พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ขึ้นครองราชย์เป็นประมุขแห่งสหราชอาณาจักร อย่างเป็นทางการ
พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นประมุขแห่งสหราชอาณาจักร อย่างเป็นทางการ แล้ว
วันที่ 10 กันยายน 2565 บีบีซีรายงานว่า พิธีประกาศการขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักรเริ่มต้นขึ้นแล้ว หลังเสร็จสิ้นการประชุมสภาการขึ้นครองราชย์
โดย “เพนนี มอร์ดันท์” ประธานรัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักร ได้ประกาศการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 อย่างเป็นทางการ จากนั้นจึงประกาศว่า เจ้าชายชาร์ลส์ ฟิลิป อาร์เธอร์ จอร์จ ทรงขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ณ บัดนี้
https://youtu.be/Mbhei0qO_Pgเจ้าชายวิลเลียม เจ้าชายแห่งเวลส์ เป็นผู้ลงพระนามรับรองคำประกาศดังกล่าว โดยมี “ลิซ ทรัสส์” นายกรัฐมนตรีอังกฤษ และอาร์ชบิชอป จัสติน เวลบี เป็นพยาน ถือเป็นการเสร็จสิ้นพิธีการในขั้นแรก
ก่อนดำเนินพิธีการต่อไป ที่รวมถึงการประกาศการขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์พระองค์ใหม่อย่างเป็นทางการ พร้อมด้วยการยิงสลุตทั้งที่ไฮด์ปาร์ก และทาวเวอร์ออฟลอนดอน
ต่อมาพิธีการได้ย้ายไปที่ท้องพระโรง โดยพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงประกาศการสวรรคตของพระราชมารดาผู้เป็นที่รักของพระองค์
“สำหรับเราทุกคนในฐานะครอบครัว และในอาณาจักรนี้ และประเทศในเครือ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรนี้ มารดาของของข้าพเจ้าได้ทำงานรับใช้มาตลอดพระชนม์ชีพด้วยความรักและปราศจากความเห็นแก่ตัว ในรัชสมัยของพระองค์ ข้าพเจ้าไม่สามารถหาสิ่งใดเทียบได้ ทั้งในความเสียสละและการอุทิศพระวรกาย แม้แต่ในขณะที่เราโศกเศร้า เราขอขอบคุณชีวิตที่เต็มไปด้วยความศรัทธา”
พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ตรัสอีกว่า ข้าพเจ้าตระหนักดีถึงการสืบทอดมรดกหน้าที่และความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ขององค์ประมุขที่่บัดนี้ตกทอดมาถึงข้าพเจ้า พร้อมกันนี้พระองค์ได้ตรัสยกย่องสมเด็จพระราชินีคามิลลา
จากนั้นได้ทรงให้สัตย์ปฏิญาณต่อเชิร์ชออฟสกอตแลนด์ในการธำรงไว้ซึ่งศาสนจักร ก่อนที่พระองค์จะทรงลงพระนามในคำปฏิญาน โดยมีองคมนตรีเป็นพยาน ตามด้วยเจ้าชายวิลเลียม และสมเด็จพระราชินีคามิลลา
ต่อมามอร์ดันท์ อ่านร่างเนื้อหาของคำประกาศที่จะมีผลบังคับใช้ เพื่อพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงมีพระราชานุมัติทีละข้อ
หัวหน้าผู้ดูแลตราราชวงศ์ เป็นผู้ประกาศการขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ที่สีหบัญชร โดยประกาศว่า “God save the King” ตามด้วยการประโคมเสียงแตรขานรับ ตามด้วยการบรรเลงเพลงชาติ ก่อนที่หัวหน้าผู้ดูแลตราราชวงศ์จะประกาศให้ส่งเสียงถวายพระพรชัย 3 ครั้ง โดยมีกองทหารรักษาพระองค์ส่งเสียงร้องฮูเร่ พร้อมถอดหมวกขานรับ
ตลอดพิธีการ มีการอนุญาตให้ประชาชนส่วนหนึ่งเข้ามาร่วมเป็นสักขีพยานที่บริเวณลานฟรีอาร์ส คอร์ท
เมื่อพิธีการที่พระราชวังเซนต์เจมส์เสร็จสิ้นลง ขบวนรถของคณะผู้ประกาศได้เคลื่อนขบวนเพื่อไปประกาศการเถลิงถวัลยราชสมบัติของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ตามสถานที่สำคัญต่าง ๆ ในกรุงลอนดอน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับพระราชพิธีทางการที่เป็นสัญลักษณ์อันสูงสุดของการขึ้นครองราชย์ นั่นก็คือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จะต้องใช้เวลาจัดเตรียมงานระยะหนึ่งหลังกษัตริย์พระองค์ใหม่เริ่มการสืบทอดราชบัลลังก์ เช่นในกรณีของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองนั้น พระราชพิธีบรมราชาภิเษกมีขึ้นหลังทรงครองราชย์ได้ถึง 1 ปีเต็ม
ในประวัติศาสตร์ 900 ปีที่ผ่านมา พระราชพิธีบรมราชาภิเษกจัดขึ้นที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ทุกครั้ง โดยพระเจ้าวิลเลียมผู้พิชิต (William the Conqueror) เป็นกษัตริย์อังกฤษพระองค์แรกที่ทรงประกอบพิธีราชาภิเษกที่นั่น และกษัตริย์ชาร์ลส์ที่สามจะนับเป็นองค์ที่ 40 ในครั้งนี้
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะมีขึ้นตามแนวทางของศาสนจักรอังกฤษ และประกอบพิธีโดยอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี ผู้นำนิกายแองกลิกัน จุดสำคัญของพิธีดังกล่าวอยู่ที่การสวมพระมหามงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด ซึ่งทำขึ้นตั้งแต่ปี 1661 ด้วยทองคำล้วนหนัก 2.23 กิโลกรัม ลงบนพระเศียรของกษัตริย์พระองค์ใหม่ รวมทั้งการเจิมน้ำมันหอม การรับคทาและลูกโลกประดับกางเขนจากอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี
https://youtu.be/_MAc2_g4-e4
ที่มา :: www.prachachat.net
"ข้าพเจ้ารู้ดีว่าคนทั้งประเทศรู้สึกเสียใจมากเพียงใด และขอบคุณกับความเห็นอกเห็นใจที่มีต่อข้าพเจ้าในความสูญเสียที่ทุกคนมิอาจหลีกเลี่ยง"
ตอบลบ"การได้รับรู้ถึงความเห็นอกเห็นใจที่หลายคนมอบให้กับน้องสาวและน้องชายของข้าพเจ้า ถือเป็นการปลอบใจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับข้าพเจ้า ที่ความรักและการสนับสนุนอย่างท่วมท้นได้แผ่ขยายไปถึงทั้งครอบครัวของข้าพเจ้า ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้สูญเสียด้วยกันทั้งหมด"
"สำหรับพวกเราทุกคนในฐานะครอบครัว สำหรับอาณาจักรนี้และครอบครัวของประชาชาติในวงกว้าง พระมารดาของข้าพเจ้าได้แสดงพระองค์เป็นแบบอย่างการมอบความรักชั่วชีวิตและการรับใช้อย่างไม่เห็นแก่ตัว"
"ข้าพเจ้าตระหนักดีถึงมรดกอันยิ่งใหญ่ รวมถึงหน้าที่และความรับผิดชอบอันหนักอึ้งของอำนาจอธิปไตยซึ่งบัดนี้ได้ส่งผ่านมาถึงข้าพเจ้าแล้ว"
"ในการรับผิดชอบสิ่งเหล่านี้ ข้าพเจ้าจะพยายามปฏิบัติตัวตามแบบอย่างของการสร้างแรงบันดาลใจซึ่งข้าพเจ้าได้ประสบมา เพื่อสนับสนุนการปกครองตามรัฐธรรมนูญ และนำพาซึ่งความสงบ, ความสามัคคี และความเจริญรุ่งเรืองของผู้คนในดินแดนนี้ ตลอดจนอาณาจักรและดินแดนในเครือจักรภพทั่วโลก"
"เพื่อจุดประสงค์นี้ ข้าพเจ้ารู้ว่าข้าพเจ้าจะได้รับการสนับสนุนด้วยความรักและความภักดีของประชาชาติซึ่งข้าพเจ้าได้รับการประกาศให้เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด และในการปฏิบัติหน้าที่เหล่านั้น ข้าพเจ้าจะได้รับคำแนะนำจากที่ปรึกษาของรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน"
"ข้าพเจ้าถือโอกาสนี้ยืนยันความเต็มใจและความตั้งใจที่จะสานต่อประเพณีการมอบรายรับที่สืบเชื้อสายมา รวมทั้งทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ให้แก่รัฐบาลเพื่อประโยชน์ของทุกคน เพื่อแลกกับทุนอธิปไตยซึ่งสนับสนุนหน้าที่ราชการของข้าพเจ้าในฐานะหัวหน้า รัฐและประมุขของประเทศ"
"และในการปฏิบัติหน้าที่อันหนักอึ้งที่มอบหมายให้ข้าพเจ้า บัดนี้ข้าพเจ้าอุทิศชีวิตที่เหลือ เพื่อสวดอ้อนวอนขอการนำทางและความช่วยเหลือจากพระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพ".
พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ย้ำพระราชปณิธานตามรอย ‘ควีน’ รับใช้ประชาชน ตั้ง ‘วิลเลียม’ เป็นเจ้าชายแห่งเวลส์
ตอบลบสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงมีพระราชดำรัสแรกต่อพสกนิกรชาวอังกฤษ หลังเสด็จฯ ขึ้นครองราชย์เป็นประมุขพระองค์ใหม่เมื่อวานนี้ (9 ก.ย.) โดยทรงย้ำพระราชปณิธานเดินตามรอยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พระราชมารดา ในการ “ทรงงานตลอดชีวิต” พร้อมทรงประกาศแต่งตั้งเจ้าชายวิลเลียม พระราชโอรสองค์ใหญ่ ขึ้นเป็น “เจ้าชายแห่งเวลส์” (Prince of Wales)
สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีคามิลลา ได้เสด็จฯ กลับไปยังพระราชวังบักกิงแฮมในกรุงลอนดอนเมื่อวานนี้ (9) โดยมีประชาชนจำนวนมากเฝ้ารอรับเสด็จฯ พร้อมกับปรบมือและเปล่งเสียงถวายพระพรดังกึกก้อง “God Save The King”
สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษ เสด็จฯ สวรรคตเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 ก.ย. ณ ปราสาทบัลมอรัลในสกอตแลนด์ ขณะมีพระชนมายุได้ 96 พรรษา ท่ามกลางความโศกเศร้าอาลัยของพสกนิกรชาวอังกฤษและผู้คนทั่วโลก
ในพระราชราชดำรัสซึ่งถ่ายทอดผ่านสื่อโทรทัศน์แห่งชาติอังกฤษเมื่อเวลา 18.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ในวัย 73 พรรษา ทรงเริ่มด้วยการตรัสยกย่องการทรงงานของพระราชมารดาตลอดระยะเวลา 70 ปีรัชสมัย และทรงขอบพระทัย “แม่ที่รัก” สำหรับความรักและการอุทิศพระองค์เพื่อราชวงศ์และประเทศชาติมาโดยตลอด
“ข้าพเจ้ากล่าวกับท่านทั้งหลายในวันนี้ด้วยความรู้สึกเศร้าสลดใจอย่างยิ่ง ตลอดชีวิตของพระองค์ สมเด็จพระราชินีนาถ – มารดาที่รักของข้าพเจ้า – ทรงเป็นแรงบันดาลใจและเป็นแบบอย่างให้ข้าพเจ้าและสมาชิกในครอบครัวทุกคน และเราทุกคนต่างก็ติดค้างพระองค์เช่นเดียวกับที่ครอบครัวอื่นๆ ติดค้างมารดาของพวกเขา ที่ได้มอบความรัก ความเมตตา การชี้นำ ความเข้าใจ และการเป็นแบบอย่าง
“ในปี 1947 ในวันคล้ายวันพระราชสมภพปีที่ 21 พระองค์ได้ทรงให้คำมั่นผ่านการถ่ายทอดสดจากเมืองเคปทาวน์ไปยังเครือจักรภพว่าจะทรงอุทิศชีวิต ไม่ว่าจะสั้นหรือยาวนานเพียงใด เพื่อรับใช้ประชาชนของพระองค์
“สิ่งนั้นเป็นมากกว่าคำสัญญา หากแต่เป็นการตั้งปณิธานต่อตนเองอย่างแน่วแน่ ซึ่งได้กลายเป็นคำนิยามทั้งชีวิตของพระองค์
“ความทุ่มเทและอุทิศพระวรกายในฐานะประมุขของชาติไม่เคยสั่นคลอน ไม่ว่าจะผ่านช่วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้า ช่วงเวลาแห่งความสุขและการเฉลิมฉลอง และช่วงเวลาแห่งความโศกเศร้าและการสูญเสีย
“ไม่ว่าท่านจะอาศัยอยู่ที่ใดในสหราชอาณาจักร หรือประเทศและดินแดนทั่วโลก และไม่ว่าท่านจะมีพื้นเพหรือความเชื่อแบบใดก็ตาม ข้าพเจ้าจะขอมุ่งมั่นทำงานรับใช้ท่านด้วยความซื่อสัตย์ ความเคารพ และความรัก ดังที่ข้าพเจ้าได้กระทำมาตลอดทั้งชีวิต”
พระองค์ได้ตรัสกับนายกรัฐมนตรี ลิซ ทรัสส์ ก่อนหน้านี้ว่า การสวรรคตของพระราชมารดา ซึ่งทำให้พระองค์กลายเป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่แห่งสหราชอาณาจักรและอีก 14 ชาติในเครือจักรภพ รวมถึงออสเตรเลีย แคนาดา จาเมกา นิวซีแลนด์ และปาปัวนิวกินี “เป็นสิ่งที่ข้าพเจ้ากลัวมาโดยตลอด”
ตอบลบสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ยังทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับ คามิลลา ซึ่งเวลานี้ทรงเป็นสมเด็จพระราชินี (Queen Consort) โดยทรงยกย่องพระราชชายาที่ได้ปฏิบัติภารกิจรับใช้ประชาชนด้วยความสัตย์ซื่อตลอด 17 ปีภายหลังการอภิเษกสมรส และทรงเชื่อมั่นว่าพระนาง “จะปฏิบัติหน้าที่ในบทบาทใหม่ด้วยความทุ่มเทอุทิศตน ซึ่งเป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าต้องพึ่งพาอย่างมาก”
พระองค์ยังได้ประกาศสถาปนาเจ้าชายวิลเลียมขึ้นเป็น “เจ้าชายแห่งเวลส์” และ “ดยุคแห่งคอร์นวอลล์” ซึ่งเป็นบรรดาศักดิ์โดยธรรมเนียมสำหรับองค์รัชทายาทลำดับที่ 1 และทรงมอบหมายให้พระราชโอรสองค์ใหญ่สืบทอดความรับผิดชอบต่อ “ดัชชีแห่งคอร์นวอลล์” (Duchy of Cornwall) ซึ่งเป็นอาณาจักรพระราชทรัพย์ที่ทรงครอบครองมาหลายสิบปี ขณะที่ดัชเชสแคทเธอรีน พระชายาในเจ้าชายวิลเลียม ได้ขึ้นเป็น “เจ้าหญิงแห่งเวลส์” อันเป็นตำแหน่งเดิมของ “เจ้าหญิงไดอาน่า”
“โดยการมีแคทเธอรีนอยู่เคียงข้าง ข้าพเจ้าเชื่อแน่ว่าเจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์พระองค์ใหม่จะเป็นแรงบันดาลใจและจุดประกายการหารือระดับชาติ เพื่อนำปัญหาชายขอบที่ไม่มีใครสนใจให้ขึ้นมาอยู่ตรงกลาง เพื่อมอบความช่วยเหลือที่สำคัญให้”
พระองค์ยังตรัสแสดง “ความรัก” ต่อเจ้าชายแฮร์รี พระราชโอรสพระองค์เล็ก และ “เมแกน มาร์เคิล” พระสุณิสา ซึ่งได้สละบทบาทความเป็นสมาชิกราชวงศ์ชั้นสูงไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว จนนำมาซึ่งความบาดหมางร้าวลึกภายในครอบครัวของพระองค์ และจุดชนวนวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่สำหรับสถาบันกษัตริย์อังกฤษ
สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงสรุปในตอนท้ายด้วยการตรัสถึงพระราชมารดาว่า “ถึงมารดาที่รักของข้าพเจ้า ในขณะที่ท่านเริ่มต้นการเดินทางอันยิ่งใหญ่เพื่อไปพบกับพ่อที่รักของข้าพเจ้าซึ่งได้จากไปก่อนแล้ว ข้าพเจ้าขอพูดแค่เพียงว่า ขอบคุณ... ขอบคุณสำหรับความรักและความทุ่มเทที่ท่านมีต่อครอบครัวของเรา และครอบครัวของชาติที่ท่านได้อุทิศตนรับใช้ด้วยความอุตสาหะตลอดหลายปีมานี้ ขอให้บรรดาทูตสวรรค์ช่วยขับกล่อมเสียงเพลงเพื่อให้ท่านได้หลับพักผ่อน”
สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะทรงรับการกราบบังคมทูลเชิญขึ้นเป็นกษัตริย์อย่างเป็นทางการ ภายหลังการประชุมของสภาการขึ้นครองราชย์ (Accession Council) ซึ่งจะจัดขึ้นที่พระราชวังเซนต์เจมส์ในเวลา 11.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นวันนี้ (10 ก.ย.) โดยมีสมเด็จพระราชินีคามิลลา และเจ้าชายวิลเลียม เจ้าชายแห่งเวลส์พระองค์ใหม่ เข้าร่วมในพิธี และจะมีการเชิญธงชาติขึ้นสู่ยอดเสาอีกครั้งระหว่างที่การเสด็จฯ ขึ้นครองราชย์ถูกประกาศอย่างเป็นทางการทั่วทุกดินแดนในสหราชอาณาจักรจนถึงวันอาทิตย์ (11) ก่อนจะลดระดับลงครึ่งเสาอีกครั้ง เพื่อไว้อาลัยต่อการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถ
ที่มา : รอยเตอร์, BBC