นอนกัดฟันทำยังไงดี ???
เด็กหรือผู้ใหญ่ที่นอนกัดฟัน
มักจะเกิดขณะที่เจ้าตัวนอนหลับไม่ลึกหรือหลับไม่สนิท
มักจะเกิดขณะที่เจ้าตัวนอนหลับไม่ลึกหรือหลับไม่สนิท
การนอนกัดฟัน..เกิดจากอะไร ควรทำอย่างไร ยังไงดี ??
อารมณ์เครียดกับอารมณ์สบายส่งผลต่อสุขภาพต่างกันอย่างไร ท่านผู้ชม DMC ที่ต้องเผชิญกับปัญหาอยู่บ่อยๆ คงทราบกันดีอยู่แล้วใช่ไหมคะ ปัญหาในการทำงานทำให้เรารู้สึกเครียด และความเครียดมีผลต่อสุขภาพช่องปากด้วย
การนอนกัดฟัน เป็นอาการหนึ่งของผู้ที่มีความผิดปกติด้านการบดเคี้ยว หรือมีปัญหาการทำงานของขากรรไกร นอกจากจะมีปัญหากับคนที่นอนข้างๆ หรือเพื่อนร่วมห้องแล้ว การนอนกัดฟัน ยังก่อให้เกิดปัญหากับตัวเองด้วย ปัญหาดังกล่าวได้แก่ อาการฟันสึก ในบางรายมีอาการฟันสึกจนถึงชั้นเนื้อฟัน เห็นเนื้อฟันสีเหลืองเข้ม และมีอาการเสียวฟันเวลาที่ดื่มน้ำร้อน หรือ น้ำเย็น
นอกจากอาการฟันสึกแล้วยังมีอาการปวดที่บริเวณข้อต่อกระดูกขากรรไกร ซึ่งอยู่หน้ารูหู ในเวลาที่ตื่นนอนตอนเช้าจะรู้สึกเจ็บปวดที่บริเวณข้อต่อขากรรไกร หรือเวลาที่บดเคี้ยวอาหารก็จะรู้สึกเจ็บปวดได้
สาเหตุของการนอนกัดฟัน (Bruxism)
น่าจะเกิดจาก 2 สาเหตุ คือ
1. จากสภาพฟัน อาจมีจุดสูงที่อยู่บนตัวฟัน ที่อาจเกิดจากวัสดุอุดฟัน มีการเรียงกันของฟันที่ผิดปกติ ฟันซ้อนเก หรือเป็นโรคปริทันต์ หรือในคนไข้ที่สูญเสียฟันแท้ไป โดยที่ไม่ได้ใส่ฟันปลอมทดแทน ซึ่งถ้าว่าจุดสูงหรือจุดขัดขวางการบดเคี้ยว โดยธรรมชาติของคนเราจะพยายามกำจัดจุดสูงหรือจุดขัดขวางการบดเคี้ยว โดยพยายามบดเคี้ยวให้จุดสูงนั้นหมดไป มักจะเกิดในเวลาที่เรานอนหลับ ซึ่งเป็นเวลาที่เราไม่รู้สึกตัว
2. สภาพของจิตใจ การดำเนินชีวิตประจำวันอาจมีความเครียด เนื่องจากความเร่งรีบในการทำงานก็เป็นสาเหตุที่ให้เรานอนกัดฟันในเวลานอน โดยเราไม่รู้สึกตัวได้
วิธีการแก้ไขอาการนอนกัดฟัน
ไปพบทัตแพทย์เพื่อหาสาเหตุและแก้ไขอาการนอนกัดฟัน ได้แก่ การกรอปรับสบฟันให้อยู่ในสภาวะปกติ โดยส่วนใหญ่แล้วทัตแพทย์จะแนะนำให้ใส่ Spint หรือเฝือกสบฟัน เพื่อลดการสึกของฟัน Spint นั้น มีลักษณะเป็น อะครีลิคใส แข็ง ใสในฟันบน หรือฟันล่าง ใส่เฉพาะในเวลานอนตอนกลางคืนเท่านั้น และในเวลาที่เราใส่ Spint หรือเฝือกสบฟันนั้น ทันตแพทย์จะนัดมาตรวจเป็นระยะๆ
ทำอย่างไรเมื่อพบว่าเรานอนกัดฟัน
วิธีแก้ปัญหาเด็กนอนกัดฟัน - อาการนอนกัดฟัน
การป้องกันอาการนอนกัดฟัน
1. หมั่นรักษาสภาพช่องให้อยู่ในสภาพปกติ โดยหมั่นไปพบมันตแพทย์เพื่อตรวจฟันอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง
2. ส่วนสภาพจิตใจนั้น ก่อนนอนให้หลับตานั่งสมาธิ(Meditation) แผ่เมตตาหลับในอู่ทะเลบุญ ทำตามการบ้าน 10 ข้อของคุณครูไม่ใหญ่ ในโรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยา เท่านี้เราก็จะสามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาการนอนกัดฟันได้
* การบ้าน 10 ข้อของคุณครูไม่ใหญ่
การใส่เฝือกครอบบนฟันทั้งขากรรไกรฟันบน หรือขากรรไกรฟันล่างขณะนอนหลับ
จะช่วยทำให้อาการนอนกัดฟันหายไปได้
ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำเฝือกสบฟัน (เฝือกฟัน)
การทำเฝือกฟันนั้นเพื่อป้องกันอาการนอนกัดฟันนั้นไม่ยาก เพียงไปพบทันตแพทย์ ทันตแพทย์จะพิมพ์แบบและทำเฝือกฟันเฉพาะบุคคล ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับยางกันฟันของนักมวยหรือนักกีฬา ราคาการทำเฝือกฟันโดยประมาณ 300-400 บาท หรืออาจมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับคุณภาพของเฝือกฟัน
การทำเฝือกฟันนั้นเพื่อป้องกันอาการนอนกัดฟันนั้นไม่ยาก เพียงไปพบทันตแพทย์ ทันตแพทย์จะพิมพ์แบบและทำเฝือกฟันเฉพาะบุคคล ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับยางกันฟันของนักมวยหรือนักกีฬา ราคาการทำเฝือกฟันโดยประมาณ 300-400 บาท หรืออาจมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับคุณภาพของเฝือกฟัน
การใส่เฝือกฟันบนหรือฟันล่าง หรือทั้งสอง ตามคำแนะนำของทันตแพทย์ ใส่นอนตอนกลางคืนชั่วระยะเวลาหนึ่งอาการจะดีขึ้น การทำเฝือกฟันไม่ยาก เพียงแค่ไปพบทันตแพทย์ ทันตแพทย์จะพิมพ์แบบ และทำเฝือกฟันเฉพาะบุคคลซึ่งมีลักษณะคล้ายกับยางกันฟันของนักมวยหรือนักกีฬานั่นเอง
ถ้าฟันสึกมากๆ อาจจะทำให้ใบหน้าสั้นกว่าปกติอีกด้วย
อาการ นอนกัดฟัน อาจมีสาเหตุมาจากยาที่รับประทานก็ได้ เช่น ยาที่เคยมีรายงานว่าทำให้เกิดอาการนอนกัดฟันได้ คือ แอมเฟตามีนที่ใช้ร่วมกับ L-dopa , ยา fenfluramine ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของแอมเฟตามีน และมีรายงานว่า พบการนอนกัดฟันในผู้ป่วยที่เป็นโรค Tardive Dyskinesia ซึ่งเชื่อว่าเป็นผลมาจากการใช้ยา phenothiazine เป็นระยะเวลานาน นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ผสมอยู่ จะสามารถทำให้เกิดอาการนอนกัดฟันได้ ดังนั้น การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ไม่มีประโยชน์แล้วยังทำให้เป็นโรคกัดฟันและยังไปอบายด้วย (bangkokhealth.com)
หมั่นดูแลสุขภาพช่องปาก และหมั่นนั่งสมาธิทุกวันแก้ไขปัญหานอนกัดฟันได้
ที่มา :: http://health.dmc.tv
"นอนกัดฟัน" อันตรายกว่าที่คิดไว้
นอนกัดฟันคืออะไร? นอนกัดฟันเป็นความผิดปกติ เกิดขึ้นขณะกำลังหลับ โดยมีลักษณะขบเน้นฟันแน่นๆ หรือฟันบนล่างบดถูไถ ซ้ำๆ กัน คนนอนกัดฟันมักไม่รู้ตัวเอง และเสียงที่เกิดจากนอนกัดฟัน ทำให้เกิดความรำคาญแก่คนที่นอนร่วมห้อง ส่วนการนอนกัดฟันที่มีลักษณะขบฟันแน่นๆ มักไม่มีเสียงดังทำให้ไม่มีผู้ใดได้ยิน คนที่นอนกัดฟันแบบนี้จึงมักไม่รู้ตัวเลยว่าเป็นคนนอนกัดฟัน
แล้วจะรู้ได้อย่างไร ว่านอนกัดฟัน เนื่องจากคนเราจะไม่รู้ตัวเอง ว่าทำอะไรบ้างในขณะนอนหลับ และอาการกัดฟันก็เกิดเป็นช่วงๆ ตลอดเวลา 7-8 ชั่วโมง ในขณะหลับ ดังนั้นการนอนกัดฟันจึงวินิจฉัยยาก เนื่องจากไม่มีใครจะมาสังเกตพฤติกรรมให้ท่านตลอดเวลาที่กำลังหลับ การวินิจฉัยที่ดีที่สุด คือการตรวจการนอนในห้องแลปการนอนหรือที่บ้าน ด้วยการวัดสัญญาณไฟฟ้าที่ขึ้นจากการทำงานของกล้ามเนื้อบดเคี้ยวในขณะกัดฟัน ร่วมกับวัดคลื่นไฟฟ้าสมอง ส่วนวิธีอื่นๆ คือการสังเกตอาการที่เป็นผลของนอนกัดฟัน เช่น ถ้าท่านรู้สึกตัวตื่นนอนพร้อมอาการเมื่อยตึงที่ขมับ ใบหน้า หรือต้นคอ หรือตึงๆ ชาๆ ที่ฟัน กัดฟันแล้วเจ็บหลายๆ ซี่ หรือเสียวฟันหลายซี่ หรือบางครั้งรู้สึกตัวเองตื่นสลึมสลือเหมือนกำลังกัดฟันอยู่ หรือสังเกตว่าฟันบิ่นแตก หรือหน้ากางออกใหญ่ขึ้นทั้งสองข้างเพราะกล้ามเนื้อข้างแก้มขยายใหญ่ หรือมีปุ่มกระดูกใหญ่ที่ค่อยๆโตขึ้นช้าๆ หรือทันตแพทย์ตรวจพบว่าท่านมีฟันสึกที่เกิดจากการบดกัด ถูไถฟัน อาการเหล่านี้ เป็นสัญญาณเตือนว่าท่านอาจนอนกัดฟัน
ผลเสียของการนอนกัดฟัน ทำให้ฟันสึก ฟันสั้นลง ฟันบาง คอฟันสึกเป็นร่อง มีอาการเสียวฟัน ซึ่งเสียวมากเมื่อดื่มน้ำเย็น หรือแปรงฟัน เมื่อทิ้งไว้นาน ฟันยิ่งสึกมาก ก็มีปัญหาเรื่องความสวยงาม นอกจากนี้จะทำให้ใบหน้าสั้นลงเพราะฟันเป็นอวัยวะสำคัญช่วยรักษารูปหน้าด้วย หากฟันบิ่น ฟันแตก ฟันร้าว หรือฟันสึกจนทะลุโพรงประสาทฟันจะทำให้ปวดฟัน และต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการรักษารากฟัน ทำครอบฟัน ถ้าโชคร้ายรักษาไม่ได้ก็ต้องถอนฟันซี่นั้นทิ้งไป ทั้งยังทำให้ปวดเมื่อยล้าบริเวณใบหน้า กล้ามเนื้อบดเคี้ยว และข้อต่อขากรรไกร ทำให้อ้าปากไม่ขึ้น เคี้ยวอาหารไม่ได้เพราะมีอาการปวด ส่งผลกระทบต่อการบดเคี้ยว และ อารมณ์จิตใจ ทำให้กระดูกกรามที่อยู่รอบรากขยายใหญ่ เป็นปุ่มกระดูกนูน ในบางคนกล้ามเนื้อบริเวณแก้มสองข้าง ขยายใหญ่ขึ้น ทำให้ใบหน้ากางออกเป็นเหลี่ยม นอกจากนี้มีผลให้ความสัมพันธ์ของคู่สามีภรรยาแย่ลง เนื่องจากเสียงดังที่เกิดจากนอนกัดฟันจะรบกวนคนที่นอนด้วยจนนอนไม่หลับ เพราะเสียงนอนกัดฟันจะดังมากและเป็นที่น่าหวาดเสียวแก่ผู้ที่ได้ยิน ชวนให้รู้สึกเสียวฟันตามไปด้วย
รักษาอาการนอนกัดฟันได้อย่างไร เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุของการนอนกัดฟัน ดังนั้นการรักษาเพื่อหยุดการนอนกัดฟัน จึงยังไม่ได้ผลเต็มร้อย ตัวกระตุ้นที่ทำให้นอนกัดฟัน เช่น ความเครียด เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน (ได้แก่ ชา กาแฟ และน้ำอัดลมบางชนิด) เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ สารเสพติด และยาที่ใช้รักษาโรคบางตัว เป็นต้น การนอนกัดฟันอาจพบร่วมกับความผิดปกติของการนอนอื่นๆ ได้แก่ การนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับ
การรักษานอนกัดฟันมีดังนี้ คือ งดเครื่องดื่มคาเฟอีน แอลกอฮอล์ บุหรี่ ก่อนนอนไม่ควรรับประทานมากเกินไป สภาพห้องนอนควรเงียบสงบสะอาด ไม่ควรมีแสงสว่างมากไป ไม่ควรทำกิจกรรมที่ทำให้ตื่นเต้นก่อนเข้านอน ให้ใส่เฝือกสบฟัน (occlusal splint) เพื่อป้องกันไม่ให้ฟันสึก ในบางรายอาจหยุดอาการนอนกัดฟันได้บ้าง หรือการใช้ยาที่มีผลไปปรับการนอนเพื่อช่วยลดการนอนกัดฟัน เมื่อสงสัยว่านอนกัดฟัน ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาอาการนอนกัดฟันเสียแต่เนิ่นๆ ก่อนที่อาการนอนกัดฟันจะไปทำลายฟัน ทำให้เกิดปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อขากรรไกร และทำให้ท่านต้องเสียค่ารักษาฟันอีกมาก
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
การนอนกัดฟัน
ตอบลบอาการนอนกัดฟันที่เกิดขึ้นมานั้นอาจจะไม่มีผลเสียใดๆต่อโครงสร้างต่างๆภายในช่องปากเลย หรืออาจจะทำให้เกิดอาการต่างๆขึ้นได้มากมายเลยก็ได้ อาการที่มักจะเกิดเมื่อมีอาการนอนกัดฟัน คือ ฟันสึกอย่างรุนแรง , เกิดอาการปวด ตึง หรืออ่อนแรงของกล้ามเนื้อ , เกิดความผิดปกติที่ข้อต่อขากรรไกร , อาการปวดศีรษะ , อาจพบว่าในผู้ที่ใส่ปลอมแบบติดแน่นอยู่ ฟันปลอมที่ใส่อาจจะถูกทำลายลงในระยะเวลาเพียง 6-9 เดือน , อ้าปากไม่ขึ้น , มีเสียงดังที่ข้อต่อขากรรไกรขณะอ้าหรือหุบปาก ซึ่งอาการต่างๆเหล่านี้อาจเกิดขึ้นเพียงอาการใดอาการหนึ่ง หรือเกิดพร้อมๆกันทุกอาการเลยก็ได้
ลักษณะการเกิดอาการนอนกัดฟัน จะมีความแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย และพบว่าแม้แต่ในผู้ป่วยคนเดียวกัน จะมีอาการนอนกัดฟันที่แตกต่างกันไป ในการนอนแต่ละคืนอีกด้วย
พบว่าการนอนกัดฟันมีแนวโน้มที่จะสัมพันธ์ กับความเครียดในชีวิตประจำวัน หรือเกิดในช่วงชีวิตของผู้ป่วยที่มีปัญหาทางด้านร่างกาย หรือจิตใจ ในผู้ป่วยบางรายจะมีอาการนอนกัดฟัน ในช่วงสัปดาห์ที่มีปัญหาเรื่องงาน ในสตรีที่กำลังมีรอบเดือน หรือในผู้ป่วยบางคนก็อาจจะไม่มีระยะเวลา หรือวงจรที่แน่นอนของการนอนกัดฟันก็ได้
สาเหตุของการนอนกัดฟัน
มีการศึกษามากมาย ที่พยายามจะอธิบายถึง สาเหตุของอาการนอนกัดฟัน และมีหลักฐานยืนยันแล้วว่า สภาพของจิตใจและอารมณ์ มีส่วนสัมพันธ์กับการนอนกัดฟัน
ดังที่กล่าวข้างต้น ระดับอาการของการนอนกัดฟัน จะมีความแตกต่างกันมากในผู้ป่วยแต่ละราย โดยจะมีส่วนสัมพันธ์กับความเครียด ภาวะอารมณ์ และภาวะฉุกเฉินที่มีในชีวิตประจำวัน เช่น การหย่าร้าง การตกงาน หรือช่วงการสอบคัดเลือก เป็นต้น
ความวิตกกังวลในเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นก็สามารถทำให้เกิดอาการนอนกัดฟันได้ และเป็นที่รับรู้กันในวงการแพทย์ว่า ประสบการณ์ทางอารมณ์ในช่วงที่เราตื่นนอนอยู่ จะไปมีอิทธิพลต่อช่วงที่เรานอนหลับได้ในหลายๆด้าน แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีท่านใดสามารถหาคำอธิบายถึงสาเหตุของเหตุการณ์นี้ได้
ในอีกทางหนึ่ง กล่าวว่า ผู้ป่วยที่มีอาการนอนกัดฟันนั้น แทบจะไม่มีความผิดปกติทางด้านจิตใจเลย แต่จะมีบุคลิกภาพ และอารมณ์แตกต่างจากคนปกติทั่วไป กล่าวคือ จะมีบุคลิกภาพที่มีแนวโน้มที่จะเกิด หรือเพิ่มความเครียดได้ง่าย เป็นคนที่มีอารมณ์ก้าวร้าว และเป็นคนที่วิตกกังวลหรือ Hyperactive ได้ง่าย แต่มักไม่พบว่ามีความผิดปกติ ของระบบประสาทเข้ามาร่วมด้วย
อาการนอนกัดฟัน อาจมีสาเหตุมาจากยาที่รับประทานก็ได้ แต่พบในเปอร์เซ็นที่ต่ำ ยาที่เคยมีรายงานว่าทำให้เกิดอาการนอนกัดฟันได้ คือ แอมเฟตามีนที่ใช้ร่วมกับ L-dopa , ยา Fenfluramine ซึ่งเป็น Amphetamines derive และมีรายงานว่า พบการนอนกัดฟันในผู้ป่วยที่เป็นโรค Tardive Dyskinesia ซึ่งเชื่อว่าเป็นผลมาจากการใช้ยา Phenothiazine เป็นระยะเวลานาน นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ผสมอยู่ จะสามารถทำให้เกิดอาการนอนกัดฟันได้
ผู้ป่วยเป็นจำนวนมากที่ไม่ทราบว่าตัวเองมีอาการนอนกัดฟันอยู่ พบว่ามีเพียง 10% ของผู้ใหญ่และ 5% ของเด็กที่นอนกัดฟันเท่านั้นที่ทราบว่าตัวเองมีอาการนอนกัดฟัน ซึ่งคนเหล่านั้นมักจะทราบว่าตัวเองนอนกัดฟันจากการได้ยินเสียงนอนกัดฟันของตัวเอง หรือจากเพื่อนหรือคนที่นอนใกล้ๆแจ้งให้ทราบ
อย่างไรก็ตาม ในผู้ที่มีอาการนอนกัดฟันทั้งหมด จะมีเพียง 20% เท่านั้นที่จะทำให้เกิดเสียงที่สามารถได้ยินได้ ดังนั้นการที่จะให้การวินิจฉัยว่าตัวเองนอนกัดฟันนั้น จึงจำเป็นที่ต้องอาศัยการตรวจอย่างละเอียดโดยทันตแพทย์ โดยทันตแพทย์จะพิจารณาองค์ประกอบอีกหลายๆอย่าง อาทิเช่น ลักษณะการสึกของฟัน ลักษณะของกล้ามเนี้อ และอื่นๆ โดยเฉพาะอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อขากรรไกรเมื่อตื่นนอนขึ้นมา มักจะเป็นลักษณะที่พบมากในคนที่นอนกัดฟัน
การรักษาการนอนกัดฟัน
การรักษาอาการนอนกัดฟันนั้น พบว่าโดยมากจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทั้งนี้เนื่องมาจากความเครียด ซึ่งมีความสัมพันธ์กับอาการนอนกัดฟันนั้น จะมีความเกี่ยวเนื่องเป็นวงจร ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดซ้ำ และมีความจำเป็นที่ต้องกลับมารับการรักษาอีก
การรักษาการนอนกัดฟันนั้น มีตั้งแต่การใช้ยาคลายกล้ามเนื้อ การใส่ Nightguard ไปจนถึงการใช้เฝือกการสบฟัน (Occlusal Splint) ซึ่งพบว่าประมาณ 50% ของผู้ป่วยจะมีอาการนอนกัดฟันลดลงหลังจากใส่เฝือกการสบฟันไประยะหนึ่ง อย่างไรก็ตามการรักษาที่มีในผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีวิธีแตกต่างกันออกไป ลองปรึกษาทันตแพทย์ของท่านถึงการรักษาที่เหมาะสมครับ
ข้อมุลจาก ทพ.เลิศฤทธิ์ ศรินนภากร
.
นอนกัดฟัน สาเหตุและวิธีแก้ไข
ตอบลบในชีวิตของคนเรานั้น การนอนหลับพักผ่อนเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่ถือว่าจำเป็นเป็นอย่างมากกับการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข จริงไหมคะ แต่ใครจะทราบบ้างว่า ระหว่างที่เรานอนหลับนั้น อาจจะมีอะไรบางอย่างเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเพ้อ ละเมอ กรน หรือแม้แต่อีกอย่างหนึ่งที่สามารถสร้างปัญหาให้กับผู้ที่อยู่ใกล้ๆ และตัวเองได้มากกว่าที่คิดก็คือ "การนอนกัดฟัน" (มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Bruxism) ในบทความนี้ Womanandkid ขอนำความรู้ในเรื่องการนอนกัดฟัน มาให้เพื่อนๆ ได้อ่านเพื่อเป็นความรู้ และแก้ไขปัญหานี้ได้หากเกิดขึ้นไม่ว่ากับตัวเองหรือคนใกล้ชิด มาติดตามกันเลยค่ะ
ผลเสียของการนอนกัดฟัน
การนอนกัดฟันนั้นมีผลเสียเกิดขึ้นได้หลายอย่างนะคะ ที่แน่ๆ คืออาจจะเกิดเสียงดัง ทำให้ผู้ที่อยู่ใกล้เคียงหรือนอนอยู่ใกล้ๆ เกิดความรำคาญ ไม่สามารถนอนหลับได้ ทั้งนี้ขึ้นกับลักษณะของการนอนกัดฟันที่เกิดขึ้น ถ้ากัดแบบขบไว้เฉยๆ ก็อาจจะไม่มีเสียงก็ได้ค่ะ นอกจากนั้นก็เกิดผลเสียกับตัวเอง นั่นคือฟันของเรานั่นเอง การกัดฟันบ่อยๆ ทำให้ฟันสึกลงๆ โดยไม่สมควร คือยังไม่ทันจะได้ไปเคี้ยวอาหารอะไรให้เอร็ดอร่อย ฟันก็สึกลงแล้วอย่างน่าเสียดาย (เอาไว้ไปสึกนิดๆ หน่อยๆ ตอนเคี้ยวส้มตำ ขนมเค้ก บาร์บีคิว ยังจะดีเสียกว่าจริงไหมคะ) นอกจากนั้นถ้าการกัดฟันเป็นไปอย่างรุนแรง อาจจะทำให้ฟันบิ่นหรือแตกได้เลยเชียว และถึงจะไม่แตก การนอนกัดฟันเป็นการใช้กล้ามเนื้อขากรรไกรอยู่ตลอดเวลา เมื่อตื่นนอนขึ้นมาผู้นอนอาจจะรู้สึกปวดเมื่อยบริเวณฟัน ปาก ขากรรไกร ปวดขมับ ปวดศีรษะหรือตึงหรือชาที่ฟัน กัดฟันแล้วเจ็บหรือเสียวฟันหลายซี่ ถ้าหนักเข้าก็อาจจะทำให้ใบหน้ากางออกใหญ่ขึ้นทั้งสองข้างเพราะกล้ามเนื้อข้างแก้มขยายใหญ่จากการกัดฟันบ่อยๆ อย่างต่อเนื่อง (เพราะเหมือนการใช้งานกล้ามเนื้อ บ่อยๆ เข้าก็มีขนาดใหญ่ขึ้น เพราะมันแข็งแรงขึ้นแบบที่เราไม่ได้ต้องการนั่นเอง)
สาเหตุของการนอนกัดฟัน
หลังจากที่ทราบถึงผลเสียที่เกิดขึ้นแล้ว เราลองมาดูกันเรื่องสาเหตุของการนอนกัดฟันกันบ้างดีกว่า อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีความพยายามศึกษากันมานาน ส่วนมากแล้วไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดอย่างแท้จริงของการนอนกัดฟัน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านสรีระวิทยา) แต่ผลการศึกษาก็พบความสัมพันธ์ระหว่างอาการนอนกัดฟันกับลักษณะสองสามประการของผู้ที่มีปัญหานี้คือ
1) ความเครียด
พบว่าผู้ที่มีความวิตกกังวลในบางช่วงเวลา ในการทำงาน หรือการเรียน เช่นช่วงที่ต้องเตรียมงานสำหรับลูกค้าสำคัญบางราย หรือช่วงใกล้สอบ ช่วงที่ต้องดิ้นรนเอาตัวรอดกับสภาวะเศรษฐกิจ เหล่านี้ทำให้มีโอกาสทำให้เกิดการนอนกัดฟันได้มากขึ้น
2) เกิดจากสภาพร่างกาย
จุดนี้อาจจะเป็นจุดเดียวที่มีความเกี่ยวข้องกับสภาพร่างกายได้ คือปัญหาเกิดจากสภาพในช่องปากที่มีการสบฟันไม่ดี ไม่ว่าจะเกิดโดย ธรรมชาติ เกิดจากการอุดฟัน ใส่ฟัน ทำให้ฟันบางซี่สูงกว่าปกติ ทำให้เกิดการสะดุดเวลาบดเคี้ยวอาหาร ส่งผลทำให้การสบฟัน เปลี่ยนไป และกระตุ้นให้ร่างกายพยายามปรับความไม่สม่ำเสมอนั้นลงโดยการกัดขบส่วนที่ไม่เสมอนั้น ทำให้มีการกัดเน้นฟันตลอดเวลานอน
3) เกิดจากอาหารบางชนิด
จากการศึกษายังพบว่าเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน (ชา กาแฟ น้ำอัดลมบางชนิด เป็นต้น) เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ สารเสพติด และยาที่ใช้รักษาโรคบางตัวเช่น แอมเฟตามีนที่ใช้ร่วมกับ L-dopa หรือยาเฟนฟลูรามีน (Fenfluramine) ซึ่งได้มาจากแอมเฟตามีน หรือผู้ที่ใช้ยาฟีโนเธียซีน (Phenothiazine) เป็นเวลานาน มีความสัมพันธ์ในการเพิ่มระดับการกัดฟันด้วย
...
...
ตอบลบวิธีแก้ไขการนอนกัดฟัน
เมื่อเราทราบถึงสาเหตุและที่มาของการนอนกัดฟันแล้ว คราวนี้มาลองดูวิธีการแก้ไขกันบ้างค่ะ วิธีการก็แบ่งออกเป็นสองส่วนหลักๆ ก็คือการพยายามแก้ที่สาเหตุ และการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นดังนี้
1) จัดการความเครียด
โดยการหาวิธีผ่อนคลายความเครียด หรือลดความเครียดลงให้ได้ การจัดการกับความเครียดก็เช่น ถ้ามีปัญหาเรื่องการงานหรือการเรียน ก็ให้พยายามแก้ไขหรือวางแผนหาวิธีแก้ไขเอาไว้ให้เสร็จสิ้นก่อนการนอนหลับพักผ่อน อาจจะโดยการค้นคว้าเพิ่มเติม การหาผู้ช่วย การหาที่ปรึกษา เพื่อแก้ไขปัญหาให้หมดไป ปัญหาเรื่องการเรียนก็เช่นกัน อาจจะวางแผน และ/หรือทำการศึกษาเพิ่มเติม หาตำราหรือครูอาจารย์ที่สามารถสอนให้เราเข้าใจในบทเรียนได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ สิ่งเหล่านี้จะช่วยลดความเครียดลงได้ นอกจากนั้นการเล่นกีฬาออกกำลังกาย ฝึกโยคะ ทำสมาธิ ก็อาจจะเป็นอีกทางเลือกที่จะลดความเครียด และน่าจะดีกว่าการใช้ยาลดความเครียดนะคะ (เดี๋ยวกลายเป็นติดยาลดความเครียด เลยเครียดหนักกว่าเดิมค่ะ)
2) แก้ไขสภาพภายในช่องปาก
หากการกัดฟันทำท่าจะมีสาเหตุมาจากความไม่สมบูรณ์ของช่องปาก เช่นลักษณะการสบฟันไม่ดี ก็ต้องแก้ไขที่จุดนี้ ถ้าจะว่าไปนี่ก็เป็นการแก้ไขที่ชัดเจนที่สุดในบรรดาหลายๆ สาเหตุเลยนะคะ (อย่างน้อยก็จับต้องได้) เมื่อสภาพปากและฟันดีขึ้น ปัญหาการนอนกัดฟันจากสาเหตุนี้ก็น่าจะลดลงได้
3) หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มบางชนิด
ถ้าผู้ที่นอนกัดฟัน มีแนวโน้มว่าดื่มเครื่องดื่มที่อาจจะทำให้เพิ่มความเครียดได้อยู่เป็นประจำ ก็ควรจะทดลองลดเครื่องดื่มประเภทนี้ลงค่ะ อาจจะช่วยได้ไม่มากก็น้อย อย่างน้อยการลดเครื่องดื่มพวก ชา กาแฟ ที่มีคาเฟอินลง ก็น่าจะทำให้หลับสนิทได้ดีขึ้นนะคะ
4) จัดการกับปัญหา
นอกจากข้อ 1-3 ด้านบนแล้ว หากปัญหายังอยู่ (หรือแม้แต่ในระหว่างที่จัดการแก้ไขด้วยวิธีการในข้อ 1-3 ก็ตาม) ก็ต้องมีการจัดการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกายของเราจากการนอนกัดฟัน ซึ่งก็มีวิธีต่างๆ ตั้งแต่การใช้ยาคลายกล้ามเนื้อ การใส่เครื่องป้องกันขณะนอนหลับ (Nightguard) ไปจนถึงการใช้เฝือกการสบฟัน (Occlusal Splint) ซึ่งพบว่าประมาณ 50% ของผู้ป่วยจะมีอาการนอนกัดฟันลดลงหลังจากใส่เฝือกการสบฟันไประยะหนึ่ง (อาจจะเกะกะหรืออย่างไรก็ไม่ทราบได้นะคะ) อย่างไรก็ตามการรักษาที่มีในผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีวิธีแตกต่างกันออกไป วิธีที่ดีที่สุดอันหนึ่งก็คือปรึกษาทันตแพทย์ถึงการรักษาที่เหมาะสมสำหรับแต่ละท่านด้วยค่ะ
ถ้า เพื่อนๆ ไม่มีปัญหาเรื่องการนอนกัดฟัน ต้องถือว่าเป็นสิ่งที่ดีนะคะ และหากเพื่อนๆ มีเพื่อนที่มีปัญหาเรื่องนี้ (หรือแม้แต่ไม่ทราบว่าใครมีปัญหาอย่างนี้หรือไม่ก็ตาม) ลองส่งบทความนี้ให้เขาได้อ่านดูนะคะ จะได้สามารถจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นโดยอาจจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ (จะพอทราบได้ก็เมื่อเกิดการปวดเมื่อยต่างๆ ตามที่ได้อธิบายไว้แล้ว) เป็นการช่วยเหลือเพื่อนๆ ได้ไม่ทางตรงก็ทางอ้อมนะคะ ขอบคุณค่ะ
http://www.womanandkid.com/index.php/womanhealth/8-healthknowledge/205-bruxism
...
เคยเป็นกันมั้ย?
ตอบลบคุณมีอาการปวดหัว ปวดฟัน ปวดกราม ปวดเหงือก หลังจากตื่นนอนมั้ยคะ คุณอาจจะคิดว่าเพราะนอนผิดท่า นอนตกหมอน หรือนอนคว่ำหน้าหรือตะแคงหน้าแนบไปกับที่นอนนานๆ แต่รู้ตัวรึเปล่าคะว่าในขณะที่คุณหลับสนิท คุณนอนกัดฟันรึเปล่า ถ้านอนกัดฟัน คุณกำลังมีปัญหาด้านความเครียดค่ะ
การนอนกัดฟัน คนที่นอนจะไม่รู้สึกตัวเลยว่ากำลังกัดฟัน และจะกัดแบบนั้นไปทั้งคืน ส่งเสียงดังแกร่กๆ ตลอดเวลาที่นอนกัดฟันค่ะ แรงบดเคี้ยวของฟันนั่นเองที่ทำให้คุณตื่นมาปวดเหงือก ปวดฟัน ปวดกราม หรือรุนแรงจนปวดหัวค่ะ แรงกัดเวลานอนกัดฟันมีความต่อเนื่องและรุนแรงมากจนทำให้ผิวฟันของเราถูกทำลาย สึกกร่อน หรือกระทั่งกัดโดนเหงือกหรือลิ้นตัวเองได้ค่ะ บางทีตื่นมาก็พบว่ามีเลือดออกในปาก หรือเจ็บลิ้นบริเวณที่อยู่ติดกับฟันกราม เมื่อเกิดการสึกกร่อนของฟัน หรือเกิดแผลที่เหงือกหรือลิ้น เราก็มักจะเปลี่ยนไปเคี้ยวอาหารด้านที่ไม่เจ็บปวดแทน ซึ่งพอเป็นนานๆ เข้าจะทำให้การสบของฟันมีปัญหา เนื่องจากมีฟันสึกกร่อนมาก ฟันไม่สามารถสบกันอย่างสนิทได้ และนั่นจะมีปัญหาใหญ่ตามมาภายหลังค่ะ นั่นคือ ฟันแตก ฟันบิ่น เพราะชั้นเคลือบฟันสึกกร่อนจากการนอนกัดฟัน ความแข็งแรงของฟันก็หมดไป เมื่อต้องรับแรงบดเคี้ยวต่อไปเรื่อยๆ ฟันก็จะสึกกร่อนไปเรื่อยจนกระทั่งฟันแตกหรือบิ่นค่ะ ต้องทำครอบฟัน สะพานฟัน หรือทำฟันปลอมใส่แทน เจอแบบนี้รู้สึกไม่ดีเลยใช่มั้ยคะ ดังนั้นเราจึงต้องหาทางป้องกันการนอนกัดฟัน ดีกว่ามาทำฟันปลอมใส่ภายหลังค่ะ บางคนจะไม่รู้ว่ามีปัญหานอนกัดฟัน จนกระทั่งมีคนใกล้ตัวบอกค่ะ ถ้ารู้ตัวว่านอนกัดฟันแล้วให้ไปปรึกษาทันตแพทย์ค่ะ คุณหมอสามารถวินิจฉัยอาการและวิธีการรักษาได้ค่ะ สำหรับวิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับลักษณะอาการและความรุนแรงก็แต่ละเคส ซึ่งคุณหมอจะตรวจสอบและสอบถามถึงอาการ ลักษณะการเคี้ยว นิสัยการกิน การใช้ชีวิตประจำวัน เพราะการนอนกัดฟันเกิดจากความเครียด เพื่อวางแผนการรักษาได้ครอบคลุมกับอาการที่เป็นอยู่ค่ะ โดยคุณหมออาจจะแนะนำให้ใส่ไนท์การ์ด (Night Guard) อุปกรณ์ที่สวมใส่ลงบนฟันของเรา เพื่อป้องกันการนอนกัดฟัน ถ้ามีการนอนกัดฟัน แรงบดเคี้ยวจะถูกไนท์การ์ดซึบซับเอาไว้ ป้องกันแรงกระแทกและแรงบดเคี้ยวต่อฟันค่ะ สำหรับขั้นตอนการรักษา เนื่องจากการนอนกัดฟันเกิดจากความเครียด วิธีรักษาอาการที่ดีที่สุดคือการขจัดความเครียดค่ะ ด้วยวิธีง่ายๆ เช่น ดูหนังสนุกๆ ฟังเพลงเพราะๆ อ่านหนังสือที่มีเนื้อหาอ่านง่าย เบาสมอง ไม่เครียด พักผ่อนหย่อนใจตามสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ หรือนอนแช่น้ำเย็นๆ ให้สดชื่น นอกจากนี้การนั่งสมาธิ ทำบุญ สวดมนต์ภาวนา ก็ช่วยให้จิตใจของเราสงบ ไม่เครียดง่ายๆ ด้วยค่ะ
การนอนกัดฟันไม่ใช่ปัญหาที่แก้ยากค่ะ แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้จะเกิดผลเสียตามมาเยอะ ทั้งเสียสุขภาพจิต สุขภาพกาย และยังเสียเงินรักษาอีกด้วยค่ะ หลีกเลี่ยงความเครียด ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดของปัญหานอนกัดฟันค่ะ
ด้วยความปรารถนาดี
เดอะเด็นทิส คลินิก
.
โรคนอนกัดฟัน: สัญญาณและอาการของโรค
ตอบลบถ้าคุณตื่นมาแล้วรู้สึกปวดกล้ามเนื้อขากรรไกร หรือมีอาการปวดหัว คุณอาจกำลังประสบปัญหาจากโรคนอนกัดฟัน ซึ่งเป็นอาการขบกัดฟัน ในระหว่างนอนหลับ การนอนกัดฟันนี้ทำให้มีอาการปวดฟันหรือฟันโยก ในบางครั้งอาจทำให้ฟันสึก จนในที่สุด อาการนี้สามารถทำลายกระดูกรอบฟันและเนื้อเยื่อของเหงือกได้ นอกจากนี้ยังส่งผลถึงบริเวณข้อต่อของขากรรไกร เช่น กลุ่มอาการของโรคขากรรไกรอักเสบ
จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคนอนกัดฟัน
สำหรับคนส่วนใหญ่แล้ว โรคนอนกัดฟันนี้เป็นอาการที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว คนไข้ที่มีอาการนอนกัดฟันอาจไม่รู้ตัวจนกระทั่งทราบจากผู้อื่นว่าระหว่างการนอนตนเองได้สร้างเสียงกัดฟันอันน่าสะพรึงกลัวให้กับคนรอบข้าง แต่สำหรับคนไข้บางคนจะรับการตรวจฟันเป็นประจำเมื่อพบว่าฟันของเขาสึกหรือสารเคลือบฟันถูกทำลายไป
สัญญาณอื่นๆ ของโรคนอนกัดฟัน อาจรวมไปถึงอาการปวดที่ใบหน้า ศีรษะ และต้นคอ ทันตแพทย์สามารถวินิจฉัยได้อย่างแม่นยำและจะชี้ชัดได้ว่าสาเหตุของอาการปวดใบหน้าว่าเป็นผลมาจากโรคนอนกัดฟันหรือไม่
จะรักษาโรคนอนกัดฟันได้อย่างไร
วิธีการรักษาที่เหมาะสมในแต่ละบุคคลนั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรคนี้ ทันตแพทย์สามารถระบุสาเหตุที่อาจจะเป็นไปได้ของโรคนอนกัดฟันจากการซักถามโดยละเอียดและตรวจสภาพฟันของคุณ เมื่อพิจารณาความเสียหายของฟันและสาเหตุที่อาจเป็นไปได้แล้ว ทันตแพทย์ของคุณอาจแนะนำให้
ใส่อุปกรณ์ระหว่างนอนหลับ โดยอุปกรณ์ชนิดนี้ทำขึ้นโดยทันตแพทย์ให้พอดีกับฟันของคุณสำหรับใส่ครอบฟันบนและป้องกันไม่ให้กระทบกับฟันล่าง อุปกรณ์นี้อาจจะเป็นวิธีที่ดีในการจัดการกับโรคนอนกัดฟัน แต่นั่นยังไม่ใช่วิธีการรักษา
ควรหาเวลาพักผ่อนให้มาก เพราะความเครียดในชีวิตประจำวันอาจเป็นสาเหตุหลักของโรคนอนกัดฟัน การได้ฟังเพลง อ่านหนังสือ เดินเล่น หรืออาบน้ำอาจช่วยบรรเทาความเครียดได้ คุณอาจหาทางออกโดยการปรึกษากับผู้รู้เพื่อหาวิธีรับมือกับสถานการณ์ตึงเครียดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ การวางผ้าชุบน้ำอุ่นไว้บริเวณข้างใบหน้ายังสามารถช่วยผ่อนคลายความเจ็บปวดของกล้ามเนื้อที่เกิดจากการขบฟัน
กัดอาหารแต่พอคำ ความผิดปกติที่เกิดจากการกินอาหารที่คำใหญ่กว่าปกติซึ่งไม่พอดีกับฟันของคุณ อาจเติมเต็มร่องฟันได้โดยการอุดฟัน ใส่ฟันปลอม หรือ จัดฟันได้
http://www.colgateprofessional.co.th/patienteducation/fd68bd44adc00210cd44adc0021028016e0aRCRD/article
.
กัดฟัน…ศัตรูตัวร้ายของการนอน
ตอบลบเสียงจากการนอนกัดฟันเป็นศัตรูตัวร้ายของการนอน คนกัดฟันมักไม่รู้ตัวเองแต่คนที่รู้คือคนข้างๆ ไม่ข้างตัวก็ข้างห้อง ที่ต้องทรมานกับการนอนไม่หลับเพราะเสียงกัดฟันของคนอื่น
\"ควบคุมตัวเองไม่ได้ก็มันหลับไปแล้วนี่ครับ\" จริงอย่างเขาว่า บางคนรู้ตัวว่านอนกัดฟันจึงพยายามหาทางแก้ไข ไปซื้อฟันยางสำหรับนักมวยมาใส่ก็แล้ว แต่ไม่สามารถหยุดยั้งการกัดฟันได้ ดีอยู่หน่อยที่เสียงเบาลง พอใช้ไปได้ไม่นานฟันยางทะลุ ก็เลยเลิกใช้ไป
บางคนนอนกัดฟันจนฟันแตกร้าวถึงประสาทและรากฟัน สุดท้ายต้องถอนฟันทิ้งในที่สุด ผลของการนอนกัดฟันไม่เพียงรบกวนผู้อื่น หรือทำให้ฟันแตกร้าวเท่านั้น แต่เจ้าตัวที่นอนกัดฟันยังต้องทรมานกับอาการข้างเคียงอื่นๆ ด้วย เช่น เสียวฟัน ฟันสึกร้าว แตกบิ่น วัสดุที่อุดไว้หลุดบ่อยๆ หรือแตก ทั้งหมดเป็นสาเหตุของฟันผุหากไม่รักษาความสะอาดของฟันให้ดีพอ บางรายที่รุนแรงและเป็นมานานอาจเห็นกล้ามเนื้อข้างแก้มโตขึ้น บางรายมีอาการปวดเมื่อยบริเวณข้างแก้ม ขมับ หน้าหู หรือปวดศีรษะเลยก็มี
แล้วการนอนกัดฟันเกิดขึ้นได้อย่างไร และมีวิธีการรักษาอย่างไรได้บ้าง
การศึกษาสาเหตุของการนอนกัดฟันจะมีมานานแต่ก็ไม่มีข้อสรุป นักวิจัยหลายกลุ่มตั้งข้อสังเกตว่า การนอนกัดฟันมีความสัมพันธ์กับการซ้อนเก สูงต่ำของฟัน อาจเป็นไปได้ว่าขณะนอนหลับการทำงานนอกอำนาจจิตสั่งให้ร่างกายพยายามบดถูให้ฟันซี่ที่สูงกว่าเตี้ยลงเสมอกับฟันซี่อื่นๆ แต่บางกลุ่มเชื่อว่าความเครียดมีอิทธิพลโดยตรงกับการนอนกัดฟัน วันไหนที่มีเรื่องวิตกกังวลมีความเครียดสะสม ร่างกายพยายามระบายความเครียดด้วยการนอนกัดฟัน บางกลุ่มตั้งข้อสังเกตว่าการนอนกัดฟันมักจะเกิดในช่วงที่นอนหลับไม่สนิท หรือนอนหลับลึกไม่พอ ฝันบ่อยๆ ไม่มีใครทราบว่า ทฤษฎีใดถูกต้องและน่าเชื่อถือที่สุด การรักษาจึงยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ นักวิจัยบางกลุ่มเสนอให้ใช้ยาคลายกล้ามเนื้อ กระทั่งยาแก้อาการซึมเศร้า เพื่อให้คนไข้ผ่อนคลาย นอนหลับได้สนิท แต่การใช้ยาทุกประเภทย่อมมีข้อจำกัดและผลข้างเคียง
ในช่วงหนึ่งที่ทฤษฎีเกี่ยวกับการเรียงตัวผิดปกติของฟันทำให้เกิดการนอนกัดฟันเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย หมอฟันแก้ไขการสบฟันโดยกรอปรับฟันที่เป็นจุดค้ำ หรือสบสะดุดเพื่อให้ฟันสบได้ดีขึ้น และด้วยความหวังว่าจะหยุดการนอนกัดฟันได้ แต่ผลกลับไม่เป็นเช่นนั้น ในคนไข้หลายรายยังคงนอนกัดฟันอยู่ การกรอฟันจึงไม่ใช่การแก้ไขอาการที่พึงปรารถนานักในปัจจุบัน เพราะนอกจากต้องสูญเสียเนื้อฟันแล้วยังไม่สามารถกำจัดอาการนอนกัดฟันได้
เคยมีจิตแพทย์ท่านหนึ่งถามทันตแพทย์ว่า ไม่มีวิธีจัดการกับการนอนกัดฟันจริงหรือ โดยเฉพาะในคนไข้ที่ไม่มีความเครียดใดๆ ทำไมยังนอนกัดฟันอยู่ กรณีนี้ทันตแพทย์เชื่อว่าการนอนกัดน่าจะเกิดจากหลายสาเหตุร่วมกัน เช่น ฟันไม่สบกันพอดี การนอนหลับไม่สนิท กระทั่งจิตใต้สำนึก และสาเหตุที่ยากแก่การสันนิษฐาน การแก้ไขเพียงสาเหตุเดียวจึงไม่ทำให้หายจากอาการได้
ทางออกที่ดีที่สุดที่พอจะทำได้ คือ การป้องกัน แต่ไม่ได้ป้องกันนอนกัดฟัน แต่เป็นเพียงการป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับฟันและระบบบดเคี้ยว หรือผลพวงของการกัดฟันต่างหาก โดยทำเฝือกสบฟันที่เป็นพลาสติกใส่ขณะนอนหลับ การวิจัยรายงานว่าสามารถหยุดการนอนกัดฟันได้ถึงร้อยละ 20 แต่อย่างน้อยก็ทำให้เสียงกัดฟันเบาลง ฟันไม่แตกหัก ประคองสภาพฟันให้ถูกทำลายช้าลง ไม่เมื่อยหน้า หรือปวดศีรษะหลังตื่นนอน เพียงเท่านี้ก็นับว่าประสบผลแล้ว แต่หลายคนก็ทนใส่เฝือกไม่ได้อีกเช่นกัน เพราะจะรู้สึกเหมือนอมอะไรนอน และมีน้ำลายไหลมาก ซึ่งก็ต้องชั่งน้ำหนักดูว่าอย่างไหนคุ้มกว่ากัน แรกๆ อาจไม่ชินแต่ถ้าทำความคุ้นเคยกับเฝือกสบฟันทุกวันก็น่าจะดีขึ้นได้
ขอบคุณ ที่มา ทพญ. ภาณุเพ็ญ สิทธิสมวงศ์
.
ไขพฤติกรรม "นอนกัดฟัน" ของลูกน้อย
ตอบลบเชื่อว่ามีคุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ ท่านต้องสะดุ้งตื่นขึ้นมากลางดึก และคอยสังเกตเสียงฟันถูไปถูมาของลูกในขณะที่ยังหลับสนิท ซึ่งอาการ "นอนกัดฟัน" ดังกล่าวนี้ ทำเอาคุณพ่อคุณแม่เกิดเป็นกังวล และอดห่วงไม่ได้ในเรื่องสุขภาพฟันของลูก
วันนี้ทีมงาน Life & Family ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ผศ.ดร.ทพญ.เปรมทิพย์ ชลิดาพงศ์ คลินิกนอนกรนและนอนกัดฟัน ภาควิชาโอษฐวิทยา คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และศูนย์ทันตกรรม รพ.ปิยะเวท โดยคุณหมอท่านนี้ได้ไขพฤติกรรมการนอนกัดฟันของเด็กให้ฟังว่า การนอนกัดฟันพบได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ถึงแม้ว่ายังไม่สามารถหาคำอธิบายถึงสาเหตุที่แท้จริงของอาการนอนกัดฟันได้ แต่กลับพบปัจจัยเสี่ยงของเด็กที่ชอบนอนกัดฟัน ซึ่งเกิดขึ้นได้จากปัจจัยดังต่อไปนี้
1. สภาพจิตใจ ที่เกิดจากการความตึงเครียด ความวิตกกังวล ก็มีส่วนไปกระตุ้นให้เกิดอาการนอนกัดฟันได้
2. สังเกตทางพันธุกรรม ในครอบครัวที่พ่อหรือแม่นอนกัดฟัน มีเด็กมีพี่หรือน้องนอนกัดฟัน ลูกจึงมีโอกาสสูงที่จะนอนกัดฟันได้เหมือนกัน
3. เกิดจากร่างกายของตัวเด็กเอง ที่ สมองและระบบประสาทอัตโนมัติถูกกระตุ้นมากเกินจึงทำให้เกิดพฤติกรรมเช่นนั้นได้
4. ยาบางชนิด เช่น ยาต้านโรคซึมเศร้าบางตัว อาจกระตุ้นการนอนกัดฟัน แต่มักเกิดกับผู้ใหญ่ที่มีพฤติกรรมนอนกัดฟันมากกว่าในเด็ก
อย่างไรก็ดี เด็กที่ชอบนอนกัดฟัน อาจพบร่วมกับโรคและพฤติกรรมที่ผิดปกติในขณะนอนหลับอื่นๆได้ด้วย เช่น นอนละเมอพูดหรือละเมอเดิน ปัสาวะรดที่นอน นอนกรนและโรคทางเดินหายใจอุดกั้นทำให้หยุดหายใจเป็นพักๆขณะหลับ และ โรคสมาธิสั้น ซึ่งสามารถเกิดอาการควบคู่กับการนอนกัดฟันในตัวเด็กได้ ผู้ปกครองควรสังเกตุด้วยว่าเด็กมีโรคอื่นๆเกิดร่วมหรือไม่และควรนำลูกไปพบแพทย์เพื่อรักษาโรคนั้นๆด้วย
เด็กที่นอนกัดฟันบางคนอาจบ่นว่าปวดตรงข้อต่อขากรรไกร ร้าวไปที่ในหู หรือปวดๆเมื่อยๆเวลาอ้าปาก เคี้ยวอาหาร บริเวณแก้มหรือขมับเพราะกล้ามเนื้อบดเคี้ยวเมื่อยล้าจากพฤติกรรมนอนกัดฟัน หรือบ่นปวดศีรษะบ่อยๆ อาการนี้อาจเป็นข้อบ่งชี้ได้ว่าลูกนอนกัดฟัน
"เด็กที่นอนกัดฟันจนเสียงดังมาก ก็อาจจะทำให้ฟันของลูกเริ่มมีขนาดสั้นลง ก่อให้เกิดอันตรายถึงโครงสร้างของฟันได้ จนสามารถไปทะลุถึงโพรงประสาทฟันเลยก็ได้ ทั้งนี้ โครงสร้างของฟันภายนอกจะประกอบไปด้วย เคลือบฟัน เนื้อฟัน และเส้นประสาทที่อยู่ตรงกลาง เมื่อได้รับการสึกกร่อนมากเกิน ผลที่จะได้รับ ก็คือ เกิดอาการเสียวฟัน ฟันบิ่นแตก และฟันร้าว หรือกัดลิ้น กัดแก้ม เกิดเป็นแผลในปากบ่อยๆเป็นต้น เพื่อช่วยป้องกันฟันสึกและลดอาการปวดเมื่อยขากรรไกรและปวดศีรษะ อาจจะจำเป็นต้องใส่เฝือกสบฟันในขณะนอน ทั้งยังลดเสียงกัดฟันได้ด้วย" คุณหมออธิบายถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการนอนกัดฟัน
...
...
ตอบลบพฤติกรรมนอนกัดฟัน ในบางครั้งไม่มีเสียงดังก็ได้ เพราะเป็นแบบกัดฟันแน่นๆ ไม่ใช่กัดแบบฟันถูไปถูมา ถ้าเป็นแบบนี้ก็จะสังเกตุยากมากเพราะไม่มีเสียงดังให้ได้ยิน ต้องพามาให้ทันตแพทย์ช่วยตรวจหาดูว่ามีฟันที่สึกหรือไม่ หรืออาจสังเกตุจากอาการปวดขากรรไกรหรือปวดศีรษะบ่อยๆแทน
อย่างไรก็ดี คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นผู้สังเกต และควรรีบแก้ไขตอนที่ลูกยังเล็ก โดยคุณพ่อคุณแม่ที่นอนห้องเดียวกับลูก สามารถสังเกตพฤติกรรมของลูกได้ดี เพราะเด็กจะไม่รู้ตัวเองว่าการนอนกัดฟัน แต่สำหรับเด็กที่ต้องนอนคนเดียว แยกห้องนอนกับพ่อแม่ คงเป็นไปได้ยากที่จะสังเกตการณ์พฤติกรรมของลูก ดังนั้น การสังเกต ถือเป็นการวินิจฉัยโรคนี้ได้ดี รวมไปถึงการสังเกตจากฟันที่สึกกร่อนออกไป หรือให้ทันตแพทย์ตรวจสุขภาพปากฟัน ก็สามารถทำให้ทราบว่าเด็กนอนกัดฟันหรือไม่
"เมื่อเห็นลูกนอนกัดฟันบ่อย จนรุนแรงแล้วมีอาการปวดขากรรไกร ปวดศีรษะ ฟันสึก เสียวฟัน ก็ควรมาปรึกษาทันตแพทย์ เพื่อทำการรักษาด้วยเครื่องมือแพทย์ (เฝือกสบฟัน) หากเด็กที่นอนกัดฟัน อย่าง 2 หรือ 3 เดือน นอนกัดฟันซัก 1 ครั้ง ก็คงต้องดูอาการไปก่อน คอยสังเกตดูว่าฟันของลูกมีความสึกกร่อนมากน้อยแค่ไหน คอยถามลูกว่ามีความเจ็บปวดตรงไหนหรือเปล่า หากโตขึ้นอาการยังไม่หาย ก็คงต้องใส่เครื่องมือเฝือกสบฟัน ปกป้องไม่ให้ฟันแท้สึก" คุณหมอกล่าวเสริม
ทั้งนี้ คุณหมอท่านนี้ได้แนะวิธีการนอนที่ถูกสุขลักษณะสำหรับบ้านที่มีลูกชอบนอนกัดฟันไว้ 4 วิธี คือ
- ลักษณะห้องที่นอนต้องเหมาะสม เงียบ สงบ แสงไม่จ้า เพื่อให้ลูกนอนหลับได้ดี
- ไม่ควรกินอาหารมื้อหนัก ก่อนจะนอนภายใน 3 ชั่วโมง แต่อาจจะเปลี่ยนเป็นดื่มนมอุ่นๆ แทน เพื่อให้นอนหลับสบายมากขึ้น
- ไม่ควรออกกำลังกายหนักจนเกินไป ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว เด็กจะชอบวิ่งเล่นก่อนเข้านอน อาจทำให้เด็กนอนไม่หลับได้
- เมื่อถึงเวลานอนก็ควรให้เด็กได้เข้านอนเป็นเวลา ไม่ควรให้มาดูหนัง ดูทีวี หรือว่าจะเล่นเกมคอมพิวเตอร์ สิ่งพวกนี้มันยังทำให้เขายังมีความตื่นเต้นอยู่ได้
ถึงแม้ว่าโรคนอนกัดฟันจะหาวิธีรักษาให้หายค่อนข้างยาก แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยให้ลูกนอนกัดฟันลดลงได้ โดยเริ่มจากการใส่ใจ และคอยสังเกตลูกอยู่เสมอ สิ่งเหล่านี้จะช่วยลดความตึงเครียด และความกังวลให้กับพ่อแม่ได้
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9540000090076
.