การวัดและอ่านค่าความดันโลหิต
ทำไมจึงต้องวัดความดันโลหิต ?
โรคความดันโลหิตสูง มักจะไม่มีอาการบ่งบอก ความดันโลหิตปกติ คือค่าความดันโลหิตค่าบนน้อยกว่า 120 มม.ปรอท และค่าความดันโลหิตค่าล่างน้อยกว่า 80 มม.ปรอท ผู้ป่วยอาจไม่เคยรู้ตัวจนกระทั่งได้รับการตรวจความดันโลหิตเบื้องต้น จากการศึกษาพบว่า ชาวอเมริกันประมาณร้อยละ 29 มีความดันโลหิตสูง ในจำนวนนี้ร้อยละ 68.4 เท่านั้นที่ทราบว่าตนเองมีความดันโลหิตสูง
โรคความดันโลหิตสูงได้รับสมญาว่า “ฆาตกรเงียบ” สองในสามของประชากรที่อายุมากกว่า 65 ปี มักจะมีโรคความดันโลหิตสูง การตรวจพบและรับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตเรื้อรัง รวมถึงโรคที่เกี่ยวกับตาได้
ความถี่ในการตรวจวัดความดันตามช่วงอายุ
- อายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจความดันโลหิตอย่างน้อย 1 ครั้งต่อปี
- ผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น มีน้ำหนักตัวเกิน อ้วน ควรตรวจวัดความดันโลหิต 1 ครั้งต่อปี
- อายุ 18-39 ปี ที่เคยวัดความดันต่ำกว่า 130/85 มิลลิเมตรปรอท ควรได้รับการตรวจความดันโลหิตทุก 3-5 ปี
การซื้อเครื่องวัดความดันมาใช้ที่บ้าน
แพทย์มักจะแนะนำให้วัดความดันโลหิตที่บ้าน สำหรับคนที่มีภาวะความดันสูงหรือมีความเสี่ยง หลายท่านมีคำถามว่า เครื่องวัดความดันโลหิตยี่ห้อไหนดี เนื่องจากมีหลายรุ่น และหลายยี่ห้อ โดยควรเลือกใช้แบบที่เป็นเครื่องวัดความดันระบบดิจิตอล จะเป็นระบบอัตโนมัติ สะดวกใช้งานง่าย โดยวัดที่ต้นแขน และกดปุ่ม ส่วนยี่ห้อที่นิยมจะเป็นยี่ห้อ Omron Citizen Yuwell นอกจากนี้อย่าลืมดูระยะเวลาการรับประกัน ควรจะ 3-5 ปีขึ้นไป
การเตรียมตัวก่อนวัดความดันโลหิต
- ควรปัสสาวะให้เรียบร้อยเพราะการอั้นปัสสาวะอาจส่งผลต่อค่าความดันโลหิต
- หากสูบบุหรี่หรือดื่มกาแฟและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ควรนั่งพักก่อนวัดความดันอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง
การอ่านค่าความดันโลหิตจากเครื่องวัดความดัน
หลายคนคงมีคำถามเกี่ยวกับการวัดความดันโลหิต ว่าจะอ่านค่าตัวเลขที่แสดงผลบนหน้าจออย่างไร โดยตัวแรกคือค่า systolic เป็นค่าความดันโลหิตขณะที่หัวใจบีบตัว เป็นความดันสูงสุดในหลอดเลือดแดงขณะหัวใจบีบตัวและสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ค่าหลังคือ diastolic เป็นค่าความดันโลหิตขณะที่หัวใจคลายตัว หรือเป็นความดันต่ำสุดในหลอดเลือดแดงขณะที่หัวใจคลายตัวระหว่างพักจากการสูบฉีดเลือด โดยค่าความดันโลหิตทั้ง 2 ตัวเลขต่างมีความสำคัญ หากตัวเลขใดตัวเลขหนึ่งที่สูงเกินไปอาจหมายถึงการมีภาวะความดันโลหิตสูง
แพทย์มักจะให้ความสนใจกับตัวเลขบนมากกว่า เพราะการมีค่าความดันซิสโตลิกสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป และส่วนใหญ่ค่าความดันตัวบน มักจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามอายุ เนื่องจากความฝืดและพองตัวของหลอดเลือดแดงที่เพิ่มขึ้น
ผลการวัดความดันโลหิต
ระดับความดันโลหิตปกติที่วัดได้ อย่างที่ทราบจะมีค่าตัวเลขบน และตัวเลขล่าง
ปกติตัวบนไม่ควรเกิน 120 และตัวล่างไม่ควรเกิน 80 จะเรียกว่าความดันโลหิตปกติ แต่สำหรับคนที่มีค่าบนหรือค่าล่างเกินจากนี้ ก็จะแบ่งเป็นอีกหลายระดับ แต่ละระดับก็มีความอันตรายแตกต่างกันไปด้วย ดังนี้
เริ่มต้นภาวะความดันโลหิตสูง
ผู้ที่อยู่ในระยะนี้จะมีความดันโลหิตอยู่ที่ประมาณตั้งแต่ 120-139 และ/หรือ 80-89 มิลลิเมตรปรอท ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งการทานอาหารและเพิ่มการออกกำลังกาย เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคความดันโลหิตสูง
ความดันโลหิตสูงระดับ 1
ตัวบน 140-159 ตัวล่าง 90-99 ถือว่าอยู่ในภาวะความดันสูงระดับ 1 แพทย์อาจสั่งยาลดความดัน และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทาน พร้อมการออกกำลัง
ความดันโลหิตสูงระดับ 2
ตัวบน 160-179 ตัวล่าง 100-109 ถือว่ามีความอันตรายพอสมควร และจะต้องทานยาลดความดันตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อควบคุมความดันให้สำเร็จ
ความดันโลหิตสูงขั้นวิกฤต
ถือว่าเป็น Red Zone เมื่อวัดความดันได้เกิน 180/110 ผู้ป่วยอาจมีอาการหายใจหอบเหนื่อย เจ็บหน้าอก ปวดหลัง รู้สึกอ่อนแรง มีความผิดปกติด้านการมองเห็น กรณีไม่มีอาการใด ๆ ดังกล่าว ให้รอประมาณ 5 นาที และวัดความดันใหม่อีกครั้ง ถ้ายังไม่ลด ควรรีบพบแพทย์ทันที
https://youtu.be/X-dHpcKEGDs
https://youtu.be/X-dHpcKEGDs
ความดันโลหิต นิยาม / วิธีวัดความดันโลหิต
ที่มา :: https://colletontoday.com/blood-pressure-reading/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น