Learn with Prin เรียนรู้ไปพร้อมกับน้องปริญญ์

จำหน่ายผลิตภัณฑ์ Legacy /Reborn Set ลด Fat ตัวช่วยลดไขมัน ลดน้ำหนัก แบบถูกวิธี 🔥 ติดต่อสอบถาม/สั่งซื้อ 📍 โทร ☎️ :: 084-110-5021 🌸 Line ID :: pla-prapasara 🌸 รับโปรโมชั่นสุดพิเศษเฉพาะทาง Line นะคะ 📍

วันอังคารที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2565

เจ็บหน้าอก (Chest Pain)

 เจ็บหน้าอก (Chest Pain) 





เจ็บหน้าอก (Chest Pain) คือ อาการเจ็บปวดที่เกิดขึ้นบริเวณหน้าอก ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่บริเวณไหล่ลงมาถึงช่วงล่างของซี่โครง สาเหตุของอาการเจ็บหน้าอกมีหลายอย่าง การวินิจฉัยสาเหตุระบุได้ยากหากไม่ได้รับการตรวจอย่างละเอียด ผู้ที่มีอาการเจ็บหน้าอกควรรีบพบแพทย์ เนื่องจากอาการดังกล่าวอาจเป็นผลมาจากการป่วยด้วยโรคที่ร้ายแรง เช่น โรคหัวใจ เป็นต้น โดยผู้ที่เพิ่งเกิดอาการเจ็บหน้าอก เจ็บหน้าอกอย่างรุนแรง หรือเกิดอาการนี้มาเรื่อย ๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยโรคและรักษาต่อไป

เจ็บหน้าอก

อาการเจ็บหน้าอก

ปัญหาสุขภาพและโรคหลายโรคอาจก่อให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกได้ ซึ่งปัญหาสุขภาพของโรคบางโรคที่ทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกนั้นอาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับหัวใจ อย่างไรก็ตาม หากรู้สึกเจ็บหน้าอกขึ้นมา ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและวินิจฉัยสาเหตุของอาการดังกล่าว ทั้งนี้ อาการเจ็บหน้าอกที่มีสาเหตุมาจากโรคหรือปัญหาสุขภาพแต่ละอย่างจะเกิดอาการเจ็บที่แตกต่างกัน ดังต่อไปนี้

อาการเจ็บหน้าอกที่เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพหัวใจ

อาการเจ็บหน้าอกที่ปรากฏกับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพหัวใจนั้นมักมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย โดยทั่วไป มักมีลักษณะอาการต่อไปนี้

  • รู้สึกแน่นหรือเหมือนถูกกดที่หน้าอก
  • รู้สึกเจ็บเหมือนถูกบีบที่หน้าอกและเจ็บร้าวไปที่หลัง คอ ขากรรไกร ไหล่และแขน โดยเฉพาะแขนซ้าย
  • อาการเจ็บที่เพิ่งหายไปกำเริบขึ้นได้หากต้องออกแรงมาก และอาจเป็น ๆ หาย ๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับความหนักหน่วงของกิจกรรมที่ทำ
  • หายใจหอบเหนื่อย หายใจไม่สุด    
  • เหงื่อออกแต่ตัวเย็น
  • ง่วงซึมหรืออ่อนเพลีย
  • วิงเวียนหรืออาเจียน

อาการเจ็บหน้าอกจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ

What Causes Chest Pain When Lying Down?

อาการเจ็บหน้าอกไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าเกิดจากปัญหาสุขภาพของหัวใจหรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม อาการเจ็บหน้าอกที่มีแนวโน้มว่าไม่ได้เกิดจากปัญหาสุขภาพหัวใจนั้นมักเกิดลักษณะของอาการดังนี้

  • รับรสเปรี้ยวหรือรู้สึกว่ามีน้ำจากสิ่งที่กลืนลงไปไหลขึ้นมาที่คอ
  • อาการเจ็บหน้าอกอาจดีขึ้นหรือแย่ลงเมื่อขยับตัวเปลี่ยนอิริยาบถ
  • อาการเจ็บหน้าอกกำเริบมากขึ้นเมื่อหายใจลึก ๆ หรือไอ
  • รู้สึกแน่นตึงเมื่อกดหน้าอก


closeup female body, woman having pain in chest, health issues

สาเหตุของอาการเจ็บหน้าอก

สาเหตุของการเจ็บหน้าอกประกอบด้วยปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่ สาเหตุที่เกี่ยวกับหัวใจ สาเหตุจากระบบย่อยอาหาร สาเหตุจากกล้ามเนื้อและกระดูก สาเหตุเกี่ยวกับปอด และสาเหตุอื่น ๆ โดยแต่ละสาเหตุมีรายละเอียด ดังนี้

สาเหตุที่เกี่ยวกับหัวใจ

อาการเจ็บหน้าอกที่มีสาเหตุเกี่ยวกับหัวใจนั้น ประกอบด้วย

  • โรคหัวใจหรือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Myocardial Infarction)
    เกิดจากการที่ลิ่มเลือดอุดตัน ทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ เมื่อเลือดไหลไปเลี้ยงหัวใจได้น้อยลงก็เป็นสาเหตุให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บปวดเหมือนถูกบีบรัดที่บริเวณตรงกลางหรือด้านซ้ายของหน้าอกขึ้นมาทันที แม้จะนอนพักอาการก็ไม่ทุเลาลง นอกจากนี้ ผู้ป่วยจะเหงื่อออก คลื่นไส้ หายใจไม่สุด หรือรู้สึกอ่อนแรงอย่างรุนแรงร่วมด้วย
  • ภาวะเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด (Angina)
    ภาวะนี้เป็นผลมาจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (Coronary Artery Disease: CAD) ที่มีคราบตะกรันหนาสะสมอยู่ภายในผนังของหลอดเลือดแดงซึ่งทำหน้าที่ลำเลียงเลือดไปเลี้ยงหัวใจ โดย คราบตะกรัน นี้จะทำให้หลอดเลือดแดงแคบลง ส่งผลให้ร่างกายลำเลียงเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่พอ จนเกิดภาวะเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด ผู้ป่วยจะเกิดอาการเจ็บเหมือนถูกกดหรือบีบที่หน้าอก ซึ่งอาการนี้อาจกระจายไปที่แขน ไหล่ ขากรรไกร หรือหลัง ทั้งนี้ ผู้ป่วยมักเกิดอาการดังกล่าวเมื่อออกแรงทำกิจกรรมอย่างออกกำลังกาย ตื่นเต้น หรือรู้สึกเครียด ซึ่งอาการจะทุเลาลงเมื่อหยุดพักจากกิจกรรมดังกล่าว
  • ภาวะเลือดเซาะผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ (Aortic Dissection)
    เกิดจากหลอดเลือดแดงที่อยู่ติดกับหัวใจหรือผนังหลอดเลือดแดงนั้นฉีกขาด หากภายในชั้นผิวของผนังหลอดเลือดนี้แยกออกจากกัน เลือดก็จะไหลทะลักเข้ามาตรงกลางชั้นผิว ทำให้ผนังหลอดเลือดแดงเกิดการฉีกขาดมากขึ้น ซึ่งถือว่าอันตรายต่อชีวิต อย่างไรก็ตาม มักเกิดได้ไม่บ่อยนัก เมื่อผู้ป่วยประสบภาวะนี้ จะเกิดอาการเจ็บหน้าอกเหมือนถูกฉีกตั้งแต่คอ หลัง ไปจนถึงท้อง
  • โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (Pericarditis)
    ภาวะนี้เกิดจากเยื่อหุ้มที่ล้อมรอบหัวใจนั้นเกิดอาการอักเสบ ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บแปลบตั้งแต่คอช่วงบนลงมาถึงกล้ามเนื้อไหล่ โดยอาการจะยิ่งแย่ลงเมื่อหายใจเข้าลึก ๆ กลืนอาหาร หรือนอนหงาย
  • กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน (Myocarditis)
    นอกจากจะเกิดอาการเจ็บหน้าอกแล้ว กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลันอาจก่อให้เกิดอาการเป็นไข้ ปวดเมื่อย หัวใจเต้นเร็ว และมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ ถึงแม้จะไม่เกิดอาการหัวใจขาดเลือด แต่อาการก็จะคล้ายโรคหัวใจ

girl experience chest pain



  • กล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม (Hypertrophic Cardiomyopathy)
    ผู้ที่ป่วยโรคนี้จะมีกล้ามเนื้อหัวใจที่โตหนาผิดปกติ บางครั้งนำไปสู่ปัญหาเกี่ยวกับการลำเลียงเลือดไปเลี้ยงหัวใจ ทั้งนี้ อาจเกิดหัวใจวายได้หากกล้ามเนื้อหัวใจหนาขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อที่จะส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ผู้ป่วยจะเกิดอาการเจ็บหน้าอกและหายใจไม่สุดเมื่อออกกำลังกาย  และอาจเวียนหัว วิงเวียน และเป็นลมร่วมด้วย
  • โรคลิ้นหัวใจยาว (Mitral Valve Prolapse)
    โรคนี้เป็นโรคที่ลิ้นหัวใจปิดกันไม่สนิทนอกจากจะเกิดอาการเจ็บหน้าอกแล้ว ผู้ป่วยยังรู้สึกใจสั่นและเวียนหัวด้วย


heart problem



สาเหตุจากระบบย่อยอาหาร

นอกจากจะเกี่ยวข้องกับหัวใจแล้ว อาการเจ็บหน้าอกยังเป็นผลมาจากระบบย่อยอาหารได้อีกด้วย ซึ่งได้แก่

  • ปัญหาเกี่ยวกับการกลืนอาหาร
    ปัญหาเกี่ยวกับการกลืนอาหารมักเกิดขึ้นที่หลอดอาหาร ทำให้กลืนอาหารลำบากและรู้สึกเจ็บหน้าอก โดยอาการเจ็บหน้าอกที่เกี่ยวกับหลอดอาหารนั้น ได้แก่
  • อาการแสบร้อนกลางอก (Heartburn)
    อาการนี้ถือเป็นอาการหลักของโรคกรดไหลย้อน (Gastro-Oesophageal Reflux Disease) เกิดจากกรดในกระเพาะอาหารไหลขึ้นมาที่หลอดอาหาร ปกติแล้วอาหารที่รับประทานและกลืนเข้าไปจะผ่านหลอดอาหารไปยังกระเพาะอาหาร โดยมีหูรูดซึ่งอยู่ปลายสุดของหลอดอาหารทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหาร แต่หากกล้ามเนื้อหูรูดไม่แข็งแรงก็ทำให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาได้ ผู้ป่วยจะรู้สึกแสบร้อนและรับรสเปรี้ยวจากท้องขึ้นมาที่อกและคอ ทั้งนี้ ผู้ป่วยยังรู้สึกเจ็บที่ท้องส่วนบนและหน้าอก ไม่สบาย ท้องอืด และเกิดอาการเรอเปรี้ยวและแสบร้อนเมื่อกลืนเครื่องดื่มร้อน อาการแสบร้อนนี้มักเป็นและหาย และจะแย่ลงทุกครั้งหลังรับประทานอาหารเสร็จใหม่ ๆ บ่อยครั้งที่หลายคนมักเข้าใจอาการเจ็บหน้าอกเพราะภาวะแสบร้อนกลางทรวงอกว่าเป็นเพราะโรคหัวใจ เพราะหัวใจและหลอดอาหารนั้นอยู่ใกล้กันและมีเส้นประสาทร่วมกัน
  • โรคกระเพาะ (Peptic Ulcers) ผู
    ป่วยโรคกระเพาะจะเกิดอาการแสบร้อนภายในท้องหรือส่วนแรกของลำไส้เล็ก มักเกิดขึ้นกับผู้ที่รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือใช้ยาแก้ปวดหรือยาลดอาการอักเสบ

    • หลอดอาหารบีบตัวผิดปกติ (Esophageal Contraction Disorders) การหดเกร็งของกล้ามเนื้อและอาการที่กลืนอาหารลำบากซึ่งเกิดขึ้นตรงหลอดอาหารนั้นทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกได้
    • ภาวะหลอดอาหารทะลุ (Esophageal Perforation) ผู้ที่เกิดอาการเจ็บหน้าอกอย่างรุนแรงทันทีที่อาเจียนนั้น เป็นสัญญาณที่แสดงให้รู้ว่าผู้ป่วยประสบภาวะหลอดอาหารทะลุ
  • ปัญหาเกี่ยวกับถุงน้ำดีและตับ
    อาการถุงน้ำดีหรือตับอักเสบจะทำให้เกิดอาการเจ็บท้องและลามมาถึงหน้าอกได้ โดยอาการเจ็บหน้าอกอันเป็นผลมาจากปัญหาเกี่ยวกับถุงน้ำดีและตับ ได้แก่

    • ตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis) ผู้ป่วยตับอ่อนอักเสบจะรู้สึกเจ็บหน้าอกส่วนล่าง โดยจะเกิดอาการเมื่อนอนราบลงไป และดีขึ้นเมื่อนั่งเอนตัวไปข้างหน้า
    • ปัญหาที่ถุงน้ำดี ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับถุงน้ำดีมักรู้สึกจุกหรือเจ็บบริเวณด้านล่างขวาของหน้าอกหรือด้านบนขวาของท้องหลังจากรับประทานอาหารเสร็จ
  • โรคไส้เลื่อนกะบังลม (Hiatal Hernia)
    ภาวะนี้จะเกิดขึ้นเมื่อท้องส่วนบนเลื่อนไปชนหน้าอกส่วนล่าง ซึ่งจะเกิดขึ้นหลังรับประทานอาหารเสร็จ ทำให้เกิดกรดไหลย้อน นำไปสู่อาการแสบร้อนกลางอกและเจ็บหน้าอกในที่สุด อาการจะยิ่งแย่ลงเมื่อนอนหงาย


doctor examine the man chest pain


สาเหตุจากกล้ามเนื้อและกระดูก

อาการเจ็บหน้าอกบางอย่างอาจเกี่ยวข้องกับการได้รับบาดเจ็บหรือสาเหตุอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างผนังทรวงอก ดังนี้

  • กระดูกอ่อนของซี่โครงอักเสบ (Costochondritis)
    กระดูกอ่อนของผนังอก โดยเฉพาะส่วนที่เชื่อมกับกระดูกหน้าอกนั้น เมื่อเกิดการอักเสบ จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บ บวม ตึงรอบ ๆ ซี่โครง และจะรู้สึกเจ็บมากเมื่อนอนหงาย หายใจลึก ๆ ไอ หรือจาม
  • ได้รับบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อและเอ็นกล้ามเนื้อ
    ผนังอกตรงซี่โครงมีกล้ามเนื้อหลายส่วนที่อยู่ล้อมรอบและช่วยให้ผนังอกสามารถเคลื่อนไหวระหว่างที่หายใจได้ หากกล้ามเนื้อเหล่านี้ถูกใช้งานอย่างหนักจนเส้นใยกล้ามเนื้อฉีกขาด เช่น ออกกำลังกายที่ใช้กล้ามเนื้อบริเวณหน้าอก ยกของหนัก เคลื่อนไหวทันทีทันใด หรือไอติดต่อกันนาน ๆ อาจส่งผลให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกได้
  • ซี่โครงได้รับบาดเจ็บ
    ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดซี่โครงหักหรือช้ำ ซึ่งทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกขึ้นได้เช่นกัน


woman chest pain call emergency


สาเหตุเกี่ยวกับปอด

ปัญหาเกี่ยวกับปอดที่ทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกนั้นมีหลายอย่าง โดยสาเหตุของอาการเจ็บหน้าอกที่เกี่ยวกับปอดและพบได้ทั่วไป ได้แก่

  • โรคลิ่มเลือดอุดกั้นปอด (Pulmonary Embolism)
    เมื่อลิ่มเลือดที่ไหลเวียนอยู่ในกระแสเลือดเข้าไปอุดที่ปอด ปิดทางไม่ให้เลือดลำเลียงไปเลี้ยงเนื้อเยื่อของปอดได้ จะทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอก โดยผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บแปลบตรงกลางอกหลังกระดูกสันอก หายใจได้ไม่สุด ไอเป็นเลือด เป็นไข้อ่อน ๆ หัวใจเต้นเร็ว
  • เยื่อหุ้มปอดอักเสบ (Pleurisy)
    ปอดมีเยื่อหุ้ม 2 ชั้น โดยชั้นแรกอยู่ด้านในกล้ามเนื้อและกระดูกซี่โครงของผนังอก เยื่อหุ้มอีกชั้นอยู่ล้อมรอบปอด ช่องว่างระหว่างเยื่อหุ้มทั้ง 2 ชั้นนี้มีของเหลวไหลอยู่ไปมาระหว่างปอดและผนังอกตามจังหวะการเคลื่อนไหวของร่างกาย สาเหตุที่เยื่อหุ้มปอดอักเสบเกิดจากการอักเสบติดเชื้อหรือสาเหตุอื่นๆ  ส่งผลให้ผู้ป่วยเจ็บ แปล๊บเหมือนถูกของมีคมแทงที่หน้าอก ทั้งนี้ ผู้ป่วยสามารถเจ็บตรงส่วนไหนของอกก็ได้ขึ้นอยู่กับว่าเยื่อหุ้มปอดเกิดการอักเสบที่ส่วนใด และจะยิ่งเจ็บมากเมื่อหายใจเข้า ไอ หรือจาม
  • ภาวะความดันหลอดเลือดปอดสูง (Pulmonary Hypertension)
    เมื่อความดันเลือดในปอดสูงขึ้น ทำให้หัวใจด้านซ้ายต้องทำงานหนักขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บหน้าอก โดยผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บหน้าอกเหมือนถูกกดหรือบีบที่บริเวณดังกล่าว คล้ายอาการเจ็บหน้าอกจากภาวะเจ็บหน้าอกเพราะหัวใจขาดเลือด
  • ภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศ (Pneumothorax)
    เกิดจากการที่มีอากาศเข้าไปอยู่ระหว่างปอดและผนังอก ซึ่งสาเหตุหลักเกิดได้ 2 อย่าง อย่างแรกเกิดจากการที่มีโพรงอากาศอยู่ในเยื่อหุ้มปอดอยู่ก่อนแล้ว และอากาศก็เพิ่มขึ้นมา โดยด้านนอกบางส่วนของปอดอาจเกิดรอยฉีกเล็กน้อย ทำให้อากาศเข้ามา ซึ่งจัดเป็นภาวะแทรกซ้อนของการป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับปอด สำหรับสาเหตุที่ 2 เกิดจากการได้รับบาดเจ็บที่หน้าอกมาก่อน เช่น แผลจากการถูกแทง ถูกรถชน หรือปอดแตกหลังเล่นกีฬา ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บปลาบที่ด้านใดด้านหนึ่งของหน้าอก และจะยิ่งเจ็บมากขึ้นเมื่อหายใจเข้าทำให้หายใจไม่ออก
  • ปอดบวมหรือฝีในปอด
    การติดเชื้อในปอดของโรคเหล่านี้ทำให้เยื่อหุ้มปอดอักเสบและเกิดอาการเจ็บหน้าอก โดยผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บลึกเข้าไปข้างใน สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นปอดบวมมักเกิดอาการเจ็บหน้าอกทันที มีไข้ ไอและมีหนองออกมาด้วย
  • โรคหอบหืด (Asthma)
    โรคหอบคือโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจอักเสบ ผู้ป่วยจะหายใจลำบาก หายใจเสียงดังวี๊ด คล้ายหายใจไม่ออก ไอ และบางครั้งก็เจ็บหน้าอก

สาเหตุอื่น ๆ

นอกจากสาเหตุที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว อาการเจ็บหน้าอกยังมีสาเหตุอื่น ๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วยทางร่างกายโดยตรงอีกด้วย ดังนี้

  • ความกลัวหรือกังวล
    ความกลัวหรือกังวลถือเป็นสาเหตุของอาการเจ็บหน้าอกที่พบได้ไม่บ่อยนัก โดยความรู้สึกกลัวหรือกังวลนั้นส่งผลให้เกิดอาการทางร่างกายอย่างเจ็บหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออกมาก หายใจไม่สุด คลื่นไส้ เวียนหัว และรู้สึกกลัวตาย
  • โรคงูสวัด (Shingles)
    โรคงูสวัดจะทำให้เกิดตุ่มน้ำใส ๆ ขึ้นตั้งแต่หลังไปจนถึงหน้าอกทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวด

การวินิจฉัยอาการเจ็บหน้าอก

การวินิจฉัยอาการเจ็บหน้าอก ขั้นแรกแพทย์จะทำการตรวจหัวใจก่อน เพราะโรคหัวใจถือว่าเป็นภาวะที่ก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต ทั้งนี้ แพทย์จะตรวจปอดร่วมด้วย โดยการวินิจฉัยอาการเจ็บหน้าอกมีขั้นตอนการวินิจฉัยดังนี้

การวินิจฉัยขั้นแรกประกอบด้วยวิธีต่อไปนี้

  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: ECG)

    วิธีนี้จะทำการบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ได้จากการรับสัญญาณผ่านขั้วไฟฟ้าที่ติดกับผิวหนัง ผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บตรงกล้ามเนื้อหัวใจจะมีคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ

  • การตรวจเลือด

    แพทย์จะให้ตรวจเลือดเพื่อตรวจดูว่าระดับเอนไซม์ที่พบในกล้ามเนื้อหัวใจนั้นเพิ่มขึ้นหรือไม่ โดยโรคหัวใจจะทำให้เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจเสียหาย ส่งผลให้เอนไซม์ในกล้ามเนื้อหัวใจ  ออกมาอยู่ภายในเลือด

  • การเอกซเรย์

    การตรวจจากภาพเอกซ์เรย์จะช่วยตรวจสภาพปอด ขนาดและรูปร่างของหัวใจ รวมทั้งหลอดเลือดสำคัญอื่น ๆ นอกจากนี้ การวินิจฉัยด้วยวิธีเอกซเรย์ยังช่วยให้แพทย์ทราบว่าผู้ป่วยมีปัญหาเกี่ยวกับปอดอย่างโรคปอดบวมหรือเยื่อหุ้มปอดรั่วหรือไม่

  • การทำซีทีสแกน (CT Scan)

    การทำซีทีสแกนจะช่วยตรวจลิ่มเลือดภายในปอด รวมทั้งผนังหลอดเลือดว่าเกิดการฉีกขาดหรือไม่

เมื่อผ่านการตรวจขั้นแรกแล้ว ผู้ป่วยบางรายอาจต้องทำการตรวจอย่างอื่นเพิ่มเติมด้วย ซึ่งการตรวจอื่น ๆ ได้แก่

  • การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiogram)

    การตรวจด้วยวิธีนี้จะใช้คลื่นเสียงในการแสดงลักษณะทางกายภาพ การเคลื่อนไหวและการบีบตัวของหัวใจออกมาเป็นวิดีโอ ผู้ป่วยบางรายอาจต้องสอดอุปกรณ์เล็ก ๆ เข้าไปในคอเพื่อส่องดูส่วนต่าง ๆ ของหัวใจให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

  • การทำซีทีสแกน (CT Scan)

    การทำซีทีสแกนในขั้นนี้จะทำเพื่อตรวจหาว่าแคลเซี่ยมสะสมเป็นคราบตะกรัน ปิดกั้นการไหลเวียนเลือดตามผนังหลอดเลือดหัวใจหรือไม่

  • การตรวจเอกซเรย์หลอดเลือด (Angiogram)

    การตรวจเอกซ์เรย์หลอดเลือดนี้จะช่วยวินิจฉัยว่าหลอดเลือดหัวใจใดที่ตีบหรือเกิดการอุดตัน โดยแพทย์จะสอดท่อหรือสายเล็ก ๆ ที่ตรงข้อมือหรือขาหนีบผู้ป่วยเข้าไปยังหลอดเลือดหัวใจ จากนั้นจึงฉีดสารทึบรังสีหรือที่เรียกว่าสีเข้าไปในหลอดเลือด ซึ่งจะแสดงผลของหลอดเลือดหัวใจผ่านอุปกรณ์เอกซ์เรย์


  • การส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร (Endoscopy)

    การตรวจนี้จะช่วยวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคกระเพาะหรือไม่ โดยแพทย์จะหย่อนกล้องโทรทรรศน์ที่มีลักษณะเล็กและยืดหยุ่นได้ผ่านเข้าไปในหลอดอาหาร เพื่อส่องดูว่ากระเพาะอาหารของผู้ป่วยอักเสบหรือไม่



การรักษาอาการเจ็บหน้าอก

วิธีรักษาอาการเจ็บหน้าอกมีหลายวิธี โดยขึ้นกับสาเหตุของโรคหรือปัญหาสุขภาพที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าว วิธีการรักษาหลัก ๆ แบ่งเป็นการรักษาด้วยยาและการผ่าตัด ดังนี้

การรักษาด้วยยา

แพทย์จะใช้ยารักษาผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บหน้าอกอันเนื่องมาจากสาเหตุที่พบได้ทั่วไป โดยตัวยาที่ใช้รักษานั้น ได้แก่

  • ไนโตรกลีเซอรีน แพทย์จะใช้ยาไนโตรกลีเซอรีนแบบเม็ด โดยให้ผู้ป่วยอมไว้ใต้ลิ้น ไนโตรกลีเซอรีนจะช่วยให้หลอดเลือดหัวใจขยาย ส่งผลให้เลือดไหลผ่านได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ แพทย์ยังใช้ยาที่ใช้รักษาความดันโลหิตเพื่อช่วยขยายหลอดเลือดร่วมด้วย
  • ยาละลายลิ่มเลือด ผู้ป่วยโรคหัวใจจะได้รับยาละลายลิ่มเลือดเพื่อเข้าสลายลิ่มเลือดที่ปิดกั้นการลำเลียงเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ
  • ยาลดการหลั่งกรด ผู้ป่วยที่เจ็บหน้าอกเพราะกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหาร จะได้รับยาที่ช่วยลดการหลั่งกรด
  • ยารักษาอาการซึมเศร้า ผู้ป่วยที่มีประวัติหวาดกลัวหรือกังวลจนส่งผลให้เกิดอาการเจ็บหน้าอก อาจได้รับยารักษาอาการซึมเศร้าเพื่อช่วยจัดการกับภาวะที่ประสบอยู่ ทั้งนี้ อาจต้องรักษาด้วยวิธีบำบัดทางจิตร่วมด้วย

การผ่าตัดและการรักษาด้วยกระบวนการอื่น



นอกจากใช้ยาในการรักษาอาการเจ็บหน้าอกที่เกิดจากปัญหาสุขภาพต่าง ๆ แล้ว ยังมีกระบวนการอีกหลายอย่างที่ช่วยรักษาอาการเจ็บหน้าอกอันเนื่องมาจากโรคหรือปัญหาสุขภาพที่อันตรายต่อชีวิต ดังนี้

  • การทำบอลลูน (Balloons and Stent Placement) ผู้ป่วยที่มีปัญหาหลอดเลือดอุดตัน ทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงหัวใจได้ จะได้รับการรักษาด้วยการทำบอลลูน โดยแพทย์จะสอดท่อเล็ก ๆ เข้าไปภายในหลอดเลือดใหญ่ซึ่งอยู่ตรงขาหนีบหรือข้อมือเข้าไปยังบริเวณที่หลอดเลือดตีบ จากนั้นจึงต่อสายท่อกับอุปกรณ์ข้างนอกเพื่อดันบอลลูนให้เปิดทางหลอดเลือด ทั้งนี้ แพทย์จะสอดขดลวดเล็กเข้าไปเพื่อช่วยให้หลอดเลือดเปิด
  • การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ (Bypass Surgery) การผ่าตัดนี้คือการผ่าตัดนำหลอดเลือดจากส่วนอื่นในร่างกายมาใช้เป็นเส้นทางการไหลเวียนโลหิตแทนหลอดเลือดที่อุดตัน
  • ศัลยกรรมรักษาผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ ผู้ป่วยภาวะเลือดเซาะผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ต้องได้รับการผ่าตัดด่วน เพื่อรักษาผนังหลอดเลือดที่ฉีกขาด
  • ศัลยกรรมรักษาปอด ผู้ที่ปอดแฟบเพราะได้รับบาดเจ็บหรือได้รับความกระทบกระเทือนจนปอดเสียหาย แพทย์อาจผ่าตัดรักษาโดยสอดท่อเข้าไปที่ทรวงอกบริเวณเยื่อหุ้มปอดของผู้ป่วย ซึ่งช่วยให้ปอดกลับมาขยายได้อีกครั้ง


การป้องกันอาการเจ็บหน้าอก

อาการเจ็บหน้าอกเกิดจากหลายสาเหตุ การป้องกันไม่ให้เกิดอาการดังกล่าวจึงควรเริ่มตั้งแต่พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคหรือมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ อันเป็นสาเหตุของอาการเจ็บหน้าอก ในที่นี้จะเน้นกล่าวถึงวิธีป้องกันหรือปฏิบัติตัวให้เหมาะสมเฉพาะโรคที่ก่อให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกและส่งผลร้ายแรงต่อชีวิต ดังนี้

ภาวะเจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจและหัวใจขาดเลือด (Angina)

อาการเจ็บหน้าอกจากสาเหตุนี้สามารถป้องกันได้ โดยลดความเสี่ยงที่จะทำให้ป่วยเป็นโรคหัวใจ ดังต่อไปนี้

  • รับประทานผักและผลไม้ รวมทั้งอาหารไขมันต่ำเส้นใยสูงอย่างธัญพืชต่าง ๆ และจำกัดการรับประทานเกลือไม่ให้เกิน 6 กรัม หรือประมาณ 1 ช้อนชาต่อวัน เนื่องจากเกลือจะทำให้ความดันโลหิตสูง
  • ออกกำลังกายควบคู่กับการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์จะช่วยความเสี่ยงเกิดความดันโลหิตสูง ทั้งนี้ การออกกำลังกายเป็นประจำยังช่วยให้หัวใจและระบบการไหลเวียนเลือดมีประสิทธิภาพมากขึ้นและลดระดับคอเลสเตอรอล
  • รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เลี่ยงอาหารหวานและอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง
  • หยุดสูบบุหรี่และลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ไม่ให้มากจนเกินไป
  • เลี่ยงกิจกรรมหนัก ๆ ที่อาจทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอก
  • รับประทานยาเพื่อควบคุมความดันโลหิต
  • เลี่ยงอยู่ในที่ที่ร้อนหรือหนาวเกินไป

Cardiac chest pain in athletes



อาการเจ็บหน้าอกที่ผนังทรวงอก

ผู้ป่วยที่เกิดอาการเจ็บหน้าอกตรงผนังทรวงอก ซึ่งเกิดจากการได้รับบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อหรือซี่โครงหักนั้น สามารถบรรเทาอาการดังกล่าวไม่ให้กำเริบได้ โดยปฏิบัติดังนี้

  • พักผ่อนและป้องกันไม่ให้บริเวณที่ได้รับบาดเจ็บกระทบกระเทือน รวมทั้งหยุด เปลี่ยน หรือพักกิจกรรมที่ซ้ำบาดแผลมากขึ้น
  • ใช้น้ำแข็งประคบเพื่อลดอาการเจ็บและบวม โดยประคบเย็นทันที ทิ้งไว้ 10-20 นาที ทำเช่นนี้วันละ 3 ครั้งหรือมากกว่านั้น อาการบวมจะหายไปหลังจาก 2-3 วัน จากนั้นจึงประคบอุ่นต่อ
  • ไม่พันผ้าเพื่อประคองซี่โครง เพราะอาจทำให้หายใจได้น้อยลง ซึ่งทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงการเกิดปอดบวมหรือปอดแฟบได้
  • รับประทานยาหรือทายาเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดของกล้ามเนื้อ
  • นวดหรือยืดเส้นเบา ๆ อาจช่วยให้อาการดีขึ้นและหายได้เร็ว โดยยืดเส้นช้า ๆ ในช่วงแรกผู้ป่วยอาจรู้สึกตึง ๆ ให้ทำค้างไว้ 30-60 วินาที ทำเช่นนี้วันละ 3-4 ครั้ง
  • หากรู้สึกดีขึ้นแล้ว ค่อยกลับไปทำกิจกรรมเหมือนตามปกติที่เคยทำ แต่อย่าหักโหม ควรค่อยเป็นค่อยไป หากรู้สึกเจ็บหน้าอกขึ้นมาอีกควรพักสักพักก่อน

woman holding her chest






ที่มา    ::      www.pobpad.com/


10 ความคิดเห็น:

  1. ปอดบวม

    ปอดบวม (Pneumonia) เป็นอาการปอดติดเชื้อและเกิดภาวะอักเสบ ทำให้มีอาการ เช่น มีไข้ ไอ เจ็บหน้าอก หรือหอบเหนื่อย เป็นต้น โดยอาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อรา หรือพยาธิ หากเกิดการติดเชื้อจากสารเคมีหรือยาบางอย่าง มักเรียกว่าปอดอักเสบ ทั้งนี้ ปอดบวมหรือปอดอักเสบเกิดได้ในทุกเพศทุกวัย โดยจะพบมากในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง

    อาการของปอดบวม

    อาการของปอดบวมที่สำคัญ ได้แก่ มีไข้ ไอ เจ็บหน้าอก และหอบเหนื่อย ซึ่งอาการเหล่านี้อาจมีไม่ครบทุกอย่างก็ได้ ส่วนใหญ่มักมีอาการติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนต้น หรือโรคหวัดนำมาก่อน หลังจากนั้นจึงมีอาการไอ และหายใจหอบตามมา โดยเฉพาะที่เกิดจากเชื้อสเตรปโตค็อกคัส นิวโมเนียอี (Streptococcus Pneumoniae) ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เจ็บคอ ปวดท้อง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน รวมอยู่ด้วย

    ผู้สูงอายุ อาจมีอาการซึม สับสน และไม่มีไข้
    เด็กทารกหรือเด็กเล็ก อาจมีอาการปวดท้อง ท้องอืด อาเจียน ซึม ร้องกวน ไม่ดูดนม ร่วมด้วย และบางรายอาจมีอาการชักจากไข้ ในเด็กทารกหรือเด็กเล็กที่เป็นมากจะมีอาการหายใจหอบเร็วมาก รูจมูกบาน ซี่โครงบุ๋ม อาจมีอาการตัวเขียว ริมฝีปาก ลิ้น และเล็บเขียว และภาวะขาดน้ำ

    สาเหตุของปอดบวม

    โรคปอดบวมสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยส่วนใหญ่จะเกิดจากเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรีย โดยสามารถติดต่อได้จากการหายใจเอาเชื้อที่แพร่กระจายอยู่ในอากาศเข้าไป

    ประเภทของโรคปอดบวม หรือปอดอักเสบ สามารถแบ่งได้จากชนิดของเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุ และสถานที่ที่ได้รับการติดเชื้อ ซึ่งสามารถเกิดได้จากสาเหตุหลัก 2 กลุ่ม คือ ปอดบวม ปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อ และที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ โดยทั่วไปจะพบปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อมากกว่า

    ปอดบวม หรือปอดอักเสบ สามารถจำแนกได้หลายแบบ ปัจจุบันนิยมจำแนกตามสภาพแวดล้อมที่เกิดปอดบวม ดังนี้

    ปอดอักเสบชุมชน (Community-Acquired Pneumonia ) หมายถึง ปอดอักเสบเนื่องจากการติดเชื้อจุลินทรีย์นอกโรงพยาบาล มีสาเหตุของการติดเชื้อที่สำคัญ ดังนี้

    ติดเชื้อจากแบคทีเรีย โดยส่วนใหญ่ปอดบวมที่มาจากแบคทีเรียจะมาจากเชื้อ สเตรปโตค็อกคัส นิวโมเนียอี
    ติดเชื้อจากเชื้อรา โดยส่วนมากจะเกิดในผู้ป่วยที่มีสุขภาพร่างกายย่ำแย่ มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรือเป็นโรคเรื้อรังเช่น โรคเบาหวาน โรคไตวาย
    ติดเชื้อจากไวรัส เป็นสาเหตุที่พบบ่อยในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ แต่จะมีอาการไม่รุนแรงมาก และเชื้อไวรัสบางชนิดที่เป็นสาเหตุของไข้หวัดสามารถทำให้เป็นปอดบวมได้
    ปอดอักเสบในโรงพยาบาล (Nosocomial Pneumonia หรือ Hospital-Acquired Pneumonia) หมายถึง ปอดอักเสบที่เกิดขึ้นในผู้ป่วย หลังจากรับไว้รักษาตัวในโรงพยาบาลตั้งแต่ 48 ชั่วโมงขึ้นไป ผู้ป่วยประเภทนี้จะมีอาการที่รุนแรง เพราะป่วยเป็นโรคอื่น ๆ อยู่ก่อนแล้ว

    นอกจากนี้ ยังมีภาวะปอดบวมจากสารพิษหรือสารเคมีด้วย เช่น สูดดมแอมโมเนีย หรือสูดไอกรดเข้าไป เป็นต้น


    ตอบลบ
  2. การวินิจฉัยปอดบวม

    แพทย์จะเริ่มต้นวินิจฉัยโดยการซักถามประวัติอาการของผู้ป่วย ตรวจร่างกาย และอาจส่งตรวจเพิ่มเติม ขึ้นอยู่กับอายุและอาการของผู้ป่วย โดยแพทย์อาจแนะนำให้ทำการตรวจวินิจฉัย ดังต่อไปนี้

    ตรวจเลือด เพื่อหาว่าผู้ป่วยได้รับเชื้อชนิดใดมา ซึ่งวิธีนี้อาจยังระบุได้ไม่แน่ชัด
    เอกซเรย์หน้าอก วิธีนี้จะช่วยให้แพทย์ระบุตำแหน่งของการติดเชื้อ
    วัดออกซิเจนในเลือดและชีพจร เพื่อวัดระดับออกซิเจนในกระแสเลือด ซึ่งช่วยให้สามารถบ่งชี้ระดับการทำงานของปอดได้
    ตรวจเสมหะ ในผู้ป่วยที่มีอาการไอมาก วิธีนี้จะช่วยให้แพทย์วิเคราะห์ และระบุสาเหตุการติดเชื้อได้ โดยการใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องตรวจเสมหะหรือทำการเพาะเชื้อ
    นอกจากนั้น แพทย์อาจให้มีการตรวจเพิ่มเติมแล้วแต่ความเหมาะสม เช่น การเอาตัวอย่างของเหลวในปอดไปตรวจ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ที่มีอาการรุนแรง หรือมีสุขภาพร่างกายที่อ่อนแอ

    การรักษาปอดบวม

    การรักษานั้นต้องดูว่าผู้ป่วยได้รับเชื้อชนิดใด และความรุนแรงของอาการ ซึ่งเป้าหมายในการรักษา คือการฟื้นฟูอาการ และป้องกันภาวะแทรกซ้อนซึ่งจะทำให้อาการของปอดบวมทรุดลงได้

    การรักษาตามอาการทั่วไป การให้ยาลดไข้ ให้สารน้ำทางหลอดเลือด ให้ออกซิเจน ตามอาการของผู้ป่วย
    การรักษาปอดบวมที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย การให้ยาปฏิชีวนะ มักใช้ในผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง และไม่มีอาการแทรกซ้อน อาจให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก ด้วยยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน เช่น ยาอะม็อกซี่ซิลลิน เป็นต้น
    การรักษาปอดบวมที่เกิดจากเชื้อไวรัส โดยส่วนใหญ่โรคปอดบวมจากเชื้อไวรัสมักหายได้เองภายใน 1-3 สัปดาห์ แต่หากอาการไม่ดีขึ้น อาจมีอาการรุนแรงหรือรุนแรงมาก เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดและได้รับการรักษาตัวในโรงพยาบาล
    ภาวะแทรกซ้อนของปอดบวม

    ภาวะแทรกซ้อนของปอดบวมโดยส่วนใหญ่จะเกิดในกลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือผู้ที่มีสภาพร่างกายอ่อนแอ ซึ่งผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้ ดังนี้

    ฝีในปอด ส่วนใหญ่ฝีจะเกิดจากการติดเชื้ออย่างรุนแรง โดยมีการทำลายเนื้อปอดจนเกิดเป็นโพรงขึ้น ซึ่งการรักษาจะใช้ยาปฏิชีวนะร่วมไปกับการระบายหนองออกจากปอด
    เชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด เกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย จนเชื้ออาจแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดและแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อหุ้มสมอง เยื่อบุหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ และมีอาการข้ออักเสบ
    มีการสะสมของของเหลวรอบปอด ปอดบวมอาจทำให้เกิดของเหลวที่ก่อตัวขึ้นบริเวณระหว่างชั้นของเนื้อเยื่อปอดและช่องอก หรือที่เรียกว่าน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด
    หายใจลำบาก หากเป็นปอดบวมขั้นรุนแรง หรือขั้นเรื้อรัง ก็อาจทำให้มีปัญหาเรื่องการหายใจ เนื่องจากออกซิเจนไม่เพียงพอจนทำให้หายใจลำบาก ซึ่งอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
    หลอดลมพอง (Bronchiectasis) ทำให้เกิดอาการไอเรื้อรัง และมีเสมหะจำนวนมาก
    การป้องกันปอดบวม

    การป้องกันโรคปอดบวมทำได้ง่าย เพียงดูแลตัวสุขภาพอนามัยของตัวเองอย่างเหมาะสม ซึ่งมีวิธีป้องกันขั้นต้น ดังนี้

    การป้องกันสำหรับผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อ

    หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัด
    หลีกเลี่ยงควันไฟ หรือควันบุหรี่
    ดูแลให้ความอบอุ่นร่างกายอยู่เสมอ โดยใส่เสื้อผ้าหนา ๆ ในเวลาที่อากาศเย็น
    รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ให้ครบ 5 หมู่ และเพียงพอ
    นอกจากปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต แพทย์อาจแนะนำให้กลุ่มเสี่ยงต่อไปนี้ รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคปอดบวม

    เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี
    ผู้สูงวัยที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป
    ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น
    ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคเบาหวาน โรคหัวใจวาย โรคตับแข็ง เป็นต้น
    ผู้ที่สูบบุหรี่ติดต่อกันมาเป็นเวลานาน
    ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากเป็นประจำ
    ผู้ที่ผ่าตัดม้าม
    การป้องกันอาการกำเริบของผู้ป่วย

    ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัด และควรสวมหน้ากากอนามัย เพื่อไม่ให้มีการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น
    ควรอยู่ในสถานที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก
    ควรหมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ
    ดูแลรักษาตามอาการ เช่น หากมีไข้สูงควรเช็ดตัว รับประทานยาลดไข้ และดื่มน้ำมาก ๆ



    ตอบลบ
  3. โรคหืด

    โรคหืด (Asthma) หรือที่คนทั่วไปมักเรียกหอบหืด เป็นโรคที่เกิดจากการหดตัวหรือตีบตันของระบบทางเดินหายใจ เยื่อบุผนังหลอดลมอักเสบ ทำให้ไวต่อสิ่งกระตุ้น หรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกายมากกว่าคนปกติ เกิดการหดเกร็งตัวของกล้ามเนื้อบริเวณหลอดลม ทำให้หายใจลำบาก หายใจมีเสียงวี้ด อากาศเข้าสู่ปอดน้อยลง หายใจไม่อิ่ม มีอาการไอ เจ็บหน้าอก

    โรคหืดเป็นโรคที่มีโอกาสเกิดได้ทั้งกับเด็กและผู้ใหญ่ ถือว่าเป็นโรคที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและการใช้ชีวิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก เช่น ส่งผลให้เกิดการพัฒนาช้า (ในเด็ก) ผู้ป่วยเรียนและทำงานได้ไม่เต็มที่ ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวัน หรือเล่นกีฬาได้อย่างเต็มที่ ยิ่งสภาพอากาศเกิดการแปรปรวน มลภาวะเป็นพิษมากขึ้นเท่าไหร่ ผู้ป่วยยิ่งได้รับผลกระทบในการดำเนินชีวิตมากขึ้นและส่งผลอันตรายถึงชีวิตได้ องค์กรอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าจำนวนผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโรคหืดทั่วโลกมีปริมาณสูงมากกว่า 300 ล้านคน ผู้ป่วยจึงควรหมั่นสังเกตตัวเอง และเตรียมพร้อมรับมือกับอาการที่อาจกำเริบขึ้น เพื่อการรักษาที่ถูกต้องต่อไป


    อาการของโรคหืด

    อาการของหอบหืด จะเกิดแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล บางรายจะมีอาการเป็นพัก ๆ แล้วหาย แต่บางรายเป็นอย่างต่อเนื่อง และจะเกิดขึ้นเวลาใดนั้นไม่สามารถคาดเดาได้

    อาการโดยทั่วไปของผู้ป่วยหอบหืด ได้แก่

    มีปัญหาเรื่องการหายใจ ผู้ป่วยหายใจสั้น หายใจลำบาก หรือหายใจไม่อิ่ม หรือหายใจแล้วมีเสียงวี้ด ซึ่งสร้างความทรมานให้กับผู้ป่วยเป็นอย่างมาก
    มีอาการเจ็บหน้าอก หรือมีอาการแน่นหน้าอก มักจะมาพร้อมกับอาการเหนื่อยหอบ
    มีอาการไอ
    มีปัญหาในการนอนหลับ โดยปัญหามาจากการหายใจลำบาก หรือการหายใจติดขัด ส่งผลให้หลับไม่สนิท หรือหลับไม่เต็มอิ่ม
    อาการของหอบหืดที่รุนแรงที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน ซึ่งมีความอันตรายถึงชีวิต มีดังนี้

    อาการหายใจหอบถี่ หรือหายใจลำบากมีเสียง แย่ลงอย่างรวดเร็ว
    เมื่อใช้อุปกรณ์พ่นยา เช่น อัลบิวเทอรอล แล้วไม่ช่วยให้อาการดีขึ้นเลย
    มีอาการหายใจหอบเมื่อทำกิจกรรมที่ต้องใช้กำลังร่างกายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
    โดยหากมีสัญญาณและอาการเหล่านี้เกิดขึ้น ต้องรับไปพบแพทย์โดยด่วน นอกจากนั้น อาการของโรคหืดอาจกำเริบขึ้นได้ตามสถานการณ์และปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

    โรคหืดขณะออกกำลังกาย - จริง ๆ แล้วผู้ป่วยสามารถออกกำลังกายได้ แต่ควรเป็นการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับสภาพร่างกาย หรือชนิดกีฬาที่เหมาะสม เช่น เดิน วิ่ง ว่ายน้ำ แอโรบิค โดยหลีกเลี่ยงการออกกำลังในที่ที่มีอากาศแห้งและเย็น เพราะจะส่งผลให้เยื่อบุทางเดินหายใจแห้ง หายใจลำบาก และอาการกำเริบได้ง่ายขึ้น
    โรคหืดจากการทำงาน - เกิดกับผู้ที่ปฏิบัติงานอยู่ในบรรยากาศที่มีสารก่อโรค ทำให้เกิดอาการกำเริบ สามารถเกิดได้จากสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ เช่น ควันจากสารเคมี แก๊ส ฝุ่น
    โรคหืดที่เกิดจากการแพ้ - ในผู้ป่วยแต่ละราย อาจมีสาเหตุของอาการแพ้ที่แตกต่างกันไป เช่น แพ้ละอองเกสรดอกไม้ แพ้สปอร์ของเชื้อราที่ลอยในอากาศ หรือแพ้อากาศเย็น
    สัญญาณที่บ่งบอกว่ามีอาการของหอบหืดเด่นชัดขึ้น เช่น

    เกิดอาการของโรคถี่ขึ้น และรบกวนการใช้ชีวิตมากขึ้น
    หายใจได้ลำบากกว่าเดิม
    ต้องใช้ยาบรรเทา หรือควบคุมอาการที่กำเริบขึ้นมาบ่อยขึ้น


    ตอบลบ
  4. สาเหตุของโรคหืด

    สาเหตุของหอบหืด เกิดจากการที่หลอดลมมีภาวะไวต่อการกระตุ้นจากสารก่อภูมิแพ้ หรือสิ่งแวดล้อม หากถูกกระตุ้นจะทำให้กล้ามเนื้อของหลอดลมหดเกร็ง มีการบวมของเยื่อบุบริเวณหลอดลม ทำให้เกิดการอักเสบ ตีบแคบ หายใจลำบาก ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดการตีบแคบ เช่น การหดตัวของกล้ามเนื้อรอบ ๆ หลอดลม การบวมอักเสบของเยื่อบุภายในหลอดลม หรือมีเสมหะจำนวนมากคั่งค้างอยู่ภายในหลอดลม

    สาเหตุของหอบหืดเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยด้วยกัน ดังนี้

    พันธุกรรม - มีประวัติการเป็นหอบหืดของคนในครอบครัว
    โรคภูมิแพ้ - สารก่อภูมิแพ้ที่สำคัญ เช่น ขนสัตว์เลี้ยง ไรฝุ่นบ้าน แมลงสาบ สปอร์เชื้อรา เกสรดอกไม้
    สารเคมี - สารเคมีที่ใช้ในบ้านอาจกระตุ้นให้เกิดอาการมากขึ้น เช่น กลิ่นสี ยาฆ่าแมลง สเปรย์แต่งผม รวมไปถึงควันบุหรี่
    การออกกำลังกาย - บางคนเกิดอาการเมื่อต้องออกแรงในการทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึง ออกกำลังกาย โดยเฉพาะในที่ที่มีอากาศเย็น
    ภาวะทางอารมณ์ - มักเกิดขึ้นในผู้ที่มีความเครียด ส่งผลให้หายใจผิดปกติโดยไม่รู้ตัว ทำให้หายใจแบบลึกบ้างตื้นบ้างสลับกันไปมา
    สารในกลุ่มซัลไฟต์ (Sulfites) และสารกันบูด สารที่เจือปนในอาหารหรือเครื่องดื่มบางชนิด เช่น ผลไม้แห้ง เบียร์ ไวน์
    โรคกรดไหลย้อน - ภาวะที่มีกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร ผู้ป่วยจะมีอาการแสบร้อนในอก กรดไหลย้อนทำให้ผู้ป่วยที่เป็นหอบหืด มีอาการบ่อยขึ้น และรุนแรงขึ้นได้
    ไวรัสทางเดินหายใจ
    ไซนัสอักเสบเรื้อรัง
    การวินิจฉัยโรคหืด

    การวินิจฉัยโรคหืดนั้นสามารถทำได้จากการซักประวัติของผู้ป่วยและการตรวจร่างกาย แต่จำเป็นต้องอาศัยการทดสอบทางห้องปฏิบัติการในกรณีที่สงสัยว่าผู้ป่วยอาจเป็นโรคอื่น ที่มีลักษณะอาการคล้าย ๆ กัน

    ในเบื้องต้นของการวินัจฉัย แพทย์จะถามประวัติของการเกิดอาการและสัญญาณของหอบหืดโดยละเอียด รวมทั้งประวัติการเป็นหอบหืดของสมาชิกในครอบครัว นอกจากนี้ แพทย์จะตรวจสมรรถภาพของปอด ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น

    สไปโรเมทรีย์ (Spirometry) เป็นเครื่องตรวจสมรรถภาพปอด ซึ่งเป็นการตรวจวัดปริมาตรของอากาศที่หายใจเข้าและออกจากปอด
    พีค โฟลว์ มิเตอร์ (Peak Flow Meter) เป็นเครื่องวัดความเร็วสูงสุดของลมที่เป่าออกได้ ใช้เพื่อวัดสมรรถภาพของปอด
    การทดสอบทางหลอดลม (Bronchial Provocation Test) เป็นการวัดความไวของหลอดลมต่อสิ่งกระตุ้น เพื่อวินิจฉัยว่าเป็นโรคหืดหรือไม่ จะใช้เมื่อทดสอบโดย 2 วิธีการแรกแล้วยังไม่สามารถวินิจฉัยได้ โดยใช้สารกระตุ้นเช่น สารเมธาโคลีน (Methacholine) มาใช้ในการทดสอบสมรรถภาพของปอด
    การใช้เครื่องตรวจวัดความอิ่มตัวออกซิเจนของฮีโมโกลบินในชีพจร (Pulse Oximetry) ช่วยให้สามารถวัดประเมินภาวะการขาดออกซิเจนได้อย่างรวดเร็ว
    อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุด คือการรักษาให้ทันและควบคุมโรคให้ได้เร็วที่สุดเมื่อเกิดอาการ โดยจะแบ่งการรักษาตามความรุนแรง ออกเป็น 4 ขั้น คือ

    มีอาการนาน ๆ ครั้ง (Intermittent Asthma) มีอาการนาน ๆ ครั้ง ช่วงที่มีอาการจะมีอาการน้อยกว่า 1 ครั้ง/สัปดาห์ หรือมีอาการกลางคืนน้อยกว่า 2 ครั้ง/เดือน
    มีอาการรุนแรงน้อย (Mild Persistent Asthma) มีอาการมากกว่า 1 ครั้ง/สัปดาห์ หรือมีอาการกลางคืนมากกว่า 2 ครั้ง/เดือน
    มีอาการรุนแรงปานกลาง (Moderate Persistent Asthma) มีอาการเกือบทุกวัน หรือมีอาการกลางคืนมากกว่า 2 ครั้ง/สัปดาห์
    มีอาการรุนแรงมาก (Severe Persistent Asthma) มีอาการตลอดเวลา

    ตอบลบ
  5. การรักษาโรคหืด

    โรคหอบหืดเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้นเป้าหมายของการรักษา คือควบคุมอาการให้เป็นปกติได้นานที่สุด ให้อาการสงบ และให้ผู้ป่วยมีชีวิตเป็นปกติสุข ด้วยการมีสมรรถภาพปอดใกล้เคียงปกติมากที่สุด

    ในผู้ป่วยที่มีอาการจับหืดบ่อย จะรักษาด้วยการลดความรุนแรงของโรคด้วยการใช้ยาที่เหมาะสมกับอาการ โดยมีทั้งยาเพื่อลดอาการที่เกิดโดยเฉียบพลันและช่วยควบคุมอาการในระยะยาว ยาที่ใช้รักษาหอบหืด จำแนกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

    ยาที่ใช้ควบคุมโรคหืด (Controllers) ต้องใช้เป็นประจำเพื่อการรักษาอาการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม ยาที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดคือยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดสูด (Inhaled Corticosteroid) และยังมียากลุ่มอื่น ๆ ที่สามารถใช้ได้ เช่น ยาต้านลิวโคไทรอีน (Leukotriene Modifier Antagonist) เป็นต้น
    ยาที่ใช้บรรเทาอาการโรคหืด (Relievers)
    ใช้เพื่อบรรเทาอาการหอบ จะใช้ยากลุ่มนี้เฉพาะเมื่อมีอาการ ได้แก่ ยาพ่นขยายหลอดลมชนิดเบต้า 2 (Beta2-agonists) มีผลให้กล้ามเนื้อเรียบในหลอดลมคลายตัว หากผู้ป่วยมีการใช้ยาพ่นชนิดบรรเทาอาการบ่อยครั้งหรือเป็นประจำ จะเป็นข้อบ่งชี้ว่ามีอาการเรื้อรังและการควบคุมอาการนั้นอาจไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร

    ภาวะแทรกซ้อนของโรคหืด

    โดยทั่วไปแล้วโรคหอบหืดจะไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง แต่ในรายที่มีอาการรุนแรงและเรื้อรัง อาจจะมีแบคทีเรียแทรกซ้อนทำให้เป็นไซนัสอักเสบ หรือบางรายถึงกับเป็นเนื้องอกในโพรงจมูก

    อาการแทรกซ้อนและผลกระทบอื่น ๆ เช่น การได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยารักษาโรคหอบหืดเป็นเวลานาน หรือหลอดลมตีบแคบลงอย่างถาวร ทำให้มีปัญหาในการหายใจ และเกิดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตด้านอื่น ๆ ตามมา

    การได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด จะช่วยลดโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้

    การป้องกันโรคหืด

    ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันโรคหอบหืด แต่ผู้ป่วยสามารถสังเกตอาการของตนเอง ควบคุมไม่ให้กำเริบ และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ โดยการดูแลตนเองและให้ความร่วมมือกับแพทย์อย่างเคร่งครัด

    การป้องกันและควบคุมอาการของโรคหอบหืด มีดังนี้

    ตรวจสอบการหายใจ ผู้ป่วยควรสังเกตอาการ หรือสัญญาณเบื้องต้นก่อนที่อาการหอบจะกำเริบ เช่น การไอ หายใจมีเสียง หายใจสั้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยสังเกตอาการได้ดียิ่งขึ้น
    รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันปอดบวม เพื่อป้องกันการเกิดโรคเหล่านี้ที่เป็นตัวกระตุ้นอาการของโรคหอบหืด
    หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นโรค หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ ที่ได้กล่าวในข้างต้น เพื่อไม่ให้เกิดอาการ หรืออาการกำเริบ
    พบแพทย์และรับการตรวจอย่างสม่ำเสมอ อยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน และเพื่อให้สามารถควบคุมอาการของโรคให้เป็นปกติ ใช้ยาตามที่แพทย์สั่งเพื่อบรรเทาอาการของโรคให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติยาวนานที่สุด
    ผู้ป่วยควรได้รับความรู้เบื้องต้น เช่น การใช้ยาให้ถูกต้องและสม่ำเสมอ การใช้อุปกรณ์พ่นยา การดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี
    รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการอย่างพอเหมาะ รับประทานอาหารที่ช่วยลดการอักเสบและการอุดตันบริเวณทางเดินหายใจ ได้แก่ ผักผลไม้สด เมล็ดธัญพืช เนื้อปลา ดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ


    ตอบลบ
  6. Angina Pectoris

    Angina Pectoris เป็นอาการเจ็บแน่นหน้าอกที่เกิดขึ้นเมื่อหลอดเลือดแดงที่ลำเลียงเลือดไปเลี้ยงหัวใจตีบแคบลง ทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจได้น้อยลง เมื่อหัวใจขาดเลือดจึงส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บแน่นหน้าอกเหมือนถูกบีบหรือเหมือนมีน้ำหนักมากดทับบริเวณหน้าอก โดยอาการอาจเกิดขึ้นได้ระหว่างออกแรงหรืออาจเกิดในขณะหยุดพักหากโรคมีความรุนแรง

    ในบางครั้งอาการเหล่านี้อาจหายไปได้เอง แต่ในบางกรณีก็อาจทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้ จึงไม่ควรนิ่งนอนใจและรีบไปพบแพทย์ทันที อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยโรคนี้อาจทำได้ยาก เนื่องจากมีความคล้ายคลึงกับสาเหตุของอาการเจ็บหน้าอกประเภทอื่น อย่างอาการอาหารไม่ย่อย ดังนั้น หากมีอาการเจ็บหน้าอกอย่างไม่ทราบสาเหตุ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาต่อไป

    อาการของ Angina Pectoris
    อาการที่พบได้ทั่วไป ได้แก่ รู้สึกเจ็บแน่นเหมือนถูกกดหรือบีบเค้นบริเวณหน้าอก มักเกิดบริเวณกลางหน้าอกหรืออกฝั่งซ้าย รู้สึกปวดร้าวไปที่คอ กราม ไหล่ หรือแขนทั้งสองข้าง โดยเฉพาะร่างกายฝั่งด้านซ้าย หายใจได้สั้นลง มีเหงื่อออกมามาก รู้สึกเหนื่อยหรืออ่อนแรง เวียนศีรษะ รวมถึงอาจรู้สึกไม่สบายท้อง คลื่นไส้ และอาเจียน

    Angina Pectoris สามารถแบ่งได้หลายประเภท โดยแต่ละประเภทจะมีลักษณะอาการที่แตกต่างกันออกไป ได้แก่

    Stable Angina เป็นประเภทที่พบได้บ่อยที่สุด อาจเกิดระหว่างออกแรงทำกิจกรรม เช่น การออกกำลังกายหรือขึ้นบันได ฯลฯ มักเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ โดยอาการอาจคงอยู่ประมาณ 5 นาทีหรือน้อยกว่านั้น อาการจะหายไปเมื่อได้หยุดพักหรือใช้ยาอมขยายหลอดเลือดหัวใจ
    Unstable Angina เกิดขึ้นได้ขณะที่หยุดพักหรือไม่ได้ทำกิจกรรมที่ใช้แรงมาก เป็นอาการที่เกิดขึ้นโดยที่ผู้ป่วยไม่ได้คาดคิดหรือไม่มีสัญญาณของโรคบ่งบอกก่อน สามารถเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บปวดรุนแรงกว่าและอาการสามารถคงอยู่ได้ยาวนานกว่าประเภท Stable Angina โดยผู้ป่วยอาจมีอาการได้นานถึง 30 นาทีหรือมากกว่านั้น และอาการอาจไม่หายไปแม้จะหยุดพักหรือใช้ยาอมขยายหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งนี่อาจเป็นสัญญาณของภาวะหัวใจขาดเลือดได้ จึงถือว่าเป็นประเภทที่มีความร้ายแรงและควรเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด
    Microvascular Angina เป็นอาการเจ็บหน้าอกที่เกิดจากการทำงานผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจ ทำให้หัวใจได้รับเลือดไม่เพียงพอ อาการมักคงอยู่นานกว่า 10 นาที และมักพบในเพศหญิง
    Prinzmetal's Angina หรือ Variant Angina เป็นกรณีที่พบได้น้อยมาก อาจเกิดขึ้นในตอนกลางคืนขณะนอนหลับหรือพักผ่อน โดยที่หลอดเลือดหัวใจเกิดการตีบตันอย่างฉับพลัน ซึ่งอาจทำให้รู้สึกเจ็บปวดเป็นอย่างมาก จึงควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที แต่อาการจะดีขึ้นเมื่อได้รับยาอมขยายหลอดเลือดหัวใจ
    หากพบว่าตนเองมีอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อการวินิจฉัยที่แน่ชัดว่าเป็นอาการ Angina Pectoris ประเภทใดและทำการรักษาอย่างเหมาะสม เนื่องจากกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นอาจมีความคล้ายคลึงกับโรคอื่น ๆ ได้


    ตอบลบ
  7. สาเหตุของ Angina Pectoris
    Angina Pectoris ส่วนมากมักเกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยเมื่อไขมันจับตัวสะสมเป็นคราบตะกรันหรือพลัค (Plaque) ในหลอดเลือดแดง จะทำให้การไหลเวียนเลือดเพื่อไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจเกิดการอุดตัน และทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบแคบลง หัวใจจึงต้องทำงานโดยขาดออกซิเจน ทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกขึ้น ในบางกรณีอาจเกิดจากลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดแดงจนนำไปสู่ภาวะหัวใจขาดเลือดได้

    นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุอื่นที่อาจทำให้เกิด Angina Pectoris ได้ แต่มักพบได้น้อย ได้แก่ การอุดตันของหลอดเลือดแดงในปอด (Pulmonary Embolism) กล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ (Hypertrophic Cardiomyopathy) ลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ (Aortic Stenosis) เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (Pericarditis) หรือหลอดเลือดแดงใหญ่ที่หัวใจเกิดการฉีกขาด (Aortic Dissection) เป็นต้น

    ทั้งนี้ Angina Pectoris จะเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าปกติเมื่อร่างกายต้องการออกซิเจนเพิ่มขึ้น เช่น เมื่อออกกำลังกายหรือเมื่อต้องใช้แรง แต่ขณะที่หยุดพัก กล้ามเนื้อหัวใจจะต้องการออกซิเจนน้อยลง จึงไม่ไปกระตุ้นการเกิด Angina Pectoris มากนัก

    ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจก่อให้เกิด Angina Pectoris เช่น

    มีโรคประจำตัวอย่างโรคเบาหวาน โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง มีระดับระดับไตรกลีเซอไรด์หรือคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีในเลือดสูง ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจหรือโรคหลอดเลือดแดงแข็ง และอาจนำไปสู่ Angina Pectoris และภาวะหัวใจขาดเลือด
    คนในครอบครัวมีประวัติเคยเป็นโรคหัวใจมาก่อน เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจหรือภาวะหัวใจขาดเลือด บุตรหลานก็มีความเสี่ยงมากขึ้นในการเป็น Angina Pectoris มากขึ้น
    อายุมาก โดยเฉพาะเพศชายที่อายุมากกว่า 45 ปี และเพศหญิงที่อายุมากว่า 55 ปี จะมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิด Angina Pectoris มากกว่าคนที่อายุน้อยกว่า
    พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ดี เช่น การสูบบุหรี่ การได้รับควันบุหรี่จากบุคคลใกล้ชิดเป็นเวลานาน การไม่ออกกำลังกาย การเกิดความเครียดสะสม เป็นต้น
    การวินิจฉัย Angina Pectoris
    แพทย์จะสอบถามอาการ ประวัติทางการแพทย์หรือบุคคลในครอบครัวที่อาจพบว่าสมาชิกในครอบครัวเคยเป็นโรคหัวใจมาก่อน ซึ่งถือเป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิด Angina Pectoris รวมทั้งทำการตรวจร่างกายเบื้องต้นและอาจมีการตรวจเพิ่มเติมดังนี้

    การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG/EKG) เป็นการตรวจจับสัญญาณไฟฟ้าที่มาจากการเต้นของหัวใจในแต่ละครั้ง โดยจะถูกบันทึกด้วยเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ทำให้แพทย์สามารถตรวจดูรูปแบบการทำงานของหัวใจ ซึ่งอาจตรวจพบความผิดปกติของการไหลเวียนของเลือดหรือภาวะหัวใจขาดเลือดได้
    การทดสอบสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Stress Test) ในบางกรณี Angina Pectoris สามารถตรวจพบได้ง่ายเมื่อให้ผู้ป่วยออกแรง โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยเดินบนลู่วิ่งหรือขี่จักรยานออกกำลังกาย จากนั้นจะตรวจดูความดันโลหิตและคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หากผู้ป่วยไม่สามารถออกกำลังกายได้ แพทย์อาจให้ยาที่กระตุ้นการทำงานของหัวใจเสมือนการเลียนแบบการออกกำลังกาย
    การทำเอคโค่หัวใจ (Echocardiogram) เป็นการใช้คลื่นเสียงจำลองภาพของหัวใจเพื่อใช้ในการตรวจอาการผิดปกติของหัวใจและตรวจดูว่ากล้ามเนื้อหัวใจส่วนใดที่อาจถูกทำลายจากการสูบฉีดเลือดได้ไม่ดี บางกรณีแพทย์อาจทำเอคโค่หัวใจระหว่างการทดสอบสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย เพื่อดูว่าบริเวณใดของหัวใจที่ได้รับเลือดไม่เพียงพอ
    การถ่ายภาพรังสี เป็นการเอกซเรย์ช่องอกแสดงภาพปอดและหัวใจ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถตรวจอาการผิดปกติหรืออาจตรวจพบภาวะหัวใจโตได้ในบางกรณี นอกจากนี้ แพทย์อาจทำซีที สแกน (CT Scan) หรือเอ็มอาร์ไอ (MRI) เพื่อตรวจหาความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับหัวใจหรือหลอดเลือด
    การตรวจเลือด เนื่องจากผลเลือดจะแสดงปริมาณที่ผิดปกติของเอนไซม์หรือโปรตีนบางชนิดในเลือด จึงช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยภาวะหัวใจขาดเลือดได้
    การสวนหัวใจและฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Angiography) เป็นการใช้รังสีเอกซเรย์พร้อมกับการฉีดสารสีเพื่อตรวจดูการทำงานภายในหลอดเลือดหัวใจ


    ตอบลบ
  8. การรักษา Angina Pectoris
    การรักษาสามารถทำได้หลายวิธี โดยจะแตกต่างกันไปตามประเภทและระดับความรุนแรงของโรค เป้าหมายของการรักษาคือเพื่อลดความถี่และความรุนแรงของอาการลง รวมถึงลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดและการเสียชีวิตได้ การรักษาสามารถแบ่งออกเป็นหลายประเภท ได้แก่

    การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
    หากผู้ป่วยมีอาการไม่มากนัก การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอาจช่วยรักษาโรคได้ หรือหากมีอาการร้ายแรงก็อาจช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการที่ดีขึ้นได้ สามารถทำได้โดย

    เลิกบุหรี่หรือหลีกเลี่ยงการได้รับควันบุหรี่จากบุคคลอื่น
    ควบคุมน้ำหนักและออกกำลังกายตามคำแนะนำของแพทย์
    เมื่อต้องทำกิจกรรมที่ใช้แรง ไม่ควรหักโหมจนเกินไป ควรผ่อนแรงลงหรือหาช่วงพักเป็นระยะ
    รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ธัญพืชไม่ขัดสี ผักและผลไม้ ฯลฯ
    หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูงและการรับประทานมื้อใหญ่ที่ทำให้อิ่มจนเกินไป
    ดูแลตัวเองเป็นพิเศษในกรณีที่มีโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือคอเลสเตอรอลสูง
    หลีกเลี่ยงความเครียดและหาวิธีการผ่อนคลาย หากไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเองอาจปรึกษาแพทย์เพื่อขอรับคำแนะนำวิธีลดความเครียด
    ลดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์โดยไม่เกินวันละ 2 หน่วยต่อวันสำหรับเพศชาย และไม่เกิน 1 หน่วยต่อวันสำหรับเพศหญิง ทั้งนี้ ปริมาณบริโภคต่อหน่วยอาจจำแนกตามประเภทของเครื่องดื่มได้ดังนี้ เบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ 5% จะมีหนึ่งหน่วยประมาณ 360 มิลลิลิตร ไวน์ที่มีแอลกอฮอล์ 12% จะมีหนึ่งหน่วยประมาณ 150 มิลลิลิตร และสุราที่มีแอลกอฮอล์ 40% จะมีหนึ่งหน่วยอยู่ที่ 45 มิลลิลิตรโดยประมาณ
    การรักษาโดยใช้ยา
    หากใช้วิธีปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วไม่ได้ผล อาจต้องใช้ยาในการรักษา ได้แก่ยาดังต่อไปนี้

    ยากลุ่มไนเตรท จะช่วยขยายหลอดเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ดีขึ้น โดยตัวยาที่นิยมนำมารักษา Angina Pectoris ได้แก่ ยาไนโตรกลีเซอรีนและยาไอโซซอร์ไบด์ไดไนเตรต (Isosorbide Dinitrate)
    แอสไพริน ป้องกันการอุดตันของลิ่มเลือด ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ผ่านหลอดเลือดหัวใจ แต่ควรรับประทานภายใต้การดูแลของแพทย์
    กลุ่มยาต้านเกล็ดเลือด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการจับตัวเป็นลิ่มเลือด มักจะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถรับประทานยาแอสไพรินได้ เช่น ยาโคลพิโดเกรล (Clopidogrel) ยาพราซูเกรล (Prasugrel) หรือยาทิคาเกรเตอร์ (Ticagrelor)
    ยาเบต้าบล็อกเกอร์ ทำให้หัวใจเต้นช้าลงและช่วยลดภาวะความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ ยังช่วยในการทำงานของหลอดเลือดและทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น
    กลุ่มยาสเตติน (Statins) ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด และป้องกันการอุดตันของหลอดเลือด
    การรักษาโดยวิธีการทางการแพทย์
    หากรักษาด้วยการใช้ยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาการอุดตันของหลอดเลือดแดงด้วยวิธีการผ่าตัด ได้แก่

    การผ่าตัดขยายหลอดเลือดด้วยการทำบอลลูนและการใส่ขดลวด เพื่อขยายหลอดเลือดแดงที่ตีบตัน ช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดทำงานได้ดีขึ้น โดยเหมาะกับผู้ป่วยประเภท Unstable Angina หรือผู้ป่วยที่รักษาด้วยการปรับพฤติกรรมและการใช้ยาแล้วไม่ได้ผล
    การผ่าตัดบายพาสหัวใจ โดยแพทย์จะใช้หลอดเลือดที่อยู่ในสภาพดี ซึ่งนำมาจากส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย มาเชื่อมต่อแทนหลอดเลือดที่อุดตันหรือตีบตัน ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดและบรรเทาอาการ Angina Pectoris โดยวิธีนี้เหมาะกับผู้ป่วยทั้งประเภท Stable Angina และ Unstable Angina ที่ไม่ตอบสนองต่อวิธีการรักษาอื่น
    ภาวะแทรกซ้อนของ Angina Pectoris
    Angina Pectoris มักเป็นอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจ ทำให้หัวใจบางส่วนได้รับเลือดไม่เพียงพอและเกิดอาการเจ็บหน้าอกร่วมด้วย รวมทั้งอาจทำให้การทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันอย่างการเดินเกิดความไม่สะดวกหรืออาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดตามมา

    การป้องกัน Angina Pectoris
    Angina Pectoris อาจไม่มีวิธีที่สามารถป้องกันได้อย่างสิ้นเชิง แต่การหมั่นดูแลสุขภาพจะช่วยชะลอหรือลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้ โดยสามารถทำได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

    รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง
    ออกกำลังกายเป็นประจำตามที่แพทย์ให้คำแนะนำ
    จัดการกับความเครียด
    ไม่สูบบุหรี่หรือเลิกสูบหากเป็นผู้ที่สูบบุหรี่อยู่แล้ว
    รักษาน้ำหนักให้เป็นไปตามเกณฑ์ปกติ
    รับประทานยาให้ครบตามที่แพทย์สั่ง
    ดูแลสุขภาพเป็นพิเศษหากมีอาการของโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง และภาวะน้ำหนักเกิน
    จำกัดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ ไม่เกินวันละ 2 หน่วยต่อวันสำหรับเพศชาย และไม่เกิน1 หน่วยต่อวันสำหรับเพศหญิง
    ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี เพื่อช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากเชื้อไวรัสที่อาจเกิดขึ้นที่บริเวณหัวใจ


    ตอบลบ
  9. Aortic Dissection (ภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่ฉีกขาด)

    อาการของ Aortic Dissection
    ภาวะ Aortic Dissection อาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บหน้าอกอย่างฉับพลันและรุนแรง รู้สึกคล้ายถูกฉีก ดึง หรือเฉือน โดยอาการปวดจะลามไปยังกรามล่าง คอ ไหล่ และหลังคล้ายกับโรคหัวใจ และอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น

    ปวดหรือเจ็บท้องอย่างฉับพลันและรุนแรง
    มีเหงื่ออกมาก
    หายใจไม่อิ่มหรือหายใจลำบากขณะนอนราบ
    ปวดขา มีปัญหาเกี่ยวกับการเดิน หรือมีอาการอัมพาตบริเวณขา
    มีปัญหาด้านการพูด การมองเห็น กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือเป็นอัมพาตครึ่งซีก ซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างกะทันหันคล้ายกับอาการของโรคหลอดเลือดสมอง
    กลืนลำบาก
    ชีพจรเต้นแผ่วในแขนข้างใดข้างหนึ่งหรือแผ่วกว่าผู้อื่น ๆ เมื่อเทียบกัน
    หมดสติ
    ทั้งนี้ หากพบว่าตนเองมีอาการคล้ายกับอาการที่กล่าวไปข้างต้น ควรเข้าพบแพทย์โดยด่วน เนื่องจากภาวะ Aortic Dissection มีความรุนแรงจนอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต

    สาเหตุของ Aortic Dissection
    Aortic Dissection เกิดจากการที่ผนังหลอดเลือดแดงใหญ่บริเวณที่มีความเปราะบางได้รับความเสียหายหรือฉีกขาด สามารถแบ่งตามตำแหน่งที่เกิดอาการได้เป็น 2 ชนิด คือ ชนิด A เป็นชนิดที่พบได้มากและเป็นอันตรายเนื่องจากการฉีกขาดเกิดขึ้นกับหลอดเลือดแดงใหญ่ที่นำเลือดออกจากหัวใจหรืออยู่ด้านบนในตำแหน่งใกล้กับหัวใจ และชนิด B เป็นชนิดที่เกิดการฉีกขาดของหลอดเลือดแดงใหญ่ที่อยู่ทางด้านล่างห่างจากหัวใจ

    ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดการฉีกขาดของหลอดเลือดอาจเป็นผลมาจากภาวะความดันโลหิตสูงเรื้อรังจนกระทบต่อเนื้อเยื่อของหลอดเลือดแดงใหญ่ ความผิดปกติแต่กำเนิดที่ทำให้ผนังหลอดเลือดเปราะบางหรือหลอดเลือดมีขนาดใหญ่กว่าปกติ หรือการบาดเจ็บอย่างรุนแรงบริเวณหน้าอก แต่ที่พบได้ค่อนข้างน้อย

    นอกจากนี้ บางปัจจัยอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงฉีกขาดได้มากขึ้น ได้แก่

    เพศชายจะมีความเสี่ยงจะมากกว่าเพศหญิง
    มีอายุมาก ส่วนใหญ่ผู้ที่มีภาวะ Aortic Dissection จะมีอายุในช่วง 60–80 ปี
    มีภาวะความดันโลหิตสูง
    เป็นโรคหลอดเลือดแดงแข็ง โรคหลอดเลือดหัวใจพิการแต่กําเนิด (Aortic Coarctation) โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกผิดปกติแบบสองใบแต่กำเนิด (Bicuspid Aortic Valve)
    เป็นโรคทางพันธุกรรม เช่น กลุ่มอาการเทอร์เนอร์หรือมาร์แฟนซินโดรม (Marfan Syndrome)
    เป็นโรคของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือด อย่างโรคหนังยืดผิดปกติ (Ehlers-Danlos Syndrome)
    การวินิจฉัย Aortic Dissection
    การวินิจฉัย Aortic Dissection อาจทำได้ยาก เนื่องจากเป็นภาวะที่มีอาการคล้ายกับหลาย ๆ โรค จึงจำเป็นต้องวินิจฉัยด้วยวิธีประกอบกัน เบื้องต้นจะมีการสอบถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วยและครอบครัว ฟังเสียงการทำงานของหัวใจ ปอดและท้อง เพื่อตรวจหาเสียงผิดปกติที่เกิดขึ้นจากหลอดเลือดแดงใหญ่

    หากผู้ป่วยรู้สึกเจ็บคล้ายโดนฉีกบริเวณหน้าอกอย่างฉับพลัน ความดันโลหิตต่ำ ระดับความดันโลหิตระหว่างแขนทั้งสองข้างต่างกัน หรือเอกซเรย์แล้วพบว่าหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง ได้ยินเสียงผิดปกติอื่น ๆ มีอาการคล้ายหัวใจวายหรือมีอาการช็อก แต่ระดับความดันโลหิตยังอยู่ในระดับปกติ แพทย์อาจตรวจเพิ่มเติม ดังนี้

    การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: EKG)
    เป็นการตรวจการทำงานของคลื่นหัวใจเพื่อค้นหาความผิดปกติในระบบการทำงานของหัวใจ โดยแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยภาวะหลอดเลือดแดงฉีกขาดบางรายเข้ารับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจควบคู่ไปกับวิธีอื่น ๆ เนื่องจากผลการตรวจด้วยวิธีนี้อาจมีความคล้ายกับอาการของโรคหัวใจชนิดอื่น ๆ ได้

    การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงผ่านทางหลอดอาหาร (Transesophageal echocardiogram: TEE)
    แพทย์จะใช้เครื่องมือที่ลักษณะคล้ายด้ามสอดเข้าไปทางหลอดอาหาร โดยไปจ่อใกล้หัวใจเพื่อให้เครื่องมือนั้นส่งคลื่นเสียงความถี่สูงออกไปแล้วสะท้อนออกมาเป็นรูปภาพหัวใจแบบเรียลไทม์ (Realtime) ทำให้แพทย์สามารถเห็นการทำงานของหัวใจอย่างชัดเจน

    การตรวจวินิจฉัยโรคด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan)
    เป็นการใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เพื่อแสดงภาพของหัวใจ หลอดเลือดแดงใหญ่ และเส้นเลือดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยบางรายอาจต้องฉีดสีชนิดพิเศษเพื่อช่วยให้เห็นรายละเอียดของอวัยวะดังกล่าวได้อย่างชัดเจน ซึ่งแพทย์สามารถนำผลจากการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์มาใช้ประกอบการวินิจฉัยได้

    นอกจากนี้ ยังมีวิธีอื่น ๆ ที่แพทย์อาจใช้ในการวินิจฉัยภาวะ Aortic Dissection เช่น การเอกซเรย์ การตรวจด้วยเครื่อง MRI บริเวณหน้าอก การทำเอ็กโคหัวใจแบบวางหัวตรวจไว้บนหน้าอก (Echocardiogram) และการตรวจหาความผิดปกติของหลอดเลือดแบบดอปเปลอร์อัลตราซาวด์ (Doppler Ultrasound) เป็นต้น

    การรักษา Aortic Dissection
    แพทย์จะรักษาผู้ป่วยตามชนิดของ Aortic Dissection ที่เกิดขึ้น ดังนี้

    ตอบลบ
  10. การรักษา Aortic Dissection ชนิด A
    เนื่องจากตำแหน่งของการฉีกขาดนั้นเกิดใกล้กับหัวใจและอาจส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิต แพทย์จึงต้องผ่าตัดแก้ไขหลอดเลือดที่ฉีกขาดอย่างเร่งด่วนให้ได้มากที่สุด เพื่อให้เลือดไหลเวียนกลับไปยังเส้นทางปกติ โดยอาจใช้หลอดเลือดเทียมร่วมด้วย ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะลิ้นหัวใจรั่วในบริเวณที่หลอดเลือดได้รับความเสียหายด้วย แพทย์อาจผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจไปในการผ่าตัดครั้งเดียวกัน

    นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้ยาเพื่อช่วยรักษาระดับความดันเลือดของผู้ป่วยก่อนทำการผ่าตัด และใช้ยาชนิดต่าง ๆ ในการป้องกันไม่ให้อาการมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น อย่างยาเบต้า บล็อกเกอร์ (Beta Blockers) และยาไนโตรพลัสไซด์ (Nitroprusside) เพื่อลดอัตราการเต้นของหัวใจและลดระดับความดันโลหิต

    การรักษา Aortic Dissection ชนิด B
    ผู้ป่วยอาจไม่จำเป็นจะต้องเข้ารับการผ่าตัดทันทีหากความเสียหายของหลอดเลือดแดงใหญ่อยู่ห่างจากหัวใจ แต่จำเป็นจะต้องควบคุมระดับความดันเลือดให้ใกล้เคียงกับค่าปกติด้วยการใช้ยารักษาโรคความดันโลหิตและติดตามอาการอย่างใกล้ชิด

    อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่การฉีกขาดของหลอดเลือดแดงมีความรุนแรงมากขึ้นหรือเลือดไม่สามารถไปเลี้ยงอวัยวะที่สำคัญของร่างกาย ผู้ป่วยจำเป็นจะต้องได้รับการรักษาโดยด่วนด้วยการผ่าตัดเนื่องจากอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

    ภายหลังเข้ารับการรักษา ผู้ป่วย Aortic Dissection อาจจำเป็นต้องรับประทานยาเพื่อควบคุมระดับความดันโลหิตตลอดชีวิต และตรวจติดตามอาการด้วยเครื่อง MRI หรือ CT Scan เป็นระยะ ๆ

    ภาวะแทรกซ้อนของ Aortic Dissection
    ผู้ป่วย Aortic Dissection อาจมีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เกิดขึ้น เนื่องจากเลือดที่ใช้ในการทำงานของอวัยวะนั้น ๆ ไหลเวียนลดลงหรือไม่เพียงพอ ส่งผลให้อวัยวะในร่างกายได้รับความเสียหายหรือทำงานผิดปกติ โดยอาการอาจเกิดขึ้นในระยะเวลาสั้น ๆ หรือเกิดขึ้นติดต่อกันเป็นเวลานาน รวมถึงอาจเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ภาวะเลือดออกในอวัยวะภายใน และภาวะลิ้นหัวใจทำงานผิดปกติ ซึ่งอาจมีความรุนแรงจนส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิต

    การป้องกัน Aortic Dissection
    การป้องกันและลดความเสี่ยงจากภาวะ Aortic Dissection ด้วยตนเองทำได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

    หากสมาชิกในครอบครัวมีประวัติการเจ็บป่วยด้วยภาวะ Aortic Dissection ควรพูดคุยปรึกษากับแพทย์ โดยแพทย์ช่วยจะตรวจประเมินความเสี่ยงในกรณีมีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะนี้ เช่น ผู้ป่วยมีความดันโลหิตสูง แพทย์อาจจ่ายยาเพื่อควบคุมระดับความดันโลหิต เป็นต้น
    ควบคุมระดับความดันโลหิตด้วยการรับประทานยาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดและหมั่นตรวจเช็คระดับความดันโลหิตของตนเองอยู่เสมอ
    เลิกสูบบุหรี่ โดยการวางแผนและปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำที่ช่วยเลิกบุหรี่ให้หายขาด
    รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานโดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ผัก ผลไม้ ธัญพืช และอาหารโซเดียมต่ำ ควบคู่ไปกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
    คาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งเพื่อป้องกันการได้รับปาดเจ็บอย่างรุนแรงบริเวณหน้าอก



    ตอบลบ