สอนวิธีใช้เงินแก่เด็ก
ช่วงปิดภาคเรียน ผู้ปกครองจะมีเวลากับบุตรหลานมาก หากท่านจะถือโอกาสนี้สอนเรื่องการใช้เงินให้กับบุตรหลานของท่าน ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี
การสอนให้เด็กรู้จักค่าของเงิน และรู้จักใช้เงิน เป็นการสอนที่คุ้มค่า เพราะเป็นการปูรากฐานไปสู่ชีวิตที่มั่นคงต่อไปในอนาคต นักวิชาการพบว่าวิธีการสอนเด็กที่ดีที่สุดคือ การทำตัวเป็นแบบอย่าง ไม่ว่าฐานะการเงินของครอบครัวจะอยู่ในระดับใดก็ตาม พ่อแม่ ผู้ปกครองควรจะแสดงให้เด็กเห็นถึงตัวอย่างของการเก็บออม และการใช้เงิน ทั้งนี้ในการสอนเกี่ยวกับการใช้เงินและออมเงินนี้ ต้องยอมให้เด็กมีการทำผิดพลาดบ้างเพื่อการเรียนรู้ และต้องให้เด็กได้เข้ามาในวงสนทนาเกี่ยวกับการเงินของครอบครัวบ้าง ตามความเหมาะสมของวัย
ก่อนอื่น เด็กต้องเรียนรู้ถึงค่าของเงิน ต้องทราบว่าเงินมีค่า และไม่ได้มาง่ายๆ ต้องมีการทำงานเพื่อให้ได้มา เด็กอาจจะสงสัยว่าพ่อแม่มีรายได้เท่าไร ไม่จำเป็นต้องบอกรายละเอียดค่ะ แต่ต้องบอกว่ารายได้ไม่ได้มีไม่จำกัด (ไม่ว่าท่านจะมีเงินมากเพียงใดก็ตาม) และรายได้ที่ได้มาก็ต้องนำมาจัดสรรแบ่งไว้ใช้ในส่วนต่างๆ เช่น ค่าอาหาร ค่าเช่าบ้าน ผ่อนบ้าน ค่าเล่าเรียน ใช้ในการพักผ่อนหย่อนใจ เก็บไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน และเก็บไว้ใช้ในยามที่หยุดทำงาน
เด็กต้องรับทราบว่าในบางครั้งผู้ใหญ่ก็ไม่สามารถได้ของทุกอย่างที่อยากได้ หรือต้องเก็บเงินเป็นเวลานาน กว่าจะได้สิ่งของที่อยากได้ และหลายๆ ครั้ง ต้องพบกับความผิดหวัง มิเช่นนั้น เด็กจะสงสัยว่า ทำไมเขาไม่ได้ของชิ้นนี้ชิ้นนั้น เพราะแม่บอกว่าแพงเกินไป แต่แม่กลับซื้อของแพงมากๆ ให้ตัวเองจนคุณพ่อบ่น บางครั้งพ่อแม่อาจจะต้องระมัดระวังการพูดถึงเงินจำนวนก้อนสูงๆ เพราะเด็กอาจจะสำคัญผิดว่าพ่อแม่ร่ำรวย และเขาไม่ต้องเดือดร้อนดิ้นรน ก็จะมีเงินใช้ไปตลอด
เมื่อเด็กโตขึ้น การให้เงินค่าขนมเป็นก้อน เช่น รายสัปดาห์หรือรายเดือน จะช่วยให้เด็กเรียนรู้ที่จะจัดสรรเงิน เพื่อให้ใช้ได้จนครบกำหนดเวลา ในช่วงแรกๆ อาจชักหน้าไม่ถึงหลังบ้าง แต่ก็เป็นการเรียนรู้จากข้อผิดพลาด เพื่อให้ในครั้งต่อๆ ไป สามารถจัดการเงินได้ดีขึ้น
เด็กควรจะเรียนรู้ที่จะออมเงินค่าขนมไว้ส่วนหนึ่ง และรู้ว่าเงินที่ออมไว้นี้จะสามารถนำไปซื้อของชิ้นใหญ่ที่เด็กอยากได้ด้วยตนเอง ในช่วงต้นๆ อาจต้องสร้างแรงจูงใจให้ออม เช่น ด้วยการช่วยสมทบเงินให้อีก 50% เพื่อให้เด็กซื้อของที่อยากได้เร็วขึ้น แต่ถึงจุดหนึ่งแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องสมทบค่ะ เมื่อเงินออมพอกพูน ก็อาจจะเริ่มเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารได้
ผู้ใหญ่ควรจะสอนให้เด็กรู้จักเผื่อแผ่ให้กับผู้อื่นด้วย ในโอกาสที่มีการทำทาน ทำบุญ ควรทำให้เด็กเห็น และสอนบทเรียนให้ด้วย การพาไปสถานสงเคราะห์เด็กพิการ ก็จะเป็นบทเรียนหนึ่งที่ให้เด็กเรียนรู้ว่าตนเองโชคดีกว่าผู้อื่นเพียงใด ที่ร่างกายมีความสมบูรณ์ และเด็กควรจะนำเงินที่ออมมาบริจาคด้วยส่วนหนึ่ง เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจ และอิ่มเอิบใจ
เมื่อโตขึ้นถึงระดับหนึ่ง เด็กควรจะเรียนรู้ที่จะหาเงินรายได้พิเศษเพื่อเก็บไว้ใช้จ่ายหรือเพื่อซื้อในสิ่งที่ประสงค์ สมัยเด็กๆ ดิฉันชอบขายของมาก คือ สนุกที่จะได้เก็บเงิน ทอนเงิน สนุกที่จะได้กำไร เงินที่ได้ส่วนใหญ่จะนำไปซื้อหนังสือนวนิยาย เพราะหนังสือความรู้ขอเงินพิเศษซื้อได้อยู่แล้ว แต่นวนิยายต้องเก็บเงินซื้อเอง ขายไปขายมา ก็ขายเพราะอยากได้กำไร เอามาออมต่อ ไม่ได้เอาไปใช้ซื้ออะไร แต่ได้เรียนรู้ถึงการลงทุน การผลิต(ในบางครั้ง) และการขาดทุนด้วย ซึ่งก็ทำให้เรียนรู้ว่าเงินทองเป็นของหายาก
ท่านอาจจะจ่ายค่าจ้างให้กับบุตรหลานของท่านในการไหว้วานให้ช่วยงานบางอย่าง เช่น เช็ดกระจกหน้าต่างบ้าน ล้างรถ ฯลฯ ทั้งนี้ไม่ได้เป็นการสอนให้เด็กเห็นแก่เงิน แต่เป็นการให้รางวัล และสอนให้รู้จักทำงานหาเงิน วิธีฝรั่งจะใช้กันมาก อายุเกิน 10 ขวบ พ่อแม่ก็จะจ้างให้ตัดหญ้า รดน้ำต้นไม้ หรือหากอายุเกิน 15 ปีก็อาจออกไปรับจ้างดูแลเด็กบ้านอื่น ในยามที่พ่อแม่ของเด็กออกไปธุระข้างนอก เป็นต้น
สอนเรื่องการกู้ยืม ควรจะใช้โอกาสที่เด็กต้องการในสิ่งที่มีมูลค่าสูง ในการสอนเรื่องการกู้ยืม โดยให้กู้จากพ่อแม่นี่แหละค่ะ กู้แล้วต้องใช้คืน จะคิดดอกเบี้ยหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ เด็กจะได้ทราบว่าเขาสามารถกู้ยืมได้ แต่ต้องมีภาระในการใช้คืน ถ้าไม่ใช้คืนก็ต้องใช้วิธีการหักค่าขนมในงวดต่อๆ ไป เพื่อสร้างวินัยให้กับเด็ก
ในการสอนการใช้เงินให้กับเด็กนี้ ผู้ปกครองต้องใจแข็ง หากต้องการบรรลุเป้าหมาย เพราะเมื่อโตขึ้น บุตรหลานของท่านจะต้องออกไปต่อสู้กับโลกภายนอกด้วยตนเอง ท่านไม่สามารถจะดูแลเขาไปได้ตลอด เขาจึงต้องเรียนรู้และจัดการเงินของตนเองได้
ที่มา : วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ กรุงเทพธุรกิจ 23 เมษายน 2550
เคล็ดลับสอนลูกใช้ตังค์ (momypedia)
ตอบลบเด็กบางคนก็ใช้เงินเป็นเบี้ย ไม่ยอมเก็บออม บางคนก็เก็บเอา ๆ ไม่ยอมใช้จนกลัวจะกลายเป็นคนงก ลองดูเทคนิคสอนลูกใช้เงินของแม่ ๆ ตัวจริง ที่ลองแล้วบอกว่า...ของเขาดีจริง
1 .สิ่งสำคัญมาก ๆ สำหรับการสอนลูกใช้เงินให้ได้ผล คือการทำตัวเป็นต้นแบบที่ดีด้วยค่ะ อะไรที่เราสอนลูกเราก็ต้องทำอย่างนั้น เช่น เราสอนให้ลูกรู้จักประหยัด แต่เราเองไม่ทำก็ไม่มีประโยชน์อะไรหรอกค่ะ
2. ให้ลูกได้รับผิดชอบเงินของตัวเอง สอนลูกว่าสิ่งไหนที่เราควรจ่ายหรือไม่ควรจ่าย เช่น ถ้าลูกอยากได้ของเล่นที่แถมมากับขนม ซึ่งเราดูแล้วว่าไม่มีประโยชน์ เราก็บอกลูก แต่บางทีลูกอาจจะดื้อบ้าง ก็ต้องตั้งกติกางดซื้อขนมที่แถมของเล่นนี้ไงคะ หรือให้เลือกชิ้นใดชิ้นหนึ่งเพียงชิ้นเดียว
3. สอนให้ลูกรู้จักบริจาคเงินช่วยเหลือคนอื่นบ้างนะคะ เดี๋ยวจะกลายเป็นเจ้าหนูจอมงกไปเสียก่อน เช่น มูลนิธิที่เกี่ยวกับเด็กวัยเดียวกับเขา
เทคนิคดี๊ดีของคุณแม่มือโปร
...คิดเหมือนกันว่าจะให้ลูกเท่าไหร่ดี เลยไปถามแม่ค้าที่ขายขนมที่โรงเรียนว่ามีขนมขายถุงและเท่าไหร่บ้าง ดิฉันให้ลูกไปโรงเรียนวันละ 10 บาทค่ะ โดยกะให้เหลือบ้างสัก 2 - 3 บาท และก็จะบอกลูกว่า เงินอันนี้แม่ให้หนูไว้ไปซื้อขนมกินที่โรงเรียนเวลาพักกลางวัน หรือตอนเย็น หนูซื้อขนมทานส่วน 1 อีกส่วน 1 ถ้าเหลือ เอามาหยอดกระปุกที่บ้าน เก็บไว้ใช้ยามจำเป็น หรือซื้อของที่หนูอยากได้ พูดกับลูกบ่อย ๆ แรก ๆ ก็ไม่เหลือเงินหรอกค่ะ จนแกร้องอยากได้ของเล่น ดิฉันก็บอกว่าหยอดกระปุกให้เต็มก่อน แล้วแม่จะพาไปซื้อ ลูกจึงเริ่มหยอดกระปุก ทุกวันนี้ลูกจะเหลือเงินมาหยอดกระปุกทุกวัน และบอกว่า เดี๋ยววันเกิดแม่ หนูจะทุบกระปุกไปซื้อของขวัญให้แม่
นอกจากนี้เวลาไปซื้อของในห้างสรรพสินค้า ดิฉันจะบอกลูกว่า เค้ามีสิทธิใช้สตางค์ซื้อของอะไรก็ได้ที่แม่เห็นว่าสมควร สามารถซื้อได้ ในราคาไม่เกิน 20 บาท นั่นคือสิทธิที่เค้าจะได้ ถ้าสินค้าที่เค้าต้องการมีราคาแพงกว่านี้ดิฉันก็ไม่ซื้อให้ ซึ่งบางครั้งถ้าเลือกซื้อของแล้วตัดสินใจไม่ได้ ก็จะมีหันมาปรึกษาแม่เหมือนกันค่ะ ว่าลูกซื้ออันนี้ได้ไหม หรือบางทีขึ้นไปชั้นของเล่น ดิฉันก็จะให้เงินเค้าหยอดเครื่องเล่นได้แค่ 30 บาท เค้าสามารถเลือกเล่นอะไรก็ได้ แต่ถ้าหมดแล้วก็คือ พอ ไม่มีการขอเพิ่ม
....
ตอบลบแม่น้องชุ้ง
ให้เงินลูกไปโรงเรียนวันละ 10 บาท มีกระเป๋าสตางค์เล็ก ๆ มีสายสะพายคล้องคอด้วย กันหล่นหายค่ะ มีนโยบายให้ลูกเหลือเงินกลับมาหยอดกระปุกทุกวัน กี่บาทก็ได้ แต่ต้องเหลือ และต้องเล่าให้ฟังทุกวันว่าซื้ออะไรไปบ้าง ราคาเท่าไหร่ ถ้าลูกเล่าว่าซื้อขนมปัง หรือ เค้ก หรือของมีประโยชน์ จะมีการชมเชยลูกและสนับสนุน แต่หากเป็นของไม่มีประโยชน์ ก็จะสอนลูกให้รู้จักการใช้เงินอย่างคุ้มค่าค่ะ ก่อนนอนทุกคืนหลังเล่านิทานให้ลูกฟังเสร็จ จะมีการพูดคุยเป็นการซึมซับไปทีละน้อยว่า พ่อแม่ทำงานหนัก กว่าจะหาเงินมาให้ลูกได้เรียนหนังสือ ได้ใช้ซื้อขนม ซื้ออาหาร ซื้อชุดสวย ๆ ได้อยู่อย่างสบาย ตอนนี้ลูกรู้จักใช้เงินอย่างประหยัดค่ะ
แม่หนูนีน่า
ดิฉันจะให้ลูกขายพวกของเล่นช่วงปิดเทอมมาตั้งแต่อนุบาล 2 ค่ะ ราคาต้นทุนชิ้นละ1-10 บาท แล้วให้ลูกติดราคาขายเอง จัดมุมสินค้าเอง แล้วก็จดบันทึกรายการสินค้าด้วย ช่วงแรกดิฉันจะออกต้นทุนให้ลูกก่อน พอขายเสร็จก็จะให้เขาหักกำไรและเอาทุนมาคืนแม่ ตอนหลังเขามีเงินเหลือทำทุนเองค่ะ
การขายของทำให้เด็ก ๆ รู้จักการทำงานและรู้ว่ากว่าพ่อแม่จะหาเงินมาให้เค้าใช้จ่าย ต้องทำงานหนักเพียงไร เพราะกว่าลูกจะขายของได้แต่ละชิ้น นั้นนานแค่ไหน บางวันนั่งเป็น 1-2 ชั่วโมงกว่าจะขายได้ และเด็ก ๆ ยังได้รู้จักการใช้จ่ายการเก็บออมเงิน การวิเคราะห์ การรู้จักแก้ปัญหา และการวางแผนการใช้เงินด้วย เดี๋ยวนี้ทำเหรียญบาทตกยังเก็บเลยเพราะรู้ค่าว่าเงินหายาก เป็นการสอนที่เด็กได้เรียนรู้จากของจริง และสนุกด้วยค่ะ
แม่ลูกหนึ่ง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก (momypedia)
ลูกนับว่าเป็นแก้วตาดวงใจของพ่อแม่ทุกคน การจะเลี้ยงดูลูกให้เติบใหญ่และประสบความสำเร็จต้องอาศัยการสั่งสอนในหลายๆ เรื่อง และเรื่องหนึ่งที่พ่อแม่ไม่ควรละเลยคือ การสอนลูกให้ใช้เงินเป็น เพราะในอนาคตเมื่อลูกเติบโตขึ้น แต่ไม่รู้จักวิธีใช้หรือบริหารเงินที่ถูกต้อง เงินที่มีอยู่ก็มีโอกาสที่จะลดลงได้ง่าย เราจึงนำ 8 เทคนิคง่ายๆ เพื่อสอนเรื่องการใช้เงินเบื้องต้นมาฝากกันค่ะ
ตอบลบ1. ทำบัญชีรายรับรายจ่าย เทคนิคในการจัดการเงินทองขั้นตอนแรกที่พ่อแม่ควรสอนลูกคือ การทำบัญชีรายรับรายจ่าย ซึ่งจะช่วยให้เด็กรู้ว่า เงินค่าขนมที่ได้รับในแต่ละวันถูกใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง เช่น ค่าขนม ค่าอาหาร หรือค่าเดินทาง หากเงินที่ได้รับในแต่ละวัน ไม่พอใช้จ่าย บัญชีรายรับรายจ่ายจะช่วยให้ทราบว่า ควรปรับลดค่าใช้จ่ายส่วนใด เพื่อให้เงินค่าขนมที่ได้รับในแต่ละวันเพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น
2. ออมก่อนใช้ เมื่อได้รับเงินค่าขนม เด็กๆ มักจะใช้เงินที่มีจนหมด และไม่เหลือเก็บออม การสอนให้ลูกออมเงินเพื่อเป้าหมายต่างๆ เป็นสิ่งที่จะช่วยปลูกฝังนิสัยรักการออมของลูกได้ ยกตัวอย่างเช่น หากลูกอยากได้จักรยานราคา 1,500 บาท พ่อแม่ควรสอนให้ลูกออมเงิน โดยวิธีการออมที่จะช่วยให้ไปถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้นคือ การตั้งเป้าหมายและออมก่อนใช้ เช่น ลูกได้รับเงินค่าขนมสัปดาห์ละ 300 บาท การหักเงินเพื่อออมสำหรับค่าจักรยานก่อนใช้จ่ายสัปดาห์ละ 30 บาท จะช่วยให้ลูกสามารถออมเพื่อจักรยานได้ภายใน 1 ปี ซึ่งจะทำให้เขารู้สึกภาคภูมิใจกับของที่ซื้อได้ด้วยเงินเก็บของตัวเอง
3. ซื้อเฉพาะสิ่งของที่จำเป็น ของเล่นกับเด็กมักเป็นของคู่กัน บ่อยครั้งที่พ่อแม่มักใจอ่อนเมื่อลูกร้องขอให้ซื้อของเล่นที่ตนอยากได้ การซื้อของเล่นให้เป็นประจำจะทำให้ลูกไม่รู้จักค่าของเงิน และอาจสร้างนิสัยใช้จ่ายฟุ่มเฟือยให้เกิดขึ้นเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ การปฏิเสธคำขอร้องให้ซื้อของเล่นและอธิบายถึงการใช้เงินในการซื้อของที่จำเป็นจะช่วยสร้างนิสัยที่ดีในการใช้จ่ายเงิน นอกจากนี้ พ่อแม่ยังสามารถให้ของเล่นเป็นรางวัลให้กับลูกในการทำความดีต่างๆ เช่น สอบได้คะแนนดี หรือช่วยทำงานบ้าน เพื่อให้ลูกรู้จักถึงคุณค่าของการทำความดีและรู้ถึงคุณค่าของของเล่นที่ได้รับ
4. อย่าซื้อสินค้าเพราะของแถม สติ๊กเกอร์ ของเล่น หรือตุ๊กตา ของแถมเหล่านี้มักล่อใจให้เด็กๆ ซื้อขนมเกินความจำเป็น บางคนถึงขนาด ทิ้งขนมเพื่อเอาแต่ของแถมเลยก็มี พ่อแม่จึงควรสอนให้ลูกอย่าซื้อขนมเพื่อของแถม เพราะเป็นการใช้จ่ายเงินที่สิ้นเปลือง โดยควรเก็บเงินที่จะซื้อขนมพ่วงของแถมมาออมเพื่อซื้อของเล่นชิ้นใหญ่จะดีกว่า
5. รู้จักการซื้อของแบบปลีกและส่ง เทคนิคในการเลือกซื้อของอย่างง่ายๆ ที่พ่อแม่สามารถแนะนำให้ลูกทำได้คือ การซื้อของแบบหลายชิ้นหรือยกโหลจะได้ราคาต่อชิ้นที่ถูกกว่าการซื้อแบบชิ้นเดียว โดยเทคนิคนี้จะใช้ได้ดีกับสินค้าที่เราใช้เป็นประจำเป็นจำนวนมากเช่น ดินสอ สมุด เป็นต้น สมมติ ดินสอราคาแท่งละ 5 บาท ซื้อยกโหลจะได้ราคาโหลละ 50 บาท หากใช้ดินสอเดือนละ 5 แท่ง พ่อแม่ควรซื้อแบบยกโหล เพราะใช้เพียง 2 เดือนครึ่ง ดินสอ 1 โหลก็จะหมดไป และจะช่วยให้ประหยัดเงินได้โหลละ 10 บาท อย่างไรก็ดี ของบางอย่างก็ไม่จำเป็นต้องซื้อยกโหล เพราะมีอายุการใช้งานที่นาน เช่น ยางลบหรือไม้บรรทัด การซื้อแบบยกโหลอาจทำให้ซื้อของมามากเกินความจำเป็นได้
...
6. ซื้อสดดีกว่าซื้อผ่อน เพราะนอกจากจะได้ราคาสินค้าที่ถูกกว่าแล้ว ยังไม่ต้องเป็นหนี้ธนาคารหรือสถาบันการเงินไหนอีกด้วย ผิดกับการซื้อด้วยเงินผ่อนที่ราคามักจะสูงกว่าการซื้อด้วยเงินสด เพราะคนขายบวกดอกเบี้ยเพิ่มเข้าไป เพื่อให้คุ้มค่ากับการรอคอยที่ได้รับเงินชำระค่าสินค้านาน ทำให้ราคาขายสินค้าด้วยเงินผ่อนสูงกว่าการขายสินค้าเงินสด ดังนั้น หากยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้สินค้า อาจเก็บเงินไปก่อนเพื่อซื้อด้วยเงินสด เพื่อหลีกเลี่ยงภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย
ตอบลบ7. รู้จักกับการใช้บัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิต บ่อยครั้งที่พ่อแม่มักทำบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตให้ลูกไว้กดเงินหรือรูดซื้อสินค้าต่างๆ แต่การใช้บัตรเหล่านี้อย่างไม่ระมัดระวังอาจทำให้ลูกใช้เงินเกินตัว พ่อแม่จึงควรสอนให้ลูกใช้บัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตเพื่อซื้อสินค้าที่จำเป็น ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย รวมทั้งความปลอดภัยในการใช้บัตร เช่น การเปลี่ยนรหัสบัตรเอทีเอ็มเป็นประจำ ไม่บอกรหัสบัตรกับเพื่อนๆ การเซ็นด้านหลังบัตรเดบิต รวมถึงการดูแลรักษาบัตรไม่ให้สูญหาย ซึ่งจะช่วยให้พ่อแม่อุ่นใจได้ว่า เงินที่ตนตั้งใจฝากไว้ให้ลูกใช้จ่ายจะไม่ตกไปอยู่ในมือของมิจฉาชีพ
8. แบ่งปันให้กับผู้ด้อยโอกาส เมื่อเด็กๆ เติบโตขึ้นมักจะมีของเล่นที่ไม่ใช้แล้ว การนำของเล่นเหล่านี้ไปบริจาคให้กับผู้ด้อยโอกาส เช่น สถานเลี้ยงเด็กกำพร้า หรือ เด็กพิการ นอกจากจะใช้ของเล่นที่มีอยู่ให้คุ้มค่าแล้ว ยังเป็นการสอนให้ลูกรู้จักการแบ่งปันให้กับผู้อื่น และยังให้ลูกได้รู้ถึงคุณค่าของสิ่งของหรือของเล่นที่ตนเองมี
สอนลูกเรื่องใช้จ่ายเงินไม่ใช่เรื่องยาก โดยพ่อแม่สามารถสอนสิ่งเหล่านี้ให้กับลูกได้ตั้งแต่อยู่ชั้นประถมศึกษาไปจนถึงมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ พ่อแม่สามารถสอนลูกให้รู้จักกับการออมและลงทุน เช่น การเปิดบัญชีเงินฝาก หรือการเริ่มต้นในกองทุนรวม เพื่อช่วยให้เงินที่เก็บออมมางอกเงยเป็นเงินก้อนใหญ่ได้รวดเร็วขึ้นค่ะ
บันได 4 ขั้น สอนลูกใช้เงิน “เป็น”
ตอบลบเวลาลูกรบเร้าขอซื้อของเล่น ขนม หรือสิ่งของที่อยากได้ คุณเป็นพ่อแม่ที่มักใจอ่อน หรือทนการรบเร้าไม่ได้ หรือกลัวลูกไม่รัก หรือไม่อยากให้ลูกร้องไห้อาละวาด หรือมักตัดรำคาญก็เลยให้เงินลูกไปซื้อของโดยไม่ได้สนใจว่าลูกซื้ออะไรหรือเปล่า
ถ้าใช่ล่ะก็…คุณกำลังเป็นพ่อแม่ที่กำลังทำร้ายลูกแล้วล่ะค่ะ..!!
เพราะพฤติกรรมที่ว่ามาทั้งหมดข้างต้นได้มีส่วนต่อการบ่มเพาะนิสัยเรื่องการใช้เงินที่ไม่เหมาะสมกับลูกเป็นอย่างมาก
ประการแรก ลูกได้เรียนรู้แล้วว่าเขาจะใช้วิธีไหนในการจัดการกับพ่อแม่เพื่อเขาจะได้ในสิ่งที่ต้องการ ถ้าพ่อแม่ขี้รำคาญ ก็ต้องอาศัยลูกตื้อเท่านั้น แต่ถ้าพ่อแม่กลัวอายคนอื่น ก็แหกปากร้องไห้ซะจะได้จบๆ หรือถ้าเขารู้ว่าทำแบบนี้แม่ไม่ให้แน่ แต่ถ้าทำกับพ่อรับรองได้แน่
ประการที่สอง ลูกไม่รู้คุณค่าของเงิน เพราะเมื่อเขาได้เงินมาง่าย เขาก็ย่อมใช้จ่ายไปได้ง่ายๆ เพียงเพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเอง โดยไม่เห็นคุณค่าของเงินที่พ่อแม่หามาอย่างยากลำบาก และมักจะเข้าใจเอาเองว่าพ่อแม่มีเงินอยู่แล้ว เมื่อเขาอยากได้อะไรก็ขอพ่อแม่เอาเท่านั้น
ประการที่สาม พฤติกรรมการใช้เงินของเขาจะติดตัวไปจนโต เขาจะซื้อของที่เขาอยากได้ มากกว่าจะซื้อของที่เขาจำเป็น เพราะเป็นผลสืบเนื่องมาจากการใช้เงินไม่เป็น ใช้เงินไม่เหมาะสม และพ่อแม่ผู้ปกครองก็ไม่ได้อธิบายที่มาและวิธีการใช้เงินที่ถูกต้องและเหมาะสม
เรียกว่า ไม่ต้องรอให้มีงานวิจัยออกมาตอกย้ำมากมายหรอกว่า พฤติกรรมการใช้จ่ายเงินของเด็ก มักจะมีพฤติกรรมเหมือนพ่อแม่ เด็กบางคนเหมือนแม่ เด็กบางคนเหมือนพ่อ หรือเหมือนผู้ใหญ่ในบ้านที่มีบทบาทและใกล้ชิดกับเด็ก
ฉะนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเป็นต้นแบบสำคัญในการพัฒนานิสัยและพฤติกรรมในเรื่องการใช้เงินให้ถูกวิธี
อย่าคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเล่นๆ นะคะ หรืออย่าคิดว่าลูกยังเล็กเกินไป เพราะเรื่อง “เงิน” เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน เรียกว่า ตั้งแต่ตื่นเช้าขึ้นมา เราก็ต้องเผชิญกับการใช้เงิน เริ่มตั้งแต่การเดินทาง อาหาร 3 มื้อ ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายซื้อของระหว่างวัน เรียกว่า ค่าใช้จ่ายจิปาถะเกิดขึ้นได้เรื่อยๆ ตามความคิดว่าจำเป็นของแต่ละคน มีทั้งที่จำเป็นแบบเร่งด่วน จำเป็นแบบรอได้ หรือไม่จำเป็นแต่อยากได้ เพราะปัจจุบันมีสิ่งยั่วยุอยู่รอบทิศทาง ที่พร้อมจะทำให้เราควักเงินจ่ายได้เรื่อยๆ ถ้าไม่รู้จักยับยั้งชั่งใจ
ยิ่งครอบครัวที่มีลูก ค่าใช้จ่ายจะงอกเพิ่มพูนขึ้นทันที และโปรดตระหนักไว้ด้วยว่าค่าใช้จ่ายจะเพิ่มตามอายุลูกที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้นถ้าไม่มีการเตรียมรับมือหรือวางแผนที่ดี ก็อาจมีปัญหาตามมาแน่นอน
เรื่องการปลูกฝังให้ลูกใช้เงิน “เป็น” จึงเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ต้องตระหนัก ลองดูเทคนิคบันได 4 ขั้น ที่พ่อแม่สามารถปลูกฝังลูกได้ตั้งแต่เล็กมาฝากค่ะ
ข้อแรก พ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่าง เพราะลูกจะซึมซับพฤติกรรมเรื่องการใช้เงินทางตรงจากพ่อแม่ผู้ปกครอง และเป็นการซึมซับจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เด็กจะเรียนรู้การใช้เงินว่าพ่อแม่ซื้อทุกสิ่งอย่างที่อยากได้ หรือซื้อของที่จำเป็น เขาจะเรียนรู้ว่าอะไรฟุ่มเฟือยหรือไม่ก็จากการใช้เงินของพ่อแม่ และพ่อแม่ที่เก็บออม ลูกก็มักจะเก็บออมเป็นตั้งแต่เล็ก
...
ข้อสอง สอนให้รู้ที่มาของเงิน อย่าคิดว่าลูกเล็กเกินไป พ่อแม่สามารถบอกได้โดยคำนึงถึงวัยของลูก แต่ต้องเล่าให้ฟังว่าทำไมพ่อแม่ถึงมีเงิน ยกตัวอย่าง พ่อแม่ต้องเรียนจนจบ และต้องทำงานถึงจะได้เงินมา ไม่ใช่ได้เงินมาเฉยๆ และเมื่อได้เงินมาแล้ว เราควรจะใช้เงินแบบไหนจึงจะคุ้มค่า เพราะเงินสามารถหมดไปได้ ถ้าพ่อแม่ไม่ได้ทำงาน และการที่พ่อแม่ไปกดเงินออกจากตู้เอทีเอ็ม นั่นคือ เงินของพ่อหรือแม่เองที่ต้องทำงาน ไม่ใช่จู่ๆ จะไปกดเงินใครออกมาก็ได้ เพราะมีเด็กที่เข้าใจผิดมากมายว่าถ้าพ่อแม่ไม่มีเงินก็สามารถไปที่ตู้เอทีเอ็มแล้วกดเงินออกมาได้เลย
ตอบลบข้อสาม ทำบัญชีครอบครัว ลองฝึกให้ลูกจดบันทึกค่าใช้จ่ายของตัวเอง แล้วคุณแม่ก็จดบันทึกค่าใช้จ่ายภายในบ้าน หรือทำบัญชีค่าใช้จ่ายประจำครอบครัว โดยให้ลูกมีส่วนร่วมด้วย ลูกจะได้เห็นและเข้าใจว่า ครอบครัวต้องมีค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอะไรบ้าง จะทำให้เขาเห็นภาพ และให้ลูกได้มีส่วนร่วมในการฝึกคิดว่าควรจะซื้ออะไรหรือไม่ควรซื้ออะไร อาจยกตัวอย่างว่า เรามีเงินจำนวนหนึ่ง ต้องแบ่งออกเป็นกี่ส่วน ส่วนแรกเป็นค่าใช้จ่ายภายในบ้านที่จำเป็น ส่วนที่สองสำหรับเงินออมเพื่ออนาคตของครอบครัว พร้อมทั้งบอกเขาด้วยว่า ลูกเข้าโรงเรียนต้องมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง เราควรจะซื้ออะไรก่อนหลังดี โดยให้เขาได้มีส่วนร่วมในเรื่องการคิดคำนวณค่าใช้จ่ายภายในบ้าน ก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้เขาคิดเป็น และเห็นคุณค่าของเงินด้วย
ข้อสี่ ทดลองสนามจริง คุณอาจฝึกให้เงินเขาเป็นรายวัน แล้วค่อยๆ ขยับเป็นรายสัปดาห์ และรายเดือน เพื่อฝึกให้เขารู้จักการวางแผนการใช้เงิน และพ่อแม่ก็ชวนลูกคุยว่าเขาวางแผนการใช้เงินอย่างไร ระยะเวลากับการบริหารเงินมีความจำเป็นหรือสำคัญอย่างไร และสิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือการฝึกให้ลูกต้องคิดถึงการเก็บออมตั้งแต่เล็กให้ติดเป็นนิสัย
สิ่งที่เขาเรียนรู้จากพ่อแม่ตั้งแต่เล็ก จะทำให้เขาได้เรียนรู้คุณค่าของเงิน ว่าพ่อแม่ไม่ได้ได้เงินมาง่ายๆ ฉะนั้น เขาควรจะคิดก่อนตัดสินใจจะซื้อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และสิ่งเหล่านี้จะติดตัวเขาไปจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่
การใช้เงิน “เป็น” เป็นเรื่องที่ต้องสอนและปลูกฝัง รวมถึงการเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็กด้วย ทุกวันนี้เด็กส่วนใหญ่ใช้เงิน “ได้” แต่มักใช้เงินไม่ “เป็น” ซึ่งวิธีการใช้เงิน “เป็น” ก็ไม่มีในตำราเรียน ไม่มีสูตรสำเร็จชัดเจนในการบอกว่าต้องใช้วิธีอย่างนี้สิถึงจะคุ้มค่า เพราะความจำเป็นและคุ้มค่าของแต่ละคนไม่เหมือนกัน
แต่ปัญหาใหญ่หนักอกของสังคมไทยที่น่ากังวลขณะนี้ คือ พ่อแม่ส่วนใหญ่บริหารจัดการเรื่อง “เงิน” ไม่เป็น..!!!!
.
สอนลูกให้รู้ค่าของเงิน
ตอบลบการปลูกฝังให้ลูกรู้ค่าของเงินตั้งแต่ยังเล็ก เป็นการปูทางให้เด็กๆ เห็นคุณค่าของเงินทุกบาททุกสตางค์ และไม่ใช้จ่ายสุร่ยสุร่ายตามใจตัวเองเมื่อโตขึ้น ด้วยแนวทางต่างๆ ดังต่อไปนี้ คุณพ่อคุณแม่สามารถนำไปฝึกฝนลูกได้ดีทีเดียว
สอนให้ลูกรู้จักหยอดกระปุกออมสิน เพื่อสะสมเงินไว้ซื้อของที่อยากได้ ซึ่งวิธีนี้จะทำให้เด็กๆ รู้ค่าของเงินได้เร็วขึ้น และกระตือรือร้นที่จะอดออมเท่าที่จะทำได้
ควรให้ค่าขนมลูกอย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็น รายสัปดาห์ หรือรายเดือน
เพราะเป็นวิธีที่สอนให้เด็กๆ รู้จักรับผิดชอบ ควบคุมการใช้เงิน และ
การเก็บออมได้เป็นอย่างดี อย่าเอาผลการเรียน หรือการจ้างทำงาน
บ้าน มาแลกกับเงินค่าขนม เพราะค่าขนม ไม่ได้ขึ้นกับผลการเรียน
ให้ลูกทำงานพิเศษเพิ่มเติม เช่น การช่วยงานล้างรถ หรือช่วยงาน
ตัดหญ้า ซึ่งงานเหล่านี้ต้องเป็นงานเพิ่มเติม จากงานบ้านเดิมที่ต้อง
รับผิดชอบอยู่แล้ว เป็นต้น สำหรับการจ่ายเงินพิเศษนี้ควรแยก
ปลูกฝังนิสัยการใช้เงินอย่างฉลาด
ตอบลบการสอนให้เด็กๆ สามารถบริหารการใช้เงินอย่างคุ้มค่าได้ด้วยตัวเอง
ไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินไปที่เด็กจะเรียนรู้ได้ โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถ
ฝึกฝนให้เขาได้เรียนรู้แบบค่อยเป็นค่อยไปได้ด้วยแนวทางดังนี้
สอนให้ลูกคิดก่อนจ่าย โดยควรปลูกฝังให้ใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น
มากกว่าสิ่งที่ฟุ่มเฟือย เพื่อให้เด็กๆ ได้รู้ค่าของเงิน เช่น การซื้อของ
เล่นใหม่ หากไม่ต่างไปจากเดิมมาก ก็ควรเล่นของเดิมไปก่อน หรือ
นำของเก่ามาต่อเติม หรือดัดแปลง ให้กลายเป็นของเล่นใหม่ เป็นต้น
ฝึกฝนให้ลูกใช้เงินให้เป็น เพื่อให้เด็กๆ ได้รู้จักการวางแผนการจับจ่ายอย่างคุ้มค่า โดยอาจพาลูกไปซูเปอร์มาร์เก็ตด้วยกัน ให้เขาได้เรียนรู้และได้เห็นการวางแผนการจับจ่าย พร้อมกับสอน วิธีการเลือกซื้อสินค้าที่คุ้มค่าคุ้มราคา
ฝึกให้ลูกซื้อของด้วยตนเอง เพื่อให้เขาได้สัมผัสกับประสบการณ์จริง โดยอาจตั้งงบจำนวนหนึ่งให้เขาไปซื้อสินค้าที่พ่อแม่ต้องการ จากนั้นดูผลการซื้อ พร้อมกับแนะนำวิธีการใช้จ่าย การเลือกซื้อที่ถูก