พระราชประวัติ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองแห่งสหราชอาณาจักร
รัชสมัยที่ยาวนานของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง เต็มเปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่นในพระราชหฤทัยของพระองค์ ที่จะทรงอุทิศพระชนมชีพเพื่อการปฏิบัติพระราชภารกิจที่มีต่อราชบัลลังก์และต่อพสกนิกรของพระองค์ ทั้งในสหราชอาณาจักรและประเทศเครือจักรภพ สำหรับชาวอังกฤษหลายคน ทรงเป็นเสมือนเสาหลักที่มั่นคงในยามที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
เมื่อหลายสิบปีก่อนไม่มีผู้ใดคาดคิดว่า เจ้าหญิงน้อยเอลิซาเบธ อเล็กซานดรา แมรี วินด์เซอร์ ซึ่งประสูติเมื่อวันที่ 21 เมษายน ปี 1926 จะได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระราชินีนาถในวันข้างหน้า ด้วยเมื่อแรกประสูติทรงเป็นพระธิดาพระองค์โตในเจ้าชายอัลเบิร์ต ดยุคแห่งยอร์ก รัชทายาทลำดับที่สอง และเลดี้ เอลิซาเบธ โบวส์-ไลออน ดัชเชสแห่งยอร์ก โดยมีพระเจ้าจอร์จที่ห้าแห่งสหราชอาณาจักรเป็นพระอัยกา
เจ้าหญิงเอลิซาเบธและเจ้าหญิงมาร์กาเร็ต พระขนิษฐา ซึ่งประสูติเมื่อปี 1930 ทรงได้รับการศึกษาภายในพระตำหนักที่ประทับ ทำให้ทรงใกล้ชิดกับพระบิดาและพระมารดารวมทั้งพระอัยกาอย่างยิ่ง ซึ่งนับได้ว่าทรงเติบโตขึ้นในบรรยากาศของครอบครัวเล็ก ๆ ที่อบอุ่น และเพื่อให้เจ้าหญิงทั้งสองพระองค์ได้มีโอกาสคบหาสมาคมกับเด็กหญิงวัยเดียวกัน ได้มีการจัดตั้งหน่วยเนตรนารีหมู่พิเศษขึ้นในพระราชวังบักกิงแฮมด้วย
เจ้าหญิงเอลิซาเบธทรงพระปรีชาในการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศหลายภาษา รวมทั้งทรงแตกฉานในความรู้ด้านประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญเป็นอย่างยิ่ง ดังที่เซอร์ วินสตัน เชอร์ชิล รัฐบุรุษคนสำคัญของอังกฤษได้กล่าวไว้ตั้งแต่เขายังไม่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่า เจ้าหญิงเอลิซาเบธนั้นทรงมีแววความเป็นผู้นำที่โดดเด่นเกินเด็กทั่วไป
เมื่อพระเจ้าจอร์จที่ห้า พระอัยกาของเจ้าหญิงเอลิซาเบธเสด็จสวรรคตในปี 1936 องค์มกุฎราชกุมารเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่แปด แต่เพียงไม่ถึงหนึ่งปีหลังจากนั้น กษัตริย์พระองค์ใหม่ได้ตัดสินพระทัยสละราชสมบัติเพื่อทรงสมรสกับนางวอลลิส ซิมป์สัน แม่ม่ายชาวอเมริกัน ทำให้พระบิดาของเจ้าหญิงเอลิซาเบธต้องเสด็จขึ้นครองราชย์อย่างกะทันหัน ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าจอร์จที่หกผู้ทรงเป็นพระบิดา เจ้าหญิงเอลิซาเบธได้ทรงเขียนบันทึกความทรงจำต่อพระราชพิธีในครั้งนั้นไว้ว่า "ช่างแสนวิเศษเหลือเกิน"
ความตึงเครียดคุกรุ่น
เมื่อพระเจ้าจอร์จที่หกเสด็จขึ้นครองราชย์ สถานการณ์ทั่วยุโรปในขณะนั้นคุกรุ่นไปด้วยความขัดแย้งตึงเครียดที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ก่อนจะปะทุเป็นสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยทั้งพระบิดาและพระมารดาของเจ้าหญิงเอลิซาเบธทรงออกปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างแข็งขัน เพื่อเรียกคืนความเชื่อมั่นในสถาบันกษัตริย์อังกฤษหลังการสละราชสมบัติของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่แปดกลับคืนมา
ในปี 1939 เจ้าหญิงเอลิซาเบธซึ่งมีพระชนมายุ 13 ชันษา ได้ตามเสด็จพระบิดาและพระมารดาเยือนวิทยาลัยราชนาวีที่เมืองดาร์ตมัธ โดยมีนักเรียนนายเรือผู้หนึ่งเป็นผู้นำเสด็จขณะทอดพระเนตรบริเวณวิทยาลัยโดยรอบ แม้เจ้าหญิงเอลิซาเบธจะทรงเคยพบปะกับเขามาก่อนบ้างแล้วในฐานะพระญาติ แต่ในครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกที่ทรงสนพระทัยในตัวของนักเรียนนายเรือผู้นี้อย่างแท้จริง เขาคือเจ้าชายฟิลิปแห่งกรีซ พระราชสวามีในอนาคต ทั้งสองพระองค์ได้มีโอกาสติดต่อกันทางจดหมายและสานสัมพันธ์กันเรื่อยมานับแต่นั้น
สงครามโลกครั้งที่สองทำให้เจ้าหญิงเอลิซาเบธทรงได้สัมผัสกับชีวิตนอกรั้ววังและความยากลำบากของพลเมืองสหราชอาณาจักรในช่วงสงคราม โดยทรงอาสาเข้าร่วมกับหน่วยรับใช้ดินแดนพิเศษ (ATS) เรียนรู้การขับรถและการเป็นช่างยนต์ โดยต้องทรงทำหน้าที่เป็นช่างซ่อมบำรุงรถบรรทุกด้วย
ทรงรำลึกถึงวันสิ้นสุดสงครามในสมรภูมิยุโรปว่า "ผู้คนจำนวนมากมาร่วมกันฉลองที่หน้าวังบักกิงแฮม ข้าพเจ้ากับน้องสาวขอพ่อแม่ออกไปดูด้วยตาตนเอง และก็ได้ไปอยู่ท่ามกลางคนแปลกหน้ามากมายที่คล้องแขนกันเป็นแถวเดินไปตามท้องถนน ตอนแรกเรากลัวว่าจะมีคนจำได้ แต่ท้ายที่สุดเราก็ถูกกลืนหายไปกับกระแสของฝูงชนที่พากันปิติยินดีและโล่งใจที่สงครามสงบ"
อุปสรรค
ในช่วงหลังสงคราม เจ้าหญิงเอลิซาเบธทรงพบกับอุปสรรคในเรื่องที่มีพระประสงค์จะอภิเษกสมรสกับเจ้าชายฟิลิปอย่างมาก โดยหลายฝ่ายคัดค้านว่าเจ้าชายฟิลิปนั้นเป็นชาวต่างชาติ รวมทั้งมีพระอุปนิสัยโผงผางไม่เหมาะสมกับราชสำนัก แต่ในที่สุดพระเจ้าจอร์จที่หกทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ทั้งสองพระองค์อภิเษกสมรสได้ โดยพระราชพิธีมีขึ้นที่วิหารเวสต์มินสเตอร์ เมื่อ 20 พฤศจิกายน 1947
https://youtu.be/Bwn2BkHrswEเสด็จขึ้นครองราชย์
หลังการอภิเษกสมรส เจ้าหญิงเอลิซาเบธและพระสวามีซึ่งได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นดยุคแห่งเอดินบะระ ยังคงมีโอกาสได้ใช้ชีวิตครอบครัวเยี่ยงสามัญชนทั่วไปอยู่ระยะหนึ่ง โดยพระโอรสคือเจ้าชายชาร์ลส์ (พระยศในขณะนั้น) ประสูติเมื่อปี 1948 ตามมาด้วยเจ้าหญิงแอนน์ซึ่งประสูติในปีถัดมา
ในขณะเดียวกัน พระพลานามัยของพระเจ้าจอร์จที่หกกำลังเสื่อมถอยลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากประชวรด้วยพระโรคมะเร็งในพระปับผาสะ (ปอด) ทำให้เจ้าหญิงเอลิซาเบธในฐานะองค์รัชทายาทลำดับแรกต้องทรงออกปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์อย่างเต็มที่ ส่วนดยุคแห่งเอดินบะระต้องทรงลาออกจากการรับราชการทหารเรือ เพื่อร่วมเคียงข้างพระชายาในการแบกรับพระราชภารกิจดังกล่าวด้วย
ระหว่างการเสด็จเยือนประเทศในเครือจักรภพเมื่อปี 1952 ข่าวร้ายได้มาถึงอย่างกะทันหัน ขณะที่เจ้าหญิงเอลิซาเบธและพระสวามีประทับอยู่ที่ประเทศเคนยา โดยเจ้าหน้าที่นำความกราบทูลว่า บัดนี้พระเจ้าจอร์จที่หกได้เสด็จสวรรคตและพระองค์คือสมเด็จพระราชินีนาถพระองค์ใหม่ของสหราชอาณาจักรแล้ว
"ข้าพเจ้าไม่ได้มีเวลาเตรียมตัวมาก่อนเลย เสด็จพ่อจากไปขณะที่ยังทรงมีพระชนมายุไม่มากนัก ดังนั้นมันจึงเป็นเรื่องกะทันหันชนิดที่ว่า ต้องเข้ารับหน้าที่และทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ในทันที" สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองตรัสย้อนรำลึกถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้น
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกมีขึ้นในเดือนมิถุนายน ปี 1953 โดยมีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรก แม้เซอร์วินสตัน เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นจะคัดค้านก็ตาม โดยมีผู้รับชมการถ่ายทอดพระราชพิธีดังกล่าวจำนวนหลายล้านคน
ในขณะนั้น พลเมืองสหราชอาณาจักรยังคงต้องเผชิญกับความยากลำบากและภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองหลังสงคราม แต่การขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระราชินีนาถพระองค์ใหม่นั้น เปรียบได้กับแสงสว่างยามรุ่งอรุณ ซึ่งเป็นความหวังแก่พวกเขาว่า ยุคแห่งความรุ่งเรืองเช่นเดียวกับรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่หนึ่งเมื่อหลายร้อยปีก่อนอาจกำลังเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม รัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองเปิดฉากขึ้นท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงผันผวนอย่างรวดเร็วของสถานการณ์โลก ซึ่งทำให้จักรวรรดิอังกฤษต้องดำเนินมาถึงจุดจบในที่สุด โดยขณะที่เสด็จเยือนประเทศเครือจักรภพเมื่อปลายปี 1953 หลายประเทศในจำนวนนั้นซึ่งรวมถึงอินเดียต่างได้รับเอกราชและแยกตัวเป็นอิสระออกไป อย่างไรก็ตาม สิ่งเดียวที่ยังคงเชื่อมร้อยประเทศที่เป็นอดีตอาณานิคมของอังกฤษเอาไว้ด้วยกันได้ในยุคใหม่ คือการเป็นสมาชิกเครือจักรภพซึ่งบางส่วนยกย่องให้สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองเป็นองค์ประมุขสูงสุด
นอกจากนี้ ทรงต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางการเมืองหลายครั้งในช่วงต้นรัชสมัย โดยส่วนใหญ่มาจากการที่ต้องทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากพรรคอนุรักษ์นิยม โดยที่ทางพรรคขาดกระบวนการเลือกสรรผู้นำที่แน่นอน จนทำให้เกิดความขัดแย้งและสับสนวุ่นวายขึ้น เช่นในครั้งที่ทรงต้องเชิญนายฮาโรลด์ แม็กมิลแลน ให้จัดตั้งรัฐบาลใหม่ หลังอังกฤษเผชิญวิกฤตเรื่องที่อียิปต์อ้างกรรมสิทธิ์ในคลองสุเอซเมื่อปี 1956
การโจมตีเรื่องส่วนพระองค์
ช่วงเวลาดังกล่าวถือเป็นช่วงเวลาแห่งความยากลำบากของสมเด็จพระราชินีนาถ ผู้ทรงเคร่งครัดต่อความถูกต้องในบทบาทของพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญซึ่งอยู่เหนือการเมือง แต่ในขณะเดียวกันก็ทรงใช้สิทธิในการรับทราบข้อมูลข่าวสารสำคัญจากรัฐบาล รวมทั้งทรงใช้สิทธิในการเตือนและแนะนำรัฐบาลในประเด็นต่าง ๆ อย่างจริงจังอีกด้วย
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองทรงต้องเผชิญกับการโจมตีในเรื่องส่วนพระองค์ด้วยเช่นกัน โดยเคยมีกรณีของลอร์ดอัลทรินแชมเขียนวิจารณ์ในนิตยสารว่า ราชสำนักของพระองค์นั้นมีความเป็นชนชั้นสูงแบบอังกฤษมากเกินไป และพระองค์เองนั้นก็ไม่ทรงสามารถจะมีพระราชดำรัสง่าย ๆ ได้ โดยไม่ต้องทอดพระเนตรต้นฉบับร่าง
แม้การแสดงความเห็นดังกล่าวจะทำให้เกิดความไม่พอใจขึ้นในหมู่ประชาชนชาวอังกฤษ แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อสถาบันกษัตริย์ว่ากำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว และสิ่งที่เป็นธรรมเนียมเก่า ๆ กำลังถูกตั้งคำถาม
จาก "สถาบันกษัตริย์" สู่ "พระราชวงศ์"
ด้วยการสนับสนุนของดยุคแห่งเอดินบะระ พระราชสวามีผู้ไม่โปรดความมากพิธีการและกฎเกณฑ์ที่แข็งทื่อตายตัวของราชสำนัก สมเด็จพระราชินีนาถทรงเริ่มปรับพระองค์ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมสมัยใหม่ เช่นยกเลิกให้หญิงสาวผู้มีตระกูลที่เพิ่งเปิดตัวเข้าสู่วงสังคมชั้นสูง (เดบิวตอง) เข้าเฝ้า เปลี่ยนการใช้คำว่า "สถาบันกษัตริย์" (The Monarchy) เป็นคำว่า "พระราชวงศ์" (Royal Family) ซึ่งฟังดูใกล้ชิดเป็นกันเองกว่าแทน
ในช่วงปลายทศวรรษ 1960 สำนักพระราชวังบักกิงแฮมเริ่มดำเนินนโยบายนำเสนอภาพลักษณ์ใหม่ของพระราชวงศ์อังกฤษในรูปแบบที่เป็นทางการน้อยลง แต่ดูผ่อนคลายและเข้าถึงได้ง่าย โดยอนุญาตให้บีบีซีเข้าถ่ายทำภาพยนตร์สารคดีซึ่งถ่ายทอดกิจกรรมในชีวิตประจำวันของพระราชวงศ์ที่ผู้คนไม่เคยเห็นกันมาก่อน เช่นภาพของดยุคแห่งเอดินบะระทรงย่างไส้กรอกบนเตาบาร์บีคิวกลางแจ้ง ทรงตกแต่งต้นคริสต์มาส หรือพาพระราชโอรสและพระราชธิดาไปขับรถเล่น
แม้จะมีผู้วิจารณ์ว่าภาพยนตร์สารคดีดังกล่าวทำให้สถาบันกษัตริย์คลายความขลังศักดิ์สิทธิ์ลง แต่ในอีกทางหนึ่งก็ช่วยเรียกคืนความนิยมต่อพระราชวงศ์ในหมู่ประชาชนกลับมาได้เป็นอย่างมาก โดยในพระราชพิธีรัชดาภิเษก ปี 1977 ผู้คนต่างออกมาเฉลิมฉลองกันอย่างกระตือรือร้น และบรรยากาศของงานเต็มเปี่ยมไปด้วยความยินดีอย่างแท้จริง ซึ่งแสดงถึงความรักและชื่นชมในองค์สมเด็จพระราชินีนาถอย่างชัดเจน
เผชิญเรื่องอื้อฉาวของพระราชวงศ์
ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 ราชวงศ์อังกฤษต้องเผชิญกับมรสุมลูกใหญ่อีกครั้ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องอื้อฉาวและความล้มเหลวในชีวิตสมรสของพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ เริ่มจากเจ้าฟ้าชายแอนดรูว์ ดยุคแห่งยอร์ก พระราชโอรสองค์ที่สองในสมเด็จพระราชินีนาถ ทรงหย่าร้างกับนางซาราห์ เฟอร์กูสัน พระชายา ส่วนเจ้าฟ้าหญิงแอนน์ พระราชธิดา ก็ทรงแยกทางกับนายมาร์ก ฟิลลิปส์ พระสวามี ในขณะที่ข่าวความร้าวฉานในชีวิตสมรสของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ องค์มกุฎราชกุมาร และเจ้าหญิงไดอานาแห่งเวลส์ เป็นที่รู้กันทั่วไปตามการรายงานของสื่อมวลชน จนกระทั่งทรงหย่าร้างกันในที่สุด
สมเด็จพระราชีนีนาถทรงตรัสเปรียบเปรยถึงปี 1992 ว่าเป็นปีที่โหดร้ายอย่างยิ่งสำหรับพระองค์ โดยสมเด็จพระราชินีนาถและองค์มกุฎราชกุมารทรงเริ่มอาสาจ่ายภาษีเงินได้เข้ารัฐในปีนี้ ซึ่งทรงหวังว่าจะทำให้สังคมและสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ แสดงความเห็นแบบเป็นปฏิปักษ์กับสถาบันกษัตริย์น้อยลงกว่าที่ผ่านมา ในปีเดียวกันสมเด็จพระราชินีนาถมีพระราชดำรัสขอความเห็นใจในเรื่องการปรับตัวของสถาบันกษัตริย์ให้เปิดกว้างต่อสังคมยุคใหม่มากขึ้นว่า
"ไม่มีสถาบัน เมือง หรือกษัตริย์พระองค์ใด ที่ควรจะคาดหวังว่าตนจะปลอดจากการตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์โดยผู้ที่มอบความจงรักภักดีและการสนับสนุนให้ เรื่องนี้ไม่ต้องไปกล่าวถึงกลุ่มคนที่ไม่ยอมรับนับถือในสถาบันเหล่านี้เลยด้วยซ้ำ แต่อย่างไรก็ตาม เราต่างเป็นส่วนหนึ่งของสายใยที่ถักทอขึ้นเป็นสังคมของคนชาติเดียวกัน การตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์นั้นจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อกระทำด้วยความนุ่มนวล มีอารมณ์ขันที่ดี และมีความเห็นอกเห็นใจกัน"
อย่างไรก็ตาม อุบัติเหตุทางรถยนต์ที่กรุงปารีสในปี 1997 ซึ่งทำให้เจ้าหญิงไดอานาแห่งเวลส์สิ้นพระชนม์ ส่งผลสะเทือนต่อภาพลักษณ์ของราชวงศ์อังกฤษอย่างมากอีกครั้ง โดยผู้คนต่างแสดงความไม่พอใจที่สมเด็จพระราชินีนาถและสำนักพระราชวังนิ่งเฉยเย็นชาต่อเหตุการณ์ที่สร้างความโศกสลดอย่างยิ่งแก่ประชาชนจำนวนมาก
หลายคนที่วิพากษ์วิจารณ์ราชวงศ์อังกฤษอย่างเผ็ดร้อนในเรื่องนี้ยากที่จะเข้าใจได้ว่า สมเด็จพระราชินีนาถนั้นทรงเป็นคนรุ่นเก่าที่มักเก็บงำอารมณ์และหลีกเลี่ยงการแสดงออกอย่างฟูมฟาย แต่ในขณะเดียวกันได้ทรงทำหน้าที่ของพระอัยกีที่ดีในการปลอบโยนและอยู่เคียงข้างพระโอรสสองพระองค์ของเจ้าหญิงผู้วายชนม์ด้วย
ในที่สุด สมเด็จพระราชินีนาถได้มีพระราชดำรัสผ่านการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ โดยทรงแสดงการไว้อาลัยต่อการจากไปของพระสุนิสาซึ่งเป็นที่รักยิ่งของประชาชน ทั้งทรงให้คำมั่นอีกครั้งว่า สถาบันกษัตริย์จะปรับตัวให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมมากยิ่งขึ้น
พระราชกรณียกิจครั้งประวัติศาสตร์
ตลอดพระชนมชีพของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่มีความสำคัญซึ่งเชื่อมโยงกับเหตุการณ์สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของสหราชอาณาจักรและของโลกหลายครั้ง
หลังสิ้นสุดสงครามอ่าวเปอร์เซียในปี 1991 ทรงเป็นกษัตริย์อังกฤษพระองค์แรกที่ได้มีพระราชดำรัสต่อสภาคองเกรสของสหรัฐฯ โดยในครั้งนั้น ประธานาธิบดีจอร์จ เอช. บุช ได้กราบบังคมทูลว่า เท่าที่ชาวอเมริกันจำได้ สมเด็จพระราชินีนาถทรงเป็น "มิตรแท้แห่งเสรีภาพ" ผู้หนึ่งมาเป็นเวลานานทีเดียว
ในเดือนพฤษภาคม ปี 2011 สมเด็จพระราชินีนาถทรงเป็นกษัตริย์อังกฤษพระองค์แรกที่เสด็จเยือนสาธารณรัฐไอร์แลนด์ อย่างเป็นทางการ โดยมีพระราชดำรัสในระหว่างการเยือนเรียกร้องให้ชาวไอริชมีความอดทนอดกลั้นและประนีประนอมต่อ "สิ่งที่เราต่างหวังว่าน่าจะเกิดขึ้นแตกต่างไปจากนี้ หรือไม่ควรเกิดขึ้นเลย" ซึ่งก็คือความขัดแย้งกับอังกฤษที่ผ่านมาในหน้าประวัติศาสตร์นั่นเอง
ในปีต่อมา สมเด็จพระราชินีนาถยังได้เสด็จเยือนไอร์แลนด์เหนือ โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีและการจัดพระราชพิธีพัชราภิเษก โดยในโอกาสนี้ได้ทรงจับมือกับนายมาร์ติน แม็คกินเนส อดีตผู้นำขบวนการไออาร์เอซึ่งเคยเรียกร้องอิสรภาพจากอังกฤษอีกด้วย นับว่าเป็นเหตุการณ์ที่ได้รับความสนใจอย่างมาก เนื่องจากพระญาติสนิทคือลอร์ด หลุยส์ เมาท์แบตเทน ถูกสังหารด้วยระเบิดของขบวนการไออาร์เอไปเมื่อปี 1979
สมเด็จพระราชินีนาถยังทรงแสดงความห่วงกังวล ในครั้งที่สกอตแลนด์จัดการลงประชามติเพื่อเตรียมแยกตัวเป็นเอกราชในปี 2014 โดยมีพระราชดำรัสกับประชาชนผู้มารอเฝ้าที่ปราสาทบัลมอรัลว่า "ข้าพเจ้านับว่ากษัตริย์หรือราชินีของอังกฤษและสกอตแลนด์ทุกพระองค์ รวมทั้งบรรดาเจ้าชายแห่งเวลส์นั้นเป็นบรรพบุรุษของข้าพเจ้า ดังนั้นจึงเข้าใจได้ดีถึงความปรารถนาที่จะแยกตัวเป็นอิสระเช่นนี้ แต่ข้าพเจ้าก็ไม่สามารถลืมได้ว่า ตนเองได้ผ่านพิธีราชาภิเษกและสวมมงกุฎเป็นกษัตริย์ของสหราชอาณาจักรแห่งบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือมาเช่นกัน" อย่างไรก็ตาม ผลการลงประชามติในครั้งนั้นยืนยันความประสงค์ของชาวสกอตที่ต้องการอยู่ร่วมในสหราชอาณาจักรต่อไป
เมื่อ 9 กันยายน 2015 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองทรงได้เป็นกษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษ โดยรัชสมัยของพระองค์นั้นยาวนานยิ่งกว่าของสมเด็จพระราชีนีนาถวิกตอเรีย พระมารดาของพระปิตามหัยกา (แม่ของปู่ทวด) ของพระองค์เอง
แม้สถาบันกษัตริย์อังกฤษในช่วงปลายรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถจะไม่ได้แข็งแกร่งมั่นคงเหมือนดังช่วงต้นรัชสมัย แต่ก็ทรงตั้งพระทัยจะให้สถาบันกษัตริย์ยังคงเป็นที่เคารพรักของชาวอังกฤษต่อไปตราบนานเท่านาน ดังปรากฎในพระราชดำรัสเนื่องในพระราชพิธีรัชดาภิเษกว่า
"เมื่อข้าพเจ้าอายุได้ 21 ปี ได้ให้คำมั่นกับตนเองว่าจะอุทิศชีวิตเพื่อรับใช้ประชาชน และได้ขอประทานพรจากพระเจ้าเพื่อให้ความหวังนั้นสำเร็จด้วยดี แม้การตั้งปณิธานนี้จะมีขึ้นในสมัยที่ข้าพเจ้ายังมีความคิดอ่านที่สับสนวุ่นวาย และยังอ่อนด้อยต่อการใช้วิจารณญาณนัก แต่ข้าพเจ้าไม่เคยเสียใจที่ได้ตั้งใจไว้เช่นนี้ และจะไม่ขอถอนคำพูดแม้แต่คำเดียว"
ที่มา :: www.bbc.com/thai/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น