เจ็บหน้าอก (Chest Pain)
เจ็บหน้าอก (Chest Pain) คือ อาการเจ็บปวดที่เกิดขึ้นบริเวณหน้าอก ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่บริเวณไหล่ลงมาถึงช่วงล่างของซี่โครง สาเหตุของอาการเจ็บหน้าอกมีหลายอย่าง การวินิจฉัยสาเหตุระบุได้ยากหากไม่ได้รับการตรวจอย่างละเอียด ผู้ที่มีอาการเจ็บหน้าอกควรรีบพบแพทย์ เนื่องจากอาการดังกล่าวอาจเป็นผลมาจากการป่วยด้วยโรคที่ร้ายแรง เช่น โรคหัวใจ เป็นต้น โดยผู้ที่เพิ่งเกิดอาการเจ็บหน้าอก เจ็บหน้าอกอย่างรุนแรง หรือเกิดอาการนี้มาเรื่อย ๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยโรคและรักษาต่อไป
อาการเจ็บหน้าอก
ปัญหาสุขภาพและโรคหลายโรคอาจก่อให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกได้ ซึ่งปัญหาสุขภาพของโรคบางโรคที่ทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกนั้นอาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับหัวใจ อย่างไรก็ตาม หากรู้สึกเจ็บหน้าอกขึ้นมา ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและวินิจฉัยสาเหตุของอาการดังกล่าว ทั้งนี้ อาการเจ็บหน้าอกที่มีสาเหตุมาจากโรคหรือปัญหาสุขภาพแต่ละอย่างจะเกิดอาการเจ็บที่แตกต่างกัน ดังต่อไปนี้
อาการเจ็บหน้าอกที่เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพหัวใจ
อาการเจ็บหน้าอกที่ปรากฏกับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพหัวใจนั้นมักมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย โดยทั่วไป มักมีลักษณะอาการต่อไปนี้
- รู้สึกแน่นหรือเหมือนถูกกดที่หน้าอก
- รู้สึกเจ็บเหมือนถูกบีบที่หน้าอกและเจ็บร้าวไปที่หลัง คอ ขากรรไกร ไหล่และแขน โดยเฉพาะแขนซ้าย
- อาการเจ็บที่เพิ่งหายไปกำเริบขึ้นได้หากต้องออกแรงมาก และอาจเป็น ๆ หาย ๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับความหนักหน่วงของกิจกรรมที่ทำ
- หายใจหอบเหนื่อย หายใจไม่สุด
- เหงื่อออกแต่ตัวเย็น
- ง่วงซึมหรืออ่อนเพลีย
- วิงเวียนหรืออาเจียน
อาการเจ็บหน้าอกจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ
อาการเจ็บหน้าอกไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าเกิดจากปัญหาสุขภาพของหัวใจหรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม อาการเจ็บหน้าอกที่มีแนวโน้มว่าไม่ได้เกิดจากปัญหาสุขภาพหัวใจนั้นมักเกิดลักษณะของอาการดังนี้
- รับรสเปรี้ยวหรือรู้สึกว่ามีน้ำจากสิ่งที่กลืนลงไปไหลขึ้นมาที่คอ
- อาการเจ็บหน้าอกอาจดีขึ้นหรือแย่ลงเมื่อขยับตัวเปลี่ยนอิริยาบถ
- อาการเจ็บหน้าอกกำเริบมากขึ้นเมื่อหายใจลึก ๆ หรือไอ
- รู้สึกแน่นตึงเมื่อกดหน้าอก
สาเหตุของอาการเจ็บหน้าอก
สาเหตุของการเจ็บหน้าอกประกอบด้วยปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่ สาเหตุที่เกี่ยวกับหัวใจ สาเหตุจากระบบย่อยอาหาร สาเหตุจากกล้ามเนื้อและกระดูก สาเหตุเกี่ยวกับปอด และสาเหตุอื่น ๆ โดยแต่ละสาเหตุมีรายละเอียด ดังนี้
สาเหตุที่เกี่ยวกับหัวใจ
อาการเจ็บหน้าอกที่มีสาเหตุเกี่ยวกับหัวใจนั้น ประกอบด้วย
- โรคหัวใจหรือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Myocardial Infarction)
เกิดจากการที่ลิ่มเลือดอุดตัน ทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ เมื่อเลือดไหลไปเลี้ยงหัวใจได้น้อยลงก็เป็นสาเหตุให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บปวดเหมือนถูกบีบรัดที่บริเวณตรงกลางหรือด้านซ้ายของหน้าอกขึ้นมาทันที แม้จะนอนพักอาการก็ไม่ทุเลาลง นอกจากนี้ ผู้ป่วยจะเหงื่อออก คลื่นไส้ หายใจไม่สุด หรือรู้สึกอ่อนแรงอย่างรุนแรงร่วมด้วย - ภาวะเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด (Angina)
ภาวะนี้เป็นผลมาจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (Coronary Artery Disease: CAD) ที่มีคราบตะกรันหนาสะสมอยู่ภายในผนังของหลอดเลือดแดงซึ่งทำหน้าที่ลำเลียงเลือดไปเลี้ยงหัวใจ โดย คราบตะกรัน นี้จะทำให้หลอดเลือดแดงแคบลง ส่งผลให้ร่างกายลำเลียงเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่พอ จนเกิดภาวะเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด ผู้ป่วยจะเกิดอาการเจ็บเหมือนถูกกดหรือบีบที่หน้าอก ซึ่งอาการนี้อาจกระจายไปที่แขน ไหล่ ขากรรไกร หรือหลัง ทั้งนี้ ผู้ป่วยมักเกิดอาการดังกล่าวเมื่อออกแรงทำกิจกรรมอย่างออกกำลังกาย ตื่นเต้น หรือรู้สึกเครียด ซึ่งอาการจะทุเลาลงเมื่อหยุดพักจากกิจกรรมดังกล่าว - ภาวะเลือดเซาะผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ (Aortic Dissection)
เกิดจากหลอดเลือดแดงที่อยู่ติดกับหัวใจหรือผนังหลอดเลือดแดงนั้นฉีกขาด หากภายในชั้นผิวของผนังหลอดเลือดนี้แยกออกจากกัน เลือดก็จะไหลทะลักเข้ามาตรงกลางชั้นผิว ทำให้ผนังหลอดเลือดแดงเกิดการฉีกขาดมากขึ้น ซึ่งถือว่าอันตรายต่อชีวิต อย่างไรก็ตาม มักเกิดได้ไม่บ่อยนัก เมื่อผู้ป่วยประสบภาวะนี้ จะเกิดอาการเจ็บหน้าอกเหมือนถูกฉีกตั้งแต่คอ หลัง ไปจนถึงท้อง - โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (Pericarditis)
ภาวะนี้เกิดจากเยื่อหุ้มที่ล้อมรอบหัวใจนั้นเกิดอาการอักเสบ ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บแปลบตั้งแต่คอช่วงบนลงมาถึงกล้ามเนื้อไหล่ โดยอาการจะยิ่งแย่ลงเมื่อหายใจเข้าลึก ๆ กลืนอาหาร หรือนอนหงาย - กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน (Myocarditis)
นอกจากจะเกิดอาการเจ็บหน้าอกแล้ว กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลันอาจก่อให้เกิดอาการเป็นไข้ ปวดเมื่อย หัวใจเต้นเร็ว และมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ ถึงแม้จะไม่เกิดอาการหัวใจขาดเลือด แต่อาการก็จะคล้ายโรคหัวใจ
- กล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม (Hypertrophic Cardiomyopathy)
ผู้ที่ป่วยโรคนี้จะมีกล้ามเนื้อหัวใจที่โตหนาผิดปกติ บางครั้งนำไปสู่ปัญหาเกี่ยวกับการลำเลียงเลือดไปเลี้ยงหัวใจ ทั้งนี้ อาจเกิดหัวใจวายได้หากกล้ามเนื้อหัวใจหนาขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อที่จะส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ผู้ป่วยจะเกิดอาการเจ็บหน้าอกและหายใจไม่สุดเมื่อออกกำลังกาย และอาจเวียนหัว วิงเวียน และเป็นลมร่วมด้วย - โรคลิ้นหัวใจยาว (Mitral Valve Prolapse)
โรคนี้เป็นโรคที่ลิ้นหัวใจปิดกันไม่สนิทนอกจากจะเกิดอาการเจ็บหน้าอกแล้ว ผู้ป่วยยังรู้สึกใจสั่นและเวียนหัวด้วย
สาเหตุจากระบบย่อยอาหาร
นอกจากจะเกี่ยวข้องกับหัวใจแล้ว อาการเจ็บหน้าอกยังเป็นผลมาจากระบบย่อยอาหารได้อีกด้วย ซึ่งได้แก่
- ปัญหาเกี่ยวกับการกลืนอาหาร
ปัญหาเกี่ยวกับการกลืนอาหารมักเกิดขึ้นที่หลอดอาหาร ทำให้กลืนอาหารลำบากและรู้สึกเจ็บหน้าอก โดยอาการเจ็บหน้าอกที่เกี่ยวกับหลอดอาหารนั้น ได้แก่ - อาการแสบร้อนกลางอก (Heartburn)
อาการนี้ถือเป็นอาการหลักของโรคกรดไหลย้อน (Gastro-Oesophageal Reflux Disease) เกิดจากกรดในกระเพาะอาหารไหลขึ้นมาที่หลอดอาหาร ปกติแล้วอาหารที่รับประทานและกลืนเข้าไปจะผ่านหลอดอาหารไปยังกระเพาะอาหาร โดยมีหูรูดซึ่งอยู่ปลายสุดของหลอดอาหารทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหาร แต่หากกล้ามเนื้อหูรูดไม่แข็งแรงก็ทำให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาได้ ผู้ป่วยจะรู้สึกแสบร้อนและรับรสเปรี้ยวจากท้องขึ้นมาที่อกและคอ ทั้งนี้ ผู้ป่วยยังรู้สึกเจ็บที่ท้องส่วนบนและหน้าอก ไม่สบาย ท้องอืด และเกิดอาการเรอเปรี้ยวและแสบร้อนเมื่อกลืนเครื่องดื่มร้อน อาการแสบร้อนนี้มักเป็นและหาย และจะแย่ลงทุกครั้งหลังรับประทานอาหารเสร็จใหม่ ๆ บ่อยครั้งที่หลายคนมักเข้าใจอาการเจ็บหน้าอกเพราะภาวะแสบร้อนกลางทรวงอกว่าเป็นเพราะโรคหัวใจ เพราะหัวใจและหลอดอาหารนั้นอยู่ใกล้กันและมีเส้นประสาทร่วมกัน - โรคกระเพาะ (Peptic Ulcers) ผู
ป่วยโรคกระเพาะจะเกิดอาการแสบร้อนภายในท้องหรือส่วนแรกของลำไส้เล็ก มักเกิดขึ้นกับผู้ที่รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือใช้ยาแก้ปวดหรือยาลดอาการอักเสบ- หลอดอาหารบีบตัวผิดปกติ (Esophageal Contraction Disorders) การหดเกร็งของกล้ามเนื้อและอาการที่กลืนอาหารลำบากซึ่งเกิดขึ้นตรงหลอดอาหารนั้นทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกได้
- ภาวะหลอดอาหารทะลุ (Esophageal Perforation) ผู้ที่เกิดอาการเจ็บหน้าอกอย่างรุนแรงทันทีที่อาเจียนนั้น เป็นสัญญาณที่แสดงให้รู้ว่าผู้ป่วยประสบภาวะหลอดอาหารทะลุ
- ปัญหาเกี่ยวกับถุงน้ำดีและตับ
อาการถุงน้ำดีหรือตับอักเสบจะทำให้เกิดอาการเจ็บท้องและลามมาถึงหน้าอกได้ โดยอาการเจ็บหน้าอกอันเป็นผลมาจากปัญหาเกี่ยวกับถุงน้ำดีและตับ ได้แก่- ตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis) ผู้ป่วยตับอ่อนอักเสบจะรู้สึกเจ็บหน้าอกส่วนล่าง โดยจะเกิดอาการเมื่อนอนราบลงไป และดีขึ้นเมื่อนั่งเอนตัวไปข้างหน้า
- ปัญหาที่ถุงน้ำดี ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับถุงน้ำดีมักรู้สึกจุกหรือเจ็บบริเวณด้านล่างขวาของหน้าอกหรือด้านบนขวาของท้องหลังจากรับประทานอาหารเสร็จ
- โรคไส้เลื่อนกะบังลม (Hiatal Hernia)
ภาวะนี้จะเกิดขึ้นเมื่อท้องส่วนบนเลื่อนไปชนหน้าอกส่วนล่าง ซึ่งจะเกิดขึ้นหลังรับประทานอาหารเสร็จ ทำให้เกิดกรดไหลย้อน นำไปสู่อาการแสบร้อนกลางอกและเจ็บหน้าอกในที่สุด อาการจะยิ่งแย่ลงเมื่อนอนหงาย
สาเหตุจากกล้ามเนื้อและกระดูก
อาการเจ็บหน้าอกบางอย่างอาจเกี่ยวข้องกับการได้รับบาดเจ็บหรือสาเหตุอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างผนังทรวงอก ดังนี้
- กระดูกอ่อนของซี่โครงอักเสบ (Costochondritis)
กระดูกอ่อนของผนังอก โดยเฉพาะส่วนที่เชื่อมกับกระดูกหน้าอกนั้น เมื่อเกิดการอักเสบ จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บ บวม ตึงรอบ ๆ ซี่โครง และจะรู้สึกเจ็บมากเมื่อนอนหงาย หายใจลึก ๆ ไอ หรือจาม - ได้รับบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อและเอ็นกล้ามเนื้อ
ผนังอกตรงซี่โครงมีกล้ามเนื้อหลายส่วนที่อยู่ล้อมรอบและช่วยให้ผนังอกสามารถเคลื่อนไหวระหว่างที่หายใจได้ หากกล้ามเนื้อเหล่านี้ถูกใช้งานอย่างหนักจนเส้นใยกล้ามเนื้อฉีกขาด เช่น ออกกำลังกายที่ใช้กล้ามเนื้อบริเวณหน้าอก ยกของหนัก เคลื่อนไหวทันทีทันใด หรือไอติดต่อกันนาน ๆ อาจส่งผลให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกได้ - ซี่โครงได้รับบาดเจ็บ
ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดซี่โครงหักหรือช้ำ ซึ่งทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกขึ้นได้เช่นกัน
สาเหตุเกี่ยวกับปอด
ปัญหาเกี่ยวกับปอดที่ทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกนั้นมีหลายอย่าง โดยสาเหตุของอาการเจ็บหน้าอกที่เกี่ยวกับปอดและพบได้ทั่วไป ได้แก่
- โรคลิ่มเลือดอุดกั้นปอด (Pulmonary Embolism)
เมื่อลิ่มเลือดที่ไหลเวียนอยู่ในกระแสเลือดเข้าไปอุดที่ปอด ปิดทางไม่ให้เลือดลำเลียงไปเลี้ยงเนื้อเยื่อของปอดได้ จะทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอก โดยผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บแปลบตรงกลางอกหลังกระดูกสันอก หายใจได้ไม่สุด ไอเป็นเลือด เป็นไข้อ่อน ๆ หัวใจเต้นเร็ว - เยื่อหุ้มปอดอักเสบ (Pleurisy)
ปอดมีเยื่อหุ้ม 2 ชั้น โดยชั้นแรกอยู่ด้านในกล้ามเนื้อและกระดูกซี่โครงของผนังอก เยื่อหุ้มอีกชั้นอยู่ล้อมรอบปอด ช่องว่างระหว่างเยื่อหุ้มทั้ง 2 ชั้นนี้มีของเหลวไหลอยู่ไปมาระหว่างปอดและผนังอกตามจังหวะการเคลื่อนไหวของร่างกาย สาเหตุที่เยื่อหุ้มปอดอักเสบเกิดจากการอักเสบติดเชื้อหรือสาเหตุอื่นๆ ส่งผลให้ผู้ป่วยเจ็บ แปล๊บเหมือนถูกของมีคมแทงที่หน้าอก ทั้งนี้ ผู้ป่วยสามารถเจ็บตรงส่วนไหนของอกก็ได้ขึ้นอยู่กับว่าเยื่อหุ้มปอดเกิดการอักเสบที่ส่วนใด และจะยิ่งเจ็บมากเมื่อหายใจเข้า ไอ หรือจาม - ภาวะความดันหลอดเลือดปอดสูง (Pulmonary Hypertension)
เมื่อความดันเลือดในปอดสูงขึ้น ทำให้หัวใจด้านซ้ายต้องทำงานหนักขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บหน้าอก โดยผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บหน้าอกเหมือนถูกกดหรือบีบที่บริเวณดังกล่าว คล้ายอาการเจ็บหน้าอกจากภาวะเจ็บหน้าอกเพราะหัวใจขาดเลือด - ภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศ (Pneumothorax)
เกิดจากการที่มีอากาศเข้าไปอยู่ระหว่างปอดและผนังอก ซึ่งสาเหตุหลักเกิดได้ 2 อย่าง อย่างแรกเกิดจากการที่มีโพรงอากาศอยู่ในเยื่อหุ้มปอดอยู่ก่อนแล้ว และอากาศก็เพิ่มขึ้นมา โดยด้านนอกบางส่วนของปอดอาจเกิดรอยฉีกเล็กน้อย ทำให้อากาศเข้ามา ซึ่งจัดเป็นภาวะแทรกซ้อนของการป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับปอด สำหรับสาเหตุที่ 2 เกิดจากการได้รับบาดเจ็บที่หน้าอกมาก่อน เช่น แผลจากการถูกแทง ถูกรถชน หรือปอดแตกหลังเล่นกีฬา ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บปลาบที่ด้านใดด้านหนึ่งของหน้าอก และจะยิ่งเจ็บมากขึ้นเมื่อหายใจเข้าทำให้หายใจไม่ออก - ปอดบวมหรือฝีในปอด
การติดเชื้อในปอดของโรคเหล่านี้ทำให้เยื่อหุ้มปอดอักเสบและเกิดอาการเจ็บหน้าอก โดยผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บลึกเข้าไปข้างใน สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นปอดบวมมักเกิดอาการเจ็บหน้าอกทันที มีไข้ ไอและมีหนองออกมาด้วย - โรคหอบหืด (Asthma)
โรคหอบคือโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจอักเสบ ผู้ป่วยจะหายใจลำบาก หายใจเสียงดังวี๊ด คล้ายหายใจไม่ออก ไอ และบางครั้งก็เจ็บหน้าอก
สาเหตุอื่น ๆ
นอกจากสาเหตุที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว อาการเจ็บหน้าอกยังมีสาเหตุอื่น ๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วยทางร่างกายโดยตรงอีกด้วย ดังนี้
- ความกลัวหรือกังวล
ความกลัวหรือกังวลถือเป็นสาเหตุของอาการเจ็บหน้าอกที่พบได้ไม่บ่อยนัก โดยความรู้สึกกลัวหรือกังวลนั้นส่งผลให้เกิดอาการทางร่างกายอย่างเจ็บหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออกมาก หายใจไม่สุด คลื่นไส้ เวียนหัว และรู้สึกกลัวตาย - โรคงูสวัด (Shingles)
โรคงูสวัดจะทำให้เกิดตุ่มน้ำใส ๆ ขึ้นตั้งแต่หลังไปจนถึงหน้าอกทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวด
การวินิจฉัยอาการเจ็บหน้าอก
การวินิจฉัยอาการเจ็บหน้าอก ขั้นแรกแพทย์จะทำการตรวจหัวใจก่อน เพราะโรคหัวใจถือว่าเป็นภาวะที่ก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต ทั้งนี้ แพทย์จะตรวจปอดร่วมด้วย โดยการวินิจฉัยอาการเจ็บหน้าอกมีขั้นตอนการวินิจฉัยดังนี้
การวินิจฉัยขั้นแรกประกอบด้วยวิธีต่อไปนี้
การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: ECG)
วิธีนี้จะทำการบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ได้จากการรับสัญญาณผ่านขั้วไฟฟ้าที่ติดกับผิวหนัง ผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บตรงกล้ามเนื้อหัวใจจะมีคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ
การตรวจเลือด
แพทย์จะให้ตรวจเลือดเพื่อตรวจดูว่าระดับเอนไซม์ที่พบในกล้ามเนื้อหัวใจนั้นเพิ่มขึ้นหรือไม่ โดยโรคหัวใจจะทำให้เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจเสียหาย ส่งผลให้เอนไซม์ในกล้ามเนื้อหัวใจ ออกมาอยู่ภายในเลือด
การเอกซเรย์
การตรวจจากภาพเอกซ์เรย์จะช่วยตรวจสภาพปอด ขนาดและรูปร่างของหัวใจ รวมทั้งหลอดเลือดสำคัญอื่น ๆ นอกจากนี้ การวินิจฉัยด้วยวิธีเอกซเรย์ยังช่วยให้แพทย์ทราบว่าผู้ป่วยมีปัญหาเกี่ยวกับปอดอย่างโรคปอดบวมหรือเยื่อหุ้มปอดรั่วหรือไม่
การทำซีทีสแกน (CT Scan)
การทำซีทีสแกนจะช่วยตรวจลิ่มเลือดภายในปอด รวมทั้งผนังหลอดเลือดว่าเกิดการฉีกขาดหรือไม่
เมื่อผ่านการตรวจขั้นแรกแล้ว ผู้ป่วยบางรายอาจต้องทำการตรวจอย่างอื่นเพิ่มเติมด้วย ซึ่งการตรวจอื่น ๆ ได้แก่
การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiogram)
การตรวจด้วยวิธีนี้จะใช้คลื่นเสียงในการแสดงลักษณะทางกายภาพ การเคลื่อนไหวและการบีบตัวของหัวใจออกมาเป็นวิดีโอ ผู้ป่วยบางรายอาจต้องสอดอุปกรณ์เล็ก ๆ เข้าไปในคอเพื่อส่องดูส่วนต่าง ๆ ของหัวใจให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
การทำซีทีสแกน (CT Scan)
การทำซีทีสแกนในขั้นนี้จะทำเพื่อตรวจหาว่าแคลเซี่ยมสะสมเป็นคราบตะกรัน ปิดกั้นการไหลเวียนเลือดตามผนังหลอดเลือดหัวใจหรือไม่
การตรวจเอกซเรย์หลอดเลือด (Angiogram)
การตรวจเอกซ์เรย์หลอดเลือดนี้จะช่วยวินิจฉัยว่าหลอดเลือดหัวใจใดที่ตีบหรือเกิดการอุดตัน โดยแพทย์จะสอดท่อหรือสายเล็ก ๆ ที่ตรงข้อมือหรือขาหนีบผู้ป่วยเข้าไปยังหลอดเลือดหัวใจ จากนั้นจึงฉีดสารทึบรังสีหรือที่เรียกว่าสีเข้าไปในหลอดเลือด ซึ่งจะแสดงผลของหลอดเลือดหัวใจผ่านอุปกรณ์เอกซ์เรย์
การส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร (Endoscopy)
การตรวจนี้จะช่วยวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคกระเพาะหรือไม่ โดยแพทย์จะหย่อนกล้องโทรทรรศน์ที่มีลักษณะเล็กและยืดหยุ่นได้ผ่านเข้าไปในหลอดอาหาร เพื่อส่องดูว่ากระเพาะอาหารของผู้ป่วยอักเสบหรือไม่
การรักษาอาการเจ็บหน้าอก
วิธีรักษาอาการเจ็บหน้าอกมีหลายวิธี โดยขึ้นกับสาเหตุของโรคหรือปัญหาสุขภาพที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าว วิธีการรักษาหลัก ๆ แบ่งเป็นการรักษาด้วยยาและการผ่าตัด ดังนี้
การรักษาด้วยยา
แพทย์จะใช้ยารักษาผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บหน้าอกอันเนื่องมาจากสาเหตุที่พบได้ทั่วไป โดยตัวยาที่ใช้รักษานั้น ได้แก่
- ไนโตรกลีเซอรีน แพทย์จะใช้ยาไนโตรกลีเซอรีนแบบเม็ด โดยให้ผู้ป่วยอมไว้ใต้ลิ้น ไนโตรกลีเซอรีนจะช่วยให้หลอดเลือดหัวใจขยาย ส่งผลให้เลือดไหลผ่านได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ แพทย์ยังใช้ยาที่ใช้รักษาความดันโลหิตเพื่อช่วยขยายหลอดเลือดร่วมด้วย
- ยาละลายลิ่มเลือด ผู้ป่วยโรคหัวใจจะได้รับยาละลายลิ่มเลือดเพื่อเข้าสลายลิ่มเลือดที่ปิดกั้นการลำเลียงเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ
- ยาลดการหลั่งกรด ผู้ป่วยที่เจ็บหน้าอกเพราะกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหาร จะได้รับยาที่ช่วยลดการหลั่งกรด
- ยารักษาอาการซึมเศร้า ผู้ป่วยที่มีประวัติหวาดกลัวหรือกังวลจนส่งผลให้เกิดอาการเจ็บหน้าอก อาจได้รับยารักษาอาการซึมเศร้าเพื่อช่วยจัดการกับภาวะที่ประสบอยู่ ทั้งนี้ อาจต้องรักษาด้วยวิธีบำบัดทางจิตร่วมด้วย
การผ่าตัดและการรักษาด้วยกระบวนการอื่น
นอกจากใช้ยาในการรักษาอาการเจ็บหน้าอกที่เกิดจากปัญหาสุขภาพต่าง ๆ แล้ว ยังมีกระบวนการอีกหลายอย่างที่ช่วยรักษาอาการเจ็บหน้าอกอันเนื่องมาจากโรคหรือปัญหาสุขภาพที่อันตรายต่อชีวิต ดังนี้
- การทำบอลลูน (Balloons and Stent Placement) ผู้ป่วยที่มีปัญหาหลอดเลือดอุดตัน ทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงหัวใจได้ จะได้รับการรักษาด้วยการทำบอลลูน โดยแพทย์จะสอดท่อเล็ก ๆ เข้าไปภายในหลอดเลือดใหญ่ซึ่งอยู่ตรงขาหนีบหรือข้อมือเข้าไปยังบริเวณที่หลอดเลือดตีบ จากนั้นจึงต่อสายท่อกับอุปกรณ์ข้างนอกเพื่อดันบอลลูนให้เปิดทางหลอดเลือด ทั้งนี้ แพทย์จะสอดขดลวดเล็กเข้าไปเพื่อช่วยให้หลอดเลือดเปิด
- การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ (Bypass Surgery) การผ่าตัดนี้คือการผ่าตัดนำหลอดเลือดจากส่วนอื่นในร่างกายมาใช้เป็นเส้นทางการไหลเวียนโลหิตแทนหลอดเลือดที่อุดตัน
- ศัลยกรรมรักษาผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ ผู้ป่วยภาวะเลือดเซาะผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ต้องได้รับการผ่าตัดด่วน เพื่อรักษาผนังหลอดเลือดที่ฉีกขาด
- ศัลยกรรมรักษาปอด ผู้ที่ปอดแฟบเพราะได้รับบาดเจ็บหรือได้รับความกระทบกระเทือนจนปอดเสียหาย แพทย์อาจผ่าตัดรักษาโดยสอดท่อเข้าไปที่ทรวงอกบริเวณเยื่อหุ้มปอดของผู้ป่วย ซึ่งช่วยให้ปอดกลับมาขยายได้อีกครั้ง
การป้องกันอาการเจ็บหน้าอก
อาการเจ็บหน้าอกเกิดจากหลายสาเหตุ การป้องกันไม่ให้เกิดอาการดังกล่าวจึงควรเริ่มตั้งแต่พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคหรือมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ อันเป็นสาเหตุของอาการเจ็บหน้าอก ในที่นี้จะเน้นกล่าวถึงวิธีป้องกันหรือปฏิบัติตัวให้เหมาะสมเฉพาะโรคที่ก่อให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกและส่งผลร้ายแรงต่อชีวิต ดังนี้
ภาวะเจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจและหัวใจขาดเลือด (Angina)
อาการเจ็บหน้าอกจากสาเหตุนี้สามารถป้องกันได้ โดยลดความเสี่ยงที่จะทำให้ป่วยเป็นโรคหัวใจ ดังต่อไปนี้
- รับประทานผักและผลไม้ รวมทั้งอาหารไขมันต่ำเส้นใยสูงอย่างธัญพืชต่าง ๆ และจำกัดการรับประทานเกลือไม่ให้เกิน 6 กรัม หรือประมาณ 1 ช้อนชาต่อวัน เนื่องจากเกลือจะทำให้ความดันโลหิตสูง
- ออกกำลังกายควบคู่กับการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์จะช่วยความเสี่ยงเกิดความดันโลหิตสูง ทั้งนี้ การออกกำลังกายเป็นประจำยังช่วยให้หัวใจและระบบการไหลเวียนเลือดมีประสิทธิภาพมากขึ้นและลดระดับคอเลสเตอรอล
- รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เลี่ยงอาหารหวานและอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง
- หยุดสูบบุหรี่และลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ไม่ให้มากจนเกินไป
- เลี่ยงกิจกรรมหนัก ๆ ที่อาจทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอก
- รับประทานยาเพื่อควบคุมความดันโลหิต
- เลี่ยงอยู่ในที่ที่ร้อนหรือหนาวเกินไป
อาการเจ็บหน้าอกที่ผนังทรวงอก
ผู้ป่วยที่เกิดอาการเจ็บหน้าอกตรงผนังทรวงอก ซึ่งเกิดจากการได้รับบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อหรือซี่โครงหักนั้น สามารถบรรเทาอาการดังกล่าวไม่ให้กำเริบได้ โดยปฏิบัติดังนี้
- พักผ่อนและป้องกันไม่ให้บริเวณที่ได้รับบาดเจ็บกระทบกระเทือน รวมทั้งหยุด เปลี่ยน หรือพักกิจกรรมที่ซ้ำบาดแผลมากขึ้น
- ใช้น้ำแข็งประคบเพื่อลดอาการเจ็บและบวม โดยประคบเย็นทันที ทิ้งไว้ 10-20 นาที ทำเช่นนี้วันละ 3 ครั้งหรือมากกว่านั้น อาการบวมจะหายไปหลังจาก 2-3 วัน จากนั้นจึงประคบอุ่นต่อ
- ไม่พันผ้าเพื่อประคองซี่โครง เพราะอาจทำให้หายใจได้น้อยลง ซึ่งทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงการเกิดปอดบวมหรือปอดแฟบได้
- รับประทานยาหรือทายาเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดของกล้ามเนื้อ
- นวดหรือยืดเส้นเบา ๆ อาจช่วยให้อาการดีขึ้นและหายได้เร็ว โดยยืดเส้นช้า ๆ ในช่วงแรกผู้ป่วยอาจรู้สึกตึง ๆ ให้ทำค้างไว้ 30-60 วินาที ทำเช่นนี้วันละ 3-4 ครั้ง
- หากรู้สึกดีขึ้นแล้ว ค่อยกลับไปทำกิจกรรมเหมือนตามปกติที่เคยทำ แต่อย่าหักโหม ควรค่อยเป็นค่อยไป หากรู้สึกเจ็บหน้าอกขึ้นมาอีกควรพักสักพักก่อน