Learn with Prin เรียนรู้ไปพร้อมกับน้องปริญญ์

จำหน่ายผลิตภัณฑ์ Legacy /Reborn Set ลด Fat ตัวช่วยลดไขมัน ลดน้ำหนัก แบบถูกวิธี 🔥 ติดต่อสอบถาม/สั่งซื้อ 📍 โทร ☎️ :: 084-110-5021 🌸 Line ID :: pla-prapasara 🌸 รับโปรโมชั่นสุดพิเศษเฉพาะทาง Line นะคะ 📍

วันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ฉี่บ่อย สัญญาณปัญหาสุขภาพ

 

ฉี่บ่อย สัญญาณปัญหาสุขภาพ





ฉี่บ่อย คือ ภาวะของการปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ โดยอาการนี้อาจเกิดขึ้นได้บ่อย และมักเกิดกะทันหัน จนบางครั้งมีปัญหาในการกลั้นปัสสาวะ และอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันทั้งในเวลากลางวัน และกลางคืน อาการฉี่บ่อยอาจเป็นสัญญาของอาการอื่น ๆ หรือปัญหาสุขภาพที่รุนแรงได้ ดังนั้น จึงควรสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด

ฉี่บ่อย

ฉี่บ่อยแค่ไหนถึงเข้าขั้นว่าผิดปกติ ?

อาการฉี่บ่อยสังเกตได้ง่าย ๆ จากจำนวนครั้งที่ปัสสาวะในแต่ละวัน ซึ่งโดยปกติภายใน 24 ชั่วโมง คนเราจะปัสสาวะอย่างน้อย 6-8 ครั้ง แต่ถ้าหากมากกว่านี้ อาจต้องกลับไปดูที่สาเหตุว่าเกิดจากอะไร หากเกิดจากการดื่มน้ำมาก หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีนมากเกินไปก็ทำให้ฉี่บ่อยได้เช่นกัน แต่ถ้าไม่ได้เกิดจากการดื่มน้ำ อาจเป็นความผิดปกติที่ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียด

ฉี่บ่อย เป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพอะไรได้บ้าง ?

ปัสสาวะบ่อยมีหลายสาเหตุ บางสาเหตุไม่เป็นอันตราย แต่บางสาเหตุอาจเป็นอันตราย ต้องรีบเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วนเพื่อไม่ให้อาการยิ่งรุนแรงมากกว่าเดิม โดยมักเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้

  • การใช้ยา และสารบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ การใช้ดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีนในปริมาณมาก ๆ รวมทั้งภาวะแคลเซียมสูงในร่างกายสูงผิดปกติ (Hypercalcemia) เนื่องจากการรับประทานแคลเซียมมากเกินไป
  • ปัญหาเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ ได้แก่ เนื้องอกที่อุ้งเชิงกราน การรักษาด้วยรังสีบำบัดที่บริเวณเชิงกราน ช่องคลอดอักเสบ หรือปัญหาเกี่ยวกับต่อมลูกหมากในเพศชาย
  • ระบบทางเดินปัสสาวะ อาทิ การติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ (UTI) กระเพาะปัสสาวะอักเสบแบบเรื้อรัง มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะบีบตัวมากเกินปกติ (Overactive Bladder Syndrome) และโรคไต
  • โรคอื่น ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคเบาจืด โรคหลอดเลือดสมอง ตับวาย หรือกลุ่มอาการคุชชิง(Cushing’s Syndrome) เกิดจากฮอร์โมนผิดปกติส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น ใบหน้าบวมกลมคล้ายพระจันทร์ (Moon Face) มีหนอกขึ้นบริเวณหลังคอ (Buffalo Hump) มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผิวหนังบางลงจนเห็นเส้นเลือดฝอย และอาจพบเส้นเลือดฝอยแตกที่หน้าท้อง ภาวะกระดูกผุ และติดเชื้อง่าย ในผู้หญิงอาจมีภาวะประจำเดือนขาดได้อีกด้วย
  • การตั้งครรภ์  
  • ปัญหาสุขภาพจิต ได้แก่ ภาวะกระหายน้ำผิดปกติเนื่องจากอาการทางจิต(Psychogenic Polydipsia)

อาการฉี่บ่อย ควรไปพบแพทย์เมื่อใด ?

หากการปัสสาวะบ่อย เกิดขึ้นจากการดื่มน้ำเยอะ หรือบริโภคคาเฟอีนมากเกินไป ก็อาจไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ แต่หากเกิดอาการปัสสาวะบ่อยที่ผิดปกติควรไปพบแพทย์ ดังอาการต่อไปนี้

  • ปัสสาวะบ่อยโดยที่ไม่ได้ดื่มน้ำ หรือไม่ได้บริโภคคาเฟอีน และแอลกอฮอล์มากกว่าปกติ
  • ปัสสาวะบ่อยจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการนอนหลับ

นอกจากนี้ หากมีอาการอื่น ๆ ร่วมกับอาการปัสสาวะบ่อย ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วนที่สุด ซึ่งอาการที่อาจเป็นสัญญาณอันตราย ได้แก่

  • ปัสสาวะเป็นเลือด 
  • ปัสสาวะมีสีแดง หรือสีน้ำตาลเข้ม
  • มีอาการเจ็บขณะปัสสาวะ
  • มีอาการเจ็บปวดที่บริเวณด้านข้างและด้านล่างของท้อง หรือบริเวณขาหนีบ
  • ปัสสาวะลำบาก หรือปัสสาวะไม่ออก
  • มีอาการปวดปัสสาวะอย่างรุนแรง
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการกลั้นปัสสาวะ
  • มีไข้

ทั้งนี้เมื่อไปพบแพทย์แล้ว แพทย์จะตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การซักประวัติ ตรวจสุขภาพ ตรวจเลือด และตรวจปัสสาวะของผู้ป่วยไปวินิจฉัยหาเชื้อแบคทีเรีย จำนวนเม็ดเลือดขาว หากมีปริมาณเชื้อโรคและเม็ดเลือดขาวมากผิดปกติก็อาจมีความเสี่ยงที่ผู้ป่วยจะมีการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ

อีกทั้งแพทย์อาจใช้วิธีการส่องกล้องเพื่อดูการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ รวมไปถึงการอัลตราซาวด์ เพื่อดูความผิดปกติของกระเพาะปัสสาวะ และอวัยวะต่าง ๆ ที่แพทย์สงสัยว่าอาจเป็นสาเหตุของอาการปัสสาวะบ่อยผิดปกติ

ฉี่บ่อย รักษาได้อย่างไร ?

การรักษาภาวะปัสสาวะบ่อยจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ โดยแพทย์จะมุ่งเน้นไปยังสาเหตุหลักที่ส่งผลต่อความผิดปกติในการปัสสาวะเป็นอันดับแรก เช่น หากผู้ป่วยปัสสาวะบ่อยโดยมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ แพทย์จะใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษา เพราะหากสาเหตุเหล่านั้นบรรเทาลงได้จะช่วยให้ความถี่ในการปัสสาวะลดลง นอกจากนี้ ในบางกรณีแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตด้วย เช่น

  • หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำหรือของเหลวต่าง ๆ ก่อนนอน
  • ลดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีนลง

นอกจากนี้ ในบางกรณีที่ผู้ป่วยเป็นผู้หญิง แพทย์อาจแนะนำการออกกำลังกายเพื่อเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อปัสสาวะ (Kegel Exercisesหรือการฝึกขมิบช่องคลอด ซึ่งวิธีการทำคือ การฝึกขมิบรูเปิดของอวัยวะอุ้งเชิงกราน และขมิบให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานยกขึ้นและเข้าไปข้างใน หากทำได้เป็นประจำจะช่วยให้อาการปัสสาวะบ่อยลดลง การออกกำลังกายนี้ ทำได้ทุกวัยโดยเฉพาะผู้หญิงที่เคยผ่านการคลอดบุตรแบบธรรมชาติ เพราะจะช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณเชิงกรานแข็งแรงขึ้นตามไปด้วย แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจใช้ยาเพื่อลดอาการปัสสาวะติดขัด หรือปัญหาในการกลั้นปัสสาวะร่วมด้วย เพื่อให้ผู้ป่วยปัสสาวะได้เป็นปกติมากขึ้น

ฉี่บ่อยป้องกันได้หรือไม่ อย่างไร ?

ในเบื้องต้น อาการปัสสาวะบ่อยป้องกันได้ด้วยการควบคุมปริมาณการดื่มน้ำ และหลีกเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะในเวลากลางคืนเพราะอาจทำให้เกิดอาการปวดปัสสาวะบ่อยในขณะนอนหลับและรบกวนการนอนหลับได้ นอกจากนี้ ควรป้องกันอาการท้องผูกด้วยการรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง เนื่องจากอาการท้องผูกส่งผลให้เกิดแรงดันที่กระเพาะปัสสาวะมากขึ้นและทำให้ปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น หากลดอาการท้องผูกได้ ก็จะทำให้ปัสสาวะได้ตามปกติมากขึ้น

ฉี่บ่อย เป็นปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม ดังนั้น จึงควรสังเกตอาการให้ดี เพื่อป้องกันอาการที่เกิดขึ้นไม่ให้ลุกลามกลายเป็นปัญหาสุขภาพใหญ่โตเพราะอาจทำลายสุขภาพในระยะสั้นหรือระยะยาวได้


ที่มา  ::  Pobpad.com