Learn with Prin เรียนรู้ไปพร้อมกับน้องปริญญ์

จำหน่ายผลิตภัณฑ์ Legacy /Reborn Set ลด Fat ตัวช่วยลดไขมัน ลดน้ำหนัก แบบถูกวิธี 🔥 ติดต่อสอบถาม/สั่งซื้อ 📍 โทร ☎️ :: 084-110-5021 🌸 Line ID :: pla-prapasara 🌸 รับโปรโมชั่นสุดพิเศษเฉพาะทาง Line นะคะ 📍

วันศุกร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2566

ความเครียดมีอาการอย่างไร ? แบบไหนที่อันตรายต้องรีบพบแพทย์

 

ความเครียดมีอาการอย่างไร ? แบบไหนที่อันตรายต้องรีบพบแพทย์




ความเครียดคืออะไร ? อันตรายหรือไม่ ? ทำอย่างไรดี ?


ในบทความนี้มีข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับภาวะเครียด เพื่อเป็นแนวทางให้ท่านได้สังเกต และรู้เท่าทันความเครียด ตลอดจนสามารถจัดการความเครียดของตนเองให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้

ความเครียดคืออะไร ? จะสังเกตได้อย่างไรว่าตนเองมีความเครียด ? ความเครียดอันตรายแค่ไหน ? จะรับมือกับความเครียดได้อย่างไร ? และความเครียดแบบใดที่ควรพบแพทย์ ? ที่นี่มีคำตอบ



ความเครียดคืออะไร ?


ความเครียด คือ ภาวะทางอารมณ์ และความรู้สึกของบุคคลที่มีต่อสถานการณ์ โดยผู้ที่มีความเครียดมักรับรู้ได้ในลักษณะของความลำบากใจ ความไม่สบายใจ ความคับข้องใจต่อเหตุการณ์ หรือความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้างที่เป็นสาเหตุของความเครียด

ความเครียด เป็นภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยความเครียดในระดับที่พอดีนั้นช่วยให้บุคคลมีความตื่นตัว มีความกระตือรือร้น เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน แต่ในทางกลับกัน หากความเครียดมากเกินไป จะเกิดผลเสียต่อร่างกายและจิตใจได้ โดยความเครียดที่รุนแรง จะส่งผลต่อความสามารถในการดำเนินชีวิตและตัดสินใจของบุคคล และอาจเป็นอาการแสดงเริ่มแรกของความเจ็บป่วยทางจิตเวชได้

แม้ว่าความเครียดจะเป็นความรู้สึก หรือภาวะทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นในจิตใจ แต่ส่วนมากความเครียดนั้นสามารถแสดงออกให้เห็นได้อย่างชัดเจนผ่านอาการทางร่างกายด้วย


จะสังเกตได้อย่างไรว่าตนเองมีความเครียด?


เมื่อบุคคลอยู่ในภาวะเครียด ร่างกายจะเกิดปฏิกิริยาตอบสนองเพื่อเตรียมพร้อมที่จะตอบโต้ต่อเหตุการณ์ หรือสิ่งที่มาคุกคาม ซึ่งปฏิกิริยาตอบสนองนั้น อาจจะเป็นการ “สู้” หรือ “ถอยหนี” ต่อเหตุการณ์ หรือสิ่งที่มาคุกคามก็ได้ โดยจิตใจและร่างกายของผู้ที่มีความเครียดอาจเกิดความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ จนสามารถสังเกตได้ เช่น

ทางร่างกาย ซึ่งผู้ที่มีอาการเครียดจะสามารถรู้สึกได้ว่าชีพจรของตนเองเต้นเร็วและแรงขึ้น หายใจตื้นและถี่ขึ้น เหงื่อออกง่าย ความดันโลหิตสูงขึ้นกว่าปกติ รู้สึกปวดเมื่อยและตึงตามร่างกาย เนื่องจากกล้ามเนื้อหดเกร็ง และมีอาการท้องอืด หรืออาการทางระบบย่อยอาหารที่ผิดปรกติเนื่องจากเส้นเลือดบริเวณอวัยวะย่อยอาหารหดตัว

ทางพฤติกรรม ซึ่งผู้ที่มีอาการเครียดจะรู้สึกว่าตนเองไม่สามารถอยู่นิ่ง ๆ ได้ บางคนอาจเห็นได้ว่าผุดลุกผุดนั่ง นั่งไม่ติดที่ บางคนมีพฤติกรรมกัดฟัน กัดเล็บ กระทืบเท้า ดึงผม มีพฤติกรรมการนอนที่เปลี่ยนไป เช่น อาจนอนมากขึ้น หรือนอนน้อยลง

และทางจิตใจ ซึ่งผู้ที่มีอาการเครียดจะรู้สึกว่าตนเองขาดสมาธิ ตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ได้ลำบากขึ้น มีอาการหงุดหงิด รู้สึกหมดความมั่นใจ และเกิดความกลัวโดยที่ตนเองรู้สึกว่าไร้เหตุผลที่ต้องกลัวเช่นนั้น ในบางรายที่มีอาการเครียดจะมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย จนอาจแสดงออกให้เห็นโดยการเกิดพฤติกรรมก้าวร้าวขึ้นได้

โดยอาการเหล่านี้ ควรจะดีขึ้นเมื่อเหตุการณ์ที่เป็นสาเหตุของความเครียดนั้นผ่านไป โดยร่างกายและจิตใจจะสามารถกลับมาสู่สภาวะปกติได้

แต่ความเครียดที่เป็นอันตราย จะเป็นความเครียดที่เกิดขึ้นมากเกินความจำเป็น เกิดขึ้นบ่อย ๆ และยังคงอยู่ ไม่ลดหรือหายไปตามเรื่องราวสถานการณ์  หรือเกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุการณ์กระตุ้นที่ชัดเจน



ความเครียดอันตรายแค่ไหน กระทบต่อชีวิตอย่างไร ?


หากความเครียดของคุณเกิดขึ้นอย่างมาก และบ่อย ย่อมส่งผลเสีย ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพใจ

  • ผลต่อสุขภาพทางกาย :ความเครียดส่งผลต่ออาการไม่สบายทางกายต่าง เช่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และมีภาวะเครียดสะสมเป็นเวลานาน อาจก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา เช่น ความผิดปกติของหัวใจ ความดันโลหิตสูง ไมเกรน โรคกระเพาะ อาการท้องผูกท้องหรือท้องเสียบ่อย ๆ นอนไม่หลับ หอบหืด เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น
  • ผลต่อสุขภาพจิตใจ : ความเครียดที่เกิดขึ้นระยะยาวอาจนำไปสู่ โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคย้ำคิดย้ำทำ อาการกลัวแบบไร้เหตุผล อารมณ์ไม่มั่นคง และเปลี่ยนแปลงง่าย

สุขภาพการและจิตใจที่ได้รับผลกระทบจากความเครียดจะส่งผลให้ประสิทธิภาพในการเรียน การทำงานลดลง ความสัมพันธ์ต่อคนรอบข้าง ครอบครัวและบุคคลแวดล้อมเกิดปัญหาขึ้นตามมา

นับว่าความเครียดที่ไม่สามารถจัดการได้นั้น จะเป็นภัยคุกคามต่อการดำเนินชีวิตประจำวันเป็นอย่างมากทีเดียว


จะรับมือกับความเครียดได้อย่างไร ?


เราสามารถรับมือกับความเครียดที่เกิดขึ้นได้ด้วย ฝึกรับรู้ว่าร่างกาย อารมณ์จิตใจ และพฤติกรรมของตนเองมีความเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากความเครียดอย่างไร หากพบว่ามีลักษณะที่บ่งบอกถึงภาวะเครียด ให้พิจารณาถึงเหตุการณ์และเรื่องราวที่กระตุ้นให้เกิดความเครียด ปรับเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อเหตุการณ์ให้เป็นไปในทางบวก มองหาข้อดีของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มองหาสิ่งที่เป็นความหวัง ลงมือจัดการกับสิ่งที่สามารถแก้ไขจัดการได้ด้วยความมีสติ เช่น การเป็นตัวของตัวเอง ไม่เปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น การให้อภัย รวมถึงปล่อยวางในสิ่งที่ไม่สามารถแก้ไขได้

จัดการอารมณ์ที่เกิดขึ้นโดยลองเบี่ยงเบนความสนใจ เช่น ทำในสิ่งต่าง ๆ ในลักษณะที่สบาย ๆ หากิจกรรมอื่น ๆ ทำเพื่อคลายเครียด ลองพยายามปรับสภาพแวดล้อมให้สดชื่น สดใส เช่น จัดโต๊ะทำงาน จัดห้องนอนใหม่ รวมถึงปรับตัวเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ปรับทัศนคติให้บวกมากขึ้น สร้างสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน คนรักรวมถึงคนในครอบครัว

หากภาวะเครียดที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต อาจเลือกพบจิตแพทย์ เพื่อพูดคุยปรึกษา ทบทวน หาสาเหตุที่จริงของความเครียด และประเมินว่ามีโรคทางจิตเวชอื่นที่ต้องรักษาร่วมด้วยหรือไม่ ซึ่งอาจมีวิธีการรักษาอื่น ๆ ที่จิตแพทย์แนะนำ เช่น การรับประทานยา การทำจิตบำบัด การรักษาด้วยไฟฟ้า เป็นต้น


ความเครียดแบบใดที่ควรพบแพทย์ ?


ท่านควรปรึกษาจิตแพทย์ เมื่อท่านพบว่าตนเองไม่สามารถจัดการความเครียดได้ หรือเป็นอยู่นานติดต่อกันมากกว่า 2 สัปดาห์ หรือมีความรุนแรงมากจนกระทบต่อการใช้ชีวิต ส่งผลให้เกิดความผิดปรกติอื่น ๆ ตามมา เช่น อารมณ์แปรปรวนง่าย รู้สึกอ่อนเพลียไม่มีเรี่ยวแรง สมาธิไม่ดี นอนไม่หลับ หรือคิดวนเวียนถึงแต่การจบชีวิตตนเองจนทำให้รู้สึกทุกข์ทรมานอย่างมากในจิตใจ เพื่อรับการประเมิน และการรักษาต่อไป

ความเครียดเป็นภาวะปรกติ แต่ความเครียดที่รุนแรง เรื้อรัง ก็อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต และส่งผลต่อตนเอง และคนรอบข้าง การเลือกพบจิตแพทย์เพื่อปรึกษา และรับการบำบัด อาจเป็นอีกทางเลือกของการแก้ปัญหาอย่างถูกวิธี


#Stress

 

เอกสารอ้างอิง



15 ความคิดเห็น:

  1. อาการเครียดแบบนี้อยู่ขั้นไหนกันนะ

    ในขณะที่โลกต้องเผชิญกับปัญหาโรคระบาด ผู้คนมากมายย่อมได้รับผลกระทบทั้งทางร่างกาย และจิตใจ จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสังคมในตอนนี้กำลังถูกขับเคลื่อนด้วยแรงกดดัน และความเครียด บางคนอาจจะสามารถมีวิธีทำให้ตัวเองผ่อนคลาย และสามารถหายเครียดได้ แต่บางคนอาจจะจมอยู่กับความเครียดทำให้ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันต่าง ๆ ตามมา ดังนั้นเราจึงควรมารู้จักกับความเครียดว่าอาการที่เรากำลังเป็นอยู่นั้นเข้าข่ายความเครียดแบบไหนกัน



    ระดับของความเครียด


    ความเครียดนั้นมักมาจากการถูกกระตุ้นทางสังคม สิ่งแวดล้อม ภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ รวมถึงสภาพร่างกาย โดยความเครียดแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

    Mind stress กลุ่มความเครียดต่ำ มีความรู้สึกเบื่อหน่าย การตอบสนองเชื่องช้าลง ขาดแรงกระตุ้นในการดำเนินชีวิต
    Moderate Stress เครียดระดับปานกลาง เป็นความเครียดในระดับปกติ สามารถหากิจกรรมที่ช่วยให้หายเครียดได้
    High Stress เครียดระดับสูง เกิดจากความเครียดที่มีต่อเหตุการณ์รุนแรง ส่งผลให้เกิดความผิดปกติทางอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรม เช่น อารมณ์ฉุนเฉียวง่าย ปวดศีรษะ ปวดท้อง นอนไม่หลับ มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารเปลี่ยนไปจนมีผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน
    Severe Stress เครียดระดับรุนแรง กลุ่มความเครียดระดับสูงก่อให้เกิดความผิดปกติและเกิดโรคต่าง ๆ ตามมา อารมณ์แปรปรวนง่าย มีอาการทางจิต มีความบกพร่องในการใช้ชีวิตประจำวัน อาจมีอาการนานเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน หรือเป็นปี ซึ่งหากมีอาการในกลุ่มนี้ควรเข้าพบแพทย์


    สัญญาณของความเครียด


    ความเครียดมักส่งผลกระทบต่อร่างกาย และสุขภาพจิตของเรามากกว่าที่เราคิด โดยสามารถแบ่งสัญญาณเตือนของความเครียดออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

    กลุ่มที่ 1 Cognitive Symptoms ความเครียดมักจะส่งผลกระทบกับสมองเป็นประการแรก ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของสมองลดลง เช่น สมาธิสั้นลง มีปัญหาด้านความจำ ขี้หลงขี้ลืม การคิดแก้ไขปัญหาช้าลง เกิดความวิตกกังวลว่าตนเองจะทำผิดพลาด หวาดกลัวกับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น เมื่อสมองเราทำงานช้าลงจะทำให้ไม่เกิดความคิดสร้างสรรค์ และส่งผลต่อการตัดสินใจ หรือการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ช้าลงนั่นเอง
    กลุ่มที่ 2 Emotional Symptoms ความเครียดส่งผลต่ออารมณ์ ทำให้อารมณ์แปรปรวนไม่คงที่ บ้างฉุนเฉียว บ้างซึมเศร้า หรือบางคนอาจรู้สึกเหงา และโดดเดี่ยว เกิดการปลีกตัวออกจากสังคมและยิ่งทำให้เกิดอาการซึมเศร้าได้ง่ายขึ้นด้วย
    กลุ่มที่ 3 Physical Symptoms เป็นสัญญาณเตือนที่ชัดเจนที่สุด โดยผู้ที่มีความเครียดส่วนใหญ่มักจะเกิดอาการ เช่น ผมร่วง ปวดหัว หนังตากระตุก กินจุบจิบไม่หยุด เหงื่อออกง่าย ปวดเมื่อยตามร่างกาย หัวใจเต้นเร็วขึ้น คลื่นไส้อาเจียน ระบบขับถ่ายมีปัญหา และความต้องการทางเพศลดลง
    กลุ่มที่ 4 Behavioral Symptoms เป็นกลุ่มอาการที่ส่งผลต่อพฤติกรรม เช่น ปลีกตัวเองออกจากสังคม ไม่พบปะผู้คน นอนไม่หลับ มีพฤติกรรมใช้สารเสพติด บุหรี่ และแอลกอฮอล์มากขึ้น รู้สึกอ่อนเพลียและเหนื่อยล้า ทำผิดพลาดบ่อยแม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ตาม เพราะการรับรู้ของสมองทำงานได้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพนั่นเอง


    ทำอย่างไรเมื่อต้องเผชิญกับความเครียด


    สังเกตร่างกายของตนเองว่ามีความผิดปกติ หรือเกิดพฤติกรรมที่ผิดปกติหรือไม่
    เบี่ยงเบนความสนใจโดยการหากิจกรรมทำเพื่อคลายเครียด เช่น ทำงานบ้าน ออกกำลังกาย อ่านหนังสือ เล่นกีฬา หรือนั่งสมาธิ ออกไปเที่ยวนอกบ้าน เป็นต้น
    ปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้ดูสบายตา เช่น จัดห้องนอนใหม่ จัดโต๊ะ หรือจัดห้องทำงานใหม่
    ปรับเปลี่ยนทัศนคติให้คิดในแง่บวก และหมั่นฝึกทักษะการสื่อสาร และสร้างสัมพันธภาพกับเพื่อนร่วมงาน หรือคนรอบข้างให้มากขึ้น
    พูดคุยกับคนในครอบครัว คนรัก หรือเพื่อนสนิทเพื่อระบายความทุกข์ใจ


    ความเครียดมักเกิดขึ้นกับทุกคน การรู้ถึงสัญญาณ ความรุนแรงของโรค และรู้วิธีคลายเครียดอาจจะสามารถช่วยให้ป้องกันตัวเอง โดยเฉพาะความเครียดนั้นจะมีผลต่อสุขภาพทางจิต หากเรารู้จักจัดการคลายความเครียดจะสามารถช่วยให้ลดความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้



    แหล่งข้อมูลอ้างอิง : กรมสุขภาพจิต

    ตอบลบ
  2. เครียดสะสม ภาวะอันตรายทำลายสุขภาพ

    ความเครียด (Stress) เป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนในทุกเพศทุกวัย ปัจจุบันนี้พบว่า คนส่วนใหญ่มักมีอาการเครียดสะสม อันเนื่องมาจากการใช้ชีวิตที่ตึงเครียด บางรายมีความกดดันมาก และมีความคาดหวังในชีวิตสูงซึ่งพอไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวัง ทำให้มีอาการเครียดสะสมโดยไม่รู้ตัวได้เช่นกัน ในบางรายอาจจะเป็นโรคซึมเศร้า (Depressive disorder) หรือ โรควิตกกังวล (Anxiety disorders) ได้ในอนาคต

    สัญญาณของอาการเครียดสะสม

    เมื่อเรามีภาวะเครียดมาก ๆ จะทำให้สุขภาพร่างกายแย่ลงเรื่อย ๆ ผู้ที่เริ่มสงสัยว่าตนเองมีอาการเครียดสะสมหรือไม่ สามารถสังเกตตนเองได้จากพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เปลี่ยนไป ส่วนใหญ่จะมีอาการดังนี้

    พฤติกรรมการนอนที่เปลี่ยนไป เช่น นอนไม่หลับ ตื่นเร็วเกินไป หรือ ชอบตื่นกลางดึก
    พฤติกรรมทางอารมณ์ที่เปลี่ยนไป เช่น นิ่งเงียบ ไม่พูดคุย เบื่อหน่ายชีวิต วิตกกังวล และหน้าตาเศร้าหมอง ความต้องการทางเพศลดลง
    อาการเครียดที่แสดงออกทางกาย เช่น หายใจถี่ขึ้น หรือ หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว บางรายมีอาหารปวดหัวร่วม
    ผู้ที่มีความเครียดสะสมมาก ๆ อาจมีอาการเครียดจนอยากตาย
    ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อรู้สึกเครียด?

    จัดการความเครียดด้วยตัวคุณเอง คำแนะนำในการดูแลตนเองเมื่อมีภาวะเครียดสะสม

    พยายามมองโลกในแง่บวก วิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหา และแก้ปัญหาที่ต้นเหตุนั้น ๆ
    จัดสิ่งแวดล้อมรอบตัวใหม่ เช่น การจัดบ้านใหม่ หรือ โต๊ะทำงาน เพื่อลดอาการเบื่อหน่าย หรือ ความจำเจ
    บำบัดตัวเองง่าย ๆ ด้วยสิ่งที่ตนเองชอบ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง วาดภาพ ออกกำลังกาย
    ออกไปหาสถานที่ผ่อนคลาย เช่น ไปเที่ยวทะเล ไปเดินห้างสรรพสินค้า หรือ ไปสวนสาธารณะ
    พบปะเพื่อนฝูงหรือใช้เวลากับครอบครัว การที่เราสามารถพูดคุย หรือ ปรึกษาปัญหาที่เรากำลังเผชิญนั้น สามารถลดความเครียด ความกดดันในชีวิตได้

    การรักษาอาการเครียดสะสม

    ความเครียดสะสมเป็นภาวะที่สร้างความกังวลและรบกวนต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ในบางรายที่มีอาการเครียดสะสมมากๆ อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานและคนรอบข้างได้ การไปพบจิตแพทย์จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่หาทางออกจากภาวะเครียดสะสมไม่ได้ หลายคนมักเข้าใจว่าการไปพบจิตแพทย์ คือ เรามีภาวะจิตไม่ปกติ แต่ในความจริงแล้ว การไปพบจิตแพทย์เป็นทางออกที่ดีที่สุดที่ช่วยให้เราบรรเทาอาการเครียดสะสม ซึ่งจิตแพทย์จะให้คำปรึกษาและบำบัดให้เราอย่างถูกต้อง เพื่อคลายความเครียดอย่างถูกวิธีนั่นเอง

    เมื่อไรที่ควรปรึกษาแพทย์?

    หากคุณรู้สึกเครียด วิตกกังวล จนไม่สามารถควบคุมความรู้สึกเหล่านี้ได้ หรือมีความเครียดสะสมต่อเนื่อง เป็นระยะเวลนานจนไม่มีความสุข และมีอาการที่มีผลต่อชีวิตประจำวัน พบอาการทางกาย อาการทางอารมณ์ ควรปรึกษาพบแพทย์

    ยิ่งเครียด ยิ่งเสี่ยงโรค

    ภาวะเครียดสะสมส่งผลร้ายต่อสุขภาพ และก่อให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา โรคที่เกิดจากภาวะเครียดสะสม เช่น

    โรควิตกกังวล
    โรคกลัว (โฟเบีย)
    โรคแพนิค
    โรคเครียดที่มีอาการทางกาย
    โรคเครียดภวังค์
    โรคย้ำคิดย้ำทำ
    โรคซึมเศร้า
    โรคความดันโลหิตสูง
    โรคหัวใจ
    โรคเครียดลงกระเพาะ
    โรคนอนไม่หลับ
    โรคไมเกรน


    ตอบลบ
  3. ความเครียด (Stress)

    ความเครียด หรือ ภาวะเครียด เป็นการตอบสนองทางร่างกายและจิตใจต่อสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเป็นปฏิกิริยาตอบสนองตามธรรมชาติ การตอบสนองต่อความเครียดช่วยให้มนุษย์เรารู้จักปรับตัวและรู้สึกตื่นตัว

    ความเครียด หรือ ภาวะเครียด
    ความเครียด หรือ ภาวะเครียด เป็นการตอบสนองทางร่างกายและจิตใจต่อสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเป็นปฏิกิริยาตอบสนองตามธรรมชาติ การตอบสนองต่อความเครียดช่วยให้มนุษย์เรารู้จักปรับตัวและรู้สึกตื่นตัวเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเรารู้สึกเครียดกับการสอบที่จะมาถึง ร่างกายของเราอาจตอบสนองต่อความเครียดนั้นโดยทำให้เรารู้สึกตื่นตัว ไม่ง่วง นั่งอ่านหนังสือเตรียมสอบได้นานขึ้น อย่างไรก็ตามความเครียดอาจกลายเป็นปัญหาทางสุขภาพได้หากเราต้องเผชิญกับความเครียดเป็นเวลานาน โดยไม่มีเวลาได้หยุดผ่อนคลาย

    อาการเครียด
    ความเครียดเป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อประสบการณ์ที่เราเผชิญ ความเครียดมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของอัตราการเต้นของหัวใจ การหายใจ และการมองเห็นของคนเรา ระบบประสาทอัตโนมัติของร่างกายมีกลไก "การตอบสนองว่าจะสู้หรือจะหนี" เพื่อช่วยให้เราจัดการกับความเครียดในขณะนั้น อย่างไรก็ตามภาวะเครียดเรื้อรังจะทำให้ร่างกายเกิดการตอบสนองเช่นนี้อย่างไม่หยุดหย่อน ทำให้เรารู้สึกเหนื่อยล้าอยู่ตลอดเวลา และอาจเริ่มแสดงอาการทางร่างกาย จิตใจ และพฤติกรรมดังต่อไปนี้

    อาการเครียดทางด้านร่างกาย
    เจ็บหน้าอก
    หัวใจเต้นเร็ว
    นอนหลับยาก
    อ่อนเพลีย
    ปวดศีรษะ
    ปวดเมื่อยตามร่างกาย กล้ามเนื้อปวดเกร็ง นอนกัดฟัน
    มีปัญหาทางระบบทางเดินอาหาร
    เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
    ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
    อาการเครียดทางด้านจิตใจ
    รู้สึกเศร้า
    วิตกกังวล
    หงุดหงิดรำคาญ
    ซึมเศร้า
    คนที่มีภาวะเครียดเรื้อรังอาจพัฒนานิสัยที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น

    พฤติกรรมการกินอาหารผิดปกติ
    เล่นการพนัน
    ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
    ใช้ยาเสพติด
    ใช้เงินซื้อของตามอารมณ์


    ควรไปพบแพทย์เมื่อใด
    เป็นเรื่องปกติที่เราจะรู้สึกเครียด แต่ควรไปพบแพทย์หากรู้สึกว่าทุกสิ่งทุกอย่างท่วมท้น หรือเริ่มดื่มแอลกอฮอล์ ใช้สารเสพติด หรือคิดจะฆ่าตัวตายหรือทําร้ายตัวเอง แพทย์สามารถให้คําแนะนําถึงวิธีการจัดการกับความเครียดจากสถานการณ์ที่เราต้องเผชิญ

    การตรวจวินิจฉัยภาวะเครียด
    ความเครียดเป็นเรื่องส่วนบุคคล ซึ่งจะรู้สึกแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ไม่สามารถตรวจวัดได้ ผลกระทบของความเครียดที่มีต่อตัวเราเป็นคำบอกเล่าของเราเองทั้งสิ้น แพทย์จึงอาจขอให้ทําแบบสอบถามเพื่อประเมินความเครียดและผลกระทบของความเครียดที่มีต่อชีวิตของเรา หากมีความเครียดเรื้อรังและเริ่มมีอาการแสดงจากจากความเครียด เช่น ความดันโลหิตสูง แพทย์จะช่วยรักษาอาการเหล่านั้น พร้อมให้คําแนะนําเกี่ยวกับวิธีการจัดการกับความเครียด

    การรักษาอาการเครียด
    แม้ว่าเราจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเครียดได้ แต่ก็มีกลวิธีที่เราสามารถทำเพื่อช่วยให้ตัวเรารับมือกับความเครียดในแต่ละวันได้

    รับรู้ถึงความรู้สึกของตัวเอง หมั่นสังเกตตัวเองเมื่อรู้สึกเครียด หาเวลาไปออกกําลังกายเพราะการออกกําลังกายช่วยทำให้อารมณ์ดีขึ้นได้
    ชื่นชมยินดีกับสิ่งที่เราทำสําเร็จในแต่ละวันแม้ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ตาม
    ตั้งเป้าหมายระยะสั้นเพื่อช่วยให้รู้สึกว่าเราสามารถทําสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตให้สำเร็จลุล่วงได้
    หากรู้สึกวิตกกังวลมากเกินกว่าจะรับมือกับความเครียดได้ด้วยตนเอง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางออก

    การป้องกันความเครียด
    เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเครียดจนมากเกินไป เราสามารถลองปฏิบัติตัวตามวิธีต่าง ๆ ได้ดังนี้

    ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกําลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ สามารถช่วยให้ร่างกายรับมือกับความเครียดได้ดีขึ้น
    ฝึกเทคนิคการผ่อนคลาย เช่น การหายใจลึก ๆ การผ่อนคลายกล้ามเนื้อ การนั่งสมาธิ โยคะหรือไทเก็ก
    ไม่คิดเชิงลบ หมั่นคิดบวกและขอบคุณสิ่งดี ๆ เล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจําวัน
    เรียนรู้ที่จะปฏิเสธงานเพิ่มหากยุ่งหรืองานหนักเกินไป
    ทําสิ่งที่ทําให้เรายิ้มได้และเรียนรู้ที่จะยอมรับว่าเราไม่สามารถควบคุมทุกอย่างได้ดั่งใจ
    ติดต่อกับคนที่เรารัก เพื่อน หรือคนที่ทําให้เราหัวเราะได้ พวกเขาเหล่านี้สามารถเป็นแรงสนับสนุนจิตใจทำให้เราก้าวผ่านปัญหาไปได้ และทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว



    ตอบลบ
  4. เครียดสะสม เครียดไม่รู้ตัว อาการแบบไหนบ่งชี้ ควรดูแลตัวเองอย่างไรดี ?

    เช็คอาการเครียด แบบไหนต้องรีบรักษา รู้แนวทางป้องกัน และวิธีรักษาที่ถูกต้อง และหากมีอาการควรดูแลตนเองอย่างไร ที่นี่มีคำตอบ

    เช็คอาการเครียด พร้อมรู้แนวทางป้องกัน ก่อนเสียสุขภาพ
    ปัจจุบันนี้ คนส่วนมากดำเนินชีวิตภายใต้ความกดดัน ทำให้เกิดอาการเครียดสะสมโดยไม่รู้ตัว ซึ่งจะ นำไปสู่ความเจ็บป่วยทางจิตเวช หรือปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ ได้ เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล เพื่อป้องกัน และลดความเสี่ยงจากการมีความเครียดสะสม มาตรวจสอบกันว่า เรามีสัญญาณที่บ่งชี้ว่าเกิดอาการเครียดสะสมหรือไม่ จากบทความนี้

    เช็ค 7 สัญญาณของอาการเครียดไม่รู้ตัว
    ความเครียด สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะในแต่ละวันทุกคนต้องใช้ชีวิตที่เต็มไปด้วยความกดดัน แต่เมื่อใดที่ความกดดัน และความตึงเครียดนั้นไม่สามารถถูกจัดการได้ จะกลายเป็น ความเครียดสะสมที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว ส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต

    หากคุณมีอาการดังต่อไปนี้ ให้สงสัยว่าตนเองอาจมีความเครียดสะสมที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว

    รูปแบบการนอนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น นอนไม่หลับ นอนไม่อิ่มหลับไม่สนิท ตื่นเร็วเกินไป หรือ ตื่นกลางดึก และหลับต่อได้ยาก
    อารมณ์เปลี่ยนไป เช่น นิ่งเงียบ ไม่พูด เบื่อหน่ายชีวิต รู้สึกกังวล หรือหงุดหงิดง่าย รวมไปถึงอารมณ์ทางเพศลดลง
    ร่ายกายผิดปกติ เช่น เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก หายใจถี่ ๆ หัวใจเต็นเร็ว เหงื่อออกมากผิดปกติ ปวดหัว ปวดเมื่อยร่างกาย ระบบการย่อยอาหารและการขับถ่ายแปรปรวนโดยที่ไม่สามารถหาสาเหตุได้
    แยกตัวออกจากสังคม ไม่อยากพบปะผู้อื่น หรือเกิดความอึดอัดเป็นอย่างมาก เมื่อต้องพบปะผู้อื่นมากเกินกว่าที่เคยเป็น
    ความสามารถในการตัดสินใจ การทำงานลดลง ไม่มีสมาธิ ทำงานช้า
    มีความคิดวนเวียนว่าอยากจบชีวิตตนเอง จนกลัวว่าอาจไม่สามารถควบคุมได้
    สำหรับในคนที่ดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่อยู่แล้ว อาจพบว่าตนเองดื่มและสูบมากขึ้น
    รู้หรือไม่ว่า : ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต เผยว่า อัตราการฆ่าตัวตายในปี 2563 สูงขึ้นจนต้องเฝ้าระวัง ซึ่ง พบว่าสาเหตุสำคัญหนึ่งของการฆ่าตัวตาย คือ ความเครียดสะสมเรื่องภาวะปากท้องและเศรษฐกิจ

    โดย 1 ใน 3 ของผู้ที่สูญเสียจากการแพร่ระบาดของโควิดนั้น มาจากการฆ่าตัวตายเพราะเครียด จากพิษเศรษฐกิจ

    เมื่อมีความ “เครียด” ต้องดูแลตัวเองอย่างไร ?
    หากิจกรรมที่ทำให้ตนเองผ่อนคลาย ค้นหาสิ่งที่ชอบ และสบายใจ เช่น การดูหนัง ฟังเพลง วาดภาพ ออกกำลังกาย หรือการสูดกลิ่นน้ำมันหอมระเหย พาตนเองออกมาจากเรื่องเครียดสักระยะ
    ปรับความคิด พยายามมองโลกในแง่บวก ไม่จมอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากจนเกินไป วิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหา และแก้ปัญหาที่ต้นเหตุนั้น ๆ
    ปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมเท่าที่สามารถทำได้ อาจเป็นการปรับเปลี่ยนการตกแต่งที่อยู่อาศัย เช่น จัดบ้าน จัดโต๊ะทำงาน รวมถึงการออกไปผ่อนคลายตามสถานที่ต่าง ๆ
    จัดสรรเวลาการใช้ชีวิตในแต่ละวันให้สมดุล (work life balance) โดยจัดสรรเวลาสำหรับการทำงาน และใช้ชีวิตส่วนตัวเพื่อสิ่งที่เป็นคุณค่าของตนเองอย่างเหมาะสม จะช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น
    ในกรณีที่การจัดการด้วย 4 วิธีนี้แล้ว ไม่สามารถช่วยให้คุณจัดการกับความเครียดได้ รวมถึงความเครียดเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย จิตใจ กระทบต่อการดำเนินชีวิต การทำงานและคนรอบข้าง การปรึกษาจิตแพทย์เพื่อร่วมกันหาทางจัดการความเครียดที่เกิดขึ้นให้เหมาะสมกับตนเอง อาจเป็นทางเลือกที่ดีและเหมาะสม

    วิธีการรักษาภาวะเครียดสะสม เครียดไม่รู้ตัว
    บางครั้งความเครียดที่เกิดขึ้นอาจไม่สามารถรักษาให้หายได้ หากปัจจัยทางด้านจิตใจที่ส่งเสริมให้เกิดความเครียดขึ้นไม่ได้รับการดูแลรักษา เช่น กระบวนความคิด โรคจิตเวชอื่น ๆ ที่เกิดร่วม ลักษณะบุคลิกภาพส่วนบุคคล การรักษาและปรับเปลี่ยนปัจจัยเหล่านี้ด้วยวิธีการต่าง ๆ จะช่วยให้ความเครียดนั้นดีขึ้นได้

    การรักษาด้วยยา : เช่น การใช้ยาที่ลดอาการวิตกกังวล ซึมเศร้า ยาที่ช่วยให้นอนหลับพักผ่อนได้ รวมไปถึงยารักษาตามอาการที่คนไข้กำลังเผชิญ เช่น ยารักษาความแปรปรวนในทางเดินอาหาร ยาคลายกล้ามเนื้อ เป็นต้น
    การรักษาแบบไม่ใช้ยา: เช่น การพูดคุย ปรึกษา หรือทำจิตบำบัด รวมถึงการรักษาที่มีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น การกระตุ้นสมองด้วยไฟฟ้า
    ภาวะเครียดสะสม เครียดไม่รู้ตัว สามารถส่งผลต่อร่างกาย จิตใจ และพฤติกรรม หากพบว่าตนเองอาจมีภาวะเครียดสะสมที่ไม่สามารถจัดการได้ ควรปรึกษาจิตแพทย์เพื่อรับการประเมิน และการดูแลรักษา ให้เหมาะสมกับสาเหตุและปัญหาของแต่ละบุคคล

    เอกสารอ้างอิง

    ความเครียด และการแก้ปัญหาความเครียด
    5 วิธีจัดการความเครียดง่ายๆ ที่คุณเองก็ทำได้
    อยากแยกตัวจากสังคม! บ่งชี้ภาวะ “เครียดไม่รู้ตัว” สังเกตตัวเองเข้าข่ายไหม?


    ตอบลบ
  5. โรคเครียด
    ความหมาย โรคเครียด

    โรคเครียด (Acute Stress Disorder) คือ ภาวะที่ต้องเผชิญแรงกดดันจากเหตุการณ์ร้ายแรง ซึ่งภาวะดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการตอบสนองของร่างกายและจิตใจ ผู้ที่ผ่านเหตุการณ์ซึ่งก่อให้เกิดความเครียด จะเกิดอาการเครียดประมาณหนึ่งเดือน หากเกิดอาการนานกว่านั้นจะกลายเป็นโรคเครียดหลังเกิดเหตุสะเทือนขวัญ (Posttraumatic Stress Disorder: PTSD)

    โดยทั่วไปแล้ว เมื่อต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์อันตราย ร่างกายจะหลั่งสารสื่อประสาทที่ทำให้ร่างกายตอบสนองด้วยการสู้หรือหนี (Fight-or-Flight) ส่งผลให้หัวใจเต้นเร็ว หายใจถี่ขึ้น กล้ามเนื้อหดตัว และความดันโลหิตสูงขึ้น ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเครียดจะรู้สึกกลัว หวาดระแวง หรือตื่นตระหนกหลังเผชิญสถานการณ์อันตราย ทั้งนี้ อาจรู้สึกวิตกกังวล ว้าวุ่น และฟุ้งซ่าน หรือฝันร้ายเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม มนุษย์เราจะประสบภาวะเครียดจากสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป กล่าวคือ สถานการณ์บางอย่างอาจทำให้คนหนึ่งเกิดความเครียดได้ ในขณะที่อีกคนอาจรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวได้ และไม่รู้สึกเครียดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

    อาการของโรคเครียด

    ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเครียดมักเกิดอาการของโรคทันทีที่เผชิญสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียด โดยจะเกิดอาการของโรคเป็นเวลานานหลายวันหรือหลายสัปดาห์ อาการโรคเครียด มีดังนี้

    เห็นภาพเหตุการณ์ร้ายแรงซ้ำ ๆ ผู้ป่วยจะเห็นฝันร้าย หรือนึกถึงเหตุการณ์ร้ายแรงไม่ดีที่เคยเกิดขึ้นซ้ำ ๆ อยู่เสมอ
    อารมณ์ขุ่นมัว อารมณ์หรือความรู้สึกของผู้ป่วยโรคเครียดมักแสดงออกมาในเชิงลบ ผู้ป่วยจะรู้สึกอารมณ์ไม่ดี มีความทุกข์ ไม่ร่าเริงแจ่มใสหรือรู้สึกไม่มีความสุข
    มีพฤติกรรมแยกตัวออกมา ผู้ป่วยจะเกิดหลงลืมมึนงง ไม่มีสติหรือไม่รับรู้การมีอยู่ของตัวเอง หรือรู้สึกว่าเวลาเดินช้าลง
    หลีกเลี่ยงสิ่งต่าง ๆ ผู้ป่วยจะหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้นึกถึงเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียด ไม่ว่าจะเป็นผู้คน สถานที่ สิ่งของ กิจกรรม หรือบทสนทนาที่เกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ
    ไวต่อสิ่งเร้า ผู้ป่วยจะนอนหลับยาก โมโหหรือก้าวร้าว ไม่มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้
    ทั้งนี้ โดยทั่วไป มนุษย์เรามักเกิดความเครียดจากการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งความรู้สึกดังกลาวอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของร่างกายและอารมณ์บ้าง ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ความรู้สึก และพฤติกรรม ดังนี้

    ความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย
    กล้ามเนื้อหดตัว ส่งผลให้ปวดหลัง เจ็บขากรรไกร รวมทั้งมีปัญหาเกี่ยวกับเอ็นตามกล้ามเนื้อ
    ร่างกายตื่นตัวมาก ส่งผลให้ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น เหงื่อออกที่ฝ่ามือ มือเท้าเย็น เวียนศีรษะ ปวดไมเกรน หายใจไม่สุด และเจ็บหน้าอก
    อ่อนเพลีย
    แรงขับทางเพศลดลง
    ปวดท้อง หรือรู้สึกไม่สบายท้อง ซึ่งเกิดจากปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เช่น กรดไหลย้อน กรดในกระเพาะอาหาร ท้องอืด ท้องร่วง หรือท้องผูก
    มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ
    ความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ความรู้สึก
    วิตกกังวลและฟุ้งซ่าน
    รู้สึกกดดันอยู่เสมอ รวมทั้งตื่นตัวได้ง่ายกว่าปกติ
    ไม่มีสมาธิ หรือหมดแรงจูงใจในการทำสิ่งต่าง ๆ
    ซึมเศร้า
    อารมณ์แปรปรวนง่าย
    ความเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม
    รับประทานอาหารมากขึ้นหรือน้อยลงกว่าปกติ
    มักโกรธและอาละวาดได้ง่าย
    สูบบุหรี่ หรือใช้สารเสพติดอื่น ๆ
    ไม่เข้าสังคม ไม่พบปะผู้คน รวมทั้งไม่สนใจสิ่งรอบตัว
    ทำกิจกรรมต่าง ๆ หรือออกกำลังกายเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง
    สาเหตุโรคเครียด

    โรคเครียดมีสาเหตุมาจากการพบเจอหรือรับรู้เหตุการณ์อันตรายที่ร้ายแรงมาก โดยเหตุการณ์นั้นทำให้รู้สึกกลัว ตื่นตระหนก หรือรู้สึกสะเทือนขวัญ เช่น การประสบอุบัติเหตุจนเกือบเสียชีวิต การได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง รวมทั้งทราบข่าวการเสียชีวิต ประสบอุบัติเหตุ หรือการป่วยร้ายแรงของคนในครอบครัวหรือเพื่อนสนิท ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่ทำให้เกิดโรคเครียดซึ่งพบได้ทั่วไปนั้น มักเป็นเหตุการณ์เกี่ยวกับการออกรบของทหาร ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกโจรปล้น ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือทราบข่าวร้ายอย่างกะทันหันโดยไม่ทันตั้งตัว นอกจากนี้ โรคเครียดยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ด้วย โดยผู้ที่เสียงป่วยเป็นโรคเครียดได้สูง มักมีลักษณะ ดังนี้

    เคยเผชิญเหตุการณ์อันตรายอย่างรุนแรงในอดีต
    มีประวัติป่วยเป็นโรคเครียดหรือภาวะเครียดหลังเกิดเหตุสะเทือนขวัญ
    มีประวัติประสบปัญหาสุขภาพจิตบางอย่าง
    มีประวัติว่าเกิดอาการของโรคดิสโซสิเอทีฟเมื่อเผชิญเหตุการณ์อันตราย เช่น หลงลืมตัวเองหรือสิ่งต่าง ๆ อารมณ์แปรปรวนกะทันหัน วิตกกังวลหรือรู้สึกซึมเศร้า ไม่มีสมาธิ เป็นต้น


    ตอบลบ
  6. การวินิจฉัยโรคเครียด

    ผู้ที่ผ่านการเผชิญเหตุการณ์ร้ายแรง อาจเกิดอาการของโรคเครียดได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เกิดอาการดังกล่าวควรไปพบแพทย์ทั่วไปหรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต เพื่อรับการตรวจและวินิจฉัยสาเหตุ โดยแพทย์จะสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ได้พบหรือได้รับรู้ รวมทั้งสอบถามอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นของผู้ป่วย ทั้งนี้ เมื่อได้รับการตรวจแล้ว แพทย์อาจวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการป่วยว่า เกิดจากสาเหตุอื่นหรือไม่ เช่น การใช้สารเสพติด ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางอย่าง ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ หรือโรคทางจิตเวชอื่น ๆ หากอาการที่ผู้ป่วยเป็นไม่ได้เกิดจากสาเหตุอื่น ก็แสดงว่าอาการดังกล่าวอาจเกิดจากโรคเครียด

    การรักษาโรคเครียด

    วิธีรักษาโรคเครียดคือการรับมืออาการของโรคที่เกิดขึ้นเมื่อต้องเผชิญสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียด ผู้ป่วยควรเข้าใจสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าว และพูดคุยกับครอบครัวหรือเพื่อนเพื่อระบายความเครียดอย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่เกิดอาการรุนแรงหรือเกิดความเครียดเรื้อรัง จำเป็นต้องเข้ารับการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรง ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

    ปรึกษาแพทย์ การปรึกษาจิตแพทย์ถือเป็นวิธีรักษาโรคเครียดที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยรักษาผู้ป่วยโรคเครียดที่เกิดอาการรุนแรงและเป็นมานาน โดยแพทย์จะช่วยให้ผู้ป่วยรับมือกับสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียด รวมทั้งช่วยให้ผู้ป่วยจัดการอาการของโรคที่เกิดขึ้นได้
    บำบัดความคิดและพฤติกรรม ผู้ป่วยโรคเครียดที่เกิดความวิตกกังวลและอาการไม่ดีขึ้น จะได้รับการรักษาด้วยวิธีบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioural Therapy: CBT) การบำบัดความคิดและพฤติกรรมเป็นวิธีจิตบำบัดที่มีแนวคิดว่าความคิดบางอย่างของผู้ป่วยส่งผลต่อปัญหาสุขภาพจิต ผู้ป่วยโรคเครียดอาจได้รับการบำบัดระยะสั้น โดยแพทย์จะพูดคุยเกี่ยวกับความรู้สึกและความคิดของผู้ป่วย รวมทั้งช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจว่าความคิดบางอย่างนั้นไม่ถูกต้อง และปรับทัศนคติของผู้ป่วยที่มีต่อสิ่งต่าง ๆ ให้มองทุกอย่างได้ถูกต้องและตรงตามความเป็นจริง
    ใช้ยารักษา แพทย์อาจจ่ายยารักษาโรคเครียดให้แก่ผู้ป่วยบางราย โดยผู้ป่วยมักจะได้รับการรักษาด้วยยาเป็นระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อบรรเทาอาการปวดของร่างกาย ปัญหาการนอนหลับ หรืออาการซึมเศร้า โดยยาที่ใช้รักษาโรคเครียด ได้แก่
    เบต้า บล็อกเกอร์ (Beta-Blocker) ยานี้จะช่วยบรรเทาอาการป่วยทางร่างกายซึ่งเกิดจากการหลั่งฮอร์โมนความเครียดออกมา เช่น อาการหัวใจเต้นเร็ว ผู้ป่วยรับประทานเมื่อเกิดอาการป่วย เนื่องจากเบต้า บล็อกเกอร์ไม่จัดอยู่ในกลุ่มยาระงับประสาท จึงไม่ก่อให้เกิดอาการง่วง ส่งผลต่อการทำงานต่าง ๆ หรือทำให้ผู้ป่วยเสพติด
    ไดอะซีแพม (Diazepam) ยาตัวนี้จัดอยู่ในกลุ่มยาเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiapines) ซึ่งเป็นยาระงับประสาท แพทย์ไม่นิยมนำมาใช้รักษาผู้ป่วย เว้นแต่บางกรณีที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาไดอะซีแพม ซึ่งจะใช้รักษาเป็นระยะสั้นเท่านั้น ทั้งนี้ ยาไดอะซีแพมอาจทำให้ผู้ป่วยเสพติดยา และประสิทธิภาพในการรักษาเสื่อมลงหากผู้ป่วยใช้ยาดังกล่าวเป็นเวลานาน
    นอกจากนี้ แพทย์อาจจ่ายยาอื่น ๆ เพื่อบรรเทาอาการของโรค เช่น ยาระงับอาการวิตกกังวล ยาต้านเศร้ากลุ่มเอสเอสอาร์ไอ (Selective Serotonin Reuptake Inhibitors: SSRIs) และยาต้านซึมเศร้ากลุ่มอื่น ๆ หรือรักษาจิตบำบัดด้วยการสะกดจิต (Hypnotherapy) ซึ่งพบในการรักษาไม่มากนัก ส่วนผู้ป่วยที่เสี่ยงฆ่าตัวตายหรือมีแนวโน้มทำร้ายผู้อื่น จะต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลและได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด


    ตอบลบ
  7. ภาวะแทรกซ้อนของโรคเครียด

    ผู้ที่เกิดความเครียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นประจำควรดูแลตัวเอง โดยหากิจกรรมอย่างอื่นทำยามว่าง เพื่อให้ตนเองรู้สึกผ่อนคลาย ทั้งนี้ ผู้ที่เกิดความเครียดเรื้อรังเป็นเวลานาน อาจประสบปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมาได้ ดังนี้

    โรคเครียดหลังเกิดเหตุสะเทือนขวัญ ผู้ป่วยโรคเครียดบางรายอาจมีอาการของโรคนานกว่า 1 เดือน โดยอาการเครียดจะรุนแรงขึ้นและทำให้ดำเนินชีวิตตามปกติได้ยาก ซึ่งอาการดังกล่าวจะทำให้ป่วยเป็นโรคเครียดหลังเกิดเหตุสะเทือนขวัญ ผู้ป่วยควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษา ซึ่งจะช่วยลดโอกาสเสี่ยงไม่ทำให้อาการของโรคแย่ลง ทั้งนี้ ผู้ป่วยภาวะเครียดหลังเกิดเหตุสะเทือนขวัญร้อยละ 50 รักษาให้หายได้ภายใน 6 เดือน ในขณะที่ผู้ป่วยรายอื่นอาจประสบภาวะดังกล่าวนานหลายปี
    ปัญหาสุขภาพจิตต่าง ๆ ผู้ป่วยโรคเครียดที่ไม่ได้รับการรักษา และมีอาการของโรคเรื้อรังอาจมีปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ ได้ เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล หรือบุคลิกภาพแปรปรวน


    การป้องกันโรคเครียด

    โรคเครียดเป็นปัญหาสุขภาพที่ป้องกันได้ยาก เนื่องจากสถานการณ์อันตรายอันเป็นสาเหตุของโรคเครียดนั้น ควบคุมไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคเครียดดูแลตนเองและจัดการอาการของโรคไม่ให้แย่ลงได้ โดยปฏิบัติ ดังนี้

    หลังจากเผชิญสถานการณ์ร้ายแรง ต้องรีบเข้ารับการรักษาจากแพทย์ เพื่อช่วยลดโอกาสป่วยเป็นโรคเครียด
    ผู้ที่ประกอบอาชีพซึ่งเสี่ยงเผชิญสถานการณ์อันตราย เช่น ทหาร อาจต้องเข้ารับการฝึกซ้อมรับมือเหตุการณ์อันตรายและปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อเตรียมตัวรับมือกับเหตุการณ์ดังกล่าวและลดโอกาสเสี่ยงป่วยเป็นโรคเครียด
    ออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่เคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอ
    ฝึกหายใจลึก ๆ ทำสมาธิ เล่นโยคะ หรือนวด เพื่อให้ร่างกายผ่อนคลาย รวมทั้งทำจิตใจให้แจ่มใส
    พบปะสังสรรค์กับเพื่อน หรือพูดคุยกับครอบครัว
    หางานอดิเรกทำในยามว่าง เช่น อ่านหนังสือ หรือฟังเพลง
    นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รวมทั้งรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบถ้วน
    หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ รวมทั้งงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน หรือใช้สารเสพติดอื่น ๆ


    ตอบลบ
  8. ความเครียด รู้ให้ทันก่อนจะสายเกินแก้

    แรงกดดันในชีวิตประจำวันส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่าความเครียดโดยความเครียดเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ความเครียด ถือได้ว่าเป็นภาวะที่ต้องให้ความใส่ใจเพราะไม่ได้เห็นได้ชัดเจนเหมือนอาการบาดเจ็บภายนอกร่างกาย จึงทำให้มีวิธีป้องกันและดูแลการรักษาซับซ้อนขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้นควรมาทำความรู้จักกับความเครียดให้มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อหาวิธีป้องกันและรักษาให้ถูกวิธี

    ความเครียดเกิดจากอะไร ?

    เป็นภาวะที่ร่างกายเกิดการปรับตัวไม่ได้โดยจะเกิดขึ้นหลังจากเจอกับความขัดแย้งหรือมีสิ่งที่มากระทบกับร่างกายและจิตใจ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน สาเหตุของความเครียดเกิดขึ้นได้จากหลายเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน เช่น การทำงาน การเรียน ปัญหาครอบครัว

    ปัจจัยที่ทำให้เกิด ความเครียด
    ความเครียดสามารถแบ่งปัจจัยในการเกิดได้ทั้งหมด 2 ปัจจัยใหญ่ ๆ คือ

    ปัจจัยภายใน
    เกิดจากความรู้สึกภายในร่างกายและจิตใจของตัวเองอย่างการมีโรคประจำตัว เช่น โรคซึมเศร้าหรือโรคทางจิตเวช ผู้ที่มีเรื่องกระทบกระเทือนจิตใจมาเป็นเวลานาน หรือบุคลิกภาพบางอย่างเช่น มีความวิตกกังวลมาก
    ปัจจัยภายนอก
    เกิดจากสภาพแวดล้อมรอบตัว แบ่งออกได้ 4 เรื่องหลัก ๆ ดังนี้
    การทำงาน
    เกิดความกดดันในการทำงานที่มาจากหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงาน การแข่งขันในการทำงานที่สูงทั้งในเรื่องเวลาที่เร่งรีบ การเข้ากันไม่ได้กับเพื่อนร่วมงาน รวมไปถึงแนวทางในการปฏิบัติงานที่ไม่เหมาะกับตัวบุคคล
    ความสัมพันธ์
    ความเครียดจากความสัมพันธ์ในที่นี้เป็นความสัมพันธ์ทั้งคนรัก คู่ชีวิต และความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ทอาจจะเป็นปัญหาเล็กๆแต่เรื้อรังกันมานานหรือเป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่สามารถหาทางออกได้ รวมถึงความกดดันในเรื่องการเงินในครอบครัว ซึ่งท้ายที่สุดอาจนำไปสู่ความแตกแยกของความสัมพันธ์ได้
    ปัญหาสุขภาพ
    ความเครียดที่เกิดจากโรคประจำตัวที่รักษาไม่หายหรือรักษามานานแล้วไม่ดีขึ้น ทำให้เกิดความวิตกกังวลและคิดมาก อาการต่างๆที่รบกวนชีวิตประจำวัน รวมถึงอาการที่นอนไม่หลับ หรือหลับ ๆ ตื่น ๆ ทำให้ร่างกายพักผ่อนได้ไม่เพียงพอ จนเกิดปัญหาต่อเนื่องได้
    การเปลี่ยนแปลงในชีวิต
    เกิดจากการเจอเหตุการณ์ในชีวิตที่เปลี่ยนแปลงกะทันหันหรือไม่ทันได้ตั้งตัว เช่น โดนไล่ออกจากงาน คนในครอบครัวเจ็บป่วย คนในครอบครัวหรือคนรักเสียชีวิต ส่งผลให้เกิดความเครียดมากขึ้นได้เช่นกัน


    ตอบลบ
  9. ความเครียดจากการทำงาน เกิดขึ้นจากอะไร ?
    ต้นเหตุที่ทำให้เกิดความเครียด เกิดจากวิธีการทำงานบางรูปแบบ ดังนี้


    กดดันตัวเอง

    งานที่ออกมาต้องดีที่สุด
    ทำงานทั้งวันทั้งคืน
    วิธีการแก้ไขปัญหา คือ

    แบ่งเวลาการทำงานให้ดี โดยการแบ่งเวลาในการทำงาน และเวลาในการพักผ่อนให้เหมาะสม
    จัดลำดับการทำงานให้เป็นสัดส่วน แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบให้ชัดเจน และเป็นลำดับขั้นตอน และวางความคาดหวังให้สมดุลระหว่างเวลาและปริมาณงาน
    รู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเอง เพื่อช่วยให้จัดการแก้ไขอารมณ์ตัวเองได้ดีขึ้น และสามารถนำไปแก้ไขปัญหาในเรื่องการทำงานได้อีกด้วย


    ผลกระทบที่เกิดจาก ความเครียด

    ด้านร่างกาย ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บป่วย เช่น ปวดหัว ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน โรคกระเพาะ ประจำเดือนมาไม่ปกติ ปวดกล้ามเนื้อ ความดันโลหิตสูง เส้นเลือดในสมองแตก ภูมิต้านทานของร่างกายลดลง ทำให้เกิดปัญหาการเจ็บป่วยจากการติดเชื้อได้ง่าย
    ด้านจิตใจและอารมณ์ ทำให้เกิดอารมณ์แปรปรวน อารมณ์ร้าย หรือมีอาการซึมเศร้า โดยในจิตใจเต็มไปด้วยความวิตกกังวล หดหู่ ซึมเศร้า หงุดหงิดง่าย รวมไปถึงความรู้สึกขาดความภูมิใจในตนเอง ขาดสมาธิ
    ด้านพฤติกรรมในการใช้ชีวิต เช่น เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ร้องไห้ง่าย ไม่อยากทำอะไร ขาดความอดทน เบื่อง่าย ประสิทธิภาพในการทำงานน้อยลง เริ่มปลีกตัวจากสังคม ไม่ดูแลตัวเอง บางคนอาจใช้ความรุนแรงทำร้ายผู้อื่น โดยหากเกิดอาการเหล่านี้หลายคนจะใช้วิธีระบายความเครียดด้วยการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ใช้ยานอนหลับ หรือใช้สารเสพติด ซึ่งส่งผลให้สุขภาพแย่ลงในระยะยาวได้ด้วยเช่นกัน


    วิธีการรักษาอาการที่เกิดจาก ความเครียด

    ปรับเปลี่ยนความคิด
    ปล่อยวางในเรื่องที่ต้องเจอ ให้รู้ตัวว่าคิดว่าเรื่องอะไรที่ทำให้ไม่สบายใจ จากนั้นให้กลับมามีสมาธิอยู่กับสิ่งที่กำลังทำอยู่ตรงหน้าก่อน
    ดูแลรักษาสุขภาพ
    ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
    ออกกำลังกายอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละ 30 นาที ทำให้ช่วยบรรเทาอาการเครียดสะสมได้


    หลีกเลี่ยงสารเสพติด

    การเสพสิ่งเสพติดในขณะที่เกิดความเครียด อาจจะช่วยบรรเทาได้ช่วงขณะหนึ่ง แต่ส่งผลเสียต่อร่างกายเป็นอย่างมาก เช่น เหล้า บุหรี่ หรือสารเสพติดอื่น ๆ เช่น ยาบ้า กัญชา

    นอนหลับให้เพียงพอ
    การนอนหลับพักผ่อนให้เหมาะสมกับที่ร่างกายต้องการ ทำให้ร่างกายได้ผ่อนคลายความเครียดและอารมณ์แจ่มใสขึ้น

    รับประทานอาหารมีประโยชน์
    การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์นอกจากจะช่วยทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังช่วยเสริมให้สภาพจิตใจดีขึ้นอีกด้วย



    ข้อมูลจาก

    อ. นพ.จาตุรงค์ ศิริเฑียรทอง

    ภาควิชาจิตเวชศาสตร์


    ตอบลบ
  10. โรคเครียด กับการแสดงออกทางด้านอารมณ์และพฤติกรรม
    โรคเครียด
    โรคเครียด สามารถเกิดได้ทุกแห่งทุกเวลาอาจจะเกิดจากสาเหตุภายนอก เช่น การย้ายบ้าน การเปลี่ยนงาน ความเจ็บป่วย การหย่าร้าง ภาวะว่างงานความสัมพันธ์กับเพื่อน ครอบครัว หรืออาจจะเกิดจากภายในผู้ป่วยเอง เช่นความต้องการเรียนดี ความต้องการเป็นหนึ่งหรือความเจ็บป่วย ความเครียดเป็นระบบเตือนภัยของร่างกายให้เตรียมพร้อมที่กระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง การมีความเครียดน้อยเกินไปและมากเกินไปไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ ส่วนใหญ่เข้าใจว่าความเครียดเป็นสิ่งไม่ดีมันก่อให้เกิดอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ หัวใจเต้นเร็ว แน่นท้อง มือเท้าเย็น แต่ความเครียดก็มีส่วนดีเช่น ความตื่นเต้นความท้าทายและความสนุก สรุปแล้วความเครียดคือสิ่งที่มาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชีวิตซึ่งมี่ทั้งผลดีและผลเสีย


    ชนิดของความเครียด
    Acute Stress คือความเครียดที่เกิดขึ้นทันทีและร่างกายก็ตอบสนองต่อความเครียดนั้นทันทีเหมือนกันโดยมีการหลั่งฮอร์โมนความเครียด เมื่อความเครียดหายไปร่างกายก็จะกลับสู่ปกติเหมือนเดิมฮอร์โมนก็จะกลับสู่ปกติ ตัวอย่างความเครียด เช่น เสียง อากาศเย็นหรือร้อน ชุมชนที่คนมากๆ ความกลัว ตกใจ หิวข้าว เป็นต้น
    Chronic Stress หรือความเครียดเรื้อรังเป็นความเครียดที่เกิดขึ้นทุกวันและร่างกายไม่สามารถตอบสนองหรือแสดงออกต่อความเครียดนั้น ซึ่งเมื่อนานวันเข้าความเครียดนั้นก็จะสะสมเป็นความเครียดเรื้อรัง ตัวอย่างความเครียดเรื้อรัง เช่น ความเครียดที่ทำงาน ความเครียดที่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ความเครียดของแม่บ้าน และความเหงา

    ผลเสียต่อสุขภาพ
    ความเครียดเป็นสิ่งปกติที่สามารถพบได้ทุกวัน หากความเครียดนั้นเกิดจากความกลัวหรืออันตราย ฮอร์โมนที่หลั่งออกมาจะเตรียมให้ร่างกายพร้อมที่จะต่อสู้ อาการทีปรากฏก็เป็นเพียงทางกาย เช่นความดันโลหิตสูงใจสั่น แต่สำหรับชีวิตประจำวันจะมีสักกี่คนที่จะทราบว่าเราได้รับความเครียดโดยที่เราไม่รู้ตัวหรือไม่มีทางหลีกเลี่ยง การที่มีความเครียดสะสมเรื้อรังทำให้เกิดอาการทางกาย และทางอารมณ์



    โรคทางกายที่เกิดจากความเครียด โรคทางเดินอาหาร โรคปวดศีรษะไมเกรน โรคปวดหลัง โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ ติดสุรา โรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด ภูมิคุ้มกันต่ำลง เป็นหวัดง่าย อุบัติเหตุขณะทำงาน การฆ่าตัวตายและมะเร็ง



    ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคที่เกิดจากความเครียด คุณอาการเหล่านี้หรือไม่ อาการแสดงออกทางร่างกาย คือ มึนงง ปวดตามกล้ามเนื้อ กัดฟัน ปวดศีรษะ แน่นท้อง เบื่ออาหาร นอนหลับยาก หัวใจเต้นเร็ว หูอื้อ มือเย็น อ่อนเพลีย ท้องร่วง ท้องผูก จุกท้อง มึนงง เสียงดังให้หู คลื่นไส้อาเจียน หายใจไม่อิ่ม ปวดท้อง อาการแสดงออกทางด้านจิตใจ คือ วิตกกังวล ตัดสินใจไม่ดี ขี้ลืม สมาธิสั้น ไม่มีความคิดริเริ่ม ความจำไม่ดี ไม่สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ



    อาการแสดงออกทางด้านอารมณ์ คือโกรธง่าย วิตกกังวล ร้องไห้ ซึมเศร้า ท้อแท้ หงุดหงิด ซึมเศร้า มองโลกในแง่ร้าย นอนไม่หลับ กัดเล็บหรือดึงผมตัวเอง



    อาการแสดงทางพฤติกรรม คือ รับประทานอาหารเก่ง ติดบุหรี่ สุรา โผงผาง เปลี่ยนงานบ่อย แยกตัวจากผู้อื่น อาการของผู้ที่มีภาวะที่เครียดมาก คือ อ่อนแรงไม่อยากจะทำอะไร มีอาการปวดตามตัว ปวดศีรษะ วิตกกังวล มีปัญหาเรื่องการนอน ไม่มีความสุขกับชีวิต เป็นโรคซึมเศร้า เมื่อใดควรปรึกษาแพทย์

    เมื่อคุณรู้สึกเหมือนคนหลงทาง หาทางแก้ไขไม่เจอ
    เมื่อคุณกังวลมากเกินกว่าเหตุ และไม่สามารถควบคุมตัวเองได้
    เมื่ออาการของความเครียดมีผลต่อคุณภาพชีวิต เช่น การนอน การรับประทานอาหาร งานที่ทำ ความสัมพันธ์ของคุณกับคนรอบข้าง


    ขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลวิภาวดี

    ตอบลบ
  11. ต้องเครียดแค่ไหน? ต้องไปหาหมอ

    จากสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม การดำเนินชีวิตในปัจจุบัน ทำให้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าตอนนี้ผู้คนกำลังถูกขับเคลื่อนด้วยแรงกดดัน และความเครียดอยู่บ่อยครั้ง บางรายสามารถจัดการความเครียดเหล่านั้นได้ แต่บางรายกลับไม่สามารถจัดการกับความไม่สบายใจหรือความเครียดที่เผชิญอยู่ได้ ก่อให้เกิดความไม่สบายทางอารมณ์ และจิตใจ เป็นอาการป่วยทางจิตในระยะเริ่มแรก ซึ่งความเครียดนี้เองมักก่อให้เกิดอาการผิดปกติทั้งทางร่างกาย และจิตใจ อาทิ ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ มึนงง สมาธิไม่ดี กระสับกระส่าย อารมณ์เศร้า เบื่อจนไม่อยากทำอะไรเลย ซึ่งอาการเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันตามมา แล้วเคยสงสัยไหมว่าต้องเครียดแค่ไหน ถึงควรไปพบจิตแพทย์ ไปหาคำตอบกัน



    ความเครียดคืออะไร?

    ภาวะที่ร่างกายและจิตใจตอบสนองต่อความกดดัน การคุกคาม หรือบีบคั้นทางด้านจิตใจ และร่างกาย จากเหตุการณ์ต่างๆ ตั้งแต่เหตุการณ์เล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน จนถึงเหตุการณ์สำคัญหรือร้ายแรงที่เกิดขึ้น โดยความเครียดเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งทางตัวบุคคลเอง ครอบครัว คู่มรส เพื่อน สภาพแวดล้อมในที่ทำงาน ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม (ค่านิยม) ซึ่งบ่อยครั้งที่ความเครียดเกิดจากปัจจัยหลายๆ อย่างพร้อมกัน ซึ่งผลกระทบนั้นจะเกี่ยวข้องกับอารมณ์ ความรู้สึกโดยตรง เช่น ความซึมเศร้า ความวิตกกังวล ความหงุดหงิดฉุนเฉียว และมีผลต่อสุขภาพร่างกายเกิดภาวะหรืออาการต่างๆ ขึ้นมา เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง นอนไม่หลับ เป็นต้น


    ระดับของความเครียด
    ความเครียดสามารถแบ่งออกได้ 3 ระดับ ได้แก่

    ความเครียดเฉียบพลัน เป็นความเครียดที่เกิดขึ้นแบบทันทีทันใดเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่กดดัน ท้าทาย หรือเกิดในสิ่งที่ไม่คาดคิดมาก่อน ซึ่งเป็นประเภทของความเครียดที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งที่สุด
    ความเครียดตามช่วงเวลา เป็นความเครียดที่เกิดขึ้นเป็นช่วงๆ อาจสั้นหรือยาว เนื่องจากจะต้องพบกับสถานการณ์ตึงเครียดอยู่บ่อย ๆ โดยอาการจะทำให้รู้สึกกดดันอยู่บ่อยครั้งหรือสิ่งต่างๆ ไม่เป็นแบบที่คิด ส่งผลให้เกิดความล้าทั้งร่างกายและจิตใจ
    ความเครียดเรื้อรัง เป็นความเครียดเกิดขึ้นมายาวนานไม่สามารถจัดการกับความเครียดได้จนส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว อาจจะเกิดมาจากปัญหาส่วนตัวในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ต้องทำงานภายใต้ความกดดัน ต้องอยู่ในครอบครัวที่ไม่มีความสุข หรือ ปัญหาเรื่องรายได้ไม่เพียงพอ เป็นต้น


    เช็กด่วน...คุณมีอาการเครียดแบบนี้ไหม
    อารมณ์หงุดหงิด ใครพูดอะไรนิดหน่อยก็ฟังไม่เข้าหู เหวี่ยงวีนใส่คนใกล้ตัว แบบไม่รู้ตัว โดยเป็นแบบนี้บ่อยๆ และต่อเนื่อง
    รู้สึกเบื่องานเหลือเกิน เช้าไม่อยากไปทำงาน
    ชอบดึงผม กัดเล็บ
    นอนไม่หลับติดกันหลายๆ คืน
    อยู่ๆ ก็ท้องอืด แบบไม่มีสาเหตุ อาหารไม่ย่อย
    ปวดท้องเหมือนเป็นโรคกระเพาะอาหาร
    ท้องผูกสลับท้องเสียแบบไม่มีสาเหตุ
    ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ปวดศีรษะ ป่วยง่ายเป็นๆ หายๆ
    ผื่นขึ้นบ่อยๆ ไม่หายขาด
    เมื่อเครียดแล้วอยากดื่มแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่


    เครียดแค่ไหนต้องพบจิตแพทย์
    หากคุณมีอาการดังกล่าวประมาณ 2-3 อย่างขึ้นไป ไม่สามารถจัดการความเครียดได้ หรือมีความเครียดเรื้อรังเป็นอยู่นานติดต่อกันมากกว่า 2 สัปดาห์ หรือมีความรุนแรงมากจนกระทบต่อการใช้ชีวิต คุณอาจกำลังโดนความเครียดเล่นงานอยู่ ควรเข้าปรึกษากับจิตแพทย์ เพื่อหยุดโรคเครียดไม่ให้รุนแรงมากไปกว่าเดิม เพราะหากปล่อยให้ตนเองมีความเครียดเรื้อรังสะสมไปเรื่อย ๆ อาการต่างๆ ข้างต้นอาจรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย ก่อเกิดโรค เช่น โรคกรดไหลย้อน ลำไส้แปรปรวน ปวดศีรษะ ไมเกรน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น


    เมื่อต้องเผชิญกับความเครียดทำอย่างไรดี
    การรับมือ หรือ ลดความเครียด นั้น อาจมีวิธีที่หลากหลายและแตกต่างกันออกไปในแต่ละคน โดยเราสามารถรับมือกับความเครียดที่เกิดขึ้น เช่น

    การแก้ไขที่ต้นเหตุที่ทำให้เกิดความเครียด
    ลองลดการแข่งขัน ผ่อนปรน ลดความเข้มงวด ในเรื่องต่างๆ เพื่อลดความกดดันในการดำเนินชีวิต
    ปรับเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อเหตุการณ์ให้เป็นไปในทางบวก
    มองตัวเองและมองผู้อื่นในแง่ดี หรือมองโลกในแง่ดี
    สำรวจและปรับปรุงในเรื่องของสัมพันธภาพต่อทั้งคนในครอบครัว และสังคมภายนอก




    ตอบลบ
  12. โรคเครียด หรือ Adjustment Disorder

    การใช้ชีวิตอยู่ในสังคมท่ามกลางวิกฤติต่างๆ เป็นสิ่งที่ยากแล้ว แต่การมีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่เข้มแข็งเป็นเรื่องที่ยากกว่า เรื่องของกายยังเป็นสิ่งมองเห็นได้ เจ็บป่วยก็รักษาหรือหาวิธีป้องกัน แต่เรื่องของใจไม่มีใครมองเห็น ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องสร้างพื้นฐานด้านจิตใจให้เข้มแข็งและมีภูมิคุ้มกันที่ดี ที่ซึ่งต้องรู้วิธีการจัดการความเครียดและบริหารสุขภาพจิตให้เข้มแข็งและรับมือกับสถานการณ์ที่เลวร้ายต่างๆ ได้ตลอดเวลา






    Adjustment Disorder คืออะไร


    โรคเครียด หรือ ภาวะการปรับตัวผิดปกติ มีชื่อเรียกทางการแพทย์ว่า Adjustment Disorder มักเกิดขึ้นหลังจากเผชิญกับสภาวะกดดันหรือมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาคุกคามและก่อให้เกิดความไม่สมดุลของร่างกายและจิตใจ และไม่สามารถปรับตัวได้อย่างเหมาะสมกับความเปลี่ยนแปลงในชีวิต มีความทุกข์ ทรมาน จนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การเรียน การงาน และการเข้าสังคม สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยแต่ละคนมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อความเครียดแตกต่างกัน ซึ่งทั้งหมดนี้ทำงานผ่านฮอร์โมนความเครียด 2 ตัว ที่เรียกว่า คอร์ติซอลและอะดรีนาลีน ที่หลั่งออกมาจากต่อมหมวกไตสองข้าง มีอาการนานไม่เกิน 6 เดือน จัดอยู่ในกลุ่มโรคทางจิตเวชที่สามารถหายเป็นปกติได้

    สาเหตุ


    ความเครียดเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ปัจจัยใหญ่ๆ ดังนี้


    • ปัจจัยภายใน

    ภายใน เช่น การเจ็บป่วยหรือโรคประจำตัว พัฒนาการตามวัย ทัศนคติ บุคลิกภาพ สารเคมีในสมองไม่สมดุลทำให้เครียด วิตกกังวล และเศร้าง่าย รวมถึงสุขภาพจิตของแต่ละคนที่มีความแข็งแรงน้อยลง ขาดการอดทนรอคอย การแบ่งปัน และการควบคุมอารมณ์



    • ปัจจัยภายนอก

    มักเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อมและสังคม แบ่งออกได้ 4 เรื่องหลักๆ ดังนี้


    การงาน

    มีปัญหากับเจ้านาย ลูกน้อง เพื่อนร่วมงาน ผลตอบแทนไม่พอ ไม่เหมาะสม รายละเอียดของงาน งานที่ต้องแข่งกับเวลาหรือเกี่ยวข้องกับความเป็น ความตาย ความทุกข์ทรมาน รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และการแข่งขันทั้งเรื่องการเรียน การทำงาน ภาระหนี้สินทางการเงิน เป็นต้น


    ความสัมพันธ์

    ปัญหากับทางบ้าน พ่อแม่ พี่น้อง หรือทะเลาะกับแฟน กับเพื่อน เมื่อมี ความเครียดสะสมทำให้ความอดทนต่อแรงกดดันลดลง ควบคุมอารมณ์ได้ไม่ดี มีโอกาสเกิดความขัดแย้งหรือใช้กำลังแก้ไขปัญหา นำไปสู่ปัญหาความแตกแยกในครอบครัว มีความเสี่ยงต่อโรควิตกกังวล ซึมเศร้า ติดสุรา สารเสพติด มีปัญหาทางอารมณ์ บุคลิกภาพ


    สุขภาพ

    การเจ็บป่วยบางอย่างในร่างกาย เช่น ท้องเสีย ไม่สบาย ปวดหัว โรคประจำตัว หรือโรคร้ายแรง วงจรการนอนเปลี่ยนแปลง จากการศึกษาพบว่า คนที่เข้างานเป็นกะ ไม่ค่อยได้นอน เข้างานเช้าบ้าง บ่ายบ้าง ดึกบ้าง มีความเครียดสูงกว่าคนทั่วไป ส่งผลต่อระบบย่อยอาหารทำงานไม่ค่อยดี รู้สึกเหนื่อย เพลียง่าย อ่อนแรง อารมณ์หงุดหงิดหรือซึมเศร้า


    การเปลี่ยนแปลงในชีวิต

    คู่สมรสเสียชีวิต มีคนในบ้านเจ็บป่วย ต้องออกจากงาน เปลี่ยนงาน สิ่งไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหรือไม่สามารถควบคุมจัดการได้ แม้แต่เรื่องที่ดีอย่างเรื่องการแต่งงาน ก็ทำให้คนเครียดได้


    ตอบลบ
  13. ผลกระทบจากความเครียด

    เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในชีวิตเกิดขึ้น วิถีชีวิตที่เราคุ้นเคยก็จะเปลี่ยนไปทำให้เราต้องปรับตัวใหม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อทั้งร่างกาย จิตใจ และพฤติกรรม


    • ร่างกาย อาการเจ็บป่วยทางกายที่เกิดจากความเครียดที่เรารู้จักกันดี เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน โรคกระเพาะ ใจสั่น มือสั่น หายใจไม่เต็มอิ่ม เหงื่อออก มือเย็นเท้าเย็น ประจำเดือนมาไม่ปกติ ผื่นคัน ปวดกล้ามเนื้อ โรคหัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูง เส้นเลือดในสมองแตกเป็นอัมพาต การทำงานระบบภูมิต้านทานของร่างกายลดลง ทำให้เกิดปัญหาการเจ็บป่วยจากการติดเชื้อได้ง่าย นอกจากนี้ยังมีการศึกษาจำนวนมาก ชี้ให้เห็นว่า ภาวะความเครียดสะสมเป็นระยะเวลายาวนานมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งอีกด้วย


    • จิตใจและอารมณ์ สังเกตได้ว่าเมื่อเกิดความเครียด อารมณ์จะแปรปรวนและไม่คงที่ บางรายอาจอารมณ์ร้ายมากขึ้น หรือมีอาการซึมเศร้าจนเห็นได้ชัด โดยสามารถสังเกตผลกระทบทางอารณ์หรืออาการที่เกิดขึ้นจากความเครียดได้ ดังนี้จิตใจเต็มไปด้วยการหมกมุ่น ครุ่นคิด วิตกกังวล หดหู่ ซึมเศร้า หงุดหงิดง่าย กระสับกระส่าย รู้สึกไม่ปลอดภัย คิดวนเวียน หวาดระแวง สิ้นหวัง ขาดความภูมิใจในตนเอง ไม่สนใจสิ่งรอบตัว ใจลอย ขาดสมาธิ ตื่นเต้น


    • พฤติกรรม การเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจากความเครียด เช่น เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ร้องไห้ง่าย ไม่อยากทำอะไร ขาดความอดทน เบื่อง่าย ประสิทธิภาพในการทำงานน้อยลง มีเรื่องขัดแย้งกับผู้อื่นเสมอ เริ่มปลีกตัวจากสังคม ไม่ดูแลตัวเอง ก้าวร้าว เกเร บางรายอาจใช้ความรุนแรงทำร้ายผู้อื่น มีผู้คนจำนวนมากใช้วิธีแก้ปัญหาความเครียดด้วยการสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ใช้ยานอนหลับ หรือใช้สารเสพติด ซึ่งอาจช่วยคลายเครียดได้ชั่วขณะแต่ก็ก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพที่รุนแรงตามมาอีกมากมาย ในรายที่รุนแรงอาจถึงขั้นอาจเกิดอาการหลงผิดและตัดสินใจแบบชั่ววูบนำไปสู่การฆ่าตัวตายในที่สุด


    ส่วนเหตุการณ์เล็กๆ กระจุกกระจิกที่บางครั้งอาจมองข้ามไป เช่น รถติด ที่ทำงานอยู่ไกลบ้าน แฟนมาสาย เงินเดือนออกไม่ตรงตามเวลา ก็ทำให้เครียดได้โดยไม่รู้ตัว หากจัดการกับความเครียดเหล่านี้ได้ก็จะดีขึ้น


    อย่างไรก็ตาม ความเครียดก็ยังมีข้อดีอยู่บ้าง คือ ความเครียดในระดับปกติหรือกำลังดี เป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิตประจำวัน เป็นตัวกระตุ้น เป็นแรงจูงใจที่นำไปสู่ความสำเร็จในชีวิตได้ ถ้าไม่มีความเครียดเลย เราก็อาจเป็นคนที่ขาดแรงจูงใจ มีความเฉื่อยชา ปราศจากความตื่นเต้น มีชีวิตประจำวัน ที่น่าเบื่อ และซ้ำซากจำเจ




    ตอบลบ
  14. เทคนิคการจัดการความเครียด


    สามารถฝึกฝนเพื่อคลายความเครียดด้วยตนเองได้หลายวิธี ดังนี้


    1. การปรับความคิด


    ยืดหยุ่น ไม่ยึดติด มีเหตุผล มองต่างมุม คิดถึงเรื่องดีๆ คิดถึงผู้อื่นบ้าง ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นว่าอะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด อย่ามัวแต่โทษตัวเองหรือโทษคนอื่น แล้วมองหาแนวทางแก้ไข ปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ ให้เรายอมรับ เรียนรู้ แล้วก็ปล่อยมันไป หันมาใส่ใจเรื่องที่เราควบคุมจัดการได้ดีกว่า


    2. ฝึกมองแง่บวก


    การมองปัญหาหรือสิ่งที่เกิดขึ้นในแง่บวกจะช่วยให้ให้เกิดกำลังใจ อาจต้องใช้เวลา เช่น ฝึกมองและหมั่นสำรวจข้อดีของตัวเอง อย่ามองว่าตัวเองโง่ ไม่เก่งเหมือนคนอื่นๆ ให้ลองมองดูคนรอบข้างว่ายังมีคนที่ไม่เก่ง ไม่ฉลาดกว่าเราอีกหลายคน


    3. เรียนรู้การให้อภัย


    ยอมรับความจริงว่าไม่มีใครในโลกนี้สมบูรณ์แบบ รวมทั้งตัวเราด้วย เราเองก็เคยทำผิดพลาด ตัวเราก็มีข้อดีข้อเสีย การให้อภัยจะช่วยให้ผู้นั้นก้าวข้ามความโกรธ สามารถผ่อนคลายได้ และสามารถมีความสุขกับการทำงานได้ง่ายขึ้น


    4. ดูแลรักษาสุขภาพ


    ให้อยู่ในสภาพที่ดีก็มีส่วนช่วยลดโอกาสเกิดปัญหาความเครียดได้ ดังนี้



    โรคเครียดคือ


    • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ


    การออกกำลังกายสม่ำเสมอจะช่วยลดความเครียดที่สะสมลงได้ ดังนั้นจึงควรออกกำลังกายอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละ 30 นาที


    • หลีกเลี่ยงสิ่งเสพติด


    เช่น เหล้า บุหรี่ กาแฟ ยาเสพติด เพราะถึงแม้จะช่วยลดความเครียดได้ แต่จะสร้างปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมาอีกมากมาย


    • นอนหลับให้เพียงพอ


    การนอนหลับที่เพียงพอ จะช่วยเพิ่มความสามารถในการรับมือกับความเครียดได้ คนที่อดนอนหรือนอนหลับไม่เพียงพอจะควบคุมตัวเองได้ไม่ดี มีอารมณ์หงุดหงิด ฉุนเฉียวได้ง่าย


    • จัดเวลาส่วนตัว


    ในแต่ละวันควรต้องจัดเวลาที่เป็นส่วนตัวเพื่อดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจของตนเอง โดยไม่ให้กิจกรรมส่วนอื่นมากินเวลาส่วนนี้ไปได้ แต่ละคนอาจใช้เวลาส่วนตัวนี้ทำกิจกรรมเพื่อความผ่อนคลายหรือความเพลิดเพลินใจ เช่น อ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง เล่นดนตรี ทำสวน ดูแลสัตว์เลี้ยง งานศิลปะ หรืองานอดิเรกอื่นๆ เช่น การฝึกสมาธิ ฝึกโยคะ การนวดเพื่อการผ่อนคลาย เป็นต้น


    • รับประทานอาหารมีประโยชน์


    นอกจากอาหารที่มีประโยชน์จะช่วยเรื่องของสุขภาพและพลังงานแล้ว การเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย ก็เป็นอีกส่วนสำคัญที่ช่วยให้เรามีสภาวะจิตใจที่แจ่มใส ร่าเริงได้


    โรคเครียดคือ


    o วัยเด็ก
    เด็ก ความเครียดของเขาอาจเป็นปัญหาเล็กๆ น้อยๆ หรืออาจเป็นเรื่องของการเรียน การคบเพื่อน ดังนั้น เมนูอาหารที่มี “มะเขือเทศ” เป็นส่วนประกอบ เช่น สปาเก็ตตี้ซอสมะเขือเทศ ผัดเปรี้ยวหวาน จะช่วยให้เด็กรู้สึกผ่อนคลายและช่วยคลายเครียดได้ เพราะในมะเขือเทศ มี “กาบา” ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทในสมอง ทำหน้าที่รักษาสมดุลในสมอง ช่วยให้สมองเกิดการผ่อนคลาย


    o วัยรุ่น
    เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นมักเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างทั้งร่างกายและจิตใจ อาหารคลายเครียดสำหรับวัยรุ่น เช่น ช็อกโกแลต ซึ่งมีสารสำคัญ เช่น โดพามีน ซีโรโทนิน เอ็นดอร์ฟินเอมีน และกาเฟอีน ที่มีผลต่อภาวะอารมณ์ ช่วยให้อาการเครียดลดลง อารมณ์ร่าเริงแจ่มใสขึ้น แต่ควรเลือกกินประเภทดาร์กช็อกโกแลต เพราะหากกินช็อกโกแลต ที่มี ครีม น้ำตาล เป็นส่วนผสมเกินพอดี ก็ทำให้เกิดภาวะโภชนาการเกินได้


    o วัยทำงาน
    เป็นวัยที่ต้องเจอกับปัญหามากมาย จึงทำให้เกิดความเครียดได้บ่อย อาหารที่กินแล้วอารมณ์ดี คือ อาหารที่มี “แมกนีเซียม” สูง ได้แก่ ผักชนิดต่างๆ จะปรับอารมณ์ให้แจ่มใส และอาหารที่มีสาร “เซโรโทนิน” ซึ่งพบมากใน กล้วยหอม ข้าวโพดต้ม ก็ช่วยทำให้รู้สึกอารมณ์ดี ผ่อนคลาย และสามารถต่อสู้กับความเครียดได้เป็นอย่างดี


    o วัยสูงอายุ
    ความเครียดของผู้สูงอายุมักเกิดจากสภาวะร่างกายที่เสื่อมลง ความเหงาทำให้เซื่องซึม การดื่มเครื่องดื่มสมุนไพร เช่น โสม กระชายดำ จะช่วยปรับสมดุลร่างกายได้ดี นอกจากนั้นโสมยังมีวิตามินบี 12 ช่วยบำรุงระบบประสาท รู้สึกผ่อนคลายความเครียด หรือการกินผลไม้รสเปรี้ยว เช่น ส้ม สตรอว์เบอร์รี มะนาว จะช่วยให้เลือดลมไหลเวียนได้ดี ร่างกายรู้สึกตื่นตัวมากขึ้น


    5. ฝึกทำอะไรให้ช้าลง
    เพราะปัจจุบันชีวิตประจำวันของเราเต็มไปด้วยความรีบเร่ง ทำให้เรื่องของสมาธิและสติในชีวิตประจำวันของเราจะน้อยไป คนที่มีสมาธิและสติที่ดีจะมีโอกาสรู้เท่าทันอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง ทำให้การควบคุมอารมณ์ทำได้ดีขึ้น การขาดสติ ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ก็จะลดน้อยลง การใช้วิธีนับ 1 ถึง 10 หรือการออกจากสถานที่ที่ทำให้เกิดอารมณ์ขุ่นมัวก็ยังเป็นวิธีที่ดีที่จะช่วยลดโอกาสเกิดการระเบิดอารมณ์ได้



    โรคเครียดคือ


    ตอบลบ
  15. 6. ฝึกหายใจลดเครียด
    เริ่มจากการหาสถานที่สงบๆ ไม่รีบเร่งเรื่องเวลา อยู่ในท่าทางที่สบายๆ อาจนอนหรือนั่งพิงก็ได้ มีสติอยู่กับปัจจุบัน สังเกตลมหายใจเข้า-ออก พร้อมรับรู้ร่างกายของเรา จะลืมตาหรือหลับตาก็ได้ อย่าลืมสังเกตความเกร็งของกล้ามเนื้อ หากรับรู้ความเกร็งก็ค่อยๆ คลายลง มือข้างหนึ่งวางบนหน้าอก มืออีกข้างหนึ่งวางบนท้อง จากนั้นเริ่มต้นหายใจเข้าช้าๆ นับ 1 2 3 แล้วหายใจออกช้าๆ นับ 1 2 3 โดยสังเกตว่าการหายใจที่ถูกต้อง คือ การหายใจเข้าท้องจะป่อง หายใจออกท้องจะแฟบ ทำไปเรื่อยๆ 3-5 นาที ฝึกบ่อยๆ เวลาที่เครียดหรือกังวล


    7. Self-monitoring หรือการบันทึกอารมณ์ตนเอง
    เวลาเกิดอารมณ์ลบหรือมีเรื่องรบกวนจิตใจให้ลองจดบันทึกในสมุดเล็กๆ หรือในสมาร์ทโฟน


    • เวลา


    • เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น


    • อารมณ์ทีเกิดจากเหตุการณ์นี้ เช่น เศร้า โมโห กังวล


    • มันรบกวนเราแค่ไหน 0-10 (0 คือ ไม่รบกวนเลย 10 คือ รบกวนมากที่สุดในชีวิต)


    • สิ่งที่เราคิดตอนที่เราอยู่ในอารมณ์นี้


    • สิ่งที่เราทําเมื่อเกิดเหตุการณ์นี้


    • อาการทางกายอื่นๆ ที่เราสังเกตได้ เช่น ใจเต้นรัว เหงื่อออกบนฝ่ามือ

    เมื่อไหร่ควรไปพบจิตแพทย์


    หากได้ลองฝึกฝนและปฏิบัติตามคำแนะนำในการจัดการความเครียดด้วยตนเองตามวิธีข้างต้นแล้ว แต่ยังรู้สึกว่าความเครียดที่เกิดขึ้นนั้น ยังคงส่งผลกระทบรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันอยู่ เช่น มีอารมณ์รุนแรงขึ้น เช่น เศร้า โกรธ กังวล ยังรู้สึกทุกข์จากเหตุการณ์บางอย่างและไม่สามารถเลิกคิดได้ ประสิทธิภาพในการทํางานลดลง ปฏิสัมพันธ์ต่อคนรอบข้างลดลง หรือยังไม่อยากทํากิจกรรมที่ชอบ สามารถพบผู้เชี่ยวชาญอย่างจิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือนักจิตบำบัด เพื่อขอรับคำปรึกษาและพูดคุยเกี่ยวกับความรู้สึก ความคิด ซึ่งช่วยให้ได้รับการดูแล บำบัด รักษาด้วยวิธีที่ถูกต้องในการรับมือกับสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียด




    ขอบคุณข้อมูลจาก


    • นพ.ไกรสิทธิ์ นฤขัตพิชัย จิตแพทย์ โรงพยาบาลมนารมย์
    • นพ.ธีรยุทธ รุ่งนิรันดร จิตแพทย์ โรงพยาบาลมนารมย์
    • พญ.สิริพัชร เพิงใหญ่ จิตแพทย์ โรงพยาบาลมนารมย์
    • กรมสุขภาพจิต
    • สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

    ตอบลบ