ลูกกับปัญหาทางด้านการเรียนรู้ LD ( Learning Disabilities)
อย่ากังวลค่ะ... เรามีวิธีการสังเกต ป้องกัน และการเลี้ยงดูเจ้าหนูให้ห่างไกลโรค LD มาฝาก... เตรียมพร้อมก่อนได้เปรียบนะคะ
ทำความรู้จักกับ ‘LD’
Learning Disabilities หรือที่รู้จักกันในชื่อ LD คือ ภาวะความบกพร่องในการเรียนรู้ค่ะ เจ้าหนูที่มีภาวะแบบนี้จะมีสติปัญญาอยู่ในเกณฑ์ปกติ หรือฉลาดกว่าเด็กคนอื่น แต่การเรียนรู้ในด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายๆ ด้านของเขาจะช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน ที่แสดงออกให้เห็นในเรื่อง...
- มีปัญหาเรื่องการอ่าน เช่น อ่านตกหล่น ข้ามคำ สลับพยัญชนะ อ่านไม่ได้ใจความจนถึงขั้นอ่านไม่ออกเลย
- มีปัญหาเรื่องการเขียน เช่น เขียนตัวหนังสือกลับหลัง เขียนพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์สลับตำแหน่งกัน
- มีปัญหาเรื่องการคำนวณ เช่น เขียนตัวเลขผิด ไม่เข้าใจเครื่องหมาย สัญลักษณ์ ค่าของตัวเลขหลักต่างๆ หรือไม่เข้าใจวิธีการคำนวณตัวเลข
- มีปัญหาเรื่องการลำดับเหตุการณ์ การทำตามคำสั่ง การให้เหตุผล หรือเรียนแล้วลืม
แต่ไม่ใช่ว่าเด็กที่บกพร่องทางการเรียนรู้ทุกคนจะมีอาการทุกข้อนะคะ และปัญหาเหล่านี้ก็ไม่ได้เกิดจากความเกียจคร้าน การขาดเรียน ความพิการ หรือปัญหาทางอารมณ์หรอกนะคะ แต่จะเกิดจากสาเหตุอะไรนั้นเรามีคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญมาฝากกันค่ะ
|
ไขข้อข้องใจเรื่อง LD
ดร.เพ็ญนี หล่อวัฒนพงษา ผู้อำนวยการฝ่ายบริการจิตวิทยา โรงพยาบาลมนารมย์ ผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาเกี่ยวกับความบกพร่องทางการเรียนรู้ของเด็ก อธิบายว่าภาวะ LD ในเด็กนั้นเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ ซึ่งไม่สามารถจำเพาะเจาะจงหรือบอกได้ว่าสาเหตุส่วนใหญ่คืออะไร และเนื่องจากความบกพร่องทางการเรียนรู้นี้เป็นเสมือนโรคที่ซ่อนเร้น ทำให้บางครั้งเจ้าหนูจะไม่แสดงอาการออกมาอย่างโจ่งแจ้ง ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องเช็กค่ะว่า...
- คุณพ่อคุณแม่หรือญาติผู้ใหญ่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งสองฝ่าย มีประวัติเป็น LD หรือไม่
- เจ้าหนูมีภาวะความบาดเจ็บทางสมองจากการคลอดก่อนหรือหลังกำหนด
- คุณแม่มีอายุน้อยมากหรือไม่
- ลูกมีน้ำหนักแรกเกิดเท่าไร น้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์มากไหม
- เจ้าหนูเคยเป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของอวัยวะ เช่น หู ซึ่งสามารถสร้างความกระทบกระเทือนไปถึงสมองบางส่วนหรือไม่
- เจ้าหนูของคุณอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีมลพิษ เช่น มลพิษจากสารตะกั่ว หรือเปล่า
สังเกตให้ดีก่อน LD เกิดกับหนู
วัยอนุบาล: การสังเกตเจ้าหนูวัยอนุบาลว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดความบกพร่องทางการเรียนรู้หรือไม่ คุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตจากพัฒนาการของเขาว่าเป็นไปตามปกติหรือเปล่า โดยเฉพาะด้านสติปัญญาที่จะส่งผลสัมพันธ์กับพัฒนาการด้านอื่นๆ ได้ค่ะ เช่น
* เขาสามารถพูดคุยออกเสียงได้ชัดเจน สื่อสารได้ เข้าใจนิทานหรือเรื่องอิงจินตนาการที่คุณพ่อคุณแม่เล่าให้ฟัง
* ความเข้าใจเรื่องมิติสัมพันธ์ รู้จักด้านซ้าย ด้านขวา ไม่ใส่รองเท้าสลับข้าง เขียนอักษรได้ถูกต้อง ไม่สลับทิศทาง เป็นต้น
* การทำงานประสานกันระหว่างตาและมือ และการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
* สามารถนับเลขจำนวนง่ายๆ ได้ เช่น นับ 1-10 ได้ เป็นต้น
วัยประถม: เจ้าหนูวัยประถมโตพอที่คุณพ่อคุณแม่จะสามารถสังเกตเรื่องการเรียนรู้และการศึกษาของเขาได้อย่างชัดเจนแล้วนะคะ เช่น
* สังเกตช่วงทำการบ้านว่าเขามีความสนใจหรือใส่ใจมากน้อยแค่ไหน ลองดูเงื่อนไข หรือโจทย์การบ้านที่คุณครูให้มาว่ามีความยากง่ายอย่างไร แล้วเปรียบเทียบว่าเจ้าหนูใช้เวลาทำการบ้านนานเกินไปหรือเปล่า
* ลองสังเกตว่าลูกมีความเข้าใจในบทเรียนต่างๆ มากน้อยแค่ไหน เมื่อคุณพ่อคุณแม่ซักถาม เขาสามารถอธิบายให้คุณเกิดความเข้าใจได้หรือไม่
* เด็กวัยประถมควรอ่านสะกดคำได้ อ่านแล้วสามารถเรียงลำดับเหตุการณ์ความเป็นมาก่อนหรือหลังได้อย่างเข้าใจ
* มีความเข้าใจเรื่องการคิดคำนวณ บวก ลบ คูณ หารเลขลักหน่วย หลักสิบ เป็นต้น
‘ลูกมีความเสี่ยง’ เลี้ยงอย่างไรห่างไกล LD
เมื่อ LD เกี่ยวพันโดยตรงกับพัฒนาการด้านสมองและสติปัญญาของลูก ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องดูแลเรื่องสมองของเจ้าตัวเล็กกันมากเป็นพิเศษแล้วละค่ะ
ในช่วงวัย 3-5 ปีนั้น ถือเป็นโอกาสทองของสมองเจ้าหนูนะคะ ซึ่งเมื่ออายุ 5 ปีสมองของเขาจะเริ่มบอกได้แล้วว่าเขาจะถนัดทางด้านไหน สมองเขาจะโตเต็มที่ และหากได้รับการกระตุ้นที่ดีลูกของคุณอาจจะเป็นเด็กที่ฉลาดกว่าเกณฑ์เฉลี่ยก็ได้นะคะ
- กระตุกสมองด้วยจินตนาการ สิ่งที่จะกระตุ้นสมองของเจ้าหนูวัยคิดส์ได้เป็นอย่างดีก็คือการเล่นค่ะ โดยเฉพาะการเล่นจากการใช้จินตนาการ การฟังนิทาน เช่น ในรุ่นคุณพ่อคุณแม่ก็มีการเล่นม้าก้านกล้วย หรือเล่นขายของ แต่ปัจจุบันการเล่นของเด็กเปลี่ยนแปลงไปค่ะ ของเล่นใกล้ตัวลูกก็มีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น เช่น เกม ทั้งคอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือ ทำให้เขาไม่ได้เรียนรู้อย่างหลากหลายนะคะ
- ปลอดภัยจากสารพิษ สภาพแวดล้อมในการใช้ชีวิตของเจ้าตัวเล็กมีความสำคัญมาก ยิ่งเมื่อเขาเล่นเพลินๆ ด้วยแล้ว การจะสนใจบรรยากาศรอบตัวแทบจะหมดไปค่ะ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยระวังให้เจ้าหนูเล่นอยู่ในสถานที่ปลอดภัย ห่างไกลมลพิษที่อาจก่อให้เกิดโรคอันส่งผลต่อสมองน้อยๆ ของลูกได้ เช่น ไม่ให้ลูกอยู่ในสถานที่ที่มีสารตะกั่วนานเกินไป อย่างริมถนนที่รถพลุกพล่าน อู่ซ่อมรถที่มีการบัดกรีต่างๆ เป็นต้น
- เวลาทองของครอบครัว คุณพ่อคุณแม่มีบทบาทสำคัญในการจัดสรรเวลาของครอบครัวที่สมาชิกทุกคนจะได้มาทำกิจกรรมร่วมกันนะคะ เช่น การเล่นบทบาทสมมติ การอ่านหนังสือ การสอนให้ลูกมีทักษะการคิด การคำนวณ ขีดเขียนวาดภาพ หรือเล่นเกมสังเกตและทายสัญลักษณ์ต่างๆ เป็นต้น อ้อ... อย่าลืมนะคะว่าจำนวนชั่วโมงที่ใช้ร่วมกันนั้นไม่สำคัญเท่ากับคุณภาพของกิจกรรมที่คุณทำกับลูกค่ะ
- งานบ้านฝึกสมอง ให้ลูกช่วยทำงานบ้านง่ายๆ ที่ส่งเสริมทักษะการใช้ความคิด และกระตุ้นพัฒนาการของสมองอย่างสม่ำเสมอสิคะ เช่น ให้เขาช่วยจัดช้อนส้อม จานชามเข้าที่ หรือช่วยจัดโต๊ะอาหาร จะช่วยกระตุ้นการเรียนรู้เรื่องการจัดกลุ่ม แยกประเภทค่ะ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนการสร้างพิมพ์เขียวให้สมองของเจ้าหนูเลยนะคะ
ที่มา :: http://tinyzone.tv/HealthDetail.aspx?ctpostid=2423
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น