หัวใจเต้นช้ากว่าปกติ (Bradycardia)
ความหมาย หัวใจเต้นช้ากว่าปกติ (Bradycardia)
Bradycardia (หัวใจเต้นช้ากว่าปกติ) คือ ภาวะที่อัตราการเต้นของหัวใจต่ำกว่า 60 ครั้งต่อนาที ซึ่งน้อยกว่าการเต้นของหัวใจในอัตราปกติ โดยทั่วไปแล้ว ผู้ใหญ่จะมีอัตราการเต้นของหัวใจขณะพักอยู่ที่นาทีละ 60-100 ครั้ง ผู้ที่มีอัตราการเต้นของหัวใจช้ากว่า 60 ครั้งต่อนาที ถือว่าประสบภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ ภาวะนี้อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพได้ โดยเฉพาะในกรณีที่หัวใจเต้นช้าจนไม่สามารถสูบฉีดเลือดและนำออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้อย่างเพียงพอ
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ประสบภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติบางรายอาจไม่เกิดอาการหรือภาวะแทกซ้อนใด ๆ เช่น นักกีฬาหรือผู้ที่เคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอมักมีอัตราการเต้นของหัวใจต่ำกว่าปกติ เนื่องจากการออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยเสริมสร้างสมรรถภาพการทำงานของหัวใจ ส่งผลให้สูบฉีดเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ หัวใจจึงต้องบีบตัวช้าลงเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของร่างกาย
อาการของหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ
ผู้ที่ประสบภาวะ Bradycardia หรืออัตราการเต้นของหัวใจช้ากว่าปกติ จะทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงสมองและส่วนต่าง ๆ ได้อย่างเพียงพอ ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการป่วยต่าง ๆ ดังนี้
- เมื่อยล้า หรือรู้สึกเหนื่อยและอ่อนเพลีย
- วิงเวียนศีรษะ
- รู้สึกสับสนมึนงง หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการใช้สมาธิจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
- เป็นลม หรือมีอาการคล้ายจะเป็นลม เนื่องจากอัตราการเต้นของหัวใจที่ช้ากว่าปกติส่งผลให้ความดันโลหิตต่ำ
- หายใจไม่สุด
- เจ็บหน้าอก หรือรู้สึกใจสั่น (Palpitations)
- ออกกำลังกายได้ไม่ถนัด หรือรู้สึกเหนื่อยเร็วเมื่อออกกำลังกาย
- ประสบภาวะหัวใจหยุดเต้น (Cardiac Arrest) ซึ่งเกิดขึ้นในกรณีร้ายแรง
นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจไม่ปรากฏอาการของภาวะ Bradycardia หรือปรากฏอาการเพียงเล็กน้อย นักกีฬาหรือผู้ที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอมักมีอัตราการเต้นของหัวใจที่ช้ากว่าปกติ ซึ่งไม่นับเป็นปัญหาสุขภาพ ส่วนผู้ที่ไม่ได้ออกกำลังหรือฝึกร่างกายอย่างนักกีฬาแต่ประสบภาวะดังกล่าว รวมทั้งมีอาการเป็นลม หายใจลำบาก หรือเจ็บหน้าอกนานหลายนาที ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและวินิจฉัยอาการดังกล่าวทันที
สาเหตุของหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ
โดยทั่วไปแล้ว หัวใจมีอยู่ 4 ห้อง แบ่งเป็น หัวใจสองห้องบนหรือ Atria และหัวใจสองห้องล่างหรือ Ventricles ตัวกำหนดจังหวะหรือ Sinus Node ซึ่งอยู่หัวใจห้องบนขวา ทำหน้าที่ควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจให้เป็นปกติ โดยจะผลิตกระแสไฟฟ้าที่ช่วยให้เกิดจังหวะการเต้นของหัวใจ กระแสไฟฟ้าจะเดินทางผ่านหัวใจห้องบน เพื่อให้บีบตัวและลำเลียงเลือดไปหัวใจห้องล่าง โดยต้องผ่านกลุ่มเซลล์ AV Node ซึ่งถ่ายทอดสัญญาณไฟฟ้าไปยังกลุ่มเซลล์ของหัวใจห้องล่างซ้ายและขวา เพื่อกระตุ้นให้เกิดการบีบตัวและลำเลียงเลือดที่บริเวณดังกล่าว หัวใจห้องล่างขวาจะลำเลียงเลือดที่มีออกซิเจนน้อยไปที่ปอด ส่วนหัวใจห้องล่างซ้ายจะลำเลียงเลือดที่มีออกซิเจนมากไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย หาก Sinus Node ปล่อยกระแสไฟฟ้าช้ากว่าปกติ หยุดปล่อยกระแสไฟฟ้าอย่างสม่ำเสมอ หรือปล่อยกระแสไฟฟ้าแล้วไม่สามารถไปกระตุ้นให้หัวใจบีบตัวได้ จะส่งผลให้หัวใจเต้นช้าลง
ภาวะ Bradycardia เกิดจากการกระแสไฟฟ้าที่ควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจเกิดความผิดปกติ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้กระแสไฟฟ้าดังกล่าวผิดปกติ มีดังนี้
- เนื้อเยื่อหัวใจเสื่อมตามอายุของผู้ป่วยที่มากขึ้น
- เนื้อเยื่อหัวใจถูกทำลายจากการป่วยเป็นโรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดหัวใจ
- ความดันโลหิตสูง
- ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis)
- ผลข้างเคียงจากการผ่าตัดหัวใจ
- ภาวะไฮโปไทรอยด์หรือภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ
- สมดุลเกลือแร่ในร่างกายผิดปกติ เช่น โพแทสเซียม หรือแคลเซียม
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea)
- ป่วยเป็นโรคที่เกิดการอักเสบตามร่างกาย เช่น โรคลูปัส หรือไข้รูมาติก
- ภาวะเหล็กเกิน (Hemochromatosis)
- ยาบางอย่าง เช่น ยาที่ใช้รักษาโรคเกี่ยวกับการเต้นของหัวใจอื่น ๆ ยารักษาความดันโลหิตสูง หรือยารักษาโรคจิต
นอกจากนี้ อายุและพฤติกรรมบางอย่างก็เป็นปัจจัยเสี่ยงอันก่อให้เกิดอัตราการเต้นของหัวใจช้ากว่าปกติ โดยผู้สูงอายุเสี่ยงมีปัญหาสุขภาพหัวใจที่เกี่ยวเนื่องกับภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติได้มาก ส่วนผู้ที่ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาก ใช้สารเสพติดต่าง ๆ เกิดโรคเครียดหรืออาการวิตกกังวล เสี่ยงเกิดภาวะ Bradycardia ได้สูง เนื่องจากพฤติกรรมดังกล่าวล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับภาวะนี้ด้วย การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและเข้ารับการรักษาปัญหาสุขภาพด้วยวิธีทางการแพทย์จะช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าวลงได้
การวินิจฉัยหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ
ผู้ป่วยที่ประสบภาวะ Bradycardia ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัย เบื้องต้นแพทย์จะถามอาการของผู้ป่วย ซักประวัติการรักษาและประวัติการป่วยของบุคคลในครอบครัว รวมทั้งตรวจร่างกายผู้ป่วย นอกจากนี้ แพทย์อาจต้องขอตรวจอย่างอื่นเพิ่มเติม เพื่อวัดอัตราการเต้นหัวใจ วิเคราะห์อาการที่เกี่ยวเนื่องกับภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ และระบุสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะดังกล่าว การตรวจสำหรับวินิจฉัยภาวะ Bradycardia ประกอบด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และการตรวจอื่น ๆ ในห้องทดลอง ดังนี้
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram, ECG) แพทย์จะนำขั้วไฟฟ้าซึ่งมีตัวรับสัญญาณแตะที่หน้าอกและแขนของผู้ป่วย เพื่อบันทึกสัญญาณไฟฟ้าที่วิ่งผ่านหัวใจ และวินิจฉัยสาเหตุของภาวะหัวใจเต้นช้าจากลักษณะสัญญาณของกระแสไฟฟ้า ทั้งนี้ แพทย์อาจให้ผู้ป่วยใช้เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบพกพาสำหรับตรวจเองที่บ้าน เพื่อดูอัตราการเต้นของหัวใจและช่วยให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการเต้นของหัวใจที่ช้ากว่าปกติกับอาการป่วยที่เกิดขึ้น โดยอุปกรณ์ดังกล่าวเรียกว่าเครื่อง Holter ผู้ป่วยสามารถพกเครื่องนี้ไว้ในกระเป๋าหรือสวมติดไว้ที่เข็มขัดหรือแถบบ่าของเสื้อผ้า เพื่อบันทึกอัตราการเต้นของหัวใจตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งช่วยให้แพทย์ดูการเต้นของหัวใจผู้ป่วยได้นานขึ้น โดยแพทย์จะสอนให้ผู้ป่วยใช้เครื่อง Holter สำหรับบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจในกรณีที่อาการของโรคปรากฏขึ้นมาและให้ทำบันทึกควบคู่ไปด้วย ผู้ป่วยสามารถลงรายละเอียดเกี่ยวกับอาการป่วยและช่วงเวลาที่เกิดอาการของโรคไปในบันทึกดังกล่าวได้ ทั้งนี้ แพทย์จะตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะที่ให้ผู้ป่วยทดสอบทำกิจกรรมอื่นไปด้วย เพื่อดูระดับผลกระทบของกิจกรรมที่ส่งผลต่อภาวะหัวใจเต้นช้า กิจกรรมทดสอบประกอบการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ มีดังนี้
- ทดสอบด้วยเตียงปรับระดับ (Tilt Table Test) การทดสอบนี้จะช่วยวินิจฉัยภาวะ Bradycardia ที่ทำให้ผู้ป่วยเป็นลม โดยให้ผู้ป่วยนอนลงบนเตียง และปรับระดับเตียงในระดับต่าง ๆ เพื่อดูการเกิดอาการเป็นลม
- ทดสอบสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise test) แพทย์จะให้ผู้ป่วยเดินบนลู่วิ่งหรือปั่นจักรยาน เพื่อดูว่าอัตราการเต้นหัวใจของผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเมื่อทำกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างเหมาะสมหรือไม่
- การตรวจอื่น ๆ ในห้องทดลอง แพทย์อาจขอตรวจเลือดผู้ป่วย เพื่อดูว่าผู้ป่วยมีปัญหาสุขภาพที่ก่อให้เกิดภาวะ Bradycardia หรือไม่ เช่น ติดเชื้อ ฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ หรือระดับเกลือแร่ไม่สมดุล รวมทั้งทำการทดสอบเกี่ยวกับการนอนหลับของผู้ป่วยบางรายในกรณีที่สันนิษฐานว่าสาเหตุของหัวใจเต้นช้ากว่าปกติเกิดจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
การรักษาหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ
ผู้ที่ประสบภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติบางรายไม่จำเป็นต้องรับการรักษา ยกเว้นผู้ที่มีอาการมานานหรือเป็นซ้ำ ๆ ทั้งนี้ ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาแตกต่างกันไปตามระดับความรุนแรงของอาการและสาเหตุที่ทำให้หัวใจเต้นช้ากว่าปกติ ซึ่งวิธีรักษาแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ ได้แก่ การรักษาสาเหตุที่ทำให้หัวใจเต้นช้า การปรับเปลี่ยนยา และการใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ ดังนี้
- การรักษาสาเหตุที่ทำให้หัวใจเต้นช้า ผู้ที่ประสบภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติอันเนื่องมาจากปัญหาสุขภาพต่าง ๆ จะต้องเข้ารับการรักษาปัญหาสุขภาพดังกล่าวให้หาย เช่น ผู้ป่วยไฮโปไทรอยด์ที่เกิดอาการหัวใจเต้นช้าผิดปกติ จำเป็นต้องรับการรักษาอาการป่วยของตน โดยแพทย์จะให้ฮอร์โมนไทรอยด์ทดแทนแก่ผู้ป่วย เช่น เลโวไทรอกซิน (Levothyroxine) หรือผู้ป่วยโรคลายม์จะได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ เพื่อรักษาอาการติดเชื้ออันเป็นสาเหตุของภาวะ Bradycardia
- การปรับเปลี่ยนยา ยารักษาโรคบางชนิดอันรวมไปถึงยารักษาปัญหาสุขภาพหัวใจบางอย่างนั้น ก่อให้เกิดภาวะ Bradycardia ได้ แพทย์จะตรวจยาที่ผู้ป่วยใช้รักษาโรค รวมทั้งแนะนำวิธีรักษาทางเลือกอื่นให้อย่างเหมาะสม โดยแพทย์อาจเปลี่ยนหรือลดขนาดยาที่ผู้ป่วยใช้อยู่ เพื่อรักษาอาการหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ อย่างไรก็ตาม หากวิธีรักษาทางเลือกที่นำมาใช้รักษานั้นไม่ได้ผล และจำเป็นต้องใช้ยารักษาอาการป่วย แพทย์อาจรักษาภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติให้ผู้ป่วยด้วยการใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ
- การใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (Pacemaker) ผู้ที่ประสบภาวะ Bradycardia อาจต้องได้รับการใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ โดยเครื่องนี้มีขนาดเท่าโทรศัพท์มือถือและมีแบตเตอรี่อยู่ภายในเครื่อง แพทย์จะปลูกถ่ายเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจไว้ใต้ไหปลาร้าผู้ป่วย ลวดของอุปกรณ์จะฝังผ่านเส้นเลือดไปที่หัวใจ ขั้วไฟฟ้าที่อยู่ปลายสุดของลวดจะอยู่ติดกับเนื้อเยื่อหัวใจ เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจจะช่วยจับอัตราการเต้นหัวใจและปล่อยกระแสไฟฟ้าในปริมาณพอดี เพื่อรักษาระดับการเต้นของหัวใจให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสม ทั้งนี้ เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจจะบันทึกข้อมูลที่แพทย์สามารถนำไปใช้ตรวจสุขภาพหัวใจได้ ผู้ป่วยควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจตามนัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อติดตามการรักษาและดูการทำงานของเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ใส่เครื่องนี้ควรเลี่ยงการอยู่ใกล้สนามแม่เหล็กไฟฟ้าหรือที่ที่มีคลื่นไฟฟ้าแรงสูง เนื่องจากอาจทำให้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ อีกทั้งหากเกิดอาการที่แสดงว่าการทำงานของเครื่องผิดปกติ ควรพบแพทย์ทันที เช่น หัวใจเต้นเร็วหรือช้ามาก หัวใจหยุดเต้น ใจสั่น รู้สึกเวียนศีรษะคล้ายเป็นลม หรือหายใจไม่สุดซึ่งไม่เคยเป็นมาก่อนหรืออาการดังกล่าวแย่ลงกว่าที่เคยเป็น
ภาวะแทรกซ้อนจากหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ
ผู้ป่วยที่ประสบภาวะ Bradycardia แล้วไม่เข้ารับการรักษา เสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ โดยภาวะแทรกซ้อนของโรคนี้แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับบริเวณที่เกิดปัญหาการผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจและชนิดของเนื้อเยื่อหัวใจที่ถูกทำลาย อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยได้ ดังนี้
- เป็นลมบ่อย รวมทั้งเกิดอาการวูบ (Syncope) และหมดสติ
- ประสบภาวะความดันโลหิตสูงหรือความดันต่ำ
- ประสบภาวะหัวใจวาย เนื่องจากหัวใจไม่มีประสิทธิภาพในการสูบฉีดเลือดได้อย่างเพียงพอ
- ประสบภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันหรือเสียชีวิตกะทันหัน
การป้องกันหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ
ภาวะ Bradycardia เป็นปัญหาสุขภาพที่ป้องกันได้ โดยต้องลดปัจจัยเสี่ยงอันนำไปสู่โรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งมีวิธีลดปัจจัยเสี่ยงของโรค ดังนี้
- ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น อาหารไขมันต่ำ ผัก ผลไม้ หรือธัญพืชขัดสี
- ควรรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน รวมทั้งลดน้ำหนักในกรณีที่น้ำหนักตัวมากเกินไป เนื่องจากภาวะน้ำหนักเกินทำให้เสี่ยงเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้สูง
- ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ทำให้เกิดความดันโลหิตและคอเลสเตอรอลในเลือดสูง รวมทั้งรับประทานยารักษาโรคดังกล่าว เพื่อควบคุมระดับความดันโลหิตและคอเลสเตอรอลในเลือด
- หยุดสูบบุหรี่ หากเลิกไม่ได้ ควรพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษา
- ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แต่พอดี อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพบางรายต้องงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด ส่วนผู้ที่ไม่สามารถจำกัดปริมาณการดื่มของตนเองได้ ควรพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาและแนวทางในการเลิกดื่ม
- ไม่ใช้สารเสพติดทุกชนิด
- ควรทำตัวให้ผ่อนคลาย เพื่อเลี่ยงการเกิดความเครียด รวมทั้งหาวิธีรับมือกับความเครียดที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสม
- ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจร่างกายและอาการป่วยอย่างสม่ำเสมอ
ส่วนผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจสามารถลดความเสี่ยงการเกิดภาวะ Bradycardia หรือภาวะหัวใจเต้นผิดปกติชนิดอื่นได้ โดยปฏิบัติตามแผนการรักษาและรับประทานยาตามแพทย์สั่งจ่ายอย่างเคร่งครัด รวมทั้งพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาในกรณีที่อาการป่วยแย่ลงหรือเกิดอาการป่วยอื่น ๆ ขึ้นมาใหม่
ที่มา :: https://www.pobpad.com/bradycardia
หัวใจเต้นช้าเกินไป
ตอบลบการออกกำลังกายทำให้หัวใจเราแข็งแรงขึ้น ทำให้การบีบตัวหัวใจแต่ละคร้้ง เลือดไปได้มากขึ้น จึงทำให้หัวใจเต้นช้าลงจากความฟิต แต่ถ้าเต้นช้าไป ลักษณะ 7 อย่างนี้อาจไม่ปกติ
7 หัวใจเต้นช้าแบบไม่ธรรมดาที่ต้องใส่ใจ
1. หัวใจเต้นช้า ต่ำกว่า 45 ขณะตื่น
2. หัวใจเต้นช้า ต่ำกว่า 35 ขณะหลับ
3. หัวใจเต้นช้า ต่ำกว่า 55 แต่มีอาการเวียนหัว หน้ามืด จะเป็นลม
4. หัวใจเต้นช้า และไม่เร็วขึ้นเวลาออกกำลังกายหนัก
5. หัวใจเต้นช้า ร่วมกับความดันที่ต่ำลง
6. หัวใจเต้นช้า และคลำชีพจรได้ว่าไม่เป็นจังหวะ
7. หัวใจหยุดปล่อยคลื่นไฟฟ้า (pause) นานเกิน 3 วินาที จากคลื่นหัวใจ
ถ้ามี 1 ใน 7 ข้อนี้ อาจไม่ใช่การเต้นช้าจากความฟิต แต่อาจมีโรคซ่อน หรือออกกำลังมากเกินไป จนหัวใจเต้นช้าผิดจังหวะ ควรปรึกษาแพทย์ ตรวจคลื่นหัวใจ หรือตรวจเพิ่มเติมค่ะ
หัวใจเต้นช้า (Bradycardia)
ตอบลบหัวใจเต้นช้า หรือ ชีพจรเต้นช้า หรือ อัตราการเต้นของหัวใจช้า(Bradycardia) ไม่ใช่โรค แต่เป็นอาการ /ภาวะ ที่เกิดได้ทั้งจากปัจจัยปกติทั่วไป และจากโรคต่างๆ โดยหัวใจเต้นช้าหมายถึงผู้ที่มีอัตราการเต้นของหัวใจ(Beat per minute ย่อว่า BPM)ต่ำกว่า 60 ครั้งต่อนาที โดยในภาวะปกติ หัวใจจะมีอัตราการเต้นอยู่ในช่วง 60-100 ครั้งต่อนาที
สาเหตุ: สาเหตุที่ทำให้หัวใจเต้นช้าในภาวะทั่วไปที่ไม่ใช่จากโรค ที่พบบ่อย คือ ในนักกีฬา, ในขณะที่นอนหลับสนิท, และในผู้สูงอายุ, นอกจากนี้ ยังพบว่า เป็นผลข้างเคียงจากยาบางชนิดได้ เช่น ยารักษาความดันโลหิตสูง ยารักษาทางจิตเวช
ส่วนสาเหตุหัวใจเต้นช้าที่เกิดจากโรค เช่น โรค/ภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ, โรคหัวใจที่มีความผิดปกติในกระแสไฟฟ้าหัวใจจากการทำงานของเนื้อเยื่อหัวใจส่วนที่เรียกว่า Sinus node ที่เรียกอาการหัวใจเต้นช้าจากสาเหตุนี้ว่า “หัวใจเต้นช้า Sinus Bradycardia”, โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ, โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ, ภาวะขาดสมดุลของเกลือแร่ในเลือด, โรคออโตอิมมูน
อาการ: อาการหัวใจเต้นช้า จะส่งผลให้หัวใจบีบตัวส่งเลือด/ออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆได้น้อยลง โดยเฉพาะอวัยวะสำคัญ เช่น สมอง และ หัวใจ ดังนั้นอาการหลักที่พบในหัวใจเต้นช้าคือจากสมองและหัวใจขาดออกซิเจน คือ เหนื่อยง่าย วิงเวียน มึนงง สับสน คล้ายจะเป็นลม หายใจลำบาก และถ้าอาการรุนแรง อาจทำให้หัวใจหยุดเต้นได้
การวินิจฉัย: แพทย์วินิจฉัยอาการหัวใจเต้นช้าได้ด้วยวิธีการเดียวกับการวินิจฉัยอาการหัวใจเต้นเร็ว ได้แก่ จาก ประวัติทางการแพทย์ อาการผู้ป่วย ประวัติโรคประจำตัว ประวัติการใช้ยาต่างๆ การตรวจวัดสัญญานชีพ การตรวจร่างกาย การตรวจฟังการเต้นของหัวใจด้วยหูฟัง การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และอาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติมตามดุลพินิจของแพทย์และอาการผู้ป่วย เช่น เอคโคหัวใจ เอกซเรย์ปอด
การรักษา: การรักษาอาการหัวใจเต้นช้า ได้แก่ การรักษาสาเหตุ และการใส่เครื่องกระตุ้นการเต้นหัวใจ(Pacemaker)
การพยากรณ์โรค: โดยทั่วไปการพยากรณ์โรคของอาการหัวใจเต้นช้าค่อนข้างดีจากการรักษาด้วยการผ่าตัดฝัง Pacemaker ในผนังหน้าอก หรือ ผนังหน้าท้อง
บรรณานุกรม
http://www.heart.org/HEARTORG/Conditions/Arrhythmia/AboutArrhythmia/Bradycardia-Slow-Heart-Rate_UCM_302016_Article.jsp#.WUzF5OuGN0w
https://en.wikipedia.org/wiki/Bradycardia
หัวใจเต้นช้ากว่าปกติ (Bradycardia)
ตอบลบหากคุณลองสังเกตตนเองแล้วพบว่า มีอาการวิงเวียนศีรษะ หายใจลำบาก และเจ็บหน้าอก อยู่บ่อยครั้ง ก็อาจเป็นไปได้ว่า คุณกำลังมีสัญญาณแรกเริ่มของภาวะ หัวใจเต้นช้ากว่าปกติ อยู่ก็เป็นได้
คำจำกัดความ
หัวใจเต้นช้ากว่าปกติ คืออะไร
หัวใจเต้นช้ากว่าปกติ (Bradycardia) คือ การที่อัตราการเต้นของหัวใจ อยู่ในระดับต่ำกว่า 60 ครั้งต่อนาที จนทำให้มีการสูบฉีดเลือดน้อยลง และส่งผลกระทบต่อการส่งออกซิเจนไปเลี้ยงยังบริเวณต่าง ๆ ในร่างกาย เมื่อเซลล์ในร่างกายได้รับออกซิเจนน้อยลง ก็อาจนำไปสู่การเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงได้ เช่น หัวใจล้มเหลว หัวใจวายเฉียบพลัน
หัวใจเต้นช้ากว่าปกติ พบได้บ่อยเพียงใด
ภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ สามารถเกิดขึ้นกับทุกคน ตั้งแต่ช่วงวัยเด็กไปจนถึงช่วงวัยผู้ใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ
อาการ
อาการของภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ
อาการที่สามารถพบได้ทั่วของ ภาวะหัวใจเต้นช้าปกติ มีดังนี้
- รู้สึกอ่อนเพลียง่าย
- เป็นลมบ่อยครั้ง
- วิงเวียนศีรษะ
- หายใจถี่
- รู้สึกหายใจลำบากขณะออกกำลังกาย หรือมีการเคลื่อนไหวต่าง ๆ
นอกจากนี้ หากคุณมีอาการเจ็บหน้าอก สีผิวเปลี่ยนสี ปวดหัวอย่างรุนแรง พร้อมกับอาการหัวใจผิดปกติ ควรเข้ารับการรักษาจากแพทย์ในทันที เนื่องจากมีความเสี่ยงที่อาจจะเกิดอันตราย หรือนำไปสู่อาการหัวใจหยุดเต้นได้
สาเหตุ
ตอบลบสาเหตุของภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ
สาตุเหตุที่อาจทำให้อัตราการเต้นหัวใจลดลง จนเกิดเป็น ภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ ได้แก่
- ผลข้างเคียงของยาบางชนิด
- ความไม่สมดุลสารเคมีในเลือด
- ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ
- อาการจากโรคหลอดเลือดสมอง
- ความเสียหายของโครงสร้างหัวใจตั้งแต่กำเนิด
- เนื้อเยื่อรอบหัวใจได้รับความเสียหาย
- ภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของ ภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ
ปัจจัยต่าง ๆ ที่สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ อาจมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต ดังต่อไปนี้
- การสูบบุหรี่
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก
- มีความเครียด และความวิตกกังวลสูง
การวินิจฉัยและการรักษาโรค
การวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญอาจทำการซักประวัติทางการแพทย์ และตรวจร่างกายเพื่อดูอาการเบื้องต้น ก่อนจะเริ่มดำเนินการตรวจเช็กคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อดูอัตราการเต้นของหัวใจ นอกจากนี้ แพทย์อาจต้องขอให้คุณมีการเคลื่อนไหว หรือการออกกำลังกายร่วมด้วย เพราะการเคลื่อนไหวจะเข้าไปช่วยกระตุ้นอัตราการการเต้นของหัวใจให้มีการทำงานมากขึ้น ส่งผลให้สามารถมองเห็นอัตราการเต้นหัวใจที่ชัดเจนว่ามีความผิดปกติใด ๆ หรือไม่
การรักษาภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ
การรักษา ภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยว่าผลลัพธ์ของอัตราการเต้นของหัวใจนั้นจะออกมาอยู่ในเกณฑ์ใด อีกทั้งยังพิจารณาการรักษาตามอาการที่คุณกำลังเป็น ด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้
- ปรับเปลี่ยนยาบางชนิดที่คุณใช้อยู่ โดยคุณจำเป็นต้องแจ้งให้แพทย์ทราบว่าคุณกำลังกินยาตัวใดอยู่บ้าง
- เครื่องกระตุ้นหัวใจแบบฝัง เป็นวิธีการนำเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าขนาดพอเหมาะ ไปฝังอยู่บริเวณใต้กระดูกไหปลาร้า เพื่อให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านเส้นเลือดเข้าไปกระตุ้นหัวใจ
หากคุณมีอาการอื่น ๆ แทรกซ้อนที่ส่งผลให้เกิดอาการรุนแรง แพทย์อาจจำเป็นต้องทำการวินิจฉัยถึงสาเหตุอีกครั้ง และอาจต้องมีการผ่าตัดเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับหัวใจอย่างเร่งด่วน เพราะมิเช่นนั้น อาจนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวได้
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์หรือการเยียวยาตนเองเพื่อป้องกันและรักษา ภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ
เพื่อช่วยรักษาให้อัตราการเต้นหัวใจอยู่ในระดับคงที่ คุณอาจจำเป็นต้องเริ่มหันมาดูแลตนเอง และงดทำพฤติกรรมที่เสี่ยงทำลายสุขภาพหัวใจ ดังนี้
- ออกกำลังกาย และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
- รักษาสมดุลของน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
- งดสูบบุหรี่
- ดื่มน้ำเปล่าในปริมาณที่เพียงพอต่อวัน
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- จัดการกับความเครียดด้วยเทคนิคที่สร้างประโยชน์ทางสุขภาพควบคู่ไปด้วย เช่น ฟังเพลง ออกกำลังกาย
โปรดเข้ารับการตรวจร่างกายอย่างเสมอ เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยง และทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที ก่อนสายเกินกว่าแก้ไข