Learn with Prin เรียนรู้ไปพร้อมกับน้องปริญญ์

จำหน่ายผลิตภัณฑ์ Legacy /Reborn Set ลด Fat ตัวช่วยลดไขมัน ลดน้ำหนัก แบบถูกวิธี 🔥 ติดต่อสอบถาม/สั่งซื้อ 📍 โทร ☎️ :: 084-110-5021 🌸 Line ID :: pla-prapasara 🌸 รับโปรโมชั่นสุดพิเศษเฉพาะทาง Line นะคะ 📍

วันอังคารที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2566

Costochondritis หรือภาวะกระดูกอ่อนซี่โครงอักเสบ

 Costochondritis หรือภาวะกระดูกอ่อนซี่โครงอักเสบ




Costochondritis หรือภาวะกระดูกอ่อนซี่โครงอักเสบ เป็นอาการอักเสบของกระดูกอ่อนในบริเวณที่เชื่อมระหว่างกระดูกซี่โครงและกระดูกส่วนอก (Sternum) ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บเมื่อถูกสัมผัสหรือรู้สึกเจ็บเมื่อกระดูกอ่อนช่วงอกถูกยกขึ้น เช่น เมื่อไอหรือสูดหายใจเข้าลึก แต่เมื่ออาการรุนแรงขึ้น ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บแปลบลามไปยังแขนหรือเจ็บหน้าอกมากจนเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวัน 


Costochondritis ยังรู้จักในชื่อ Costosternal Syndrome หรือ Costosternal Chondrodynia โดยทั่วไป อาการมักจะดีขึ้นเองภายใน 2-3 สัปดาห์ แต่บางกรณีอาจต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ การรักษาส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การบรรเทาอาการเจ็บปวดของผู้ป่วย โดยพิจารณาจากอาการและความรุนแรงของโรค


อาการของ Costochondritis   


Costochondritis อาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บแปลบหรือรู้สึกเจ็บเหมือนถูกกดทับบริเวณกระดูกอก หากอาการรุนแรงอาจเจ็บลามไปยังหลังหรือท้องได้ ส่วนใหญ่จะเกิดฝั่งซ้ายของร่างกาย ในบางกรณีอาการเจ็บปวดอาจเกิดขึ้นบริเวณซี่โครงมากกว่าหนึ่งตำแหน่ง มักเกิดบริเวณกระดูกซี่โครงซี่ที่ 4-6 และจะรู้สึกเจ็บปวดยิ่งขึ้นเมื่อสูดลมหายใจเข้าลึก ๆ หรือไอ แต่อาการจะดีขึ้นเมื่ออยู่นิ่งและหายใจเบา ๆ ทั้งนี้ อาการเจ็บหรือปวดจาก Costochondritis มักเกิดขึ้นหลังการออกกำลังกาย การได้รับบาดเจ็บที่ได้รับแรงกระทบไม่มาก หรือการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน 


อย่างไรก็ตาม อาการเจ็บหน้าอกอาจเกิดขึ้นจากสาเหตุอื่นที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้ อย่างภาวะหัวใจขาดเลือด ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ โดยเฉพาะหากมีอาการเจ็บหน้าอกและอาการผิดปกติต่อไปนี้   

  • หายใจลำบาก
  • มีไข้สูง และไข้ไม่ลดลงหลังจากรับประทานยาลดไข้ อย่างยาอะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen)
  • มีสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น มีอาการบวมแดงหรือมีหนอง 
  • มีอาการเจ็บหน้าอกต่อเนื่องและอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ เหงื่อออก ปวดบริเวณแขนซ้าย หรือมีอาการเจ็บส่วนใดส่วนหนึ่งของหน้าอก เป็นต้น




สาเหตุของ Costochondritis


ในปัจจุบันยังไม่ทราบถึงสาเหตุของ Costochondritis อย่างแน่ชัด แต่คาดว่าอาจเกิดได้จากปัจจัยต่อไปนี้

  • การได้รับบาดเจ็บที่บริเวณหน้าอก เช่น เกิดจากอุบัติเหตุรถชนหรือตกจากที่สูง
  • การทำกิจกรรมใช้แรงมากเกินไป เช่น ยกของหนัก ออกกำลังกายอย่างหักโหม หรือไออย่างรุนแรง
  • ผลจากโรคข้ออักเสบ เช่น โรคข้อเสื่อม โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคข้ออักเสบไรเตอร์ (Reiter’s Syndrome) หรือโรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบยึดติด เป็นต้น
  • การติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือเชื้อรา อย่างวัณโรค ซิฟิลิส และแอสเปอร์จิลลัส (Aspergillus) ในบริเวณข้อต่ออาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่ข้อต่อซี่โครงได้
  • เนื้องอกบริเวณข้อต่อระหว่างซี่โครงและกระดูกอก (Costosternal Joint) ทั้งเนื้องอกธรรมดาและเนื้องอกที่เป็นเนื้อร้าย สามารถทำให้เกิด Costochondritis ได้เช่นกัน โดยเซลล์มะเร็งอาจลุกลามไปยังส่วนอื่นของร่างกาย เช่น อก ต่อมไทรอยด์ หรือปอด 


Costochondritis มักพบได้บ่อยในเพศหญิงและผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี รวมถึงผู้ที่ใช้แรงในการทำงานหรือทำกิจกรรมอย่างหนัก ผู้ที่มีอาการแพ้หรือไวต่อการกระตุ้น รวมถึงผู้ที่มีอาการของโรคข้ออักเสบ อย่างโรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบชนิดติดยึด (Ankylosing Spondylitis) หรือภาวะข้ออักเสบไรเตอร์ (Reiter Syndrome) 



การวินิจฉัย Costochondritis 


แพทย์จะสอบถามอาการผิดปกติ ซักประวัติการรักษาและประวัติครอบครัวของผู้ป่วย จากนั้นจะตรวจร่างกายเบื้องต้นเพื่อวินิจฉัยอาการเจ็บปวดบริเวณกระดูกซี่โครง และอาจตรวจเลือดเพื่อหาสาเหตุการอักเสบหรือติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้นได้ 

นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมเพื่อตัดสาเหตุที่ไม่เกี่ยวข้องออก เนื่องจากอาการเจ็บปวดของ Costochondritis อาจคล้ายคลึงกับอาการเจ็บปวดที่เกิดจากโรคหัวใจ โรคปอด ปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร และโรคข้อเสื่อม ดังนี้  

  • การเอกซเรย์ในกรณีที่ผู้ป่วยอาจมีอาการปอดบวม
  • การตรวจเลือดเพื่อวัดปริมาณเซลล์เม็ดเลือดขาวที่อาจเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram : ECG/EKG) หรือการเอกซเรย์ทรวงอก เพื่อให้ทราบว่าผู้ป่วยไม่ได้มีอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจหรือภาวะเกี่ยวกับหัวใจอื่น ๆ 



การรักษา Costochondritis


โดยทั่วไป Costochondritis มักจะหายไปได้เอง อาจใช้เวลาหลายสัปดาห์หรือนานกว่านั้น แต่ในกรณีที่รับการรักษาจากแพทย์ ส่วนใหญ่จะมุ้งเน้นเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดของผู้ป่วย ซึ่งวิธีการรักษาอาจแตกต่างกันไปตามอาการและความรุนแรงของโรค 



การดูแลตนเองที่บ้าน


ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองที่บ้านเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดในเบื้องต้น เช่น 

  • รับประทานยาแก้ปวดที่สามารถหาซื้อได้เองตามคำแนะนำของเภสัชกร ได้แก่ยากลุ่ม NSAIDs อย่างยาไอบูโพรเฟนหรือยานาพรอกเซน 
  • ประคบเย็นหรือประคบร้อนในบริเวณที่มีอาการวันละ 2-3 ครั้ง เพื่อช่วยบรรเทาความเจ็บปวด
  • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงมาก เนื่องจากอาจทำให้อาการแย่ลงได้ เช่น ยกของหนัก วิ่งหรือกระโดด 
  • ออกกำลังกายด้วยการยืดกล้ามเนื้ออาจช่วยบรรเทาอาการได้ โดยค่อย ๆ ออกแรงบริเวณช่วงอก  



การใช้ยา


หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงขึ้น แพทย์อาจสั่งจ่ายยาต่อไปนี้

  • ยาแก้ปวดชนิดอื่น อย่างยาโคเดอีน (Codeine) เพื่อระงับความเจ็บปวด
  • ยาต้านเศร้ากลุ่มไตรไซคลิก (Tricyclic Antidepressants) สำหรับผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดเรื้อรังหรืออาการเจ็บปวดรบกวนขณะนอนหลับ
  • ยากันชัก อย่างยากาบาเพนติน (Gabapentin) สามารถช่วยรักษาอาการเจ็บปวดเรื้อรังได้
  • การให้ยาชาเฉพาะที่และการฉีดยาสเตียรอยด์บริเวณที่มีอาการ โดยจะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดรุนแรงและไม่ตอบสนองต่อการรักษาหรือยาชนิดอื่น 



การทำกายภาพบำบัด


นอกจากการออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้อที่ผู้ป่วยสามารถทำได้เองแล้ว แพทย์อาจใช้วิธีกระตุ้นเส้นประสาทด้วยไฟฟ้าผ่านผิวหนังเพื่อลดอาการปวด (Transcutaneous Electrical Nerve Stimulation : TENS)



การผ่าตัด


หากรักษาด้วยวิธีการอื่นแล้วอาการของผู้ป่วยยังไม่ดีขึ้นหรือไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีในข้างต้น แพทย์อาจให้ผู้ป่วยปรึกษาศัลยแพทย์เพื่อพิจารณาถึงความจำเป็นและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นหลังการผ่าตัด



ภาวะแทรกซ้อนของ Costochondritis


โดยทั่วไป การรักษามักทำให้อาการเจ็บปวดและอักเสบจาก Costochondritis ค่อย ๆ หายไปเอง แต่ถ้าปล่อยไว้โดยไม่รักษาอาจกระทบต่อสุขภาพโดยรวมได้ สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะ Costochondritis เรื้อรังอาจกลับมาเกิดอาการเจ็บปวดขึ้นซ้ำได้อีกเมื่อออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมาก แม้จะทำการรักษาแล้ว จึงควรปรึกษาแพทย์ในการรักษาในระยะยาวเพื่อไม่ให้กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

นอกจากนี้ อาการเจ็บหน้าอกที่เกิดขึ้นยังคล้ายคลึงกับอาการเจ็บปวดที่เกิดจากโรคอื่น อย่างภาวะหัวใจขาดเลือด โรคปอดบวม หรือโรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) จึงควรรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยความผิดปกติที่เกิดขึ้นอย่างแน่ชัด



การป้องกัน Costochondritis


แม้จะยังไม่มีวิธีป้องกัน Costochondritis อย่างสิ้นเชิง แต่การทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันด้วยความระมัดระวังอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้ เช่น หลีกเลี่ยงการยกของหนัก หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือการใช้แรงในการทำกิจกรรมที่มากเกินไป และหากรู้สึกเจ็บหน้าอกขณะทำกิจกรรมหรือออกกำลังกาย ควรหยุดทำกิจกรรมนั้น ๆ และรีบไปพบแพทย์ทันที


https://youtu.be/Io06o_qs63A

https://youtu.be/wZshhmkz0qE





ที่มา   ::  https://www.pobpad.com/costochondritis