หัวใจเต้นเร็ว ภาวะอันตรายที่ต้องเฝ้าระวัง
เมื่อไรที่หัวใจเต้นเร็วจนรู้สึกได้ แม้ไม่ได้ทำกิจกรรมใดๆ ไม่มีอาการไข้ การเสียเลือดกะทันหัน หรือออกกำลังกาย อาจบ่งบอกว่าร่างกายของคุณกำลังผิดปกติ หรือเป็นโรคต่างๆ ได้ หากมีอาการหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ พร้อมกับอาการใจสั่น หายใจหอบเหนื่อย อ่อนล้า นั้นอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะอยู่ก็เป็นได้ ดังนั้นควรรู้เท่าทันและพบแพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์โรคหัวใจโดยเร็ว จะได้ดูแลรักษาให้ถูกวิธีก่อนสายเกินไป
หัวใจปกติทำงานอย่างไร?
หัวใจปกติ จะเต้นอย่างสม่ำเสมอ ด้วยความเร็วที่เปลี่ยนไปตามกิจกรรมของร่างกาย โดยในขณะพักหัวใจจะเต้นประมาณ 60 -100 ครั้งต่อนาที ในขณะเดินหัวใจจะเต้นเร็วขึ้นประมาณ 100 - 120 ครั้งต่อนาที และมากกว่า 120 ครั้งต่อนาทีในขณะวิ่ง อย่างไรก็ตามนักกีฬาหรือผู้ที่ออกกำลังเป็นประจำ อาจมีชีพจรในขณะพักระหว่าง 50 - 60 ครั้งต่อนาที
- ❤️ หัวใจเต้น 60-100 ครั้งต่อนาที : ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ
- ❤️ หัวใจเต้นเกิน 100 ครั้งต่อนาที : มีภาวะหัวใจเต้นเร็ว
- ❤️ หัวใจเต้นเกิน 150 ครั้งต่อนาที : มีภาวะหัวใจเต้นเร็วมากเข้าขั้นอันตราย
รู้จัก…หัวใจเต้นเร็ว
ภาวะหัวใจเต้นเร็ว (Tachycardia) คือ การที่หัวใจเต้นเกิน 100 ครั้ง/นาที ซึ่งอาจเกิดจากหัวใจเต้นเร็วขึ้นเองขณะที่ร่างกายมีกิจกรรม เช่น การเล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย ทำให้มีเลือดสูบฉีดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อมากขึ้น ยิ่งถ้าคนอายุน้อยๆ หัวใจสามารถเต้นเกิน 150 ครั้ง/นาที ก็เป็นได้ แต่โรคหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ คือ การที่มีวงจรไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติ บางคนเป็นตั้งแต่เกิดแล้ว แต่ยังไม่แสดงอาการอาจจะแสดงอาการในช่วงวัยรุ่นก็ได้
การที่หัวใจเต้นเร็วสามารถบ่งบอกว่าหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ หากมีอัตราการเต้นของหัวใจเกิน 100 ครั้งต่อนาที และ/หรือมีการเต้นผิดจังหวะร่วมด้วย ได้แก่
- 1. จุดกำเนิดหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะที่หัวใจห้องบน เกิดจากทางเดินของกระแสไฟฟ้าหัวใจเพิ่มขึ้นจากปกติ ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจรและไปกระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็วจากภาวะปกติ
- 2. จุดกำเนิดหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะที่หัวใจห้องล่าง เกิดจากความผิดพลาดของคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่หัวใจห้องล่าง ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น เมื่อหัวใจเต้นเร็วมากก็ทำให้ไม่สามารถสูบฉีดไปยังส่วนต่างๆ ในร่างกายได้
- 3. หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ จากการที่คลื่นไฟฟ้าหัวใจมีความเร็วมากกว่าปกติ ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่อัตราการเต้นหัวใจมักจะไม่เกิน 150 ครั้งต่อนาที
ปัจจัยที่ส่งผลให้หัวใจเต้นเร็ว
การเกิดภาวะหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ เป็นเพราะมีปัจจัยบางอย่างรบกวนการส่งสัญญาณไฟฟ้า โดยปัจจัยที่ไปรบกวนการส่งสัญญาณไฟฟ้า อาจเกิดได้ดังนี้
- 1. ปัจจัยภายนอกที่ไม่เกี่ยวกับหลอดเลือดและหัวใจ ได้แก่ อยู่ในภาวะตกใจ หรือไปออกกำลังกาย เสียเลือดมากจนซีด ขาดน้ำ ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือเกิดภาวะไทรอยด์เป็นพิษ การดื่มชา กาแฟ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งก็จะส่งผลให้หัวใจเต้นเร็วได้
- 2. ปัจจัยภายในหลอดเลือดและหัวใจ ได้แก่ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ผนังกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวผิดปกติ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคลิ้นหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และ ภาวะที่เกิดจากไฟฟ้าหัวใจลัดวงจร
อาการหัวใจเต้นเร็ว
อาการหัวใจเต้นเร็ว สามารถแบ่งออกเป็น 2 แบบตามความรุนแรง ได้แก่ อาการไม่รุนแรง เช่น ใจสั่นแบบทันทีทันใด ใจหวิว มึนงง อาจมีอาการแน่นหน้าอก หรือจุกบริเวณลำคอ มีอาการเกิดขึ้นภายในไม่กี่นาทีและสามารถหายได้เอง และ อาการแบบรุนแรง โดยจะมีภาวะหัวใจเต้นเร็วนานหลายนาที หรือหลายชั่วโมง บางรายมีอาการหน้ามืด เป็นลม หมดสติ หัวใจวาย หรือเสียชีวิตทันที
การวินิจฉัยหัวใจเต้นเร็ว
การจะรู้ว่าเรามีหัวใจเต้นเร็วหรือไม่นั้น แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการของผู้ป่วย ประวัติทางการแพทย์ และการตรวจร่างกาย เพื่อตรวจสอบจังหวะการเต้นของหัวใจเบื้องต้น หรืออาจทดสอบเพื่อหาปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยแพทย์อาจมีแนวทางในการวินิจฉัยการตรวจคัดกรองเพิ่มเติมด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ ดังนี้
- 1. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: ECG) เป็นการตรวจมาตรฐานของหัวใจ โดยวัดการทำงานของไฟฟ้าในหัวใจ
- 2. การตรวจและบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจตลอด 24 ชั่วโมงโดยใช้ Holter Monitor เป็นอุปกรณ์ขนาดเล็กที่ใช้บันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจตลอด 24 – 48 ชั่วโมง โดยผู้ป่วยจะติดเครื่องบันทึกไว้ติดตัวตลอดเวลา
- 3. การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test: EST) เป็นการบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังด้วยการเดินบนสายพานเลื่อน
- 4. การเอกซเรย์หน้าอก (Chest X-ray) เพื่อตรวจความผิดปกติของหัวใจ
- 5. การตรวจหัวใจด้วยเครื่องเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram) สามารถตรวจดูความผิดปกติทางโครงสร้างของหัวใจ
การรักษาหัวใจเต้นเร็ว
แพทย์จะพิจารณาตามสาเหตุ อาการ ตำแหน่ง และความรุนแรงของโรค โดยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิดอาจไม่ต้องทำการรักษา แต่ในบางชนิดที่ต้องทำการรักษาจะมีทางเลือกในการรักษา ดังนี้
- 1. การใช้ยาควบคุมการเต้นของหัวใจ สามารถลดความถี่และความรุนแรงของการได้
- 2. การจี้ด้วยไฟฟ้าผ่านคลื่นเสียงความถี่สูง (Electro Physiologic Study and Radiofrequency Ablation) เป็นการรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะโดยไม่ต้องผ่าตัด ด้วยการใช้สายสวนหัวใจผ่านทางหลอดเลือดที่บริเวณขาหนีบ ไปยังตำแหน่งต่างๆ ของหัวใจ เพื่อหาตำแหน่งของวงจรไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติ แพทย์จะปล่อยคลื่นวิทยุความถี่สูงเป็นจุดเล็กๆ เพื่อทำลายเนื้อเยื่อหัวใจที่เป็นสาเหตุของหัวใจเต้นผิดจังหวะนั้น
- 3. การใช้ไฟฟ้ากระตุกเพื่อปรับการเต้นของหัวใจ โดยใช้กระแสไฟฟ้าจากเครื่องส่งภายนอกร่างกายซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นแปะที่หน้าอกของผู้ป่วยเพื่อปรับจังหวะการเต้นของหัวใจใหม่
ที่มา :: พญ.พัชรี ภาวศุทธิกุล แพทย์อายุรศาสตร์โรคหัวใจ ศูนย์หัวใจ ,