Learn with Prin เรียนรู้ไปพร้อมกับน้องปริญญ์

จำหน่ายผลิตภัณฑ์ Legacy /Reborn Set ลด Fat ตัวช่วยลดไขมัน ลดน้ำหนัก แบบถูกวิธี 🔥 ติดต่อสอบถาม/สั่งซื้อ 📍 โทร ☎️ :: 084-110-5021 🌸 Line ID :: pla-prapasara 🌸 รับโปรโมชั่นสุดพิเศษเฉพาะทาง Line นะคะ 📍

วันพฤหัสบดีที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2563

รู้ไหม ก่อนผ่าตัดควร ฝึกหายใจ ก่อนนะ

 

รู้ไหม ก่อนผ่าตัดควร ฝึกหายใจ ก่อนนะ


การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ทั้งการงดอาหาร การพักผ่อนให้เพียงพอ นอกจากนี้ การฝึกหายใจก่อนผ่าตัด ก็เป็นเรื่องที่หลายคนยังไม่เคยรู้และสำคัญเช่นกัน เพราะการฝึกหายใจก่อนผ่าตัด สามารถช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นภายหลังได้

ทำไมต้องฝึกหายใจก่อนผ่าตัด?

การฝึกหายใจก่อนผ่าตัดมีความสำคัญคือช่วยลดภาวะการแทรกซ้อนทางปอดหลังผ่าตัด ซึ่งปอดเป็นระบบที่เกิดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดได้บ่อยกว่าระบบอวัยวะอื่นทั้งหมด ภาวะแทรกซ้อนทางปอดที่พบบ่อยได้แก่ การมีเสมหะคั่งค้าง และถุงลมปอดแฟบ ซึ่งทำให้ขาดออกซิเจน และตามมาด้วยปอดอักเสบติดเชื้อ

การป้องกันภาวะแทรกซ้อนทางปอดหลังผ่าตัด ทำได้โดยการฝึก3 ประการคือ หนึ่ง ฝึกหายใจเข้าลึกเต็มที่  สอง ฝึกใช้อุปกรณ์ขยายปอด และสาม ฝึกไอให้มีประสิทธิภาพ

การฝึกหายใจเข้าลึกเต็มที่ทำได้อย่างไร?

ก่อนอื่นต้องรู้ก่อนว่า ในการหายใจปกติ คนเราจะหายใจนำอากาศเข้าปอดในปริมาตรเพียง 400-500 ซีซี ทั้งที่ในความจริงแล้วปอดของคนเรามีปริมาตรความจุได้เต็มที่มากกว่า 6 ลิตร แปลว่าเรามีกำลังสำรองที่จะเพิ่มการหายใจได้สูงเป็น 10 เท่า แต่การจะหายใจเข้าให้ได้ปริมาตรความจุเต็มที่ของปอดไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ต้องฝึกใช้กล้ามเนื้อหายใจให้สามารถหายใจเข้าลึกเต็มที่

การฝึกหายใจเข้าลึกเต็มทึ่ ทำได้โดยฝึกกล้ามเนื้อหายใจส่วนต่างๆ ทุกส่วน ได้แก่ กะบังลมดึงให้ปอดขยายลงด้านล่าง  กล้ามเนื้อผนังทรวงอกด้านหน้ายกทรวงอกให้ขยายขึ้นทางด้านหน้า และกล้ามเนื้อผนังทรวงอกด้านข้างทำให้สีข้างขยายออกทั้ง 2 ข้าง  วิธีการฝึกมี 5 ขั้นตอน คือ

ขั้นตอนที่ 1    สอนให้หายใจเข้าโดยใช้กล้ามเนื้อทรวงอกด้านหน้า
โดยให้ผู้ป่วยนอนราบ ผู้ฝึกวางมือบนบริเวณกระดูกอกแล้วกดน้ำหนักลง จากนั้นให้ผู้ป่วยหายใจเข้าช้าๆ โดยให้ทรวงอกยกมือที่กดอยู่ขึ้น เมื่อใช้กล้ามเนื้อเต็มที่ทรวงอกจะยกมือขึ้นสูงเต็มที่ เมื่อเต็มที่แล้ว ให้กลั้นไว้ 3 วินาที นับ 1-2-3 แล้วเลิกใช้กล้ามเนื้อหายใจ ปล่อยให้ลมหายใจออกตามปกติ ทรวงอกจะคืนตัวมาอยู่ที่ปริมาตรขณะหายใจออกปกติ

ขั้นตอนที่ 2    สอนให้หายใจเข้าโดยใช้กะบังลม หรือที่มักเรียกกันว่า ใช้หน้าท้องหายใจ
โดยให้ผู้ป่วยนอนหงายราบ ผู้ฝึกวางมือบนหน้าท้อง ใต้ลิ้นปี่แต่เหนือสะดือเล็กน้อย กดน้ำหนักลงพอประมาณ จากนั้นให้ผู้ป่วยหายใจเข้าช้าๆ พยายามให้หน้าท้องที่ถูกมือกดอยู่นั้นค่อยๆ ขยายขึ้น  โดยไม่ใช้กล้ามเนื้อทรวงอกด้านหน้าดังที่ทำในขั้นตอนที่ 1  ถ้าสั่งกะบังลมทำงานได้จริงจะเห็นว่ามือที่กดอยู่ถูกยกให้ลอยสูงขึ้นโดยหน้าท้อง เมื่อหน้าท้องยกมือให้ลอยสูงเต็มที่แล้ว ให้ผู้ป่วยกลั้นไว้ 3 วินาที นับ 1-2-3 แล้วเลิกใช้กล้ามเนื้อหายใจ ปล่อยให้ลมหายใจออกตามปกติ หน้าท้องจะยุบคืนตัวลงดังเดิม

ขั้นตอนที่ 3   สอนให้ใช้กล้ามเนื้อทรวงอกและกะบังลมพร้อมกัน
โดยให้ผู้ป่วยนอนหงายราบ ผู้ฝึกวางมือข้างหนึ่งบนหน้าอกและอีกข้างหนึ่งบนหน้าท้อง แล้วกดน้ำหนักลงบนหน้าอกและหน้าท้องพร้อมๆ กัน จากนั้นแจ้งให้ผู้ป่วยหายใจเข้าช้าๆ โดยใช้หน้าอกและหน้าท้องพร้อมๆ กัน ค่อยๆ ยกมือทั้ง 2 ข้างให้ลอยสูงขึ้นพร้อมๆ กัน  หากผู้ฝึกเห็นว่าหน้าอกและหน้าท้องขยายขึ้นไม่พร้อมกัน ต้องแจ้งให้ผู้ป่วยรับรู้และแก้ไขให้ใช้กล้ามเนื้อทั้ง 2 ส่วนพร้อมกัน ซึ่งจะทำให้ทรวงอกและหน้าท้องขยายขึ้นพร้อมๆ กันจนขยายเต็มที่ แล้วกลั้นหายใจไว้ 3 วินาที จากนั้นปล่อยให้ก๊าซออกจากปอดตามปกติ จะเห็นว่าทรวงอกและหน้าท้องยุบคืนตัวลงดังเดิม

ขั้นตอนที่ 4    สอนให้หายใจเข้าโดยใช้สีข้าง

โดยให้ผู้ป่วยลุกขึ้นนั่งหรือยืน แจ้งว่าจะฝึกการหายใจเข้าโดยใช้สีข้าง ช่วงนี้ห้ามผู้ป่วยใช้หน้าอกและหน้าท้องในการหายใจเข้า  ผู้ฝึกทาบมือแต่ละข้างที่สีข้างของผู้ป่วยแต่ละข้างบริเวณชายโครง แล้วออกแรงกดเข้าหากันเล็กน้อย จากนั้นแจ้งให้ผู้ป่วยค่อยๆ หายใจเข้าช้าๆ โดยพยายามใช้กล้ามเนื้อผนังทรวงอกด้านข้าง ดันสู้กับแรงมือที่กดอยู่ เพื่อให้ทรวงอกขยายออกทางด้านข้างพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง เมื่อสู้แรงมือเต็มที่แล้ว ให้กลั้นหายใจไว้ 3 วินาที จากนั้นปล่อยให้ก๊าซออกจากปอดตามธรรมชาติ

ขั้นตอนที่ 5    สอนให้หายใจเข้าโดยใช้กล้ามเนื้อทุกส่วนที่ฝึกมาพร้อมๆ กัน
แจ้งให้ผู้ป่วยทราบว่าต่อไปจะเป็นการฝึกหายใจเข้าลึกเต็มที่ โดยใช้กล้ามเนื้อหายใจทุกส่วนที่ฝึกมาแล้วพร้อมๆ กัน ให้ผู้ป่วยนอนหงายราบ ใช้ฝ่ามือของผู้ป่วยเองกดสีข้างของตัวเองทั้ง 2 ข้าง ผู้ฝึกใช้มือข้างหนึ่งวางและกดน้ำหนักบนหน้าอก และอีกข้างหนึ่งวางและกดน้ำหนักบนหน้าท้อง จากนั้นแจ้งให้ผู้ป่วยค่อยๆ หายใจเข้าช้าๆ โดยพยายามให้ทรวงอกขยายต้านกับแรงกดทุกๆ ด้านพร้อมๆ กัน จนลึกเต็มที่ แล้วให้กลั้นหายใจไว้ 3 วินาที แล้วจึงปล่อยให้หายใจออกตามปกติ

 

หลังผ่าตัดต้องหายใจลึกบ่อยเพียงใด?

สำหรับการผ่าตัดที่เสี่ยงต่อภาวะถุงลมปอดแฟบ (atelectasis) ซึ่งได้แก่การผ่าตัดช่องท้องและช่องอก  ผู้ป่วยสามารถป้องกันภาวะถุงลมปอดแฟบได้โดยหายใจเข้าลึกเต็มที่ ติดต่อกัน 5-10 ครั้ง ทุกๆ 1 ชั่วโมงที่ตื่นอยู่

 

เมื่อใดจึงต้องใช้อุปกรณ์ขยายปอด?

หลังผ่าตัด ถ้าผู้ป่วยได้หายใจลึกทุกชั่วโมงดังได้กล่าวแล้ว ถ้ายังพบว่ามีภาวะถุงลมปอดแฟบ แพทย์จะสั่งให้ใช้อุปกรณ์ขยายปอด ที่เรียกว่า incentive spirometer ซึ่งเป็นวิธีแก้ไขภาวะถุงลมปอดแฟบที่มีประสิทธิภาพสูงสุด  หลักการคือ ให้คงความพยายามหายใจเข้าลึกที่สุดไว้ให้นานที่สุด อย่างน้อยถึง 10-15 วินาที เพื่อให้ก๊าซถ่ายเทจากถุงลมดีไปยังถุงลมที่แฟบอยู่ได้  โดยผู้ป่วยดูดอุปกรณ์นี้ติดต่อกัน 5-10 ครั้ง ทุกๆ ชั่วโมงที่ตื่นอยู่เช่นเดียวกัน  อุปกรณ์ที่มีขายในประเทศไทยมี 2 รูปแบบ ได้แก่ แบบลูกปิงปอง 3 ลูก และแบบเหรียญ

การฝึกด้วยอุปกรณ์แบบเหรียญ
อุปกรณ์นี้เมื่อผู้ป่วยสูดหายใจเข้าโดยดูดที่ข้อต่อสำหรับปากดูด จะทำให้เกิดความดันลบดึงเหรียญพลาสติกให้ลอยขึ้นได้ ตราบใดที่ผู้ป่วยยังคงดูดอยู่ต่อเนื่อง เหรียญก็จะลอยค้างอยู่ได้ แต่ถ้าผู้ป่วยเลิกดูดหรือแม้กลั้นหายใจ จะทำให้เหรียญตกลงมาอยู่ที่ฐาน สามารถปรับระดับแรงดูดได้ 6 ระดับคือ 1-6 เทียบกับอัตราการไหล 100 ซีซีต่อวินาที ถึง 600 ซีซีต่อวินาทีตามลำดับ ควรเริ่มด้วยระดับ 1 ก่อนเสมอ ดูดให้เหรียญหน้ายิ้มลอยค้างอยู่ได้ถึง 10 วินาที แล้วปรับเพิ่มระดับแรงดูดขึ้น แล้วจึงให้ผู้ป่วยพยายามดูดจนเหรียญลอยค้างอีก ทุกครั้งที่เพิ่มระดับ ระยะเวลาที่ผู้ป่วยดูดให้เหรียญลอยค้างได้จะสั้นลงกว่าเดิม ให้เชียร์ให้ผู้ป่วยพยายามดูดให้ได้นานขึ้น ถ้านานถึง 10 วินาทีจึงเพิ่มระดับขึ้นอีก ทำเช่นนี้เรื่อยไป ถ้าเพิ่มระดับแล้วผู้ป่วยดูดเหรียญไม่ขึ้น ก็ให้ลดลงมาอยู่ระดับเดิม แล้วพยายามให้ผู้ป่วยดูดให้เหรียญลอยค้างเป็นระยะเวลานานขึ้น ให้นานกว่า 10-15 วินาที จะช่วยเปิดถุงลมปอดที่แฟบแล้วได้ดี

การฝึกด้วยอุปกรณ์แบบลูกปิงปอง

ลักษณะอุปกรณ์เป็นกระบอกเชื่อมติดกัน 3 กระบอก ภายในมีลูกปิงปอง 1 ลูกอยู่ในแต่ละกระบอก เมื่อสูดหายใจเข้าผ่านทางข้อต่อสำหรับปากดูด ถ้าได้อัตราการไหลถึง 600 ซีซีต่อวินาทีจะสามารถดูดให้ลูกปิงปองในหลอดที่ 1 ลอยขึ้น แต่ถ้าจะให้ลูกปิงปองลูกที่ 2 และ 3 ลอยขึ้น ต้องสูดลมหายใจเข้าด้วยอัตราการไหล 900 ซีซีต่อวินาที และ 1,200 ซีซีต่อวินาที ตามลำดับ โดยไม่สามารถตั้งระดับแรงดูดได้ อุปกรณ์แบบนี้ต้องใช้แรงดูดมากกว่าอุปกรณ์แบบเหรียญมาก ยิ่งถ้าผู้ฝึกสอนแจ้งให้ผู้ป่วยพยายามดูดให้ลูกปิงปองลอย 3 ลูก ยิ่งไม่สามารถทำได้ง่าย และไม่สามารถลอยค้างได้นาน 10-15 วินาทีแน่นอน เป็นสิ่งไม่ควรกระทำ  ควรแจ้งให้ผู้ป่วยดูดให้ลอยค้างเพียงลูกเดียว แต่ให้ลอยค้างอยู่ได้เป็นเวลานานได้ถึง 10-15 วินาที จะมีประสิทธิภาพมากกว่า

  

การฝึกไอให้มีประสิทธิภาพ

การไอเป็นวิธีขจัดเสมหะออกจากปอด ผู้ป่วยหลังให้ยาระงับความรู้สึกและใส่ท่อช่วยหายใจจะมีเสมหะได้มากกว่าปกติ ถ้าไม่ไอออกมา เสมหะจะคั่งค้างในหลอดลม ตามมาด้วยถุงลมปอดแฟบและปอดอักเสบติดเชื้อได้ การฝึกไอให้มีประสิทธิภาพจึงมีความสำคัญยิ่ง

การไอ มี 3 ขั้นตอน คือ หนึ่ง หายใจเข้าลึกเต็มที่  สอง  สร้างแรงดันบวกในปอด โดยเบ่งหายใจออกโดยกลั้นหายใจ และสาม ไอออกมา โดยเปิดสายเสียงทันทีขณะที่ยังเบ่งหายใจออกอยู่  ขั้นตอนที่ 3 นี้สามารถทำได้หลายลักษณะ ควรเลือกใช้ให้เหมาะกับผู้ป่วย

  • ลักษณะที่ 1 คือ ไอออกมาให้แรงที่สุดในครั้งเดียวให้หมดลมในปอด วิธีนี้มีประสิทธิภาพสูงสุด แต่ทำให้แผลผ่าตัดกระเทือนมาก ซึ่งทำให้เจ็บแผลมาก และไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรัง เพราะเสี่ยงต่อภาวะถุงลมปอดแตกได้
  • ลักษณะที่ 2 คือ แบ่งลมหายใจออกทั้งหมดเป็น 3-4 คำย่อย ทำให้กระเทือนแผลน้อยกว่าและเจ็บน้อยกว่า แม้ประสิทธิภาพด้อยกว่า แต่เพียงพอสำหรับเสมหะที่ไม่แห้งเหนียวมาก
  • ลักษณะที่ 3 คือ แบ่งเป็นคำเล็กๆ สั้นๆ หลายๆ ครั้งต่อเนื่องกัน เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ไม่ค่อยมีแรงมาก

สรุป

การป้องกันภาวะแทรกซ้อนทางปอดหลังผ่าตัด ทำได้โดย

  1. หายใจเข้าลึกเต็มที่ 5-10 ครั้งทุก 1 ชั่วโมงที่ตื่นอยู่
  2. ถ้ารู้สึกว่ามีเสมหะ ให้พยายามไอออกมา
  3. ใช้อุปกรณ์ขยายปอดตามที่แพทย์สั่งอย่างถูกต้อง

ถ้าทำ 3 ประการนี้ได้ มั่นใจได้ค่อนข้างแน่ว่าจะไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนทางปอดหลังผ่าตัด การฝึกหายใจและไอเหล่านี้ ไม่สามารถฝึกในระยะหลังผ่าตัดได้เพราะผู้ป่วยจะเจ็บแผลมาก  จำเป็นต้องฝึกให้ผู้ป่วยทำได้อย่างมีประสิทธิภาพก่อนผ่าตัด เพื่อใช้ในระยะหลังผ่าตัด

ข้อมูลจาก รายการพบหมอรามา ช่วง Big Story “ฝึกหายใจ” เรื่องที่คุณต้องรู้ ก่อนรับการผ่าตัด
วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 ผศ. นพ.ทนันชัย บุญบูรพงศ์ ภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ที่มา  ::  https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/home/article/%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%A1-%E0%B8%81%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%9C%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%A3-%E0%B8%9D%E0%B8%B6%E0%B8%81/


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น