เมื่อถึงวันที่คุณปลื้มใจที่รู้ว่ากำลังมีเจ้าตัวเล็กมาเป็นโซ่ทองคล้องใจและเติมเต็มความรักในครอบครัวให้มากขึ้น หลายๆ คนคงอดเป็นกังวลอยู่ไม่น้อยว่าทำอย่างไรถึงจะเลี้ยงดูลูกรักของคุณให้เป็นคนเก่งและเป็นคนดีอย่างสมวัย
ในวันนี้มีเคล็ดลับการเลี้ยงลูกด้วย EF หรือ (Executive Function) ที่เป็นส่วนช่วยพัฒนาทักษะสมองเพื่อชีวิตที่สำเร็จมาฝากกันค่ะ
EF คืออะไร?
EF (Executive Function) หรือ ทักษะการพัฒนาสมองส่วนหน้า เป็นกระบวนการที่ใช้กำกับความคิด ความรู้สึกและการกระทำ อีกทั้งยังเป็นทักษะที่สำคัญต่อความสำเร็จในการเรียน การงาน การอยู่ร่วมกับเพื่อน การคิดสร้างสรรค์ และการจัดการทุกด้านตลอดชีวิต เรียกได้ว่า EF เป็นการพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้าที่เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาความฉลาดทางเชาว์ปัญญา (IQ) และความฉลาดทางอารมณ์ (EQ)
EF ยิ่งเริ่มไว ยิ่งได้เปรียบ
EF เป็นพื้นฐานนิสัยดีที่สร้างสรรค์ที่จะติดตัวเด็กไปจนโต เนื่องจากเด็กทุกคนเกิดมาพร้อมศักยภาพที่จะพัฒนากับการฝึกฝนผ่านประสบการณ์ ตั้งแต่วัยทารกจวบจนวัยทำงาน 25 ปี แต่ทั้งนี้ช่วงเวลาสำคัญที่สุดในการพัฒนาคือช่วง 3-6 ปีแรกของชีวิต
3 กลุ่มทักษะพัฒนา EF ที่ควรปลูกฝังสม่ำเสมอ
เพื่อการพัฒนาลูกน้อยให้คิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้เป็น แก้ปัญหาเป็น อยู่กับคนอื่นเป็น EF จึงถูกจัดออกเป็น 3 กลุ่มทักษะที่เชื่อมโยงกัน มีองค์ประกอบ 9 ด้าน ดังนี้
1) ทักษะพื้นฐาน : จำเพื่อใช้งาน ยั้งคิดไตร่ตรอง และยืดหยุ่นความคิด
2) ทักษะปฏิบัติ : ริเริ่มและลงมือทำ วางแผนจัดระบบดำเนินการ และมุ่งเป้าหมาย
3) ทักษะกำกับตนเอง : จดจ่อใส่ใจ ควบคุมอารมณ์ และติดตามประเมินตนเอง
EF เรื่องใหญ่ แต่สร้างได้ง่ายๆ ที่บ้าน
กิจกรรมพื้นๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น กวาดบ้าน เล่านิทาน ทำกับข้าว ไปช้อปปิ้ง ฯลฯ ก็สร้าง EF ได้ ถ้าพ่อแม่เข้าใจหลักการพัฒนา EF รู้จักพลิกแพลง ใจเย็น มุ่งมั่น และให้โอกาสลูกในการฝึกฝนและพัฒนา EF
กิน : ให้ลูกได้กินนมแม่ในช่วง 6 เดือนแรก เพราะระหว่างการให้นมสายตาของแม่กับลูกจะประสานกัน เกิดความความรัก ความห่วงใยระหว่างแม่และลูก นอกจากนั้นควรฝึกวินัยการกินให้ลูก เช่น กินเอง กินเป็นที่ กินเป็นเวลา กินหลากหลาย กินแต่พอดี รู้จักเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ อดใจไม่กินอาหารที่ให้โทษ ฝึกให้กินเองเก็บเอง และฝึกมารยาทบนโต๊ะอาหาร เช่น รู้จักรอคนอื่น ไม่ทำเสียงดัง เป็นต้น
นอน : ให้ลูกได้นอนอย่างเพียงพอในแต่ละช่วงวัย แยกเตียงกับพ่อแม่ หลัง 6 เดือน (โดยยังอยู่ในห้องเดียวกัน) จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับการนอน และฝึกวินัยในการเข้านอนและตื่นนอนเป็นเวลา
กอด (ใกล้ชิด ใส่ใจ อบรมสั่งสอน) : อุ้มและกอดลูกอย่างมีความหมายและตั้งใจ กอดลูกบ่อยๆ ตอบสนองทางบวกต่อการแสดงความรู้สึกของลูก และตอบสนองอารมณ์ความต้องการของลูกอย่างเหมาะสม ใช้วินัยเชิงบวก หลีกเลี่ยงคำว่า ห้าม ไม่ อย่า หยุด กับลูก สอนให้ลูกรู้จักจัดการอารมณ์ตนเอง และแสดงออกอย่างเหมาะสม ฝึกให้ลูกเข้าใจอารมณ์ผู้อื่น และเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
เล่น : ให้ลูกเล่นกับ พ่อแม่ คนในครอบครัว พี่น้อง เพื่อน และสิ่งของรอบตัว ของเล่น เพื่อพัฒนาประสาทสัมผัสและการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อมัดเล็ก-มัดใหญ่ ให้เล่นอิสระ เล่นบทบาทสมมติ เล่นแก้ปัญหาจากง่ายไปยาก ให้เล่นได้ด้วยตนเอง เลือกเล่นเอง เก็บเอง ให้เล่นแบบร่วมมือ เล่นสร้างสรรค์ เล่นตามกติกา เล่นอย่างมีเป้าหมาย (มีโจทย์ มีเงื่อนไข) ให้เล่นดนตรีและการเคลื่อนไหว ให้เล่นกีฬา ฝึกลูกให้ยอมรับการแพ้-ชนะ และฝึกการรอคอย ฝึกลูกให้เล่นเป็นเวลา รู้เวลาเล่น และเวลาทำกิจวัตรอื่นๆ
เล่า (อ่าน ชวนคุยชวนคิด) : ฝึกลูกให้มองหน้า สบตาในการสื่อสาร ฟังลูกให้เป็น ฟังอย่างตั้งใจ ชื่นชม ให้กำลังใจ ปลอบเมื่อลูกเสียใจ โต้ตอบ พูดคุยกับลูก เปิดเพลงบรรเลงให้ลูกฟัง อ่านหนังสือกับลูก ให้ลูกมีส่วนร่วมในการเล่า ลำดับเรื่องราว และหัดเล่านิทานเอง ตั้งคำถามชวนลูกคิดหาคำตอบ สร้างนิสัยรักการอ่านให้ลูก ใช้นิทานเป็นสื่อในการสร้างทัศนคติ พฤติกรรมที่พึงประสงค์ เชื่อมโยงการอ่านสู่การทำกิจกรรมสนุกอื่นๆ
ดูแลตัวเอง : เริ่มจากการกินข้าวเอง ใช้ช้อนตักอาหารกินได้ ดื่มน้ำจากแก้วได้ รู้จักใช้คำถามเมื่อต้องการคำตอบ นอนหลับเองได้ไม่ต้องกล่อม ใส่เสื้อผ้า สวมรองเท้าเองได้ บอกชื่อจริง ชื่อเล่น นามสกุลตัวเองได้ พูดอธิบายถึงสิ่งที่ต้องการได้ รู้จักเอ่ยปากขอและขอบคุณเมื่อได้รับของที่ต้องการ ปฏิเสธสิ่งที่ไม่ต้องการได้ รับผิดชอบและทำกิจวัตรประจำวันของตัวเองได้
งานบ้าน : ให้ลูกฟังคำสั่งและหยิบของที่รู้จักส่งให้ได้ ให้ลูกได้สนุกกับการเลียนแบบท่าทางทำงานบ้าน หยิบเครื่องมือได้อย่างถูกต้อง ให้ลูกทำงานบ้านง่ายๆ ให้เป็นการเล่น ให้ลูกรับผิดชอบงานบ้าน มีส่วนร่วมในการทำงานบ้านที่เหมาะกับช่วงวัย เช่น กรอกน้ำใส่ขวด รดน้ำต้นไม้ ช่วยทำอาหาร ล้างจาน พับเสื้อผ้า ฯลฯ
ที่มา :: www.thaihealth.or.th