Learn with Prin เรียนรู้ไปพร้อมกับน้องปริญญ์

จำหน่ายผลิตภัณฑ์ Legacy /Reborn Set ลด Fat ตัวช่วยลดไขมัน ลดน้ำหนัก แบบถูกวิธี 🔥 ติดต่อสอบถาม/สั่งซื้อ 📍 โทร ☎️ :: 084-110-5021 🌸 Line ID :: pla-prapasara 🌸 รับโปรโมชั่นสุดพิเศษเฉพาะทาง Line นะคะ 📍

วันอังคารที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2566

หัวใจเต้นเร็ว ภาวะอันตรายที่ต้องเฝ้าระวัง

 

หัวใจเต้นเร็ว ภาวะอันตรายที่ต้องเฝ้าระวัง

Save Money and Protect Your Health with Preventive Cardiology


เมื่อไรที่หัวใจเต้นเร็วจนรู้สึกได้ แม้ไม่ได้ทำกิจกรรมใดๆ ไม่มีอาการไข้ การเสียเลือดกะทันหัน หรือออกกำลังกาย อาจบ่งบอกว่าร่างกายของคุณกำลังผิดปกติ หรือเป็นโรคต่างๆ ได้ หากมีอาการหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ พร้อมกับอาการใจสั่น หายใจหอบเหนื่อย อ่อนล้า นั้นอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะอยู่ก็เป็นได้ ดังนั้นควรรู้เท่าทันและพบแพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์โรคหัวใจโดยเร็ว จะได้ดูแลรักษาให้ถูกวิธีก่อนสายเกินไป


หัวใจปกติทำงานอย่างไร?


หัวใจปกติ จะเต้นอย่างสม่ำเสมอ ด้วยความเร็วที่เปลี่ยนไปตามกิจกรรมของร่างกาย โดยในขณะพักหัวใจจะเต้นประมาณ 60 -100 ครั้งต่อนาที ในขณะเดินหัวใจจะเต้นเร็วขึ้นประมาณ 100 - 120 ครั้งต่อนาที และมากกว่า 120 ครั้งต่อนาทีในขณะวิ่ง อย่างไรก็ตามนักกีฬาหรือผู้ที่ออกกำลังเป็นประจำ อาจมีชีพจรในขณะพักระหว่าง 50 - 60 ครั้งต่อนาที

  • ❤️ หัวใจเต้น 60-100 ครั้งต่อนาที : ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • ❤️ หัวใจเต้นเกิน 100 ครั้งต่อนาที : มีภาวะหัวใจเต้นเร็ว
  • ❤️ หัวใจเต้นเกิน 150 ครั้งต่อนาที : มีภาวะหัวใจเต้นเร็วมากเข้าขั้นอันตราย




รู้จัก…หัวใจเต้นเร็ว

ภาวะหัวใจเต้นเร็ว (Tachycardia) คือ การที่หัวใจเต้นเกิน 100 ครั้ง/นาที ซึ่งอาจเกิดจากหัวใจเต้นเร็วขึ้นเองขณะที่ร่างกายมีกิจกรรม เช่น การเล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย ทำให้มีเลือดสูบฉีดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อมากขึ้น ยิ่งถ้าคนอายุน้อยๆ หัวใจสามารถเต้นเกิน 150 ครั้ง/นาที ก็เป็นได้ แต่โรคหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ คือ การที่มีวงจรไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติ บางคนเป็นตั้งแต่เกิดแล้ว แต่ยังไม่แสดงอาการอาจจะแสดงอาการในช่วงวัยรุ่นก็ได้

การที่หัวใจเต้นเร็วสามารถบ่งบอกว่าหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ หากมีอัตราการเต้นของหัวใจเกิน 100 ครั้งต่อนาที และ/หรือมีการเต้นผิดจังหวะร่วมด้วย ได้แก่

  1. 1. จุดกำเนิดหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะที่หัวใจห้องบน เกิดจากทางเดินของกระแสไฟฟ้าหัวใจเพิ่มขึ้นจากปกติ ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจรและไปกระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็วจากภาวะปกติ
  2. 2. จุดกำเนิดหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะที่หัวใจห้องล่าง เกิดจากความผิดพลาดของคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่หัวใจห้องล่าง ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น เมื่อหัวใจเต้นเร็วมากก็ทำให้ไม่สามารถสูบฉีดไปยังส่วนต่างๆ ในร่างกายได้
  3. 3. หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ จากการที่คลื่นไฟฟ้าหัวใจมีความเร็วมากกว่าปกติ ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่อัตราการเต้นหัวใจมักจะไม่เกิน 150 ครั้งต่อนาที


Understanding the Four Stages of Heart Failure


ปัจจัยที่ส่งผลให้หัวใจเต้นเร็ว

การเกิดภาวะหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ เป็นเพราะมีปัจจัยบางอย่างรบกวนการส่งสัญญาณไฟฟ้า โดยปัจจัยที่ไปรบกวนการส่งสัญญาณไฟฟ้า อาจเกิดได้ดังนี้


  1. 1. ปัจจัยภายนอกที่ไม่เกี่ยวกับหลอดเลือดและหัวใจ ได้แก่ อยู่ในภาวะตกใจ หรือไปออกกำลังกาย เสียเลือดมากจนซีด ขาดน้ำ ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือเกิดภาวะไทรอยด์เป็นพิษ การดื่มชา กาแฟ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งก็จะส่งผลให้หัวใจเต้นเร็วได้
  2. 2. ปัจจัยภายในหลอดเลือดและหัวใจ ได้แก่ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ผนังกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวผิดปกติ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคลิ้นหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และ ภาวะที่เกิดจากไฟฟ้าหัวใจลัดวงจร


อาการหัวใจเต้นเร็ว

อาการหัวใจเต้นเร็ว สามารถแบ่งออกเป็น 2 แบบตามความรุนแรง ได้แก่ อาการไม่รุนแรง เช่น ใจสั่นแบบทันทีทันใด ใจหวิว มึนงง อาจมีอาการแน่นหน้าอก หรือจุกบริเวณลำคอ มีอาการเกิดขึ้นภายในไม่กี่นาทีและสามารถหายได้เอง และ อาการแบบรุนแรง โดยจะมีภาวะหัวใจเต้นเร็วนานหลายนาที หรือหลายชั่วโมง บางรายมีอาการหน้ามืด เป็นลม หมดสติ หัวใจวาย หรือเสียชีวิตทันที



การวินิจฉัยหัวใจเต้นเร็ว



การจะรู้ว่าเรามีหัวใจเต้นเร็วหรือไม่นั้น แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการของผู้ป่วย ประวัติทางการแพทย์ และการตรวจร่างกาย เพื่อตรวจสอบจังหวะการเต้นของหัวใจเบื้องต้น หรืออาจทดสอบเพื่อหาปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยแพทย์อาจมีแนวทางในการวินิจฉัยการตรวจคัดกรองเพิ่มเติมด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ ดังนี้

  1. 1. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: ECG) เป็นการตรวจมาตรฐานของหัวใจ โดยวัดการทำงานของไฟฟ้าในหัวใจ
  2. 2. การตรวจและบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจตลอด 24 ชั่วโมงโดยใช้ Holter Monitor เป็นอุปกรณ์ขนาดเล็กที่ใช้บันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจตลอด 24 – 48 ชั่วโมง โดยผู้ป่วยจะติดเครื่องบันทึกไว้ติดตัวตลอดเวลา
  3. 3. การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test: EST) เป็นการบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังด้วยการเดินบนสายพานเลื่อน
  4. 4. การเอกซเรย์หน้าอก (Chest X-ray) เพื่อตรวจความผิดปกติของหัวใจ
  5. 5. การตรวจหัวใจด้วยเครื่องเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram) สามารถตรวจดูความผิดปกติทางโครงสร้างของหัวใจ


การรักษาหัวใจเต้นเร็ว



แพทย์จะพิจารณาตามสาเหตุ อาการ ตำแหน่ง และความรุนแรงของโรค โดยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิดอาจไม่ต้องทำการรักษา แต่ในบางชนิดที่ต้องทำการรักษาจะมีทางเลือกในการรักษา ดังนี้

  1. 1. การใช้ยาควบคุมการเต้นของหัวใจ สามารถลดความถี่และความรุนแรงของการได้
  2. 2. การจี้ด้วยไฟฟ้าผ่านคลื่นเสียงความถี่สูง (Electro Physiologic Study and Radiofrequency Ablation) เป็นการรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะโดยไม่ต้องผ่าตัด ด้วยการใช้สายสวนหัวใจผ่านทางหลอดเลือดที่บริเวณขาหนีบ ไปยังตำแหน่งต่างๆ ของหัวใจ เพื่อหาตำแหน่งของวงจรไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติ แพทย์จะปล่อยคลื่นวิทยุความถี่สูงเป็นจุดเล็กๆ เพื่อทำลายเนื้อเยื่อหัวใจที่เป็นสาเหตุของหัวใจเต้นผิดจังหวะนั้น
  3. 3. การใช้ไฟฟ้ากระตุกเพื่อปรับการเต้นของหัวใจ โดยใช้กระแสไฟฟ้าจากเครื่องส่งภายนอกร่างกายซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นแปะที่หน้าอกของผู้ป่วยเพื่อปรับจังหวะการเต้นของหัวใจใหม่



ที่มา   ::     พญ.พัชรี ภาวศุทธิกุล   แพทย์อายุรศาสตร์โรคหัวใจ   ศูนย์หัวใจ  ,  

8 ความคิดเห็น:

  1. หัวใจเต้นเร็วหรือภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

    ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติที่พบมากที่สุด คือ หัวใจห้องบนเต้นผิดจังหวะ ชนิดที่เรียกว่า Atrial fibrillation ผู้ป่วยมีโอกาสเกิดอัมพาตได้สูงถึง 10 – 15 % ต่อปี เนื่องจากลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นในหัวใจจากการที่หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะหลุดลอยออกไปอุดหลอดเลือดสมอง เกิดภาวะหัวใจอ่อนกำลังอันเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตที่สูงขึ้น เมื่อพบร่วมกับโรคเบาหวาน หลอดเลือดหัวใจอุดตัน จึงเห็นได้ว่าในระยะยาวเมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนแล้วจะเป็นการยากที่จะรักษาให้ผู้ป่วยมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตดีเหมือนเดิม


    ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
    โดยปกติหัวใจจะเต้นด้วยอัตรา 60 – 100 ครั้ง / นาที ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หมายถึง ภาวะหัวใจเต้นเร็วหรือช้ากว่าปกติ อาจเกิดจากความผิดปกติของการกำเนิดกระแสไฟฟ้าหัวใจ การนำไฟฟ้าหัวใจ หรือทั้ง 2 อย่างร่วมกัน พบได้จากโรคหัวใจหลายชนิดทั้งที่พบพยาธิสภาพ เช่น ลิ้นหัวใจผิดปกติ กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ หรือหลอดเลือดหัวใจตีบตัน และไม่พบพยาธิสภาพ เช่น ไฟฟ้าหัวใจลัดวงจร


    อาการภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
    ผู้ป่วยอาจมีอาการใจสั่น หน้ามืด เจ็บหน้าอก อ่อนเพลีย ไม่มีแรง เป็นลมหมดสติ หรือหัวใจวาย ขึ้นกับอัตราเร็ว ระยะเวลาที่เกิด รวมทั้งพยาธิสภาพของหัวใจ อาการที่เกิดกับผู้ป่วยอาจทำให้เกิดความวิตกกังวล หรือกลัวจนไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยได้รับคำแนะนำว่าอาการทั้งหมดเกิดจากความเครียดและได้รับยาคลายความวิตกกังวลหรือยานอนหลับมารับประทานเป็นระยะเวลานาน โดยอาการของผู้ป่วยไม่ดีขึ้น จนมีความรู้สึกว่าเป็นโรคที่รักษาไม่หาย เกิดความเบื่อหน่าย ท้อแท้ ปัจจุบันการตรวจวินิจจัยทางการแพทย์ดีขึ้นสามารถค้นหาสาเหตุและให้การรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมได้ดีกว่าเดิมมาก


    ตรวจวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
    การตรวจวินิจฉัยว่าเป็นภาวะหัวใจเต้นผิดปกติชนิดใดและมีพยาธิสภาพของหัวใจร่วมด้วยหรือไม่ แพทย์มักจะตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง การเดินบนสายพาน (โดยเฉพาะในผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดปกติเกิดขึ้นขณะออกกำลังกาย) การติดตามคลื่นไฟฟ้าหัวใจผ่านทางโทรศัพท์ และการกระตุ้นหัวใจในห้องปฏิบัติการ

    การกระตุ้นหัวใจในห้องปฏิบัติการปัจจุบันนำมาใช้หาสาเหตุในผู้ป่วยที่สงสัยว่ามีความผิดปกติที่หัวใจห้องบน ความผิดปกติของการนำไฟฟ้าที่หัวใจห้องล่าง หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ ผู้ป่วยที่รอดจากการปฏิบัติการกู้ชีพ และในผู้ป่วยที่เป็นลมหมดสติบ่อย ๆ โดยหาสาเหตุไม่ได้


    เลี่ยงปัจจัยเสี่ยงภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

    - ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ได้แก่
    - ความเครียด
    - ความวิตกกังวล
    - ความมุ่งมั่นจนเกินไป
    - การพักผ่อนไม่พอเพียง
    - การออกกำลังกายหักโหม
    - การสูบบุหรี่
    - ดื่มน้ำชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง น้ำอัดลมที่มีสารคาเฟอีน แอลกอฮอล์
    - การรับประทานยาหรือฉีดยาที่กระตุ้นหัวใจ

    ตอบลบ
  2. รักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
    การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือหัวใจเต้นผิดปกติ อาจทำได้โดย

    การรักษาด้วยยา
    แพทย์อาจรักษาโดยการใช้ยาเพียงอย่างเดียว เริ่มด้วยยาคลายเครียด แพทย์อาจให้ยาต้านการเต้นผิดปกติ หรือยากระตุ้นหัวใจ


    การจี้รักษาด้วยพลังงานความร้อนเท่าคลื่นวิทยุ โดยใช้สายสวนพิเศษ (Radiofrequency Catheter Ablation)
    วิธีการรักษาภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติที่ได้ผลดีถึงดีมาก (80 – 95%) โดยการสอดสายสวนไปวางที่ตำแหน่งต่าง ๆ ในหัวใจเพื่อวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจและใช้กระตุ้นหัวใจ หลังจากนั้นแพทย์จะสอดสายสวนพิเศษเข้าไปอีก 1 เส้น เพื่อหาตำแหน่งที่หัวใจนำไฟฟ้าเร็วกว่าปกติ เมื่อได้ตำแหน่งที่ต้องการ แพทย์จะปล่อยกระแสไฟฟ้าความถี่สูง ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อนที่ปลายสายสวนพิเศษนี้ ทำให้การนำไฟฟ้าที่จุดนั้นถูกทำลาย หัวใจก็จะไม่เต้นผิดปกติอีกต่อไป

    อันตรายจากการจี้ด้วยพลังงานความร้อนเท่าคลื่นวิทยุมีน้อยมาก เพราะคลื่นไฟฟ้าที่ใช้มีกระแสไฟฟ้าต่ำประมาณ 40 – 60 โวลต์ ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อนที่เนื้อเยื่อหัวใจอุณหภูมิ 55 – 60 องศาเซลเซียส พลังงานนี้จะไม่กระตุ้นกล้ามเนื้อหัวใจหรือปลายประสาท ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บหน้าอกเพียงเล็กน้อย จึงสามารถนำมาใช้ได้โดยไม่ต้องวางยาสลบ


    การฝังเครื่องมือพิเศษ
    ภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติที่เกิดจากหัวใจห้องล่างเต้นเร็วมากจนความดันโลหิตต่ำ คลำชีพจรไม่ได้ หรือเกิดหลายรูปแบบสลับไปมา หรือหัวใจห้องล่างเต้นพริ้ว ถ้าหัวใจไม่เต้นกลับเป็นปกติในเวลาอันรวดเร็ว ผู้ป่วยอาจเสียชีวิต แพทย์จะแนะนำให้ฝังเครื่องช็อกหัวใจอัตโนมัติที่หน้าอกร่วมกับการรับประทานยาต้านการเต้นผิดจังหวะ

    ส่วนภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ แพทย์จะฝังเครื่องกระตุ้นการเต้นของหัวใจ ซึ่งมี 2 ชนิด คือ ชนิดกระตุ้นห้องเดียว และ สองห้อง การฝังเครื่องชนิดใดขึ้นกับพยาธิสภาพที่ผู้ป่วยเป็น


    ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดปกติส่วนหนึ่งจะไม่มีอาการ ทำให้ไม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวประสบปัญหายุ่งยากในการดำเนินชีวิต ตั้งแต่อัมพาตจนถึงเสียชีวิต

    ตอบลบ
  3. หัวใจเต้นเร็ว อาจไม่ใช่สัญญาณของโรคหัวใจเสมอไป
    หัวใจเต้นเร็ว คืออัตราการเต้นของหัวใจที่สูงกว่าอัตราเฉลี่ยของคนทั่วไป ทำให้รู้สึกเหนื่อยหอบ หายใจไม่สะดวก ใจเต้นแรง และอื่น ๆ เป็นสัญญาณหนึ่งของโรคหัวใจ แต่ถึงอย่างนั้นภาวะหัวใจเต้นเร็ว อาจไม่ใช่สัญญาณของโรคหัวใจเสมอไป แต่อาจหมายถึงโรคอื่น ๆ ได้ด้วย โดยที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ ทำให้ เมื่อ มีอาการหัวใจเต้นเร็วจึงเข้าใจว่าตนเองป่วยเป็นโรคหัวใจเท่านั้น

    อัตราการเต้นของหัวใจ
    อัตราการเต้นของหัวใจที่ปกติ ขณะพักจะอยู่ที่ 60-100 ครั้งต่อนาที กรณีที่หัวใจเต้นเร็วคือ สูงกว่า 100 ครั้งต่อนาทีขึ้นไป

    ปัจจัยที่ทำให้หัวใจเต้นเร็ว
    การเคลื่อนไหวร่างกาย ออกกำลังกาย/เล่นกีฬา
    ภาวะซีดหรือภาวะโรคเลือดอื่น ๆ
    โรคไทรอยด์
    โรคหัวใจ
    ความเครียด วิตกกังวล
    เครื่องดื่มชูกำลัง กาแฟ ชา
    ยาบางชนิด เช่น ยาลดอาการคัดจมูก
    กลุ่มเสี่ยงของคนที่มีโอกาสเกิดโรคหัวใจ
    ผู้สูงอายุ
    ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ
    ผู้ที่สูบบุหรี่
    ผู้ป่วยเบาหวาน
    ผู้ที่มีความดันสูง
    ผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง
    หัวใจเต้นเร็วที่ไม่ใช่โรคหัวใจ
    ในคนที่อายุยังน้อย และไม่มีปัจจัยเสี่ยงใด ๆ อาทิ ไม่มีประวัติคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคหัวใจ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ไม่มีภาวะความดันสูง ไขมันสูง เป็นไปได้ว่าภาวะหัวใจเต้นเร็วที่เกิดขึ้นอาจไม่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจ หรือมีโอกาสเกิดโรคหัวใจได้น้อยมาก แต่อาจเกี่ยวข้องกับภาวะอื่น เช่น ภาวะซีดหรือมีภาวะโรคเลือดอื่น ๆ หรือโรคไทรอยด์เป็นพิษ ซึ่งหากรักษาจนกลับมาอยู่ในภาวะปกติ อาการหัวใจเต้นเร็วก็จะดีขึ้นตามลำดับ

    หากมีภาวะซีดที่ไม่รุนแรงและไม่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ แต่พบว่ามีอาการหัวใจเต้นเร็ว ก็ยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ อาจออกกำลังกายสม่ำเสมอร่วมด้วย เพื่อช่วยให้ปอดและหัวใจทำงานได้ดีขึ้น และอาจช่วยให้หัวใจเต้นช้าลง

    การออกกาลังกายที่เหมาะสม
    คนที่มีร่างกายแข็งแรงสามารถออกกาลังกายได้ตามปกติ ความถี่ที่เหมาะสม คือครั้งละ 30-40 นาที สัปดาห์ละ 3-4 วัน
    ในคนที่สุขภาพดี ควรสังเกตตนเองเวลาออกกำลังกายเสมอ หากเหนื่อยหอบ หัวใจเต้นเร็ว เจ็บหน้าอก ทั้งที่เพิ่งออกกำลังกายไปได้ไม่นาน หรือออกกำลังกายไม่หนักมาก ควรได้รับการตรวจว่าตนเองมีความผิดปกติหรือไม่ เพราะอาจเป็นโรคหัวใจโดยที่ตนเองไม่รู้ตัวมาก่อนได้
    ที่ผ่านมาเคยมีผู้เสียชีวิตขณะเล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย ซึ่งเมื่อได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยละเอียดมักพบว่ามีโรคหัวใจซ่อนเร้นโดยที่ตนเองไม่รู้ตัว
    ในผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคไต เบาหวาน ต้องได้รับความคิดเห็นจากแพทย์ประจำตัวก่อน เพื่อประเมินว่าสามารถออกกาลังกายได้ ในระดับไหน ที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
    คนที่ต้องระมัดระวังเรื่องการออกกาลังกาย ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยโรคไต ผู้ป่วยโรคหัวใจ
    ความดันต่ำออกกำลังกายได้หรือไม่
    ภาวะความดันต่ำเป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไป โดยจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ระดับความดันต่ำที่อยู่ในเกณฑ์ ปกติไม่เป็นอันตรายคือ ต้องเกิน 90 ขึ้นไปจนถึง 100 มม.ปรอทเป็นระดับที่เพียงพอต่อการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงสมองและอวัยวะต่าง ๆ หากต่ำกว่า 90 มักมีอาการหน้ามืด เป็นลม หกล้มบาดเจ็บ และถ้าหากพบว่าตนเองมีความดันต่ำควรดื่มน้ำให้เพียงพอก่อนออกกาลังกายและพกน้ำดื่มติดตัว รวมถึงเครื่องดื่มเกลือแร่ให้พร้อม



    ข้อมูลโดย
    รศ. นพ.ทศพล ลิ้มพิจารณ์กิจ
    สาขาวิชาโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์

    ตอบลบ
  4. อัตราการเต้นของหัวใจ เท่าไรที่อาจผิดปกติ

    อัตราการเต้นของหัวใจ (Heart Rate) หมายถึงจำนวนครั้งที่หัวใจเต้นต่อ 1 นาที ซึ่งจะเปลี่ยนไปตามความหนักเบาของกิจกรรมที่ทำหรือสิ่งกระตุ้น เช่น หัวใจจะเต้นเร็วขึ้นเมื่อเราขยับตัวหรือรู้สึกตกใจและหวาดกลัว และหัวใจจะเต้นช้าลงเมื่อเรานอนหลับหรือรู้สึกผ่อนคลาย อย่างไรก็ตาม อัตราการเต้นของหัวใจที่ช้าหรือเร็วกว่าปกติมากเกินไป อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพบางอย่าง

    ปกติแล้วอัตราการเต้นของหัวใจจะวัดในขณะที่เราไม่ได้ทำกิจกรรมใด ๆ และรู้สึกผ่อนคลาย เรียกว่าอัตราการเต้นของหัวใจขณะพัก (Resting Heart Rate) ซึ่งในแต่ละคนจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุ น้ำหนัก หรือสุขภาพ การทราบเกี่ยวกับอัตราการเต้นของหัวใจจะช่วยให้เราสามารถสังเกตความแข็งแรงของร่างกายตนเองได้ รวมทั้งอาจช่วยให้เรารับมือกับความผิดปกติที่กำลังจะเกิดขึ้นได้

    อัตราการเต้นของหัวใจ เท่าไรจึงอยู่ในเกณฑ์ที่ผิดปกติ
    อัตราการเต้นของหัวใจจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน ขึ้นอยู่กับอายุและปัจจัยอื่น ๆ เช่น อุณหภูมิ สภาพอารมณ์ น้ำหนักตัว การออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์ การใช้สารเสพติด ผลข้างเคียงของยาบางชนิด อย่างยากลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ หรือความผิดปกติของร่างกาย เช่น ภาวะโลหิตจาง ความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจ ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

    ปกติแล้วผู้ใหญ่จะมีอัตราการเต้นของหัวใจอยู่ที่ประมาณ 60–100 ครั้งต่อนาที แต่บางคนก็อาจต่ำกว่านั้นได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงหรือผู้ที่เป็นนักกีฬา ซึ่งอาจมีอัตราการเต้นของหัวใจที่ต่ำได้ถึง 40-50 ครั้งต่อนาที ส่วนเด็กจะมีอัตราการเต้นของหัวใจที่สูงกว่าผู้ใหญ่ เมื่อเด็กโตขึ้นอัตราการเต้นของหัวใจจะค่อย ๆ เปลี่ยนไปตามช่วงอายุ ซึ่งในช่วงแรกเกิดอาจสูงได้ถึงประมาณ 160 ครั้งต่อนาที

    โดยทั่วไป หากอัตราการเต้นของหัวใจของผู้ใหญ่ต่ำกว่า 60 ครั้งต่อนาที และสูงเกิน 100 ครั้งต่อนาทีจะถือว่าเป็นสัญญาณอันตราย แต่มีข้อยกเว้นว่าในระหว่างออกกำลังกายอาจสูงกว่านั้นได้ และจะยังถือว่าปลอดภัยหากไม่เกินอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด (Max Heart Rate) ซึ่งสามารถคำนวณได้จาก 220–อายุ เช่น ผู้ที่อายุ 23 ปี จะมีอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุดอยู่ที่ 197 ครั้งต่อนาที

    อัตราการเต้นของหัวใจที่เร็วหรือช้ากว่าเกณฑ์อาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติทางสุขภาพบางอย่าง ดังนี้

    อัตราการเต้นของหัวใจที่เร็วเกินไป
    ในกรณีของผู้ใหญ่ หากมีอัตราการเต้นของหัวใจที่มากกว่า 100 ครั้งต่อนาทีในขณะพัก จะเรียกว่าภาวะหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ (Tachycardia) ซึ่งภาวะนี้ไม่ได้เป็นอันตรายเสมอไป อาจเกิดขึ้นได้จากปัจจัยทั่วไปและเกิดเพียงชั่วคราว เช่น เมื่อออกกำลังกาย รู้สึกตื่นเต้น รู้สึกกลัว หรืออาจเกิดจากโรคหรือความผิดปกติบางอย่าง โดยหากเต้นเร็วเกินไป ภาวะนี้อาจส่งผลให้เกิดอาการเวียนศีรษะ เป็นลม รู้สึกใจสั่น เจ็บหน้าอก หายใจถี่ หรืออ่อนเพลียได้
    ในผู้ที่มีโรคประจำตัว หากมีภาวะหัวใจเต้นเร็วเกินอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุดบ่อย ๆ อาจทำให้หมดสติหรือหัวใจวาย จึงควรไปพบแพทย์ทันทีหากเกิดอาการต่อไปนี้อย่างกะทันหันหรือรุนแรง เช่น เจ็บหน้าอก ปวดกราม แขน คอ หรือหลัง หายใจลำบาก อ่อนเพลียมาก หมดสติ

    อัตราการเต้นของหัวใจที่ช้าเกินไป
    การที่อัตราการเต้นของหัวใจของผู้ใหญ่ต่ำกว่า 60 ครั้งต่อนาทีในขณะพัก จะเรียกว่าภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ (Bradycardia) ซึ่งภาวะนี้ไม่ได้เป็นอันตรายเสมอไป เช่น ในกรณีของนักกีฬาหรือผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ หัวใจของคนกลุ่มนี้จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจขณะพักสามารถต่ำได้ประมาณ 40-50 ครั้งต่อนาที

    ภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติสามารถเกิดได้ทั้งจากปัจจัยทั่วไปและโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับหัวใจ ภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติจะมีอาการหน้ามืด เป็นลม หรืออาการอื่น ๆ คล้ายกับภาวะหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ และอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะความดันโลหิตสูง รวมถึงภาวะความดันโลหิตต่ำได้ด้วย

    เนื่องจากอัตราการเต้นของหัวใจอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพบางอย่าง เราจึงควรหมั่นสังเกตตัวเองอยู่เสมอ และหลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเกิดความผิดปกติ เช่น การเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมากเกินไป การสูบบุหรี่ หากมีความกังวลเกี่ยวกับอัตราการเต้นของหัวใจ ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับคำปรึกษาและการตรวจวินิจฉัยที่เหมาะสม

    ตอบลบ
  5. รู้จัก อัตราการเต้นของหัวใจ, Heart Rate Zone และค่าการฟื้นตัว

    ค่าอัตราการเต้นของหัวใจ (Heart Rate) หรือชีพจรที่เต้นวัดเป็นจำนวนครั้งต่อนาที ค่าดังกล่าวจะสะท้อนให้เห็นการทำงานของหัวใจ หรือระบบไหลเวียนเลือด เนื่องจากในทุกๆ ครั้งที่หัวใจเต้น หัวใจจะทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงทั่วร่างกายนั่นเอง โดย อัตราการเต้นของหัวใจในแต่ละวัย จะมีตัวเลขที่ต่างกันไป

    อัตราการเต้นของหัวใจในแต่ละวัย
    - ทารกแรกเกิด – 1 เดือน ประมาณ 120-160 ครั้งต่อนาที
    - 1-12 เดือน ประมาณ 80-140 ครั้งต่อนาที
    - 12 เดือน – 2 ปี ประมาณ 80-130 ครั้งต่อนาที
    - 2-6 ปี ประมาณ 75-120 ครั้งต่อนาที
    - 6-12 ปี ประมาณ 75-110 ครั้งต่อนาที
    - วัยรุ่น-วัยผู้ใหญ่ ประมาณ 60-100 ครั้งต่อนาที

    วิธีวัดค่าอัตราการเต้นของหัวใจด้วยตนเอง ทำได้ด้วยการวัดการเต้นของชีพจร โดยการใช้นิ้วนาง นิ้วกลาง และนิ้วชี้ จับข้อมืออีกด้านที่ต้องการวัดชีพจร บริเวณที่รู้สึกถึงการเต้น หลังจากนั้นให้นับการเต้นของหัวใจจำนวนครั้งต่อนาที รวมถึงสังเกตอัตราการเต้นว่าสม่ำเสมอหรือไม่ หากสูงเกินไปอาจเสี่ยงต่อ โรคหัวใจ หรือ ไขมันในเลือดสูง

    คุณจะต้องวัดการเต้นของชีพจร จำนวน 3 ครั้ง และค่าเฉลี่ยออกมา หากค่าอัตราการเต้นไม่อยู่ในเกณฑ์ปกติ จะต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุของความผิดปกติ ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เนื่องจากหัวใจเป็นอวัยวะสำคัญที่ส่งผลต่อทุกระบบของร่างกายนั่นเอง

    Heart Rate Zone
    Heart Rate Zone คือ อัตราการเต้นของหัวใจระดับต่างๆ ในขณะออกกำลังกาย หรือระดับความหนักในการออกกำลังกาย

    ค่า Heart Rate Zone แบ่งออกเป็น 5 ระดับ แต่ละระดับจะให้ผลลัพธ์ หรือเป้าหมายในการออกกำลังกายที่แตกต่างกัน เช่น การลดน้ำหนัก ลดไขมัน หรือสร้างความทนทานให้กับกล้ามเนื้อ

    ดังนั้น หากอยากออกกำลังกายให้มีประสิทธิภาพและได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ การคำนวณค่า Heart Rate Zone จึงเป็นสิ่งสำคัญ

    วิธีคำนวณค่า Heart Rate Zone
    ค่า Heart Rate Zone จะคำนวณจากอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด (Average maximum heart rate) โดยค่าอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุดจะคำนวณจาก

    220-อายุ
    เมื่อได้ค่าอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุดมาแล้วให้นำมาคูณกับเปอร์เซ็นต์ความหนักของการออกกำลังกายก็จะได้ค่า Heart Rate Zone นั่นเอง

    ทำความรู้จัก Heart Rate Zone 5 ระดับ
    1. โซน 1 การออกกำลังกายแบบเบามาก (Very light)
    - ระดับอัตราการเต้นของหัวใจ 50-60% ของอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด
    - การออกกำลังกายเพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกาย
    - หายใจสะดวก ไม่หอบ เหงื่อซึมเล็กน้อย
    2. โซน 2 การออกกำลังกายแบบเบา (Light)
    - ระดับอัตราการเต้นของหัวใจ 60-70% ของอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด
    - การออกกำลังกายเพื่อเผาผลาญไขมันได้ดี
    - เหงื่อออกมาเยอะกว่าเดิม และเริ่มหอบ
    3. โซน 3 การออกกำลังกายแบบปานกลาง (Moderate)
    - ระดับอัตราการเต้นของหัวใจ 70-80% ของอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด
    - การออกกำลังกายเพื่อลดไขมันดี และเพิ่มความทนทานและแข็งแรงให้กับร่างกายขึ้นเล็กน้อย
    - หากออกกำลังกายในระดับนี้เป็นเวลานานเหงื่อจะออกเยอะมาก และหอบแรงมากขึ้น
    4. โซน 4 การออกกำลังกายแบบหนัก (Hard)
    - ระดับอัตราการเต้นของหัวใจ 80-90% ของอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด
    - การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับร่างกาย เหมาะสำหรับนักกีฬาที่เตรียมตัวลงแข่งขัน
    5. โซน 5 การออกกำลังกายแบบหนักมาก (Maximum)
    - ระดับอัตราการเต้นของหัวใจ 90-100% ของอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด
    - การออกกำลังกายที่เหมาะสำหรับนักกีฬาที่ผ่านการฝึกซ้อมมาแล้ว
    - การออกกำลังกายระดับนี้ไม่เหมาะสำหรับคนทั่วไป หากอยากฝึก ควรฝึกภายใต้การดูแลของผู้ชำนาญ


    นอกจาก Heart Rate Zone แล้ว ค่าที่ควรทำความรู้จักอีกหนึ่งอย่าง คือ "ค่าการฟื้นตัวของอัตราการเต้นของหัวใจ" ซึ่งเป็นค่าที่มีความสำคัญต่อการกำหนดรูปแบบของการออกกำลังกายในแต่ละบุคคล

    ตอบลบ



  6. การฟื้นตัวของอัตราการเต้นของหัวใจ

    การฟื้นตัวของอัตราการเต้นของหัวใจ (Recovery heart rate) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “อัตราการเต้นของหัวใจหลังออกกำลังกาย (Post-exercise heart rate)” คือ การลดลงกลับสู่ค่าปกติของชีพจรที่วัดทันทีหลังการออกกำลังกายอย่างหนัก ซึ่งเป็นค่าที่ใช้วัดสมรรถภาพของร่างกายเพื่อประเมินความสามารถของหัวใจในการฟื้นฟูตัวเองหลังออกกำลังกายอย่างหนัก นอกจากนั้นยังใช้ประเมินสมรรถภาพร่างกายของผู้ออกกำลังกายแต่ละคนได้อีกด้วย

    โดยค่าที่ได้จะนำไปตั้งค่าการออกกำลังกายที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน เช่น คุณต้องรอให้ชีพจรลงมาต่ำกว่า 100 ครั้งต่อนาที ก่อนที่จะลุกออกจากเครื่องออกกำลังกาย หรือหยุดออกกำลังกายเพื่อเริ่มต้นยืดกล้ามเนื้อ เป็นต้น


    ค่าการฟื้นตัวของอัตราการเต้นของหัวใจ ที่เหมาะสม

    โดยทั่วไป ค่าของการฟื้นตัวของอัตราการเต้นของหัวใจหลังการออกกำลังกายอย่างหนักยิ่งลดลงต่ำเท่าไหร่ยิ่งดี เช่น ชีพจรของคุณควรลดลงมาต่ำกว่า 100 ครั้ง/นาที ภายใน 3 นาทีแรกหลังออกกำลังกาย

    โดยในการทดสอบการออกกำลังกาย แพทย์มักจะอยากให้ชีพจรของคุณลดลงอย่างน้อย 12 ครั้ง/นาที ขณะยืน และ 22 ครั้ง/นาที ขณะนั่ง ในนาทีแรกหลังออกกำลังกาย


    วิธีปรับปรุงค่าการฟื้นตัวของอัตราการเต้นของหัวใจให้ดีขึ้น

    โดยทั่วไป หากคุณได้รับปัจจัยที่มีผลต่อการฟื้นตัวของอัตราการเต้นของหัวใจ เช่น ดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน หรือดื่มน้ำไม่เพียงพอ คุณอาจต้องรอประมาณ 2-3 วัน เพื่อกลับมาทดสอบใหม่อีกครั้ง แต่ถ้าค่าการฟื้นตัวของอัตราการเต้นของหัวใจยังสูงเหมือนเดิม คุณอาจจะต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่ทำให้ชีพจรมีค่าสูงขึ้น

    แพทย์จะใช้วิธีการตรวจสอบหัวใจต่างๆ เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: ECG) หรือการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram) ซึ่งสามารถไปตรวจได้ที่โรงพยาบาลที่มีศูนย์ดูแลหัวใจให้บริการ


    ตอบลบ
  7. หัวใจเต้นเร็วเกิดจากอะไร?

    ทำความรู้จักหัวใจของคนเราก่อน

    หัวใจของคนเราจะมีขนาดเท่ากำปั้น อยู่บริเวณช่องอก เยื้องไปทางด้านซ้ายเล็กน้อย มีหน้าที่ในการบีบตัว สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

    อัตราการการเต้นของหัวใจ

    ❤️ หัวใจเต้น 60-100 ครั้งต่อนาที : ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ
    ❤️ หัวใจเต้นเกิน 100 ครั้งต่อนาที : มีภาวะหัวใจเต้นเร็ว
    ❤️ หัวใจเต้นเกิน 150 ครั้งต่อนาที : มีภาวะหัวใจเต้นเร็วมากเข้าขั้นอันตราย


    สาเหตุของอาการใจสั่นหรือหัวใจเต้นเร็ว แบ่งออกเป็น

    1. หัวใจเต้นเร็วเพราะหัวใจถูกกระตุ้น ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของไฟฟ้าหัวใจ เช่น อยู่ในภาวะตกใจ หรือไปออกกำลังกาย เสียเลือดมากจนซีด ขาดน้ำ ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือเกิดภาวะไทรอยด์เป็นพิษ การดื่มชา กาแฟ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งก็จะส่งผลให้หัวใจเต้นเร็วได้

    2. หัวใจเต้นเร็วเพราะระบบไฟฟ้าในหัวใจผิดปกติ แบ่งออกได้เป็น

    - จุดกำเนิดหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะที่หัวใจห้องบน Supraventricular Tachycardia หรือที่เรียกว่า SVT เกิดจากทางเดินของกระแสไฟฟ้าหัวใจเพิ่มขึ้นจากปกติ ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจรและไปกระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็วจากภาวะปกติ
    - จุดกำเนิดหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะที่หัวใจห้องล่าง Ventricular Tachycardia หรือที่เรียกว่า VT เกิดจากการมีจุดกำเนิดที่ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นในหัวใจห้องล่าง


    ทำความรู้จักหัวใจเต้นเร็ว

    หัวใจเต้นเร็วรูปแบบนี้จะมีลักษณะจำเพาะ โดยที่หัวใจจะเต้นเร็วขึ้นมาอย่างฉับพลันจากภาวะปกติ เช่น จากที่หัวใจเต้น 80 ครั้งต่อนาทีอยู่ดี ๆ ก็เพิ่มขึ้นเป็น 140 ครั้งต่อนาที ภายในเวลาชั่วพริบตา ทำให้รู้สึกถึงอาการใจสั่น และก็จะสามารถลดลงกลับมาอยู่ในภาวะปกติได้อย่างทันที ซึ่งระยะเวลาที่หัวใจเปลี่ยนจังหวะการเต้นอย่างฉับพลันขึ้นอยู่กับสภาพการณ์ของแต่ละบุคคล

    อาการหัวใจเต้นเร็ว แบ่งออกเป็น
    1. อาการไม่รุนแรง อาการที่สามารถพบได้

    - ใจสั่นแบบทันทีทันใด
    - ใจหวิว
    - มึนงง
    - อาจมีอาการแน่นหน้าอก หรือจุกบริเวณลำคอ
    - มีอาการเกิดขึ้นภายในไม่กี่นาทีและสามารถหายได้เอง

    2. อาการแบบรุนแรง มีอาการหัวใจเต้นเร็วนานหลายนาที หรือหลายชั่วโมง บางรายมีอาการหน้ามืด เป็นลม หมดสติ หัวใจวาย หรือเสียชีวิตทันที


    การวินิจฉัยสำหรับผู้มีอาการหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ

    - สำหรับผู้ที่มีอาการหัวใจเต้นเร็วเป็นครั้งคราว การวินิจฉัยอาจจะทำได้ยาก เนื่องจากอาการอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นขณะเข้ารับการตรวจหรืออยู่ที่โรงพยาบาล ซึ่งการวินิจฉัยอาจจะต้องใช้เครื่องติดตามคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง หรือ Holter Monitoring เป็นเครื่องขนาดเล็ก สามารถพกพาติดตัวไปได้ โดยเครื่องจะทำการบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจได้ถึง 48 ชั่วโมง หลังจากที่ได้ข้อมูลการบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจตลอด 48 ชั่วโมง ทำให้แพทย์สามารถวิเคราะห์อัตราการเต้นของหัวใจ และจังหวะการเต้นของหัวใจได้ โดยพิจารณาอาการร่วมที่เกิดขึ้นขณะที่คนไข้ติดเครื่อง Holter Monitoring
    - การตรวจด้านสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ (Electrophysiology Study) เป็นการตรวจการทำงานของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อหาจุดกำเนิดของภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ โดยจะทำการตรวจให้ห้องสวนหัวใจ


    แนวทางการรักษา


    1. การใช้ยารับประทาน ในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง สามารถควบคุมอาการได้
    2. การผ่าตัด เป็นการรักษาที่ได้ผลดี และสามารถรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบางประเภทให้หายขาดได้ แต่เป็นการผ่าตัดใหญ่ ผู้ป่วยต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาลหลังการผ่าตัด
    3. การรักษาด้วยไฟฟ้าความถี่สูงผ่านสายสวน (Radiofrequency Catheter Ablation : RFCA) เป็นการรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยแพทย์จะใช้สายสวนชนิดพิเศษใส่ไปในตำแหน่งที่มีการเต้นของหัวใจผิดจังหวะ และชักระแสไฟฟ้าที่มีความถี่สูงเท่ากับคลื่นวิทยุจี้ยังตำแหน่งที่มีความผิดปกติ ขณะทำการรักษาผู้ป่วยจะได้รับยาระงับความรู้สึก ยาระงับประสาท เพื่อให้ผู้ป่วยนิ่งตลอดระยะเวลาการรักษา โดยใช้ระยะเวลาในการรักษาประมาณ 1-4 ชั่วโมง การรักษาด้วยวิธีนี้มีผลของความสำเร็จถึง 90-95% แต่ก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังการรักษาได้ เช่น เกิดภาวะหัวใจเต้นช้าผิดปกติหลังการรักษา แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก

    ตอบลบ
  8. โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

    เกิดจากความผิดปกติของการกำเนิดกระแสไฟฟ้าหัวใจ หรือว่าการนำกระแสไฟฟ้าหัวใจ หรือทั้งสองอย่างร่วมกัน ซึ่งจะทำให้หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ หรือเต้นช้ากว่าปกติ หรือเต้นไม่เป็นจังหวะสม่ำเสมอ


    สาเหตุของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

    แบ่งเป็น 2 สาเหตุหลักๆ ได้แก่
    1. สาเหตุจากโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น หลอดเลือดหัวใจตีบหรือตัน ผนังกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวผิดปกติ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคลิ้นหัวใจ และโรคความดันโลหิตสูง
    2. สาเหตุที่ไม่ได้มาจากโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคไทรอยด์เป็นพิษ เกิดจากยาบางชนิด หรือการใช้ยาเสพติดที่มีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจ รวมถึงเครื่องดื่มที่มีสารกระตุ้นหัวใจ เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์


    อาการของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

    ผู้ป่วยจะมีอาการใจสั่นผิดปกติ หน้ามืด เป็นลม จุกแน่นลิ้นปี่ เจ็บแน่นหน้าอก อ่อนเพลียไม่มีแรง หายใจไม่อิ่ม หรือหายใจลำบาก โดยปกติคนเรามีอัตราการเต้นของชีพจร 60-100 ครั้ง/นาที ถ้าเต้นเกิน 100 ครั้ง/นาทีขึ้นไป ถือว่าเร็วกว่าปกติ หรือเต้นช้ากว่าปกติคือต่ำกว่า 60 ครั้ง/นาที และการเต้นของหัวใจปกติจะเต้นจากหัวใจห้องบนลงสู่ห้องล่าง ในบางคนที่พักผ่อนน้อย หรือทานอาหารไม่เพียงพอ เกลือแร่ต่ำผิดปกติ อาจทำให้คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติที่เรียกว่า PVC ก็คือการเต้นของหัวใจจากห้องล่างขึ้นมาห้องบน ซึ่งทำให้บางคนเกิดอาการวูบ หน้ามืด หรือใจสั่น ถ้าผู้ป่วยมีภาวะเสี่ยงหรือมีอาการผิดปกติดังกล่าว ควรปรึกษาอายุรแพทย์โรคหัวใจ เพื่อลดความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนอันเกิดจากโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต หัวใจล้มเหลว หรือการเสียชีวิตกระทันหัน


    กลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรค

    สามารถเป็นได้ทุกช่วงวัย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของหัวใจเต้นผิดจังหวะว่าเกิดจากสาเหตุใด ซึ่งแบ่งได้เป็น 4 กลุ่มด้วยกัน 1.) ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด 2.) ผู้ป่วยเบาหวาน โรคอ้วน โรคไตวายเรื้อรัง โรคไทรอยด์เป็นพิษ ผู้ป่วยที่มีอาการนอนกรน และภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ 3.) ผู้ป่วยสูงอายุ 4.) ผู้ป่วยที่มีการนำสัญญาณไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ


    การรักษา

    หลังจากที่แพทย์วินิจฉัยแล้ว แพทย์จะประเมินทางเลือกในการรักษา บางรายอาจให้รับประทานยาเพื่อควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจ ในบางรายอาจพิจารณารักษาโดยการจี้ไฟฟ้าหัวใจ ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีประวัติเคยหัวใจล้มเหลวหรือสูงอายุ แพทย์อาจพิจารณาการใส่เครื่องกระตุกหัวใจ เพื่อป้องกันภาวะหัวใจหยุดเต้น อย่างไรก็ตามแพทย์จะร่วมประเมินทางเลือกที่เหมาะสมกับความรุนแรงและอาการของผู้ป่วยในแต่ละราย


    การป้องกันไม่ให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ

    🧡 ออกกำลังกายอย่างน้อย 30-45 นาที/วัน อย่างน้อย 3-5 วัน/สัปดาห์
    🧡 รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด อาหารมันๆ รวมถึงอาหารและเครื่องดื่มที่กระตุ้นหัวใจ
    🧡 พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ และไม่เครียดจนเกินไป
    🧡 หมั่นตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ
    🧡 หากมีอาการดังกล่าวข้างต้น หรือมีโรคประจำตัว ควรปรึกษาอายุรแพทย์โรคหัวใจ เพื่อวินิจฉัยแยกโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะได้อย่างถูกต้อง



    ตอบลบ