Tablet ส่งเสริม หรือ ขัดขวางการเรียนรู้กันแน่
ช่วงนี้หนึ่งในนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่คนสนใจกันมาก และเป็นที่ถกเถียงกันอย่างมากถึงความจำเป็น และความเหมาะสม คือ นโยบายแจกTablet ให้นักเรียนชั้น ป.1 คนละเครื่อง โดยมีจุดมุ่งหมายหลักๆ คือ เพื่อช่วยให้เด็กๆ ไม่ต้องแบกสมุดหนังสือตำราเรียนหนักๆ กันจนหลังแอ่น และเป็นการเปิดโลกทัศน์เด็กไทยให้ก้าวทันเทคโนโลยีสมัยใหม่มากขึ้น....แต่มันจะได้ผลสัมฤทธิ์สวยหรู เหมือนอย่างที่เขาโฆษณากันเอาไว้รึเปล่า ก็เป็นเรื่องที่องค์กรอิสระต่างๆ เครือข่ายครู และผู้ปกครองเขาต้องจัดการเสวนาขึ้นมา เพื่อถกกันถึงเรื่องนี้โดยเฉพาะ
ถ้าเรายังไม่ต้องพูดถึงทฤษฎีอะไรทั้งสิ้น เอาแค่ลองไปถามเด็กๆ ที่บ้านกันดูก่อน ว่าเด็กคนไหนบ้างที่ไม่อยากได้ไอแพด ไอโฟน แท็บเล็ต...ส่วนใหญ่แล้วคงไม่ค่อยมีใครปฏิเสธหรอก เพราะมีแต่คนอยากได้ของใช้ไฮเทคแบบนี้กันทั้งนั้น ยิ่งฟรีด้วยแล้ว ก็ยิ่งชอบกันใหญ่เลย เพราะเหตุผลที่สำคัญที่สุดเลย คือ ใช้แล้วเท่ อวดเพื่อนได้....ข้อนี้ แม้แต่ผู้ใหญ่อย่างเราๆ เอง ก็ยังเป็นกันเลย
ใช่มั้ย
แต่หากจะศึกษากันถึงข้อดี ข้อเสียของการแจกแท็บเล็ตนี้กันอย่างลงลึกทั้งในเรื่องประโยชน์ในการเรียน การศึกษา ผลกระทบ และบริบทอื่นๆ ก็มีเรื่องให้เห็นค้านกับการแจกครั้งนี้ค่อนข้างเยอะเลย
การแจกแท็บเล็ตจะยิ่งทำให้เด็กเสพติดเทคโนโลยีมากเกินไปรึเปล่า
จริงๆ ทุกวันนี้เราก็พยายามให้เด็กๆ ใช้เทคโนโลยีอย่างพอเหมาะกันอยู่ไม่ใช่หรือ เราพยายามหาทางจำกัดเวลาการเล่นเกม และเล่นอินเตอร์เนตของเด็กๆ กันอยู่นี่นา ว่ามันไม่ควรจะเกิน 1 – 2 ชั่วโมงต่อวัน และ 3 วันต่อสัปดาห์ (หรือแล้วแต่ความเหมาะสมของแต่ละบ้าน) แต่การแจกแท็บเล็ตให้เป็นของใช้ส่วนตัว และเป็นอุปกรณ์ในการศึกษา เท่ากับว่าเด็กๆ ก็จะสามารถหาเหตุให้ตัวเองเล่นอยู่กับเจ้าจอสี่เหลี่ยมนี่ได้นานเท่าที่เขาต้องการ เพราะสามารถบอกกับพ่อแม่ได้ว่า “กำลังทำการบ้าน” หรือ “กำลังค้นคว้าหาข้อมูลเรื่องเรียนอยู่”
และการมีเครื่องมืออิเล็คทรอนิคส์อยู่ใกล้ตัวตลอดเวลาจะทำให้กิจวัตรประจำวันของเด็กๆ เสียได้ง่ายขึ้น เพราะเด็กน้อยคนที่จะห้ามใจไม่ให้ต่อเวลาในการใช้เจ้าเครื่องมือเหล่านี้ เพราะแม้แต่ผู้ใหญ่อย่างเราๆ ยังชอบขอต่อเวลาเล่นเน็ต เล่นเกมกันเลย นับประสาอะไรกับเด็กๆ.....ทีนี้เวลาในการเล่นเจ้าแท็บเล็ตก็จะไปเบียดบังเวลาในการทำกิจกรรมอย่างอื่น เช่น การกินข้าว หรือการอาบน้ำ....และที่สำคัญคือ เด็กจะมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างน้อยลง เพราะมัวแต่ไถหน้าจอแท็บเล็ตอยู่ตลอดเวลา
ทางแก้นั้นอาจพอมี คือพ่อแม่จะต้องกำหนดเวลาในการใช้แท็บเล็ตอย่างเป็นเรื่องเป็นราว โดยให้ลูกมีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วย ว่าเขาจะใช้แท็บเล็ตในการหาศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวกับเรื่องเรียนได้วันละกี่ชั่วโมง และกี่วันต่ออาทิตย์ และต้องทำให้ได้ตามนั้น และจะต้องไม่ยอมให้ลูกใช้เรื่องเรียนมาเป็นข้ออ้างในการใช้แท็บเล็ตนานๆ อย่างเด็ดขาด และอาจต้องคอยเช็คว่าลูกไม่ได้แอบไปโหลดเกมมาลงเครื่องจนเต็ม แทนที่จะเป็นการโหลดหนังสือเรียนมาอ่าน
แท็บเล็ตจะแทนที่หนังสือเรียน และสมุดจดงานได้จริงหรือ
เป้าหมายหลักในการแจกแท็บเล็ตให้เด็กประถมใช้ คือ เพื่อลดภาระในการแบกสมุดหนังสือเรียนหลายๆ เล่ม จนเด็กๆ หลังแอ่นเพราะกระเป๋านักเรียนหนักเกินไป และเพื่อเพิ่มความสะดวกในการเรียน การส่งงาน การเก็บข้อมูลการบ้าน และเรื่องที่ศึกษาค้นคว้า (ว่าแต่การบ้าน และการค้นคว้าของเด็ก ป. 1 มันจะมีเยอะถึงขนาดที่ต้องใช้เครื่องมืออิเลคทรอนิคส์ช่วยเก็บเลยเหรอ)
แต่....จากการศึกษาของมหาวิทยาลัย แ ละสถาบันต่างๆ ในต่างประเทศ ค้นพบข้อเท็จจริงหลายอย่าง ที่ยิ่งสนับสนุนแนวความคิดที่ว่า“เครื่องมือ และอุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์ เป็นอุปสรรค และขัดขวางกระบวนการเรียนรู้บางด้านของเด็ก” เช่น ผลการศึกษาของ University of Washington พบว่า เครื่องอ่านหนังสืออิเลคทรอนิคส์ที่มีขายอยู่ในท้องตลาดนั้น ไม่เหมาะที่จะเอามาใช้แทนหนังสือเรียนปกติ ด้วยเหตุผลดังนี้
1. เครื่องมืออิเลคทรอนิคส์ ชนิดที่ใช้สำหรับโหลดหนังสือมาอ่านโดยเฉพาะ ไม่รองรับการจด การโน้ตอะไรลงไปบนหน้าจอที่กำลังแสดงผลเป็นหน้าหนังสือ ซึ่งตรงจุดนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะการอ่านหนังสือนั้น เรามักจะมีการจดโน้ตอะไรต่างๆ ลงไปบนหนังสืออยู่ตลอด เช่น จดข้อคิดที่คิดขึ้นมาได้จากการอ่านหนังสือ หรือการขีดเส้นใต้ข้อความที่ชอบ ที่สนใจ หรือข้อความที่ต้องการจดจำมากเป็นพิเศษ ซึ่งแม้ในอนาคตเครื่องมือเหล่านี้อาจจะสามารถพัฒนาให้ขีดเขียนอะไรลงไปได้ก็ตาม แต่มันก็ยังไม่สามารถทดแทนกระบวนการสำคัญที่เกิดขึ้นระหว่างการเขียนหนังสือลงไปบนกระดาษได้อยู่ดี....เพราะอะไร...
ก็ลองนึกถึงตอนที่เราเขียนหนังสือลงไปบนกระดาษ.... ในระหว่างที่เราคิด เราเขียน เราลบ เราขีดฆ่าตัวหนังสือ สมองของเราก็ได้บันทึกสิ่งต่างๆ ที่เราเขียนลงไปด้วยแบบอัตโนมัติ ซึ่งมีส่วนช่วยในการจำมากขึ้นกว่าการจิ้มๆ กดๆ
2. ในกระบวนการเรียนรู้ของคนเรา จะมีเทคนิคอยู่อย่างหนึ่งที่เรียกว่า ‘การวาดแผนที่ในใจ’ (Cognitive Mapping) คือ กระบวนการที่เราใช้เครื่องหมายที่เป็นกายภาพ เช่น ตัวเลขหน้า หรือ ตำแหน่งของข้อความแผนภูมิ และรูปภาพ ที่ปรากฏอยู่ในหน้าหนังสือ เป็นจุดที่ช่วยให้เราจดจำสิ่งต่างๆ ในหน้าหนังสือได้ เพราะเมื่อเราอ่านหนังสือ สมองของเราจะจดจำ และบันทึกตำแหน่งของสิ่งเหล่านี้เอาไว้ และดึงออกมาใช้ในภายหลัง
ซึ่งกระบวนการนี้ เป็นขั้นตอนหนึ่งที่จะนำไปสู่ ทักษะ “ความทรงจำแบบถ่ายภาพ” (Photographic Memory) ที่พบในคนจำนวนไม่มากนัก โดยที่คนเหล่านี้สามารถจำสิ่งที่อยู่บนกระดาษ อยู่ในหนังสือ หรือตามที่ต่างๆ ได้ ด้วยการจดจำตำแหน่งของตัวอักษร รูปภาพ หรือสิ่งของ ในสิ่งหนังสือหรือในสถานที่ที่ตัวเองได้เห็นมา แล้วบันทึกตำแหน่งของสิ่งเหล่านั้นไว้ในความทรงจำ ซึ่งจะถูกเรียกออกมาใช้งานในภายหลัง เลยทำให้กลายเป็นคนที่มีความจำดีกว่าคนอื่นๆ
3. หากเราหวังให้เด็กๆ ใช้แท็บเล็ต หรือเครื่องมืออิเลคทรอนิคส์แทนตำรา เราก็จะได้พบว่า เด็กๆ อาจจะอ่านหนังสือกันน้อยลง และมีความรู้กันอย่างจำกัด เพราะเขาจะไม่ได้เปิดหนังสือทั้งเล่มไปทีละหน้าๆ แต่จะคลิก พิมพ์ หรือเลื่อนหน้าจอไปยังหน้า หรือส่วนที่ตัวเองต้องการเลย (แม้ว่าหนังสือดิจิตอลบางเล่ม จะออกแบบมาให้มีการพลิกหน้าหนังสือได้ เลียนแบบการอ่านหนังสือจริงๆ ก็ตาม) ดังนั้นเด็กก็จะไม่เจอสิ่งต่างๆ ระหว่างทาง ที่อาจจะเปิดผ่านไปเจอ แล้วหยุดอ่าน ก่อนจะไปยังหน้าที่ตัวเองต้องการทีหลัง ซึ่งจะทำให้เขาได้รับความรู้อื่นๆ เพิ่มขึ้นด้วย เพราะอ่านมากขึ้น
ลองนึกถึงตอนที่เรา ใช้ดิคชั่นนารีอิเลคทรอนิคส์ ที่เราสามารถพิมพ์คำศัพท์ที่เราต้องการลงไป และกดปุ่มเพื่อให้คำแปลขึ้นมา โดยที่เราไม่ต้องไล่เปิดดิคชั่นนารีหาคำศัพท์ที่เราต้องการ....มันง่าย มันเจอคำที่ต้องการได้เร็ว แต่เราก็จะรู้คำศัพท์อยู่แค่คำที่เราต้องการค้นหาเท่านั้น....ผลคือเราก็เลยรู้คำศัพท์น้อยมากตามไปด้วย เพราะการเปิดดิคชั่นนารีนั้น เราอาจจะไปเจอคำศัพท์คำอื่นที่เราไม่ได้ตั้งใจจะเปิดหาโดยบังเอิญ แล้วคำศัพท์คำนั้นดึงความสนใจให้เราอยากอ่านคำแปลของมัน (เพราะผู้เขียนเป็นแบบนี้บ่อยๆ เลยทีเดียว) และเราก็จะจดจำคำศัพท์คำนั้นเพิ่มขึ้นมาได้อีกหนึ่งคำ นอกเหนือไปจากคำศัพท์ที่เราต้องการจะเปิดหาในตอนแรก
4. ทักษะทางด้านลายมือจะลดลง เพราะเด็กยุคปัจจุบันบางคนก็ถึงกับไม่เห็นความสำคัญของการคัดลายมือ หรือการเขียนหนังสือด้วยมือแล้วด้วยซ้ำ เพราะเขาคิดว่าสามารถพิมพ์ลงไปในคอมพิวเตอร์แทนการเขียนด้วยมือได้เลย
แต่การขีดเขียนอะไรลงไปบนกระดาษ จะมีส่วนช่วยให้ความคิดหลั่งไหลพรั่งพรูออกมาได้ง่าย เพราะเรามีอิสระในการปล่อยให้ดินสอ หรือปากกาโลดแล่นไปบนกระดาษ เรื่องนี้อาจจะดูเป็นนามธรรมมากเกินไป แต่ลองเทียบกันระหว่างการเอาดินสอ ปากกาเขียนลงบนกระดาษ กับการเอาปากกาอิเลคทรอนิคส์เขียนลงไปบนหน้าจอสัมผัส.... เปรียบเทียบถึงอารมณ์ความรู้สึก และความลื่นไหลของความคิดระหว่างที่เขียนกันดู ว่าอย่างไหนคล่องมือกว่า อย่างไหนความคิดลื่นไหลกว่า และอย่างไหนเขียนมันส์กว่า
และไม่ว่าอะไรๆ จะพัฒนาก้าวไกลไปขนาดไหน แต่ของบางอย่างก็ยังมีเสน่ห์ และมีข้อดีของมัน แบบที่ไม่มีอะไรมาทดแทนได้ ดังนั้นเทคโนโลยีจึงควรจะเป็นแค่ส่วนเสริมของชีวิตในบางเรื่องเท่านั้น ไม่ใช่เป็นหลักไปในทุกๆ เรื่อง และในกรณีแท็บเล็ตนี้ เราควรให้เด็กๆ ที่มีอายุอยู่ในเกณฑ์ที่พอเหมาะ ได้ใช้เสริมจากเครื่องมือที่มีอยู่แล้ว และเสริมกระบวนการเรียนรู้ตามปกติจะดีกว่า ให้มันสนับสนุนซึ่งกันและกัน เพื่อให้การเรียน และการศึกษาหาความรู้ของเด็กๆ เป็นไปอย่างสมบูรณ์ได้มากยิ่งขึ้น
และไม่ว่าอะไรๆ จะพัฒนาก้าวไกลไปขนาดไหน แต่ของบางอย่างก็ยังมีเสน่ห์ และมีข้อดีของมัน แบบที่ไม่มีอะไรมาทดแทนได้ ดังนั้นเทคโนโลยีจึงควรจะเป็นแค่ส่วนเสริมของชีวิตในบางเรื่องเท่านั้น ไม่ใช่เป็นหลักไปในทุกๆ เรื่อง และในกรณีแท็บเล็ตนี้ เราควรให้เด็กๆ ที่มีอายุอยู่ในเกณฑ์ที่พอเหมาะ ได้ใช้เสริมจากเครื่องมือที่มีอยู่แล้ว และเสริมกระบวนการเรียนรู้ตามปกติจะดีกว่า ให้มันสนับสนุนซึ่งกันและกัน เพื่อให้การเรียน และการศึกษาหาความรู้ของเด็กๆ เป็นไปอย่างสมบูรณ์ได้มากยิ่งขึ้น
ข้อมูลอ้างอิงบางส่วนจาก
- บทความ เครื่องอ่านอีบุ๊ก ยังไม่เหมาะสำหรับนักเรียน, http://life.voicetv.co.th
- บทความ Photographic Memory, www.exforsys.com
- เวทีเสวนา "แท็บเล็ต: มองมุมกว้าง สร้างปัญญาเด็กไทย" จัดโดย แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) ร่วมกับ แผนงานสร้าง
เสริมวัฒนธรรมการอ่าน และโครงการเด็กไทยเท่ทัน ICT