เมื่อหนูเริ่มหัดขีดเขียน
คุณแม่หลายคนมีปัญหาว่า ทำไมน้า!! เวลาฝึกหัดให้ลูกเขียนหนังสือทำไมยากจัง เหมือนเข็นภูเขาขึ้นมาอยู่บนครก อิ อิ ทั้งท่าทางในการจับดินสอ การฝึกเขียนในลักษณะต่างๆ แม้กระทั่งการสร้างแรงจูงใจในการเขียน ก็มีส่วนสำคัญในการฝึกให้ลูกเป็นเด็กรักการเขียนจนเติบโตค่ะ
ท่าทางการจับดินสอ
สังเกตได้ว่า ท่าทางเริ่มต้นสำหรับการจับดินสอของเด็กทุกๆ คน มักจะจับดินสอแบบกำทั้งมือ ซึ่งจะทำให้ใช้กำลังมาก เวลาเขียนก็จะใช้ไหล่ในการเคลื่อนไหว การจับดินสอที่ผิดจะทำให้การเขียน ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะจะใช้แรงมากในการจับเป็นเหตุให้มือและแขนจะล้าได้ง่ายค่ะ จนเมื่ออายุ 4 ปีนั่นแหล่ะค่ะ ถึงจะมีพัฒนาการไปสู่การจับดินสอที่ดีขึ้น
ซึ่งท่าทางการจับดินสอที่มีประสิทธิภาพที่สุดเรียกว่า “การจับ 3 นิ้ว” (Tripod grasp )
การจับในลักษณะนี้คือ
- เด็กถือดินสอไว้ด้วย 3 นิ้ว คือนิ้วกลาง นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้
- ดินสอจะอยู่บนข้อนิ้วกลาง ขณะที่จะถูกบีบอยู่ระหว่างนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้
- นิ้วก้อยและนิ้วนางจะวางพักอยู่บนโต๊ะ
การจับในลักษณะนี้มีประสิทธิภาพเพราะ ใช้แรงในการเขียนน้อยมากค่ะ ซึ่งทำให้มือไม่ล้าง่ายและทำให้มีการเคลื่อนไหวที่สะดวกขึ้น
พัฒนาการด้านการเขียน
การเขียนไม่ใช่แค่สอนให้เด็กแค่จับดินสออย่างเดียวแล้วจะเขียนได้เลย หากแต่ต้องมีทักษะที่ส่งเสริมซึ่งกันและกันอยู่ซึ่งแยกออกจากกันไม่ได้ค่ะ
10 - 12 เดือน ขีดเขียนเส้นขยุกขยิก
1 - 2 ปี พัฒนาจากเส้นขยุกขยิกเป็นการเลียนแบบเส้นแนวตั้ง เส้นแนวนอน คุณแม่สามารถวาดรูปให้เขาฝึกวาดตามก็ได้ค่ะ
2 - 3 ปี ลอกแบบเส้นแนวตั้ง และเส้นแนวนอน โดยไม่ต้องให้ดูในขณะวาดได้
3 ปี ลอกแบบรูปวงกลม
3 - 4 ปี ลอกแบบเครื่องหมายบวกและกากบาท
4 - 5 ปี ลอกแบบเส้นเฉียงและสี่เหลี่ยมจัตุรัส
5 - 6 ปี ลอกชื่อตัวเอง และรูปที่มีความสลับซับซ้อนขึ้นได้ เช่น แบบรูปสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยมผืนผ้า สี่เหลี่ยมเปียกปูน ฯลฯ
6 - 7 ปี ลอกแบบอักษรและตัวเลข เขียนตัวหนังสือได้ตามขนาดปกติ
กิจกรรม...เมื่อเริ่มขีดเขียน
ทักษะหลายๆ อย่างผ่านจากกิจกรรมหลากหลาย ซึ่งเป็นการช่วยเตรียมความพร้อมในการส่งเสริมพื้นฐานทางด้านการเขียน ก่อนลูกถึงวัยเข้าเรียนค่ะ
- ใช้คีมหนีบขนาดใหญ่ หนีบเก็บของ เช่น คีบถั่ว คีบเหรียญ คีบลูกบาศก์
- กิจกรรมการร้อยและการเย็บ เช่น ร้อยลูกปัด ร้อยมักกะโรนี
- ตัดแป้งโดด้วยมีดพลาสติดหรือที่ตัดพิซซ่าโดยจับในท่าจับมีดหั่นเนื้อ
- ระบายสีบนกระดาษที่วางบนขาตั้งภาพ
- เล่นเกมต่อจุดโดยการลากเส้นต่อจุดจากซ้ายไปขวาหรือบนลงล่าง
เมื่อลูกถนัดมือซ้าย?
ก็ไม่มีใครสามารถยืนยันได้ว่า ทำไมเราถนัดมือซ้ายได้ แม้จะเคยมีการศึกษาวิจัยกันมาบ้างค่ะ บ้างก็ว่าเกิดจากพันธุกรรม แต่ก็มีคนอีกจำนวนร้อยละ 84 ที่พ่อแม่ถนัดขวาและคู่แฝดประมาณร้อยละ 12 จะถนัดใช้มือคนละข้าง ซึ่งคอนเฟิร์มได้แน่นอนว่า ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติแต่อย่างใด แต่ก็มีอุปสรรคในการใช้ชีวิตบ้างค่ะ เพราะสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ออกแบบมาสำหรับคนถนัดขวา ลองจินตนาการดูเล่นๆ ว่า ถ้าจับเมาส์คอมพิวเตอร์ด้วยมือซ้าย ก็ดูแปลกหูแปลกตาใช่เล่นไม่เบาค่ะ
เริ่มต้นดีมีชัยกว่าครึ่ง
ก็มีข้อควรระวังสำหรับการเขียนอยู่อย่างหนึ่งค่ะ คือต้องเริ่มต้นจับดินสอให้ถูกต้อง จัดท่านั่งที่เหมาะสม และเขียนจากทิศทางที่ถูกต้อง เพราะหากเริ่มต้นผิด ก็อาจจะผิดไปจนเติบโตได้ ดังสุภาษิตที่ว่า ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก
ที่มา :: http://www.wattanasatitschool.com