การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม
คุณสมบัติของผู้ที่จะรับบุตรบุญธรรม และผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรม
- ผู้รับบุตรบุญธรรมต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี และต้องมีอายุแก่กว่าผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี
- ผู้เป็นบุตรบุญธรรมที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี ต้องให้ความยินยอมด้วยตนเอง
- ผู้เป็นบุตรบุญธรรมที่เป็นผู้เยาว์ต้องได้รับความยินยอมจาก บิดา และมารดา หรือผู้ปกครอง
- ผู้จะรับบุตรบุญธรรม หรือผู้จะเป็นบุตรบุญธรรม ถ้ามีคู่สมรสอยู่ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสก่อน
- ผู้เยาว์ที่เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลใดอยู่จะเป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่นอีก ในขณะเดียวกันไม่ได้เว้นแต่เป็นบุตรบุญธรรมของคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรม
ขั้นตอนการปฏิบัติการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม
- ผู้รับบุตรบุญธรรมต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี และต้องมีอายุแก่กว่าผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี
- กรณีที่ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมมีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานคร หรือต่างประเทศให้ยื่นคำขอ พร้อมหนังสือแสดงความยินยอมของบุคคลผู้มีอำนาจให้ความยินยอม ณ ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม กรมประชาสงเคราะห์
- กรณีมีภูมิลำเนาอยู่ในต่างจังหวัด ให้ยื่นคำขอพร้อมหนังสือแสดงความยินยอมของบุคคลผู้มีอำนาจให้ความยินยอม ณ ที่ว่าการอำเภอ กิ่งอำเภอ หรือที่ทำการประชาสงเคราะห์จังหวัด
* เมื่อคณะกรรมการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมอนุมัติให้มีการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมได้ ให้นำหนังสือแจ้งคำอนุมัติของคณะกรรมการดังกล่าวไปร้องขอจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม ณ ที่ว่าการอำเภอ กิ่งอำเภอหรือเขต แห่งใดก็ได้
- กรณีผู้เป็นบุตรบุญธรรมที่บรรลุนิติภาวะแล้ว ผู้จะรับบุตรบุญธรรม หรือผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมสามารถดำเนินการยื่นคำขอจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมได้ ณ ที่ว่าการอำเภอ กิ่งอำเภอ หรือเขต แห่งใดแห่งหนึ่งก็ได้ โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนของคณะกรรมการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม
สิทธิตามกฎหมายของเด็กที่เป็นบุตรบุญธรรม
บิดา หรือมารดาบุญธรรมกับบุตรบุญธรรมมิใช่สายเลือดเดียวกัน แต่เกิดจากความยินยอมพร้อมใจกัน ระหว่างบิดาหรือมารดาบุญธรรมกับบิดามารดาที่แท้จริงของเด็ก และเด็กที่เป็นบุตรบุญธรรมด้วยเหตุผลบางประการ เช่นเพื่ออนาคตของเด็ก หรือเพื่อให้ผู้รับบุตรบุญธรรมที่ไม่มีบุตรได้มีบุตรสมใจปรารถนา การจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม กฎหมายจะให้ความคุ้มครองสิทธิเด็กให้มีฐานะอย่างเดียวกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา หรือมารดาบุญธรรมทันทีนับแต่วันที่จดทะเบียน เช่น มีสิทธิได้รับมรดก มีสิทธิใช้นามสกุลของบิดา หรือมารดาบุญธรรม โดยที่บิดา หรือมารดาบุญธรรมไม่มีสิทธิที่จะมารับมรดกของบุตรบุญธรรม นอกจากนี้แล้ว บุตรบุญธรรมยังไม่เสียสิทธิที่พึงมีตามกฎหมายในครอบครัวเดิมแต่อย่างใด คือ ยังมีสิทธิรับมรดก ของบิดามารดาที่แท้จริงได้ และบิดามารดาที่แท้จริงมีสิทธิไปมาหาสู่เยี่ยมเยียนได้ตามสมควร
ทั้งนี้กฎหมายยังคุ้มครองเด็กโดยบิดา หรือมารดาบุญธรรมจะเลิกรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมได้ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาที่แท้จริงเสียก่อน และจะฟ้องให้มีการเลิกรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมโดยไม่มีเหตุอันควรไม่ได้
การรับบุตรบุญธรรมภายในประเทศ
CR : https://www.bora.dopa.go.th/CallCenter1548/index.php/menu-general/12-service-handbook/general/44-adopted
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น