Learn with Prin เรียนรู้ไปพร้อมกับน้องปริญญ์

จำหน่ายผลิตภัณฑ์ Legacy /Reborn Set ลด Fat ตัวช่วยลดไขมัน ลดน้ำหนัก แบบถูกวิธี 🔥 ติดต่อสอบถาม/สั่งซื้อ 📍 โทร ☎️ :: 084-110-5021 🌸 Line ID :: pla-prapasara 🌸 รับโปรโมชั่นสุดพิเศษเฉพาะทาง Line นะคะ 📍

วันอังคารที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2566

Costochondritis หรือภาวะกระดูกอ่อนซี่โครงอักเสบ

 Costochondritis หรือภาวะกระดูกอ่อนซี่โครงอักเสบ




Costochondritis หรือภาวะกระดูกอ่อนซี่โครงอักเสบ เป็นอาการอักเสบของกระดูกอ่อนในบริเวณที่เชื่อมระหว่างกระดูกซี่โครงและกระดูกส่วนอก (Sternum) ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บเมื่อถูกสัมผัสหรือรู้สึกเจ็บเมื่อกระดูกอ่อนช่วงอกถูกยกขึ้น เช่น เมื่อไอหรือสูดหายใจเข้าลึก แต่เมื่ออาการรุนแรงขึ้น ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บแปลบลามไปยังแขนหรือเจ็บหน้าอกมากจนเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวัน 


Costochondritis ยังรู้จักในชื่อ Costosternal Syndrome หรือ Costosternal Chondrodynia โดยทั่วไป อาการมักจะดีขึ้นเองภายใน 2-3 สัปดาห์ แต่บางกรณีอาจต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ การรักษาส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การบรรเทาอาการเจ็บปวดของผู้ป่วย โดยพิจารณาจากอาการและความรุนแรงของโรค


อาการของ Costochondritis   


Costochondritis อาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บแปลบหรือรู้สึกเจ็บเหมือนถูกกดทับบริเวณกระดูกอก หากอาการรุนแรงอาจเจ็บลามไปยังหลังหรือท้องได้ ส่วนใหญ่จะเกิดฝั่งซ้ายของร่างกาย ในบางกรณีอาการเจ็บปวดอาจเกิดขึ้นบริเวณซี่โครงมากกว่าหนึ่งตำแหน่ง มักเกิดบริเวณกระดูกซี่โครงซี่ที่ 4-6 และจะรู้สึกเจ็บปวดยิ่งขึ้นเมื่อสูดลมหายใจเข้าลึก ๆ หรือไอ แต่อาการจะดีขึ้นเมื่ออยู่นิ่งและหายใจเบา ๆ ทั้งนี้ อาการเจ็บหรือปวดจาก Costochondritis มักเกิดขึ้นหลังการออกกำลังกาย การได้รับบาดเจ็บที่ได้รับแรงกระทบไม่มาก หรือการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน 


อย่างไรก็ตาม อาการเจ็บหน้าอกอาจเกิดขึ้นจากสาเหตุอื่นที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้ อย่างภาวะหัวใจขาดเลือด ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ โดยเฉพาะหากมีอาการเจ็บหน้าอกและอาการผิดปกติต่อไปนี้   

  • หายใจลำบาก
  • มีไข้สูง และไข้ไม่ลดลงหลังจากรับประทานยาลดไข้ อย่างยาอะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen)
  • มีสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น มีอาการบวมแดงหรือมีหนอง 
  • มีอาการเจ็บหน้าอกต่อเนื่องและอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ เหงื่อออก ปวดบริเวณแขนซ้าย หรือมีอาการเจ็บส่วนใดส่วนหนึ่งของหน้าอก เป็นต้น




สาเหตุของ Costochondritis


ในปัจจุบันยังไม่ทราบถึงสาเหตุของ Costochondritis อย่างแน่ชัด แต่คาดว่าอาจเกิดได้จากปัจจัยต่อไปนี้

  • การได้รับบาดเจ็บที่บริเวณหน้าอก เช่น เกิดจากอุบัติเหตุรถชนหรือตกจากที่สูง
  • การทำกิจกรรมใช้แรงมากเกินไป เช่น ยกของหนัก ออกกำลังกายอย่างหักโหม หรือไออย่างรุนแรง
  • ผลจากโรคข้ออักเสบ เช่น โรคข้อเสื่อม โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคข้ออักเสบไรเตอร์ (Reiter’s Syndrome) หรือโรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบยึดติด เป็นต้น
  • การติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือเชื้อรา อย่างวัณโรค ซิฟิลิส และแอสเปอร์จิลลัส (Aspergillus) ในบริเวณข้อต่ออาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่ข้อต่อซี่โครงได้
  • เนื้องอกบริเวณข้อต่อระหว่างซี่โครงและกระดูกอก (Costosternal Joint) ทั้งเนื้องอกธรรมดาและเนื้องอกที่เป็นเนื้อร้าย สามารถทำให้เกิด Costochondritis ได้เช่นกัน โดยเซลล์มะเร็งอาจลุกลามไปยังส่วนอื่นของร่างกาย เช่น อก ต่อมไทรอยด์ หรือปอด 


Costochondritis มักพบได้บ่อยในเพศหญิงและผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี รวมถึงผู้ที่ใช้แรงในการทำงานหรือทำกิจกรรมอย่างหนัก ผู้ที่มีอาการแพ้หรือไวต่อการกระตุ้น รวมถึงผู้ที่มีอาการของโรคข้ออักเสบ อย่างโรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบชนิดติดยึด (Ankylosing Spondylitis) หรือภาวะข้ออักเสบไรเตอร์ (Reiter Syndrome) 



การวินิจฉัย Costochondritis 


แพทย์จะสอบถามอาการผิดปกติ ซักประวัติการรักษาและประวัติครอบครัวของผู้ป่วย จากนั้นจะตรวจร่างกายเบื้องต้นเพื่อวินิจฉัยอาการเจ็บปวดบริเวณกระดูกซี่โครง และอาจตรวจเลือดเพื่อหาสาเหตุการอักเสบหรือติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้นได้ 

นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมเพื่อตัดสาเหตุที่ไม่เกี่ยวข้องออก เนื่องจากอาการเจ็บปวดของ Costochondritis อาจคล้ายคลึงกับอาการเจ็บปวดที่เกิดจากโรคหัวใจ โรคปอด ปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร และโรคข้อเสื่อม ดังนี้  

  • การเอกซเรย์ในกรณีที่ผู้ป่วยอาจมีอาการปอดบวม
  • การตรวจเลือดเพื่อวัดปริมาณเซลล์เม็ดเลือดขาวที่อาจเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram : ECG/EKG) หรือการเอกซเรย์ทรวงอก เพื่อให้ทราบว่าผู้ป่วยไม่ได้มีอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจหรือภาวะเกี่ยวกับหัวใจอื่น ๆ 



การรักษา Costochondritis


โดยทั่วไป Costochondritis มักจะหายไปได้เอง อาจใช้เวลาหลายสัปดาห์หรือนานกว่านั้น แต่ในกรณีที่รับการรักษาจากแพทย์ ส่วนใหญ่จะมุ้งเน้นเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดของผู้ป่วย ซึ่งวิธีการรักษาอาจแตกต่างกันไปตามอาการและความรุนแรงของโรค 



การดูแลตนเองที่บ้าน


ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองที่บ้านเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดในเบื้องต้น เช่น 

  • รับประทานยาแก้ปวดที่สามารถหาซื้อได้เองตามคำแนะนำของเภสัชกร ได้แก่ยากลุ่ม NSAIDs อย่างยาไอบูโพรเฟนหรือยานาพรอกเซน 
  • ประคบเย็นหรือประคบร้อนในบริเวณที่มีอาการวันละ 2-3 ครั้ง เพื่อช่วยบรรเทาความเจ็บปวด
  • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงมาก เนื่องจากอาจทำให้อาการแย่ลงได้ เช่น ยกของหนัก วิ่งหรือกระโดด 
  • ออกกำลังกายด้วยการยืดกล้ามเนื้ออาจช่วยบรรเทาอาการได้ โดยค่อย ๆ ออกแรงบริเวณช่วงอก  



การใช้ยา


หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงขึ้น แพทย์อาจสั่งจ่ายยาต่อไปนี้

  • ยาแก้ปวดชนิดอื่น อย่างยาโคเดอีน (Codeine) เพื่อระงับความเจ็บปวด
  • ยาต้านเศร้ากลุ่มไตรไซคลิก (Tricyclic Antidepressants) สำหรับผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดเรื้อรังหรืออาการเจ็บปวดรบกวนขณะนอนหลับ
  • ยากันชัก อย่างยากาบาเพนติน (Gabapentin) สามารถช่วยรักษาอาการเจ็บปวดเรื้อรังได้
  • การให้ยาชาเฉพาะที่และการฉีดยาสเตียรอยด์บริเวณที่มีอาการ โดยจะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดรุนแรงและไม่ตอบสนองต่อการรักษาหรือยาชนิดอื่น 



การทำกายภาพบำบัด


นอกจากการออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้อที่ผู้ป่วยสามารถทำได้เองแล้ว แพทย์อาจใช้วิธีกระตุ้นเส้นประสาทด้วยไฟฟ้าผ่านผิวหนังเพื่อลดอาการปวด (Transcutaneous Electrical Nerve Stimulation : TENS)



การผ่าตัด


หากรักษาด้วยวิธีการอื่นแล้วอาการของผู้ป่วยยังไม่ดีขึ้นหรือไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีในข้างต้น แพทย์อาจให้ผู้ป่วยปรึกษาศัลยแพทย์เพื่อพิจารณาถึงความจำเป็นและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นหลังการผ่าตัด



ภาวะแทรกซ้อนของ Costochondritis


โดยทั่วไป การรักษามักทำให้อาการเจ็บปวดและอักเสบจาก Costochondritis ค่อย ๆ หายไปเอง แต่ถ้าปล่อยไว้โดยไม่รักษาอาจกระทบต่อสุขภาพโดยรวมได้ สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะ Costochondritis เรื้อรังอาจกลับมาเกิดอาการเจ็บปวดขึ้นซ้ำได้อีกเมื่อออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมาก แม้จะทำการรักษาแล้ว จึงควรปรึกษาแพทย์ในการรักษาในระยะยาวเพื่อไม่ให้กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

นอกจากนี้ อาการเจ็บหน้าอกที่เกิดขึ้นยังคล้ายคลึงกับอาการเจ็บปวดที่เกิดจากโรคอื่น อย่างภาวะหัวใจขาดเลือด โรคปอดบวม หรือโรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) จึงควรรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยความผิดปกติที่เกิดขึ้นอย่างแน่ชัด



การป้องกัน Costochondritis


แม้จะยังไม่มีวิธีป้องกัน Costochondritis อย่างสิ้นเชิง แต่การทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันด้วยความระมัดระวังอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้ เช่น หลีกเลี่ยงการยกของหนัก หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือการใช้แรงในการทำกิจกรรมที่มากเกินไป และหากรู้สึกเจ็บหน้าอกขณะทำกิจกรรมหรือออกกำลังกาย ควรหยุดทำกิจกรรมนั้น ๆ และรีบไปพบแพทย์ทันที


https://youtu.be/Io06o_qs63A

https://youtu.be/wZshhmkz0qE





ที่มา   ::  https://www.pobpad.com/costochondritis

4 ความคิดเห็น:

  1. ภาวะกระดูกอ่อนซี่โครงอักเสบ

    ภาวะกระดูกอ่อนซี่โครงอักเสบ


    ซี่โครงเชื่อมต่อกับกระดูกหน้าอกโดยกระดูกอ่อน เนื้อเยื่อยืดหยุ่นหนา การเชื่อมต่อนี้เรียกว่า costochondral junction การรวมตัวของกระดูกและกระดูกอ่อน ภาวะกระดูกอ่อนซี่โครงอักเสบ คือ อาการปวดและเจ็บบริเวณหน้าอก คนส่วนใหญ่ดีขึ้นและหายปวดในไม่กี่วัน มันอาจจะหายไปเอง หนึ่งในชนิดของภาวะกระดูกอ่อนซี่โครงอักเสบ เกิดจากอาการบวมของ กระดูกอ่อน คือ Tietze's syndrome เกิดได้ทุกที่ในอกแต่ส่วนใหญ่มักจะอยู่ทางด้านซ้าย

    สาเหตุ

    การออกกำลังกาย การบาดเจ็บ การไอเรื้อรัง หรือการติดเชื้อไวรัส อาจทำให้กระดูกอ่อนที่เชื่อมระหว่างซี่โครงกับกระดูกหน้าอกจะเจ็บปวดและบวม ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอน

    อาการ
    อาการต่าง ๆ ได้แก่ เจ็บและกดเจ็บที่หน้าอก ความเจ็บปวดอาจไม่รุนแรงหรือรุนแรงและอาจใช้เวลาหลายวันหรือนานกว่านั้น อาการไอ จาม หายใจเข้าลึกๆ และเคลื่อนไหวบางอย่าง ทำให้ความเจ็บปวดแย่ลง บางคนรู้สึกวิตกกังวลและหายใจสั้น ความเจ็บจี๊ด และอยู่ได้นานตั้งแต่นาทีถึงชั่วโมง

    วินิจฉัย
    แพทย์ทำการวินิจฉัยจากประวัติทางการแพทย์และการตรวจร่างกายซึ่งมักจะแสดงอาการกดเจ็บข้อต่อ กระดูกอ่อน ไม่จำเป็นต้องตรวจเลือดหรือเอกซเรย์เฉพาะเจาะจง แต่แพทย์อาจสั่งตรวจเลือดเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีโรคอื่น ๆ

    รักษา
    ภาวะกระดูกอ่อนซี่โครงอักเสบ อาจใช้เวลาหลายวันหรือหลายสัปดาห์ เริ่มดีขึ้นแล้วก็หายไปโดยมีหรือไม่มีการรักษา ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น ibuprofen เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง การรักษาอื่น ๆ ได้แก่ การออกกำลังกายด้วยความร้อนและการยืดกล้ามเนื้อ หากการรักษาเหล่านี้ไม่ได้ผล อาจลองฉีดคอร์ติโซนแต่แทบไม่มีความจำเป็นการใช้แผ่นประคบร้อนยังช่วยลดความเจ็บปวด หากอาการยังคงอยู่ แพทย์อาจแนะนำให้พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคข้อ (rheumatologist) หรือผู้เชี่ยวชาญด้านโรคข้อ orthopedist (แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคกระดูก) ถ้าความผิดปกติไม่ได้ดีขึ้นจากการรักษาในเบื้องต้น


    ควรไม่ควร

    -ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ กินยาจนกว่าความเจ็บปวดและบวมจะหายไป
    -แจ้งให้แพทย์หากคุณซื้อยาที่จำหน่ายหน้าเคาน์เตอร์หรือยาตามใบสั่งแพทย์
    -ตรวจสอบให้แน่ใจว่าแพทย์อนุญาตก่อนเริ่มออกกำลังกาย
    -แจ้งให้แพทย์ทราบหากอาการปวดแย่ลงแม้จะได้รับการรักษา ปัญหาอื่นอาจทำให้เกิดอาการปวด
    -ควรพบแพทย์หากคุณมีผลข้างเคียงจากการใช้ยา
    -ควรพบแพทย์หากคุณมีอาการเจ็บหน้าอกใหม่ที่ไม่สามารถอธิบายได้


    -อย่าใช้แผ่นทำความร้อนเกินสามครั้งต่อวัน หรือนานกว่า 20 นาทีต่อครั้ง อย่าใช้น้ำมันหรือครีมที่ร้อน อาการปวดอาจแย่ลงหรือแสบได้
    -อย่าออกกำลังกายจนกว่าหายเจ็บและแพทย์อนุญาต
    -อย่าออกกำลังกายที่ทำให้เกิดอาการปวด




    ตอบลบ
  2. ภาวะกระดูกอ่อนซี่โครงอักเสบ (Costochondritis)

    กระดูกอ่อนซี่โครงอักเสบ
    กระดูกอ่อนคือ กระดูกอ่อนอักเสบในกระดูกซี่โครง เป็นภาวะที่เกิดผลกระทบต่อกระดูกอ่อนที่อยู่ด้านบนของซี่โครงที่อยู่ติดกับกระดูกหน้าอกหรือกระดูกสันอก เป็นบริเวณที่รู้จักกันดีว่าคือบริเวณข้อต่อระหว่างซี่โครงและกระดูกอก

    การเจ็บหน้าอกเป็นสาเหตุมาจากภาวะกระดูกซี่โครงอักเสบซึ่งอาจมีอาการตั้งแต่น้อยไปจนถึงรุนแรง ในรายที่มีอาหารน้อยอาจมีอาการเจ็บหน้าอกเบาๆเมื่อสัมผัสโดนเท่านั้นหรืออาจเกิดอาการเจ็บเมื่อโดนกดลงบริเวณกระดูกอ่อนหน้าอก

    ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจทำให้เกิดอาการเจ็บปวดร้าวลงมาที่แขนหรือขา หรือเจ็บหน้าอกจนไม่สามารถทนได้ซึ่งไปรบกวนการใช้ชีวิตและอาการไม่ยอมหายไป ปกติอาการมักจะหายไปได้ภายในสองสามสัปดาห์ แต่ในบางรายอาจจำเป็นต้องได้รับการรักษา

    อาหารของภาวะกระดูกซี่โครงอ่อนอักเสบคืออะไร
    คนที่มีภาวะกระดูกอ่อนซี่โครงอักเสบมักมีอาการเจ็บหน้าอกบริเวณส่วนบนและส่วนกลางของซี่โครงด้านใดด้านหนึ่งของกระดูกหน้าอก อาการเจ็บปวดอาจกระจายไปยังแผ่นหลังหรือหน้าท้อง อาการจะยิ่งแย่ลงเมื่อมีการเคลื่อนไหว ยืดตัวหรือหายใจลึกๆ

    อาการเหล่านี้อาจเป็นภาวะโรคอื่นๆได้ ซึ่งรวมไปถึงหัวใจวาย ควรรีบไปพบแพทย์ฉุกเฉินหากอาการเจ็บหน้าอกยังคงอยู่

    สาเหตุของภาวะกระดูกอ่อนซี่โครงอักเสบคืออะไร?
    สาเหตุที่แท้จริงของภาวะกระดูกอ่อนซี่โครงอักเสบในคนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่โรคบางโรคอาจเป็นสาเหตุได้เช่น:

    การได้รับบาดเจ็บที่หน้าอก เช่นการได้รับแรงกระแทกจากอุบัติเหตุทางรถยนต์หรือล้ม
    ความบีบคั้นทางร่างกายจากการทำกิจกรรม เช่นการยกของหนักและการออกกำลังกายอย่างหนัก
    ไวรัสบางชนิดหรือภาวะทางเดินหายใจ เช่นวัณโรคและซิฟิลิส ก็สามารถเป็นสาเหตุของการอักเสบของข้อต่อ
    โรคข้ออักเสบบางชนิด
    เนื้องอกในข้อต่อกระดูกอ่อน
    คนที่มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะกระดูกอ่อนซี่โครงอักเสบคือใครบ้าง?
    ภาวะกระดูกอ่อนซี่โครงอักเสบเกิดขึ้นบ่อยในผู้หญิงและคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป จะมีความเสี่ยงสูงในการเกิดภาวะนี้หากว่าคุณ:

    ทำกิจกรรมที่มีแรงกระแทกสูง
    ทำงานที่ต้องใช้แรงงาน
    มีภาวะโรคภูมิแพ้และต้องสัมผัสกับสารระคายเคืองบ่อยๆ
    ความเสี่ยงจะเพิ่มมากขึ้นหากคุณมีภาวะดังต่อไปนี้:

    โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
    โรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบชนิดติดยึด
    โรคข้ออักเสบรีแอ็กทีฟ หรือที่รู้จักกันดีว่าเป็นโรคข้ออักเสบไรเตอร์
    การหิ้วของหนักที่ไม่เหมาะสมสามารถสร้างความตึงเครียดให้กล้ามเนื้อหน้าอกได้ เด็กควรหิ้วกระเป๋าหนักหรือกระเป๋าเป้ด้วยความระมัดระวัง ผู้ใหญ่ควรทำงานใช้แรงอย่างระมัดระวัง



    ตอบลบ
  3. อาการภาวะกระดูกอ่อนซี่โครงอักเสบฉุกเฉินคืออะไร
    รีบพบแพทย์ทันทีเสมอเมื่อมีอาการหายใจลำบากหรือรู้สึกเจ็บหน้าอกอย่างรุนแรงที่ผิดปกติ เช่นภาวะหัวใจวาย รีบรักษาทันทีเท่าที่ทำได้เพื่อกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะในคนที่มีปัญหาพื้นฐานที่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะกระดูกอ่อนซี่โครงอักเสบ

    Costochondritis

    สามารถวินิจฉัยภาวะกระดูกอ่อนซี่โครงอักเสบได้อย่างไร?
    แพทย์จะทำการตรวจร่างกายก่อนการวินิจฉัย แพทย์จะถามเกี่ยวกับอาการและประวัติสุขภาพของคุณและครอบครัว ในระหว่างการตรวจแพทย์จะประเมินระดับการเจ็บด้วยการดูที่กระดูกซี่โครงเพื่อมองหาสัญญานของการติดเชื้อหรือการอักเสบ

    แพทย์อาจสั่งตรวจเช่นการเอกซเรย์และการตรวจเลือด เพื่อตัดภาวะโรคอื่นๆออกที่อาจก่อให้เกิดสาเหตุของอาการ อาจต้องได้รับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG or EKG) หรือเอกซเรย์ทรวงอกเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีภาวะโรคหลอดเลือดหัวใจหรือภาวะโรคหัวใจอื่นๆ

    รักษาภาวะกระดูกอ่อนซี่โครงอักเสบอย่างไร
    ภาวะกระดูกอ่อนซี่โครงอักเสบสามารถรักษาได้หลายรูปแบบ

    รักษาด้วยยา
    คนที่มีภาวะกระดูกอ่อนซี่โครงอักเสบส่วนใหญ่มักได้รับการรักษาด้วยยาที่สามารถหาซื้อได้เองตามร้านขายยาทั่วไป หากรู้สึกปวดเล็กน้อยถึงปานกลาง แพทย์อาจแนะนำยาแก้อักเสบชนิดไม่มีสเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่นไอบูโรเฟน(แอดวิล) หรือนาพรอกเซน (อัลลีฟ)

    แพทย์อาจสั่งจ่ายยาเช่น:

    ยาต้านการอักเสบชนิดไม่มีสเตียรอยด์ที่ต้องมีใบสั่งแพทย์
    ยาแก้ปวดอื่นๆเช่น นาร์โคติก
    ยาต้านอาการวิตกกังวล
    ยาต้านเศร้ากลุ่มไตรไซคลิก ซึ่งรวมไปถึงอะมิทริปไทลีน
    ยาสเตียรอยด์ชนิดรับประทานหรือฉีดในบริเวณที่เป็น
    การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินชีวิต
    แพทย์จะให้คุณปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตหากมีภาวะกระดูกอ่อนซี่โครงอักเสบที่ไม่ยอมหายหรือเรื้อรัง การออกกำลังกายบางชนิดสามารถทำให้อาการแย่ลงซึ่งรวมถึงการวิ่งหรือยกน้ำหนัก การใช้แรงงานสามารถส่งผลด้านลบได้เช่นกัน

    แพทย์อาจแนะนำดังนี้:

    นอนพักบนเตียง
    ทำกายภาพบำบัด
    บำบัดด้วยร้อนหรือเย็นโดยใช้แผ่นประคบร้อนและเย็น
    แพทย์อาจใช้ระดับของการเจ็บมาเพื่อประเมินการตอบสนองต่อการรักษา เมื่อการรักษาจบลงคุณอาจต้องค่อยๆเพิ่มระดับการทำกิจกรรมเพื่อให้ไปถึงที่เคยทำได้มาก่อน การยืดเส้นทุกวันสามารถช่วยบรรเทาอาการเจ็บได้



    ตอบลบ
  4. อาการแทรกซ้อนของภาวะกระดูกอ่อนซี่โครงอักเสบคืออะไร?
    การเจ็บปวดระยะยาวที่มีสาเหตุมาจากภาวะกระดูกอ่อนซี่โครงอักเสบสามารถทำให้แย่ลงได้หากไม่ได้รับการรักษา ตามปกติแล้วนั้นการรักษาการอักเสบและเจ็บที่มีสาเหตุมาจากภาวะกระดูกอ่อนซี่โครงอักเสบมักหายได้ด้วยตนเอง

    หากมีภาวะกระดูกอ่อนซี่โครงอักเสบเรื้อรัง อาการเจ็บอาจกลับมาเป็นอีก -แม้จะได้รับการรักษาแล้วก็ตาม- เมื่อมีการออกกำลังหรือทำกิจกรรมบางอย่าง ในกรณีเช่นนี้อาจจำเป็นต้องได้รับการดูแลระยะยาวเพื่อให้แน่ใจว่าภาวะกระดูกอ่อนซี่โครงอักเสบจะไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของชีวิตและความสามารถในการทำกิจกรรมประจำวัน

    อาการปวดที่เกิดขึ้นเนื่องจากภาวะกระดูกอ่อนซี่โครงอักเสบอาจแสดงถึงปัญหาอื่นๆได้ อาการเจ็บหน้าอกบ่อยครั้งมักหมายความถึงการมีปัญหาทางด้านหัวใจ จึงควรพบแพทย์ทันทีเมื่อความรู้สึกเจ็บที่หน้าอกเพื่อให้แน่ใจว่าอาการที่เกิดขึ้นนั้นไม่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจวายหรือโรคปอดอักเสบ

    อาการเจ็บหน้าอกที่มาจากภาวะกระดูกอ่อนซี่โครงอักเสบคืออาการทั่วไปของโรคไฟโบรมัยอัลเจีย พร้อมกับโรคดังกล่าวนี้อาจทำให้เกิดอาการเจ็บที่หน้าอกร่วมกับ:

    -อาการเจ็บตลอดทั่วร่างกาย
    -เหนื่อยล้าและไม่สามารถพักผ่อนได้เพราะอาการเจ็บ
    -ยากที่จะมีสมาธิ
    -มีความรู้สึกซึมเศร้า
    -ปวดศีรษะ


    การเฝ้าติดตามระยะยาวสำหรับภาวะกระดูกอ่อนซี่โครงอักเสบคืออะไร?

    ภาวะโรคนี้ปกตมักไม่อยู่นาน ในหลายๆรายภาวะกระดูกอ่อนซี่โครงอักเสบมักหายไปได้เอง ในรายที่มีอาการเล็กน้อยอาการอาจหายไปได้เองภายใน 2-3 วัน ในกรณีที่เรื้อรังอาจมีอาการหลายสัปดาห์หรือนานกว่านั้น แต่ในกรณีส่วนใหญ่จะมีอาการไม่นานเกินกว่าหนึ่งปี




    ตอบลบ