มรดกที่ไม่มีผู้รับ
ช่วงนี้มีกระแสละครดังออกมา และในฉากละครนั้น ในละครเรื่องนั้น มีการแข่งขันกันทุกวิถีทางเพื่อให้ได้สมบัติของคนอื่นมาเป็นของตน ฉะนั้น คำกล่าวที่ว่าเรื่องเงินเรื่องทองไม่เข้าใครออกใครก็ยังใช้ได้อยู่ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ในยุคนี้ เพียงแค่ปัจจัยสี่น่าจะไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพในสังคมปัจจุบัน และประเทศไทยก็กำลังก้าวเข้าสู่ยุคสังคมสูงวัยแล้ว ซึ่งอัตราการเกิดและการเข้าสู่วัยทำงานลดน้อยลง ทำให้คนที่มีทรัพย์สิน เงินทอง บ้าน ที่ดิน รถยนต์ หุ้น ซึ่งอาจแต่งงานแล้วไม่อยากมีบุตร หรือไม่แต่งงาน อยู่เป็นโสด เมื่อเวลาผ่านไปนานวันเข้า ทรัพย์สินที่ทำมาหากินได้มาและเก็บหอมรอมริบไว้มีเพิ่มพูนขึ้นมาก แต่อยู่ตัวคนเดียว แล้ว “มรดก” จะเอาไปไว้ไหน วันนี้เลยมาทำความเข้าใจกันเรื่องมรดกหรือทรัพย์มรดกกันว่า มีความสำคัญอย่างไร
คำว่า “มรดก” หรือ “ทรัพย์มรดก” หมายถึง ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดจนถึงสิทธิและหน้าที่ รวมถึงความรับผิดชอบต่าง ๆ ด้วย ทรัพย์มรดกจะตกทอดไปยังทายาทได้ก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นถึงแก่ความตายไปแล้ว ผู้ที่เป็นเจ้าของมรดก เรียกว่า “เจ้ามรดก” ส่วนทรัพย์สินสิ่งของและเงินทองต่างๆ เรียกว่า ทรัพย์มรดก หากมีหลายชนิดเราเรียกต่อไปอีกว่า กองมรดก
สาระสำคัญของมรดกที่เราควรรู้มีอะไรบ้าง มาดูกัน
1. ทรัพย์สิน คือ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย สิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบ และที่สำคัญจะเป็นมรดกได้ ทรัพย์สินนั้นต้องเป็นของผู้ตายอยู่แล้วในเวลาที่ถึงแก่ความตาย เช่น บัญชีเงินฝากในธนาคาร บ้าน ที่ดิน แก้วแหวน ทองคำ หุ้น เป็นต้น แต่มีทรัพย์บางประการที่กฎหมายถือว่าไม่เป็นทรัพย์มรดก เพราะได้มาเพราะความตาย เช่น เงินบำนาญตกทอด เงินทุนสงเคราะห์เพื่อช่วยเหลืองานศพ เงินชดเชยที่เกิดจากความตาย เงินประกันชีวิต เป็นต้น
2. ทายาท คือ ผู้มีสิทธิรับมรดก โดยมรดกจะตกทอดสู่ทายาทตามสิทธิตามกฎหมายหรือเรียกว่า ทายาทโดยธรรม และทายาทอีกประเภทหนึ่งเรียกว่า ทายาทโดยพินัยกรรม
2.1 ทายาทโดยธรรม คือ บุคคลที่มีสิทธิโดยธรรมชาติที่จะได้รับมรดกในฐานะทายาทตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งถูกกำหนดไว้ให้มี 6 ลำดับ คือ
1. ผู้สืบสันดาน หมายถึง ญาติผู้สืบสายโลหิตโดยตรงลงไปของเจ้ามรดก คือ บุตร หลาน เหลน เป็นต้น ทายาทชั้นนี้รวมถึงบุตรบุญธรรมที่จดทะเบียนรับรองตามกฎหมายด้วย และรวมถึงบุตรนอกสมรสที่บิดาได้จดทะเบียนรับรองว่าเป็นบุตรหรือศาลมีคำพิพากษา หรือต่อมาภายหลังบิดาและมารดาจดทะเบียนสมรสกัน
2. บิดา มารดา คือ บิดา มารดาผู้ให้กำเนิด แต่ไม่รวมถึงบิดา มารดาในฐานะผู้รับบุตรบุญธรรม
3. พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน หมายถึง พี่หรือน้องที่เกิดกับบิดาและมารดาเดียวกัน พี่น้องท้องเดียวกัน คลานตามกันมานั่นเอง
4. พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน กรณีนี้เป็นพี่น้องกันแต่อาจจะมีพี่น้องร่วมมารดาเดียวกัน แต่คนละบิดา หรือเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันแต่คนละมารดา คือพ่อเดียวกันแต่คนละแม่ หรือแม่เดียวกันแต่คนละพ่อนั่นเอง
5. ปู่ย่าตายาย หมายถึง เป็นญาติของเจ้ามรดกที่สืบสายโลหิตขึ้นไปซึ่งเจ้ามรดกมีสถานะเป็นหลาน ถ้าเป็นปู่ย่าก็เป็นพ่อหรือแม่ของพ่อเจ้ามรดกโดยตรงเท่านั้น ส่วนตากับยายนั้นเป็นพ่อหรือแม่ของแม่ของเจ้ามรดกเท่านั้น ไม่นับปู่ย่าตายายคนอื่น ๆ ที่คนไทยเราอาจเรียกกันเพราะมีฐานะอาวุโสกว่า
6. ลุงป้าน้าอา เป็นทายาทลำดับสุดท้ายตามหลักทายาทโดยธรรมตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งหมายถึงผู้ที่เป็นพี่หรือน้องของบิดาหรือมารดาของเจ้ามรดกโดยตรงเท่านั้น
2.2 ทายาทโดยพินัยกรรม ถือเป็นทายาทที่มีสิทธิที่รับมรดกอีกประเภทหนึ่ง ผู้ที่ถูกระบุชื่อลงในพินัยกรรมย่อมถือว่าเป็นผู้มีสิทธิที่จะรับมรดกตามคำสั่งเสียที่เขียนระบุไว้ พินัยกรรมเป็นคำสั่งหรือเจตนาของเจ้ามรดกที่ทำไว้เพื่อจัดการเรื่องทรัพย์สินของตนเองนั้น หรือสั่งไว้ให้ดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ หลังจากที่ตนเสียชีวิตลงแล้ว พินัยกรรมจึงเป็นนิติกรรมอย่างหนึ่งที่ต้องอาศัยความถูกต้องสมบูรณ์ตามหลักกฎหมายนิติกรรมเช่นเดียวกัน พินัยกรรมได้มีด้วยกันทั้งสิ้น 5 รูปแบบด้วยกัน คือ
1. แบบธรรมดา ต้องทำเป็นหนังสือ โดยจะเขียนหรือพิมพ์ก็ได้ ระบุวันที่ให้ชัดเจน พร้อมลงลายมือชื่อผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือผู้ทำพินัยกรรม ที่สำคัญให้ระบุชื่อสกุลผู้พิมพ์ พร้อมทั้งมีพยานรับรองการทำพินัยกรรมอย่างน้อย 2 คนอีกด้วย
2. แบบเขียนเองทั้งฉบับ ผู้ทำพินัยกรรมต้องเขียนด้วยลายมือของตนเองทั้งฉบับจะพิมพ์ไม่ได้ ลงวันเดือนปีที่ทำให้ชัดเจน และลงลายมือชื่อของตนเองด้วยเป็นสำคัญ จะมีพยานหรือไม่มีก็ได้
3. แบบเอกสารฝ่ายเมือง ผู้ทำพินัยกรรมต้องไปที่หน่วยงานราชการ เช่น อำเภอหรือเขต แสดงความประสงค์ต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ พร้อมทั้งลงลายมือชื่อและต้องนำพยานมา 2 คน ซึ่งเป็นแบบตามที่ทางราชการกำหนด
4. แบบเอกสารลับ ต้องทำเป็นหนังสือจะเขียนหรือจะพิมพ์เอาก็ได้ พร้อมทั้งผู้ทำต้องลงลายมือชื่อ ใส่ซองปิดผนึกพร้อมทั้งลงลายมือชื่อกำกับตรงที่ปิดผนึก และนำไปให้เจ้าพนักงานของรัฐที่เขตหรือที่อำเภอ เพื่อจดถ้อยคำประทับตราไว้บนซอง พร้อมลงลายมือชื่อ วัน เดือน ปี
5. แบบทำด้วยวาจา กรณีมีพฤติการณ์พิเศษ อาทิ ในภาวะการสงครามตกอยู่ในอันตรายใกล้ความตาย ผู้ทำสามารถแสดงเจตนาต่อพยาน 2 คน แล้วพยานทั้งสองต้องรีบนำความนั้นมาแจ้งต่อเจ้าพนักงานรัฐโดยเร็วเพื่อบันทึกข้อมูลพร้อมลงลายมือชื่อ
นอกจากนั้น ในเรื่องของมรดกนี้ ยังมีอีกหลายประเด็นที่ควรระวังกันไว้ให้ดี เช่น ในเรื่องการเสียสิทธิในการรับมรดก การกำจัดมิให้รับมรดก การตัดมิให้รับมรดก การสละมรดก เป็นต้น และที่สำคัญ การจัดแบ่งทรัพย์มรดกนั้นต้องคำนึงถึงการจัดการเรื่องทรัพย์สินระหว่างสามีและภรรยาตามกฎหมายครอบครัวด้วยว่า อะไรเป็นสินส่วนตัวและอะไรเป็นสินสมรส รวมทั้งประเด็นที่บิดามารดาและคู่สมรสตามกฎหมายก็มีสถานะพิเศษที่เป็นทายาทรับมรดกในชั้นบุตรได้เช่นกันครับ สุดท้ายปลายทางแล้ว หากมรดกที่ไม่มีผู้รับ กรณีที่ไม่มีทายาทเลยหรือทายาทโดยธรรมหมดสิทธิรับมรดกไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม และไม่มีทายาทโดยพินัยกรรม หรือไม่มีการตั้งมูลนิธิตามพินัยกรรม มรดกของบุคคลนั้นก็ให้ตกเป็นของแผ่นดิน
สรุปแล้ว หากมีทรัพย์สินเงินทองได้มาจากการทำมาหากิน เก็บหอมรอมริบไว้จนทรัพย์สมบัตินั้นเพิ่มพูนขึ้นมาก แต่สุดท้ายแล้วกลับไม่รู้จะให้ใครหรือว่าไม่มีใครสืบทอดดูแลทรัพย์สินแทนตนเอง ทรัพย์สินนั้นก็จะตกเป็นของแผ่นดินนั่นเอง มีวลีหนึ่งในละครที่สะท้อนว่า “คนเรามีเวลาแค่ 3 วันเท่านั้นคือ เมื่อวานนี้ ซึ่งเราได้ถูกใช้ไปแล้ว วันนี้วันที่เรากำลังใช้มันอยู่ และวันพรุ่งนี้ซึ่งไม่รู้ว่าเราจะมีโอกาสได้ใช้มันรึเปล่า“ ฉะนั้นการเตรียมตัวหรือเตรียมความพร้อมไว้จึงเป็นสิ่งที่ดี การทำพินัยกรรมก็มิได้เป็นการลดทอนอายุตัวเองตามความเชื่อแต่อย่างไร แต่เป็นการเตรียมตัวไม่ประมาทในชีวิตมากกว่า รวมทั้งเป็นการดีที่จะมอบทรัพย์สินให้กับคนที่เราไว้ใจที่จะดูแลต่อจากเราได้
CR :: https://www.scb.co.th/