5 ทักษะเอาตัวรอด ป้องกันเด็กไทยจมน้ำ
เรื่องราวของอุบัติเหตุ 'เด็กจมน้ำเสียชีวิต' กำลังเป็นอีกประเด็นร้อนของสังคมไทย แม้ไม่ใช่เรื่องใหม่ หากแต่ละปีเรามักได้ยินเรื่องราวความเผลอไผลที่นำมาสู่โศกนาฏกรรมใน สังคมไทยต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงวันหยุดปิดเทอมในทุกปี
แม้อุบัติเหตุเป็นเรื่องที่ไม่อาจ คาดเดา แต่หากสังคมเรามีมาตรการ และการเตรียมความพร้อมรับมือที่ดี ก็อาจสามารถช่วยป้องกันไม่ให้ทุกอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ หรือเกิดน้อยที่สุด
แต่สถิติในวันนี้ ยังพบข้อมูลว่า ปัญหาเด็กจมน้ำยังคงครองสถิติสาเหตุ การเสียชีวิตของเด็กไทยเป็นอันดับ 1 โดยเฉพาะผลสำรวจการเสียชีวิตจากการ จมน้ำของเด็กวัยเรียนกลุ่มอายุ 5-9 ปี ในปี 2558 ยังพบว่า มีอัตราการตายถึง 6 ต่อ 100,000 คน
สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากบางครั้งผู้ใหญ่ก็อาจเผอเรอโดยไม่ตั้งใจ หรือมองไม่ออกว่า นี่คือภัยใกล้ตัวที่เราคาดไม่ถึง ทางออก ของปัญหาจึงต้องสร้างความตระหนัก ในผู้ใหญ่ไม่ต่างจากเด็ก
แม้ถึงที่ผ่านมาคนไทยจะเริ่มตระหนักเรื่องภัยทางน้ำกับเด็กไทย ว่าคือไม่ใช่ประเด็นเล็กๆ อีกต่อไป และหลายฝ่าย ร่วมมือกันรณรงค์ต่อเนื่อง แต่ก็ยังพบว่าสถิติเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กใน วัยเยาว์ ยังคงมีแนวโน้มไม่ลดลงมาก อย่างที่คิด
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กับ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล จึงได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ โครงการทักษะความปลอดภัยทางน้ำ Stop Drowning Start Doing ขึ้น เพื่ออบรม เพิ่มทักษะความปลอดภัยทางน้ำ ให้กับครู จากโรงเรียนพื้นที่ต่างๆ นำร่อง 30 โรงเรียนทั่วประเทศ ที่มุ่งร่วมมือร่วมใจกันพยายามหาแนวทางแก้ไขปัญหา และหามาตรการปกป้องชีวิตคนไทย โดยเฉพาะเยาวชนไทยที่ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงสำคัญให้มีความปลอดภัย จากภัยทางน้ำมากที่สุด
โดยการส่งเสริมหลักสูตรการพัฒนา การเรียนรู้ทักษะเอาตัวรอดต่างๆ ให้กับ เด็กและผู้ใหญ่ใกล้ตัว เพราะจะสามารถเป็นเกราะป้องกันที่ช่วยลดการสูญเสียได้ดี
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล ให้ข้อมูลว่า แม้ว่าการเล่นจะเป็นสิ่งที่คู่กันกับวัยเด็ก และถือเป็นกิจกรรมทางกายที่ดี แต่ด้วยวัยที่อยากรู้อยากเห็น บางครั้งการที่ปล่อยให้เด็กเล่นโดยไม่ได้ดูแลอาจนำไปสู่อันตราย ได้ ซึ่งจุดเสี่ยงสำคัญคือ แหล่งน้ำขนาดเล็กในชุมชนใกล้บ้านเด็ก และแอ่งน้ำบริเวณใกล้เคียงในพื้นที่ชุมชน และที่สำคัญสาเหตุของการเสียชีวิตส่วนใหญ่มาจากความไม่รู้ต่อความเสี่ยงของแหล่งน้ำ และไม่มีทักษะ ช่วยตนเองและผู้อื่นเมื่อตกน้ำ ขณะที่ ผู้ปกครองก็มองว่าเป็นพื้นที่ใกล้บ้าน จึงไม่ได้ระมัดระวัง
"ผลสำรวจจากศูนย์วิจัยฯ พบว่า นักเรียนชั้นประถมปีที่ 1 ช่วงอายุ 6-7 ปี ในโรงเรียนกลุ่มขาดโอกาสและยากจนที่ จัดเป็นกลุ่มวัยเสี่ยงต่อการจมน้ำเสียชีวิตนั้น ไม่มีทักษะชีวิตที่จะป้องกันตนเองให้รอดปลอดภัยจากการจมน้ำ มีนักเรียนเพียง ร้อยละ 5 ที่สามารถบอกความเสี่ยงที่นำไปสู่ การตกน้ำจมน้ำได้ และยังไม่รู้จักและวิธีการ ใช้เสื้อชูชีพ และหากเห็นเพื่อนตกน้ำกำลังจะจมน้ำ จะพยายามกระโดดไปช่วยด้วยตนเอง โดยไม่รู้จักการร้องขอความช่วยเหลือก่อน ซึ่งถือว่าเด็กขาดทักษะการป้องกันตนเองและการช่วยเหลือตนเองเมื่อตกน้ำ"
ชฎาพร สุขสิริวรรณ นักวิจัยจากสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล เล่าถึงที่มาโครงการว่า เกิดจากการที่ได้ทำวิจัยแบบสอบถามกับ ผู้ปกครองเด็กวัย 5-9 ปี จำนวน 569 ราย เกี่ยวกับการมีทักษะชีวิตป้องกันตนเองให้รอดปลอดภัยจากการจมน้ำ โดยในคำถาม ที่เกี่ยวกับความสามารถลอยตัวในน้ำของ เด็กเองได้มีผู้ปกครองตอบว่า เด็กสามารถ ทำได้ร้อยละ 35
หากวิกฤตสำคัญอยู่ที่เมื่อนำกลุ่มเด็ก ที่ผู้ปกครองตอบว่าลอยตัวในน้ำได้ร้อยละ 35 เหล่านี้มาทดสอบ ปรากฏว่าเด็กส่วนใหญ่ กลับไม่สามารถลอยตัวได้อย่างที่คิด
"สิ่งที่เราหนักใจคือ เด็กลอยตัวได้ น้อยมากและไม่ถึง 3 นาที ตรงนี้คือ จุดอ่อนสำคัญ และมีโอกาสที่เด็กจะเสียชีวิตเพราะจมน้ำสูง เพราะพ่อแม่เข้าใจผิดคิดว่า ลูกช่วยเหลือตัวเองได้ เราจึงต้องกลับไปบอกพ่อแม่ใหม่ว่า แท้จริงลูกคุณทำไม่ได้และไม่ควรปล่อยให้ไกลสายตา เพราะ ยังไม่ปลอดภัยนะ"
ชฎาพร เสริมว่า จากสถิติที่พบ แม้วันนี้ เด็กไทยจะเสียชีวิตจากการจมน้ำน้อยลง แต่ในกลุ่มวัย 5-9 ปี หรือวัยประถมต้น สถิติเด็กจมน้ำกลับยังคงลดลงช้า
"จึงมองว่าเด็กควรมีทักษะเรื่องนี้ตั้งแต่ชั้น ป.1 และนี่เป็นเหตุผลที่โครงการเริ่มจับมือกับโรงเรียน 30 แห่งดังกล่าว"
จุดท้าทายของโครงการคือการ ตั้งมาตรการเพื่อให้ทางโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการต้องดำเนินการใน 3 มาตรการสำคัญ ได้แก่ หนึ่ง สอนเด็กประถม 1 ให้รู้ใน 5 ทักษะความปลอดภัยทางน้ำ ที่ทางศูนย์ฯ ออกแบบมาจากการรวบรวม สาเหตุการเสียชีวิตเด็ก แล้วนำมาสู่แนวทาง ปฏิบัติเพื่อป้องกัน ได้แก่ 1. เรียนรู้ สิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมเสี่ยงต่อการจมน้ำ สอนให้เด็กรู้ว่าแหล่งน้ำไหนเสี่ยง ไม่ควรไปวิ่งเล่นใกล้ๆ โดยอาจจะพาเด็กเดินสำรวจ สิ่งแวดล้อมในชุมชน และพาเขาไปดูว่า จุดไหนที่อันตราย และจุดไหนที่ปลอดภัย เพราะเด็กวัยนี้จะเข้าใจ ในเหตุและผลได้แล้ว 2.เด็กต้องลอยตัวในน้ำได้อย่างน้อย 3 นาที เพื่อรอการช่วยเหลือ เนื่องจากสาเหตุของการจมน้ำส่วนใหญ่ เกิดจากการที่เด็กมักจะเล่นกันใกล้ฝั่งและพลาดตกลงไปในน้ำ แต่ไม่สามารถที่จะลอยตัวขึ้นมาเพื่อจะ เข้าฝั่งได้ เพราะฉะนั้นถ้าลอยตัวได้ 3 นาที เด็กจะสามารถช่วยตัวเองได้ 3. ว่ายได้ 15 เมตร นอกจากการลอยตัวให้ได้ 3 นาทีแล้ว เพื่อเป็นทักษะในการว่าย เข้าฝั่งหากพลัดตกลงไปในน้ำ 4. รู้อันตราย เด็กต้องรู้ว่า การกระโดดลงไปช่วยเพื่อน ที่กำลังจมน้ำนั้นเป็นเรื่องที่อันตราย และ ยึดหลัก 3 ข้อ คือ "ตะโกน โยน ยื่น" ตะโกน ให้ผู้ใหญ่มาช่วย โยน สิ่งของที่อยู่รอบตัว เช่น ถังน้ำ แกลลอน เพื่อให้เพื่อนเกาะและสามารถใช้ลอยตัวได้ ยื่น สิ่งยาวๆ ให้เพื่อนจับแล้วดึงเข้ามาใกล้ฝั่ง (โดยจุดที่ยืนก็ต้องมั่นคงด้วย) และ 5. การใช้ชูชีพ เพื่อการเดินทางทางน้ำ ไม่ว่าจะเรือชนิดใด จะว่ายน้ำเป็นไม่เป็น ก็มีความเสี่ยงที่จะ จมน้ำได้เช่นกัน ดังนั้น การฝึกให้เด็ก ใส่ - ถอด ชูชีพให้ถูกวิธี หัดลอยตัวเมื่อใส่ชูชีพให้ได้ เพราะถ้าลอยตัวไม่เป็น หน้าคว่ำลง ก็อาจจะอันตรายกับชีวิตเด็กเช่นกัน
"โดยทุกโรงเรียนต้องมีผ่านเกณฑ์ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75 ทุกโรงเรียน นอกจากนี้ หลังการสอน ครูและโรงเรียนต้องสามารถออกแบบคู่มือการเรียนรู้ได้ มาตรการเรื่องที่สอง โรงเรียนต้องเพิ่ม พื้นที่ดีสำหรับการเล่นให้เด็ก และลดพื้นที่เสี่ยงภัย โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงต่อการจมน้ำ ซึ่งอาจเป็นการกั้นบริเวณ หรือหากไม่มีงบประมาณอย่างน้อยควรทำป้ายตักเตือนให้เด็กรู้ และมาตรการที่สาม คือโรงเรียนต้องสื่อสารกับผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น ในโรงเรียน นอกโรงเรียน ตลอดจนพ่อแม่ผู้ปกครองเด็กให้ช่วยเฝ้าระวัง"
เสียงสะท้อนของตัวแทนครูที่เข้าร่วมอบรมครั้งนี้ จีรวรรณ์ ปันผา ครูโรงเรียน บ้านแก่งหว้าแก่งไฮ จ.พิษณุโลก เล่าว่า โรงเรียนให้ความสำคัญในการป้องกันอุบัติเหตุ และปลูกฝังจิตสำนึกเกี่ยวกับความปลอดภัยในทุกๆ ด้าน ซึ่งทักษะทางน้ำเป็นหนึ่งในทักษะที่สำคัญ เพราะพื้นที่ของบ้านแก่งหว้าแก่งไฮ มีแหล่งน้ำธรรมชาติ และอ่างเก็บน้ำมากมาย ซึ่งเสี่ยงต่อการ จมน้ำของเด็ก การฝึก 5 ทักษะให้กับครู และเด็กจะช่วยลดความเสี่ยงได้
"ปีที่ผ่านมา โรงเรียนได้เป็นหนึ่งในโรงเรียนนำร่อง โดยเริ่มจากการเสริมทักษะให้กับเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 25 คน ผลที่ได้คือ เด็กมีทักษะช่วยเหลือตนเองได้ทั้งหมด จนสามารถเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่ใกล้เคียง และในปีนี้โรงเรียนได้วางแผนต่อยอดนำ 5 ทักษะไปสอดแทรกในการเรียนการสอนในทุกชั้นเรียน ตลอดจน เชิญชวนผู้ปกครอง และคนในชุมชนมาร่วมกัน เรียนรู้ตั้งแต่ทฤษฎีไปจนถึงการปฏิบัติจริง ซึ่งต้องขอบคุณ สสส. และ สถาบันแห่งชาติ เพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวฯ ที่จัดโครงการดีๆ แบบนี้" จีรวรรณ์ กล่าว
สำหรับคู่มือการเรียนรู้เรื่องทักษะความปลอดภัยทางน้ำที่ถูกออกแบบโดย 30 โรงเรียนนำร่องดังกล่าว ทางโครงการจะนำมารวบรวม และวิเคราะห์เพื่อเป็นต้นแบบคู่มือการเรียนให้กับโรงเรียนอื่นๆ ทั่วประเทศได้ใช้ให้เหมาะกับบริบทแต่ละแห่งต่อไปในอนาคต
อย่างไรก็ดี อุบัติเหตุเป็นสิ่งที่ หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ แต่การมีทักษะ และมีสติเมื่อเกิดเหตุจะเป็น ตัวช่วยรักษาชีวิตได้ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่แค่หน้าที่ครูหรือใคร แต่เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ทุกคน โดยเฉพาะพ่อแม่ที่ต้องให้ความใส่ใจ จึงจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตการจมน้ำ ในกลุ่มเด็กเล็กได้รวดเร็วและยั่งยืน
#5ทักษะเอาตัวรอดป้องกันเด็กไทยจมน้ำ
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ