแรง
ในบางครั้งอาการเหล่านี้อาจหายไปได้เอง แต่ในบางกรณีก็อาจทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้ จึงไม่ควรนิ่งนอนใจและรีบไปพบแพทย์ทันที อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยโรคนี้อาจทำได้ยาก เนื่องจากมีความคล้ายคลึงกับสาเหตุของอาการเจ็บหน้าอกประเภทอื่น อย่างอาการอาหารไม่ย่อย ดังนั้น หากมีอาการเจ็บหน้าอกอย่างไม่ทราบสาเหตุ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาต่อไป
อาการของ Angina Pectoris
อาการที่พบได้ทั่วไป ได้แก่ รู้สึกเจ็บแน่นเหมือนถูกกดหรือบีบเค้นบริเวณหน้าอก มักเกิดบริเวณกลางหน้าอกหรืออกฝั่งซ้าย รู้สึกปวดร้าวไปที่คอ กราม ไหล่ หรือแขนทั้งสองข้าง โดยเฉพาะร่างกายฝั่งด้านซ้าย หายใจได้สั้นลง มีเหงื่อออกมามาก รู้สึกเหนื่อยหรืออ่อนแรง เวียนศีรษะ รวมถึงอาจรู้สึกไม่สบายท้อง คลื่นไส้ และอาเจียน
Angina Pectoris สามารถแบ่งได้หลายประเภท โดยแต่ละประเภทจะมีลักษณะอาการที่แตกต่างกันออกไป ได้แก่
- Stable Angina เป็นประเภทที่พบได้บ่อยที่สุด อาจเกิดระหว่างออกแรงทำกิจกรรม เช่น การออกกำลังกายหรือขึ้นบันได ฯลฯ มักเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ โดยอาการอาจคงอยู่ประมาณ 5 นาทีหรือน้อยกว่านั้น อาการจะหายไปเมื่อได้หยุดพักหรือใช้ยาอมขยายหลอดเลือดหัวใจ
- Unstable Angina เกิดขึ้นได้ขณะที่หยุดพักหรือไม่ได้ทำกิจกรรมที่ใช้แรงมาก เป็นอาการที่เกิดขึ้นโดยที่ผู้ป่วยไม่ได้คาดคิดหรือไม่มีสัญญาณของโรคบ่งบอกก่อน สามารถเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บปวดรุนแรงกว่าและอาการสามารถคงอยู่ได้ยาวนานกว่าประเภท Stable Angina โดยผู้ป่วยอาจมีอาการได้นานถึง 30 นาทีหรือมากกว่านั้น และอาการอาจไม่หายไปแม้จะหยุดพักหรือใช้ยาอมขยายหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งนี่อาจเป็นสัญญาณของภาวะหัวใจขาดเลือดได้ จึงถือว่าเป็นประเภทที่มีความร้ายแรงและควรเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด
- Microvascular Angina เป็นอาการเจ็บหน้าอกที่เกิดจากการทำงานผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจ ทำให้หัวใจได้รับเลือดไม่เพียงพอ อาการมักคงอยู่นานกว่า 10 นาที และมักพบในเพศหญิง
- Prinzmetal's Angina หรือ Variant Angina เป็นกรณีที่พบได้น้อยมาก อาจเกิดขึ้นในตอนกลางคืนขณะนอนหลับหรือพักผ่อน โดยที่หลอดเลือดหัวใจเกิดการตีบตันอย่างฉับพลัน ซึ่งอาจทำให้รู้สึกเจ็บปวดเป็นอย่างมาก จึงควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที แต่อาการจะดีขึ้นเมื่อได้รับยาอมขยายหลอดเลือดหัวใจ
หากพบว่าตนเองมีอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อการวินิจฉัยที่แน่ชัดว่าเป็นอาการ Angina Pectoris ประเภทใดและทำการรักษาอย่างเหมาะสม เนื่องจากกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นอาจมีความคล้ายคลึงกับโรคอื่น ๆ ได้
สาเหตุของ Angina Pectoris
Angina Pectoris ส่วนมากมักเกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยเมื่อไขมันจับตัวสะสมเป็นคราบตะกรันหรือพลัค (Plaque) ในหลอดเลือดแดง จะทำให้การไหลเวียนเลือดเพื่อไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจเกิดการอุดตัน และทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบแคบลง หัวใจจึงต้องทำงานโดยขาดออกซิเจน ทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกขึ้น ในบางกรณีอาจเกิดจากลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดแดงจนนำไปสู่ภาวะหัวใจขาดเลือดได้
นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุอื่นที่อาจทำให้เกิด Angina Pectoris ได้ แต่มักพบได้น้อย ได้แก่ การอุดตันของหลอดเลือดแดงในปอด (Pulmonary Embolism) กล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ (Hypertrophic Cardiomyopathy) ลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ (Aortic Stenosis) เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (Pericarditis) หรือหลอดเลือดแดงใหญ่ที่หัวใจเกิดการฉีกขาด (Aortic Dissection) เป็นต้น
ทั้งนี้ Angina Pectoris จะเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าปกติเมื่อร่างกายต้องการออกซิเจนเพิ่มขึ้น เช่น เมื่อออกกำลังกายหรือเมื่อต้องใช้แรง แต่ขณะที่หยุดพัก กล้ามเนื้อหัวใจจะต้องการออกซิเจนน้อยลง จึงไม่ไปกระตุ้นการเกิด Angina Pectoris มากนัก
ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจก่อให้เกิด Angina Pectoris เช่น
- มีโรคประจำตัวอย่างโรคเบาหวาน โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง มีระดับระดับไตรกลีเซอไรด์หรือคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีในเลือดสูง ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจหรือโรคหลอดเลือดแดงแข็ง และอาจนำไปสู่ Angina Pectoris และภาวะหัวใจขาดเลือด
- คนในครอบครัวมีประวัติเคยเป็นโรคหัวใจมาก่อน เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจหรือภาวะหัวใจขาดเลือด บุตรหลานก็มีความเสี่ยงมากขึ้นในการเป็น Angina Pectoris มากขึ้น
- อายุมาก โดยเฉพาะเพศชายที่อายุมากกว่า 45 ปี และเพศหญิงที่อายุมากว่า 55 ปี จะมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิด Angina Pectoris มากกว่าคนที่อายุน้อยกว่า
- พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ดี เช่น การสูบบุหรี่ การได้รับควันบุหรี่จากบุคคลใกล้ชิดเป็นเวลานาน การไม่ออกกำลังกาย การเกิดความเครียดสะสม เป็นต้น
การวินิจฉัย Angina Pectoris
แพทย์จะสอบถามอาการ ประวัติทางการแพทย์หรือบุคคลในครอบครัวที่อาจพบว่าสมาชิกในครอบครัวเคยเป็นโรคหัวใจมาก่อน ซึ่งถือเป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิด Angina Pectoris รวมทั้งทำการตรวจร่างกายเบื้องต้นและอาจมีการตรวจเพิ่มเติมดังนี้
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG/EKG) เป็นการตรวจจับสัญญาณไฟฟ้าที่มาจากการเต้นของหัวใจในแต่ละครั้ง โดยจะถูกบันทึกด้วยเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ทำให้แพทย์สามารถตรวจดูรูปแบบการทำงานของหัวใจ ซึ่งอาจตรวจพบความผิดปกติของการไหลเวียนของเลือดหรือภาวะหัวใจขาดเลือดได้
- การทดสอบสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Stress Test) ในบางกรณี Angina Pectoris สามารถตรวจพบได้ง่ายเมื่อให้ผู้ป่วยออกแรง โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยเดินบนลู่วิ่งหรือขี่จักรยานออกกำลังกาย จากนั้นจะตรวจดูความดันโลหิตและคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หากผู้ป่วยไม่สามารถออกกำลังกายได้ แพทย์อาจให้ยาที่กระตุ้นการทำงานของหัวใจเสมือนการเลียนแบบการออกกำลังกาย
- การทำเอคโค่หัวใจ (Echocardiogram) เป็นการใช้คลื่นเสียงจำลองภาพของหัวใจเพื่อใช้ในการตรวจอาการผิดปกติของหัวใจและตรวจดูว่ากล้ามเนื้อหัวใจส่วนใดที่อาจถูกทำลายจากการสูบฉีดเลือดได้ไม่ดี บางกรณีแพทย์อาจทำเอคโค่หัวใจระหว่างการทดสอบสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย เพื่อดูว่าบริเวณใดของหัวใจที่ได้รับเลือดไม่เพียงพอ
- การถ่ายภาพรังสี เป็นการเอกซเรย์ช่องอกแสดงภาพปอดและหัวใจ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถตรวจอาการผิดปกติหรืออาจตรวจพบภาวะหัวใจโตได้ในบางกรณี นอกจากนี้ แพทย์อาจทำซีที สแกน (CT Scan) หรือเอ็มอาร์ไอ (MRI) เพื่อตรวจหาความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับหัวใจหรือหลอดเลือด
- การตรวจเลือด เนื่องจากผลเลือดจะแสดงปริมาณที่ผิดปกติของเอนไซม์หรือโปรตีนบางชนิดในเลือด จึงช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยภาวะหัวใจขาดเลือดได้
- การสวนหัวใจและฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Angiography) เป็นการใช้รังสีเอกซเรย์พร้อมกับการฉีดสารสีเพื่อตรวจดูการทำงานภายในหลอดเลือดหัวใจ
การรักษา Angina Pectoris
การรักษาสามารถทำได้หลายวิธี โดยจะแตกต่างกันไปตามประเภทและระดับความรุนแรงของโรค เป้าหมายของการรักษาคือเพื่อลดความถี่และความรุนแรงของอาการลง รวมถึงลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดและการเสียชีวิตได้ การรักษาสามารถแบ่งออกเป็นหลายประเภท ได้แก่
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
หากผู้ป่วยมีอาการไม่มากนัก การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอาจช่วยรักษาโรคได้ หรือหากมีอาการร้ายแรงก็อาจช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการที่ดีขึ้นได้ สามารถทำได้โดย
- เลิกบุหรี่หรือหลีกเลี่ยงการได้รับควันบุหรี่จากบุคคลอื่น
- ควบคุมน้ำหนักและออกกำลังกายตามคำแนะนำของแพทย์
- เมื่อต้องทำกิจกรรมที่ใช้แรง ไม่ควรหักโหมจนเกินไป ควรผ่อนแรงลงหรือหาช่วงพักเป็นระยะ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ธัญพืชไม่ขัดสี ผักและผลไม้ ฯลฯ
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูงและการรับประทานมื้อใหญ่ที่ทำให้อิ่มจนเกินไป
- ดูแลตัวเองเป็นพิเศษในกรณีที่มีโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือคอเลสเตอรอลสูง
- หลีกเลี่ยงความเครียดและหาวิธีการผ่อนคลาย หากไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเองอาจปรึกษาแพทย์เพื่อขอรับคำแนะนำวิธีลดความเครียด
- ลดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์โดยไม่เกินวันละ 2 หน่วยต่อวันสำหรับเพศชาย และไม่เกิน 1 หน่วยต่อวันสำหรับเพศหญิง ทั้งนี้ ปริมาณบริโภคต่อหน่วยอาจจำแนกตามประเภทของเครื่องดื่มได้ดังนี้ เบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ 5% จะมีหนึ่งหน่วยประมาณ 360 มิลลิลิตร ไวน์ที่มีแอลกอฮอล์ 12% จะมีหนึ่งหน่วยประมาณ 150 มิลลิลิตร และสุราที่มีแอลกอฮอล์ 40% จะมีหนึ่งหน่วยอยู่ที่ 45 มิลลิลิตรโดยประมาณ
การรักษาโดยใช้ยา
หากใช้วิธีปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วไม่ได้ผล อาจต้องใช้ยาในการรักษา ได้แก่ยาดังต่อไปนี้
- ยากลุ่มไนเตรท จะช่วยขยายหลอดเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ดีขึ้น โดยตัวยาที่นิยมนำมารักษา Angina Pectoris ได้แก่ ยาไนโตรกลีเซอรีนและยาไอโซซอร์ไบด์ไดไนเตรต (Isosorbide Dinitrate)
- แอสไพริน ป้องกันการอุดตันของลิ่มเลือด ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ผ่านหลอดเลือดหัวใจ แต่ควรรับประทานภายใต้การดูแลของแพทย์
- กลุ่มยาต้านเกล็ดเลือด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการจับตัวเป็นลิ่มเลือด มักจะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถรับประทานยาแอสไพรินได้ เช่น ยาโคลพิโดเกรล (Clopidogrel) ยาพราซูเกรล (Prasugrel) หรือยาทิคาเกรเตอร์ (Ticagrelor)
- ยาเบต้าบล็อกเกอร์ ทำให้หัวใจเต้นช้าลงและช่วยลดภาวะความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ ยังช่วยในการทำงานของหลอดเลือดและทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น
- กลุ่มยาสเตติน (Statins) ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด และป้องกันการอุดตันของหลอดเลือด
การรักษาโดยวิธีการทางการแพทย์
หากรักษาด้วยการใช้ยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาการอุดตันของหลอดเลือดแดงด้วยวิธีการผ่าตัด ได้แก่
- การผ่าตัดขยายหลอดเลือดด้วยการทำบอลลูนและการใส่ขดลวด เพื่อขยายหลอดเลือดแดงที่ตีบตัน ช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดทำงานได้ดีขึ้น โดยเหมาะกับผู้ป่วยประเภท Unstable Angina หรือผู้ป่วยที่รักษาด้วยการปรับพฤติกรรมและการใช้ยาแล้วไม่ได้ผล
- การผ่าตัดบายพาสหัวใจ โดยแพทย์จะใช้หลอดเลือดที่อยู่ในสภาพดี ซึ่งนำมาจากส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย มาเชื่อมต่อแทนหลอดเลือดที่อุดตันหรือตีบตัน ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดและบรรเทาอาการ Angina Pectoris โดยวิธีนี้เหมาะกับผู้ป่วยทั้งประเภท Stable Angina และ Unstable Angina ที่ไม่ตอบสนองต่อวิธีการรักษาอื่น
ภาวะแทรกซ้อนของ Angina Pectoris
Angina Pectoris มักเป็นอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจ ทำให้หัวใจบางส่วนได้รับเลือดไม่เพียงพอและเกิดอาการเจ็บหน้าอกร่วมด้วย รวมทั้งอาจทำให้การทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันอย่างการเดินเกิดความไม่สะดวกหรืออาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดตามมา
การป้องกัน Angina Pectoris
Angina Pectoris อาจไม่มีวิธีที่สามารถป้องกันได้อย่างสิ้นเชิง แต่การหมั่นดูแลสุขภาพจะช่วยชะลอหรือลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้ โดยสามารถทำได้ด้วยวิธีต่อไปนี้
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง
- ออกกำลังกายเป็นประจำตามที่แพทย์ให้คำแนะนำ
- จัดการกับความเครียด
- ไม่สูบบุหรี่หรือเลิกสูบหากเป็นผู้ที่สูบบุหรี่อยู่แล้ว
- รักษาน้ำหนักให้เป็นไปตามเกณฑ์ปกติ
- รับประทานยาให้ครบตามที่แพทย์สั่ง
- ดูแลสุขภาพเป็นพิเศษหากมีอาการของโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง และภาวะน้ำหนักเกิน
- จำกัดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ ไม่เกินวันละ 2 หน่วยต่อวันสำหรับเพศชาย และไม่เกิน1 หน่วยต่อวันสำหรับเพศหญิง
- ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี เพื่อช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากเชื้อไวรัสที่อาจเกิดขึ้นที่บริเวณหัวใจ
ที่มา :: www.pobpad.com/