ความดันโลหิตสูง ภัยเงียบ..ที่คุณอาจไม่รู้ตัว
ความดันโลหิต คืออะไร ?? ความดันโลหิตเท่าไรเรียกว่าปกติ
ปัจจุบันความดันโลหิตที่เรียกว่า “ เหมาะสม ” ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 18 ปี คือ ความดันโลหิตค่าบนไม่เกิน 120 มม.ปรอท และความดันโลหิตค่าล่างไม่เกิน 80 มม.ปรอท เรียกสั้นๆ ว่า 120/80 ความดันโลหิตสูงเล็กน้อย ควรติดตามอย่างใกล้ชิด คือ 120-139/80-89 มม.ปรอท จะเรียกได้ว่าความดันโลหิตสูงเมื่อความดันโลหิตตัวบนมากกว่า (หรือเท่ากับ) 140 และตัวล่างมากกว่า (หรือเท่ากับ) 90 มม.ปรอท อย่างไรก็ตามก่อนที่จะเรียกว่ามีความดันโลหิตสูงได้นั้น แพทย์จะต้องวัดซ้ำหลายๆครั้ง หลังจากให้ผู้นั้นพักแล้ว วัดซ้ำจนกว่าจะแน่ใจว่าสูงจริงและที่สำคัญเทคนิคการวัดต้องถูกต้องด้วย
ระดับความดัน | ความดันโลหิตตัวบน (มม.ปรอท) | ความดันโลหิตตัวล่าง (มม.ปรอท) | |
---|---|---|---|
ความดันโลหิตที่เหมาะสม | < 120 | และ | <80 |
ความดันโลหิตสูงเล็กน้อย | 120-139 | หรือ | 80-89 |
ความดันโลหิตสูง | |||
ระดับที่ 1 | 140-159 | หรือ | 90-99 |
ระดับที่ 2 | >160 | หรือ | >100 |
ความดันโลหิตสูงเกิดจากอะไร ? มีอาการอย่างไร ?
จนถึงปัจจุบันนี้ความดันโลหิตสูงก็ยังเป็นโรคที่ไม่ทราบสาเหตุเป็นส่วนใหญ่ มีหลายปัจจัยมาเกี่ยวข้องทั้งพันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม เช่น อาหารเค็ม เชื้อชาติ มีเพียงส่วนน้อย (ต่ำกว่าร้อยละ 5) ที่ทราบสาเหตุ ได้แก่ ความผิดปกติของหลอดเลือด ไตวาย หรือเนื้องอกบางชนิด ความดันโลหิตสูง
ทำไมต้องลดความดันโลหิต ?
การปล่อยให้ความดันโลหิตสูงอยู่เป็นระยะเวลานานจะทำให้เกิดการเสื่อมสภาพของหลอดเลือดแดง โดยเฉพาะหลอดลือดแดงเลี้ยงสมอง ตา หัวใจ และไต จึงทำให้หลอดเลือดสมองแตก หรือตีบตัน เป็นอัมพาต ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ โรคหัวใจขาดเลือด ไตวายเรื้อรัง เป็นต้น นอกจากนั้นแล้วความดันโลหิตสูงยังทำให้หัวใจต้องทำงานหนักมากขึ้น นานเข้าก็จะเกิดภาวะหัวใจโต กล้ามเนื้อหัวใจหนา ซึ่งอาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหัวใจวายตามมาได้ ดังนี้แล้วจะเห็นได้ว่าการละเลยไม่สนใจรักษาโรคนี้ก็จะมีโทษต่อตนเองในอนาคตได้มากมาย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วแต่เป็นภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่สามารถป้องกันได้โดยการควบคุมความดันโลหิต
ความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่ไม่ทราบสาเหตุ การกินยาเป็นเพียงการรักษาที่ปลายเหตุ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องรักษาตลอดไป
- การรักษาแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การไม่ใช้ยา กับการใช้ยา การไม่ใช้ยา หมายถึง การลดน้ำหนักออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดบุหรี่ และหลีกเลี่ยงอาคารเค็มในผู้ที่ความดันโลหิตสูงเล็กน้อย อาจเริ่มรักษาโดยไม่ใช้ยา แต่หากมีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจอยู่ด้วยก็อาจจำเป็นต้องใช้ยาร่วมด้วย
- การรักษาความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติตลอดเวลา จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคแทรกทางสมอง หัวใจไตและหลอดเลือดได้
- เนื่องจากผู้ที่เป็นส่วนใหญ่ไม่มีอาการผิดปกติ แม้ความดันโลหิตจะสูงมากๆ ก็ตาม ดังนั้นจึงไม่สามารถใช้อาการมาพิจารณา
- นอกจากการกินยาแล้ว การควบคุมน้ำหนัก ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทำจิตใจให้ผ่องใสงดอาหารเค็ม ก็จะช่วยให้ควบคุมความดันโลหิตได้ดียิ่งขึ้น
ข้อมูลโดย : ศูนย์ตรวจสุขภาพ โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น