การฟื้นฟูสมรรถภาพการหายใจ โดยการฝึกหายใจ
ในผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการหายใจ นอกเหนือจากการฟื้นฟูสมรรถภาพการหายใจที่ต้องอาศัยทีมเวชศาสตร์ฟื้นฟูแล้ว ผู้ป่วยสามารถฝึกวิธีการพื้นฐานในการหายใจได้เอง มีทั้งการฝึกการขยายตัวของทรวงอก, การฝึกหายใจโดยใช้กระบังลม, การฝึกหายใจแบบห่อปาก, การใช้เครื่องฝึกบริหารปอด รวมถึงการฝึกหายใจอย่างเป็นวงจร ซึ่งจะมีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการขับเสมหะและเพิ่มประสิทธิภาพในการหายใจได้มากขึ้น
การฝึกหายใจเหมาะกับผู้ป่วยที่มีปัญหาเหนื่อยง่ายหลังออกกำลังกาย หรือมีภาวะเหนื่อยหอบจากโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคถุงลมโป่งพอง โรคปอดติดเชื้อ หรือผู้ที่มีการจำกัดการขยายตัวของปอด เป็นต้น
ประโยชน์ของการฝึกหายใจ
1. เพิ่มการขยายตัวของทรวงอก
2. เพิ่มการแลกเปลี่ยนก๊าซภายในปอด
3. ป้องกันปอดแฟบ
4. ลดแรงการหายใจ
5. เพิ่มประสิทธิภาพการไอ
6. ช่วยร่อนระบายเสมหะ
7. ช่วยให้ผ่อนคลาย
การฝึกการขยายตัวของทรวงอก ควรฝึกรอบละ 5-10 ครั้ง และทำซ้ำ 2-3 รอบต่อวัน
ข้อบ่งชี้การฝึกการขยายตัวของทรวงอก
1. โรคที่มีการจำกัดการขยายตัวของปอดเช่น ภาวะลมรั่วในช่องเยื่อหุ้มปอดภาวะปอดแฟบ
2. หลังผ่าตัดบริเวณทรวงอก/ ช่องท้อง
3. โรคถุงลมโป่งพอง โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง
วิธีการฝึกการขยายตัวของทรวงอก
1. ท่ายืดผนังทรวงอกส่วนหน้าและหลัง
ให้หายใจออกยาว พร้อมกับ เหยียดแขน ก้มตัวมาทางด้านหน้า
จากนั้นหายใจเข้ายาว พร้อมกับเหยียดแขนกางขึ้นเหนือศีรษะ
2. ท่ายืดผนังทรวงอกด้านข้าง
นำมือขวาเท้าเอว พับลำตัวมาทางขวาพร้อมกับไล่ลมหายใจออกยาว
จากนั้นหายใจเข้ายาวพร้อมยกแขนข้างขวาขึ้นเหนือศีรษะแล้วโน้มแขนและลำตัวไปทางซ้าย ให้ฝึกซ้ำอีกข้างเช่นเดียวกัน
3. ท่ายืดผนังทรวงอกส่วนบน ด้านหน้าและหลัง
มือ 2 ข้างประสานกันบริเวณท้ายทอย นำศอกมาชิดกันทางด้านหน้า พร้อมหายใจออกยาว
จากนั้น กางศอกออกจากกัน พร้อมหายใจเข้าเต็มที่
การฝึกหายใจโดยใช้กระบังลม
จะช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย เพิ่มประสิทธิภาพในการหายใจ โดยมีลักษณะการหายใจที่ถูกต้อง คือ เมื่อหายใจเข้าท้องจะป่อง และหายใจออกท้องจะแฟบ
วิธีฝึก เริ่มจากท่านั่งเอนหลังให้สบาย หรือนอนหงาย ผ่อนคลายกล้ามเนื้อคอ/บ่า/ไหล่ นำมือข้างหนึ่งวางที่ท้อง มืออีกข้างวางบริเวณทรวงอก เพื่อดูการป่อง-แฟบของท้องร่วมด้วย ค่อยๆ หายใจเข้าทางจมูกช้าๆ หน้าท้องจะค่อยๆ ขยายดันมือขึ้น ในขณะที่มือบริเวณทรวงอกจะอยู่นิ่ง หลังจากนั้นค่อยๆ ผ่อนลมหายใจออกทางจมูกช้าๆ หน้าท้องจะค่อยๆ ยุบตัวลง ทำติดต่อกันประมาณ 5-10 ครั้ง/ชุด สามารถฝึกได้บ่อยตามต้องการ
การฝึกหายใจแบบห่อปาก
ในผู้ป่วยโรคหอบหืด หรือโรคถุงลมโป่งพอง แพทย์อาจแนะนำการฝึกหายใจแบบห่อปาก โดยเริ่มจากหายใจเข้าทางจมูกตามปกติ และเมื่อหายใจออก ให้ห่อริมฝีปากเป็นช่องเล็กๆ แล้วหายใจออกทางปากช้าๆ เบาๆ ให้นานที่สุด การหายใจออกแบบนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้หลอดลมตีบในขณะหายใจออก
การฝึกหายใจลึกเพื่อเพิ่มปริมาตรการหายใจของปอด
ในผู้ป่วยปอดแฟบ ฟอดไม่ขยายตัว หรือผู้ป่วยหายใจตื้น ผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรง แพทย์อาจแนะนำให้ใช้เครื่องบริหารปอดเพื่อเพิ่มปริมาตรการหายใจของปอด
ข้อห้ามในการฝึกโดยใช้เครื่องบริหารปอด
1. หายใจเร็ว >25 ครั้งต่อนาที
2. ผู้ที่ไม่สามารถหายใจเข้าลึกได้ เช่น หายใจลึกแล้วปวดแผลผ่าตัดมาก
3. ผู้ป่วยปอดอักเสบระยะเฉียบพลัน ผู้ป่วยที่มีเสมหะมาก หรือปอดแฟบจากมีเสมหะอุดกั้น
วิธีการใช้เครื่องบริหารปอด
1. ตั้งอุปกรณ์ โดยเลื่อนตัวชี้ปริมาตรอากาศไปยังเลขเป้าหมายที่ต้องการ(สอบถามเป้าหมายจากแพทย์ประจำตัวของท่าน)
2. นั่งตัวตรง ถืออุปกรณ์ในระดับสายตา ใช้ปากครอบบริเวณปลายท่อให้แน่น (ระวังอย่าให้ลมรั่วออกทางมุมปาก)
3. เป่าลมออกทางปากผ่านเครื่อง เป่าลมหายใจออกให้ยาวที่สุดเท่าที่จะทำได้
4. ดูดลมเข้าทางปากช้าๆจนสุดและค้างไว้ โดยพยายามให้ลูกสูบที่อยู่ในช่องอุปกรณ์เลื่อนขึ้นไปใกล้กับเลขเป้าหมายที่ตั้งไว้
5. คลายปากออกจากท่อแล้วพักโดยการหายใจตามปกติประมาณ 1 นาที แล้วจึงฝึกซ้ำอีกครั้งทำ 5-10 ครั้ง/ชั่วโมง (พยายามฝึกให้ได้อย่างน้อยวันละ 100 ครั้ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของปอด)
4. หากสามารถหายใจได้ตามปริมาตรเป้าหมายแล้ว ควรปรับเลื่อนตัวชี้ปริมาตรอากาศ เพื่อเพิ่มเป้าหมายให้มากขึ้นเรื่อยๆ
การฝึกหายใจอย่างเป็นวงจร (Active cycle breathing technique)
การฝึกหายใจอย่างเป็นวงจร ช่วยระบายเสมหะ ช่วยขยายปอดที่แฟบ ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของอากาศเข้าไปในถุงลมต่างๆ ได้ดีขึ้น
ขอบคุณข้อมูลจาก พญ.ชนัดดา วงศ์เอกชูตระกูล
ทีมเวชศาสตร์ฟื้นฟู ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่