กรดไหลย้อน
กรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease: GERD) เป็นภาวะที่กรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะไหลย้อนกลับมาในหลอดอาหาร จนทำให้เกิดการอักเสบของหลอดอาหาร โดยผู้ป่วยจะรู้สึกแสบร้อนกลางอก เรอเปรี้ยว และคลื่นไส้
สาเหตุสำคัญหนึ่งมาจากพฤติกรรมการกินอาหารที่ไม่ถูกต้องและการใช้ชีวิตที่เร่งรีบในสภาพสังคมปัจจุบัน หากปล่อยให้เกิดอาการเรื้อรังและรักษาด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง อาจนำไปสู่การเกิดหลอดอาหารอักเสบ แผลที่หลอดอาหาร หรือหลอดอาหารตีบ ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งหลอดอาหารได้ แม้โอกาสเกิดจะไม่มากนักก็ตาม
อาการของกรดไหลย้อน
ผู้ที่มีภาวะกรดไหลย้อนจะรู้สึกจุกเสียดบริเวณใต้ลิ้นปี่ ปวดแสบปวดร้อนบริเวณอกบ่อยครั้ง มีอาการจุกเสียดแน่นคล้ายอาหารไม่ย่อย เรอบ่อย คลื่นไส้ อาจมีน้ำรสเปรี้ยวหรือขมไหลย้อนขึ้นมาในปากและคอ ไปจนถึงกลืนอาหารได้ลำบาก
ในบางรายที่เป็นเรื้อรังอาจพบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ไอเรื้อรัง รู้สึกระคายเคืองคอตลอดเวลา เสียงแหบแห้ง หรือฟันผุ
สาเหตุของกรดไหลย้อน
กรดไหลย้อนเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของกล้ามเนื้อหูรูดบริเวณส่วนปลายของหลอดอาหาร (Lower Esophageal Sphincter: LES) ทำให้กรดหรือน้ำย่อยภายในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นมาบริเวณหลอดอาหารจนสร้างความระคายเคืองกับผนังของหลอดอาหาร
นอกจากนี้ พฤติกรรมในชีวิตประจำวันหรือโรคบางชนิดมีส่วนกระตุ้นการทำงานของหลอดอาหารให้เกิดความผิดปกติได้ หรือทำให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดในปริมาณมากขึ้น เช่น
- เข้านอนหลังรับประทานอาหารทันที
- สูบบุหรี่
- ดื่มน้ำอัดลมหรือแอลกอฮอล์
- รับประทานอาหารปริมาณมากภายในมื้อเดียว
- เป็นโรคอ้วน
- อยู่ในช่วงตั้งครรภ์
โดยพฤติกรรมเหล่านี้ล้วนส่งผลให้เกิดภาวะกรดไหลย้อนได้ง่ายขึ้นเช่นกัน
การวินิจฉัยอาการกรดไหลย้อน
แพทย์จะวินิจฉัยภาวะกรดไหลย้อนในกรณีทั่วไปจากการชักประวัติและอาการของผู้ป่วยเป็นหลัก ทั้งนี้แพทย์อาจพิจารณาการตรวจพิเศษด้านอื่นเพิ่มเติมหากไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดหรืออาการไม่ชัดเจน เช่น การส่องกล้องทางเดินอาหาร การตรวจการเคลื่อนไหวของหลอดอาหาร การตรวจระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น
การรักษาอาการกรดไหลย้อน
การปรับพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตอาจช่วยบรรเทาอาการให้ดีขึ้นได้ เช่น รับประทานอาหารในปริมาณที่พอดี ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่ควรเข้านอนทันทีหลังรับประทานอาหาร ฯลฯ
ในบางรายอาจรักษาด้วยการให้รับประทานยาในกลุ่มยับยั้งการหลั่งกรด ยาลดภาวะกรดเกินในกระเพาะอาหาร ยาช่วยเสริมประสิทธิภาพของยาลดกรด ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง จุก เสียด แน่น อาหารไม่ย่อย แสบร้อนกลางอก โดยตัวอย่างยาที่แพทย์สั่งจ่ายเพื่อช่วยลดกรดเกินในกระเพาะอาหาร เช่น
- อะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ (Aluminum Hydroxide) และแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ (Magnesium Hydroxide) ที่มีฤทธิ์เป็นด่างช่วยลดกรดเกินในกระเพาะอาหาร
- ยาไซเมทิโคน (Simethicone) ที่มีคุณสมบัติช่วยขับลม ลดอาการจุกเสียด และแน่นท้อง
ยาบรรเทาอาการกรดไหลย้อนมีหลายรูปแบบ ทั้งรูปแบบยาน้ำแขวนตะกอนที่ควรเขย่าขวดยาให้ดีก่อนใช้เสมอเพื่อให้ยากระจายตัว และยาเม็ด ส่วนใหญ่มักใช้หลังรับประทานอาหารไม่เกิน 1–2 ชั่วโมง ผู้ใช้ควรใช้ยาตามที่แพทย์และเภสัชกรแนะนำอย่างเคร่งครัดเพื่อช่วยให้ยาออกฤทธิ์บรรเทาอาการได้อย่างเต็มที่
นอกจากนี้ แพทย์อาจสั่งจ่ายยาเพิ่มการเคลื่อนตัวของระบบทางเดินอาหารเพื่อช่วยเพิ่มการบีบตัวของลำไส้มากขึ้น แต่หากอาการยังไม่ดีขึ้น การผ่าตัดซ่อมแซมกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหาร อาจเป็นอีกทางเลือกของผู้ป่วยในการป้องกันไม่ให้กรดไหลย้อนกลับขึ้นไปด้านบนอย่างผิดปกติ
ภาวะแทรกซ้อนของกรดไหลย้อน
ภาวะกรดไหลย้อนมักส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เนื่องจากฤทธิ์ของกรดได้สร้างความระคายเคืองแก่หลอดอาหารไปถึงอวัยวะบริเวณทางเดินหายใจ ทำให้กลืนอาหารได้ลำบาก รู้สึกเจ็บ หรือมีเลือดออกในหลอดอาหาร รวมทั้งอาจเกิดภาวะหลอดอาหารตีบตัน อาจกระตุ้นให้เกิดอาการหอบหืด ไอเรื้อรัง อีกทั้งยังมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งหลอดอาหาร เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์บริเวณหลอดอาหาร แต่ในปัจจุบันยังคงพบได้น้อยราย
การป้องกันอาการกรดไหลย้อน
ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารให้ตรงเวลา พยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยในชีวิตประจำวันที่ไปกระตุ้นให้เกิดภาวะนี้มากที่สุด รวมไปถึงการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอาจช่วยลดโอกาสการเกิดภาวะกรดไหลย้อนให้น้อยลงได้
ที่มา :: www.pobpad.com/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น