ฉี่บ่อย สัญญาณปัญหาสุขภาพ
ฉี่บ่อย คือ ภาวะของการปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ โดยอาการนี้อาจเกิดขึ้นได้บ่อย และมักเกิดกะทันหัน จนบางครั้งมีปัญหาในการกลั้นปัสสาวะ และอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันทั้งในเวลากลางวัน และกลางคืน อาการฉี่บ่อยอาจเป็นสัญญาของอาการอื่น ๆ หรือปัญหาสุขภาพที่รุนแรงได้ ดังนั้น จึงควรสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด
ฉี่บ่อยแค่ไหนถึงเข้าขั้นว่าผิดปกติ ?
อาการฉี่บ่อยสังเกตได้ง่าย ๆ จากจำนวนครั้งที่ปัสสาวะในแต่ละวัน ซึ่งโดยปกติภายใน 24 ชั่วโมง คนเราจะปัสสาวะอย่างน้อย 6-8 ครั้ง แต่ถ้าหากมากกว่านี้ อาจต้องกลับไปดูที่สาเหตุว่าเกิดจากอะไร หากเกิดจากการดื่มน้ำมาก หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีนมากเกินไปก็ทำให้ฉี่บ่อยได้เช่นกัน แต่ถ้าไม่ได้เกิดจากการดื่มน้ำ อาจเป็นความผิดปกติที่ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียด
ฉี่บ่อย เป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพอะไรได้บ้าง ?
ปัสสาวะบ่อยมีหลายสาเหตุ บางสาเหตุไม่เป็นอันตราย แต่บางสาเหตุอาจเป็นอันตราย ต้องรีบเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วนเพื่อไม่ให้อาการยิ่งรุนแรงมากกว่าเดิม โดยมักเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้
- การใช้ยา และสารบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ การใช้ดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีนในปริมาณมาก ๆ รวมทั้งภาวะแคลเซียมสูงในร่างกายสูงผิดปกติ (Hypercalcemia) เนื่องจากการรับประทานแคลเซียมมากเกินไป
- ปัญหาเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ ได้แก่ เนื้องอกที่อุ้งเชิงกราน การรักษาด้วยรังสีบำบัดที่บริเวณเชิงกราน ช่องคลอดอักเสบ หรือปัญหาเกี่ยวกับต่อมลูกหมากในเพศชาย
- ระบบทางเดินปัสสาวะ อาทิ การติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ (UTI) กระเพาะปัสสาวะอักเสบแบบเรื้อรัง มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะบีบตัวมากเกินปกติ (Overactive Bladder Syndrome) และโรคไต
- โรคอื่น ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคเบาจืด โรคหลอดเลือดสมอง ตับวาย หรือกลุ่มอาการคุชชิง(Cushing’s Syndrome) เกิดจากฮอร์โมนผิดปกติส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น ใบหน้าบวมกลมคล้ายพระจันทร์ (Moon Face) มีหนอกขึ้นบริเวณหลังคอ (Buffalo Hump) มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผิวหนังบางลงจนเห็นเส้นเลือดฝอย และอาจพบเส้นเลือดฝอยแตกที่หน้าท้อง ภาวะกระดูกผุ และติดเชื้อง่าย ในผู้หญิงอาจมีภาวะประจำเดือนขาดได้อีกด้วย
- การตั้งครรภ์
- ปัญหาสุขภาพจิต ได้แก่ ภาวะกระหายน้ำผิดปกติเนื่องจากอาการทางจิต(Psychogenic Polydipsia)
อาการฉี่บ่อย ควรไปพบแพทย์เมื่อใด ?
หากการปัสสาวะบ่อย เกิดขึ้นจากการดื่มน้ำเยอะ หรือบริโภคคาเฟอีนมากเกินไป ก็อาจไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ แต่หากเกิดอาการปัสสาวะบ่อยที่ผิดปกติควรไปพบแพทย์ ดังอาการต่อไปนี้
- ปัสสาวะบ่อยโดยที่ไม่ได้ดื่มน้ำ หรือไม่ได้บริโภคคาเฟอีน และแอลกอฮอล์มากกว่าปกติ
- ปัสสาวะบ่อยจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการนอนหลับ
นอกจากนี้ หากมีอาการอื่น ๆ ร่วมกับอาการปัสสาวะบ่อย ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วนที่สุด ซึ่งอาการที่อาจเป็นสัญญาณอันตราย ได้แก่
- ปัสสาวะเป็นเลือด
- ปัสสาวะมีสีแดง หรือสีน้ำตาลเข้ม
- มีอาการเจ็บขณะปัสสาวะ
- มีอาการเจ็บปวดที่บริเวณด้านข้างและด้านล่างของท้อง หรือบริเวณขาหนีบ
- ปัสสาวะลำบาก หรือปัสสาวะไม่ออก
- มีอาการปวดปัสสาวะอย่างรุนแรง
- มีปัญหาเกี่ยวกับการกลั้นปัสสาวะ
- มีไข้
ทั้งนี้เมื่อไปพบแพทย์แล้ว แพทย์จะตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การซักประวัติ ตรวจสุขภาพ ตรวจเลือด และตรวจปัสสาวะของผู้ป่วยไปวินิจฉัยหาเชื้อแบคทีเรีย จำนวนเม็ดเลือดขาว หากมีปริมาณเชื้อโรคและเม็ดเลือดขาวมากผิดปกติก็อาจมีความเสี่ยงที่ผู้ป่วยจะมีการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
อีกทั้งแพทย์อาจใช้วิธีการส่องกล้องเพื่อดูการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ รวมไปถึงการอัลตราซาวด์ เพื่อดูความผิดปกติของกระเพาะปัสสาวะ และอวัยวะต่าง ๆ ที่แพทย์สงสัยว่าอาจเป็นสาเหตุของอาการปัสสาวะบ่อยผิดปกติ
ฉี่บ่อย รักษาได้อย่างไร ?
การรักษาภาวะปัสสาวะบ่อยจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ โดยแพทย์จะมุ่งเน้นไปยังสาเหตุหลักที่ส่งผลต่อความผิดปกติในการปัสสาวะเป็นอันดับแรก เช่น หากผู้ป่วยปัสสาวะบ่อยโดยมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ แพทย์จะใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษา เพราะหากสาเหตุเหล่านั้นบรรเทาลงได้จะช่วยให้ความถี่ในการปัสสาวะลดลง นอกจากนี้ ในบางกรณีแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตด้วย เช่น
- หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำหรือของเหลวต่าง ๆ ก่อนนอน
- ลดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีนลง
นอกจากนี้ ในบางกรณีที่ผู้ป่วยเป็นผู้หญิง แพทย์อาจแนะนำการออกกำลังกายเพื่อเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อปัสสาวะ (Kegel Exercises) หรือการฝึกขมิบช่องคลอด ซึ่งวิธีการทำคือ การฝึกขมิบรูเปิดของอวัยวะอุ้งเชิงกราน และขมิบให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานยกขึ้นและเข้าไปข้างใน หากทำได้เป็นประจำจะช่วยให้อาการปัสสาวะบ่อยลดลง การออกกำลังกายนี้ ทำได้ทุกวัยโดยเฉพาะผู้หญิงที่เคยผ่านการคลอดบุตรแบบธรรมชาติ เพราะจะช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณเชิงกรานแข็งแรงขึ้นตามไปด้วย แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจใช้ยาเพื่อลดอาการปัสสาวะติดขัด หรือปัญหาในการกลั้นปัสสาวะร่วมด้วย เพื่อให้ผู้ป่วยปัสสาวะได้เป็นปกติมากขึ้น
ฉี่บ่อยป้องกันได้หรือไม่ อย่างไร ?
ในเบื้องต้น อาการปัสสาวะบ่อยป้องกันได้ด้วยการควบคุมปริมาณการดื่มน้ำ และหลีกเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะในเวลากลางคืนเพราะอาจทำให้เกิดอาการปวดปัสสาวะบ่อยในขณะนอนหลับและรบกวนการนอนหลับได้ นอกจากนี้ ควรป้องกันอาการท้องผูกด้วยการรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง เนื่องจากอาการท้องผูกส่งผลให้เกิดแรงดันที่กระเพาะปัสสาวะมากขึ้นและทำให้ปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น หากลดอาการท้องผูกได้ ก็จะทำให้ปัสสาวะได้ตามปกติมากขึ้น
ฉี่บ่อย เป็นปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม ดังนั้น จึงควรสังเกตอาการให้ดี เพื่อป้องกันอาการที่เกิดขึ้นไม่ให้ลุกลามกลายเป็นปัญหาสุขภาพใหญ่โตเพราะอาจทำลายสุขภาพในระยะสั้นหรือระยะยาวได้
ที่มา :: Pobpad.com
“ปัสสาวะบ่อย” อาจเป็นอาการที่ใครหลายๆ คนเป็นอยู่ แต่ก็ได้แค่สงสัย และไม่ได้เข้ารับการตรวจกับแพทย์ จริงๆ แล้วคุณอาจเสี่ยงเป็นโรคอันตรายมากมาย ดังต่อไปนี้
ตอบลบภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินไป
ดูจะเป็นภาวะชื่อแปลกๆ แต่มีอยู่จริงค่ะ หากกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินไป จะทำให้เรารู้สึกปวดปัสสาวะบ่อยๆ แม้ว่าจะมีปัสสาวะอยู่ในกระเพาะปัสสาวะไม่มาก หรือปัสสาวะยังไม่ทันเต็มกระเพาะก็ปวดจนอยากจะปล่อยออกมา ความบ่อยของการปัสสาวะอยู่ที่ราวๆ ทุกชั่วโมง อาจรบกวนการนอนหลับพักผ่อนตอนกลางคืน เพราะต้องลุกขึ้นมาเข้าห้องน้ำบ่อยๆ จนทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ แม้จะปัสสาวะเพียงเล็กน้อย แต่ก็ปวดมาก และกลั้นไม่ค่อยไหว
กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
มีอาการคล้ายกับภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินไป โดยอาจเป็นโรคที่ตามมาหลังจากเกิดภาวะนี้ เกิดจากการกลั้นปัสสาวะนานๆ บ่อยๆ ทำความสะอาดอวัยวะเพศไม่ดีพอ (เช่น การใช้กระดาษชำระเช็ดจากด้านหลังมาด้านหน้า) ติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เป็นโรคเบาหวาน หรือเป็นผู้ป่วยที่ต้องใช้สายสวนปัสสาวะเป็นเวลานาน
โรคเบาหวาน
การปัสสาวะบ่อยของคนที่เป็นโรคเบาหวาน เกิดจากการที่มีน้ำตาลในเลือดสูง ไตพยายามกรองเอาสารอาหารที่มีประโยชน์อย่าง น้ำตาล กลับคืนสู่ร่างกาย แล้วส่งออกไปพร้อมปัสสาวะ จึงทำให้ปวดปัสสาวะบ่อยกว่าปกติทั้งกลางวัน และกลางคืน
โรคเบาจืด
โรคเบาจืด เป็นโรคที่ทำให้เกิดความผิดปกติของฮอร์โมนที่ควบคุมสารน้ำในร่างกาย มักมีอาการกระหายน้ำร่วมด้วย จนทำให้ปัสสาวะบ่อย ในปริมาณที่มากกว่า 2.5 ลิตรต่อวัน โดยอาจเกิดจากความผิดปกติของไต จากการกระหายน้ำที่ผิดปกติ และจากการตั้งครรภ์
โรคไต
อาการอย่างหนึ่งของคนที่เป็นโรคไต ไตอักเสบ ไตเสื่อม ไตวาย คืออาการปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะตอนกลางคืน อันเนื่องมาจากภาวะการทำงานที่ผิดปกติของไต ไตไม่สามารถดูดน้ำกลับเข้าสู่ร่างกายได้ดีเช่นเดิม จึงทำให้น้ำถูกขับออกจากร่างกายมากกว่า และบ่อยกว่าปกติ
นิ่ว/ก้อนเนื้อบริเวณกระเพาะปัสสาวะ
เมื่อมีนิ่ว หรือมีก้อนเนื้อเกิดขึ้นในบริเวณกระเพาะปัสสาวะหรือใกล้เคียง อาจโตจนเข้าไปเบียดกระเพาะปัสสาวะจนทำปัสสาวะเต็มกระเพาะปัสสาวะเร็วขึ้น เลยทำให้ปวดปัสสาวะบ่อยขึ้นกว่าปกติ เป็นเหตุผลคล้ายกันกับหญิงตั้งครรภ์ที่ขนาดมดลูกขยายจนมาเบียดกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ปวดปัสสาวะบ่อยกว่าปกติเช่นกัน
ต่อมลูกหมากโต
ต่อมลูกหมากโต ทำให้ผนังกล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะหนาขึ้น เนื่องจากต้องบีบตัวแรงขึ้นเพื่อขับน้ำปัสสาวะให้ผ่านท่อแคบๆ (ที่ต่อมลูกหมากไปเบียดอยู่ ทำให้เกิดอาการปัสสาวะขัด) และเมื่อผนังกระเพาะปัสสาวะหนาตัวขึ้นก็จะส่งผลต่อความสามารถในการกักเก็บน้ำปัสสาวะลดลง จึงต้องปัสสาวะบ่อย
ดื่มน้ำมากเกินไป
เป็นภาวะที่อาจเกิดขึ้นได้ยากในภาวะที่คนส่วนใหญ่มักจะดื่มน้ำไม่พอเสียมากกว่า แต่ประเด็นนี้ก็สามารถเกิดขึ้นได้หากคุณทานอาหารรสจัดจนทำให้กระหายน้ำบ่อย การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป การเกิดภาวะกระหายน้ำผิดปกติที่เกิดมาจากระบบประสาท และสาเหตุอื่นๆ ที่บังคับให้คุณรู้สึกกระหายน้ำมาก จนต้องดื่มน้ำมากกว่าปกติไปด้วย
หากมีอาการปัสสาวะบ่อยราวทุกๆ ชั่วโมง หรือปัสสาวะบ่อยในตอนกลางคืน รวมไปถึงปวดปัสสาวะมากจนกลั้นแทบไม่อยู่ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจร่างกายอย่างละเอียดค่ะ
ขอขอบคุณ
ข้อมูล :Rama Channel,โรงพยาบาลปิยะเวท,โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis)
ตอบลบใครมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรค
เพศหญิง มีท่อปัสสาวะสั้นมากเมื่อเทียบกับชาย เชื้อโรคที่อยู่บริเวณปากช่องคลอดจึงมีโอกาสคืบคลานเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะได้ง่ายกว่าจึงมักพบโรคนี้ในหญิงทุกวัยมากกว่าในชายโดยเฉพาะในหญิงวัยเจริญพันธุ์ในวัยหมดประจำเดือนและในหญิงสูงอายุเยื่อบุทางเดินปัสสาวะจะบางลงและความต้านทานโรคต่ำลง เกิดโรคนี้ได้ง่ายมากขึ้น
ในชายอายุ 50-60 ปีขึ้นไปที่มีภาวะต่อมลูกหมากโตเป็นปัจจัยทำให้ชายสูงอายุเกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้เท่าเทียมกับผู้หญิงสูงอายุ
อะไรเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรค
เชื้อโรคที่อยู่บริเวณปากช่องคลอด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเชื้อโรคมาจากทวารหนักเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบ โดยเฉพาะเมื่อมีสภาวะที่อำนวย เช่น ความไม่สะอาดกิจกรรมทางเพศสัมพันธ์ โรคเบาหวานและยังมีโรคในทางเดินปัสสาวะหลายโรคเอื้ออำนวยให้เกิดหรือเกิดร่วมกันกับโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
โรคนี้มีอาการอย่างไรบ้าง
อาการที่สำคัญ คือ ปัสสาวะบ่อย แสบขัด อาจบ่อยมากทุกๆ 1-2 ชั่วโมงหรือกระปริบประปรอย หรืออาจแสบขัดมาก จนไม่อยากถ่ายปัสสาวะแล้วแต่ความรุนแรงของโรค อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น
ปัสสาวะไม่ค่อยสุดหรือมีปัสสาวะหยดหรือไหลซึมออกมาอีก
ปวดท้องน้อยตอนปัสสาวะสุด อาจปวดมากแบบบิดเกร็งหรืออาจปวดแบบถ่วงๆแบบเป็นๆหายๆหรืออาจรู้สึกปวดตลอดเวลา
พอรู้สึกปวดต้องไปรีบถ่าย บางครั้งกลั้นไม่ได้จนมีปัสสาวะเล็ดออกมา
ปัสสาวะปวดเบ่งหรือไม่ค่อยออก
ปัสสาวะมีเลือดหยดออกมาตอนสุดหรือมีเลือดปนในน้ำปัสสาวะ
ปัสสาวะขุ่น
ต้องตื่นลุกขึ้นมาปัสสาวะเกิน 2 ครั้งขึ้นไปในคืนหนึ่งๆ
ในกรณีที่กระเพาะปัสสาวะอักเสบเล็กน้อยหรือเป็นแบบเรื้อรัง อาการดังกล่าวข้างต้น อาจมีเพียงเล็กน้อยจนผู้ป่วยไม่ได้สังเกตอาการหรืออาจเคยชินกับอาการเหล่านั้นและถ้าไม่ได้รับการรักษา และปล่อยทิ้งไว้นานจะทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพชีวิตได้
จะวินิจฉัยหรือจะรู้ว่าใครเป็นโรคนี้ได้อย่างไร?
คนที่มีอาการดังกล่าวอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายๆอย่าง ถ้าตรวจพบเม็ดเลือดขาวในน้ำปัสสาวะ ก็วินิจฉัยได้เลยว่าเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ การตรวจร่างกายอาจพบว่ากดเจ็บบริเวณท้องน้อย มีไข้ อาจตรวจพบการอักเสบบวมแดงหรือพบแต้มเลือดหรือพบเมือกขุ่นขาวที่ปลายท่อปัสสาวะ อาจจำเป็นต้องตรวจหาต้นเหตุอื่นๆที่เอื้ออำนวยหรือเกิด่วมกับโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบด้วย
โรคอะไรบ้างที่เอื้ออำนวยหรือเกิดร่วมกับโรคนี้
โรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ (ไต กรวยไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ)
โรคประสาทกระเพาะปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะไม่ทำงานอย่างปกติ
โรคกระเพาะปัสสาวะผิดปกติแต่กำเนิดแบบเรื้อรัง
โรคกระเพาะปัสสาวะหย่อน
โรคมดลูกและกล้ามเนื้ออุ้มเชิงกรานหย่อนยาน
โรคกระเพาะปัสสาวะหรือหูรูดกระเพาะปัสสาวะเสื่อม
โรคกระเพาะปัสสาวะไวเกินปกติ
โรคเยื่อบุช่องคลอดซูบแห้งในหญิงวัยหมดประจำเดือน
โรคมะเร็งในทางเดินปัสสาวะ
ในผู้สูงอายุชายต้องคำนึงถึงโรคสำคัญ ของต่อมลูกหมาก 3 โรค คือ ต่อมลูกหมากโต ต่อมลูกหมากอักเสบและมะเร็งต่อมลูกหมาก
จะรักษาโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบอย่างไร
ให้ยาฆ่าเชื้อโรคที่เหมาะสม ทั้งชนิดยา ขนาดยาและระยะเวลาที่ให้
ให้ยารักษาอาการเช่น อาการปวด อาการเจ็บแสบ อาการปัสสาวะลำบาก
ให้ดื่มน้ำเสมอๆ วันละ 2-5 ลิตรต่อวัน (24 ชั่วโมง)
ให้รักษาอนามัยของร่างกายและอนามัยในกิจกรรมทางเพศ
ต้องติดตามตรวจปัสสาวะหลังให้ยารักษา (5-10 วัน)
พบเสมอๆที่อาการทุเลาหรือหายไปแล้วแต่การอักเสบยังมีอยู่หรือยังมีต้นเหตุที่เอื้ออำนวย หรือ เกิดร่วมกันอยู่ ซึ่งถ้าไม่คิดตามกำจัดโรค และต้นเหตุให้หายขาดอาจกลับเป็นซ้ำหรือกลายเป็นโรคเรื้อรัง เป็นผลเสียต่อสุขภาพชีวิตในบางรายโรคอาจลุกลามไปที่ไตซึ่งอาจทำให้เกิดสภาวะไตวายได้ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิต
การป้องกันไม่ให้เกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้อย่างไร
รักษาความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศและ บริเวณทวารหนักเสมอโดยเฉพาะหลังการขับถ่ายปัสสาวะและอุจจาระ
รักษาอนามัยในกิจกรรมทางเพศและในระยะที่มีประจำเดือน
ไม่กลั้นปัสสาวะนานมากจนเกินไป
ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ
เมื่อมีโรคใดๆในร่างกาย โดยเฉพาะโรคที่มีการอักเสบติดเชื้อต้องรีบรักษาเพื่อไม่ให้ลุกลาม
เมื่อมีโรคที่เอื้ออำนวยเช่น โรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะหรืออื่นๆควรรีบปรึกษาแพทย์ให้ดูแลรักษา