แนะวิธี จัดการทรัพย์สิน ป้องกันศึกชิงมรดก โอนให้ทายาทแต่ "พ่อ-แม่" เก็บผลประโยชน์จนตาย!
กระแสข่าวการแย่งชิง “มรดก” ในครอบครัว ที่ผ่านมาหลายครั้งนั้น เป็นกรณีตัวอย่างที่ดีให้ผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์สิน โดยเฉพาะผู้ที่เป็นบิดาและมารดา ต้องตระหนักว่าเราควรต้องมีการวางแผนทรัพย์สินที่มีอยู่ให้ชัดเจน ไม่เช่นนั้นอาจทำให้ทายาทต้องเกิดเรื่องทะเลาะวิวาท และหากตกลงกันไม่ได้ก็นำไปสู่การฟ้องร้องในศาล และบางรายอาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรงถึงขั้นปลิดชีวิตคนในตระกูลเดียวกันก็เป็นได้ ดังนั้นหากย้อนมองคดีดังๆ ที่เกี่ยวกับมรดก นับตั้งแต่ข่าวดัง ศึกมรดกเลือดของ “นายห้างทอง ธรรมวัฒนะ” ที่จบชีวิตลงไปเมื่อ 20 ปีก่อน ตลอดจนความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ในกิจการของซ้อ 7 คนในตระกูล "วิญญรัตน์" เจ้าของธุรกิจซอสภูเขาทอง ซึ่งหายสาบสูญไป และกรณีพิพาทของคนตระกูล “โตทับเที่ยง” เจ้าของปลากระป๋องปุ้มปุ้ย และอีกหลายๆ คดี กระทั่ง "ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์" ในวันนี้กรณีของน้ำพริกแม่ประนอม ที่เป็นการเปิดศึกระหว่างแม่กับลูกสาวซึ่งดูเหมือนจะสามารถยุติปัญหาและจบลงอย่างแฮปปี้เอนดิ้งได้แล้ว
อย่างไรก็ตาม สาเหตุอะไรที่ทำให้คนในครอบครัวต้องมีเรื่องบาดหมางเกี่ยวข้องกับ “มรดก” นางสุทธินี เมธิประภา นายกสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ กล่าวกับ “Special Scoop” ว่า ในกรณีที่เป็นการจัดการ “มรดก” ในสถานการณ์ทั่วไป ซึ่งมักจะเป็นแบบที่ “ไม่มีปัญหา” และสามารถตกลงกันได้ภายในครอบครัว ส่วนใหญ่ที่ยังคงมีลักษณะนี้อยู่จะเป็นครอบครัวในชนบท ซึ่งมีจำนวนพี่น้องในครอบครัวไม่มากนัก เพียง 2-3 คน และทุกคนมีหน้าที่การงานทำ เช่น กรณีพ่อเสียชีวิต ทายาทเป็นพี่น้องกัน ก็ไม่ได้ขอให้แม่ซึ่งมีชีวิตอยู่เป็นผู้แบ่งมรดกในทันที แม้จะมีทรัพย์สินเป็นที่ดินกว่า 40 ไร่
เพราะส่วนใหญ่พี่น้องทุกคนจะไม่พูดกันเรื่องสมบัติของพ่อแม่ และยังถือเป็นเรื่องของศักดิ์ศรี หากว่าใครไปพูดจะเอาสมบัติของพ่อแม่ก่อน จะถูกมองว่าไม่มีปัญญา เพราะฉะนั้นจะไม่มีใครกล้าเอ่ยถึงการแบ่ง “สมบัติของพ่อแม่” ที่ดินมรดกเคยให้คนเช่าอยู่อย่างไรก็อยู่อย่างนั้น ทุกคนเมื่อถึงเวลากลับไปเยี่ยมบ้าน พ่อแม่พี่น้องจะมารวมญาติกันตามวิถีของชาวชนบทปกติ ใครอยากได้ผลผลิตจากไร่สวนก็นำกลับมาที่กรุงเทพฯ อย่างที่เคยทำ
อีกกรณีคือ พ่อเสียชีวิตและมรดกอยู่ที่แม่ซึ่งยังมีชีวิตอยู่นั้น แทนที่ผู้เป็นแม่จะ จัดการทรัพย์สิน มรดกทันที ปรากฏว่าทายาททุกคนลงความเห็นให้ทิ้งไว้ที่แม่ และไม่มีการแต่งตั้งผู้จัดการมรดกในตอนนั้น ถ้าในอนาคต เมื่อผู้เป็น “แม่เสียชีวิตลง จึงค่อยจัดการกับทรัพย์สิน”
ส่วนกรณีที่ “เจ้ามรดกตายไปแต่ไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้” บางครั้งทายาทก็ไม่ได้สนใจนัก เพราะต่างคนต่างก็ทำมาหากิน มีอาชีพ มีหลักฐาน ลักษณะแบบนี้จะไม่ต้องการเงินทรัพย์สิน เพราะมีความเป็นอยู่ที่ดี และมีความพอเพียงแล้ว
บางรายพ่อเสียชีวิตนานกว่า 10 ปี มรดกยังอยู่และแม่ก็ยังอยู่ในบ้านหลังนั้น ที่ดินทรัพย์สิน แม่เคยจัดการอย่างไรก็ยังคงเป็นแบบนั้น
อันที่จริงแล้ว สามีภรรยาเมื่ออยู่ด้วยกัน มีเงินทอง ทรัพย์สิน เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตายไป จะเกิดมรดกขึ้น ในส่วนของคนตาย เช่น มีที่ดิน 10 ไร่ จะถูกแบ่งครึ่งเป็นสินสมรส เป็นทรัพย์สินของภรรยาที่ทำมาหากินได้ 5 ไร่ ส่วนอีก 5 ไร่เป็นมรดกที่จะนำมาแบ่งให้ทายาทหรือบุตรทั้งหมด รวมทั้งภรรยาก็มีสิทธิที่จะได้ในส่วนนี้ด้วยเช่นกัน เช่น ลูก 3 คน ภรรยา และพ่อแม่ ก็จะแบ่งเป็น 5 ส่วน และมีตัวอย่างในบางครั้งที่พ่อหรือแม่ ปู่ย่าตายายขอสละสิทธิ์ ไม่รับมรดกนั้น ด้วยความรัก ความเข้าใจ และครอบครัวมีความอบอุ่น ผูกพันกัน
นี่คือตัวอย่างของครอบครัวที่มีความรักและความอบอุ่น มีความผูกพันเป็นพี่เป็นน้องกัน จะสามารถจัดการมรดกได้โดยไม่มีข้อพิพาท ทุกขั้นตอนจะง่าย ไม่ต้องเสียเงินมาก เป็นลักษณะของการจัดการทรัพย์มรดกที่บุตรและทายาททุกคนไปพร้อมพยาน นำทรัพย์สิน โฉนดที่ผู้จากไปทิ้งไว้เป็นมรดก เพื่อทำเรื่องที่กรมที่ดินได้เลย
การจัดการมรดกแบบมีปัญหา
ปัญหาการแบ่งมรดกที่กลายเป็นเรื่องอื้อฉาวของหลายครอบครัวนั้น ในบางคดีความที่เกิดขึ้น เจ้ามรดกมีการเตรียมการเรื่องนี้ไว้อย่างดี โดยทำพินัยกรรมชัดเจน และวิธีการแบ่งอยู่บนพื้นฐานที่ต้องการให้พี่น้องรักกัน ไม่แบ่งแยกสมบัติกัน
แต่เมื่อเจ้ามรดกจากไป ผู้รับมรดกไม่สามารถตกลงกันได้ จึงทำให้เกิดกรณีแย่งชิงทรัพย์สิน ไปจนถึงการทำร้ายถึงแก่ชีวิต ซึ่งสาเหตุของปัญหา ส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดภายในครอบครัวแต่แรก เพราะเป็นลักษณะของการอยู่ร่วมกัน พูดจาประสาพ่อแม่ลูกซึ่งเข้าใจง่าย แต่เมื่อแต่งงาน แยกออกไปมีครอบครัว บุตรสาวมีสามี บุตรชายมีภรรยา ซึ่งถือว่ามีบุคคลที่ 3 เข้ามา ทำให้เหตุการณ์ในครอบครัวเปลี่ยนไป
ส่วนที่ดีก็มี “เพราะหากได้คู่ชีวิตที่มีคุณธรรม ไม่โลภ ก็จะไม่มีปัญหา” จะเห็นว่าที่ผ่านมามีหลายตัวอย่างของครอบครัวที่พี่น้องรักกัน เมื่อถึงเวลาที่ต้องแบ่งเงินทอง ทรัพย์สินและที่ดิน กรณีที่พ่อเสียชีวิตลงนั้น พบว่าต่างคนต่างถ้อยทีถ้อยอาศัย แบ่งกันอย่างยุติธรรม ให้เกียรติกัน ใครอยากได้สมบัติชิ้นไหนก็เลือกไปได้
ในกรณีที่การแบ่งทรัพย์สินตกลงกันไม่ได้ จนเกิดปัญหาทะเลาะวิวาทกันในครอบครัวนั้น สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะสังคมเปลี่ยนไป เช่น การย้ายถิ่นฐานเข้ามาทำงานในสังคมเมือง และจากการพัฒนาของสังคมเมืองที่มีความเจริญ มีความสะดวกสบายมากขึ้น ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพที่สูงขึ้นตามมา เกิดความต้องการในทรัพย์สิน เงินทอง เพราะการทำมาหาได้ไม่เพียงพอต่อการดำเนินชีวิต ส่งผลทำให้เกิดปัญหา ยิ่งมีครอบครัวและบุตรก็ยิ่งมีความจำเป็นมาก
ส่วนที่มีการแย่งชิงสมบัติกันนั้น มีหลากหลายกรณีตัวอย่าง ที่เป็นคดีความให้เห็นเป็นระยะ ซึ่งบางกรณีมีปัญหากันตั้งแต่พ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่ เช่น บางคนกลับมาขอให้พ่อแม่ช่วยเพราะเป็นหนี้เป็นสิน ถึงขนาดนำทรัพย์สินของพ่อแม่ไปจำนองไว้กับธนาคาร ขณะที่พ่อแม่เองก็อยากให้ลูกทำมาหากินมีรายได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง จึงให้ทรัพย์สินไปจำนอง ซึ่งการค้าขาย ก็ใช่ว่าทุกอย่างจะได้กำไร หรือมีความราบรื่นจนประสบความสำเร็จ หากล้มเหลวก็จะไม่สามารถชำระหนี้ที่นำมาลงทุนได้
ซึ่งตรงนี้จะเกิดผลกระทบต่อบ้านที่พ่อแม่อยู่อาศัย ต้องนำไปจำนองหรือไปขายเพื่อแก้ปัญหา เหตุการณ์นี้ทำให้พี่น้องเริ่มเกิดความไม่พอใจ เพราะโดยธรรมชาติ พ่อแม่จะไม่กล้าตัดสินใจ ต้องถามความเห็นจากพี่คนโตหรือพี่น้องคนที่มีทรัพย์สินมากที่สุด เพื่อแก้สถานการณ์ไม่ให้บ้านถูกนำไปจำนอง หรือบางครั้งเมื่อเกิดเรื่องแบบนี้ พ่อแม่จะเรียกพี่น้องทุกคนให้รวมเงินมาช่วยเหลือบุตรคนที่มีหนี้สิน ซึ่งบุตรบางคนก็อาจปฏิเสธการช่วยเหลือ และหากมีความช่วยเหลือจากบุตรคนใด เช่นพี่คนโต ก็จะได้รับความเห็นใจจากพ่อแม่ จนโอนบ้านหรือทรัพย์สินให้ ทำให้เป็นปัญหาเมื่อพ่อแม่จากไป เกิดการทวงถามและการโต้แย้งในหมู่พี่น้อง
นางสุทธินี เมธิประภา นายกสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์
ป้องกันพี่น้องเปิดศึกชิงมรดก “ต้องแบ่งก่อนจาก”
นางสุทธินีกล่าวถึงแนวทางในการแบ่งทรัพย์สินเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทะเลาะ ฟ้องร้องหรือมองหน้ากันไม่ได้ตลอดชีวิต
กรณีคนที่ “มีทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก” ทั้งในส่วนของที่ดิน หุ้นส่วน สังหาริมทรัพย์ เช่น รถยนต์ เงินสด ของมีค่าต่างๆ นั้น สมาคมฯ จะแนะนำให้พ่อแม่มีการหารือเรื่องการ “แบ่งสัดส่วนทรัพย์สินให้บุตรตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่” และควรเป็นการจัดแบ่งที่เป็นธรรมต่อบุตรทุกคน ทั้งในส่วนของที่ดิน และเงินสดต่างๆ
เช่นคดีตัวอย่างที่พ่อแม่มีกิจการ มีหุ้นส่วนในบริษัทฯ ห้างร้าน และบุตรคนโตเป็นผู้บริหารจัดการในบริษัทฯ หนทางที่จะไม่ให้เกิดปัญหาแต่ต้น เมื่อเจ้ามรดกคือพ่อเสียชีวิตลง “แม่” จะต้องเป็นผู้จัดการให้มีการตกลงร่วมกันในหมู่พี่น้อง ซึ่งการตกลงทั้งหมดต้องมีความชัดเจน เช่น ให้บุตรที่เคยดูแลกิจการ ยังคงเป็นผู้บริหารต่อไปหรือไม่ การจัดสรรรายได้ที่งอกเงยจากกิจการ จะแบ่งกันอย่างไร
ทั้งนี้การตกลงต้องจัดเป็นการประชุม ให้มีการบันทึกข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษร รวมทั้งอาจจัดให้มีการประชุมร่วมกันเป็นระยะ เช่นเป็นรายเดือน เพื่อแถลงรายได้ ผลกำไร รายจ่าย ที่สำคัญต้องมีการตกลงเรื่องรายได้ ซึ่งจะต้องแบ่งให้บุตรที่เป็นผู้ดูแลกิจการ และถ้าจะให้ชัดเจนควรตั้งเป็นเงินเดือนของผู้บริหาร
ดังนั้นหากใช้การจัดการมรดกแบบนี้ก็จะมีการรับรู้ร่วมกัน ทำให้ไม่เกิดปัญหาในอนาคตแน่นอน แต่ถ้าไม่มีการตกลงร่วมกัน ก็จะเกิดความกินแหนงแคลงใจต่างๆ ขึ้นทั้งสองฝ่าย “คนที่บริหารก็จะคิดว่าทำเหนื่อย” แต่ต้องแบ่งให้คนที่ไม่ได้มาช่วย คนอื่นจะเอาแต่ผลประโยชน์ แนวคิดต่างๆ จะเปลี่ยนไปจนทำให้เกิดปัญหา
“การจัดแบ่งทรัพย์สินตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่เป็นสิ่งจำเป็น ทำให้เกิดความชัดเจน และบุตรที่ได้รับ ก็ยังมีแรงทำมาหากินให้งอกเงยได้ เพราะในบางกรณีที่พ่อแม่อายุยืน บุตรก็อาจจะอายุมาก ทำให้เสียโอกาส พ่อแม่ส่วนใหญ่จะมีวิธีจัดการเช่น แบ่งให้ลูกทุกคนในสัดส่วนเท่าๆ กัน โดยมีข้อแม้ว่าให้ทำกิจการจากเงินที่ได้รับ เหมือนเป็นการให้เงินไปลงทุน ทำให้กิจการเจริญก้าวหน้าตั้งแต่ยังมีโอกาส”
กรณีตัวอย่าง ร้านทองร้านหนึ่งมีแบรนด์เป็นของตนเอง แบ่งให้ลูกทุกคนคนละ 10 ล้านให้ไปทำกิจการร้านทอง โดยอนุญาตให้ใช้แบรนด์และให้วิชาความรู้เป็นฐานให้ ลูกทุกคนก็จะไปลงทุน ใครเก่งก็สามารถไปได้เร็วขึ้น สูงขึ้น ลูกบางคนสามารถทำให้กิจการเจริญ ใหญ่กว่าของพ่อแม่ เมื่อถึงระดับนั้นลูกคนที่ประสบความสำเร็จก็ไม่ต้องการทรัพย์สินของพ่อแม่อีก เพราะมีเพียงพอแล้ว ขยายกิจการได้ดีกว่าเดิมไปอีกหลายเท่า ร้านเดิมเมื่อพ่อแม่ไม่มีกำลังทำ ก็ให้ปิดไปเลยไม่ต้องการมาเป็นของตน
ข้อเสียของการให้ทรัพย์สินก่อนตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ เคยมีกรณีตัวอย่างที่บุตรไม่สามารถรักษาไว้ได้ นำทรัพย์สินเช่น บ้านหรือที่ดินไปขาย ทำให้ไม่มีที่อยู่ ต้องกลับมาให้พ่อแม่ดูแล สำหรับทรัพย์สินประเภทอสังหาริมทรัพย์ ปัญหานี้สามารถป้องกันได้ โดยพ่อแม่สามารถไปจดสิทธิ์เก็บกินที่กรมที่ดิน เช่น เรามีบ้าน และเราอยากให้ลูกก่อน เพื่อให้ลูกนำไปลงทุน เราก็สามารถไปจดสิทธิ์เก็บกินให้ตนเองได้ เป็นระยะเวลา เช่น 30 ปีหรือตลอดชีวิตของพ่อแม่ ลูกจะนำไปขาย หรือจำหน่ายจ่ายโอนไม่ได้ หากจะนำไปจำนองก็ต้องได้รับการยินยอมจากพ่อแม่
ถ้ายังไม่แบ่งต้องทำพินัยกรรม 4 รูปแบบ
นางสุทธินี กล่าวว่า ถ้าไม่ได้ทำการแบ่งทรัพย์สินไว้แต่แรก การป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาคือต้องทำ “พินัยกรรม” ซึ่งแบ่งเป็น 4 รูปแบบ
รูปแบบแรก คือ แบบทั่วไป สามารถจัดเตรียมได้ โดยต้องประกอบด้วยพยานจำนวน 2 ท่าน ถือเป็นคำสั่งเสียซึ่งจะมีผลบังคับเมื่อเจ้ามรดกได้ตายจากไป มีรูปแบบตามมาตรฐานคือ ระบุวัน เดือน ปี ที่อยู่ รายละเอียดทรัพย์สิน เช่น โฉนดเลขที่ เนื้อที่ ชื่อนามสกุลผู้รับมรดก และเจ้ามรดกลงลายมือชื่อ ซึ่งลักษณะนี้ก็มีมาทำที่สมาคมฯ โดยให้ทนายของสมาคมฯ เป็นผู้ดำเนินการ เอกสารเก็บไว้ที่สมาคม 1 ชุด เจ้าของเก็บไว้ 1 ชุด หรือมากกว่านั้นตามต้องการ และควรถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐานเพื่อความรัดกุม อย่างไรก็ตามพินัยกรรมแบบนี้ บางกรณีอาจมีปัญหาในทางปฏิบัติ เช่น มีการอ้างว่าพินัยกรรมปลอม ซึ่งจะนำไปสู่การพิสูจน์ในชั้นศาล
รูปแบบที่สอง คือ แบบเขียนเอง คือเจ้ามรดกเขียนเองด้วยลายมือตนทั้งฉบับ สั่งเสียว่าจะให้ใครเป็นผู้รับ ทรัพย์สินอะไรให้ชัดเจน แม้ในทางกฎหมายไม่ได้บัญญัติว่าต้องมีพยาน แต่เพื่อไม่ให้มีปัญหาก็ควรมีพยาน และถ่ายรูปเป็นหลักฐานเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ
รูปแบบที่สาม คือ แบบเอกสารฝ่ายเมือง ทำโดยไปที่อำเภอ/สำนักงานเขต แจ้งความประสงค์จะทำกับนายอำเภอ/ผู้อำนวยการเขต และต้องนำหลักฐานทรัพย์สินไปแสดงทั้งหมด เช่น โฉนดที่ดิน ต้องนำตัวจริงไปแสดง รวมทั้งต้องมีใบรับรองแพทย์เพื่อยืนยันว่าในขณะทำพินัยกรรมนั้น ผู้ทำมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ และต้องนำพยานไป ซึ่งพยานจะต้องเป็นผู้ไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์สิน เช่น ทำพินัยกรรมให้ลูก ลูกก็ไม่สามารถเป็นพยานได้ พินัยกรรมแบบนี้จะถือเป็นเอกสารที่ทางราชการออกให้ การโต้แย้งจะทำได้ยาก เพราะแน่นหนารัดกุม จึงเป็นแบบที่นิยมทำกันมาก
รูปแบบที่สี่ คือ แบบลับ เจ้ามรดกทำเองทั้งฉบับ ปิดผนึกเป็นความลับ ไปยื่นทำที่อำเภอเช่นกัน แต่นายอำเภอ ผู้รับเรื่องจะไม่รู้รายละเอียดในพินัยกรรม และการทำพินัยกรรมแบบนี้ก็ต้องมีใบรับรองแพทย์ รวมทั้งต้องมีสำเนาบัตรประชาชนของผู้รับมรดก เพื่อเป็นหลักฐาน และให้นายอำเภอจดถ้อยคำ รับซองปิดผนึก ลงตำแหน่งเป็นพยานให้
อย่างไรก็ดีในอดีตอาจมีการทำพินัยกรรมด้วยวาจา แต่รูปแบบนี้ไม่เป็นที่นิยม และเป็นข้อถกเถียงมาก การยกให้ด้วยวาจากันเองไม่ถือเป็นพินัยกรรม เพราะไม่ถูกต้อง และไม่น่าเชื่อถือ พินัยกรรมด้วยวาจาจะทำได้เฉพาะการเกิดพฤติกรรมที่เป็นพิเศษ เป็นการเฉพาะ เช่นการเกิดโรคระบาด การอพยพหนี หรือการตกอยู่ในอุบัติภัยใกล้เสียชีวิตจึงจะสามารถสั่งเสียได้ในวาระสุดท้ายเท่านั้น และอย่างน้อยต้องมีพยาน 2 คน ซึ่งพยานต้องไปแจ้งความจำนงของผู้ตายกับเจ้าหน้าที่อำเภอเป็นหลักฐานไว้ด้วย
แนะวิธีทำพินัยกรรมให้รัดกุม
1. ไม่ให้ลูกเป็นพยาน เพราะเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการรับพินัยกรรม มรดกเป็นการตกทอดด้วยทายาท สืบสายโลหิต เช่น บิดา มารดา บุตร ภรรยาหรือสามี เช่น กรณีผู้ตายไม่มีบุตร แต่มีพ่อแม่อยู่ ทายาทก็จะต้องแบ่งในส่วนของพี่น้องด้วย แต่ถ้ามีบุตร ก็จะตัดในส่วนของพี่น้องออกไป หรือถ้าไม่มีภรรยา ก็จะตกเป็นของพ่อแม่ และพี่น้อง
2. การแต่งตั้งผู้จัดการมรดก จะยึดตามที่มีคำสั่งเสียของผู้ตายระบุในพินัยกรรม หรือถ้าไม่มีการระบุไว้ ต้องมีการประชุมกันในหมู่ทายาท ว่าจะให้ใครเป็นผู้จัดการมรดก หรือจะเป็นทุกคนก็สามารถทำได้ หน้าที่ของผู้จัดการมรดกมีหน้าที่รวบรวมทรัพย์สินทั้งหมดของผู้ตาย และนำมาแบ่งให้บรรดาทายาท
กรณีที่มีปัญหาฟ้องร้องกัน เป็นเพราะผู้จัดการมรดกไม่ซื่อ อ้างคำสั่งศาลที่แต่งตั้งตนเองให้เป็นผู้จัดการฯ มายักยอก ถ่ายเท หรือขายทรัพย์สินของผู้ตายแต่มาแบ่งให้ทายาทไม่ครบจำนวน ซึ่งก็มีกรณีฟ้องร้องกันหลายคดี เช่น ตกลงราคาขายกันในที่ประชุม 8 ล้าน แต่ไปขายจริงได้ราคา 10 ล้าน โดยผู้จัดการอ้างว่าเป็นมูลค่าที่ซื้อต่อมาจากกองมรดกในราคาที่ตกลง แต่รับไปขายได้ราคามากกว่า
สำหรับวิธีป้องกันปัญหาคือการตั้งข้อกำหนด เช่นให้จัดการทรัพย์สินโดยลำพัง หรือเข้าที่ประชุมทุกกรณี จำกัดให้จัดการเฉพาะสิ่ง ตามที่ตกลงกัน ตั้งข้อกำหนดให้การขาย จำหน่าย จ่ายโอน หรือการจัดการทรัพย์สิน ต้องได้รับความยินยอมจากทายาท
ปัญหาที่เกิดส่วนใหญ่คือไม่รู้กฎหมาย ไปทำกันเอง หรือการไว้ใจ ซึ่งทุกปัญหาสามารถเตรียมการป้องกันได้ และต้องมีความละเอียดรอบคอบก่อนจะทำการใดๆ นอกจากนี้การโต้แย้งที่พบ มักเป็นการโต้แย้งว่าเป็นพินัยกรรมปลอม หรือผู้ตายทำในขณะที่สติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ จึงจำเป็นต้องมีใบรับรองแพทย์มาประกอบ เพื่อไม่ให้เกิดการโต้แย้งภายหลัง อย่างไรก็ตาม การทำพินัยกรรมไว้ที่ใด ควรต้องบอกทายาทให้รับทราบ เพื่อจะมาติดตามกรณีเสียชีวิต และควรต้องมีสำเนาเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ หรือการสูญหายที่อาจเกิดขึ้น
กรณีที่มีปัญหาเป็นข่าวอยู่ขณะนี้ ไม่ทราบข้อมูลโดยละเอียดจึงไม่ขอก้าวล่วง แต่โดยหลักทางกฎหมาย การแบ่งหุ้นส่วนต้องมีคณะกรรมการ หุ้นบริคณห์สนธิ ต้องระบุสัดส่วนหุ้นของทายาท ซึ่งตามความเห็นในส่วนของบริษัทฯ ถ้าเป็นเชิงครอบครัว ไม่ใช่แบบมหาชน และแม่มีหุ้นใหญ่ ควรให้ใช้ลายมือชื่อของแม่เป็นหลักในทุกนิติกรรม หรืออาจใช้ลูก 1 ใน 3 มาลงลายมือชื่อร่วมด้วย การกระทำการใดๆ แม่จะได้รับรู้
แต่ถ้าแม่ไม่ต้องการรับรู้ ยกให้ลูกดูแลก็ควรพูดอย่างชัดเจน ว่าดูแลอย่างไร เช่น ดูแลเฉพาะค่าใช้จ่ายในกิจการบริษัทฯ หรือดูแลไปถึงสมบัติ อสังหาริมทรัพย์ หุ้น ทรัพย์สิน เงินฝากธนาคาร จะต้องมีการสั่งเสียกันโดยละเอียด เพราะในรูปแบบของบริษัทฯ หากไม่ต้องการมีส่วนร่วม ก็ต้องมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงผู้มีอำนาจฯ และเมื่อเปลี่ยนแปลงตัดชื่อไปแล้ว ผู้ลงนามก็มีอำนาจและสิทธิตามกฎหมาย ตามหลักของนิติบุคคล
ทายาทโดยพินัยกรรมได้สิทธิ์เหนือผู้สืบสันดาน
นางสุทธินีกล่าวถึงหลักการเบื้องต้นในการแบ่งมรดก กรณีคู่สมรสยังมีชีวิตอยู่ 50% เป็นสินสมรส อีก 50% เป็นของทายาท การเขียนพินัยกรรมจะต้องทำเฉพาะทรัพย์สินของตนเองเท่านั้น เช่น ทรัพย์สินเป็นชื่อของสามี ไม่สามารถยกแบ่งให้ใครได้ ถือเป็นโมฆะ
เพราะตามข้อกำหนดทางกฎหมาย ทรัพย์สมบัติทั้งหมด รวมไปถึงสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบต่างๆ ของเจ้ามรดก จะตกทอดแก่ทายาท ซึ่งทายาทตามกฎหมายแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ทายาทโดยธรรม กับทายาทโดยพินัยกรรม หรือผู้รับในพินัยกรรมนั่นเอง คำว่าทายาทโดยพินัยกรรม บางครั้งอาจไม่ใช่ทายาทผู้สืบสันดานก็ได้ เช่น ผู้ตายมีภรรยาอีกคน ต้องการยกทรัพย์สินให้ทั้งหมด เมื่อเปิดพินัยกรรม ก็ต้องเป็นไปตามพินัยกรรม แม้จะมีทายาทผู้สืบสันดานก็ตาม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคำสั่งเสียสุดท้ายของผู้ตาย ดังนั้นผู้รับพินัยกรรมจึงสามารถเป็นใครก็ได้ กฎหมายยอมรับ ไม่สามารถโต้แย้ง
การระบุผู้จัดการมรดกในพินัยกรรม ถ้าภายในพินัยกรรมมีการระบุผู้จัดการมรดก ก็ต้องปฏิบัติตามที่กำหนด แต่กรณีที่ไม่ได้ระบุ ก็ต้องนำไปสู่การจัดตั้งผู้จัดการมรดก คือการร้องจัดการมรดก ซึ่งประเด็นนี้อาจมีการโต้แย้งในวงเครือญาติ เพราะเกี่ยวเนื่องไปถึงการแบ่งมรดก จึงต้องมีการร้องจัดการมรดกในชั้นศาล และการร้องต้องได้รับการยินยอมจากทายาท ตามลำดับบัญชีเครือญาติ รวมไปถึงทายาทโดยพินัยกรรม ถ้าผ่านขั้นตอนนี้ไปความยินยอมของทายาทก็จะไม่มีปัญหา
“ปัญหาต่อไปคือเรื่องของการแบ่งมรดก ส่วนมากจะมีการตรวจสอบพินัยกรรมว่าปลอมหรือไม่ ดูความถูกต้องในรูปแบบของพินัยกรรม ซึ่งเป็นกระบวนการสืบพิสูจน์ในชั้นศาล แต่ละเคสมีความซับซ้อนที่แตกต่างกัน เช่น สืบว่าพินัยกรรมถูกต้องตามแบบ พยานที่ระบุในพินัยกรรมไม่ “ต้องห้าม” เช่นเป็นผู้มีส่วนได้เสีย เป็นผู้วิกลจริต หรือเป็นผู้ที่ศาลสั่งว่าเสมือนไร้ความสามารถ ผู้ไม่บรรลุนิติภาวะ ไม่ควรนำมาเป็นพยาน ต้องสืบให้เห็นอย่างเด่นชัดในศาลว่าเป็นพินัยกรรมที่ถูกต้อง”
ขอบคุณข้อมูลดีดีจาก : ผู้จัดการออนไลน์ , TerraBKK.com