Learn with Prin เรียนรู้ไปพร้อมกับน้องปริญญ์

จำหน่ายผลิตภัณฑ์ Legacy /Reborn Set ลด Fat ตัวช่วยลดไขมัน ลดน้ำหนัก แบบถูกวิธี 🔥 ติดต่อสอบถาม/สั่งซื้อ 📍 โทร ☎️ :: 084-110-5021 🌸 Line ID :: pla-prapasara 🌸 รับโปรโมชั่นสุดพิเศษเฉพาะทาง Line นะคะ 📍

วันพุธที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2565

ปอดบวม (Pneumonia)

 ปอดบวม (Pneumonia) 


ปอดบวม (Pneumonia) เป็นอาการปอดติดเชื้อและเกิดภาวะอักเสบ ทำให้มีอาการ เช่น มีไข้ ไอ เจ็บหน้าอก หรือหอบเหนื่อย เป็นต้น โดยอาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อรา หรือพยาธิ หากเกิดการติดเชื้อจากสารเคมีหรือยาบางอย่าง มักเรียกว่าปอดอักเสบ ทั้งนี้ ปอดบวมหรือปอดอักเสบเกิดได้ในทุกเพศทุกวัย โดยจะพบมากในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง

อาการของปอดบวม

อาการของปอดบวมที่สำคัญ ได้แก่ มีไข้ ไอ เจ็บหน้าอก และหอบเหนื่อย ซึ่งอาการเหล่านี้อาจมีไม่ครบทุกอย่างก็ได้ ส่วนใหญ่มักมีอาการติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนต้น หรือโรคหวัดนำมาก่อน หลังจากนั้นจึงมีอาการไอ และหายใจหอบตามมา โดยเฉพาะที่เกิดจากเชื้อสเตรปโตค็อกคัส นิวโมเนียอี (Streptococcus Pneumoniae) ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เจ็บคอ ปวดท้อง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน รวมอยู่ด้วย

  • ผู้สูงอายุ อาจมีอาการซึม สับสน และไม่มีไข้
  • เด็กทารกหรือเด็กเล็ก อาจมีอาการปวดท้อง ท้องอืด อาเจียน ซึม ร้องกวน ไม่ดูดนม ร่วมด้วย และบางรายอาจมีอาการชักจากไข้ ในเด็กทารกหรือเด็กเล็กที่เป็นมากจะมีอาการหายใจหอบเร็วมาก รูจมูกบาน ซี่โครงบุ๋ม อาจมีอาการตัวเขียว ริมฝีปาก ลิ้น และเล็บเขียว และภาวะขาดน้ำ

ปอดบวม rs

สาเหตุของปอดบวม

โรคปอดบวมสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยส่วนใหญ่จะเกิดจากเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรีย โดยสามารถติดต่อได้จากการหายใจเอาเชื้อที่แพร่กระจายอยู่ในอากาศเข้าไป

ประเภทของโรคปอดบวม หรือปอดอักเสบ สามารถแบ่งได้จากชนิดของเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุ และสถานที่ที่ได้รับการติดเชื้อ ซึ่งสามารถเกิดได้จากสาเหตุหลัก 2 กลุ่ม คือ ปอดบวม ปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อ และที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ โดยทั่วไปจะพบปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อมากกว่า

ปอดบวม หรือปอดอักเสบ สามารถจำแนกได้หลายแบบ ปัจจุบันนิยมจำแนกตามสภาพแวดล้อมที่เกิดปอดบวม ดังนี้

ปอดอักเสบชุมชน (Community-Acquired Pneumonia ) หมายถึง ปอดอักเสบเนื่องจากการติดเชื้อจุลินทรีย์นอกโรงพยาบาล มีสาเหตุของการติดเชื้อที่สำคัญ ดังนี้

  • ติดเชื้อจากแบคทีเรีย โดยส่วนใหญ่ปอดบวมที่มาจากแบคทีเรียจะมาจากเชื้อ สเตรปโตค็อกคัส นิวโมเนียอี
  • ติดเชื้อจากเชื้อรา โดยส่วนมากจะเกิดในผู้ป่วยที่มีสุขภาพร่างกายย่ำแย่ มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรือเป็นโรคเรื้อรังเช่น โรคเบาหวาน โรคไตวาย
  • ติดเชื้อจากไวรัส เป็นสาเหตุที่พบบ่อยในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ แต่จะมีอาการไม่รุนแรงมาก และเชื้อไวรัสบางชนิดที่เป็นสาเหตุของไข้หวัดสามารถทำให้เป็นปอดบวมได้

ปอดอักเสบในโรงพยาบาล (Nosocomial Pneumonia หรือ Hospital-Acquired Pneumonia) หมายถึง ปอดอักเสบที่เกิดขึ้นในผู้ป่วย หลังจากรับไว้รักษาตัวในโรงพยาบาลตั้งแต่ 48 ชั่วโมงขึ้นไป ผู้ป่วยประเภทนี้จะมีอาการที่รุนแรง เพราะป่วยเป็นโรคอื่น ๆ อยู่ก่อนแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีภาวะปอดบวมจากสารพิษหรือสารเคมีด้วย เช่น สูดดมแอมโมเนีย หรือสูดไอกรดเข้าไป เป็นต้น

การวินิจฉัยปอดบวม

แพทย์จะเริ่มต้นวินิจฉัยโดยการซักถามประวัติอาการของผู้ป่วย ตรวจร่างกาย และอาจส่งตรวจเพิ่มเติม ขึ้นอยู่กับอายุและอาการของผู้ป่วย โดยแพทย์อาจแนะนำให้ทำการตรวจวินิจฉัย ดังต่อไปนี้

  • ตรวจเลือด เพื่อหาว่าผู้ป่วยได้รับเชื้อชนิดใดมา ซึ่งวิธีนี้อาจยังระบุได้ไม่แน่ชัด
  • เอกซเรย์หน้าอก วิธีนี้จะช่วยให้แพทย์ระบุตำแหน่งของการติดเชื้อ
  • วัดออกซิเจนในเลือดและชีพจร เพื่อวัดระดับออกซิเจนในกระแสเลือด ซึ่งช่วยให้สามารถบ่งชี้ระดับการทำงานของปอดได้
  • ตรวจเสมหะ ในผู้ป่วยที่มีอาการไอมาก วิธีนี้จะช่วยให้แพทย์วิเคราะห์ และระบุสาเหตุการติดเชื้อได้ โดยการใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องตรวจเสมหะหรือทำการเพาะเชื้อ

นอกจากนั้น แพทย์อาจให้มีการตรวจเพิ่มเติมแล้วแต่ความเหมาะสม เช่น การเอาตัวอย่างของเหลวในปอดไปตรวจ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ที่มีอาการรุนแรง หรือมีสุขภาพร่างกายที่อ่อนแอ

การรักษาปอดบวม

การรักษานั้นต้องดูว่าผู้ป่วยได้รับเชื้อชนิดใด และความรุนแรงของอาการ ซึ่งเป้าหมายในการรักษา คือการฟื้นฟูอาการ และป้องกันภาวะแทรกซ้อนซึ่งจะทำให้อาการของปอดบวมทรุดลงได้

  • การรักษาตามอาการทั่วไป การให้ยาลดไข้ ให้สารน้ำทางหลอดเลือด ให้ออกซิเจน ตามอาการของผู้ป่วย
  • การรักษาปอดบวมที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย การให้ยาปฏิชีวนะ มักใช้ในผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง และไม่มีอาการแทรกซ้อน อาจให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก ด้วยยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน เช่น ยาอะม็อกซี่ซิลลิน เป็นต้น
  • การรักษาปอดบวมที่เกิดจากเชื้อไวรัส โดยส่วนใหญ่โรคปอดบวมจากเชื้อไวรัสมักหายได้เองภายใน 1-3 สัปดาห์ แต่หากอาการไม่ดีขึ้น อาจมีอาการรุนแรงหรือรุนแรงมาก เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดและได้รับการรักษาตัวในโรงพยาบาล

ภาวะแทรกซ้อนของปอดบวม

ภาวะแทรกซ้อนของปอดบวมโดยส่วนใหญ่จะเกิดในกลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือผู้ที่มีสภาพร่างกายอ่อนแอ ซึ่งผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้ ดังนี้

  • ฝีในปอด ส่วนใหญ่ฝีจะเกิดจากการติดเชื้ออย่างรุนแรง โดยมีการทำลายเนื้อปอดจนเกิดเป็นโพรงขึ้น ซึ่งการรักษาจะใช้ยาปฏิชีวนะร่วมไปกับการระบายหนองออกจากปอด
  • เชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด เกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย จนเชื้ออาจแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดและแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อหุ้มสมอง เยื่อบุหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ และมีอาการข้ออักเสบ
  • มีการสะสมของของเหลวรอบปอด ปอดบวมอาจทำให้เกิดของเหลวที่ก่อตัวขึ้นบริเวณระหว่างชั้นของเนื้อเยื่อปอดและช่องอก หรือที่เรียกว่าน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด
  • หายใจลำบาก หากเป็นปอดบวมขั้นรุนแรง หรือขั้นเรื้อรัง ก็อาจทำให้มีปัญหาเรื่องการหายใจ เนื่องจากออกซิเจนไม่เพียงพอจนทำให้หายใจลำบาก ซึ่งอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
  • หลอดลมพอง (Bronchiectasis) ทำให้เกิดอาการไอเรื้อรัง และมีเสมหะจำนวนมาก

การป้องกันปอดบวม

การป้องกันโรคปอดบวมทำได้ง่าย เพียงดูแลตัวสุขภาพอนามัยของตัวเองอย่างเหมาะสม ซึ่งมีวิธีป้องกันขั้นต้น ดังนี้  

การป้องกันสำหรับผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อ

  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัด
  • หลีกเลี่ยงควันไฟ หรือควันบุหรี่
  • ดูแลให้ความอบอุ่นร่างกายอยู่เสมอ โดยใส่เสื้อผ้าหนา ๆ ในเวลาที่อากาศเย็น
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ให้ครบ 5 หมู่ และเพียงพอ

นอกจากปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต แพทย์อาจแนะนำให้กลุ่มเสี่ยงต่อไปนี้ รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคปอดบวม

  • เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี
  • ผู้สูงวัยที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป
  • ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น
  • ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคเบาหวาน โรคหัวใจวาย โรคตับแข็ง เป็นต้น
  • ผู้ที่สูบบุหรี่ติดต่อกันมาเป็นเวลานาน
  • ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากเป็นประจำ
  • ผู้ที่ผ่าตัดม้าม

การป้องกันอาการกำเริบของผู้ป่วย

  • ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัด และควรสวมหน้ากากอนามัย เพื่อไม่ให้มีการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น
  • ควรอยู่ในสถานที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก
  • ควรหมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ
  • ดูแลรักษาตามอาการ เช่น หากมีไข้สูงควรเช็ดตัว รับประทานยาลดไข้ และดื่มน้ำมาก ๆ

 



ที่มา    ::      www.pobpad.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น