เปิดประวัติ “ลิซ ทรัสส์” นายกฯคนใหม่สหราชอาณาจักร
เปิดประวัติ “ลิซ ทรัสส์” นายกฯคนใหม่สหราชอาณาจักร
https://youtu.be/L5oaUvRr_E0https://youtu.be/5F1svQlq8ys
นางเอลิซาเบท ทรัสส์ (H.E. Mrs. Elizabeth Truss) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีเนื่องในโอกาสเยือนประเทศไทย ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 10 พฤศจิกายน 2564
https://youtu.be/FXoDxIv_c04เปิดประวัติ หญิงแกร่ง ‘ลิซ ทรัสส์’ ตัวเต็งเบอร์หนึ่ง ว่าที่หัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมและนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนใหม่ ซึ่งผลโหวตวันนี้ ไม่พลิกโผ ในวันนี้ เธอก้าวขึ้นสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีหญิงคนที่สามของประเทศอังกฤษได้สำเร็จ
ย้อนไปเมื่อช่วงกลางเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา พรรคอนุรักษนิยมของอังกฤษได้ลงคะแนนเลือกผู้สมัคร 2 คนสุดท้ายที่จะเข้าสู่การแข่งขันชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค 2 คนที่ว่านั้นก็คือ นายริชี ซูแนค อดีตรัฐมนตรีคลังอังกฤษ ซึ่งขณะนั้นยังเป็นตัวเต็งเบอร์ 1 ได้คะแนนเสียงสูงสุด 137 คะแนน จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคอนุรักษ์นิยมจำนวน 358 คนที่เป็นผู้ลงคะแนน ขณะที่นางลิซ ทรัสส์ รัฐมนตรีต่างประเทศคนปัจจุบันตามมาด้วยคะแนน 113 คะแนน
แต่ต่อมา เกมเริ่มพลิก หลังจากที่ทั้งสองคนเริ่มการรณรงค์หาเสียงเพื่อเรียกคะแนนจากบรรดาสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมทั่วประเทศจำนวนราว 200,000 คน เริ่มเห็นแววว่าเทพีแห่งโชคและชัยชนะกำลังมาอยู่ฝั่งของทรัสส์ สาเหตุหลักๆ ก็คือ สมาชิกพรรคฝ่ายฝักใฝ่ขั้วการเมืองแบบอนุรักษนิยม นับตั้งแต่นายเดวิด คาเมรอน นางเทเรซา เมย์ รวมทั้งนายบอริส จอห์นสัน มีท่าทีไม่ปลื้มหากนายกรัฐมนตรีคนต่อไปจะมีเชื้อชาติอื่นที่ไม่ใช่อังกฤษ ทำให้คะแนนความนิยมของ นายซูแนค ที่มีเชื้อสายอินเดีย ลดลงชัดเจน และแสงไฟก็สาดส่องมาที่นางลิซ ทรัสส์ แทน
YouGov ซึ่งเป็นบริษัทฯ ที่ทำการสำรวจความคิดเห็นผ่านระบบออนไลน์ ได้ทำการสำรวจเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ก็พบว่า นายซูแนค อาจจะต้องพ่ายแพ้ต่อนางทรัสส์ แม้ว่าเขาจะมีคะแนนนำเป็นอันดับ 1 ในการลงคะแนนทุกรอบของ ส.ส. พรรคอนุรักษนิยมก็ตาม
YouGov เผยว่า จากการสำรวจสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมทั่วอังกฤษ พบว่า นางทรัสส์จะได้รับคะแนนเหนือกว่านายซูแนค 54 ต่อ 35
อย่างไรก็ตาม เหตุผลไม่เกี่ยวกับเชื้อชาติของเขา แต่เป็นเพราะที่ผ่านมา นายซูแนค มีความเห็นคัดค้านการปรับลดอัตราภาษี โดยเขามองว่า ภารกิจสำคัญของรัฐบาลคือการสกัดการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ นอกจากนี้ ซูแนคยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ผลงานระหว่างที่ครองตำแหน่งรัฐมนตรีคลังภายใต้การนำของนายกฯ บอริส จอห์นสันด้วย อีกทั้งประชาชนส่วนหนึ่ง ยังมีความไม่พอใจที่นายซูแนค เป็นผู้หนึ่งที่ไปเข้าร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ที่บ้านพักนายกรัฐมนตรี (บอริส จอห์นสัน) ขณะที่อังกฤษยังคงมีการประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19
การประกาศรายชื่อผู้ชนะการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยม ที่จะมีขึ้นในวันนี้ (5 ก.ย.นี้ ) ผู้ชนะนอกจากจะได้เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่แล้ว ยังจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนใหม่ด้วย เนื่องจากพรรคอนุรักษนิยมครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร
เปิดประวัติหญิงแกร่ง นายกฯคนใหม่ของอังกฤษ
นางลิซ ทรัสส์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของอังกฤษมาตั้งแต่ปี 2021 โดยก่อนหน้านั้น เธอดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสตรีและความเท่าเทียมในปี 2019 เธอเป็นสมาชิกสภาจากนอร์โฟล์คตะวันตกเฉียงใต้มาตั้งแต่ปี 2010 และเคยร่วมงานคณะรัฐบาลมาตั้งแต่ยุคการบริหารประเทศของนายเดวิด คาเมรอน นางเทเรซา เมย์ และนายบอริส จอห์นสัน
ผู้หญิงเก่งและแกร่งมากด้วยความสามารถคนนี้ เธอไม่ธรรมดา จบการศึกษาจากวิทยาลัยเมอร์ตัน ในออกซ์ฟอร์ด สมัยเรียนเธอเคยเป็นประธานของพรรคเสรีประชาธิปไตยของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เมื่อจบการศึกษาในปี 1996 เธอก็เข้าร่วมกับพรรคอนุรักษนิยม และในเวลาเดียวกันก็ทำงานประจำที่บริษัทเชลล์ เคเบิล แอนด์ ไวร์เลส ในตำแหน่งรองผู้อำนวยการฝ่ายปรับโครงสร้างใหม่ของบริษัท
ลิซ ทรัสส์ ชนะการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2010 ทำให้เธอกลายเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหน้าใหม่ แต่เธอก็ได้แสดงศักยภาพและมีบทบาทในการปฏิรูประบบสุขอนามัยเด็ก การศึกษาคณิตศาสตร์ รวมทั้งการปฏิรูปเศรษฐกิจ เธอก่อตั้งกลุ่ม สส. อิสระ ของพรรคอนุรักษนิยม และได้เขียนหนังสือออกมาหลายเล่ม อาทิ After the Coalition (2011) และ Britannia Unchained (2012)
เธอขยับขึ้นเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขเยาวชนและการศึกษา ในปี 2012-2014 จากนั้นก็เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมในสมัยของนายเดวิด คาเมรอน เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีการปรับเก้าอี้รัฐมนตรีในปี 2014
ในช่วงที่มีการถกประเด็นการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (อียู) หรือที่เรียกว่า ‘เบร็กซิท’ (Brexit) นั้น ตอนแรกเธอแสดงจุดยืนสนับสนุนกลุ่ม ‘บริเทน สตรองเกอร์’ ที่เห็นว่าอังกฤษควรจะอยู่ในอียูต่อไป ต่อเมื่อผลการโหวต(ประชามติ) ออกมาว่า ชาวอังกฤษต้องการจะเลือกแยกตัวออกจากอียู เธอก็ไม่ได้ต่อต้านแต่อย่างใด
หลังนายคาเมรอน ประกาศลาออกในปี 2016 และนางเทเรซา เมย์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ทรัสส์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งนับเป็นสตรีรายแรกที่ได้รับตำแหน่งนี้ของอังกฤษในรอบหนึ่งพันปี ต่อมาในปี 2017 เธอได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีคลังจนกระทั่งถึงเดือน ก.ค. 2019
หลังจากที่นางเทเรซา เมย์ ประกาศลาออกในปี 2019 ทรัสส์สนับสนุนให้นายบอริส จอห์นสันขึ้นมาเป็นผู้นำพรรคอนุรักษนิยม และเขาก็แต่งตั้งให้เธอเป็นรัฐมนตรีพาณิชย์ ก่อนจะย้ายมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศแทนนายโดมินิก ร้าบ ในปี 2021 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ เธอยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะผู้เจรจาในเวทียุโรป-สหราชอาณาจักร อีกด้วย
เปิดชีวิตส่วนตัว
ลิซ ทรัสส์ เธอเกิดเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ปี 1975 (พ.ศ. 2518) ปัจจุบันอายุ 47 ปี เธอสมรสแล้วกับนายฮิวจ์ โอเลียรี และมีบุตร 2 คน
..
ในวันนี้ ชื่อของ “ลิซ ทรัสส์” รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ ก้าวขึ้นเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษตามคาด หลังประสบชัยชนะในการแข่งขันชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมของอังกฤษ
ผลการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมอังกฤษคนใหม่จากการลงคะแนนภายในพรรค วันนี้ (5 ก.ย.) ปรากฏว่า นางลิซ ทรัสส์ รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ เอาชนะนายริชี ซูแนค อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ด้วยคะแนน 81,326 เสียง ต่อ 60,399 เสียง ทั้งนี้ ผู้ชนะการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษ ต่อจากนายบอริส จอห์นสัน ที่ประกาศลาออกจากตำแหน่งเมื่อเดือน ก.ค. แต่ต้องรอให้นายจอห์นสันยื่นหนังสือลาออกต่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ก่อน จากนั้น ควีนจะทรงประกาศแต่งตั้งนางทรัสส์เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่อย่างเป็นทางการ
การชนะการเลือกตั้งดังกล่าวทำให้นางทรัสส์กลายเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 3 ของอังกฤษ และเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 4 ของอังกฤษในรอบ 6 ปี
นางทรัสส์ จะเป็นนายกรัฐมนตรีจนกว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือน ม.ค. 2568 แต่คาดว่านางทรัสส์จะมีความยินดีต่อชัยชนะได้ไม่นาน ก่อนที่จะกลับสู่ความเป็นจริงในการเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของอังกฤษ
จับตากระแสโลก
ซิตี้กรุ๊ป ออกรายงานเตือนว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของอังกฤษจะพุ่งทะลุ 18% ในเดือนม.ค.2566 โดยได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานที่พุ่งขึ้น
ธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) ระบุว่า เศรษฐกิจอังกฤษจะเผชิญภาวะถดถอยยาวนานกว่า 1 ปี โดยจะเข้าสู่ภาวะถดถอยตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2565 จนถึงสิ้นปี 2566
ขณะที่ บีโออี คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจอังกฤษจะเผชิญภาวะถดถอยนานถึง 5 ไตรมาส ซึ่งเป็นช่วงเวลายาวนานที่สุดนับตั้งแต่ที่เศรษฐกิจโลกเผชิญวิกฤตการเงิน โดยรายได้ในภาคครัวเรือนของอังกฤษจะทรุดตัวลงอย่างหนักในปี 2565-2566 ขณะที่การบริโภคเริ่มหดตัว
นอกจากนี้ หลายฝ่ายกังวลต่อสถานะทางการคลังของอังกฤษ เนื่องจากนางทรัสส์มีนโยบายปรับลดอัตราภาษี รวมทั้งออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือภาคครัวเรือนของอังกฤษ
ที่มา :: www.nationtv.tv/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น